ข้อมูลภาพจากกล้องวงจรปิดวิสามัญชัยภูมิ ป่าแสหายไป ใครต้องรับผิดชอบ?

ข้อมูลภาพจากกล้องวงจรปิดวิสามัญชัยภูมิ ป่าแสหายไป ใครต้องรับผิดชอบ?

ใครต้องรับผิดชอบ เมื่อข้อมูลกล้องวงจรปิดอันเป็นพยานหลักฐานสำคัญในกรณีวิสามัญฆาตกรรมนายชัยภูมิ ป่าแส หายไป?

ความจริงที่ความคลุมเครือของเหตุการณ์เจ้าหน้าที่วิสามัญฆาตกรรมนายชัยภูมิ ป่าแส เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2560 ทำให้เกิดคำถามมากมายตามมาว่าในวันดังกล่าวเกิดอะไรขึ้นกันแน่?  ดังนั้น ข้อมูลจากกล้องวงจรปิดในที่เกิดเหตุจึงถือเป็นพยานหลักฐานชิ้นสำคัญที่จะช่วยทำให้ความจริงกระจ่างขึ้น

ความพยายามในเรียกร้องให้เปิดเผยภาพจากกล้องวงจรปิดวันที่ 17 มีนาคม 2560 ซึ่งเป็นวันที่เกิดเหตุการณ์วิสามัญฆาตกรรมนายชัยภูมิ ป่าแส บริเวณด่านตรวจบ้านรินหลวง ตำบลเมืองนะ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องจากทั้งสาธารณะชน ทนายความ ครอบครัว และภาคส่วนต่างๆ โดยมีการพยายามทวงถามถึงหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องขอให้เปิดเผยบันทึกภาพดังกล่าวออกมา รวมทั้งขอให้ศาลเรียกข้อมูลดังกล่าวมาพิสูจน์ในชั้นไต่สวนการตาย แต่ก็ไม่เป็นผล ไม่มีการเปิดเผยข้อมูลบันทึกภาพดังกล่าวแต่อย่างใด ไม่ว่าจะในทางสาธารณะ หรือแม้กระทั่งในชั้นศาล

วันที่ 18 มิถุนายน 2561  เครือข่ายติดตามความคืบหน้าคดีวิสามัญฆาตกรรมนายชัยภูมิ ป่าแส  ได้ขอเข้าพบพลเอกเฉลิมชัย สิทธิสารท ผู้บัญชาการทหารบก เพื่อยื่นหนังสือขอให้ทางกองทัพส่งข้อมูลภาพจากกล้องวงจรปิดของวันที่เกิดเหตุให้กับทนายความและญาติเพื่อนำไปใช้เป็นพยานหลักฐานในการใช้สิทธิในการเยียวยาทางกฏหมายต่อไป

ต่อมาในวันที่ 6 กรกฎาคม 2561 นายรัษฎา มนูรัษฎา ทนายความจากสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนได้รับจดหมายตอบกลับจากสำนักงานเลขานุการกองทัพบก โดยเนื้อความในหนังสือตอนหนึ่งระบุว่า “วันที่ 24 มีนาคม 2560 กองบัญชาการควบคุมที่ 1 หน่วยเฉพาะกิจ กรมทหารม้าที่ 5 (บก.ควบคุมที่ 1 ฉก.ม.5) ได้ถอดเครื่องบันทึกข้อมูลกล้องวงจรปิดออกจากจุดตรวจบ้านรินหลวง เพื่อเตรียมการส่งให้สถานีตำรวจภูธรนาหวาย และเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2560 กองกำลังผาเมือง ได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปร่วมดำเนินการเปิดดูข้อมูลภาพเหตุการณ์ของวันที่ 17 มีนาคม 2560 แต่ภาพในเครื่องบันทึกข้อมูลเป็นภาพของวันที่ 20 – 25 มีนาคม 2560 ไม่มีภาพของวันที่ 17 มีนาคม 2560 เนื่องจากเป็นระบบบันทึกซ้ำอัตโนมัติของเครื่อง” (อ่านข่าวเต็มที่นี้)

คำชี้แจงดังกล่าวทำให้เกิดการตั้งคำถามต่างๆ ขึ้นมากมาย ทั้งจากทนายความ และผู้เกี่ยวข้องตามมาหลายประการ คำถามเหล่านี้เป็นการตั้งข้อสังเกต ข้อสงสัย และถามถึงผู้ที่จะต้องรับผิดชอบกรณีที่พยานหลักฐานสำคัญอย่างบันทึกภาพของกล้องวงจรปิดในวันที่เกิดเหตุหายไป

ประเด็นแรก ทำไมการเก็บพยานหลักฐานในส่วนที่เกี่ยวกับกล้องวงจรปิดซึ่งเป็นหลักฐานสำคัญถึงล่าช้า

 กล้องวงจรปิดสามารถบันทึกข้อมูลได้เป็นระยะเวลาประมาณ 6 วัน ข้อมูลดังกล่าวอ้างอิงจากคำวินิจฉัย ที่ สค 52/2561 ของคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารสาขาสังคม การบริหารราชการแผ่นดินและการบังคับใช้กฎหมาย อ้างถึงรายงานผลการตรวจพิสูจน์และความเห็นของผู้เชี่ยวชาญ กลุ่มงานตรวจพิสูจน์อาชญากรรมคอมพิวเตอร์ ระบุว่า (5) ในขณะทำการตรวจพิสูจน์ตรวจพบว่าฮาร์ดดิสก์ที่ติดตั้งอยู่ภายในของเครื่องบันทึกภาพจากกล้องวงจรปิดของกลางรายการที่ 1 จะสามารถบันทึกข้อมูลได้เป็นระยะเวลาประมาณ 6 วัน”  (ดูฉบับเต็ม)

หากมีการถอดเครื่องบันทึกข้อมูลกล้องวงจรปิดในวันที่ 24 มีนาคม 2560 ข้อมูลที่กล้องบันทึกได้ก็น่าจะอยู่ระหว่างวันที่ 19 – 24 มีนาคม 2561 มากไปกว่านั้นกล้องวงจรปิดไม่น่าจะบันทึกข้อมูลของวันที่ 25 มีนาคม 2560 ได้  เว้นแต่วันที่ถอดกล้องวงจรปิดจริงจะไม่ใช่วันที่ 24 มีนาคม แต่เป็น 25 มีนาคม 2561 ซึ่งสอดคล้องกับคำให้การของร้อยโทธรรมรัตน์ ทิมกลางดอน รองผู้บังคับกองร้อย ทหารม้าบรรทุก กรมทหารม้าที่ 5 จังหวัดสระบุรี ซึ่งให้ไว้ในชั้นสอบสวนในฐานะพยานเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2560 ว่า เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2560 กองกำลังผาเมืองสั่งให้ บก.ควบคุมที่ 1 จัดเจ้าหน้าที่ไปทำการถอดกล่องบันทึกข้อมูลเพื่อส่งข้อมูลให้กับพนักงานสอบสวน สภ.นาหวาย

ทำไมถึงถอดเครื่องบันทึกข้อมูลกล้องวงจรปิดภายหลังจากวันที่เกิดเหตุการณ์ล่าช้าถึง 7 วัน ซึ่งเสี่ยงที่ระบบจะบันทึกข้อมูลทับข้อมูลเดิม

จากข้อมูลที่ผู้แทนสถานีตำรวจภูธรนาหวายได้ชี้แจงต่อคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารสาขาสังคม การบริหารราชการแผ่นดินและการบังคับใช้กฎหมาย ปรากฏในคำวินิจฉัย ที่ สค 52/2561 ระบุว่า “สถานีตำรวจภูธรนาหวายได้มีหนังสือลงวันที่ 20 มีนาคม 2560 ถึงกองบัญชาการควบคุมที่ 1 หน่วยเฉพาะกิจ กรมทหารม้าที่ 5 (บก.ควบคุมที่ 1 ฉก.ม.5) ให้ส่งแฟ้มข้อมูลภาพยนตร์ช่วงเกิดเหตุเพื่อทำการสอบสวน” และในหนังสือชี้แจงจากสำนักเลขานุการกองทัพบกถึงนายรัษฎา ระบุว่า “ได้รับหนังสือจากสถานีตำรวจภูธรนาหวายเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2560 และบก.ควบคุมที่ 1 ฉก.ม.5 ซึ่งเป็นหน่วยทหารที่รับผิดชอบพื้นที่ได้ถอดเครื่องบันทึกข้อมูลกล้องวงจรปิดในวันดังกล่าว”

จะเห็นได้ว่า กว่าจะมีการเก็บวัตถุพยานในส่วนกล้องวงจรปิดก็เป็นเวลากว่า 1 อาทิตย์นับจากวันที่เกิดเหตุ ซึ่งมีผลทำให้ข้อมูลภาพในวันเกิดเหตุหายไป เพราะหากมีการเก็บวัตถุพยานดังกล่าวอย่างรวดเร็วทันที ข้อมูลจากกล้องวงจรปิดก็จะไม่หายไปด้วยเหตุของการบันทึกซ้ำ

ประเด็นที่สอง การให้หน่วยงานต้นสังกัดของทหารที่เป็นผู้วิสามัญฆาตกรรมเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับวัตถุพยานเป็นวิธีการดำเนินการที่ถูกต้องหรือไม่

หนังสือของกองทัพชี้แจงว่า “มีการถอดเครื่องบันทึกข้อมูลกล้องวงจรปิดออกจากจุดตรวจบ้านรินหลวงเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2560 ต่อมาเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2560 กองกำลังผาเมืองก็ได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปร่วมดำเนินการเปิดดูข้อมูลภาพเหตุการณ์” คำถามสำคัญที่ตามมาก็คือ การให้หน่วยงานทหารซึ่งเป็นต้นสังกัดของเจ้าหน้าที่ทหารผู้ทำการวิสามัญฆาตกรรมเป็นคนดำเนินการเก็บกล้องวงจรปิดและสามารถมาเปิดดูภาพจากกล้องวงจรปิดซึ่งถือเป็นวัตถุพยานชิ้นสำคัญนั้น เป็นการดำเนินการที่ถูกต้องหรือไม่ เพราะหากให้หน่วยงานต้นสังกัดผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับวัตถุพยานหลักฐานได้เช่นนี้ ย่อมทำให้เกิดคำถามต่อความน่าเชื่อถือ และความเป็นกลางในกระบวนการค้นหาความจริง

ประเด็นที่สาม ทำไมกองทัพถึงต้องเก็บกล้องวงจรปิดไว้เป็นเวลานานกว่า 1 เดือน และไม่รีบส่งให้กับพนักงานสอบสวนเพื่อตรวจสอบ

ต่อเนื่องจากประเด็นที่สอง หากมีการถอดเครื่องบันทึกข้อมูลกล้องวงจรปิดออกจากจุดตรวจบ้านรินหลวงตั้งแต่วันที่ 24 มีนาคม 2560 แล้วทำไมถึงเก็บวัตถุพยานไว้นานกว่า 1 เดือน จนมีการทวงถามจากฝ่ายตำรวจ ดังปรากฎจากข้อมูลที่ตัวแทนสถานีตำรวจภูธรนาหวายให้ไว้กับคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารสาขาสังคม การบริหารราชการแผ่นดินและการบังคับใช้กฎหมาย ในคำวินิจฉัย ที่ สค 52/2561 ระบุว่า “สถานีตำรวจภูธรนาหวายได้มีหนังสือลงวันที่ 12 เมษายน 2560 ไปทวงถามอีกครั้ง เนื่องจากยังไม่ได้รับหลักฐานกล้องวงจรปิดดังกล่าวจากกองทัพ จนเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2560 กองทัพภาคที่ 3 ได้มีหนังสือแจ้งมาว่า ไม่สามารถดำเนินการส่งแฟ้มข้อมูลภาพยนตร์ช่วงเกิดเหตุดังกล่าวได้ แต่ได้ส่งเครื่องบันทึกข้อมูลภาพยนตร์ (เครื่องบันทึกภาพจากกล้องวงจรปิด) ช่วงเกิดเหตุมาให้พนักงานสอบสวนตรวจสอบ”

นับระยะเวลาจากวันที่ 24 มีนาคม 2560 ซึ่งเป็นวันที่มีการถอดกล้องวงจรปิดออกจากจุดเกิดเหตุถึงวันที่ 25 เมษายน 2560 ซึ่งเป็นวันที่มีหนังสือตอบกลับจากกองทัพถึงพนักงานสอบสวน จึงเป็นเวลากว่า 1 เดือน ที่กล้องวงจรปิดอยู่ในความครอบครองของกองทัพ

ประเด็นที่สี่ มีกล้องวงจรปิดที่สามารถบันทึกภาพในวันเกิดเหตุไว้ได้หรือไม่

วันที่ 9 สิงหาคม 2561 ปรากฎข้อมูลจากสื่อมวลชนว่า พล.ท.วิจักขฐ์ สิริบรรสพ แม่ทัพภาคที่ 3  ได้ให้สัมภาษณ์ถึง กรณีสำนักงานเลขานุการกองทัพบก มีหนังสือชี้แจงกรณีขอให้เปิดเผยภาพในกล้องวงจรปิดดังกล่าวนั้นว่า “ไม่พบภาพใดๆ ในวันเกิดเหตุ และภาพในกล้องวงจรปิดอยู่ที่พนักงานสอบสวนหมดแล้ว ไม่ได้มีอยู่ที่เรา ถูกส่งไปตั้งแต่เริ่มต้นแล้วของขบวนการสอบสวน จนทางศาลท่านไปพิพากษามาแล้ว” และกล่าวว่า “ไม่พบอยู่แล้วเพราะกล้องไม่มีตรงนั้น กล้องวงจรปิดมีก่อนถึง ก็อย่างที่เคยเห็นกันนั้นละ มีคนเดินผ่านหน้ากล้องเฉยๆ และภาพทั้งหมดเราก็ส่งไปให้หมดแล้ว”

คำสัมภาษณ์ล่าสุดของแม่ทัพภาค 3 ค่อนข้างที่จะไม่สอดคล้องกับคำให้สัมภาษณ์ของเขาที่เคยให้ไว้เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2560 ซึ่งเป็นวันก่อนที่กองบัญชาการควบคุมที่ 1 หน่วยเฉพาะกิจ กรมทหารม้าที่ 5 (บก.ควบคุมที่ 1 ฉก.ม.5) จะได้ถอดเครื่องบันทึกข้อมูลกล้องวงจรปิดออกจากจุดตรวจบ้านรินหลวง ในช่วงนั้นสื่อมวลชนรายงานว่า พลโทวิจักขฐ์ สิริบรรสพ แม่ทัพภาคที่ 3 กล่าวว่าได้ดูภาพจากกล้องวงจรปิดแล้ว พบว่าทหารทำทุกอย่างตรงกับคำให้การของพล.ต.ท.พูลทรัพย์ฯ พร้อมกล่าวว่า “ผมว่าสมเหตุสมผลในการยิงป้องกันตัว ถ้าเป็นผมอาจกดออโต้ก็ได้”

และหากดูจากคำให้สัมภาษณ์ของ พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ซึ่งให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อมวลชนในวันที่ 28 มีนาคม 2560 ว่า “ภาพไม่ตอบโจทย์ทั้งหมด ต้องปล่อยให้กระบวนการยุติธรรมดำเนินการไปเพราะถือว่าเป็นพยานหลักฐานชิ้นหนึ่ง”

สอดคล้องกับคำให้การของร้อยโทธรรมรัตน์ ทิมกลางดอน รองผู้บังคับกองร้อย ทหารม้าบรรทุก กรมทหารม้าที่ 5 จังหวัดสระบุรี ซึ่งในช่วงเกิดเหตุปฏิบัติหน้าที่อยู่ภายในกองร้อยทหารม้าที่ 2 ฐานปฏิบัติการบ้านอรุโณทัย และเป็นผู้ได้รับแจ้งเหตุและเข้าไปในที่เกิดเหตุ เขาให้ไว้ในชั้นสอบสวนในฐานะพยานเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2560 ระบุว่า “บริเวณจุดตรวจรินหลวงมีกล้องวงจรปิด 9 ตัว เสีย 3 ตัวใช้ได้ 6 ตัว และในบริเวณลานสำรวจตรวจค้นรถยนต์มีกล้องวงจรปิดส่องบริเวณจุดเกิดเหตุจำนวน 1 ตัว และขณะเกิดเหตุกล้องบริเวณจุดตรวจใช้การได้  หลังเกิดเหตุได้เปิดดูภาพที่กล่องบันทึกข้อมูล ดูภาพบันทึกเหตุการณ์ขณะตรวจค้น เห็นเป็นการตรวจค้นธรรมดาเพื่อรายงานผู้บังคับบัญชา แต่ดูไม่จบ โดยดูให้เห็นแต่เพียงว่ามีการบันทึกภาพเหตุการณ์ไว้ในกล่องบันทึกข้อมูลเท่านั้น เมื่อเห็นว่ามีบันทึกภาพเหตุการณ์ดังกล่าวจึงรายงานผู้บังคับบัญชา และผู้บังคับบัญชาสั่งห้ามไม่ให้ไปยุ่งกับกล่องบันทึกข้อมูลนั้น” 

นอกจากนี้ จากรายงานผลการตรวจพิสูจน์และความเห็นของผู้เชี่ยวชาญ กลุ่มงานตรวจพิสูจน์อาชญากรรมคอมพิวเตอร์ ก็ระบุว่า เครื่องบันทึกภาพจากกล้องวงจรปิดของกลาง และฮาร์ดดิสที่ติดตั้งอยู่ภายในสามารถใช้งานได้ และขณะตรวจพิสูจน์พบว่าเครื่องบันทึกภาพจากกล้องวงจรปิดดังกล่าวมีการตั้งค่าวันที่ – เวลาเป็นปัจจุบัน (ดูในคำวินิจฉัยคณะกรรมการข้อมูลข่าวสาร)

จากคำสัมภาษณ์ คำให้การและรายงานผลการตรวจกล้องวงจรปิดดังกล่าว แสดงให้เห็นว่า มีกล้องวงจรปิดในที่เกิดเหตุ และกล้องดังกล่าวสามารถบันทึกภาพเหตุการณ์ในวันเกิดเหตุไว้ได้ และเจ้าหน้าที่บางส่วนทั้งฝ่ายทหารและตำรวจน่าจะได้ดูภาพแล้ว

แล้วข้อมูลภาพจากกล้องวงจรปิดในวันที่เกิดเหตุอยู่ที่ไหน หายไปจริงหรือไม่?

หากข้อมูลภาพจากกล้องวงจรปิดในวันเกิดเหตุซึ่งถือเป็นพยานหลักฐานชิ้นสำคัญหายไป เพราะการบันทึกซ้ำจริง ใครจะเป็นผู้ที่ต้องรับผิดชอบกับสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ การหายไปของข้อมูลเกิดจากความบกพร่อง หรือความจงใจของผู้ใดกันแน่ เรื่องนี้จะต้องมีการตรวจสอบ และจะต้องมีผู้รับผิดชอบ