คดีอภิชาต ชูป้ายต้านรัฐประหาร

คดีอภิชาต ชูป้ายต้านรัฐประหาร

คดีนี้เกี่ยวข้องกับการต่อต้านรัฐประหารคดีแรกๆ ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2557 ภายหลังการรัฐประหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพียงหนึ่งวัน กลุ่มประชาชนจำนวนหนึ่งได้ออกมาทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ในพื้นที่บริเวณหน้าหอศิลป์ฯ เพื่อคัดค้านการรัฐประหาร  ซึ่งจ่าสิบเอกอภิชาต พงษ์สวัสดิ์ ก็เป็นหนึ่งในคนที่เข้าร่วมทำกิจกรรมในครั้งนั้น  กลุ่มประชาชนที่ออกมาคัดค้านรัฐประหารในวันนั้นได้แสดงสัญลักษณ์ที่แสดงออกถึงการคัดค้านรัฐประหาร ส่วนใหญ่จะเป็นป้ายข้อความในกระดาษ A 4 ที่เตรียมกันมาเอง ในส่วนของนายอภิชาตได้มีการชูป้ายข้อความว่า “ไม่ยอมรับอำนาจเถื่อน”  และในช่วงค่ำของวันนั้นเอง เจ้าหน้าที่ทหารได้เข้าเคลียร์พื้นที่และสลายกลุ่มประชาชน  นายอภิชาตถูกทหารจับกุมและถูกนำตัวไปควบคุมไว้ภายใต้อำนาจของกฎอัยการศึก 7 วัน

ต่อมาวันที่ 28 เมษายน 2558 พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด ได้ยื่นฟ้องนายอภิชาต พงษ์สวัสดิ์ ข้อหาฝ่าฝืนประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ  ฉบับที่ 7/2557  ชุมนุมมั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวานในบ้านเมือง   ไม่เลิกชุมนุมเมื่อเจ้าพนักงานสั่งให้เลิก  และขัดคำสั่งเจ้าพนักงานซึ่งสั่งการตามหน้าที่ตามอำนาจที่มีกฎหมายให้ไว้  ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งนั้นโดยไม่มีเหตุหรือข้อแก้ตัวอันควร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 วรรคแรก มาตรา 216 และมาตรา 368  เป็นคดีหมายเลขดำที่ 1097/2559 คดีหมายเลขแดงที่ 9075/2559

นายอภิชาตและทีมทนายความได้ต่อสู้คดีอย่างเต็มที่เพื่อยืนยันว่าสิ่งที่เขากระทำนั้นไม่ได้เป็นความผิด แต่เป็นการใช้สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญและเป็นการใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ

ศาลชั้นต้นครั้งแรก

วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2559 ศาลแขวงปทุมวันก็ได้มีคำพิพากษาให้ยกฟ้อง โดยให้เหตุผลว่ากระบวนการสอบสวนไม่ถูกต้อง เนื่องจากคดีนี้เหตุเกิดและจำเลยถูกจับกุมในท้องที่ สน.ปทุมวัน แต่พนักงานสอบสวนสังกัดกองปราบปราบเป็นผู้สอบสวน ซึ่งโจทก์ไม่ได้นำสืบให้ศาลเห็นถึงการมีอำนาจสอบสวนของพนักงานสอบสวนกองปราบปรามดังกล่าว จึงถือว่าเป็นการสอบสวนที่ไม่ชอบ ศาลจึงพิพากษายกฟ้อง

(อ่านคำพิพากษาศาลแขวงปทุมวันฉบับเต็ม)

อย่างไรก็ดี วันที่ 17 มีนาคม 2559 พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุดได้อุทธรณ์คำพิพากษาต่อศาลแขวงปทุมวัน โดยยกประเด็นที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า โจทก์ไม่มีพยานหลักฐานและพยานบุคคลมานำสืบถึงอำนาจการสอบสวนโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้นั้น เป็นการวินิจฉัยที่คลาดเคลื่อนต่อข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย

ศาลอุทธรณ์ครั้งแรก

ต่อมาวันที่ 6 มิถุนายน 2559 ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษากลับคำพิพากษาศาลศาลแขวงปทุมวันและให้ย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่ เนื่องจากศาลอุทธรณ์เห็นว่า ตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นลงวันที่ 10 มิถุนายน 2557 ซึ่งเป็นวันนัดตรวจพยานหลักฐานปรากฎว่า โจทก์ได้อ้างส่งพยานเอกสารรวมถึงพยานวัตถุสำหรับที่จะใช้เป็นพยานหลักฐาน ศาลชั้นต้นรับไว้และทนายจำเลยตรวจดูพยานเอกสารและพยานวัตถุดังกล่าวแล้ว ทนายจำเลยไม่คัดค้าน ย่อมแสดงว่า จำเลยยอมรับพยานเอกสารดังกล่าว และในจำนวนเอกสารดังกล่าวมีพยานเอกสารที่แสดงถึงอำนาจในการสอบสวนของพนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปราม ตามกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการฯสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2552 เมื่อการสอบสวนของพนักงานสอบสวนเป็นการปฏิบัติงานตาม ป.วิ.อาญา พนักงานสอบสวน กองบังคับการปราบปราม จึงมีอำนาจสอบสวนเกี่ยวกับความผิดที่มีโทษทางอาญาทั่วราชอาณาจักร และตามคำสั่งที่ 145/2557 กองบังคับการปราบปรามสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เรื่องแต่งตั้งพนักงานสอบสวนกรณีผู้กระทำความผิดตามพ.ร.บ.กฎอัยการศึก พ.ศ.2457 ก็ได้กำหนดให้ร.ต.ท.ชลิต มณีพราว เป็นพนักงานสอบสวนไว้ ฉะนั้นการสอบสวนคดีนี้จึงชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้อง ที่ศาลแขวงปทุมวันพิพากษายกฟ้องในประเด็นเรื่องอำนาจฟ้องนั้น ศาลอุทธรณ์พิพากษายก ส่วนปัญหาที่ว่าจำเลยกระทำผิดตามฟ้องหรือไม่ ศาลอุทธรณ์ให้ย้อนสำนวนไปให้ศาลแขวงปทุมวันพิจารณาและพิพากษาใหม่ ซึ่งศาลชั้นต้นก็ได้พิจารณาและพิพากษาลงโทษตามที่กล่าวไปแล้วข้างต้น

(อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ฉบับเต็ม)

ศาลชั้นต้นครั้งที่สอง

วันที่ 19 ธันวาคม 2559 ศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาใหม่ว่า นายอภิชาตมีความผิดตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 7/2557 ให้พิจารณาโทษตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 เรื่องการรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติ  และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 วรรคแรก เป็นการกระทำกรรมเดียว แต่ผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักสุด ให้จำคุก 2 เดือน และปรับ 6,000 บาท  แต่เนื่องจากศาลเห็นว่านายอภิชาตไม่เคยรับโทษจำคุกมาก่อน จึงเห็นควรให้โอกาสในการกลับตัวเป็นพลเมืองดี โทษจำคุกจึงให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก

(อ่านคำพิพากษาศาลแขวงปทุมวันฉบับเต็ม)

วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2560  ฝ่ายจำเลยได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาต่อศาลแขวงปทุมวัน ทั้งในปัญหาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย รวม 6 ประเด็น ได้แก่

ประเด็นแรก  โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย เนื่องจากการสอบสวนในคดีนี้มิชอบด้วยกฎหมาย เพราะแม้พนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปราม จะอ้างระเบียบว่าด้วยอำนาจการสอบสวน ว่าคดีนี้เป็น “คดีที่ประชาชนชนให้ความสนใจ” แต่พยานกลับให้การขัดแย้งกันเอง และจำเลยเป็นเพียงประชาชนธรรมดา ไม่ได้เป็นที่รู้จักหรืออยู่ในความสนใจของประชาชนทั่วไปแต่อย่างใด

ประเด็นที่สอง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ได้อยู่ในฐานะรัฐฐาธิปัตย์ เนื่องจากแนวคิดดังกล่าวเป็นเพียงแนวคิดของนักวิชาการกฎหมายส่วนข้างน้อยเท่านั้น แต่ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  ถือว่าการได้มาซึ่งอำนาจของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา  มิใช่การได้มาซึ่งอำนาจการปกครองตามวิถีทางในระบอบประชาธิปไตย  อีกทั้งไม่มีบทบัญญัติตามกฎหมายใดรองรับอำนาจของพลเอกประยุทธ์ มีเพียงประกาศคณะรักษาความความสงบแห่งชาติซึ่งพลเอกประยุทธ์ ประกาศใช้เองโดยไม่ได้ผ่านความยินยอมของประชาชน  ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับดังกล่าวจึงไม่มีผลเป็นกฎหมายซึ่งจะนำมาบังคับใช้กับจำเลยได้

ประเด็นที่สาม การประกาศกฎอัยการศึกโดยกองทัพบกในวันที่ 20 พฤษภาคม 2557 และโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 เป็นการประกาศโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากการประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักรนั้น ไม่ได้มีพระบรมราชโองการตามมาตรา 2 แห่งพระราชบัญญัติกฎอัยการศึกพ.ศ. 2457 และประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 7/2557 ที่มาใช้ดำเนินคดีกับจำเลย ยังไม่ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 แต่ประกาศภายหลังเหตุตามฟ้องวันที่ 26 พฤษภาคม 2557  จำเลยซึ่งเป็นนักกฎหมายย่อมทราบดีถึงความไม่ชอบด้วยกฎหมายของประกาศฉบับดังกล่าวที่ประกาศโดยบุคคลที่ไม่มีอำนาจและไม่ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา จำเลยจึงออกไปคัดค้านการรัฐประหารอย่างสันติวิธี เพราะเชื่อโดยสุจริตว่าประกาศดังกล่าวนั้นยังไม่มีผลบังคับใช้ และจำเลยมีสิทธิที่จะพิทักษ์รัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพ.ศ. 2550

ประเด็นที่สี่ ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 7/2557 ที่ห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ไม่มีผลบังคับแล้ว เพราะได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะพ.ศ. 2558 ที่เป็นกฎหมายเฉพาะ และมีลักษณะเป็นคุณต่อจำเลย โดยพระราชบัญญัติดังกล่าวไม่มีข้อห้ามมิให้มั่วสุมหรือเกี่ยวกับการชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใดๆ ที่มีจำนวนตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป จำเลยจึงไม่ต้องผูกพันในการแก้ข้อกล่าวหาใดๆ ดังกล่าวอีก

ประเด็นที่ห้า พยานโจทก์ปากร้อยโทพีรพันธ์ สรรเสริญ ซึ่งศาลเชื่อว่าเป็นประจักษ์พยานเบิกความยืนยันการกระทำจำเลยได้อย่างดีนั้น ไม่มีพยานหลักฐานใดๆ ยืนยันว่าพยานปากดังกล่าวอยู่ในที่เกิดเหตุและเป็นผู้ควบคุมตัวจำเลย  แม้แต่บันทึกการควบคุมตัวก็ไม่ปรากฏชื่อของร้อยโทพีรพันธ์ สรรเสริญ แต่อย่างใด  คำเบิกความของพยานโจทก์ปากนี้จึงไม่มีน้ำหนักให้ศาลรับฟัง

การกระทำของจำเลยไม่เข้าองค์ประกอบความผิดตามประกาศฉบับที่ 7/2557  เนื่องจากการไปชุมนุมและแสดงความไม่เห็นด้วยกับการการยึดอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติของจำเลย  ไม่ใช่การชุมนุมมั่วสุมโดยมีเจตนาก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง  แต่เป็นการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ  ปราศจากความรุนแรง  อุปกรณ์ในการจัดกิจกรรมของจำเลยมีเพียงแผ่นกระดาษขนาด A4 และในระหว่างการจัดกิจกรรมของจำเลยนั้นก็ไม่มีเหตุการณ์ความไม่สงบใดแต่อย่างใด การกระทำของจำเลยเป็นการใช้เสรีภาพในการแสดงออก อันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานในระบอบประชาธิปไตย เป็นไปตามกรอบรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักไทย  และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง และจำเลยเห็นว่าประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 7/2558 ไม่สามารถบังคับใช้กับจำเลยได้ เนื่องจากการยึดอำนาจนั้นยังไม่สำเร็จเสร็จสิ้น และประชาชนมีสิทธิคัดค้านโดยสงบและปราศจากอาวุธ อันเป็นสันติวิธีและเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ

ประเด็นที่หก การกระทำของจำเลยไม่ถือเป็นการมั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป เพื่อให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง  เนื่องจากข้อเท็จจริงยังไม่อาจรับฟังได้ว่าจำเลยมีพฤติกรรมปลุกเร้าผู้ชุมนุมให้ฮึกเหิม  หรือปลุกระดมกลุ่มผู้ชุมนุมให้เข้าร่วมมากขึ้น  เพราะในทางนำสืบของโจทก์เป็นการกล่าวอ้างลอยๆ โดยปราศจากพยานหลักฐานยืนยัน

อีกทั้ง ในการตีความกฎหมายซึ่งมีโทษทางอาญาจำต้องตีความโดยเคร่งครัด และต้องพิจารณาถึงพฤติการณ์และเจตนาที่แท้จริงของจำเลยประกอบการวินิจฉัย  มาตรา 69 และมาตรา 70 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพ.ศ. 2550 ได้คุ้มครองรับรองสิทธิของประชาชนที่จะต่อต้านโดยสันติวิธีต่อการทำรัฐประหาร  ซึ่งเป็นการได้อำนาจการปกครองประเทศมาโดยวิธีการที่ไม่เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ  การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำโดยสุจริตใจและเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญในฐานะพลเมืองที่มีหน้าที่ตามระบอบประชาธิปไตย จึงไม่เป็นการกระทำความผิดฐานมั่วสุมก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง   และขณะที่จำเลยถูกกกล่าวหาว่ากระทำความผิดในคดีนี้  เป็นวันที่ 23 พฤษภาคม 2557  ภายหลังจากการรัฐประหารยึดอำนาจการปกครอง 1 วัน  ซึ่งยังไม่แน่ชัดว่าคณะรักษาความสงบแห่งชาติจะสามารถยึดอำนาจได้หรือไม่เพราะยังมีประชาชนออกมาต่อต้านและกฎหมาย

ศาลอุทธรณ์ครั้งที่สอง

วันที่ 31 พฤษภาคม 2561 ศาลอุทธรณ์อ่านคำพิพากษาคดีนายอภิชาตชูป้ายต้านรัฐประหารหน้าหอศิลป์กรุงเทพฯ เมื่อปี 2557 หลังจากเลื่อนอ่านคำพิพากษามาแล้ว 3 ครั้ง

สำหรับบรรยากาศที่ศาลแขวงปทุมวันในช่วงเช้าวันนี้ มีความเข็มงวดเป็นพิเศษ เจ้าหน้าที่ศาลมายืนต้อนรับผู้คนที่เข้าออกประตูเครื่องตรวจ มีการสอบถามผู้เดินผ่านประตูตามปกติว่ามาติดต่อเรื่องอะไร แต่เมื่อมีการแจ้งว่ามาฟังคำพิพากษาคดีนายอภิชาต เจ้าหน้าที่จะแสดงท่าทีให้ความสนใจสอบถามเป็นพิเศษว่ามีความเกี่ยวข้องกับคดีอย่างไร เจ้าหน้าที่บางคนก็คาดเดาว่าเราเป็นนักข่าวหรือไม่ หลังจากนั้นจะมีการขอตรวจกระเป๋าตามปกติ แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ หากเจ้าหน้าที่พบว่าในกระเป๋ามีคอมพิวเตอร์พกพามาด้วย เขาจะไม่อนุญาตให้เข้าไปในห้องพิจารณา โดยเจ้าหน้าที่อ้างว่าเป็นนโยบายของหัวหน้าศาลคนใหม่ที่กำหนดขึ้นมาตั้งแต่เดือนเมษายนแล้ว

เมื่อผู้มาร่วมฟังคำพิพากษาจะเข้าไปในห้องพิจารณา เจ้าหน้าที่ได้แจ้งว่าจะอนุญาตให้เข้าเฉพาะคู่ความและทนายความ คนที่ไม่เกี่ยวข้องให้รอด้านนอก โดยเจ้าหน้าที่อ้างว่ามีการพิจารณาคดีอื่นอยู่ด้วย ที่นั่งจะไม่พอหากพวกเข้าไปกันหมด จริงๆแล้วนอกจากตัวจำเลยและทนายความแล้ว มีคนที่มาให้กำลังใจเพียงแค่ 4 คนเท่านั้น ซึ่งไม่น่าจะทำให้ที่นั่งไม่พอได้ อย่างไรก็ดี คนที่มาให้กำลังใจจำเลยต่างก็เข้าไปข้างในห้องพิจารณากันหมด เจ้าหน้าที่หน้าบัลลังค์ก็ได้แจ้งเน้นย้ำอีกครั้งว่าอนุญาตให้เฉพาะคู่ความและทนายความอยู่ในห้องพิจารณา แต่ผู้มาให้กำลังใจก็ยังคงนั่งกันตามปกติในห้องพิจารณา เพราะถือว่าโดยหลักการแล้วการพิจารณา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการอ่านคำพิพากษาคดีต้องกระทำโดยเปิดเผย คนทั่วไปแม้จะไม่เกี่ยวข้องอะไรเลยกับคดีก็ย่อมสามารถที่จะเข้าฟังได้ อีกทั้งที่นั่งในห้องพิจารณาก็ยังว่างอีกตั้งเยอะ

สุดท้าย เจ้าหน้าที่ก็ได้วุ่นวายเรื่องการให้คนที่ไม่เกี่ยวข้องเข้าห้องพิจารณามากนัก แต่เจ้าหน้าที่ได้ขอให้ทุกคน รวมทั้งคู่ความและทนายความปิดโทรศัพท์ และให้นำไปฝากไว้กับเจ้าหน้าที่ที่หน้าบัลลังค์ ซึ่งทนายความก็ได้สอบถามว่า ทำไมต้องเก็บโทรศัพท์ไปไว้ข้างหน้าด้วย เพราะถึงอย่างไรก็ปิดโทรศัพท์และไม่ได้ใช้ในศาลอยู่แล้ว เจ้าหน้าที่ได้ชี้แจงกลับมาว่าเป็นนโยบายของหัวหน้าศาลคนใหม่ที่ต้องให้เข็มงวด แต่พอถามถึงเหตุผลของการออกนโยบายดังกล่าว เจ้าหน้าที่ก็ไม่สามารถอธิบายได้ บอกทิ้งท้ายเพียงว่าเขาเป็นเพียงผู้รับคำสั่ง

พวกเรานั่งรอราวๆ 09.30 น. โดยประมาณ ผู้พิพากษาก็ขึ้นนั่งบัลลังค์ แล้วได้สอบถามว่าคู่ความฝ่ายใดมาศาลบ้าง วันนี้ฝ่ายอัยการโจทก์ไม่ได้อยู่ในห้องพิจารณา ส่วนฝ่ายจำเลย ซึ่งประกอบด้วยตัวจำเลยเองและทนายความมาศาล

หลังจากนั้น ศาลก็ได้เริ่มอ่านคำพิพากษา โดยเริ่มจากกล่าวถึงความเป็นมาของคดี ไล่เรียงตั้งแต่คำฟ้องของโจทก์ หลังจากนั้นก็กล่าวถึงคำพิพากษาของศาลชั้นต้น และเริ่มไล่เรียงวินิจฉัยในประเด็นต่างๆที่ฝ่ายจำเลยอุทธรณ์ โดยสรุป ดังนี้

(อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ฉบับเต็ม)

ประเด็นแรก  ที่จำเลยอุทธรณ์ว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เนื่องจากการสอบสวนในคดีนี้มิชอบด้วยกฎหมาย ศาลอุทธรณ์เห็นว่า ปัญหาในเรื่องอำนาจสอบสวนและอำนาจฟ้องของโจทก์นั้น ศาลอุทธรณ์ได้เคยวินิจฉัยมาแล้วในชั้นที่โจทก์อุทธรณ์ว่าพนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปรามมีอำนาจสอบสวนและโจทก์มีอำนาจฟ้อง และได้พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ศาลชั้นต้นพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ดังนั้น การที่จำเลยยกปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องขึ้นอุทธรณ์อีก จึงเป็นการดำเนินกระบวนการพิจารณาซ้ำ

ประเด็นที่สอง ที่จำเลยอุทธรณ์ว่าการเข้าควบคุมอำนาจการปกครองของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ  มิใช่การได้มาซึ่งอำนาจการปกครองตามวิถีทางในระบอบประชาธิปไตยตามบทบัญญัติของกฎหมายรัฐธรรมนูญ จึงไม่อยู่ในฐานะรัฐาธิปัตย์ที่จะออกประกาศมาบังคับใช้โดยไม่ผ่านความยินยอมของประชาชนได้และเป็นการออกประกาศโดยไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ. 2457 มาตรา 2 ที่บัญญัติให้การประกาศกฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักรจะกระทำๆได้ต้องมีพระบรมราชโองการ ทั้งเป็นการประกาศโดยบุคคลที่ไม่มีอำนาจและไม่มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 7/2557 เรื่องห้ามการชุมนุมทางการเมืองจึงไม่มีผลบังคับใช้เป็นกฎหมายโดยชอบ

ในประเด็นนี้ ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยโดยมติของที่ประชุมใหญ่เห็นว่า ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสถานการณ์ของประเทศไทยก่อนที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติจะเข้ามาควบคุมการปกครองประเทศนั้น เป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไปตามที่ปรากฏในคำปรารภของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติจึงจำเป็นต้องเข้ายึดและควบคุมอำนาจการปกครองประเทศ เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ดังกล่าว และแม้การกระทำของคณะรักษาความสงบแห่งชาติในเบื้องต้นจะมีลักษณะเป็นการได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยที่บังคับใช้อยู่ในขณะนั้น แต่เมื่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติออกประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 1/2557 เรื่องการควบคุมอำนาจการปกครอง สถานการณ์บ้านเมืองของประเทศไทยในขณะนั้นก็คลี่คลายเข้าสู่ความสงบเรียบร้อย ไม่มีการต่อต้านขัดขืนจากประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ ตลอดจนหน่วยงานหรือองค์การใดๆทั้งของรัฐและภาคเอกชน หรือแม้แต่คณะรัฐบาลที่รักษาการอยู่ในขณะนั้น ก็ไม่อาจโต้แย้งขัดขวางการกระทำการยึดอำนาจการปกครองประเทศและการบริหารราชการแผ่นดินของคณะรักษาความสงบแห่งชาตินับแต่นั้นเป็นต้นมา อันถือเป็นการใช้กำลังยึดอำนาจเปลี่ยนแปลงรัฐบาลตามนัยของระบอบแห่งการรัฐประหารได้เป็นผลสำเร็จแล้ว คณะรักษาความสงบแห่งชาติย่อมมีอำนาจที่จะออกประกาศหรือคำสั่งใดๆอันถือเป็นกฎหมายตามระบอบแห่งการรัฐประหารมาใช้ในการบริหารประเทศชาติ โดยไม่จำเป็นต้องอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ. 2457 มารองรับอีก และเมื่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติได้ออกประกาศหรือคำสั่งใดมาบังคับใช้โดยไม่มีการระบุให้ประกาศหรือคำสั่งนั้นมีผลในวันอื่นนอกจากวันที่ออกประกาศหรือคำสั่งนั้นแล้ว ประกาศหรือคำสั่งนั้นก็ย่อมมีผลบังคับใช้นับแต่วันประกาศหรือสั่ง โดยไม่จำเป็นต้องมีการลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาก่อน ดังนั้น ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 7/2557 มีผลบังคับใช้เป็นกฎหมายโดยชอบแล้วนั้น จึงชอบแล้ว

ประเด็นที่สาม จำเลยอุทธรณ์ว่าพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558  กำหนดนิยามการชุมนุมสาธารณะในมาตรา 4 ว่า  ไม่มีข้อห้ามมิให้มั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใดๆ ที่มีจำนวนตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป อันเป็นบทบัญญัติของกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังเป็นคุณแก่จำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 วรรคสอง ทำให้การกระทำของจำเลยซึ่งเป็นการชุมนุมสาธารณะตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวไม่เป็นความผิดตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 7/2557 อีกต่อไป

ศาลอุทธรณ์เห็นว่า พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558  มาตรา 10 วรรคหนึ่งของพระราชบัญญัติฉบับนี้ได้บัญญัติกำหนดหลักเกณฑ์ให้ผู้ที่ประสงค์จะจัดการชุมนุมสาธารณะ ต้องแจ้งการชุมนุมต่อผู้รับแจ้งก่อนเริ่มการชุมนุมไม่น้อยกว่ายี่สิบสี่ชั่วโมง มิใช่ว่าถ้าเป็นการชุมนุมสาธารณะแล้ว ผู้ที่ประสงค์จะชุมนุมจะสามารถทำการชุมนุมได้โดยทันที นอกจากนี้ ตามพระราชบัญญัติดังกล่าวก็ไม่มีบทบัญญัติในมาตราใดบัญญัติว่าการมั่วสุม หรือชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใดๆที่มีจำนวนตั้งแต่ 5 คนขึ้นไปไม่เป็นความผิดตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 7/2557 จำเลยจึงไม่พ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 วรรคสอง

ประเด็นที่สี่ จำเลยอุทธรณ์ว่าการไปชุมนุมและแสดงความไม่เห็นด้วยต่อการรัฐประหารของจำเลยเป็นไปโดยสงบ ปราศจากอาวุธ ไม่ใช่การมั่วสุมโดยมีเจตนาก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองตามพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ. 2457 มาตรา 11 ได้รับการรับรองเสรีภาพในการชุมนุมตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 มาตรา 4 เป็นการกระทำการต่อต้านโดยสันติวิธีต่อการรัฐประหารและโดยสุจริตใจในฐานะพลเมืองที่มีหน้าที่พิทักษ์รักษาการปกครองในระบอบประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 69 และมาตรา 70 และเป็นการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การแสดงออก และการชุมนุมโดยสงบ อันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานในระบอบประชาธิปไตยตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและการเมือง ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีและมีพันธกรณีในการปฏิบัติตาม การกระทำของจำเลยจึงไม่เข้าองค์ประกอบเป็นความผิดตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 7/2557

ในประเด็นนี้ศาลอุทธรณ์เห็นว่า ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 7/2557 กำหนดข้อห้ามกระทำการไว้สองลักษณะ กล่าวคือ ห้ามมิให้มั่วสุม ณ ที่ใดๆที่มีจำนวนตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป และห้ามชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใดๆที่มีจำนวนตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป เมื่อคดีนี้ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติได้ว่า เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2557 จำเลยเข้าร่วมการชุมนุมที่มีผู้ชุมนุมเกิดกว่า 10 คน โดยจำเลยนำกระดาษที่เตรียมไว้มีข้อความว่า “ไม่ยอมรับอำนาจเถื่อน” ชูประท้วงไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ซึ่งการชุมนุมต่อต้านการรัฐประหารที่มีความหมายถึงการใช้กำลังยึดอำนาจและเปลี่ยนแปลงรัฐบาลในการปกครองประเทศอันมีนัยเป็นเรื่องเกี่ยวกับการเมืองโดยตรงแล้ว การกระทำของจำเลยดังกล่าวจึงถือเป็นการชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใดๆ ที่มีจำนวนตั้งแต่ 5 คนขึ้นไปตามที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติออกประกาศห้ามไว้ แม้ไม่ใช่การมั่วสุมโดยมีเจตนาก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองตามพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ. 2457 มาตรา 11 ก็ตาม และแม้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว)พุทธศักราช 2557 มาตรา 4 ได้บัญญัติรับรองเสรีภาพในการชุมนุม แต่ในมาตรา 47 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ได้บัญญัติรับรองประกาศและคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือคำสั่งของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ได้ประกาศหรือสั่งในระหว่างวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ถึงวันที่คณะรัฐมนตรีเข้ารับหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญนี้  นอกจากนี้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 279 ก็ยังบัญญัติรับรองไว้อีกชั้นหนึ่ง ดังนั้น ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 7/2557 ย่อมได้รับการรับรองให้มีผลบังคับใช้ต่อไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญดังกล่าว การที่จำเลยอ้างหลักการของบทบัญญัติที่บัญญัติรับรองสิทธิไว้ในรัฐธรรมนูญเพียงมาตราใดมาตราหนึ่ง โดยไม่พิจารณาหลักการที่เกี่ยวเนื่องในมาตราอื่นๆด้วยจึงไม่ถูกต้อง

สำหรับประเด็นเรื่องการอ้างสิทธิในการต่อต้านโดยสันติวิธีต่อการทำรัฐประหารและหน้าที่พิทักษ์รักษาการปกครองในระบอบประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2550 มาตรา 69 และมาตรา 70 ของจำเลยนั้น  ศาลอุทธรณ์เห็นว่าในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ที่มีการทำรัฐประหารนั้น คณะรักษาความสงบแห่งชาติก็ได้ออกประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 5/2557 เรื่อง การสิ้นสุดชั่วคราวของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และฉบับที่ 11/2557 เรื่อง การสิ้นสุดของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มีผลให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 69 และมาตรา 70 ถูกยกเลิก ไม่มีผลบังคับใช้เป็นกฎหมายแล้ว จำเลยจึงไม่อาจยกรัฐธรรมนูญดังกล่าวขึ้นกล่าวอ้างได้อีกต่อไป

สำหรับประเด็นเรื่องกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและการเมืองที่รับรองสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบนั้น ศาลได้ยกเงื่อนไขข้อจำกัดในข้อ 19 และ 21 ที่กำหนดให้รัฐภาคีสามารถตรากฎหมายจำกัดการใช้สิทธิดังกล่าวนั้นได้เท่าที่จำเป็นต่อการเคารพในสิทธิหรือชื่อเสียงของบุคคลอื่น  การรักษาความมั่นคงของชาติ หรือความสงบเรียบร้อย หรือการสาธารณสุข หรือศีลธรรมของประชาชนขึ้นมาประกอบการวินิจฉัย โดยศาลเห็นว่าเมื่อสถานการณ์ของประเทศไทยก่อนการรัฐประหารนั้นอยู่ในสภาพที่ไม่มีความสงบเรียบร้อย ย่อมเข้าเงื่อนไขตามข้อยกเว้นดังกล่าว  จึงนับว่ามีความจำเป็นที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติจะได้ออกประกาศอันถือเป็นกฎหมายมาจำกัดสิทธิในการชุมนุมทางการเมือง  เพื่อให้สถานการณ์ของบ้านเมืองกลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็วได้  ดังนั้น  การกระทำของจำเลยจึงเข้าองค์ประกอบเป็นความผิดตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 7/2557 แล้ว

ส่วนประเด็นที่จำเลยอุทธรณ์ว่าร้อยโทพีรพันธ์  สรรเสริญ  เจ้าหน้าที่ทหารพยานโจทก์ไม่ได้อยู่ร่วมในเหตุการณ์ที่เกิดเหตุและไม่ใช่เจ้าหน้าที่ผู้ควบคุมตัวจำเลย  คำเบิกความพยานโจทก์ปากนี้จึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟังว่าจำเลยกระทำผิดฐานนี้นั้น  ศาลเห็นว่า  คดีนี้ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติได้จากทั้งพยานหลักฐานของโจทก์และจำเลยที่นำสืบรับกันแล้วดังกล่าว  คดีจึงไม่มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยว่าจำเลยได้กระทำการตามที่โจทก์กล่าวหามาตามฟ้องในความผิดฐานนี้หรือไม่อีกต่อไป  ดังนั้น  ปัญหาที่ว่าคำเบิกความของร้อยโทพีรพันธ์ พยานโจทก์มีน้ำหนักให้รับฟังหรือไม่จึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรที่ศาลอุทธรณ์จะต้องวินิจฉัย

ประเด็นสุดท้าย จำเลยอุทธรณ์ว่า  ข้อเท็จจริงตามพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยมีพฤติการณ์ที่เข้าข่ายเป็นการมั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป  กระทำอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมืองตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

ในประเด็นนี้ศาลเห็นว่า  พยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบมายังไม่มีน้ำหนักมั่นคงเพียงพอให้รับว่า  จำเลยกระทำการเข้าประจันหน้ากับเจ้าหน้าที่ทหารและเป็นผู้นำใช้คำพูดปลุกเร้าผู้ร่วมชุมนุมให้ฮึกเหิมต่อต้านการรัฐประหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติเพื่อให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง  เพราะพยานโจทก์ปากร้อยโทพีรพันธ์เกี่ยวกับพฤติการณ์ของจำเลยยังมีลักษณะทำนองเป็นการสันนิษฐานหรือการแสดงความเห็นของพยานเอาเอง  และตามภาพเหตุการณ์ในคลิปวีดีโอวัตถุพยานก็ไม่ปรากฏพฤติการณ์ของจำเลยในลักษณะเป็นการมั่วสุมหรือกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดอื่นๆ  ศาลอุทธรณ์จึงเห็นว่าการกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานมั่วสุมกันกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมืองตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215 วรรคแรกตามฟ้อง

นอกจากนี้ ศาลยังได้วินิจฉัยต่อไปด้วยว่า การกระทำของจำเลยเป็นเพียงความผิดฝ่าฝืนข้อห้ามการชุมนุมทางการเมืองตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 7/2557 ที่มีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 3/2558 เรื่องการรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติ  ข้อ 12 ในภายหลังระหว่างอัตราโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน  หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท  หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งนับเป็นโทษที่ไม่สูงมากนัก  ไม่ถือเป็นความผิดร้ายแรง  ประกอบกับจำเลยกระทำความผิดในวันที่ 23 พฤษภาคม 2557 ภายหลังจากเกิดเหตุการณ์รัฐประหารเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศจากระบอบประชาธิปไตยซึ่งจำเลยมีความเลื่อมใสมาเป็นระบอบแห่งการรัฐประหารของคณะรักษาความสงบเรียบความสงบแห่งชาติเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 เพียงวันเดียว  ซึ่งยังอยู่ในช่วงที่อาจมีผู้คนบางส่วนดังเช่นจำเลยออกมาแสดงความไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารได้  และจำเลยเข้าร่วมการชุมนุมโดยสงบ  ไม่มีการใช้กำลังรุนแรงก่อให้เกิดความวุ่นวายหรือความเสียหายใดๆต่อผู้อื่น  ทั้งเมื่อเจ้าหน้าที่ทหารเข้าควบคุมตัวจำเลยก็ไม่ได้ต่อต้านขัดขวางหรือขัดขืนไม่ยอมให้ควบคุม  พฤติการณ์แห่งคดีของจำเลยนับว่าไม่ร้ายแรง  ดังนั้น  ที่ศาลชั้นต้นใช้ดุลพินิจกำหนดโทษที่จะลงแก่จำเลยโดยระวางโทษจำคุกมาด้วยนั้น  ศาลอุทธรณ์เห็นว่าเป็นการใช้ดุลพินิจในการกำหนดโทษที่หนักเกินไป  จึงเห็นสมควรแก้ไขเสียใหม่ให้เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดีโดยกำหนดให้ลงโทษปรับจำเลยสถานเดียวเท่านั้น

โดยสรุปแล้ว ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 3/2558 เรื่องการรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติ  ข้อ 12 แต่ไม่ลงโทษจำคุกจำเลย ให้ลงเฉพาะโทษปรับ ส่วนความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215 วรรคแรกนั้น ศาลอุทธรณ์ยก

ศาลฎีกาพิพากษา

ก่อนการอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาครั้งแรก เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2562 ทนายจำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลฎีกายกฟ้องนายอภิชาตเนื่องจากความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 ในส่วนการห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ถูกยกเลิกไปแล้วเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2562

และเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2562  ศาลนัดฟังคำพิพากษาฎีกา ณ ศาลแขวงปทุมวัน เวลา 09.00 น. โดยพิพากษายืนว่านายอภิชาตมีความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 แต่เนื่องจากทางจำเลยทำคำแถลงเรื่องการยกเลิกกฎหมายเข้ามา ศาลจะปิดผนึกคำพิพากษาพร้อมแนบคำแถลงของฝ่ายจำเลยกลับไปให้ศาลฎีกาอีกครั้ง ในชั้นนี้จึงยังไม่ให้คัดถ่ายคำพิพากษาและไม่ให้คัดถ่ายรายงานกระบวนพิจารณาคดีนี้ และแจ้งอภิชาตว่าให้รอศาลฎีกาออกหมายเรียกมาอีกครั้งหนึ่ง

ต่อมาวันที่ 8 พฤศจิกายน 2562 ศาลฎีกาพิพากษาคดีโดย ศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ให้นายอภิชาต มีความผิดตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 3/2558 เรื่องการรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติ ข้อ 12 ห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป โดยให้ลงโทษปรับเป็นจำนวนเงิน 6,000 บาท 

ศาลฎีกาได้วินิจฉัยในประเด็นที่ทั้งโจทก์และจำเลยฎีกาโดยสรุป ดังนี้

ประเด็นแรก โจทก์ฎีกาคัดค้านเหตุผลในการวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ในประเด็นข้อเท็จจริง และพยานหลักฐานของโจทก์ที่รับฟังได้ว่าจำเลยกระทำความผิดตามมาตรา 215 วรรคแรก ประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งเป็นการฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัย

ประเด็นที่สอง บทบัญญัติในการรับรองสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญที่ให้สิทธิประชาชนในการชุมนุ ย่อมเหนือกว่าบทเฉพาะกาลที่รับรองความชอบธรรมของประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และจำเลยใช้สิทธิในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ที่ศาลอุทธรณ์เห็นว่ารัฐธรรมนูญดังกล่าวได้หมดสภาพบังคับ เนื่องจากประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 5/2557 และที่ 11/2557 เพราะการพิทักษ์รัฐธรรมนูญย่อมเกิดขึ้นในเวลาเดียวกับเวลายึดอำนาจ และจำเลยฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า คณะรักษาความสงบแห่งชาติยึดอำนาจปกครองและการบริหารราชการแผ่นดินได้เป็นผลสำเร็จ ไม่ใช่ข้อเท็จจริงที่คู่ความยกขึ้นมา และไม่ใช่ข้อเท็จจริงที่รับรู้โดยทั่วกัน การนำข้อเท็จจริงดังกล่าวมาวินิจฉัยจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย และไม่เป็นธรรมต่อจำเลย

ศาลฎีกาเห็นว่า เป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงซึ่งนำไปสู่ปัญหาข้อกฎหมาย การที่ศาลฎีกาจะวินิจฉัยปัญหาที่จำเลยฎีกาได้จะต้องวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่าเป็นไปดังที่จำเลยอ้างหรือที่ศาลอุทธรณ์รับฟังมาหรือไม่เสียก่อน ฎีกาของจำเลยจึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามฎีกาตามมาตรา 219 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

ประเด็นที่สาม จำเลยฎีกาว่า จำเลยไม่เห็นด้วยที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยปัญหาว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เนื่องจากการสอบสวนคดีนี้ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ศาลฎีกาเห็นว่า ปัญหาในเรื่องนี้ ศาลอุทธรณ์เคยวินิจฉัยประเด็นปัญหานี้มาแล้วในชั้นที่ศาลชั้นต้นพิพากษาครั้งแรกให้ยกฟ้องเนื่องจากเห็นว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง โดยศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า พนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปรามมีอำนาจสอบสวนและโจทก์มีอำนาจฟ้อง แต่ว่าจำเลยไม่ได้ฎีกาคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ดังกล่าวว่าไม่ถูกต้องแต่ประการใด ปัญหานี้จึงยุติไป จำเลยไม่อาจยกปัญหานี้ขึ้นอุทธรณ์ ฎีกาได้อีก

ประการที่สี่ จำเลยฎีกาว่า พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 ซึ่งออกมาภายหลังการบัญญัติว่าการชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไปเป็นความผิด จึงเป็นการยกเลิกประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 7/2557 จำเลยจึงไม่มีความผิดอีกต่อไป

ศาลฎีกาเห็นว่า ขณะเกิดเหตุมีประกาศคำสั่งคณะรักษความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 2/2557 ให้ใช้กฎอัยการศึกษาทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 เป็นต้นไป ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 7/2557 อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ. 2547 เป็นการประกาศห้ามชุมนุมทางการเมืองในขณะที่มีประกาศใช้กฎอัยการศึก ซึ่งการชุมนุมทางการเมืองของจำเลยกับพวก จึงเป็นการชุมนุมในระหว่างเวลาที่มีการประกาศใช้กฎอัยการศึก จึงเป็นเรื่องนอกเหนือไม่อยู่ในบังคับพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 ตามมาตรา 3(6) ที่ว่า “พระราชบัญญัตินี้ไม่ใช้บังคับแก่การชุมนุมสาธารณะในระหว่างเวลาที่มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินหรือประกาศใช้กฎอัยการศึก และการชุมนุมสาธารณะที่จัดขึ้นเพื่อประโยชน์ในการหาเสียงเลือกตั้งในช่วงเวลาที่มีการเลือกตั้ง แต่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น” และไม่มีกรณีที่จะถือว่าประกาศคำสั่งฯ ถูกยกเลิกไปโดยพระราชบัญญัติดังกล่าว ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น

ประการที่ห้า ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2561 มีการออกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 22/2561 โดยให้ยกเลิกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 3/2558 เฉพาะข้อ 12 ซึ่งเปิดการยกเลิกความผิดฐานมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้น และเป็นการยกเลิกความผิดตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 7/2557 การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามกฎหมายที่ขอให้ลงโทษอีก ตามมาตรา 2 ประมวลกฎหมายอาญา ที่บัญญัติให้จำเลยพ้นผิด เนื่องจากกฎหมายในภายหลังบัญญัติให้การกระทำนั้นไม่เป็นความผิดต่อไป และมาตรา 29 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ที่บัญญัติหลักการว่า บุคคลไม่ต้องรับโทษทางอาญา เว้นแต่ได้กระทำการอันกฎหมายที่ใช้อยู่ในเวลาที่กระทำความผิดและกำหนดโทษไว้ จึงขอให้ยกฟ้อง

ศาลฎีกาเห็นว่า คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 22/2561 ข้อ 2 ว่า “การยกเลิกบรรดาประกาศ/คำสั่ง คสช. และคำสั่งหัวหน้า คสช. ตามข้อ 1 ไม่กระทบกระเทือนถึงการดำเนินคดี การดำเนินการ หรือการปฏิบัติตามประกาศหรือคำสั่งที่ได้กระทำไปก่อนการยกเลิกโดยคำสั่งนี้” ซึ่งสอดคล้องกับเหตุผลการออกกฎหมายเพื่อเตรียมเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้ง และให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติม หรือยกเลิกกฎหมาย หรือประกาศคำสั่งที่เป็นอุปสรรคต่อการเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้งของพรรคการเมือง ซึ่งประชาชนควรมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเลือกพรรคการเมืองอย่างอิสระ และพรรคการเมืองควรรณรงค์เพื่อหาเสียงเลือกตั้งได้ จากเหตุผลนี้ ประเทศไทยสมควรให้ประชาชนมีการชุมนุมทางการเมืองได้แล้ว จึงยกเลิกคำสั่งที่เป็นการห้ามชุมนุมทางการเมือง แต่ไม่ได้มีเหตุผลเป็นการยกเลิกความผิดที่ได้มีการห้ามและกระทำไปในช่วงเวลาที่ไม่เหมาะสมตามประกาศหรือคำสั่งเดิมแต่อย่างใด

ดังนั้นการดำเนินคดีแก่จำเลยเป็นการดำเนินคดีตามกฎหมายที่ใช้อยู่ในเวลาที่จำเลยกระทำความผิด ประกาศดังกล่าวจึงไม่กระทบกระเทือนถึงการดำเนินคดีแก่จำเลยในคดีนี้

(อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาฉบับเต็ม)