ทำความรู้จัก…คดีวิสามัญฆาตกรรม

ทำความรู้จัก…คดีวิสามัญฆาตกรรม

การวิสามัญฆาตกรรม คือ การตายโดยการกระทำของเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ หรือตายในระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ ซึ่งในปัจจุบันไม่ได้มีการใช้ถ้อยคำนี้ในกฎหมายหลักอีกต่อไป แต่หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องและประชาชนทั่วไปก็ยังมีการใช้คำว่าวิสามัญฆาตกรรมอยู่ และคำนี้ยังคงปรากฏในระเบียบปฏิบัติของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกหลายหน่วยงาน เช่น ในระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุดว่าด้วยการดำเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการ พ.ศ.2547 เป็นต้น

เมื่อเกิดเหตุการณ์วิสามัญฆาตกรรมขึ้น คดีจะถูกแบ่งออกเป็น 3 สำนวนที่พนักงานสอบสวนต้องดำเนินการ คือ คดีชันสูตรพลิกศพ คดีที่ผู้ตายตกเป็นผู้ต้องหา และคดีที่เจ้าหน้าที่ตกเป็นผู้ต้องหา/คดีวิสามัญฆาตกรรม

 

คดีชันสูตรพลิกศพ

พนักงานสอบสวนจะร่วมกับพนักงานอัยการทำสำนวนการชันสูตรพลิกศพขึ้นมา โดยสำนวนดังกล่าวจะแสดงเหตุและพฤติการณ์ที่ตาย ผู้ตายเป็นใคร ตายเมื่อใด และถ้าตายโดยถูกคนทำร้าย ให้กล่าวว่าใครเป็นผู้ทำร้ายหรือสงสัยว่าใครเป็นผู้ทำร้าย เมื่อเสร็จแล้วก็จะส่งให้พนักงานอัยการทำคำร้องขอต่อศาลให้ไต่สวนการชันสูตรพลิกศพและมีคำสั่ง ซึ่งคำสั่งเรื่องการชันสูตรพลิกศพของศาลนี้จะถือเป็นหลักฐานส่วนหนึ่งที่แสดงถึงความตายของผู้ตาย โดยต่อมาศาลจะส่งคำสั่งให้พนักงานอัยการ เพื่อพนักงานอัยการจะส่งให้พนักงานสอบสวนนำไปรวมกับสำนวนคดีที่เจ้าหน้าที่ตกเป็นผู้ต้องหาหรือคดีวิสามัญฆาตกรรม เพื่อพิสูจน์ความผิดของเจ้าหน้าที่ในอีกคดีหนึ่ง

 

วิสามัญฆาตกรรม ต้องมีการชันสูตรพลิกศพ และต้องมีเจ้าหน้าที่ 4 ฝ่ายร่วมกันชันสูตรพลิกศพ

การชันสูตรพลิกศพนั้นทำเพื่อให้ได้ข้อมูลว่าผู้ตายคือใคร ตายที่ไหน ตายเมื่อไหร่ เหตุของการตายคืออะไร พฤติการณ์ของการตายเป็นอย่างไร รวมถึงผู้ที่ทำให้ตายเท่าที่สามารถทราบได้ ซึ่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ได้บัญญัติให้มีการชันสูตรพลิกศพใน 2 กรณี คือ

1. ตายโดยผิดธรรมชาติ คือ การฆ่าตัวตาย การถูกผู้อื่นทำให้ตาย การถูกสัตว์ทำร้ายตาย การตายโดยอุบัติเหตุ และการตายโดยยังมิปรากฏเหตุ

2. ตายโดยการกระทำของเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ หรือตายในระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ ซึ่งกรณีนี้เป็นการตายในความหมายของการ “วิสามัญฆาตกรรม”

การชันสูตรพลิกศพอาจจะทำเพียงการตรวจศพภาพนอกในที่พบศพเท่านั้น เพราะกฎหมายไม่ได้บังคับให้ต้องมีการผ่าศพเสมอไป กฎหมายกำหนดเพียงแค่ว่าเมื่อจำเป็นเพื่อพบเหตุของการตาย เจ้าพนักงานผู้ทำการชันสูตรพลิกศพ มีอำนาจสั่งให้ผ่าศพแล้วแยกธาตุส่วนใด หรือจะให้ส่งทั้งศพหรือบางส่วนไปยังแพทย์หรือพนักงานแยกธาตุของรัฐบาลก็ได้ ตามที่ได้บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 151 และ 152 ดังนั้น การส่งศพไปผ่าตรวจพิสูจน์โดยแพทย์นิติเวชจึงเป็นดุลพินิจของเจ้าพนักงานผู้ทำการชันสูตรพลิกศพ ซึ่งในทางปฏิบัติจะเป็นพนักงานสอบสวน

 

ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการชันสูตรพลิกศพกรณีตายโดยผิดธรรมชาติทั่วไป กฎหมายกำหนดให้ผู้ทำหน้าที่ในการชันสูตรพลิกศพไว้เพียง 2 ฝ่าย คือ พนักงานสอบสวน และแพทย์ แต่กรณีการตายจากวิสามัญฆาตกรรมนั้น กฎหมายกำหนดให้ต้องมีการชันสูตรร่วมกัน 4 ฝ่าย คือ

1.พนักงานสอบสวนแห่งท้องที่ที่ศพนั้น

2.แพทย์ ซึ่งกฎหมายกำหนดให้เป็นแพทย์นิติเวชศาสตร์หรือแพทย์ประจำโรงพยาบาลของรัฐ หรือแพทย์สาธารณะสุขจังหวัด หรือแพทย์ประจำโรงพยาบาลเอกชนหรือผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ตามลำดับ

              3.พนักงานอัยการ

4.พนักงานฝ่ายปกครองตำแหน่งตั้งแต่ระดับปลัดอำเภอหรือเทียบเท่าขึ้นไปแห่งท้องที่ที่ศพ

โดยแต่ละฝ่ายจะมีบทบาทโดยสรุป ดังนี้

1.พนักงานสอบสวน และแพทย์ มีหน้าที่บันทึกรายละเอียดแห่งการชันสูตรพลิกศพทันที (ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150 วรรคแรก) ในทางปฏิบัติอาจจะมีการช่วยกันดำเนินการทั้ง 4 ฝ่ายคือมีพนักงานอัยการและพนักงานฝ่ายปกครองช่วยบันทึกด้วย

2.แพทย์ มีหน้าที่ทำรายงานแนบท้ายบันทึกรายละเอียดแห่งการชันสูตรพลิกศพ ภายใน 7 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งเรื่อง ถ้ามีความจำเป็นให้ขยายเวลาออกไปได้ไม่เกิน 2 ครั้ง ครั้งละไม่เกิน 30 วัน (ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150 วรรคแรก)

3.กรณีมีการส่งศพหรือส่วนของศพให้แพทย์ทำการผ่าพิสูจน์ เมื่อแพทย์ทำการผ่าศพและตรวจพิสูจน์เสร็จแล้ว จะต้องทำรายงานถึงสภาพของศพ หรือส่วนของศพตามที่พบเห็นหรือตามที่ปรากฏจากการตรวจ พร้อมทั้งความเห็นในเรื่องนั้น และแสดงเหตุที่ตายเท่าที่จะทำได้ รวมทั้งลงวันเดือนปีและลายมือชื่อในรายงาน แล้วจัดการส่งไปยังเจ้าพนักงานผู้ทำการชันสูตรพลิกศพ (ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 151 และ 152)

4.พนักงานสอบสวนมีหน้าที่รับผิดชอบหลักในการทำสำนวนการชันสูตรพลิกศพ โดยตามระเบียบปฏิบัติภายในขององค์กรตำรวจเอง ในกรณีวิสามัญฆาตกรรมนั้นได้กำหนดให้รองผู้บังคับการ หรือพนักงานสอบสวนผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้บังคับการที่รับผิดชอบในเขตพื้นที่นั้นเข้ามาดำเนินการด้วยตนเอง (อ้างอิงจากคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ 419/2556 เรื่อง การอำนวยความยุติธรรมในคดีอาญา การทำสำนวนการสอบสวน ฯลฯ บทที่ 4 ข้อ 3.2 ) และในการทำสำนวนนี้ให้แจ้งพนักงานอัยการให้เข้าร่วมดำเนินการทำสำนวนชันสูตรพลิกศพให้แล้วเสร็จภายใน 30 วันนับแต่วันที่พนักงานอัยการได้รับแจ้ง  ถ้ามีความจำเป็นสามารถขยายระยะเวลาได้ไม่เกิน 2 ครั้ง ครั้งละไม่เกิน 30 วัน แต่ต้องบันทึกเหตุผลและความจำเป็นในการขยายระยะเวลาทุกครั้งไว้ในสำนวนชันสูตรพลิกศพ (ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150 วรรค 4)

5.พนักงานอัยการ มีบาทบาทสำคัญในการควบคุมการชันสูตรพลิกศพและการทำสำนวนการชันสูตรพลิกศพร่วมกับพนักงานสอบสวน โดยกฎหมายกำหนดให้มีอำนาจสั่งให้พนักงานสอบสวนปฏิบัติตามได้ (ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150 วรรค 6 และวรรค 4)

 

วิสามัญฆาตกรรม ต้องมีการไต่สวนการชันสูตรพลิกศพ หรือ ไต่สวนการตาย โดยศาล

การไต่สวนการชันสูตรพลิกศพ หรือ การไต่สวนการตายเป็นกระบวนการที่ศาลทำการไต่สวนและมีคำสั่งแสดงว่าผู้ตายคือใคร ตายที่ไหน เมื่อใด และถึงเหตุและพฤติการณ์ที่ตาย

เมื่อมีการทำสำนวนชันสูตรพลิกศพเสร็จสิ้น พนักงานสอบสวนจะส่งสำนวนการชันสูตรพลิกศพให้แก่พนักงานอัยการ พนังงานอัยการจะทำคำร้องต่อศาลชั้นต้นแห่งท้องที่ที่ให้ทำการไต่สวนและคำสั่งว่า “ผู้ตายคือใคร ตายที่ไหน เมื่อใด และถึงเหตุและพฤติการณ์ที่ตาย ถ้าตายโดยคนทำร้ายให้กล่าวว่าใครเป็นผู้กระทำร้ายเท่าที่จะทราบได้” ซึ่งพนักงานอัยการทำคำร้องขอต่อศาลภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับสำนวน ถ้ามีความจำเป็น ให้ขยายระยะเวลาออกไปได้ไม่เกิน 2 ครั้ง ครั้งละไม่เกิน 30 วัน แต่ต้องบันทึกเหตุผลและความจำเป็นในการขยายระยะเวลาทุกครั้งไว้ในสำนวนชันสูตรพลิกศพ (ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150 วรรคห้า)

ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150 วรรค 7, 8, 9และวรรค 10 ได้กำหนดขั้นตอนการดำเนินการกระบวนการไต่สวนของศาลไว้ดังนี้

1.ให้ศาลปิดประกาศแจ้งกำหนดวันที่จะทำการไต่สวนไว้ที่ศาล

2.ให้พนักงานอัยการยื่นคำร้องต่อศาลขอให้ศาลส่งสำเนาคำร้องและแจ้งกำหนดวันนัดไต่สวนให้สามี ภริยา ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน ผู้แทนโดยชอบธรรม ผู้อนุบาล หรือญาติของผู้ตายตามลำดับอย่างน้อยหนึ่งคนเท่าที่จะทำได้ทราบก่อนวันนัดไต่สวนไม่น้อยกว่า 15 วัน

3.ในการไต่สวน ให้พนักงานอัยการนำพยานหลักฐานทั้งปวงที่แสดงถึงการตายมาสืบ

4.ในการไต่สวน ญาติของผู้ตายมีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลขอเข้ามาซักถามพยานที่พนักงานอัยการนำสืบและนำสืบพยานหลักฐานอื่น รวมถึงขอให้ศาลเรียกผู้ทรงคุณวุฒิหรือผู้เชี่ยวชาญอื่นมาให้ความเห็นได้ด้วย โดยในการดำเนินการดังกล่าวฝ่ายญาติผู้ตายมีสิทธิแต่งตั้งทนายความเข้ามาดำเนินการแทนได้ หากไม่มีทนายความ ให้ศาลตั้งทนายความให้

5.เมื่อเห็นสมควรเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ศาลจะเรียกพยานที่นำสืบมาแล้วมาสืบเพิ่มเติมหรือเรียกพยานหลักฐานอื่นมาสืบก็ได้ และอาจขอให้ผู้ทรงคุณวุฒิหรือผู้เชี่ยวชาญมาให้ความเห็นเพื่อประกอบการไต่สวนและทำคำสั่งได้

6.คำสั่งของศาลให้ถึงที่สุด ไม่สามารถอุทธรณ์ได้ แต่ไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิฟ้องร้อง และการพิจารณาพิพากษาคดีที่ได้ฟ้องหรือจะฟ้องเกี่ยวกับการตายนั้น

7.เมื่อศาลได้มีคำสั่งแล้ว ให้ส่งสำนวนการไต่สวนของศาลไปยังพนักงานอัยการ เพื่อส่งแก่พนักงานสอบสวนดำเนินการต่อไป

 

คดีที่ผู้ตายตกเป็นผู้ต้องหา

พนักงานสอบสวนจะดำเนินการสอบสวนคดีที่ผู้ถูกวิสามัญฆาตกรรมตกเป็นผู้ต้องหาไปตามระบบ เมื่อทำสำนวนคดีนี้เสร็จสิ้นแล้ว พนักงานสอบสวนก็จะมีความเห็นควรสั่งไม่ฟ้อง เนื่องจากผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดในคดีได้ถึงแก่ความตายแล้ว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องผู้กระทำผิดจึงระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (1)

 

คดีที่เจ้าหน้าที่ตกเป็นผู้ต้องหา/คดีวิสามัญฆาตกรรม

พนักงานสอบสวนก็จะดำเนินการสอบสวนไปตามรายละเอียดที่ระบุไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งในกฎหมายกำหนดชัดว่า “ให้พนักงานสอบสวนรวบรวมหลักฐานทุกชนิด เท่าที่สามารถจะทำได้ เพื่อประสงค์จะทราบข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ต่าง ๆ อันเกี่ยวกับความผิดที่ถูกกล่าวหา เพื่อจะรู้ตัวผู้กระทำผิดและพิสูจน์ให้เห็นความผิดหรือความบริสุทธิ์ของผู้ต้องหา” เนื่องจากไม่มีกฎหมายใดให้อำนาจผู้ใดในการฆ่าผู้อื่น กรณีวิสามัญฆาตกรรมนี้ แม้เป็นการอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ ก็ต้องเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์ความจริงตามขั้นตอน และในคดีวิสามัญฆาตกรรมนั้น กฎหมายและระเบียบปฏิบัติกำหนดให้เจ้าหน้าที่เข้ามามีส่วนร่วมในการสอบสวนถึง 3 ฝ่าย ได้แก่ พนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ และผู้ว่าราชการจังหวัด

เมื่อทำการสอบสวนคดีนี้เสร็จ สำนวนคดีนี้จะถูกเรียกว่าสำนวนการสอบสวนคดีวิสามัญฆาตกรรม ซึ่งพนักงานสอบสวนจะนำมารวมกับสำนวนการชันสูตรพลิกศพที่ศาลมีคำสั่ง เพื่อมีความเห็นสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้อง และส่งให้พนักงานอัยการอีกทีหนึ่ง โดยในคดีวิสามัญฆาตกรรมนั้น อัยการสูงสุดหรือผู้รักษาราชการแทนเท่านั้นมีอำนาจออกคำสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้อง ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 143 วรรคท้าย ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

 

การสั่งฟ้องในคดีวิสามัญฆาตกรรม เป็นอำนาจของอัยการสูงสุด และไม่มีกำหนดระยะเวลาแน่นอนในการสั่งคดี

เมื่อพนักงานสอบสวนทำสำนวนคดีที่เจ้าหน้าที่ตกเป็นผู้ต้องหา/คดีวิสามัญฆาตกรรมเสร็จ ก่อนที่จะไปถึงขั้นตอนการพิจารณาคดีในชั้นศาล สำนวนการสอบสวนและความเห็นของพนักงานสอบสวนว่าควรสั่งฟ้องหรือไม่นั้นต้องผ่านอีก 2 ขั้นตอน คือ

  1. พนักงานสอบสวนต้องส่งสำนวนคดีให้ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจารณาก่อน แล้วจึงจะส่งสำนวนให้อัยการสูงสุดพิจารณาต่อไป เนื่องจากตามที่กำหนดในหนังสือ ตร. ที่ 0031.212/4423 ลงวันที่ 13 พ.ค .2551 เรื่อง แนวทางปฏิบัติกรณีผู้ว่าราชการจังหวัดเข้าควบคุมการสอบสวนคดีวิสามัญฆาตกรรม  กระทรวงมหาดไทยให้ผู้ว่าราชการเข้าควบคุมการสอบสวนคดีวิสามัญฆาตกรรมทุกคดี อีกทั้งเมื่อพนักงานดำเนินการสอบสวนเสร็จ ให้ส่งสำนวนการสอบสวนให้ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจารณาก่อนที่จะส่งให้อัยการสูงสุดพิจารณามีคำสั่งตามมาตรา 143 วรรคท้าย ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
  2. อัยการสูงสุดหรือผู้รักษาการแทนเท่านั้นมีอำนาจสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องคดีวิสามัญฆาตกรรม พนักงานสอบสวนต้องส่งสำนวนการสอบสวนให้อัยการสูงสุดหรือผู้รักษาการแทนเป็นคนสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้อง ซึ่งกรณีนี้แตกต่างไปจากอำนาจพิจารณาสั่งคดีอาญาทั่วไป ซึ่งเป็นอำนาจของพนักงานอัยการจังหวัด

ในกรณีที่อัยการสูงสุด หรือผู้รักษาการแทนมีคำสั่งฟ้อง พนักงานอัยการก็จะมีการยื่นฟ้องเจ้าหน้าที่ผู้ตกเป็นผู้ต้องหานั้นต่อศาลที่มีเขตอำนาจต่อไป ซึ่งกระบวนการหลังจากที่ศาลมีคำสั่งไต่สวนการชันสูตรพลิกศพ/ไต่สวนการตายนั้นไม่มีกำหนดระยะเวลาตามกฎหมายอย่างแน่นอนว่าต้องดำเนินการจนมีคำสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้องภายในระยะเวลาเท่าไหร่