สรุปประเด็นงานเสวนาทางกฎหมายในหัวข้อ “คืนคำพิพากษาให้ผู้พิพากษา คืนความยุติธรรมให้ประชาชน”

สรุปประเด็นงานเสวนาทางกฎหมายในหัวข้อ “คืนคำพิพากษาให้ผู้พิพากษา คืนความยุติธรรมให้ประชาชน”

วันที่ 11 ตุลาคม 2562 สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) ร่วมกับคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, มูลนิธิผสานวัฒนธรรม (CrCF) และ iLaw จัดงานเสวนาทางกฎหมายในหัวข้อ “คืนคำพิพากษาให้ผู้พิพากษา คืนความยุติธรรมให้ประชาชน” โดยสืบเนื่องมาจากเหตุการณ์เผยแพร่คำแถลงการณ์ของนายคณากร เพียรชนะ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะชั้นต้นในศาลจังหวัดยะลา ที่มีประเด็นหลักพูดถึงความเป็นอิสระในการพิพากษาคดีของผู้พิพากษา การใช้กฎหมายพิเศษในพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้ รวมไปถึงการรับฟังพยานหลักฐานของศาลจากพยานหลักฐานที่ได้มาโดยกฎหมายพิเศษด้วย ซึ่งภายในงานมีวิทยากรมาร่วมแลกเปลี่ยนประเด็น ดังนี้คือ อับดุลเลาะห์ หะยีอาบู และ อับดุลกอฮาร์ อาแวปูเตะ ทนายความจากศูนย์ทนายความุสลิม (MAC), สมลักษณ์ จัดกระบวนพล อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกา, สัญหวรรณ ศรีสด จากคณะกรรมการนิติศาสตร์สากล (ICJ) และอาจารย์รณกรณ์ บุญมี อาจารย์ภาควิชากฎหมายอาญา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

สรุปประเด็นจากการแลกเปลี่ยนภายในงาน ดังต่อไปนี้

 

ในพื้นที่สามจังหวัด แม้ไม่ใช่คดีความมั่นคง ก็ต้องผ่านกระบวนการตามกฎหมายพิเศษ –

อับดุลกอฮาร์ ทนายความผู้ที่ทำคดีเกี่ยวกับความมั่นคงในพื้นที่สามจังหวัดมาเป็นระยะเวลานาน ตั้งแต่ปี 2547 กล่าวว่า “หลังจากเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่สามจังหวัด ก็มีการประกาศใช้กฎอัยการศึกในพื้นที่ ช่วงแรกก็ยังใช้กระบวนการสอบสวนตามปกติ ก็คือใช้พนักงานสอบสวน พอใช้ไปช่วงหนึ่งคดีมีการยกฟ้องเยอะ ประมาณ 80-90% หลังจากนั้นก็มีการแก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ประมาณปี 2550 เกี่ยวกับการรับฟังพยานหลักฐานมาตรา 226 และการรับฟังพยานบอกเล่ามาตรา 226/3 พอมีการแก้ไข ดูเหมือนว่าในคดีความมั่นคง ก็จะเริ่มมีการใช้กระบวนการซักถามตามกฎอัยการศึกกับผู้ต้องสงสัย คือมีการนำไปซักถามในค่ายทหาร และมีรูปแบบการซักถามเหมือนกับการทำคำให้การชั้นสอบสวน

ช่วงแรกการควบคุมตัวตามกฎอัยการศึกให้อำนาจ 7 วัน ถ้าจะควบคุมตัวต่อ พนักงานสอบสวนที่เกี่ยวข้องต้องร้องขอศาลเพื่อขออำนาจตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และศาลจะพิจารณาว่าจะให้อำนาจหรือไม่ ถ้าศาลอนุญาตให้ควบคุมตัวต่อ อำนาจในการควบคุมตัวก็จะเปลี่ยนจากอำนาจการควบคุมตัวซักถามตามกฎอัยการศึก 7 วัน เป็นอำนาจตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

หลังจากที่มีเหตุการณ์เกิดขึ้น จะมีกลุ่มบุคคลเป้าหมายที่อยู่ในรายชื่อของเจ้าหน้าที่ เช่นที่ได้จากการซักถามของบุคคลอื่น ที่ได้จากการซักทอดสืบสวนทางการข่าว การนำตัวมาครั้งแรกจะนำตัวมาในฐานะผู้ต้องสงสัย หลังจากซักเสร็จแล้วและให้การรับสารภาพ เจ้าหน้าที่ก็จะอ้างคำรับสารภาพนั้นไปขอหมายตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งส่วนใหญ่ศาลจะอนุญาต

หมายตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จะแตกต่างจากกฎอัยการศึกตรงที่หมายพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จะขอครั้งหนึ่งได้ไม่เกิน 7 วัน ขอขยายเพิ่มได้ไม่เกิน 30 วัน แต่ว่าต้องขอเป็นคราวๆไป สถานที่ควบคุมก็ยังใช้ที่เดิมก็คือศูนย์ซักถามที่ค่ายอิงคยุทธ ซึ่งทั้งหมดนี้คือระยะเวลาก่อนที่จะใช้กระบวนการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งใช้เวลาทั้งหมดโดยขอแบบเต็มที่คือ 37 วัน ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะขอเต็มจำนวน

ส่วนใหญ่แทบทุกคดีใช้กฎหมายพิเศษ ขนาดคดีปกติที่ยะลายังใช้กฎหมายพิเศษ ซึ่งไม่มีหลักเกณฑ์ว่าอะไรควรใช้หรือไม่ควร โดยปกติ จะเริ่มจากพนักงานสอบสวนในพื้นที่เกิดเหตุพิจารณาจากพยานหลักฐานจึงขยายผลไปว่าคดีเกี่ยวข้องกับอะไรบ้าง แต่อย่างกรณีในสามจังหวัด ตอนเกิดเหตุไม่ทราบว่ามีใครเกี่ยวข้องบ้าง แต่ใช้กฎหมายพิเศษในการนำตัวผู้ต้องสงสัยมาดำเนินคดีก่อน”

 

ความไม่เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของกฎหมายพิเศษ –

อับดุลกอฮาร์ กล่าวว่า “กระบวนการตามกฎหมายพิเศษ ในฐานะทนายความมองว่าไม่ใช่กระบวนการยุติธรรมทางอาญาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เพราะเป็นกระบวนการที่จัดการโดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงคือเจ้าหน้าที่ทหาร แม้กฎหมายพิเศษจะใช้คำว่าสามฝ่ายคือ ฝ่ายปกครอง ฝ่ายทหาร และฝ่ายตำรวจ แต่ว่าชุดที่ควบคุมตัวอยู่ที่ค่ายก็ถือว่าอยู่ในอำนาจของทหาร และกระบวนการซักถามจะเหมือนกันหมดคือซักถามตามกฎอัยการศึกเสร็จ ก็จะขอขยายตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ บรรดาเอกสารที่ซักถามตามกฎอัยการศึกและพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ก็คือชุดเดียวกัน เพียงแต่เปลี่ยนเจ้าหน้าที่คนทำงานเท่านั้นเอง และบางครั้งบางคนซักถามจนไม่มีข้อมูลแล้วอยู่เฉยๆ แต่ก็ยังขยายเวลาต่อ ซึ่งเราไม่รู้ว่ากระบวนการตรงนี้มีหลักเกณฑ์อะไร และเป็นกระบวนการที่เข้าตรวจสอบไม่ได้ ไม่ใช่แต่เพียงกรณีอับดุลเลาะที่เป็นข่าว แต่ย้อนไปแรกเริ่มที่มีการใช้บังคับ มีการร้องเรียนจากชาวบ้านว่ามีเหตุการณ์การซ้อมทรมาน แต่กระบวนการในการจัดการอาจเปลี่ยนไปในปัจจุบันคือเมื่อก่อนอาจจะมีแผล แต่ปัจจุบันอาจจะไม่มี แต่ก็ยังได้รับข้อมูลจากญาติที่ร้องเรียนถึงการซ้อมทรมานอยู่

ผลการซักถามทั้งหมด ผมมองว่ามันคือเอกสารที่ยังไม่ได้เข้าสู่กระบวนการการพิจารณาทางอาญา และบางครั้ง บุคคลหนึ่งที่ถูกจับตัวในฐานะที่เป็นผู้ต้องสงสัย ถูกควบคุมตัวตามกฎอัยการศึก รับสารภาพภายใต้การควบคุมตัวตามกฎอัยการศึก พอไปอยู่ในพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ก็ยังอยู่ในค่ายทหารอยู่ หลังจากนั้นก็มีเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เป็นพนักงานสอบสวนเข้ามาสอบสวนในฐานะพยาน ทั้งๆ ที่เขายังอยู่ในชั้นของกฎหมายพิเศษ พอครบกำหนดตามกฎหมายพิเศษ พนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ผู้ต้องหาก็ให้การปฏิเสธภายหลังจากที่พ้นจากการควบคุมตามกฎหมายพิเศษ ในกระบวนการนี้ ญาติก็สามารถเข้าไปเยี่ยมและนั่งฟังการสอบสวนร่วมกันได้ พนักงานสอบสวนก็เปิดโอกาสให้ให้การอย่างอิสระ ทั้งที่ขัดแย้งกับผลการให้การตอนเป็นพยานขณะที่ถูกควบคุมตัวตามกฎหมายพิเศษ นี่คือสิ่งที่ผมมองว่ามันไม่แฟร์ต่อผู้ต้องสงสัยหรือผู้ต้องหา คือตอนถูกควบคุมตัวอยู่ข้างในไม่มีความอิสระ และเอกสารทั้งหมดถูกจัดทำขึ้นในชั้นกฎหมายพิเศษ”

อาจารย์รณกรณ์ กล่าวว่า “คำรับสารภาพในสามจังหวัดที่ได้จากกฎหมายพิเศษควรรับฟังไหม คำแถลงของท่านคณากรกล่าวว่าทำไมผู้ต้องสงสัยที่มีศักดิ์มากกว่าผู้ต้องหา แต่ทำไมมีสิทธิด้อยกว่าผู้ต้องหา อย่างที่ทนายความบอกว่า ถูกจับกุมคุมขัง แม้จะเรียกชื่อเขาว่าผู้ต้องสงสัย ทำไมถึงไม่มีสิทธิตามกฎหมาย สิทธิตามกฎหมายพื้นฐานเพื่อป้องกันการใช้อำนาจโดยมิชอบของรัฐ สิทธิของผู้ต้องหามีสิทธิเดียวไว้เป็นข้อต่อสู้คือสิทธิที่จะถูกสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ และเขาควรต้องมีคนนอก คนกลางรู้เห็นและรับฟัง คือทนายความ มีสิทธิบอกญาติเพื่อป้องกันการสูญหาย ซึ่งปัจจุบันสิทธิเหล่านี้ผู้ต้องสงสัยไม่มี และเขาควรมีสิทธิที่จะได้พบผู้พิพากษาเร็วที่สุดว่าการจับกุมเขาถูกต้องหรือไม่ แต่เขาไม่มี มาตรฐานของไทยคือ 48 ชั่วโมง แต่ตามกฎหมายพิเศษ 7 วัน คนพวกนี้ถูกคุมขังไปแล้ว 7 วันโดยไม่มีใครอยู่ด้วย”

 

แม้ท่านคณากรจะพิพากษายกฟ้อง แต่จำเลยยังถูกควบคุมตัวอยู่ระหว่างอุทธรณ์

อับดุลเลาะห์ ทนายความในคดีที่ผู้พิพากษาคณากรกล่าวถึงในคำแถลงการณ์ กล่าวว่า “คดีนี้ไม่ใช่คดีความมั่นคง แต่จำเลยทั้งห้าผ่านกระบวนการตามกฎหมายพิเศษมาก่อน คดีนี้แม้ไม่ใช่คดีความมั่นคง แต่ก็ได้รับการดูแลพิเศษในคดี เนื่องจากเป็นคดีอุกฉกรรจ์ โดยมีรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเข้ามาดูแลในการแถลงข่าว การควบคุมตัว ตอนควบคุมตัวก็อยู่ภายใต้กฎหมายพิเศษ และคดีนี้นอกจากจำเลยทั้งห้า ก็ยังมีบุคคลอีกหลายคนที่ถูกควบคุมตัวในเหตุการณ์เดียวกัน ต่อมาน่าจะสามถึงสี่คนที่ถูกควบคุมตัวในคดีนี้แต่ไม่ถูกดำเนินคดี ถูกกันตัวไว้เป็นพยาน โดยบุคคลเหล่านั้นก็อ้างว่าตนเองมีส่วนเกี่ยวข้องตอนถูกควบคุมตัวตามกฎหมายพิเศษเช่นกัน

คดีนี้เมื่อพิจารณาจากบุคคลเหล่านั้น บุคคลเหล่านั้นขอพิจารณาคดีแบบลับหลังเพราะไม่อยากเผชิญหน้ากับจำเลย ซึ่งพยานเหล่านั้นเป็นพยานที่จะมายืนยันในกรณีที่ตนเองรับสารภาพไป และในการนำสืบทำให้เห็นว่าพยานเหล่านั้นยังเป็นพิรุธอยู่ ตอบวกวนไปมา นิ่งเฉยกับคำถาม ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้ก็ได้รับการบันทึกในคำเบิกความของพยานเหล่านั้นด้วย อีกทั้งประเด็นข้อพิรุธของพยานก็ได้นำมาบันทึกในคำพิพากษาและคำแถลงการณ์ด้วย ซึ่งท่านคณากรเป็นผู้ที่บันทึกด้วยตนเอง

คดีนี้แม้ศาลพิพากษายกฟ้องก็ตาม แต่ให้ขังระหว่างอุทธรณ์ ตอนนี้จำเลยก็ยังถูกควบคุมตัวอยู่ที่เรือนจำจังหวัดยะลา หนึ่งสัปดาห์ที่ผ่านมาเราพยายามดำเนินการเกี่ยวกับการประกันตัวอยู่ แต่ญาติมีฐานะยากจน จึงยังไม่สามารถหาหลักทรัพย์มาประกันตัวได้ โดยจำนวนหลักทรัพย์ในการประกันตัวอยู่ที่คนละห้าแสนบาท และกำลังดำเนินการยื่นเรื่องต่อกองทุนยุติธรรมต่อ ซึ่งคดีลักษณะแบบนี้เกี่ยวข้องกับชีวิต มักจะมีการอุทธรณ์ ฎีกา ขึ้นศาลสูงอยู่แล้ว”

 

ระบบการทบทวนคำพิพากษาโดยอธิบดีผู้พิพากษา

อาจารย์สมลักษณ์ ตั้งคำถามว่าเกิดอะไรขึ้นกับกระบวนการของศาลยุติธรรม โดยกล่าวว่า “ผู้พิพากษาจะเป็นไปตามลำดับอาวุโส เราเคารพในระบบอาวุโส และตัวหลักใหญ่ของระบบศาลเป็นไปตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม

ในเรื่องที่เราจะต้องรายงานคำพิพากษาให้ท่านอธิบดีภาคทบทวน มีมาตั้งแต่อาจารย์เป็นผู้พิพากษา เป็นระเบียบ เพราะตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม

มาตรา 11 ประธานศาลฎีกา ประธานศาลอุทธรณ์ ประธานศาลอุทธรณ์ภาค อธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น และผู้พิพากษาหัวหน้าศาล ต้องรับผิดชอบในราชการของศาลให้เป็นไปโดยเรียบร้อย และให้มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้ด้วย

(1) นั่งพิจารณาและพิพากษาคดีใด ๆ ของศาลนั้น หรือเมื่อได้ตรวจสำนวนคดีใดแล้วมีอำนาจทำความเห็นแย้งได้

และตามมาตรา 14 ให้อธิบดีผู้พิพากษาภาคเป็นผู้พิพากษาในศาลที่อยู่ในเขตอำนาจด้วยผู้หนึ่ง โดยให้มีอำนาจและหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 11 วรรคหนึ่ง

คือถึงแม้อธิบดีผู้พิพากษาภาคไม่ได้เป็นองค์คณะในสำนวน แต่ถ้าท่านมีความประสงค์เห็นว่าคดีมีความสำคัญและเป็นที่สนใจ ท่านก็สามารถเข้ามานั่งพิจารณาเป็นองค์คณะได้ หรือแม้จะไม่ได้นั่งพิจารณาคดีเป็นองค์คณะ ก็มีอำนาจตรวจสำนวนได้ ถ้าไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษา ก็สามารถทำความเห็นแย้งได้

อาจารย์ไม่เห็นด้วยในการยกเลิกการส่งคำพิพากษาให้ท่านอธิบดีภาคทบทวน เพราะว่าท่านเป็นผู้พิพากษาชั้นผู้ใหญ่ผ่านประสบการณ์มามาก การอำนวยความยุติธรรมนั้น ไม่ใช่ผู้พิพากษาจะรอบรู้ทุกคน ความรอบคอบย่อมต่างกัน ท่านอธิบดีก็เป็นที่พึ่งในเรื่องนี้ด้วย มีความจำเป็นเหมือนกันที่ในศาลชั้นต้นควรจะมีท่านผู้พิพากษาผู้ใหญ่ แต่ไม่มีใครมีสิทธิก้าวก่ายดุลพินิจในการพิพากษาของผู้พิพากษาได้ ถ้าท่านอธิบดีไม่เห็นด้วย ก็เพียงทำความเห็นแย้งมา”

 

มาตรฐานสากลเกี่ยวกับความเป็นอิสระของตุลาการ การทบทวนคำพิพากษาทำได้โดยศาลที่สูงกว่าเท่านั้น

สัณหวรรณ กล่าวว่า “ในกฎหมายระหว่างประเทศกำหนดไว้ว่าผู้พิพากษาต้องมีอิสระและความเป็นกลาง ซึ่งคำว่าอิสระนั้น คืออิสระทั้งในทางสถาบัน คือไม่อยู่ภายใต้หน่วยงานใด และอิสระจากปัจจัยภายใน คืออิสระจากเพื่อนผู้พิพากษาด้วยกัน และผู้บังคับบัญชาด้วย

หลักการบังกาลอร์ (Bangalore Principles of Judicial Conduct) ของสหประชาชาติที่พูดถึงความเป็นอิสระของผู้พิพากษาข้อ 1.4 จะมีคอมเม้นในวรรค 39 และ 40 รวมถึงปฏิญญาสากลของผู้พิพากษา ข้อ 3 จัดทำขึ้นโดย International Organization of Judges เป็นองค์กรที่มีชื่อเสียงในเรื่องของการทำงานของผู้พิพากษา พูดถึงหลักการทบทวนคำพิพากษาของผู้พิพากษาไว้ชัดเจนว่า การทบทวนคำพิพากษาของผู้พิพากษาต้องถูกทบทวนโดยศาลที่สูงกว่าเท่านั้น คือศาลอุทธรณ์และศาลฎีกา และต้องเป็นอิสระจากเพื่อนผู้พิพากษาและผู้บังคับบัญชา เพื่อประกันความเป็นอิสระของผู้พิพากษา คือจะต้องไม่มีทัศนคติของผู้พิพากษาท่านอื่นๆ ที่ส่งผลต่อรูปแบบการพิจารณาหรือแนวคิดหรือแนวทางได้

จากหลักการทั้งสองตัวบอกว่า การขอคำปรึกษาเป็นไปได้ ถ้ามาจากตัวผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนเองที่อยากขอคำปรึกษา แต่ไม่ใช่ว่ามีมาตรฐานว่าจะต้องมีการทบทวนตลอดเวลา แนวคิดที่อยากให้มีการทบทวนคืออยากให้มีมาตรฐานไปในทางเดียวกัน อีกทางหนึ่งคือก็กลัวว่าจะมากระทบความเป็นอิสระของผู้พิพากษา แต่ตามหลักการระหว่างประเทศน่าจะตีความได้ว่าไม่ควรมีการให้ทบทวน แต่อาจจะสามารถอุดช่องว่างในเรื่องแนวทางหรือมาตรฐานได้ แน่นอนว่าคือการอุทธรณ์ ฎีกาตามหลักปกติ”

 

การไม่เป็นอิสระของผู้พิพากษาภายในศาลเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

อาจารย์รณกรณ์ กล่าวว่า “ไม่ได้บอกว่าการที่กฎหมายไทยอนุญาตให้มีการทบทวนคำพิพากษาได้นั้นเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน เพราะการทบทวนคำพิพากษาที่เป็นการละเมิดนั้นคือต้องมีลักษณะสั่งการ และเป็นการสั่งการจากผู้ที่มีอำนาจให้คุณให้โทษได้ ซึ่งตามระบบท่านอธิบดีไม่มีอำนาจให้คุณให้โทษ เนื่องจากเป็นอำนาจของก.ต.ที่จะสั่งย้าย สั่งสอบวินัย

ตัวกฎหมายเราไม่ได้ขัดสิทธิมนุษยชนในตัวมันเอง เว้นแต่มีการเปิดช่องหรือใช้อำนาจเป็นรายกรณีไป แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าผมเห็นด้วยกับระบบปัจจุบัน การที่ให้มีการทบทวนคำพิพากษา ทำให้เห็นจุดอ่อนของระบบศาลอยู่สองประเด็นคือ ไม่มีความเชื่อใจผู้พิพากษาที่มีอาวุโสน้อยกว่า แปลว่าระบบยุติธรรมไทยมีปัญหา ประชาชนไทยถูกเสี่ยงให้ถูกพิพากษาโดยคนไร้ความสามารถ ไร้ซึ่งคุณสมบัติ มีวิจารณญาณที่เหมาะสมในการพิพากษา ถ้าจะละเมิดสิทธิมนุษยชนของประชาชนก็คงละเมิดข้อนี้ เราไม่มีผู้พิพากษาที่ดีพอหรือไม่ จึงต้องมีระบบทบทวนคำพิพากษาอยู่

ความเป็นอิสระของศาลไม่ใช่เพียงอัตวิสัยว่าตัวเองไม่มีข้อรังเกียจ ไม่มีปัญหากับคู่ความ หรือทำตัวเป็นที่น่าเคารพเท่านั้น แต่ต้องเป็นอิสระในเชิงภาวะวิสัยด้วย แปลว่าใครก็ตามมามองระบบนี้ต้องสิ้นสงสัยทันทีว่าจะไม่มีการแทรกแซง ระบบที่มีการขัดสิทธิมนุษยชน ระบบที่มีการให้ทบทวนภายใน เราถามตัวเองได้ว่าเราสิ้นสงสัยหรือไม่ว่าคำพิพากษานั้นจะถูกต้องเที่ยงธรรม ทำไมผู้ที่ไม่ได้เห็นอากัปกริยาของพยาน จำเลย ไม่ได้นั่งสืบพยานเอง จึงจะสามารถพิจารณาคดีได้ดีกว่าผู้ที่นั่งพิจารณาคดีเสียเอง ระบบทบทวนของประเทศไทยไม่ได้เปิดโอกาสให้ทบทวนเพียงตัวบทกฎหมายเหมือนในต่างประเทศ แต่ระบบเราอนุญาตให้คนที่เห็นเพียงตัวอักษร แต่ไม่ได้นั่งพิจารณาคดีเอง ทบทวนได้อย่างไร ระบบในต่างประเทศบันทึกเสียง บางที่บันทึกภาพ ธรรมศาสตร์เคยทำข้อเสนอไปแล้วว่าศาลควรแก้ระบบนี้

ความเห็นของผมคือ ถึงแม้ยังไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน แต่ยกเลิกระบบทบทวนเถอะ แต่ถ้ายังยกเลิกไม่ได้ ไม่ให้มีการทบทวนข้อเท็จจริง และถ้าไม่เห็นด้วย ให้ทำเป็นความเห็นแย้ง”

 

คณะกรรมการตรวจสอบวินัยผู้พิพากษาควรโปร่งใส่ต่อสาธารณะ

สัณหวรรณ กล่าวว่า เพิ่งมีหลักสากลตัวใหม่ออกมาตอนเดือนกรกฎาคม 2562 คือ Istanbul Declaration เรื่องกระบวนการการดำเนินงานของตุลาการ อันนี้พูดถึงการตั้งคณะกรรมการในการสอบสวนวินัยผู้พิพากษา ตอนนี้เรามีคณะอนุกรรมการก.ต. ซึ่งพูดไม่เต็มปากว่าเป็นการตรวจสอบวินัย แต่เป็นการค้นหาข้อเท็จจริงเสียมากกว่า

จากหลักการใน Istanbul Declaration ในวรรค 15 พูดถึงคณะกรรมการสอบสวนวินัยไว้ละเอียดว่า คำว่าเป็นกลาง ในการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อสอบสวนทางวินัยควรเป็นการผสมกันระหว่างผู้พิพากษาที่ทำงานอยู่ และผู้พิพากษาที่เกษียณไปแล้ว รวมถึงมีคนนอกด้วย และต้องมีความโปร่งใสต่อสาธารณะด้วย คือให้มีการมอนิเตอร์ได้ จากเรื่องที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ที่มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบ ถ้าเสนอได้ก็อยากให้ปรับใช้หลักการตัวใหม่ด้วยในการดูองค์ประกอบของคณะกรรมการ”

 

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง

5 เรื่องชวนรู้จากคำแถลงการณ์ของผู้พิพากษาศาลจังหวัดยะลา