เรื่องเล่าการปล่อยชั่วคราว : หลักการที่สวยงาม ความฝันของการปฏิรูป และความจริงที่เป็นอยู่

เรื่องเล่าการปล่อยชั่วคราว : หลักการที่สวยงาม ความฝันของการปฏิรูป และความจริงที่เป็นอยู่

โดยหลักการแล้ว….

สิทธิที่จะได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว ถือว่าเป็นสิทธิที่มีความสำคัญมาก เพราะเป็นเรื่องที่กระทบต่อสิทธิเสรีภาพของบุคคล และเกี่ยวพันสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรมอีกหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นสิทธิที่จะได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่ามีความผิด (The Presumption of Innocent) เพราะหากผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่ได้รับการปล่อยชั่วคราว เขาต้องถูกส่งไปขังไว้ที่เรือนจำ ต้องตัดผม ต้องใส่ชุดนักโทษ บางครั้งต้องใส่ตรวนออกมาศาล ซึ่งทำให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยมีสภาพไม่ต่างจากนักโทษเด็ดขาดที่ถูกตัดสินถึงที่สุดแล้วว่ามีความผิด สิทธิที่จะมีโอกาสอย่างเท่าเทียมและสิทธิที่จะต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่  หากผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่ได้รับอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว ย่อมก่อให้เกิดอุปสรรคในการที่จะแสวงหาพยานหลักฐานมาพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนอย่างเต็มที่และเท่าเทียมกับโจทก์

นอกจากนี้ การที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่ได้รับอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวซ้ำแล้วซ้ำเล่า หรือมีการกำหนดประกันหรือหลักประกันไว้สูงเกินไปจนผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่สามารถหาหลักประกันมาวางเพื่อการปล่อยชั่วคราวได้ ย่อมส่งผลให้เกิดความกดดันทางอ้อมให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยยอมรับสารภาพเพื่อให้คดีสิ้นสุดและถูกปล่อยตัวออกมาโดยเร็ว

ด้วยผลกระทบมากมายที่มี  กฎเกณฑ์ทั้งระดับสากลและรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยเองจึงรับรองสิทธิประการดังกล่าวไว้  โดยให้ถือว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยต้องได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวเป็นหลัก ส่วนการไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวหรือการควบคุมตัวไว้ระหว่างดำเนินคดีให้เป็นข้อยกเว้น  เท่าที่จำเป็นเพื่อให้กระบวนการยุติธรรมสามารถดำเนินไปได้อย่างเรียบร้อยและการมีตัวจำเลยในการพิจารณาคดี (เพราะคดีอาญาถือหลักว่าการพิจารณาคดีต้องทำต่อหน้าจำเลย) รวมถึงการมีตัวในการบังคับโทษตามคำพิพากษา

กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและการเมือง (ICCPR) ข้อ 9 (3) กำหนดไว้ว่า

 “…ผู้ถูกจับกุมหรือควบคุมในข้อหาทางอาญาได้รับการปล่อยตัวไป มิให้ถือเป็นหลักทั่วไปว่าจะต้องควบคุมบุคคลที่รอการพิจารณาคดี แต่ในการปล่อยตัวอาจกำหนดให้มีการประกันว่าจะมาปรากฏตัวในการพิจารณาคดี ในขั้นตอนอื่นของกระบวนพิจารณาและจะมาปรากฏตัวเพื่อการบังคับตามคำพิพากษา เมื่อถึงวาระนั้น”

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 29 บัญญัติว่า

“การควบคุมหรือคุมขังผู้ต้องหาหรือจำเลยให้กระทำได้เพียงเท่าที่จำเป็น เพื่อป้องกันมิให้มีการหลบหนี” และ “คำขอประกันผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญาต้องได้รับการพิจารณาและจะเรียกหลักประกันจนเกินควรแก่กรณีมิได้ การไม่ให้ประกันต้องเป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ”

อย่างไรก็ดี ในทางปฏิบัติการปล่อยตัวชั่วคราวถือเป็นเรื่องที่มีปัญหาและได้รับการพูดถึงมาตลอด โดยเฉพาะปัญหาเรื่องศาลมักให้ปล่อยชั่วคราวโดยกำหนดหลักประกันเป็นตัวเงินหรือทรัพย์สิน ทำให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยมีฐานะทางเศรษฐกิจไม่ดีต้องพบกับความยากลำบากในการหาหลักทรัพย์มาใช้ประกันตัวเอง

ในความพยายามแก้ไขและความฝันของการปฏิรูป 

ท่ามกลางปัญหาและอุปสรรคในการขอปล่อยตัวชั่วคราว ความพยายามในการแก้ไขปัญหาก็มีมาเรื่อยๆเช่นกัน เท่าที่ค้นพบก็มีอาทิ

ปี 2549 มีการตั้ง “กองทุนยุติธรรม” ขึ้น เพื่อให้การสนับสนุนเงินค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือประชาชนในด้านกฎหมาย  ส่วนหนึ่งก็คือการสนับสนุนเงินหรือค่าใช้จ่ายในการวางเงินประกันการปล่อยตัวชั่วคราว ปัจจุบันกองทุนยุติธรรมได้ถูกรับรองใน พระราชบัญญัติกองทุนยุติธรรม พ.ศ. 2558 และส่วนหลักเกณฑ์ในการพิจารณาสนับสนุนปล่อยตัวชั่วคราวมีระบุใน ระเบียบคณะกรรมการกองทุนยุติธรรม ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขอปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลย พ.ศ. 2559  หากใครสนใจเกี่ยวกับเรื่องนี้สามารถเข้าดูรายละเอียดได้ที่ สำนักงานกองทุนยุติธรรม อย่างไรก็ดี ในทางปฏิบัติยังพบปัญหาการดำเนินการอยู่ โดยเฉพาะการที่คณะอนุกรรมการฯไม่อนุมัติให้การช่วยเหลือด้วยเหตุผลทำนองว่า “น่าเชื่อว่าเป็นผู้กระทำความผิด”  ซึ่งปัญหาในเรื่องนี้จะกล่าวถึงต่อไปในอนาคต

ปี 2558 มีการตราพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 30) พ.ศ. 2558 ขึ้น ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2558  เพื่อรองรับการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สำหรับตรวจสอบหรือจำกัดการเดินทางของบุคคลในการปล่อยตัวชั่วคราว (Electronic Monitoring หรือ EM) ซึ่งจะถูกนำมาใช้ในกรณีที่ศาลเห็นว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยมีความเสี่ยงที่จะหลบหนีหรือไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือก่ออันตรายประการอื่น  และบุคคลนั้นยินยอม  แต่ถ้าผู้ถูกปล่อยชั่วคราวมีอายุไม่ถึง 18 ปีบริบูรณ์ แม้ผู้นั้นยินยอม จะสั่งให้ใช้อุปกรณ์ดังกล่าวได้ต่อเมื่อผู้นั้นมีพฤติการณ์ที่อาจเป็นภัยต่อบุคคลอื่นอย่างร้ายแรง หรือมีเหตุสมควรประการอื่น (รายละเอียดเพิ่มเติมในคู่มือปฏิบัติงาน EM )

เดือนกุมภาพันธุ์ปี 2560 ศาลยุติธรรมได้ดำเนินโครงการนำร่อง : ระบบประเมินความเสี่ยงและการกำกับดูแลในชั้นปล่อยชั่วคราว  หรือเรียกสั้นๆว่า “โครงการปล่อยฟรีไม่มีประกัน” เพื่อแก้ปัญหาของการปล่อยตัวชั่วคราวโดยใช้หลักประกันเป็นเงินหรือทรัพย์สินที่ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยและคนจนและก่อต้นทุนแก่รับมหาศาล  เอกสารของศาลอธิบาย การประเมินความเสี่ยงจะกระทำโดยอาศัยข้อมูลจากการสัมภาษณ์ แบบทดสอบและการวิเคราะห์ประเมินผลอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ เมื่อได้ข้อมูลทั้งหมดแล้วจึงนำเสนอผู้พิพากษาใช้ดุลยพินิจอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว  โดยในปีงบประมาณ 2561 ได้มีการทดลองกับผู้ต้องหาที่มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปีในศาลนำร่อง 5 ศาล คือ ศาลจังหวัดเชียงใหม่ ศาลจังหวัดกาฬสินธุ์ ศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลจังหวัดจันทบุรี และศาลจังหวัดนครศรีธรรมราช และดูเหมือนว่าจะพยายามขยายไปใช้กับศาลชั้นต้นอื่นทั่วประเทศด้วย (รายละเอียดเพิ่มเติมติตตามได้ที่เว็บไซต์ สถาบันวิจัยและพัฒนารพีพัฒนศักดิ์ )

เรื่องการปล่อยตัวชั่วคราวยังถือเป็นเรื่องที่ศาลยุติธรรมให้ความสำคัญในปัจจุบัน ดังจะเห็นได้ แผนยุทธศาสตร์ศาลยุติธรรม พ.ศ. 2561 – 2564  ซึ่งกำหนดประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการปล่อยตัวชั่วคราวไว้ใน 2 ยุทธศาสตร์ด้วยกัน ได้แก่ ยุทธศาสตร์ (Justice for All) ยึดมั่นการอำนวยความยุติธรรมด้วยหลักนิติธรรม  โดยมีแนวทางดำเนินการคือ ยกระดับกระบวนการปล่อยชั่วคราวตามหลักสิทธิมนุษยชนและเกณฑ์ที่กำหนด และยุทธศาสตร์ I (Innovation) พัฒนานวัตกรรมการอำนวยความยุติธรรมของศาลยุติธรรม โดยกำหนดแนวทางดำเนินการไว้คือ ริเริ่มมาตรการหรือวิธีการที่ช่วยลดระยะเวลารอการประกันตัวของผู้ต้องหา  และนำมาตรการหรือวิธีการที่สามารถป้องกันการหลบหนีมาใช้แทนการเรียกหลักประกันเพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้ต้องหาหรือจำเลยในการปล่อยชั่วคราว

ปัญหาการเรียกประกันและหลักประกันคือประเด็นสำคัญของการปฏิรูปประเทศ

นอกจากนี้ ประเด็นการปล่อยตัวชั่วคราวยังถือเป็นวาระสำคัญระดับประเทศ โดยเป็นประเด็นที่ถูกบรรจุใน แผนปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม  ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 6 เมษายน 2561  ในเรื่องและประเด็นการปฏิรูปที่ 2 การพัฒนากลไกช่วยเหลือและเพิ่มศักยภาพเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม  โดยกำหนดขั้นตอนการดำเนินการไว้ในข้อที่ 1.3.13 จัดระบบการปล่อยชั่วคราวที่รวดเร็ว ไม่อิงกับเงินหรือฐานะทางเศรษฐกิจของผู้ต้องหา หรือโดยคำนึงถึงความปลอดภัยของสังคมและมีมาตรการป้องกันการหลบหนีการปล่อยชั่วคราวที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งผู้ต้องหาหรือจำเลยสามารถร้องขอให้มีการปล่อยได้ทุกวันโดยไม่มีวันหยุด  และในเรื่องและประเด็นการปฏิรูปที่ 3 การพัฒนากลไกการบังคับการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ  โดยกำหนดขั้นตอนการดำเนินการไว้ในข้อ 1.1 ปฏิรูปการปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญา

อีกทั้ง ปัจจุบันพบว่าได้มีการจัดทำร่างกฎหมายเรียบร้อยแล้ว คือ ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่…) พ.ศ. ….   มีการแก้ไขในส่วนของการเรียกประกันหรือหลักประกันการปล่อยตัวชั่วคราวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 110 จากเดิม

ในคดีมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินห้าปีขึ้นไป ผู้ที่ถูกปล่อยชั่วคราวต้องมีประกันและจะมีหลักประกันด้วยหรือไม่ก็ได้

ในคดีอย่างอื่นจะปล่อยชั่วคราวโดยไม่มีประกันเลย หรือมีประกัน หรือมีประกันและหลักประกันด้วยก็ได้

การเรียกประกันหรือหลักประกันตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสองจะเรียกจนเกินควรแก่กรณีมิได้ และต้องคำนึงถึงเงื่อนไขและมาตรการป้องกันต่าง ๆ ที่ได้ใช้กับผู้ถูกปล่อยชั่วคราวประกอบด้วย  ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง หรือข้อบังคับของประธานศาลฎีกา แล้วแต่กรณี

แก้ไขใหม่เป็น

ในกรณีมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว  เจ้าพนักงานหรือศาลจะปล่อยชั่วคราวโดยไม่มีประกัน หรือมีประกัน หรือมีประกันหรือหลักประกันด้วยก็ได้

การเรียกประกันหรือหลักประกันตามวรรคหนึ่งจะเรียกจนเกินควรแก่กรณีมิได้ และต้องคำนึงถึงเงื่อนไขและมาตรการป้องกันต่าง ๆ ที่ได้ใช้กับผู้ถูกปล่อยชั่วคราวประกอบด้วย  ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง หรือข้อบังคับของประธานศาลฎีกา แล้วแต่กรณี

ศาลยุติธรรมได้มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นทางเว็บไซต์เสร็จสิ้นไปเมื่อเดือนกันยายน 2560 (ประกาศรับฟังความคิดเห็น) (สรุปการรับฟังความคิดเห็น) ปัจจุบันยังไม่พบว่าร่างดังกล่าวถูกเสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

ความจริงที่เป็นอยู่ : เรียนรู้ผ่านกรณีตัวอย่าง เมื่อสิ่งที่เกิดขึ้นจริงสวนทางกับนโยบายและแนวทางการปฏิรูป

แม้ความพยายามในการแก้ไขปัญหาเรื่องการปล่อยชั่วคราว จะมีมาตลอดและเป็นประเด็นสำคัญของการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมในปัจจุบันดังที่กล่าวข้างต้น แต่ดูเหมือนในทางปฏิบัติกลับมีแนวโน้มที่แย่ลง ดังกรณีตัวอย่างที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้

เมื่อสองสามวันที่แล้ว มีเพื่อนทนายความได้บอกเล่าถึงปัญหาการขอปล่อยตัวลูกความของเธอ เป็นคดีชาวบ้านทางภาคเหนือ 8 ราย พวกเขาถูกดำเนินคดีในข้อหาบุกรุก ก่นสร้าง แผ้วถางในเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ หรือที่เรียกกันสั้นๆว่า “คดีป่าไม่ที่ดิน” เป็นประเภทคดีที่เกิดขึ้นมากอย่างมีนัยสำคัญภายใต้นโยบายทวงคืนผืนป่าในยุค คสช.

ในจำนวนจำเลย 8 ราย มีหนึ่งรายเป็นผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งถูกฟ้องเป็นคดีร่วมกับจำเลยทุกคน รวมแล้วก็เลยถูกฟ้องมา 7 คดี

ทนายเล่าถึงความเป็นมาของคดีนี้ว่า เมื่อปี 2549  ผู้ใหญ่บ้านได้ให้ชาวบ้านซึ่งเป็นชนเผ่าอิ้วเมี่ยนจำนวน 7 ราย (ชนเผ่าอิ้วเมี่ยนหรือเมี่ยน หรือเย้า) เข้าไปทำประโยชน์ในที่ทำกินเดิมของตน  โดยให้ไปปลูกกาแฟเพื่อเป็นแปลงสาธิตให้แก่คนในหมู่บ้าน เหตุผลที่ผู้ใหญ่บ้านให้ชาวบ้านเข้าไปปลูกกาแฟก็เพราะช่วงนั้นมีการปลูกข้าวโพดกันเยอะ  ผู้ใหญ่กลัวว่าชุมชนจะกลายเป็นภูเขาหัวโล้น ก็เลยให้ชาวบ้านทั้ง 7 รายมาปลูกกาแฟ  เพราะการปลูกกาแฟไม่ต้องมีการโค่นต้นไม้ใหญ่  ชาวบ้านก็เลยเข้าไปปลูกกาแฟแมคคาเดเมีย และพืชผักสวนครัวในพื้นที่  ต่อมาเมื่อเดือนกุมภาพันธุ์ 2560 เจ้าหน้าที่ป่าไม้ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบที่ดินในบริเวณดังกล่าว จึงนำมาสู่การแจ้งความดำเนินคดีกับผู้ใหญ่บ้านและชาวบ้านทั้ง 7 ราย  ทนายบอกต่อไปด้วยว่าคดีนี้ชาวบ้านเข้ามอบตัวกับตำรวจเอง ในชั้นสอบสวนทุกคนให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา  ตำรวจส่งสำนวนให้อัยการ และอัยการได้สั่งฟ้องชาวบ้านทั้ง 8 ราย

ช่วงเช้า 11 กันยายน 2561 พนักงานอัยการนัดส่งฟ้องชาวบ้านทั้ง 8 ราย ชาวบ้าน พร้อมด้วยทนายความจึงได้เดินทางไปที่ศาล และเตรียมการเรื่องการประกันตัว ทนายบอกว่า ชาวบ้านได้เตรียมหลักทรัพย์มาประกันตัวเองด้วย ซึ่งส่วนใหญ่เตรียมเงินสดมาตามที่ทนายเคยให้คำแนะนำไว้ก่อนหน้านี้  แต่มีชาวบ้านบางส่วนนำโฉนดที่ดินมาใช้เป็นหลักทรัพย์ในการประกันตัว

พบปัญหา โฉนดที่ดินที่เตรียมมาเป็นหลักทรัพย์ในการประกันตัวใช้ไม่ได้ 

ช่วงสายของวันนั้น ชาวบ้านและทนายความได้ทำเรื่องยื่นขอประกันตัว ทนายเล่าว่า ในส่วนของเงินสดนั้นไม่มีปัญหาสามารถใช้วางเป็นหลักประกันได้ แต่ในส่วนของโฉนดที่ดิน เจ้าหน้าที่ศาลแจ้งว่าโฉนดที่ดินที่ชาวบ้านนำมาเป็นหลักทรัพย์นั้นใช้ไม่ได้ โดยได้มีการอ้างอิงถึงระเบียบภายในของศาลดังกล่าว

ทนายได้ขยายความปัญหาที่พบของแต่ละราย ดังนี้

รายแรก พ่อเอาโฉนดที่ดินมาประกันตัวลูกสาว กรณีนี้เจ้าหน้าที่ศาลแจ้งว่าเป็นที่ดินตาบอด ไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะ ตามระเบียบศาลนี้จึงไม่สามารถใช้ได้  เพราะหากจำเลยหลบหนีจะนำทรัพย์สินออกไปขายทอดตลาดได้ยาก

รายสอง เป็นโฉนดที่ดิน 2 แปลง พร้อมใบประเมินราคา ซึ่งญาติได้นำมาเป็นหลักประกันแก่จำเลย 2 ราย เป็นน้องชายและสามี เจ้าหน้าที่ก็แจ้งว่าใช้ไม่ได้อีกเช่นกัน เนื่องจากที่ดินในโฉนดทั้งสองแปลงติดลำเหมืองสาธารณะ ชาวบ้านจึงอธิบายให้เจ้าหน้าที่ฟังว่าที่ดินสองแปลงดังกล่าว ปัจจุบันไม่มีลำเหมืองสาธารณะแล้วและชาวบ้านก็ได้สอบถามเจ้าพนักงานที่ดินตอนที่ไปขอใบประเมินราคาแล้วว่าที่ดินดังกล่าวใช้ประกันตัวได้หรือไม่  เจ้าพนักงานที่ดินแนะนำว่าหากให้ อบต.และผู้ใหญ่บ้านรับรองสภาพที่ดินปัจจุบันก็สามารถใช้ประกันตัวได้  ชาวบ้านได้ยื่นหนังสือรับรองสภาพที่ดินที่มีลายมือชื่อของ อบต.และผู้ใหญ่บ้านให้แก่เจ้าหน้าที่ดู แต่เจ้าหน้าที่ศาลก็ยังยืนยันว่าใช้ไม่ได้  เจ้าหน้าที่บอกว่าต้องมีภาพถ่ายพื้นที่จริงแนบมาด้วย เพราะเจ้าหน้าที่จะดูแค่ภาพถ่ายที่ปรากฎในโฉนดเท่านั้น ไม่สามารถลงไปดูในพื้นที่จริงได้

รายที่สาม  น้องสาวของผู้ใหญ่บ้านที่ถูกดำเนินคดี 7 คดี ได้นำโฉนดที่ดินหลายแปลงมาใช้เป็นหลักประกันตัวพี่ชาย  ซึ่งยื่นตอนแรกเหมือนจะสามารถใช้ได้ แต่ตอนหลังเจ้าหน้าที่มาแจ้งว่าโฉนดที่ดินทั้งหมดที่เอามานั้นใช้ไม่ได้เช่นกัน เพราะเป็นที่ดินตาบอด ไม่มีแปลงไหนติดที่สาธารณะเลย

ทนายบอกว่า คำอธิบายของเจ้าหน้าที่ศาล ทำให้ชาวบ้านที่ตกเป็นจำเลยทั้งหมดมีสีหน้ากังวล และมีคำถามมากมายตามมา

ทำไมศาลไม่เอาโฉนดหละ?

เราอุทธรณ์ได้ไหม?

แล้วถ้าไม่มีเงินสดจะทำยังไง..ทนาย?

ไม่เพียงแค่ชาวบ้านเท่านั้นที่งุนงง ทนายความก็งงไม่แพ้กัน

“ตอนนั้นงงมาก ไม่รู้จะทำไงดี จึงตัดสินใจโทรหาทนายรุ่นพี่ ซึ่งก็ได้คำแนะนำมาว่า เจ้าหน้าที่ศาลมีหน้าที่รับคำขอและอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนเท่านั้น ไม่มีอำนาจในการตัดสินว่าจะใช้โฉนดที่ดินที่ว่านี้เป็นหลักทรัพย์หรือไม่ อำนาจนี้เป็นดุลพินิจของศาล ถ้าชาวบ้านยืนยันจะยื่นเจ้าหน้าที่ไม่มีสิทธิปฎิเสธนะ หลังจากได้คำแนะนำดังกล่าว ก็เลยกลับไปอธิบายให้ชาวบ้านฟังว่า เรามีสิทธิยื่นนะ แต่ศาลก็มีอำนาจสั่งไม่อนุญาตได้เช่นกัน เราอุทธรณ์คำสั่งศาลได้นะ แต่ก็เสี่ยงว่าวันนี้จะไม่ทัน และอาจจะถูกนำไปขังที่เรือนจำ ซึ่งสุดท้ายแล้วก็ขึ้นอยู่กับชาวบ้านจะตัดสินใจ” ทนายเล่า

ทนายเล่าต่อว่า ตอนนั้นเธอสับสนมากว่า จะสู้เพื่อยืนยันหลักการที่ถูกต้องโดยการยื่นไปอีกรอบและลุ้นให้ศาลวินิจฉัย หรือจะบอกชาวบ้านว่าอย่าเสี่ยงยื่นเลย เพราะถ้าศาลเกิดไม่รับจริงๆแล้วยื่นอุทธรณ์ต้องรออีกวัน ชาวบ้านต้องนอนในคุกแน่ๆ  ตอนนั้นสับสนมาก  ไม่รู้ว่าอันไหนคือผลประโยชน์ของลูกความที่เราต้องรักษา

ศาลกำหนดหลักประกันคดีละ 100,000 บาท สุดท้ายทุกคนต้องหาเงินสดมาประกัน 

ราวๆ 11 โมงกว่าๆ เจ้าหน้าที่แจ้งมาว่าคดีนี้ศาลให้ประกันตัว โดยกำหนดวงเงินประกันคดีละ 100,000 บาท

“ชาวบ้านที่นำโฉนดที่ดินมาเป็นหลักทรัพย์ประกัน ก็ไม่มีใครสามารถใช้ได้เลย รายแรกเปลี่ยนใจใช้เงินสด เพราะกลัวว่าถ้ายื่นไปแล้วศาลไม่อนุญาต กลัวลูกสาวจะได้นอนเรือนจำ  ส่วนรายที่สอง แม้จะตัดสินใจไปยื่นหลักทรัพย์เดิมอีกรอบ แต่ก็ถูกเจ้าหน้าที่ปฏิเสธกลับมาด้วยเหตุผลเดิม สุดท้ายก็เลยต้องไปหาเงินสดมาประกัน

สำหรับรายที่สาม กรณีของผู้ใหญ่บ้านที่ถูกฟ้อง 7 คดี ต้องหาเงินสดมาวางเป็นหลักทรัพย์ในการประกันตัวถึง 700,000 บาท และในกรณีที่เอาโฉนดที่ดินมาเป็นหลักประกัน ราคาประเมินรวมกันต้องไม่ต่ำกว่า 980,000 (เก้าแสนแปดหมื่นบาท) แต่ตอนนี้โฉนดที่ดินที่นำมาทั้งหมด เจ้าหน้าที่บอกใช้ไม่ได้  สุดท้ายก็ต้องไปเช่าหลักทรัพย์ประกันจากนายประกันอาชีพ โดยหลักทรัพย์ประกันจำนวน 700,000 บาท คิดค่าเช่าเป็นเงิน 84,000 บาท (แปดหมื่นสี่พันบาทถ้วน)  จำเลยรายสุดท้ายได้รับการปล่อยตัวออกมาราวๆ 17.00 น.” ทนายกล่าว

ก่อนหน้านี้ ชาวบ้านได้ไปยื่นขอสนับสนุนจากกองทุนยุติธรรม  แต่ผลการพิจารณาปรากฎว่าไม่อนุมัติ โดยให้เหตุผลว่า “คาดว่าผู้ขอสนับสนุนจะกระทำความผิดจริงตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ”

กฎหมายแม่บทไม่ได้กำหนดบังคับให้ต้องเรียกหลักประกัน 

ในเชิงหลักการ หากศาลพิจารณาได้ความว่าไม่มีเหตุจำเป็นที่ต้องควบคุมตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยไว้ในระหว่างดำเนินคดี กล่าวคือ ไม่มีเหตุที่จะหลบหนี หรือจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือก่อเหตุอันตรายประการอื่น ศาลควรอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลย และไม่ควรต้องมีประกันหรือหลักประกัน เว้นแต่ในกรณีที่มีความคลุมเครือและมีเหตุเชื่อได้ว่าการปล่อยชั่วคราวโดยมีประกันหรือหลักประกัน จะช่วยประกันว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยจะไม่หลบหนี หรือจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือก่อเหตุอันตรายประการอื่น

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (มาตรา 110) กำหนดว่า ในคดีที่มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงไม่เกิน 5 ปี ศาลอาจปล่อยชั่วคราวได้โดยไม่ต้องมีประกันก็ได้ ส่วนในคดีมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกิน 5 ปีขึ้นไป กฎหมายกำหนดให้ผู้ที่ถูกปล่อยชั่วคราวต้องมีประกันและจะมีหลักประกันด้วยหรือไม่ก็ได้  ซึ่งหลักเกณฑ์การกำหนดให้เรียกประกันโดยใช้เกณฑ์อัตราโทษอย่างสูงเกิน 5 ปี กำลังจะถูกเสนอให้แก้ไข ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่..) พ.ศ. ….โดยมีการตัดหลักเกณฑ์เพดานอัตราโทษดังกล่าวออกไป  เพื่อตัดภาระแก่ผู้ต้องหาหรือจำเลยที่ต้องหาประกันมาไว้ต่อเจ้าพนักงานหรือศาล และปล่อยกว้างให้เป็นดุลพินิจของผู้มีอำนาจปล่อยชั่วคราวพิจารณา

หากจำเป็นต้องปล่อยชั่วคราวโดยมีประกันหรือหลักประกันจริงๆ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 29 และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา  110 ดังที่กล่าวไว้แล้ว ก็กำหนดชัดเจนว่า “จะเรียกหลักประกันจนเกินควรแก่กรณีมิได้” 

ซึ่งตามข้อบังคับของประธานศาลฎีกา ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขเกี่ยวกับการเรียกประกันหรือหลักประกันในการปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญา พ.ศ. 2548 ข้อ 4 ได้กำหนดหลักเกณฑ์ในการพิจารณาว่าจะให้ปล่อยชั่วคราวโดยมีประกันหรือไม่มีประกันหรือไม่นั้น นอกจากจะให้ศาลพิจารณาถึงความร้ายแรงแห่งข้อหา สาเหตุและพฤติการณ์การกระทำความผิดแล้ว ก็ให้พิจารณาถึงบุคลิกลักษณะ นิสัย สภาพทางร่างกายและจิตใจ การศึกษา การประกอบอาชีพการงาน ประวัติการกระทำความผิดอาญา สภาพและฐานะของครอบครัว และความสัมพันธ์กับบุคคลอื่นในสังคมของผู้ต้องหาหรือจำเลย  หากการพิจารณาแล้วเห็นว่ามีเหตุจำเป็นและสมควรที่จะปล่อยชั่วคราวโดยต้องมีประกันก็ให้กำหนดวงเงินประกันให้เหมาะสมแก่ข้อหาและสภาพแห่งคดี รวมทั้งแนวโน้มที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะหลบหนีหากพฤติการณ์แห่งคดีเปลี่ยนแปลงไป  ในกรณีที่จำต้องเรียกหลักประกัน ก็ให้พิจารณาว่าหลักประกันนั้นคุ้มกับวงเงินประกันที่กำหนดหรือไม่ โดยให้คำนึงถึงความน่าเชื่อถือของผู้ขอประกัน หลักประกัน และฐานะของผู้ต้องหาหรือจำเลยประกอบด้วย

โดยหลักประกันที่จะใช้ในการขอปล่อยตัวชั่วคราว ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 114 กำหนดไว้ว่า 3 ชนิด คือ เงินสด  หลักทรัพย์อื่น และบุคคลมาเป็นประกันหรือหลักประกัน  สำหรบท่านที่สนใจรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับหลักประกันชนิดต่างๆ สามารถดูได้ที่ ข้อบังคับของประธานศาลฎีกา ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขเกี่ยวกับการเรียกประกันหรือหลักประกันในการปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญา พ.ศ. 2548 

และสำหรับท่านที่สนใจรายละเอียดหลักเกณฑ์การกำหนดอัตราวงเงินประกันในข้อหาต่างๆ สามารถเข้าดูได้ที่ คำแนะนำของประธานศาลฎีกาเกี่ยวกับบัญชีมาตรฐานกลางหลักประกันการปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลย พ.ศ. ๒๕๔๗  ซึ่งเป็นแนวทางเบื้องต้นในการพิจารณากำหนดวงเงินประกันตัวผู้ต้องหาหรือจำเลย

แม้ในทางเชิงหลักกฎหมายจะไม่ได้บังคับให้ต้องเรียกหลักประกัน และหากจำเป็นต้องเรียกหลักประกัน  กฏหมายก็เปิดช่องให้สามารถใช้ดุลพินิจเรียกตามความเหมาะสมกับฐานะและสภาพของผู้ต้องหาหรือจำเลยได้  แต่ในทางปฏิบัติ พบว่า หลายกรณีศาลมักจะเรียกหลักประกันในการปล่อยชั่วคราวไว้เสมอ  และมักจะกำหนดวงเงินประกันหรือหลักประกันไม่สอดคล้องกับฐานะทางเศรษฐกิจของผู้ต้องหาหรือจำเลย ส่งผลให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยที่มีฐานะทางเศรษฐกิจไม่ดี  ต้องประสบกับความยากลำบากในการหาเงินหรือทรัพย์สินมาวางเป็นหลักประกัน ดังกรณีตัวอย่างที่กล่าวมาข้างต้น ศาลกำหนดหลักประกันชาวบ้านถึงคดีละ 100,000 บาท ซึ่งสำหรับชาวบ้านทั่วไปก็ถือว่าเป็นอัตราที่ค่อนข้างสูงพอสมควร ดังจะเห็นว่าบางรายไม่สามารถหาเงินมาวางได้ในตอนแรก ต้องเตรียมที่ดินของญาติมาใช้ประกัน และมีรายของผู้ใหญ่บ้านที่ถูกดำเนินคดีถึง 7 คดี ต้องใช้เงินประกันถึง 700,000 บาท ต้องไปเช่าหลักประกันจากนายประกันอาชีพ ทำให้ต้องสูญเสียเงินค่าเช่าไปถึง 84,000 บาท

โดยส่วนตัว ผู้เขียนเห็นว่าการกำหนดวงเงินประกันโดยอิงกับข้อหาที่เจ้าพนักงานตั้งขึ้นมาเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยจะเป็นธรรมกับผู้ต้องหาหรือจำเลย และไม่ค่อยสอดคล้องกับความเป็นจริงมากนัก เพราะบางกรณีก็มักจะมีการตั้งข้อหาแก่ผู้ต้องหาหรือจำเลยหนักเกินกว่าที่ควรจะเป็น เช่น มีคดีหนึ่งที่ผู้เขียนติดตามอยู่คือ คดีชาวบ้านชุมชนน้ำแดงพัฒนา จังหวัดสุราษฏร์ธานี  14 คน พวกเขาถูกดำเนินคดีในลักษณะที่เรียกว่าหว่านแห ทำให้แต่ละคนถูกดำเนินคดีถึง 3 คดี  โดยทั้ง 3 คดีมีการฟ้องข้อหาเดียวกันมา 3 ข้อหาคือ ร่วมกันเป็นซ่องโจร ร่วมกันบุกรุก และร่วมกันทำให้เสียทรัพย์  เมื่อถูกดำเนินคดีหลายคดีโดยไม่กลั่นกรองและตั้งข้อหามากมาย ก็เป็นผลให้การกำหนดวงเงินหลักประกันการปล่อยตัวชั่วคราวไว้สูงถึงคนละ 200,000 บาท  เมื่อรวม 3 คดี แต่ละคนต้องหาเงินมาวางเป็นหลักประกันมากถึง 600,000 บาท จำเลยส่วนใหญ่เป็นเพียงเกษตรกร ไม่ได้มีฐานะดีนัก จึงได้ไปยืมเงินจากญาติมาเช่าหลักประกันจากบริษัทประกันมาวางเป็นหลักประกัน โดยอัตราค่าเช่าอยู่ที่ 60,000 บาท (ราคาค่าเช่าคิดเป็น 10 % ของราคาหลักประกัน หรือหลักประกัน 100,000 บาทต่อค่าเช่า 10,000 บาท) และมีผู้ต้องหาหญิง 1 ราย ไม่สามารถหาเงินมาเช่าหลักประกันได้ จึงได้ยื่นคำร้องขอความช่วยเหลือจากกองทุนยุติธรรม แต่ปรากฏว่าการพิจารณามีความล่าช้าอย่างมาก ทำให้ผู้ต้องหาคนดังกล่าวต้องถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำนานกว่า 40 วัน อย่างไรก็ดี คดีแรกในจำนวนสามคดี ศาลชั้นต้นพิพากษาได้พิพากษาแล้ว โดยได้ยกฟ้องข้อหาซ่องโจรและทำให้เสียทรัพย์ พิพากษาลงโทษแค่เรื่องบุกรุก

เรื่องราวที่ผู้เขียนยกมา แสดงให้เห็นว่า แม้ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะถูกดำเนินคดีข้อหาร้ายแรง ก็ไม่ได้หมายความว่าเขาจะกระทำหรือมีพฤติกรรมเช่นนั้นจริง  พวกเขาถูกตั้งข้อหาซ่องโจร ทั้งที่เป็นแค่กลุ่มชาวบ้านที่ต่อสู้เพื่อการปฏิรูปที่ดินเพื่อคนจน พวกเขาต่อสู้ด้วยเห็นว่าที่ดินที่บริษัทเอกชนครอบครองได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และเรียกร้องให้รัฐเข้าไปจัดการเอาที่ดินมาปฏิรูปและกระจายให้คนที่ไม่มีที่ดินทำกินได้เข้ามาใช้ประโยชน์ ซึ่งในชั้นสอบสวนและชั้นพิจารณาจำเลยเหล่านี้ก็ได้ให้ความร่วมมือกับกระบวนการยุติธรรมด้วยดีเสมอมา พวกเขาเดินทางมาศาลทุกนัดตามกำหนด มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง และไม่มีพฤติการณ์หลบหนีแต่อย่างใด  ถ้ามีการพิจารณาข้อเท็จจริงเหล่านี้ ศาลอาจจะสั่งให้ปล่อยชั่วคราวโดยไม่มีประกันและหลักประกันเลยก็ได้ หรือถ้ามีก็คงไม่กำหนดวงเงินหลักประกันไว้สูงถึงคนละ 600,000 บาทอย่างแน่นอน

เช่นเดียวกับกรณีตัวอย่างชาวบ้าน 8 รายที่ถูกดำเนินคดีข้อหาบุกรุก ก่นสร้างแผ้วถางในเขตพื้นที่ป่าสงวนดังที่กล่าวไว้ หากมีการพิจารณาถึงข้อเท็จจริง พฤติการณ์ และบานะของจำเลยอย่างแท้จริงแล้ว ก็อาจจะไม่ต้องกำหนดหลักประกันไว้สูงถึง 100,000 บาท หรือไม่ก็ยอมรับการใช้โฉนดที่ดินมาวางเป็นหลักประกันได้

การใช้ตัวเงินเป็นหลักประกันจึงยังเป็นปัญหาสำคัญที่ทำให้บุคคลได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เสมอภาค  ผู้ต้องหาหรือจำเลยซึ่งมีฐานะทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกันถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดฐานเดียวกัน คนที่มีฐานะดีย่อมมีโอกาสได้รับการปล่อยชั่วคราวมากกว่าคนที่มีฐานะยากจน แม้ว่าวงเงินประกันอาจถูกกำหนดเป็นจำนวนไม่มาก แต่ก็เกินความสามารถของคนยากจนที่จะหามาวางเป็นหลักประกันในการปล่อยชั่วคราวตนเองได้  ทำให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยเหล่านั้นต้องสูญเสียสิทธิและอิสระภาพ และได้รับความเสียหายระหว่างถูกควบคุมตัว ซึ่งไม่ใช้เพียงความเสียหายที่เกิดกับตัวเขาเท่านั้น แต่ยังกระทบต่อครอบครัวและบุคคลที่อยู่ในความดูแลของเขาด้วย อีกทั้งรัฐยังต้องเสียต้นทุนมากมายมาใช้จัดการด้วย

ดังคำกล่าวของนายบุญรอด ตันประเสริฐ ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลอุทธรณ์ภาค 1 ในงานสัมมนาทางวิชาการ เรื่อง “สู่ยุคใหม่ของการฝากขังและปล่อยชั่วคราว: เปลี่ยนแนวคิด พลิกระบบด้วยวิสัยทัศน์ นวัตกรรมและเทคโนโลยี” ซึ่งจัดโดยสถาบันวิจัยและพัฒนารพีพัฒนศักดิ์ สำนักงานศาลยุติธรรม เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2560 ว่า

“การถูกจำคุกระหว่างพิจารณานี่ไม่รู้อนาคตเลย ไม่มีใครบอกได้เลยว่าจะติดนานเท่าไหร่ ผลกระทบมีมากมาย ในแง่ของรัฐ การที่ต้องมาดูแล ด้วยความที่มันไม่มีข้อจำกัดในเรื่องระยะเวลา การตั้งงบประมาณในการดูแล ผมก็ไม่แน่ใจว่ามันเป็นเรื่องที่จะต้องกำหนดงบประมาณไว้ขนาดไหน เพราะต้องดูแลอาหารการกิน ชีวิตความเป็นอยู่ทุกอย่าง สถานที่ด้วย นี่คือผลกระทบ แล้วในส่วนตัวเขาและครอบครัวเขาละ”

ข้อจำกัดในการใช้ที่ดินเป็นหลักประกัน ความถดถอยของสิทธิในการปล่อยตัวชั่วคราวภายใต้กระแสการปฏิรูป

จากกรณีตัวอย่างชาวบ้าน 8 ราย ที่ไม่สามารถใช้ที่ดินตาบอดมาวางเป็นหลักประกันได้นั้น  ไม่ใช่กรณีแรกที่มีปัญหาของการใช้เอกสารสิทธิในที่ดินมาวางเป็นหลักประกันการปล่อยชั่วคราว  เมื่อไม่นานมานี้ สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนได้รับข้อมูลจากเพื่อนทนายความในประเด็นเรื่องการใช้เอกสารสิทธิที่ดินมาวางเป็นประกันเช่นกันว่า ศาลบางแห่งในภาคตะวันออกและภาคใต้  ไม่อนุญาตให้ใช้ที่ดินมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) มาใช้เป็นหลักทรัพย์ในการปล่อยตัวชั่วคราว  ซึ่งก็ทำให้ทนายความหลายคนเกิดความมึนงงไปตามๆกัน เพราะหากดูหลักเกณฑ์และแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการปล่อยตัวชั่วคราวที่ถูกกำหนดไว้ในกฎหมายแม่บท ไม่ว่าจะเป็นประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาหรือข้อบังคับของประธานศาลฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขเกี่ยวกับการเรียกประกันหรือหลักประกันในการปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญา พ.ศ. 2548 ก็ไม่ได้มีการกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับหลักทรัพย์ที่เป็นที่ดินไว้ชัดเจนว่าอะไรใช้ได้ อะไรใช้ไม่ได้

ข้อบังคับของประธานศาลฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขเกี่ยวกับการเรียกประกันหรือหลักประกันในการปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญา พ.ศ. 2548 ข้อ 10  กำหนดว่าการปล่อยชั่วคราวโดยมีหลักทรัพย์เป็นประกัน อาจใช้หลักทรัพย์ ดังต่อไปนี้ “10.1  ที่ดินมีโฉนด ที่ดินมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์…. และหนังสือรับรองราคาประเมินของสำนักงานที่ดินมาแสดง….”

ประเด็นข้อจำกัดในการใช้เอกสารสิทธิในที่ดินดังที่กล่าวมา  ผู้เขียนเริ่มได้ยินในระยะหลังๆนี้เอง ก่อนหน้านี้ยังไม่เคยทราบปัญหาเรื่องนี้มากนัก  และข้อจำกัดดังกล่าวมักถูกอ้างจากระเบียบภายในของแต่ละศาล หรือนโยบายขององค์กร  และด้วยความสงสัยดังกล่าว  สมาคมฯจึงได้ส่งหนังสือไปสอบถามที่หน่วยงานศาลเมื่อช่วงปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาว่า ศาลใช้หลักเกณฑ์อะไรมาพิจารณาในเรื่องนี้  ปัจจุบันยังรอคอยคำตอบอยู่

ถ้าดูจากกฎหมาย นโยบายและแผนต่างๆดังที่กล่าวมา  จะเห็นว่าประเทศไทยค่อนข้างให้ความสำคัญกับเรื่องสิทธิในการปล่อยชั่วคราว เราได้เห็นความพยายามที่จะทำให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยที่มีฐานะทางเศรษฐกิจได้เข้าถึงสิทธิที่จะได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวอย่างเท่าเทียมกับคนอื่น  แต่ปัจจุบันยังพบว่าการแก้ปัญหายังไม่ไปถึงไหน บางเรื่องกลับถดถอยลงไป อย่างเรื่องการใช้เอกสารสิทธิที่ดินมาเป็นหลักทรัพย์ในการปล่อยชั่วคราว

สุดท้าย ผู้เขียนก็ได้แต่หวังว่าการปล่อยชั่วคราวในทางปฏิบัติจะได้รับการปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้นในไม่ช้า เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชาอาณาจักรไทยและกฎหมายที่มุ่งคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนอื่นๆ  รวมถึงสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของการปฏิรูปด้านกระบวนการยุติธรรมที่กำลังดำเนินไป