เสวนาวิชาการวิเคราะห์การรับฟังพยานหลักฐานของศาลผ่านคดีฆาตกรรมอำพรางวัยรุ่นกาฬสินธุ์ช่วงนโยบายทำสงครามกับยาเสพติด : เสนอการสร้างสังคมที่ตรวจสอบ วิจารณ์คำพิพากษาอย่างสร้างสรรค์

เสวนาวิชาการวิเคราะห์การรับฟังพยานหลักฐานของศาลผ่านคดีฆาตกรรมอำพรางวัยรุ่นกาฬสินธุ์ช่วงนโยบายทำสงครามกับยาเสพติด : เสนอการสร้างสังคมที่ตรวจสอบ วิจารณ์คำพิพากษาอย่างสร้างสรรค์

คดีฆาตกรรมอำพรางนายเกียรติศักดิ์ ถิตย์บุญครอง เป็นหนึ่งในคดีฆาตกรรมอีกนับกว่า 2,500 คดีที่เกิดขึ้นในช่วงนโยบายประกาศสงครามกับยาเสพติดที่เริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2546 แต่คดีส่วนใหญ่กลับไม่มีความคืบหน้าในการสืบสวน สอบสวนหาตัวนำผู้กระทำความผิดมาลงโทษ  คดีฆาตกรรมอำพรางนายเกียรติศักดิ์ฯ เป็นกรณีเดียวที่สามารถนำคดีเข้าสู่การพิจารณาคดีของศาลได้ ซึ่งก็เกิดจากความพยายามอย่างหนักของญาติและผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง และต้องเสี่ยงกับการคุกคามมากมาย แม้ในทางคดีจะสิ้นสุดลงแล้วโดยคำพิพากษาศาลฎีกาให้ยกฟ้องจำเลยทั้งหมด ซึ่งได้มีการรับฟังและชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานในลักษณะที่แตกต่างไปจากศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ จนทำให้ผลของคดีออกมาสวนทางกันอย่างมาก โดยเฉพาะประเด็นเรื่องการรับฟังและชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานของศาล  (สรุปคำพิพากษานายเกียรติศักดิ์ ถิตย์บุญครอง)

งานเสวนาวิชาการ หัวข้อการวิเคราะห์การรับฟังพยานหลักฐานของศาลในคดีอาญา ผ่านคดีฆาตกรรมอำพรางวัยรุ่นกาฬสินธุ์ช่วงรัฐบาลประกาศนโยบายทำสงครามกับยาเสพติด ที่จัดขึ้นโดย สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.)  และสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2562 ได้มีกล่าวถึงปัญหาในประเด็นการรับฟังและการชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานของศาล  รวมถึงประเด็นการคุ้มครองพยาน ผ่านกรณีคดีฆาตกรรมอำพรางนายเกียรติศักดิ์ฯ ในงานเสวนานี้ นักวิชาการหลายท่านได้นำเสนอแนวทางการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมตั้งแต่ชั้นสอบสวน ชั้นพิจารณาคดี ตลอดจนประเด็นเรื่องการคุ้มครองพยานไว้อย่างน่าสนใจ เพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อกระบวนการยุติธรรมมากขึ้น 

มองปัญหากระบวนการยุติธรรมชั้นสอบสวน ถึงชั้นพิจารณาคดี ผ่านคดีฆาตกรรมอำพรางนายเกียรติศักดิ์ฯ  

ทนายรัษฎา มนูรัษฎา คณะทำงานจากสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ นำเสนอเเละชวนตั้งข้อสังเกตในประเด็นศาลฎีกาได้มีคำพิพากษา “กลับ” คำพิพากษาของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ โดยยกฟ้องจำเลยทั้งหมดว่าไม่มีความผิด เนื่องจากศาลเห็นว่าพยานโจทก์และโจทก์ร่วมปาก นางสาว อ. มีพิรุธไม่มีน้ำหนักน่าเชื่อถือ ให้การเเตกต่างไปจากการให้การไว้กับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ประกอบกับจำเลยให้การปฏิเสธมาโดยตลอด จึงยกประโยชน์เเห่งความสงสัยให้จำเลยทั้งหก

ทั้งที่พยานที่สอบไว้จำนวน 108 ปาก แถลงรับข้อเท็จจริง 20 ปาก เบิกความในศาลจำนวน 40 ปาก รวมทั้งสิ้น 60 พยาน  อีกทั้งพยานทางนิติวิทยาศาสตร์ เช่น ร่องรอยบนร่างกายของผู้ตาย อาหารที่ทานเข้าไป ก่อนเสียชีวิต ฯลฯ ศาลฎีกาไม่ได้หยิบพยานแวดล้อมที่มีความเชื่อมโยงกันขึ้นมาวินิจฉัย โดยหยิบยกเพียงพยานปากเดียว อีกทั้งประเด็นที่สำคัญคือ ศาลฎีกาไม่ได้บอกว่า เห็นต่างจากศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ด้วยข้อเท็จจริงอย่างไร  

พิกุล พรหมจันทร์ ตัวแทนญาติผู้เสียหาย ชี้ให้ประเด็นเรื่อง การควบคุมตัวเด็กอายุ 17 ปี โดยแจ้งให้ผู้ปกครองทราบเป็นเวลา 7 วัน โดยไม่ได้ส่งศาล อีกทั้งการสอบปากคำก็ไม่ได้มีอัยการ พนักงานเกี่ยวกับเด็ก ญาติ ทนายความ ในประเด็นนี้ ศาลฎีกาไม่ได้มองมูลเหตุแห่งคดีตั้งแต่เริ่มต้น

ส่วนในด้านกฎหมายระหว่างประเทศ นายสมชาย หอมลออ  ประธานมูลนิธิสิทธิมนุษยชนและการพัฒนาและทนายความด้านสิทธิมนุษยชน ได้อธิบายไว้ว่าคดีนี้ถือเป็นความผิดในทางอาญา ฐานก่ออาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติ เนื่องจากเป็นการก่ออาชญากรรมที่รุนแรง อย่างกว้างขว้างเเละเป็นระบบ  แม้ว่านายเกียรติศักดิ์ ซึ่งเป็นเยาวชนรายนี้ จะไม่เป็นที่ต้องสงสัยว่าเกี่ยวข้องกับยาเสพติดโดยตรง แต่ก็ได้ว่าเป็นผลต่อเนื่อง ให้เห็นด้วยว่าในช่วงนโยบายยาเสพติด เจ้าหน้าที่อุ้มฆ่าคนโดยที่ไม่ต้องรับผิดชอบ

นอกจากนี้ คดีดังกล่าวยังมีการดำเนินคดีใช้เวลาถึง 14  ปี  ซึ่งตามหลักการที่ว่าความล่าช้าของกระบวนการยุติธรรม คือความอยุติธรรม กล่าวคือ เมื่อคดีล่าช้า หรือมีการยืดระยะเวลาพิจารณาให้ยาวนานเท่าไหร่ ก็ยิ่งเปิดช่องที่จะให้มีการวิ่งเต้นของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด เช่น การข่มขู่พยาน การบิดเบือนพยาน เพื่อที่จะทำให้ตนเองรอดพ้นจากความผิด ไม่ต้องรับโทษในที่สุด

ในคดีนี้ นายสมชาย ได้ชวนตั้งข้อสังเกต 2 ประเด็น คือ  1) จำเลยได้รับการประกันตัวชั่วคราว 2) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ออกมาให้ท้ายหรือสนับสนุนจำเลย ทั้งที่ความเป็นจริงแล้ว เมื่อพนักงานอัยการมีความเห็นสั่งฟ้อง และศาลชั้นต้น มีคำพิพากษาแล้ว ต้องพักราชการและดำเนินการทางวินัยกับจำเลย แต่ในทางตรงกันข้ามกลับมีนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ออกมาให้เงิน สนับสนุนการต่อสู้คดีของจำเลย ซึ่งเห็นได้ชัดเจนว่าเป็นอาชญากกรมที่ก่อโดยรัฐ 3) ประเด็นเรื่องเจ้าหน้าที่ที่ก่อเหตุ ทั้งชั้นผู้น้อยและชั้นผู้ใหญ่ไม่ได้มีเรื่องโกรธเคืองกับผู้ตายเป็นการส่วนตัวนั้น ในหลักการสิทธิมนุษยชน การที่ไม่มีเหตุผลส่วนตัวแล้วไปฆ่า ถือว่าเป็นการก่ออาชญากรรมอย่างเป็นระบบ ในเชิงวัฒนธรรมองค์กร ซึ่งไม่ได้เป็นเพียงความเชื่อและวัฒนธรรมองค์กรของเจ้าหน้าที่ในก่ออาชญากรรมเท่านั้น แต่ยังเป็นผลต่อเนื่องจากนโยบายสงครามยาเสพติด ดังนั้นการนำตัวเจ้าหน้าที่รัฐที่กระทำความผิด ในคดียาเสพติดจึงเป็นเรื่องที่ยาก กว่ากรณีที่เจ้าหน้ารัฐที่ได้ตัดสินใจก่ออาชญากรรมโดยใช้ดุลยพินิจ กล่าวคือเจ้าหน้าที่รัฐก่อความผิดจากนโยบายย่อมได้รับความคุ้มครองจากนโยบายด้วย ในแง่นี้ การคุ้มครองการก่ออาชญาการรมโดยรัฐ โดยหลักแล้วควรจะต้องจำกัดอยู่ในฝ่ายบริหารเท่านั้น

แนวคิดการก่ออาชญากรรมอย่างเป็นระบบ ไม่ควรจะเข้าไปถึงฝ่ายตุลาการ กล่าวคือ บทบาทของฝ่ายตุลาการคือตรวจสอบการกระทำของฝ่ายบริหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อการกระทำของฝ่ายบริหารไปกระทบสิทธิและเสรีภาพของผู้คน

ดังนั้น จึงเป็นที่ควรตั้งข้อสังเกตว่าเหตุที่ ผลของคำพิพากษาศาลฎีกา ออกมา แสดงให้เห็นว่าแนวคิดการก่ออาชญากรรมโดยรัฐและรัฐปกป้อง เจ้าหน้าที่รัฐซึ่งเป็นผู้กระทำความผิดได้เข้าไปมีอิทธิพลอยู่ในกระบวนการยุติธรรมชั้นพิจารณาคดีด้ ถือเป็นการตอกย้ำในหลายคดี ที่เจ้าหน้าที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด ไม่ว่าจะเป็นคดีในจังหวังชายแดนภาคใต้ การซ้อมทรมานผู้ต้องหา คดี วิสามัญฆาตกรรม เช่น ชัยภูมิป่าแส  หรือทรมานให้รับสารภาพ

“หากหลักการที่ว่าศาลเป็นที่พึ่งสุดท้ายหมดไปจะส่งผลกระทบต่อการดำรงอยู่ของสังคมเเน่นอน เหมือนกับที่จังหวัดชายเเดนใต้กำลังเผชิญอยู่”

เรื่องที่น่าห่วงกังวลอย่างยิ่งประการหนึ่งคือ หากฝ่ายตุลาการซึ่งเป็นที่พึ่งสุดท้ายไม่ได้ทำหน้าที่ในการตรวจสอบฝ่ายบริหาร และทำหน้าที่ในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของบุคคล เมื่อความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อกระบวนการยุติธรรมลดลง ประชาชนไม่ไว้ใจกระบวนการยุติธรรมแล้ว ประเทศหรือสังคมย่อมจะอยู่ไม่ได้ ซึ่งเรื่องนี้กำลังเกิดในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

การตรวจสอบในชั้นพิจารณต้องมีการตรวจสอบโดยสังคม กล่าวคือสังคมควรมีการวิพากษ์วิจารณ์คำพิพากษาได้ หากเเต่ต้องเป็นการวิพากษ์วิจารณ์มีสร้างสรรค์

ในต่างประเทศประชาชนจะรู้จักผู้พิพากษา กลับกันในประเทศไทย ประชาชนไม่รู้จักผู้พิพากษา (ปกปิดรายชื่อผู้พิพากษาที่กระทำความผิด) โดยเฉพาะศาลสูงซึ่งเป็นผู้จะชี้ขาด

สุดท้ายนายสมชาย ได้ทิ้งคำถามไว้ว่าทำอย่างไรสังคมถึงจะสามารถตรวจสอบผู้พิพากษาได้มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะคดีที่เจ้าหน้าที่รัฐเป็นผู้กระทำความผิด (อาชญากรรมโดยรัฐ)

พันตำรวจเอก วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร เครือข่ายติดตามการปฏิรูปตำรวจ อดีตรองผู้บังคับการจเรตำรวจ เสนอว่า กระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะชั้นสอบสวนที่ไม่มีประสิทธิภาพและไม่เป็นไปโดยสุจริต คือปล่อยให้กระบวนการสืบสวน สอบสวนตกอยู่ในมือของอาชญากร (หมายรวมถึงองค์กรด้วย) 

อัยการน้ำแท้ มีบุญสล้าง  กล่าวถึง การพิสูจน์จนปราศจากข้อสงสัย (Proof beyond a reasonable doubt)  นำเสนองานการศึกษาเรื่องดังกล่าว ว่ามีปัจจัย 3 ประการ ที่จะทำให้ผู้พิพากษาเชื่อ หรือไม่เชื่อในประเด็นที่พิสูจน์ คือ หนึ่ง ระดับความรู้และประสบการณ์ สอง Stereotype หรือ ทัศนคติที่มีต่อผู้ต้องหา จำเลย หรือประเด็นต่างๆ ในสังคม จนกลายเป็นมาตรฐาน  สุดท้าย สาม คือวิธีคิดของผู้พิพากษา ว่ามีความเห็นอย่างไรอย่างไรต่อประเด็นต่างๆ ซึ่งในประเทศอเมริกาจะมีการตรวจสอบทัศนะคติของผู้พิพากษา ภูมิหลังก่อนที่ให้คนๆ หนึ่ง มีบทบาทในการตัดสินชี้ขาด 

ปัญหาเกี่ยวกับคำพิพากษาที่เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง เหตุที่ไม่สามารถหลุดออกจากปัญหาเหล่านี้ได้ เนื่องจากเราต้องไม่เพียงเเค่ เรียกร้องให้ประชาชนเคารพกฎหมายเท่านั้น  แต่ควรให้ความสำคัญกับการสร้างระบบตรวจสอบคำพิพากษาและผู้พิพากษาด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากและปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีวัฒนธรรมนี้ 

ความล่าช้าคือความอยุติธรรม และความล่าช้าในการเข้าถึงพยานหลักฐานก็ถือเป็นความอยุติธรรมเช่นกัน 

ในสังคมไทย บางกรณีที่ศาลยกฟ้อง หลายคนมักมองว่าคือความยุติธรรม เเต่ในต่างประเทศกลับมองว่าคือความเสียหายหลายประการ ทั้งความสูญเสียทรัพยากรของรัฐไปเล่นงานคนบริสุทธิ์ หรือหากบุคคลกระทำความผิดจริงคือการสูญเสียในการป้องปรามอาชญากรรม  

ทั้งนี้อัยการน้ำเเท้เห็นเช่นเดียวกัน ในเรื่องการสร้างวัฒนธรรมที่ตรวจสอบเเละวิพากษณ์วิจารณ์คำพิพากษาที่ นายสมชาย ได้เสนอไว้ โดยยกคำของนายสถิตย์ ไพเราะ อดีตรองประธานศาลฎีกา ผู้พิพากษาอาวุโสศาลเยาวชนและครอบครัว จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่กล่าวไว้ว่า  “ปากกาอยู่ที่ใคร คนนั้นเขียน” ซึ่งสะท้อนปัญหาในการตรวจสอบในสังคมไทยได้อย่างชัดเจน

สำหรับข้อเสนอของอัยการน้ำเเท้ ในการเเก้ไขปัญหา กระบวนการยุติธรรม ในชั้นสอบสวน ซึ่งเป็นชั้นเริ่มต้น คือ เมื่อเกิดเหตุอาชญากรรมเกิดขึ้น จะมีการแจ้งไปที่ฝ่ายปกครอง อัยการ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ทุกฝ่ายเข้าไปเก็บพยานหลักฐานพร้อมกัน ความเป็นจริงจะถูกปรากฏขึ้น เกิดการตรวจสอบหลายฝ่าย ตำรวจจะไม่สามารถทำลายหลักฐานได้ เมื่อมาถึงชั้นอัยการ อะไรที่อัยการไม่ทราบจะไม่เกิดขึ้น หรือทราบว่าอะไรที่บิดพลิ้วไป  ทำให้เห็นว่าพยานไหนบ้างที่หายไป อีกทั้ง การเข้าตรวจสอบของอัยการโดยทันทีที่เกิดเหตุการณ์ จะช่วยป้องกันการบังคับ การซ้อมให้รับสารภาพได้ด้วย

ในงานเสวนาวิชาการครั้งนี้ นอกจากกล่าวถึงปัญหาในกระบวนการสอบสวน กระบวนการพิจารณาที่จำเป็นต้องปฎิรูปแล้ว ยังได้กล่าวถึงกระบวนการในการคุ้มครองพยานซึ่งมีความสำคัญเช่นกัน โดย ทนายรัษฎา ชี้ว่า หากบุคคลเสียสละ และเสี่ยงที่จะมาพูดความจริง พยายามที่จะทำให้เกิดความยุติธรรมทางสังคมแล้ว ไม่ได้รับความปลอดภัยเพียงพอ ก็เป็นเรื่องน่ากังวล ในคดีนี้ พบว่ามีการยกเลิกการคุ้มครองพยานในบางช่วงเวลาที่สำคัญ ส่งผลชัดเจน ซึ่งศาลชั้นต้นเเละศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยโดยเห็นว่าการที่พยานให้การกับพนักงานสอบสวนไว้ในลักษณะที่เเตกต่างจากการให้กับคณะกรรมการสิทธิ เชื่อได้ว่าเกิดจาความเกรงกลัวจากการถูกคุกคามความปลอดภัย

แม้ว่าประเทศไทยจะมีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ในสังกัดกระทรวงยุติธรรมเเล้ว แต่พบว่ายังมีปัญหาในเเง่การไม่ให้ความสำคัญกับพยาน อีกทั้งยังไม่มีลักษณะที่ต่อเนื่อง  สิ่งที่จำเป็นที่จะต้องแก้ไขอีกเรื่องหนึ่งก็คือการคุ้มครองพยาน ควรมีการดำเนินการคุ้มครองอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ความมั่นใจกับพยานว่า ถ้าเบิกความตามความจริงแล้วชีวิตจะปลอดภัย