การใช้ดุลพินิจในการพิจารณาให้ความช่วยเหลือ ซึ่งมีลักษณะตัดสินการกระทำของผู้ขอรับความช่วยเหลือ ว่ามีความผิดหรือมีส่วนเกี่ยวข้องในการกระทำความผิด

การใช้ดุลพินิจในการพิจารณาให้ความช่วยเหลือ ซึ่งมีลักษณะตัดสินการกระทำของผู้ขอรับความช่วยเหลือ ว่ามีความผิดหรือมีส่วนเกี่ยวข้องในการกระทำความผิด

 

การใช้ดุลพินิจในการพิจารณาให้ความช่วยเหลือของคณะอนุกรรมการกองทุนยุติธรรมประจำจังหวัด ซึ่งมีลักษณะตัดสินการกระทำของผู้ขอรับความช่วยเหลือ ว่ามีความผิดหรือมีส่วนเกี่ยวข้องในการกระทำความผิด

 

กฎหมายเปิดช่องให้คณะกรรมการใช้ดุลพินิจในการพิจารณา

การใช้ดุลพินิจของคณะอนุกรรมการ เป็นไปตามระเบียบคณะกรรมการกองทุนยุติธรรม ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขอปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลย พ.ศ. 2559 ซึ่งออกตามมาตรา 18(2) มาตรา 22 มาตรา 26 วรรคสอง และมาตรา 30 วรรคห้า แห่งพระราชบัญญัติกองทุนยุติธรรม พ.ศ.2558
ข้อ 10 การพิจารณาให้ความช่วยเหลือ คณะอนุกรรมการต้องคำนึงถึงหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้ (1) ผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีพฤติการณ์จะหลบหนี (2) ไม่ไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือไม่ไปก่อเหตุภยันอันตรายประการใด
ข้อ 11 การพิจารณาตามข้อ 10 (1) ควรคำนึงถึงหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้ (1) ลักษณะการกระทำความผิดที่ไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือความมั่นคงของประเทศ หรือการกระทำที่มีผลกระทบต่อประชาชนที่ทำให้ประชาชนได้รับความเสียหายหรือความเชื่อมั่นของกระบวนการยุติธรรม

 

ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น

ชาวบ้านในพื้นที่ อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย ได้รวมตัวกันในนาม “กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด”  เพื่อคัดค้านโครงการเหมืองแร่ทองคำ ที่มีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ชุมชน ได้มีหนังสือขอรับการสนับสนุนเงินกองทุนยุติธรรม จากสำนักงานยุติธรรมจังหวัดเลย และสำนักงานได้มีหนังสือตอบไม่อนุมัติการให้เงินช่วยเหลือกับกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด โดยให้เหตุผลว่า “เห็นว่าจากการที่กลุ่มผู้ขอรับความช่วยเหลือได้เข้าขัดขวางและปิดกั้นทางขึ้นห้องประชุมสภาฯ ทำให้สมาชิกสภาฯ ไม่สามารถขึ้นไปยังห้องประชุมได้ เป็นการกระทำที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อย รบกวนการปฏิบัติหน้าที่ของผู้อื่น กรณีจึงไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์และหลักเกณฑ์ของ พ.ร.บ.กองทุนยุติธรรม พ ศ 2558 มาตรา 26, 29 และระเบียบคณะกรรมการกองทุนยุติธรรม ว่าด้วยหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขในการขอปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลย พ ศ 2559 ข้อ 11
จึงมีมติไม่อนุมัติเงินกองทุนยุติธรรม”

หรือการรวมตัวของชาวบ้านในพื้นที่ อำเภองาว จังหวัดลำปาง ในนาม “กลุ่มรักษ์บ้านแหง” เพื่อคัดค้านโครงการเหมืองแร่ถ่านหินลิกไนต์ในพื้นที่ เนื่องจากกังวลถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับทรัพยากระรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้มีหนังสือขอรับการสนับสนุนเงินกองทุนยุติธรรม จากสำนักงานยุติธรรมจังหวัดลำปาง และสำนักงาน ได้มีหนังสือตอบไม่อนุมัติเงินกองทุนยุติธรรม โดยให้เหตุผลว่า “กลุ่มทำหนังสือขอรับการสนับสนุนเงินกองทุนยุติธรรม ลงวันที่ 25 ธันวาคม 2558 2.คณะอนุกรรมการกองทุนยุติธรรมประจำวันจังหวัด พิจารณาจากหลักฐานเบื้องต้นอันมีมูลน่าเชื่อว่าท่านและพวกรวม 12 ราย ได้เป็นผู้กระทำความผิดตามบันทึกแจ้งข้อกล่าวหาและรับมอบตัว เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2558 และบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติม เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2558 จริง … จึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ ดังนั้นกรณีของท่านจึงไม่เป็นไปตามระเบียบ คณะกรรมการบริหารกองทุนยุติธรรม ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ในการสนับสนุนหลักทรัพย์เป็นหลักประกันในการปล่อยชั่วคราว พ ศ 2554 ข้อ 5 จึงไม่อนุมัติเงินกองทุนยุติธรรมตามคำขอของท่าน”

ทั้งสองกรณีกลุ่มชาวบ้านที่ถูกดำเนินคดีและต้องยื่นขอรับการสนับสนุนจากกองทุนยุติธรรมนั้น ล้วนแล้วแต่ถูกดำเนินคดีอันเนื่องมาจากการรวมตัวกันเพื่อคัดค้านโครงการซึ่งมีผลกระทบ ต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นการใช้สิทธิเพื่อปกป้องประโยชน์สาธารณะ

 

การใช้ดุลพินิจที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญและกฎหมายระหว่างประเทศ

การใช้ดุลพินิจของคณะอนุกรรมการกองทุนยุติธรรมประจำจังหวัดทั้งสองกรณีดังกล่าว จึงเป็นการเข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 29 ที่กำหนดว่า “ในคดีอาญาให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด และก่อนมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดได้กระทำความผิดจะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้” รวมถึงขัดต่อหลักกฎหมายระหว่างประเทศคือ ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights) ข้อ 11 กำหนดว่า “ทุกคนที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดทางอาญา มีสิทธิที่จะได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์จนกว่าจะพิสูจน์ได้ว่ามีความผิดตามกฎหมายในการพิจารณาคดีที่เปิดเผย ซึ่งตนไดรับหลักประกันที่จำเป็นทั้งปวงสำหรับการต่อสู้คดี” และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights หรือ ICCPR) ข้อ 14 กำหนดว่า “บุคคลทุกคนซึ่งต้องหาว่ากระทำผิดอาญา ต้องมีสิทธิได้รับการสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะพิสูจน์ตามกฎหมายได้ว่ามีความผิด”

อีกทั้งยังมีความซ้ำซ้อนกับหลักเกณฑ์ที่ ศาล พนักงานอัยการ หรือพนักงานสอบสวน จะต้องวินิจฉัยคำร้องขอปล่อยชั่วคราวตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญากำหนดไว้ การที่คณะอนุกรรมการกองทุนยุติธรรมประจำจังหวัดจะใช้ดุลพินิจในการพิจารณาการกระทำของผู้ขอรับความช่วยเหลือไปก่อนศาล พนักงานอัยการ หรือพนักงานสอบสวนนั้น จะเป็นการใช้ดุลพินิจที่ก้าวล่วงอำนาจของหน่วยงานดังกล่าวหรือไม่อย่างไร

 

ข้อเสนอเพื่อประกันสิทธิของประชาชน

ดังนั้นระเบียบคณะกรรมการกองทุนยุติธรรม ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ในการขอปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลย พ.ศ. 2559 ข้อ 11(1) ดังกล่าว ซึ่งขัดต่อหลักการในคดีอาญาที่ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด หรือมีสิทธิได้รับการสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะพิสูจน์ตามกฎหมายได้ว่ามีความผิด จึงต้องมีการพิจารณายกเลิกหรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงเพื่อให้สอดคล้องกับหลักการและข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นการประกันสิทธิว่าประชาชนทุกคนต้องสามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้อย่างเสมอภาคเท่าเทียมกัน และสมเจตนารมณ์ของการตั้งกองทุนยุติธรรมในการเป็นองค์กรหลักในการช่วยเหลือและพัฒนาประชาชน ให้เข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ลดความเหลื่อมล้ำได้อย่างแท้จริง