เรียนรู้กระบวนการทางกฎหมายในกรณีวิสามัญฆาตกรรม ผ่านคดีวิสามัญฆาตกรรมชัยภูมิ ป่าแส

เรียนรู้กระบวนการทางกฎหมายในกรณีวิสามัญฆาตกรรม ผ่านคดีวิสามัญฆาตกรรมชัยภูมิ ป่าแส

นายชัยภูมิ ป่าแส นักกิจกรรมชาวลาหู่ เสียชีวิตจากการวิสามัญฆาตกรรมของเจ้าหน้าที่ทหารเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2560 ณ บริเวณด่านตรวจบ้านรินหลวง อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ เนื่องจากเจ้าหน้าที่ทหารอ้างว่าชัยภูมิมียาเสพติดไว้ในครอบครองกว่าสองพันเม็ด และมีพฤติการณ์จะขว้างระเบิดใส่เจ้าหน้าที่ จึงเป็นเหตุต้องวิสามัญฆาตกรรมนายชัยภูมิในขณะนั้น

เมื่อเกิดการวิสามัญฆาตกรรม

การวิสามัญฆาตกรรม หรือ การตายโดยการกระทำของเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ หรือตายในระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ เมื่อเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้น คดีจะถูกแบ่งออกเป็น 3 สำนวนที่พนักงานสอบสวนต้องดำเนินการ คือ คดีชันสูตรพลิกศพ คดีที่ผู้ตายตกเป็นผู้ต้องหา และคดีที่เจ้าหน้าที่ตกเป็นผู้ต้องหา ดังนี้

  1. คดีชันสูตรพลิกศพ คือ พนักงานสอบสวนจะร่วมกับพนักงานอัยการทำสำนวนการชันสูตรพลิกศพขึ้นมา โดยสำนวนดังกล่าวจะแสดงเหตุและพฤติการณ์ที่ตาย ผู้ตายเป็นใคร ตายเมื่อใด และถ้าตายโดยถูกคนทำร้าย ให้กล่าวว่าใครเป็นผู้ทำร้ายหรือสงสัยว่าใครเป็นผู้ทำร้าย เมื่อเสร็จแล้วก็จะส่งให้พนักงานอัยการทำคำร้องขอต่อศาลให้ไต่สวนการชันสูตรพลิกศพและมีคำสั่ง ซึ่งคำสั่งเรื่องการชันสูตรพลิกศพของศาลนี้จะถือเป็นหลักฐานส่วนหนึ่งที่แสดงถึงความตายของผู้ตาย โดยต่อมาศาลจะส่งคำสั่งให้พนักงานอัยการ เพื่อพนักงานอัยการจะส่งให้พนักงานสอบสวนนำไปรวมกับสำนวนคดีที่เจ้าหน้าที่ตกเป็นผู้ต้องหาหรือคดีวิสามัญฆาตกรรม เพื่อพิสูจน์ความผิดของเจ้าหน้าที่ในอีกคดีหนึ่ง
  2. คดีที่ผู้ตายตกเป็นผู้ต้องหา พนักงานสอบสวนจะดำเนินการสอบสวนคดีที่ผู้ถูกวิสามัญฆาตกรรมตกเป็นผู้ต้องหาไปตามระบบ เมื่อทำสำนวนคดีนี้เสร็จสิ้นแล้ว พนักงานสอบวนก็จะมีความเห็นควรสั่งไม่ฟ้อง เนื่องจากผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดในคดีได้ถึงแก่ความตายแล้ว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องผู้กระทำผิดจึงระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (1)
  3. คดีที่เจ้าหน้าที่ตกเป็นผู้ต้องหา/คดีวิสามัญฆาตกรรม พนักงานสอบสวนก็จะดำเนินการสอบสวนไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาปกติ ซึ่งในกฎหมายกำหนดชัดว่า “ให้พนักงานสอบสวนรวบรวมหลักฐานทุกชนิด เท่าที่สามารถจะทำได้ เพื่อประสงค์จะทราบข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ต่าง ๆ อันเกี่ยวกับความผิดที่ถูกกล่าวหา เพื่อจะรู้ตัวผู้กระทำผิดและพิสูจน์ให้เห็นความผิดหรือความบริสุทธิ์ของผู้ต้องหา” และในคดีวิสามัญฆาตกรรมนั้น กฎหมายและระเบียบปฏิบัติกำหนดให้เจ้าหน้าที่เข้ามามีส่วนร่วมในการสอบสวนถึง 3 ฝ่าย ได้แก่ พนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ และผู้ว่าราชการจังหวัด

เมื่อทำการสอบสวนคดีนี้เสร็จ สำนวนคดีนี้จะถูกเรียกว่าสำนวนการสอบสวนคดีวิสามัญฆาตกรรม ซึ่งพนักงานสอบสวนจะนำมารวมกับสำนวนการชันสูตรพลิกศพที่ศาลมีคำสั่ง เพื่อมีความเห็นสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้อง และส่งให้พนักงานอัยการอีกทีหนึ่ง โดยในคดีวิสามัญฆาตกรรมนั้น อัยการสูงสุดหรือผู้รักษาราชการแทนเท่านั้นมีอำนาจออกคำสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้อง ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 143 วรรคท้าย ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

กรณีวิสามัญฆาตกรรมชัยภูมิ ป่าแส ต้องมีการชันสูตรพลิกศพ และการไต่สวนการชันสูตรพลิกศพ/ไต่สวนการตาย

หลังจากเกิดเหตุวิสามัญฆาตกรรมนายชัยภูมิ ป่าแส ซึ่งเป็นการตายอันเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ทหารซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ จึงต้องมีการชันสูตรพลิกศพและไต่สวนการชันสูตรพลิกศพ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 148 และ 150 โดยพนักงานอัยการจังหวัดเชียงใหม่ได้ยื่นคำร้องขอไต่สวนการชันสูตรพลิกศพ/ไต่สวนการตาย เพื่อให้ศาลทำการไต่สวนและมีคำสั่งแสดงว่าผู้ตายคือใคร ตายที่ไหน เมื่อใด และถึงเหตุและพฤติการณ์ที่ตาย และญาติของนายชัยภูมิเข้าร่วมเป็นผู้ร้องซักถาม

ในช่วงเวลาดังกล่าว ทั้งช่วงก่อนและหลังจากที่ศาลมีคำสั่งเรื่องการชันสูตรพลิกศพ ญาติของชัยภูมิ ทนายความ และองค์กรที่ให้ความสนใจกรณีนี้ ได้มีความพยายามจะขอเรียกดูภาพจากกล้องวงจรปิดบริเวณด่านตรวจที่สามารถบันทึกภาพในวันเกิดเหตุเอาไว้ ซึ่งถือว่าเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญที่จะบอกแก่ประชาชนได้ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างในเวลาที่เกิดเหตุ โดยในท้ายที่สุดสำนักงานเลขาธิการกองทัพบกได้ส่งหนังสือตอบกลับมาถึงสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนว่า “ไม่พบข้อมูลภาพใดๆจากกล้องวงจรปิดในวันที่เกิดเหตุ” (อ่านเพิ่มเติม : หนังสือตอบกลับจากสำนักเลขาธิการกองทัพบก  และ ข้อมูลภาพจากกล้องวงจรปิดวิสามัญชัยภูมิ ป่าแสหายไป ใครต้องรับผิดชอบ? )

ต่อมาเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2561 ศาลจังหวัดเชียงใหม่มีคำสั่งเรื่องการชันสูตรพลิกศพนายชัยภูมิไป ความว่า “เหตุและพฤติการณ์ที่ตายคือ ถูกพลทหารสุรศักดิ์ รัตนวรรณ ใช้อาวุธปืน เอ็ม 16 ยิง กระสุนเข้าที่ต้นแขนซ้ายด้านนอกทะลุต้นแขนซ้ายด้านใน และกระสุนแตกเข้าไปในลำตัวบริเวณสีข้างด้านซ้ายเหนือราวนม กระสุนปืนทำลายเส้นเลือดใหญ่หัวใจและปอดจนเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตาย” (อ่านคำสั่งเรื่องการชันสูตรพลิกศพฉบับเต็ม)

ครอบครัวชัยภูมิฟ้องเรียกค่าเสียหายกองทัพบก ขณะที่คดีวิสามัญฆาตกรรมยังไม่คืบ

ภายหลังกระบวนการไต่สวนการชันสูตรพลิกศพ/ไต่สวนการตาย ในระหว่างการรอความคืบหน้าการดำเนินคดีต่อเจ้าหน้าที่ทหาร (คดีวิสามัญฆาตกรรม) เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2562 แม่และครอบครัวนายชัยภูมิ ป่าแส ยื่นฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายจากกองทัพบก ซึ่งเป็นหน่วยงานต้นสังกัดของเจ้าหน้าที่ทหาร ฐานละเมิดตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ฯ ซึ่งหน่วยงานของรัฐที่กำกับดูแลจะต้องรับผิดชอบ ชดใช้ค่าเสียหาย เป็นคดีหมายเลขดำที่ พ.2591/2562 (อ่านรายละเอียดญาติชัยภูมิยื่นฟ้องแพ่งกองทัพบก) ซึ่งต่อมาศาลมีคำสั่งให้ส่งประเด็นไปสืบที่ศาลจังหวัดเชียงใหม่เนื่องจากพยานโจทก์ที่จะนำสืบทั้ง 9 ปาก มีภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ทั้งหมด จึงจะต้องนำสืบพยานผ่านทางจอภาพ และโจทก์ได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล ซึ่งเงินค่าธรรมเนียมศาลที่ได้รับยกเว้นนั้นไม่ครอบคลุมถึงการยกเว้นค่าธรรมเนียมในการสืบพยานผ่านทางจอภาพ จึงมีเหตุจำเป็นที่จะส่งประเด็นไปสืบที่ศาลจังหวัดเชียงใหม่ โดยจะมีการสืบพยานทั้งหมดในวันที่ 21-23 มกราคม 2563

การสั่งฟ้องในคดีวิสามัญฆาตกรรม เป็นอำนาจของอัยการสูงสุด และไม่มีกำหนดระยะเวลาแน่นอนในการสั่งคดี

เมื่อพนักงานสอบสวนทำสำนวนคดีที่เจ้าหน้าที่ตกเป็นผู้ต้องหา/คดีวิสามัญฆาตกรรมเสร็จ ก่อนที่จะไปถึงขั้นตอนการพิจารณาคดีในชั้นศาล สำนวนการสอบสวนและความเห็นของพนักงานสอบสวนว่าควรสั่งฟ้องหรือไม่นั้นต้องผ่านอีก 2 ขั้นตอน คือ

  1. พนักงานสอบสวนต้องส่งสำนวนคดีให้ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจารณาก่อน แล้วจึงจะส่งสำนวนให้อัยการสูงสุดพิจารณาต่อไป เนื่องจากตามที่กำหนดในหนังสือ ตร. ที่ 0031.212/4423 ลงวันที่ 13 พ.ค .2551 เรื่อง แนวทางปฏิบัติกรณีผู้ว่าราชการจังหวัดเข้าควบคุมการสอบสวนคดีวิสามัญฆาตกรรม  กระทรวงมหาดไทยให้ผู้ว่าราชการเข้าควบคุมการสอบสวนคดีวิสามัญฆาตกรรมทุกคดี อีกทั้งเมื่อพนักงานดำเนินการสอบสวนเสร็จ ให้ส่งสำนวนการสอบสวนให้ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจารณาก่อนที่จะส่งให้อัยการสูงสุดพิจารณาสั่งตามมาตรา 143 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
  2. อัยการสูงสุดหรือผู้รักษาการแทนเท่านั้นมีอำนาจสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องคดีวิสามัญฆาตกรรม พนักงานสอบสวนต้องส่งสำนวนการสอบสวนให้อัยการสูงสุดหรือผู้รักษาการแทนเป็นคนสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้อง ซึ่งกรณีนี้แตกต่างไปจากอำนาจพิจารณาสั่งคดีอาญาทั่วไป ซึ่งเป็นอำนาจของพนักงานอัยการจังหวัด

ในกรณีที่อัยการสูงสุด หรือผู้รักษาการแทนมีคำสั่งฟ้อง พนักงานอัยการก็จะมีการยื่นฟ้องเจ้าหน้าที่ผู้ตกเป็นผู้ต้องหานั้นต่อศาลที่มีเขตอำนาจต่อไป ซึ่งกระบวนการหลังจากที่ศาลมีคำสั่งไต่สวนการชันสูตรพลิกศพ/ไต่สวนการตายนั้นไม่มีกำหนดระยะเวลาตามกฎหมายอย่างแน่นอนว่าต้องดำเนินการจนมีคำสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้องภายในระยะเวลาเท่าไหร่ ซึ่งในกรณีของชัยภูมิ ป่าแส นับจากวันที่ศาลมีคำสั่งไต่สวนการชันสูตรพลิกศพจนถึงปัจจุบัน ผ่านมาเป็นระยะเวลากว่า 1 ปี กับอีก 6 เดือนแล้ว

คดีเจ้าหน้าที่ทหารวิสามัญฆาตกรรมชัยภูมิ ป่าแส ต้องพิจารณาคดีในศาลไหน?

ในกรณีที่ผู้ตายถูกเจ้าหน้าที่ทหารซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ทำให้เสียชีวิตหรือวิสามัญฆาตกรรมนั้น อำนาจศาลในการพิจารณาคดีแยกออกเป็น 2 กรณี ดังนี้

  1. เจ้าหน้าที่ทหารวิสามัญฆาตกรรมเจ้าหน้าที่ทหารด้วยกัน เป็นกรณีที่ผู้ตายเป็นบุคคลที่อยู่ในอำนาจของศาลทหารตามที่ได้กำหนดไว้ในมาตรา 16 พระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ.2498 และสำนวนคดีที่ผู้ตายเป็นผู้ต้องหาไม่ได้เป็นคดีที่เกี่ยวพันกับคดีที่อยู่ในอำนาจศาลพลเรือน ตามมาตรา 14 (2) พระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ.2498 ดังนั้น ในกรณีนี้เป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลทหาร
  2. เจ้าหน้าที่ทหารวิสามัญฆาตกรรมพลเรือน เป็นคดีที่เกี่ยวพันกับคดีของบุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลพลเรือน ซึ่งไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลทหาร ตามมาตรา 14 (2) พระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ.2498 กล่าวคือ คดีที่พลเรือนตกเป็นผู้ต้องหา เป็นคดีที่อยู่ในอำนาจของศาลพลเรือน จึงถือเป็นคดีที่เกี่ยวพันกับคดีในอำนาจศาลพลเรือน จะไม่อยู่ในอำนาจของศาลทหาร

ดังนั้นในกรณีที่นายชัยภูมิ ป่าแส ถูกเจ้าหน้าที่ทหารวิสามัญฆาตกรรมนั้น จึงเป็นกรณีที่เจ้าหน้าที่ทหารวิสามัญฆาตกรรมพลเรือน อันเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจต้องดำเนินการพิจารณาในศาลพลเรือน