เส้นทาง “เดิน..เทใจให้เทพา” ภายใต้กฎหมายชุมนุมสาธารณะ

เส้นทาง “เดิน..เทใจให้เทพา” ภายใต้กฎหมายชุมนุมสาธารณะ

เราจะไปยื่นหนังสือต่อนายก ปกป้องบ้านของเรา เราเดินกันไปอย่างสงบ แล้วทำไมเราจะทำไม่ได้  ผมมาเดินตั้งแต่วันแรก ไม่เคยคิดว่าจะโดยจับ

จำเลยหมายเลข 13

เจ้าหน้าที่ประกบผมสามคน เขาจับแขนผม บอกว่าขอเชิญตัว ผมบอกว่า ผมบอกว่าผมขอเดินไปเอง เขาให้ผมไปขึ้นรถตู้ ตอนนั้นเจ้าหน้าที่ไม่ได้แจ้งข้อหาอะไรผมเลย

จำเลยหมายเลข 1

ในทางหลักการแล้ว เราถือว่าเสรีภาพในการชุมนุม  เป็นเสรีภาพขั้นพื้นฐานในสังคมประชาธิปไตย เพราะหลักการพื้นฐานประการหนึ่งของสังคมประชาธิปไตยคือ หลักการมีส่วนร่วมทางการเมือง โดยประชาชนต้องสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในการปกครองประเทศ ซึ่งเสรีภาพในการชุมนุมเป็นส่วนประกอบสำคัญที่ทำให้การมีส่วนร่วมทางการเมืองและนโยบายสาธารณะเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เพราะจะช่วยให้ประชาชนได้แสดงออกซึ่งความคิดเห็นไปยังตัวแทน และยังเปิดพื้นที่ในถกเถียงแลกเปลี่ยน การโน้มน้าวจิตใจของผู้คนในสังคมให้มีเสียงสนับสนุนหรือคัดค้านข้อเสนอของตน และที่สำคัญเสรีภาพในการชุมนุมยังถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการต่อรองของประชาชนคนด้อยอำนาจเพื่อให้เข้าถึงสิทธิทางการเมือง เข้าทรัพยากร และเข้าถึงสิทธิเสรีภาพอื่นๆอีกด้วย

อย่างไรก็ดี ในมุมมองของรัฐที่ไม่มีวัฒนธรรมประชาธิปไตยและค่อนไปทางอำนาจนิยม มักจะมองว่าการใช้เสรีภาพในการชุมนุมของประชาชนเป็นการก่อความวุ่นวาย ทำให้เกิดความไม่สงบ และเป็นพวกไม่หวังดีต่อชาติบ้านเมือง รัฐจึงต้องหาวิธีจัดการ

เสรีภาพในการชุมนุม เป็นสิทธิมนุษยชนประการหนึ่งที่ถูกรับรองไว้ในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and  Political Rights (ICCPR)) ข้อ 21 ที่ระบุว่า

“สิทธิในการชุมนุมโดยสงบย่อมได้รับการรับรอง การจำกัดการใช้สิทธินี้จะกระทำมิได้นอกจากจะกำหนดโดยกฎหมายและเพียงเท่าที่จำเป็นสำหรับสังคมประชาธิปไตย เพื่อประโยชน์แห่งความมั่นคงของชาติ หรือความปลอดภัย ความสงบเรียบร้อย การสาธารณสุข หรือศีลธรรมของประชาชนหรือการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น”

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับถาวรตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ล้วนบัญญัติรับรองเสรีภาพในการชุมนุมไว้ โดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ซึ่งเป็นฉบับที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน ได้รับรองเสรีภาพการชุมนุมไว้ว่า

มาตรา ๔๔  บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ

การจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยสาธารณะ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อคุ้มครองสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น

ด้วยหลักการของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและการเมือง และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ได้บัญญัติให้เสรีภาพในการชุมนุมเป็นสิ่งที่ถูกจำกัดได้ แต่การจำกัดนั้นจะต้องกระทำโดยกฎหมาย และกฎหมายนั้นกติกาฯ กำหนดว่าต้องเพียงเท่าที่จำเป็นสำหรับสังคมประชาธิปไตย เพื่อประโยชน์แห่งความมั่นคงของชาติ หรือความปลอดภัย ความสงบเรียบร้อย การสาธารณสุข หรือศีลธรรมของประชาชนหรือการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น

รัฐไทยจึงได้พยายามที่จะตรากฎหมายชุมนุมสาธารณะขึ้นมาบังคับใช้ ซึ่งความพยายามดังกล่าวปรากฎร่องลอยตั้งแต่สมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม พ.ศ. 2498 ต่อเนื่องมาในปี พ.ศ. 2536 หลังเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 และปี 2550 หลังการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549  และปี 2554 หลังการสลายการชุมนุม นปช. ปี 2553  ตามลำดับ แต่การผลักดันกฎหมายดังกล่าวก็ไม่สามารถผ่านการพิจารณาออกมาใช้บังคับได้

แต่หลังจากการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ร่างพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. …. ได้ถูกนำมาทบทวนอีกครั้ง โดยมีสำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นเจ้าภาพหลักในการจัดทำ ในช่วงดังกล่าวมีการคัดค้านจากภาคประชาชนอยู่พอสมควร แต่ร่างดังกล่าวก็ถูกเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และผ่านออกมาใช้บังคับอย่างง่ายดายเมื่อปี 2558

พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558  ถูกอ้างอิงว่าเป็นกฎหมายเฉพาะสำหรับการจัดระเบียบการชุมนุมฉบับแรกของไทย กฎหมายฉบบนี้ได้กำหนดคำนิยามของการการชุมนุมสาธารณะว่าคือ “การชุมนุมของบุคคลในที่สาธารณะเพื่อเรียกร้อง สนับสนุน คัดค้าน หรือแสดงความคิดเห็นในเรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยแสดงออกต่อประชาชนทั่วไป และบุคคลอื่นสามารถร่วมการชุมนุมนั้นได้ ไม่ว่าการชุมนุมนั้นจะมีการเดินขบวนหรือเคลื่อนย้ายด้วยหรือไม่”[2]

สำหรับกิจกรรมที่ถูกยกเว้นไม่เข้าข่ายการชุมนุมสาธารณะ ก็ได้แก่ การชุมนุมเนื่องในงานพระราชพิธีและงานรัฐพิธีการชุมนุมเพื่อประกอบพิธีกรรมทางศาสนาหรือกิจกรรมตามประเพณีหรือตามวัฒนธรรมแห่งท้องถิ่น  การจัดแสดงมหรสพ กีฬา ส่งเสริมการท่องเที่ยว หรือกิจกรรมอื่นเพื่อประโยชน์ทางการค้าปกติของผู้จัดการชุมนุมนั้น  การชุมนุมภายในสถานศึกษา เช่น ในโรงเรียน มหาวิทยาลัย แม้จะเป็นการชุมนุมที่มีวัตถุประสงค์เพื่อเรียกร้อง สนับสนุน คัดค้าน หรือแสดงความคิดเห็นในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ก็ถือว่าได้รับการยกเว้น การชุมนุมหรือการประชุมตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย[3]

กลไกสำคัญประการหนึ่งของพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558  ที่ใช้ในการจัดระเบียบการใช้เสรีภาพการชุมนุมของประชาชนไว้ก็คือ การแจ้งการชุมนุมสาธารณะ  การกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ประสงค์จะจัดการชุมนุมสาธารณะ ต้องแจ้งการชุมนุมต่อผู้กำกับการสถานีตำรวจแห่งท้องที่ที่มีการชุมนุม ก่อนเริ่มการชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง[4] หากแจ้งไม่ทันให้แจ้งการชุมนุมพร้อมคำขอผ่อนผันต่อผู้บังคับการตำรวจในพื้นที่ที่มีการชุมนุม[5]

“เดิน…เทใจให้เทพา” เป็นการเดินเท้าจากชุมชนบางหลิง ตำบลปากบาง อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา ซึ่งเป็นพื้นที่ที่จะมีการดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน โดยเริ่มต้นเดินตั้งแต่วันที่ 24 พฤศจิกายน 2560 เพื่อมายื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรี ในการประชุม ครม. สัญจร ที่จัดขึ้นในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2560 ณ อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา

แต่วันที่ 27 พฤศจิกายน 2560 ขบวนเดินของชาวบ้านถูกเจ้าหน้าที่สกัดกั้น มีการกระทบกระทั่งกันระหว่างชาวบ้านกับเจ้าหน้าที่ และสุดท้ายมีการสลายการชุมนุมโดยการจับกุมชาวบ้านไป 16 คน ในจำนวนนี้มีเยาวชน 1 คน  ต่อมาพนักงานอัยการสั่งฟ้องคดีชาวบ้านรวม 17 คน (1 คนไม่ได้ถูกจับกุมในวันเกิดเหตุ แต่ถูกแจ้งข้อหาในภายหลัง)

พวกเขาถูกดำเนินคดีในหลายข้อหา ซึ่งนอกจากข้อหาหลักๆ อย่าง “ร่วมกันเดินหรือเดินแห่  อันเป็นการกีดขวางการจราจร  ปิดกั้นทางหลวงหรือกระทำด้วยประการใดๆบนถนนหลวงในลักษณะที่อาจเกิดอันตรายหรือเสียหายแก่ยานพาหนะหรือบุคคล,  ต่อสู้หรือขัดขวางการจับกุมและทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่  โดยใช้กำลังประทุษร้าย  และพาอาวุธ (ไม้คันธงปลายแหลม) ไปในเมือง  หมู่บ้าน  ทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุอันสมควร” แล้ว มีผู้ชุมนุมจำนวน 4 คนที่ถูกดำเนินคดีในข้อหาเป็นผู้จัดการชุมนุมไม่แจ้งการชุมนุมสาธารณะก่อนเริ่มการชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง และไม่แจ้งการชุมนุมพร้อมคำขอผ่อนผัน และไม่ปฏิบัติการดูแลและรับผิดชอบการชุมนุมสาธารณะให้เป็นไปโดยสงบและปราศจากอาวุธ ตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 อีกด้วย

คดีนี้ โจทก์อ้างพยานบุคคลกว่า 50 ปาก พึงสืบพยานโจทก์เสร็จสิ้นไปเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2561 ปัจจุบันอยู่ระหว่างการสืบพยานจำเลย โดยวันที่ 30 สิงหาคม 2561 ที่ผ่านมี มีการสืบพยานจำเลยนัดแรก โดยจำเลยที่ 1 คือนายเอกชัย อิสระทะ อ้างตนเองเป็นพยาน

เอกชัย เป็นเลขาธิการคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคใต้ (กป.อพช.ภาคใต้) เขาทำงานอยู่ในแวดวงของนักพัฒนาเอกชน หรือ NGOs ด้านสิ่งแวดล้อมและการพัฒนามาอย่างยาวนาน  เอกชัย เป็น 1 ใน 4 ผู้ชุมนุมที่ถูกดำเนินคดีตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ เพราะเป็นผู้ที่ยื่นแจ้งการชุมนุมสาธารณะ จึงมีฐานะเป็นผู้จัดการชุมนุมตามกฎหมาย นอกจากนี้ เอกชัย ยังมีบทบาทสำคัญเป็นทีมเจรจาและประสานงานกับฝ่ายเจ้าหน้าที่ด้วย

ผู้เขียนได้เข้าร่วมสังเกตการณ์การพิจารณาคดีการสืบพยานจำเลยนัดสุดท้ายและสืบพยานโจทก์นัดแรก และได้ฟังเรื่องราวเกี่ยวกับการดำเนินคดีนี้พอสมควร จึงนำเอาเรื่องราวส่วนหนึ่งที่เกิดขึ้นมานำเสนอ ด้วยหวังว่าเราจะได้มีการแลกเปลี่ยนถกเถียงเกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมายชุมนุมสาธารณะและได้ทำความเข้าใจกิจกรรมการเดินเทใจให้เทพามากขึ้น

ข้อมูลที่จะกล่าวต่อไป มีที่มาจากการจดจำคำเบิกความในชั้นศาลและการรับฟังข้อมูลจากนอกศาล

เรียนรู้พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะผ่าน “เดินเทใจให้เทพา”

ตอนแรกชาวบ้านตั้งใจจะไปยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรีที่กรุงเทพฯอยู่แล้ว แต่พอทราบข่าวว่านายกจะมาประชุม ครม. สัญจรในพื้นที่จังหวัดสงขลาพอดี ชาวบ้านจึงอยากจะเดินมายื่นหนังสือต่อนายกในการประชุม ครม. สัญจร ที่อำเภอเมืองสงขลา เพราะที่ผ่านมาชาวบ้านได้มีการไปยื่นหนังสือต่อนายอำเภอ ผู้ว่าราชการจังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายครั้ง แต่ก็ไม่มีการตอบสะนองใดๆ ชาวบ้านจึงอยากจะเดินมายื่นด้วยตัวเอง

ชาวบ้านออกเดินตั้งวันที่ 24 พฤศจิกายน 2560 จากชุมชนบางหลิง ตำบลปากบาง อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา ซึ่งเป็นพื้นที่ที่จะมีการดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน ก่อนเดินก็มีเจ้าหน้าที่ทหารมาถ่ายรู ระหว่างเดินก็มีตำรวจมาถ่ายรูปไว้  เดินไปเรื่อยๆจนกระทั่งเวลาประมาณ 12.00 น. ก็มีเจ้าพนักงานตำรวจมาพบชาวบ้าน นำหนังสือมาให้ชาวบ้านแจ้งว่าการเดินของชาวบ้านเข้าข่ายการชุมนุมสาธารณะ ขอให้ไปแจ้งการชุมนุมสาธารณะ

เหตุผลที่ชาวบ้านไม่แจ้งการชุมนุมก่อนการเดิน

พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 กำหนดให้ผู้ที่ประสงค์จะจัดการชุมนุมสาธารณะ แจ้งการชุมนุมต่อหัวหน้าสถานีตำรวจแห่งท้องที่ที่มีการชุมนุมสาธารณะ (ผู้กำกับการสถานีตำรวจ) ก่อนเริ่มการชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง[6] หากแจ้งไม่ทันให้แจ้งการชุมนุมพร้อมคำขอผ่อนผันต่อผู้บังคับการตำรวจผู้รับผิดชอบพื้นที่ (ในกรุงเทพมหานครคือผู้บังคับการตำรวจนครบาล ในจังหวัดอื่นคือผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด)[7]

ในประเด็นนี้ เอกชัยเบิกความโดยมีสาระสำคัญว่า “เหตุที่ชาวบ้านไม่มีการแจ้งการชุมนุมก่อน เนื่องจากว่า เข้าใจว่านี้ไม่ใช่การชุมนุม แต่เป็นการใช้สิทธิไปยื่นหนังสือร้องทุกข์ร้องเรียน ซึ่งเป็นสิทธิตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ เพียงแต่การไปยื่นหนังสือครั้งนี้ เราไม่ได้นั่งรถไป แต่ใช้วิธีการเดินไป เดินไปแบบเงียบๆ แถวตอนเรียงหนึ่งไปตามริมถนน ไม่ได้มีการปราศรัยชักจูงผู้คนให้เข้ามาร่วม การใส่เสื้อและมีธงสัญลักษณ์ก็เพียงเพื่อแสดงถึงความเป็นกลุ่มก้อนของผู้มาเดิน ทำให้ง่ายต่อการดูแลจัดการ”

ตัดสินใจเข้าแจ้งการชุมนุม เพื่อให้การเดินไม่มีอุปสรรคจากเจ้าหน้าที่รัฐ

เมื่อมีเจ้าหน้าที่ตำรวจจากสถานีตำรวจภูธรเทพา มาบอกว่ากิจกรรมของพวกเราเข้าข่ายการชุมนุมสาธารณะตามกฎหมาย ให้พวกเราไปแจ้งการชุมนุมสาธารณะ ทางกลุ่มชาวบ้านก็ได้ปรึกษาหารือกัน และเห็นว่าเพื่อให้การเดินไม่มีอุปสรรค จึงควรไปแจ้งการชุมนุมไว้ก่อน  ซึ่งทางกลุ่มได้มีการมอบหมายให้เอกชัย และปาฎิหาริย์ (จำเลยที่ 3) ไปแจ้งการชุมนุมที่สถานีตำรวจภูธรเทพา (ประกาศเรื่อง ให้ผู้ชุมนุมปฏิบัติตามพ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2560)

เอกชัยเดินทางไปถึงสถานีตำรวจภูธรเทพาในเวลาประมาณ 17.00 น. ของวันที่ 24 พฤศจิกายน 2560 ได้มีการจัดทำเอกสารแจ้งการชุมนุม และยื่นต่อผู้กำกับสถานีตำรวจภูธรเทพา ในเวลาประมาณ 19.00 น. โดยแจ้งวัตถุประสงค์ของการชุมนุมว่าเพื่อยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรี และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้สิทธิพลเมือง สิทธิชุมชนกับประชาชนตลอดเส้นทาง โดยมีผู้ชุมนุมเข้าร่วมประมาณ 100 คน พร้อมทั้งระบุวัน สถานที่ รายละเอียดเส้นทางการเดิน การเข้าพัก และอุปกรณ์ต่างๆที่มีในการเดินครั้งนี้ในหนังสือแจ้งการชุมนุมด้วย  เจ้าพนักงานตำรวจแจ้งให้เอกชัยมารับทราบผลในวันพรุ่งนี้เช้า (หนังสือแจ้งการชุมนุมสาธารณะ)

วันที่ 25 พฤศจิกายน 2560 เวลาประมาณ 08.00 น. เอกชัยและปาฎิหาริย์ ไปที่สถานีตำรวจภูธรเทพาเพื่อรับหนังสือสรุปสาระสำคัญการชุมนุมสาธารณะ  ในหนังสือดังกล่าวระบุว่าสถานีตำรวจภูธรเทพา ได้รับแจ้งการชุมนุมวันที่ 24 พฤศจิกายน 2560 เวลาประมาณ 18.52 น. จะครบกำหนด 24 ชั่วโมงในวันที่ 25 พฤศจิกายน 2560 เวลา 18.52 น. จึงจะเริ่มชุมนุมได้ หากประสงค์จะเริ่มชุมนุมก่อนครบ 24 ชั่วโมง ขอให้ขอผ่อนผันต่อผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสงขลา

ไปขอผ่อนผันการชุมนุม แต่ไม่ได้รับอนุญาตให้ผ่อนผัน

วันที่ 25 พฤศจิกายน 2560 หลังจากได้รับหนังสือสรุปสาระสำคัญการชุมนุมแล้ว เอกชัยและปาฎิหาริย์ จึงได้เดินทางต่อไปที่กองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสงขลา เพื่อยื่นหนังสือขอผ่อนผันการชุมนุมสาธารณะต่อผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสงขลา โดยเหตุผลในการขอผ่อนผันก็คือ ชาวบ้านได้มีการเตรียมกำหนดการ เตรียมการประสานงานพื้นที่ต่างๆไว้แล้ว จึงขอผ่อนผันให้เดินต่อไปได้

หลังจากนั้น เอกชัยและปาฏิหาริย์ได้กลับไปที่กลุ่มชาวบ้าน ตอนนั้นเขาเดินกันถึงตำบลสะกอม อำเภอจนะ จังหวัดสงขลาแล้ว พอช่วงค่ำ ระหว่างที่ชาวบ้านกำลังตั้งวงประชุมกันอยู่ในที่พักมัสยิดบ้านปากบาง สะกอม เวลาราวๆ 20.00 น.  มีผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรจะนะ เข้ามาพบกับชาวบ้าน   เอกชัยได้ออกไปพบกับผู้กำกับฯ  ซึ่งผู้กำกับฯได้นำหนังสือไม่อนุญาตให้ผ่อนผันการชุมนุมสาธารณะมาให้ อ้างว่าพวกเราเดินก่อนการแจ้งการชุมนุมสาธารณะ

นอกจากนั้น ตำรวจยังได้มีประกาศเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะ ตำรวจภูธรจังหวัดสงขลา ที่ 891/2560 เรื่องให้เลิกการชุมนุมสาธารณะ ลงวันที่ 25 พฤศจิกายน 2560 ระบุว่า ให้ชาวบ้านเลิกการชุมนุมภายในเวลา 18.00 นาฬิกา ของวันที่ 25 พฤศจิกายน 2560

เมื่อเอกชัยทราบคำสั่งดังกล่าว ได้กลับไปปรึกษากับกลุ่มชาวบ้าน และเห็นร่วมกันว่า การไม่อนุญาตให้ผ่อนผันดังกล่าวน่าจะเป็นการใช้ดุลพินิจที่ไม่ชอบธรรม และขัดต่อรัฐธรรมนูญ กลุ่มชาวบ้านจึงตกลงที่จะเดินกันต่อไป โดยเอกชัยได้ชี้แจงต่อผู้กำกับฯไปว่า ทางตำรวจได้มีการส่งหนังสือไม่อนุญาตให้ผ่อนผันมาในเวลา 20.00 น. ซึ่งเลยเวลา 18.52 น. ครบ 24 ชั่วโมงที่เราได้แจ้งการชุมนุมแล้ว พวกเราจึงสามารถเริ่มชุมนุมได้ และขอให้ตำรวจมาดูแลเรื่องการจราจรและความปลอดภัยตามที่พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะกำหนด

วันที่ 26 พฤศจิกายน 2560 ชาวบ้านยังคงเดินต่อไป มีเจ้าหน้าที่ตำรวจ อาสารักษาดินแดน มาดูแลการเดินของเป็นอย่างดี ชาวบ้านได้ขึ้นรถของเจ้าหน้าตำรวจที่ไปยังจุดที่จะเดิน เหมือนเป็นการอำนวยความสะดวกของตำรวจให้กับชาวบ้านด้วย ขณะนั้นเจ้าหน้าที่ไม่ได้มีการแจ้งอะไรเพิ่มเติม  เมื่อเข้าเขตพื้นที่สถานีตำรวจภูธรควนมีด เจ้าหน้าที่ตำรวจก็มารับช่วงต่อและร่วมเดินจนถึงที่มัสยิดบ่ออิฐ ตำบลบ่อแต้ว อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา และช่วงเย็นวันนั้นก็มีเจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจภูธรเมืองสงขลาเข้ามาแนะนำตัว และสอบถามเส้นทางรวมทั้งที่พักที่ชาวบ้านจะเดินทางไปด้วย โดยเอกชัยเป็นคนชี้แจงว่าวันที่ 27 พฤศจิกายน 2560 ชาวบ้านจะไปทัศนศึกษาเรียนรู้ความเป็นมาของเมืองสงขลา

เช้าวันที่ 27 พฤศจิกายน 2560 ได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจจากทั้งตำรวจภูธรเมืองสงขลา ตำรวจภูธรจังหวัดสงขลา และตำรวจภูธรภาค 3 มารับรายละเอียดการทัศนศึกษาในอำเภอเมืองสงขลา โดยมีนายปาฎิหาริย์เป็นคนเขียนแผนที่เส้นทางเดินให้ตำรวจ เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ได้มีการแจ้งว่าเขตพื้นที่ใดเป็นเขตที่ควบคุมที่ไม่สามารถเดินไปได้

การให้เลิกการชุมนุมสาธารณะ

วันที่ 27 พฤศจิกายน 2560 พ.ต.ท. ศุภกิตติ์  ผู้รักษาราชการแทนผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรเมืองสงขลา ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลจังหวัดมีคำสั่งให้เลิกการชุมนุม อ้างว่าการชุมนุมของชาวบ้านไม่ได้ปฏิบัติตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด กล่าวคือ ไม่มีการแจ้งการชุมนุมก่อนเริ่มการชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง มีการเคลื่อนขบวนโดยไม่รอฟังคำสั่ง แม้ต่อมาจะมีการยื่นขอผ่อนผัน แต่ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสงขลาไม่อนุญาตให้ผ่อนผัน

ศาลนัดไต่สวนคำร้องในเวลา 13.00 น. พ.ต.ท. ศุภกิตติ์ โทรบอกให้ พ.ต.ท.เกียรติพงศ์ แจ้งให้เอกชัย ในฐานะผู้จัดการชุมนุมมาไต่สวน

เอกชัยให้ข้อมูลว่า ช่วงก่อนหน้านั้น เขากับปาฏิหาริย์ได้เข้าไปหารือกับรองผู้ว่าฯ พอเสร็จแล้ว พ.ต.ท.เกียรติพงศ์ ได้มาแจ้งกับเขาว่าให้ไปศาล เอกชัยถามว่า ไปศาลเกี่ยวกับเรื่องอะไร พ.ต.ท.เกียรติพงศ์บอกว่าไปเกี่ยวกับเรื่องการชุมนุมสาธารณะ  เขาได้ถามถึงหมายศาล พ.ต.ท.เกียรติพงศ์ บอกว่าไม่มี แต่บอกว่าต้องไป  เขาก็เลยขึ้นรถไปกับพ.ต.ท.เกียรติพงศ์  แต่สักครู่ก็มีโทรศัพท์มาจากฝั่งผู้ชุมนุมแจ้งว่ามีเจ้าหน้าที่มาตั้งแถวสกัดด้านข้างมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา เขาจึงขอลงจากรถ เพราะคิดว่าเป็นการลวงเอาตัวออกจากที่ชุมนุม  โดยลงห่างจากจุดที่เจ้าหน้าที่ตั้งแถวประมาณ 300 เมตร แต่ก่อนจะลง ได้บอกกับ พ.ต.ท.เกียรติพงศ์ ว่าถ้ามีเรื่องเกี่ยวกับการชุมนุม ก็ให้ประสานมาใหม่

พอถึงเวลานั้น ศาลได้ไต่สวนผู้ร้องไปฝ่ายเดียว เนื่องจากไม่มีฝ่ายผู้ชุมนุมไปไต่สวน และศาลได้มีคำสั่งเวลา 15.30 น. โดยศาลเห็นว่า การที่ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสงขลา แจ้งว่าการชุมนุมของผู้จัดการชุมนุมสาธารณะที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 มาตรา 14 เมื่อได้ความว่า เจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะได้แจ้งประกาศให้ผู้ชุมนุมเลิกการชุมนุมภายในระยะเวลาที่กำหนดแล้ว ผู้ชุมนุมไม่ปฏิบัติตามประกาศดังกล่าว เจ้าพนักงานผู้ดูแลการชุมนุมสาธารณะจึงมีอำนาจยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้ชุมนุมเลิกการชุมนุมสาธารณะนั้นตามมาตรา 21 วรรคสองได้ จึงมีคำสั่งให้นายเอกชัย อิสระทะ ผู้จัดการชุมนุมและผู้ชุมนุม เลิกการชุมนุมสาธารณะภายในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2560 เวลา 16.00 น. (คำสั่งศาลจังหวัดสงขลาให้เลิกการชุมนุม)

วันที่ 27 พฤศจิกายน 2560 เวลา 16.00 น. โดยประมาณ พ.ต.ท. ศุภกิตติ์ ได้ไปพบเจ้าพนักงานบังคับคดี สำนักงานบังคับคดีจังหวัดสงขลา ใช้เวลาอธิบายแนวปฏิบัติให้เจ้าพนักงานบังคับคดีฟังประมาณ 1 ชั่วโมง เพราะกฎหมายชุมนุมเป็นกฎหมายใหม่ เจ้าหน้าที่ยังไม่รู้แนวปฏิบัติ หลังจากนั้นได้นำเจ้าพนักงานบังคับคดีออกไปปิดหมายราวๆ 17.00 น. โดยได้ไปที่บริเวณด้านหน้าสนามยิงปืน ฐานทัพเรือสงขลา ถนนชลาทัศน์ ตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา เมื่อไปถึงบริเวณดังกล่าวปรากฏว่าไม่พบผู้ใด จากการประสานงานทราบว่าผู้ชุมนุมไดเลิกการชุมนุมไปแล้ว จึงงดการปิดประกาศคำสั่งศาล (รายงานผลการปิดประกาศคำสั่งศาล)

เอกชัยบอกว่า เขาทราบคำสั่งให้เลิกการชุมนุมภายหลังจากออกจากเรือนจำแล้ว ทราบเบื้องต้นว่ามีการไปร้องต่อศาลจึงอยากทราบว่าเป็นความจริงหรือไม่ จึงได้ไปตรวจสำนวนที่ศาลและมีการคัดเอกสาร  ปรากฎว่าไม่ตรงกับความเป็นจริง ทำให้เกิดความเสียหายแก่ฝ่ายผู้ชุมนุม จึงได้มีการยื่นอุทธรณ์คำสั่งเลิกการชุมนุมของศาลจังหวัดสงขลาต่อศาลอุทธรณ์ภาค 9

วันที่ 25 พฤษภาคม 2561 ศาลอุทธรณ์ภาค 9 มีคำสั่งว่า ข้อเท็จจริงปรากฏว่าผู้จัดการชุมนุมและผู้ชุมนุมได้เลิกการชุมนุมสาธารณะภายในระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งแล้ว ปัจจุบันจึงไม่มีการชุมนุมสาธารณะต่อไปแล้ว อุทธรณ์ของผู้จัดการชุมนุมดังกล่าวข้างต้น ซึ่งล้วนมีจุดประสงค์เพื่อให้ศาลอุทธรณ์ภาค 9 กลับคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้เลิกการชุมนุมสาธารณะ ย่อมไม่มีประโยชน์ที่จะพิจารณาต่อไป ให้จำหน่ายอุทธรณ์ของผู้จัดการชุมนุมออกจากสาระบบความ

แม้ตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ จะกำหนดให้คำสั่งศาลอุทธรณ์เป็นที่สุด ไม่สามารถฏีกาต่อได้ แต่เอกชัยเห็นว่า คำสั่งของศาลจังหวัดสงขลา และศาลอุทธรณ์ภาค 9 ไม่น่าจะชอบด้วยกฎหมาย จึงได้ยื่นฎีกาคำสั่งศาลอุทธรณ์ภาค 9 ต่อศาลฎีกาไปเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2561 ปัจจุบันอยู่ระหว่างพิจารณาของศาลฏีกา

ก่อนคำสั่งศาลให้เลิกการชุมนุมจะมาถึง เจ้าหน้าที่ก็จับชาวบ้านไปแล้ว

การสกัดกั้นการเดินด้วยกองกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหารและฝ่ายปกครอง เริ่มต้นขึ้นในราวๆ 13.00 น. ของวันที่ 27 พฤศจิกายน 2560

เอกชัยบอกว่า เขาขอลงจากรถของ พ.ต.ท. เกียรติพงศ์ ห่างจากจุดสกัดของเจ้าหน้าที่ประมาณ 300 เมตร พอลงรถเขาเดินเข้าไปที่หน้าจุดสกัด  เจ้าหน้าที่ได้แจ้งว่าข้างหน้าเป็นพื้นที่รักษาความปลอดภัย เอกชัยได้เอาเอกสารเกี่ยวกับการแจ้งการชุมนุมสาธารณะให้เจ้าหน้าที่ดู และอธิบายว่าชาวบ้านต้องไปรับประทานอาหารที่โรงพยาบาลจิตเวช แต่การพูดคุยไม่เป็นผล ชาวบ้านจึงได้นั่งและนอนลง อยู่แบบนั้นประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่ง ต่อมามีชาวบ้านเป็นลมหนึ่งคน  จากนั้นไม่นานสถานการณ์ก็เปลี่ยนไป ช่วงนี้เขาไม่เห็น เพราะมีนักข่าวมาสัมภาษณ์และขอดูเอกสาร เขาจึงไปเอาเอกสารที่อยู่ท้ายแถวของชาวบ้านห่างจากแถวสกัดประมาณ 70 เมตร เขาไม่เห็นว่าข้างหน้าเกิดอะไรขึ้น เหตุการณ์มันเกิดขึ้นแป็บเดียวประมาณ 1 – 2 นาที พอเขากลับมาก็เห็นผู้ชุมนุมเดินกระจัดกระจายผ่านแนวตำรวจไปแล้ว

หลังจากนั้นชาวบ้านก็ไปรวมตัวเพื่อรับประทานข้าวกลางวันที่โรงพยาบาลจิตเวชช่วงนั้นเวลาประมาณ 15.00 น.

เวลา 16.00 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหารและฝ่ายปกครอง ได้วางแนวกั้นที่บริเวณโค้งเก้าเส้ง ถนนชลาทัศน์  เอกชัยอยู่กับ พ.ต.ท. เกียรติพงศ์ และมีตำรวจอีกสองสามคน  เอกชัยเป็นคนแรกๆที่ถูกจับตัวไป เขาจึงไม่เห็นเหตุการณ์ของคนอื่นๆ ตำรวจจับแขนเอกชัย บอกว่าขอเชิญตัว เอกชัยบอกว่าขอเดินไปเอง ตำรวจพาเอกชัยไปขึ้นรถตู้ ตอนนั้นเจ้าหน้าที่ไม่ได้แจ้งข้อหาแก่เอกชัย

สิ่งที่พบในการบังคับใช้พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 ต่อกรณีเดินเทใจให้เทพา

ประการแรก กิจกรรมแบบใดบ้างที่ต้องแจ้งการชุมนุม  ปัญหาว่ากิจกรรมแบบใดบ้างที่เข้าข่ายเป็นการชุมนุมสาธารณะที่ต้องแจ้งการชุมนุม ทำให้ที่ผ่านมาการทำกิจกรรมบางอย่างไม่ได้มีการแจ้งการชุมนุมสาธารณะ โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับกิจกรรมการยื่นหนังสือร้องเรียนร้องทุกข์ เช่น กรณีของนายสะมะแอและกลุ่มชาวประมงพื้นบ้าน ที่เดินทางมายื่นหนังสือที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2559 เพื่อขอให้แก้ไขมาตรา 34 ของพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 หลังจากนั้นนายสะมะแอถูกตั้งข้อหาไม่แจ้งการชุมนุมต่อผู้รับแจ้งตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ แต่สุดท้ายอัยการสั่งไม่ฟ้อง ซึ่งยังไม่ทราบเหตุผลของการสั่งไม่ฟ้องดังกล่าว[8] หรือกรณี “เดินเทใจให้เทพา” ก็มีความสับสนในทำนองเดียวกัน จนเป็นที่มาให้เจ้าหน้าที่ดำเนินคดีกับชาวบ้านหลายคนในข้อหาตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ

ประการที่สอง การผ่อนผันการชุมนุมทำให้ระบบแจ้งการชุมนุมกลายไปเป็นระบบขออนุญาตชุมนุม หากมีการชุมนุมโดยไม่ได้แจ้งก่อนเริ่มชุมนุม 24 ชั่วโมง ซึ่งอาจจะมีสาเหตุจากการไม่รู้ว่ากฎหมายให้แจ้งการชุมนุม หรือเพราะไม่รู้ว่ากิจกรรมที่จะจัดเข้าข่ายการชุมนุมสาธารณะที่ต้องแจ้งหรือไม่ หรือบางกรณีเป็นกิจกรรมที่ต้องดำเนินการแบบเร่งด่วน ทำให้ไม่สามารถแจ้งการชุมนุมก่อนเริ่มการชุมนุม 24 ชั่วโมงได้  กรณีเช่นนี้ กฎหมายกำหนดให้ต้องขอผ่อนผันการชุมนุมต่อผู้บังคับการตำรวจนครบาลในกรุงเทพมหานคร หรือผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด แล้วแต่กรณี  ซึ่งตามกฎหมายนี้ผู้บังคับการตำรวจมีอำนาจในการที่จะอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ผ่อนผันได้ เมื่อไม่อนุญาตให้ผ่อนผัน ก็จะทำให้ไม่สามารถจัดการชุมนุมได้

การกำหนดให้ผู้ชุมนุมแจ้งล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมงก่อนการชุมนุมในทุกกรณีโดยไม่มีข้อยกเว้น เป็นสิ่งที่ไม่สอดคล้องกับธรรมชาติของการชุมนุมที่อาจมีลักษณะเกิดขึ้นแบบฉับพลันทันใด แม้จะกำหนดในเรื่องการผ่อนผันได้ แต่การผ่อนผันนั้น กฎหมายก็กำหนดให้เจ้าหน้าที่มีอำนาจในลักษณะเชิงอนุญาตหรือไม่อนุญาตได้ ซึ่งทำให้จากระบบที่เพียงต้องแจ้งการชุมนุมให้ทราบกลายเป็นระบบขออนุญาตหรือไม่อนุญาตให้จัดการชุมนุมไป ดังเช่นกรณีของเดินเทใจให้เทพาดังที่กล่าวมา

และที่น่าเป็นห่วงคือ การอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ผ่อนผันนั้น ไม่มีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนในเรื่องการใช้ดุลพินิจของเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจไว้ ทำให้ผู้มีอำนาจสามารถใช้ดุลพินิจได้อย่างกว้างขวางเกินสมควรและจนอาจจะขัดต่อการใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ดังเช่น กรณีของเดินเทใจให้เทพา ที่ผู้อำนาจอนุญาตไม่อนุญาตให้ผ่อนผัน ด้วยเหตุผลว่าไม่แจ้งการชุมนุมก่อนเริ่มการชุมนุม 24 ชั่วโมง และเคลื่อนขบวนระหว่างรอคำสั่ง จึงเป็นการชุมนุมที่ไม่ได้ปฏิบัติตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด อันเป็นการชุมนุมสาธารณะที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามมาตรา 10 และ 17 แห่งพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะฯ ซึ่งการใช้เหตุผลดังกล่าวเป็นเกณฑ์ในการพิจารณาไม่อนุญาตให้มีการชุมนุมสาธารณะ ย่อมทำให้การชุมนุมที่ไม่ได้แจ้งล่วงหน้า เพราะเป็นการชุมนุมกระชั้นชิดหรือการชุมนุมที่ไม่รู้ว่าต้องแจ้ง ไม่สามารถจัดการชุมนุมต่อไปได้ ซึ่งย่อมเป็นการจำกัดการใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบตามรัฐธรรมนูญ

ประการที่สาม ความลักลั่นในการบังคับใช้พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะของเจ้าหน้าที่

จะเห็นว่าแม้เจ้าหน้าที่พยายามจะบังคับใช้พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะกับกลุ่มชาวบ้านตลอดตั้งแต่เริ่มเดินทาง รวมถึงการขอให้ศาลสั่งเลิกการชุมนุมด้วย จนศาลมีคำสั่งให้เลิกการชุมนุมแล้ว แต่ฝ่ายรัฐเองกลับไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมายดังกล่าวในการจับกุมชาวบ้าน ซึ่งโดยนัยแล้วการดำเนินการดังกล่าวถือเป็นการสลายหรือการบังคับให้ยุติการชุมนุมแบบหนึ่ง

ตามขั้นตอนของพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ เมื่อศาลมีคำสั่งเลิกการชุมนุมสาธารณะแล้ว ต้องให้เจ้าพนักงานบังคับคดีปิดประกาศคำสั่งศาลให้เลิกการชุมนุมและประกาศให้ผู้ชุมนุมทราบก่อน  หากผู้ชุมนุมยังไม่เลิกการชุมนุม  เจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะต้องรายงานให้ศาลทราบ และประกาศกำหนดพื้นที่ควบคุม และประกาศให้ผู้ชุมนุมออกจากพื้นที่ควบคุมภายในระยะเวลาที่กำหนด และให้รายงานรัฐมนตรีเพื่อทราบเสียก่อน[9]

หากยังไม่พ้นระยะเวลาที่ประกาศให้ผู้ชุมนุมออกจากพื้นที่ควบคุม เจ้าหน้าที่ซึ่งถูกมอบหมายให้เป็นพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะ ยังจะไม่สามารถที่จะดำเนินการสลายการชุมนุมหรือใช้กำลังบังคับให้เลิกการชุมนุมได้ รวมทั้งไม่สามารถจับผู้ชุมนุมได้ เพราะยังไม่ถือว่าเป็นความผิดซึ่งหน้าที่จะจับกุมได้[10]  เว้นแต่ผู้ชุมนุมกระทำการใด ๆ ที่มีลักษณะรุนแรงและอาจเป็นอันตรายแก่ชีวิต ร่างกาย จิตใจ หรือทรัพย์สินของผู้อื่นจนเกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง[11] ซึ่งตามข้อเท็จจริงกรณีเดินเทใจให้เทพา ปรากฎเหตุการณ์กระทบกระทั่งกันเพียงเล็กน้อยเท่านั้น และการกระทบกระทั่งนั้นก็เกิดจากการปิดกั้นการเดินอย่างสงบของประชาชนโดยเจ้าหน้าที่รัฐ

ประการที่สี่ การใช้คดีปิดปากต่อขบวนการเคลื่อนไหวภาคประชาชน ยังคงเป็นวีถีปฏิบัติของรัฐ

สิ่งที่น่าสังเวชใจอย่างหนึ่งคือ แทบทุกครั้งหลังการสลายการชุมนุม รัฐมักจะมอบคดีความและข้อหาความผิดมากมายให้กับผู้ชุมนุม ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายอาญาปกติ โดยเฉพาะประมวลกฎหมายอาญาในหมวดความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร ข้อหากบฏ ยุยงปุกปั่นให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ข้อหาต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน และกฎหมายอื่นๆ  อาทิ ความผิดตามกฎหมายจราจรทางบก พ.ศ. 2522  ความผิดตามกฎหมายควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง  ความผิดตามกฎหมายรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง และปัจจุบันหลังประกาศใช้พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 ก็มีข้อหาตามกฎหมายดังกล่าวพ่วงเข้าไปด้วย

ในกรณีการเดินเทใจให้เทพาก็เช่นเดียวกัน ชาวบ้าน 17 คน หนึ่งในนั้นเป็นเยาวชน และหนึ่งในนั้นเป็นเพียงผู้มาเยี่ยมเพื่อนในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2560 พวกเขาถูกดำเนินคดีถึง 6 ข้อหา ได้แก่

  1. ชาวบ้าน 4 คนถูกดำเนินคดีในข้อหาเป็นผู้จัดการชุมนุมไม่แจ้งการชุมนุมสาธารณะก่อนเริ่มการชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง และไม่แจ้งการชุมนุมพร้อมคำขอผ่อนผัน ตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558
  2. ชาวบ้าน 4 คน ถูกดำเนินคดีในข้อหาเป็นผู้จัดการชุมนุม ไม่ปฏิบัติการดูแลและรับผิดชอบการชุมนุมสาธารณะให้เป็นไปโดยสงบและปราศจากอาวุธ ไม่ดูแลและรับผิดชอบการชุมนุมสาธารณะไม่ให้เกิดการขัดขวางเกินสมควรต่อประชาชนที่ใช้ทางสาธารณะ ตลอดจนดูและและรับผิดชอบผู้ร่วมชุมนุมให้ปฏิบัติตามหน้าที่ของผู้ชุมนุมตามกฎหมาย และไม่ให้ความร่วมมือกับเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะ
  3. ชาวบ้านทั้ง 17 คน ถูกดำเนินคดีข้อหาใช้พื้นที่ช่องทางจราจรเป็นที่ชุมนุมสาธารณะ และได้ร่วมกันพาอาวุธ (ธงติดด้าม) และเป็นสิ่งที่อาจนำมาใช้ได้อย่างอาวุธเข้าไปในที่ชุมนุมโดยไม่ได้รับอนุญาต และขัดขวางหรือกระทำการใดๆอันเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะ
  4. ชาวบ้านทั้ง 17 คน ถูกดำเนินคดีข้อหาร่วมกันพาไม้ยาวประมาณ 1 เมตร เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2 เซนติเมตร จำนวนหลายอัน ซึ่งติดธงแผ่นผ้ามีข้อความตัวอักษร และมีปลายแหลม ซึ่งได้ใช้และเจตนาจะใช้ประทุษร้ายร่างกายถึงอันตรายสาหัสอย่างอาวุธ ไปในเมือง หมู่บ้านและทางสาธารณะ โดยเปิดเผยและไม่มีเหตุอันสมควร
  5. ชาวบ้านทั้ง 17 คน ถูกดำเนินคดีข้อหาร่วมกันกระทำการปิดกั้นถนนสาธารณะ ซึ่งได้ลงทะเบียนไว้เป็นทางหลวงแผ่นดินแล้ว ด้วยการชุมนุมและเคลื่อนย้ายผู้ชุมนุมเป็นขบวนล้ำเข้าไปในช่องการจราจร และมีการนั่ง นอนลงบนช่องการจราจรของถนนสายดังกล่าว ในลักษณะที่อาจเกิดอันตรายหรือเสียหายแก่ยานพาหนะหรือบุคคล โดยไม่ได้รับการอนุญาตจากเจ้าพนักงานการจราจร
  6. ชาวบ้านทั้ง 17 คน ถูกดำเนินคดีข้อหาร่วมกันต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานซึ่งได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาให้ปฏิบัติหน้าที่ในการดูแลการชุมนุมสาธารณะ อันเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมาย และร่วมกันใช้ไม้ติดธงปลายแหลมเป็นอาวุธ ตี ทิ่มแทง และใช้กำลังประทุษร้าย ชกต่อย ผลัก ถีบเจ้าหน้าที่ซึ่งกำลังปฏิบัติหน้าที่อยู่ ทำให้เจ้าหน้าที่ 4 คนได้รับบาดเจ็บ

การถูกดำเนินคดีเป็นภาระแก่ชาวบ้านอย่างมาก ตั้งแต่การขอปล่อยชั่วคราว ที่ศาลได้ตีราคาหลักทรัพย์ประกันคนละ 90,000 บาท รวม 15 คน เป็นเงิน 1,350,000 บาท แต่ไม่สามารถรวบรวมหลักทรัพย์ได้ทัน ทำให้ชาวบ้าน 15 คน ถูกส่งตัวไปที่เรือนจำกลางสงขลาก่อนหนึ่งคืน ขณะที่เยาวชนชายวัย 16 ปี ศาลเด็กและเยาวชนได้ตีราคาประกัน 5,000 บาท ทนายความจึงยื่นปล่อยตัวชั่วคราวไปก่อนเป็นคนแรก วันถัดมาทนายความยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวอีกครั้ง โดยใช้ตำแหน่งราชการของนักวิชาการจากมหาวิทยาลับสงขลานครินทร์และมหาวิทยาลัยทักษิณเป็นหลักทรัพย์แทนเงินประกันตัว เดิมศาลจังหวัดสงขลาไม่อนุญาต แต่หลังจากยื่นซ้ำอีกครั้ง ศาลมีคำสั่งอนุญาต

นอกจากนี้ การถูกดำเนินคดีเป็นภาระแก่ชาวบ้านอย่างมาก เพราะผู้ถูกดำเนินคดีจำนวนมากเป็นชาวประมง ต้องออกเรือหาปลา การต้องมาถูกดำเนินคดี ทำให้พวกเขาต้องมาศาลบ่อยครั้ง ทำให้พวกเขาขาดรายได้ มีจำเลยอย่างน้อย 2 รายที่ประกอบอาชีพรับจ้างที่ประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้พวกเขาต้องออกจากงาน กลายเป็นคนตกงานระหว่างถูกดำเนินคดี นอกจากนี้ พวกเขายังมีภาระค่าใช้จ่ายในการมาศาลไม่ว่าจะเป็นค่าเดินทางและค่าอาหาร โดยเฉพาะแต่ละครั้งไม่น้อยกว่า 7,000 บาท

 

 

[1] ประเทศไทยได้เป็นภาคีโดยการภาคยานุวัติกติกาดังกล่าว เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2539 และมีผลบังคับใช้กับประเทศไทยเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2540

[2] พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558   มาตรา 4

[3] พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558  มาตรา 3

[4] พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558  มาตรา 10

[5] พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558  มาตรา 12

[6] พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558  มาตรา 10

[7] พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558  มาตรา 12

[8] ศูนย์ข้อมูลคดีเสรีภาพ ไอลอว์, https://freedom.ilaw.or.th/case/708#progress_of_case

[9] พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558   มาตรา 23

[10] พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558   มาตรา 24

[11] พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558   มาตรา 25