การตีความ “ฐานะของผู้ที่จะได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนยุติธรรม”

การตีความ “ฐานะของผู้ที่จะได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนยุติธรรม”

2. การตีความ “ฐานะของผู้ที่จะได้รับความช่วยเหลือจากกองทุน”

การพิจารณาในการให้ความช่วยเหลือประชาชนในการดำเนินคดี และการให้ความช่วยเหลือผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน คณะอนุกรรมการให้ความช่วยเหลือหรือคณะอนุกรรมการให้ความช่วยเหลือประจำจังหวัดต้องคำนึงถึงหลักเกณฑ์ตามมาตรา 28(2) พ.ร.บ.กองทุนยุติธรรม พ.ศ.2558 คือพิจารณาฐานะของผู้ที่จะได้รับความช่วยเหลือจากกองทุน เมื่อถ้อยคำตามตัวบทกฎหมายระบุเพียงเรื่องการคำนึงถึงฐานะของผู้ที่จะได้รับความช่วยเหลือจากกองทุน ซึ่งในทางปฏิบัติพบว่าเกิดปัญหาในการตีความดังกล่าว และการบังคับใช้กฎหมายให้ตรงตามเจตนารมณ์ของกองทุนยุติธรรมเพื่ออำนวยการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม
.

ชาวบ้าน “กลุ่มรักษ์น้ำอูน” ถูกดำเนินคดีอาญา เนื่องจากการคัดค้านโครงการที่จะมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทางกลุ่มฯ ได้ขอรับความช่วยเหลือจากกองทุนยุติธรรม และสำนักงานยุติธรรมจังหวัดสกลนครไม่อนุมัติเงินช่วยเหลือ
โดยมีประเด็นเกี่ยวกับฐานะของผู้ที่จะได้รับความช่วยเหลือจากกองทุน
.

กรณีที่เกิดขึ้นกับชาวบ้านในพื้นที่บ้านโคกสะอาด ตำบลอุ่มจาน อำเภอ กุสุมาลย์ จังหวัดสกลนคร รวมตัวในนาม “กลุ่มรักษ์น้ำอูน” คัดค้านโครงการที่มีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นำมาสู่การเป็นผู้ถูกดำเนินคดีอาญาในข้อหาหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาด้วยเอกสาร โดยระบุการกระทำของชาวบ้านว่า ชาวบ้านในพื้นที่ได้ร่วมกันใส่ความอันเป็นเท็จโดยการโฆษณาต่อบุคคลอื่นที่น่าจะทำให้เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น เลียดชัง เพราะได้ร่วมกันลงลายมือชื่อยื่นหนังสือ “ขอให้ระงับการดำเนินการบุกเบิกพื้นที่และก่อสร้างสาธารณูปโภคเพื่อรองรับการพัฒนาโครงการโรงงานน้ำตาลทรายและโรงไฟฟ้าชีวมวลฯ” ต่อองค์การบริหารส่วนตำบลอุ่มจาน และยื่นหนังสือคัดค้านโครงการโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลต่อหน่วยงานต่างๆ นายทิตศาสตร์ สุดแสน ทนายความจากมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน ซึ่งได้ให้ความช่วยเหลือทางคดีกับกลุ่มชาวบ้านผู้ถูกดำเนินคดี ได้ตั้งข้อสังเกตว่า มีชาวบ้านที่ถูกดำเนินคดีด้วยข้อหาดังกล่าวกว่า 20 ราย โดย “กลุ่มรักษ์น้ำอูน” ได้ยื่นขอรับความช่วยเหลือจากคณะอนุกรรมการให้ความช่วยเหลือประจำจังหวัดสกลนคร และทางคณะอนุกรรมการประจำจังหวัดสกลนคร ได้ปฏิเสธคำขอรับความช่วยเหลือ
.

โดยมีประเด็นในส่วนที่เกี่ยวกับฐานะของผู้ที่จะได้รับความช่วยเหลือจากกองทุน เช่น ปฏิเสธไม่ให้ความช่วยเหลือ เนื่องจากผู้ขอรับความช่วยเหลือมีที่ดิน เนื้อที่ประมาณ 5 ไร่ ที่ไม่ติดภาระหนี้สิน แต่ที่ดินดังกล่าวมีชื่อเป็นที่ดินของมารดาผู้ขอรับความช่วยเหลือ หรือการให้เหตุผลโดยระบุว่า ตัวผู้ขอรับความช่วยเหลือมีที่ดิน ที่ไม่ติดภาระหนี้สิน โดยที่ข้อเท็จจริงคือ ผู้ขอรับความช่วยเหลือเป็นผู้สูงอายุมีอาชีพทำนา เป็นต้น เหล่านี้ทนายความมองว่า การพิจารณาเรื่องฐานะของผู้ที่จะได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนยังคงเป็นปัญหาทำให้ชาวบ้านผู้ขอรับความช่วยเหลือไม่สามารถเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมได้อย่างเสมอภาค และโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่มาของการฟ้องร้องเป็นคดีอาญากับกลุ่มชาวบ้านที่ออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านโครงการที่จะส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อันเป็นไปเพื่อประโยชน์ต่อส่วนรวม
.

“ฐานะของผู้ที่จะได้รับความช่วยเหลือจากกองทุน” ในความเห็นของนักกฎหมาย

อาจารย์ณัฐวรรณ อารัมภ์วิโรจน์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ให้ความเห็นต่อประเด็น “ฐานะของผู้ที่จะได้รับความช่วยเหลือจากกองทุน” อันเป็นความหมายที่ตีความตามมาตรา 28 แห่งพระราชบัญญัติกองทุนยุติธรรม พ.ศ. 2558 ระเบียบคณะกรรมการกองทุนยุติธรรม ว่าด้วยหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไข ในการช่วยเหลือประชาชนในการดำเนินคดี พ. ศ. 2559 และระเบียบคณะกรรมการกองทุนยุติธรรม ว่าด้วยหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไข ในการช่วยเหลือผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือผู้ได้รับผลกระทบจากการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน พ.ศ. 2559
.

โดยระเบียบคณะกรรมการกองทุนยุติธรรมดังกล่าว มีจุดมุ่งหมายในการช่วยเหลือโดยพิจารณาในเรื่องฐานะของผู้ที่ขอรับความช่วยเหลือ ระบุให้คณะอนุกรรมการต้องพิจารณาถึงรายได้หรือความสามารถทางเศรษฐกิจ ภาระค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพตามปกติอันควรแก่ฐานานุรูป ภาระหนี้สินของผู้ที่จะได้รับความช่วยเหลือที่จะได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนยุติธรรม ที่ไม่สามารถเข้าถึงความยุติธรรมเป็นสำคัญ ซึ่งถือว่าเป็นบทบัญญัติ ที่มีการกำหนดหลักเกณฑ์การพิจารณา สะท้อนให้เห็นถึงฐานะทางเศรษฐกิจของผู้ที่จะได้รับความช่วยเหลือได้อย่างมีมาตรฐาน
.

ขาดความชัดเจน เรื่อง “ฐานะของผู้ที่จะได้รับความช่วยเหลือจากกองทุน” ตามหลักเกณฑ์ของระเบียบคณะกรรมการกองทุนยุติธรรมฯ ว่าผู้ขอรับความช่วยเหลือต้องมีฐานะทางเศรษฐกิจอย่างไร ถึงจะอยู่ในเกณฑ์ที่จะได้รับความช่วยเหลือจากกองทุน
.

อย่างไรก็ตามการกำหนดหลักเกณฑ์ตามระเบียบคณะกรรมการกองทุนยุติธรรมดังกล่าว ยังขาดความชัดเจนว่าผู้ขอรับความช่วยเหลือต้องมีฐานะทางเศรษฐกิจอย่างไร ถึงจะอยู่ในขอบเขตที่จะได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนหรือเป็นผู้ที่มีรายได้สุทธิหลังจากหักค่าใช้จ่ายและหนี้สินแล้วเท่าใดจึงจะอยู่ในขอบเขตที่จะได้รับความช่วยเหลือจากกองทุน เพื่อให้คณะอนุกรรมการให้ความช่วยเหลือประจำจังหวัดได้ปฏิบัติเป็นไปตามมาตรฐานหรือภายใต้หลักการร่วมกันลดความเหลื่อมล้ำของการเข้าถึงความยุติธรรม
.

ดังนั้นควรที่จะมีการกำหนดคำนิยาม ฐานะของผู้ที่จะได้รับความช่วยเหลือจากกองทุน ให้ชัดเจน อย่างเช่นว่า ฐานะของผู้ที่จะขอรับความช่วยเหลือควรที่จะมีฐานะอย่างไร โดยในปัจจุบันกฎหมายที่มีลักษณะคล้ายกับการให้ความช่วยเหลือของกองทุนยุติธรรมได้มีการกำหนดคำนิยามไว้อย่างชัดเจน คือ ระเบียบกรมอัยการว่าด้วยการช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชนพ.ศ 2533 ได้กำหนดคำนิยามของบุคคลที่จะให้ความช่วยเหลือในเรื่องของการทำนิติกรรมสัญญา ซึ่งตามระเบียบข้อ 22 ได้กำหนดที่จะให้ความช่วยเหลือผู้ที่ยากจนเท่านั้น เป็นเหตุให้ต้องมีการกำหนดคำนิยามของผู้ยากจนไว้ว่า ผู้ยากจน หมายถึง ผู้ที่ไม่มีทรัพย์สินหรือรายได้หรือมีทรัพย์สินหรือรายได้ไม่เพียงพอที่จะเสียค่าจ้างทนายความเพื่อดำเนินคดีโดยลำพังตนเองได้
.

ฉะนั้นเมื่อกองทุนยุติธรรมมุ่งให้ความช่วยเหลือเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ซึ่งเป็นการให้ความช่วยเหลือทางด้านทุนทรัพย์ จึงควรเพิ่ม ขอบเขตของฐานะผู้ขอรับความช่วยเหลือ เพื่อให้คณะอนุกรรมการ ให้ความช่วยเหลือประจำจังหวัดได้ปฏิบัติเป็นไปตามมาตรฐานหรือภายใต้หลักการร่วมกัน ลดความเหลื่อมล้ำของการเข้าถึงความยุติธรรม เพื่อให้คำนิยามมีความชัดเจนในเรื่องฐานะของบุคคลผู้ที่จะขอรับความช่วยเหลือ เพื่อให้คณะอนุกรรมการให้ความช่วยเหลือประจำจังหวัดได้ปฏิบัติเป็นไปในทิศทางเดียวกัน
.

จากปัญหาที่ทนายความผู้ให้ความช่วยเหลือทางคดีแก่ชาวบ้านได้สะท้อน รวมถึงข้อเสนอแนะที่อาจารย์ณัฐวรรณ อารัมภ์วิโรจน์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จะเห็นได้ว่าการแก้ปัญหาในทางปฏิบัติของการพิจารณาให้ความช่วยเหลือประชาชนในการดำเนินคดี ซึ่งต้องคำนึงถึงหลักเกณฑ์ฐานะของผู้ที่จะได้รับความช่วยเหลือจากกองทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตีความเรื่อง “ฐานะของผู้ที่จะได้รับความช่วยเหลือจากกองทุน” สมควรให้มีการเพิ่มเติมคำนิยามในเรื่อง “ผู้ขอรับความช่วยเหลือ” ให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น เพื่อให้เจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการอย่างถูกต้องเหมาะสม และเพื่ออำนวยความสะดวกในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป