เส้นทางที่พร่าเลือน คดีไปทางไหนต่อ ผ่านไป 2 ปี หลังจากชัยภูมิ ป่าแสถูกวิสามัญฆาตกรรม

เส้นทางที่พร่าเลือน คดีไปทางไหนต่อ ผ่านไป 2 ปี หลังจากชัยภูมิ ป่าแสถูกวิสามัญฆาตกรรม

เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2562 เป็นวันครบรอบ 2 ปีวันที่นายชัยภูมิ ป่าแส นักกิจกรรมชาวลาหู่ ถูกเจ้าหน้าที่ทหารวิสามัญฆาตกรรม ณ บริเวณด่านตรวจบ้านรินหลวง อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ เนื่องจากเจ้าหน้าที่ทหารอ้างว่าชัยภูมิมียาเสพติดไว้ในครอบครองกว่าสองพันเม็ด และมีพฤติการณ์จะขว้างระเบิดใส่เจ้าหน้าที่ จึงเป็นเหตุต้องวิสามัญฆาตกรรมนายชัยภูมิในขณะนั้น จนวันนี้ ผ่านไป 2 ปีที่ไม่ทราบข่าวคราวของคดีดังกล่าวนี้ เกิดคำถามว่าคดีนี้จะไปทางไหนต่อ

หลังจากเกิดเหตุวิสามัญฆาตกรรมนายชัยภูมิ ป่าแส ซึ่งเป็นการตายอันเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ทหารซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ จึงต้องมีการชันสูตรพลิกศพและไต่สวนการชันสูตรพลิกศพ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 148 และ150 โดยพนักงานอัยการจังหวัดเชียงใหม่ก็ได้ยื่นคำร้องขอไต่สวนการชันสูตรพลิกศพ (ไต่สวนการตาย) เพื่อให้ศาลทำการไต่สวนและทำคำสั่งแสดงว่าผู้ตายคือใคร ตายที่ไหน เมื่อใด และถึงเหตุและพฤติการณ์ที่ตาย และญาติของนายชัยภูมิเข้าร่วมเป็นผู้ร้องซักถาม และตลอดเวลาทั้งในช่วงเวลาก่อนและหลังศาลมีคำสั่งเรื่องการชันสูตรพลิกศพ ทางญาติ ทนายความ และองค์กรที่ให้ความสนใจกรณีนี้ ได้มีความพยายามจะขอเรียกดูภาพจากกล้องวงจรปิดบริเวณด่านตรวจที่สามารถบันทึกภาพในวันเกิดเหตุเอาไว้ ซึ่งถือว่าเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญที่จะบอกแก่ประชาชนได้ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างในเวลาที่เกิดเหตุ โดยในท้ายที่สุดสำนักงานเลขาธิการกองทัพบกได้ส่งหนังสือตอบกลับมาถึงสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนว่า “ไม่พบข้อมูลภาพใดๆจากกล้องวงจรปิดในวันที่เกิดเหตุ”

(อ่านเพิ่มเติม : หนังสือตอบกลับจากสำนักเลขาธิการกองทัพบก https://www.facebook.com/naksit.org/photos/a.135675933167580/1828836647184825/?type=3&theater และ ข้อมูลภาพจากกล้องวงจรปิดวิสามัญชัยภูมิ ป่าแสหายไป ใครต้องรับผิดชอบ? : https://naksit.net/2018/08/article/  )

                ต่อมาในวันที่ 6 มิถุนายน 2561 ศาลจังหวัดเชียงใหม่มีคำสั่งเรื่องการชันสูตรพลิกศพนายชัยภูมิ ป่าแส ความว่า “เหตุและพฤติการณ์ที่ตายคือ ถูกพลทหารสุรศักดิ์ รัตนวรรณ ใช้อาวุธปืน เอ็ม 16 ยิง กระสุนเข้าที่ต้นแขนซ้ายด้านนอกทะลุต้นแขนซ้ายด้านใน และกระสุนแตกเข้าไปในลำตัวบริเวณสีข้างด้านซ้ายเหนือราวนม กระสุนปืนทำลายเส้นเลือดใหญ่หัวใจและปอดจนเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตาย” โดยคำสั่งดังกล่าวนี้ศาลยังไม่ได้วินิจฉัยถึงประเด็นความจำเป็นในการกระทำวิสามัญฆาตกรรมของเจ้าหน้าที่ทหาร ซึ่งเป็นที่น่าสนใจว่าภายหลังจากศาลมีคำสั่งเรื่องการชันสูตรพลิกศพแล้ว คดีวิสามัญฆาตกรรมหรือคดีที่เจ้าหน้าที่ตกเป็นผู้ต้องหาจะไปทางไหนต่อ

เมื่อเกิดการวิสามัญฆาตกรรมขึ้น คดีจะแบ่งออกเป็น 3 สำนวนที่พนักงานสอบสวนต้องดำเนินการ คือ คดีชันสูตรพลิกศพ คดีที่ผู้ตายตกเป็นผู้ต้องหา และคดีที่เจ้าหน้าที่ตกเป็นผู้ต้องหา ดังนี้

  1. คดีชันสูตรพลิกศพ คือ พนักงานสอบสวนจะร่วมกับพนักงานอัยการทำสำนวนการชันสูตรพลิกศพขึ้นมา โดยสำนวนดังกล่าวจะแสดงเหตุและพฤติการณ์ที่ตาย ผู้ตายเป็นใคร ตายเมื่อใด และถ้าตายโดยถูกคนทำร้าย ให้กล่าวว่าใครเป็นผู้ทำร้ายหรือสงสัยว่าใครเป็นผู้ทำร้าย เมื่อเสร็จแล้วก็จะส่งให้พนักงานอัยการทำคำร้องขอต่อศาลให้ไต่สวนการชันสูตรพลิกศพและมีคำสั่ง ซึ่งคำสั่งเรื่องการชันสูตรพลิกศพของศาลนี้จะถือเป็นหลักฐานส่วนหนึ่งที่แสดงถึงความตายของผู้ตาย โดยต่อมาศาลจะส่งคำสั่งให้พนักงานอัยการ เพื่อพนักงานอัยการจะส่งให้พนักงานสอบสวนนำไปรวมกับสำนวนคดีที่เจ้าหน้าที่ตกเป็นผู้ต้องหาหรือคดีวิสามัญฆาตกรรมเพื่อพิสูจน์ความผิดของเจ้าหน้าที่ในอีกคดีหนึ่ง
  2. คดีที่ผู้ตายตกเป็นผู้ต้องหา พนักงานสอบสวนจะดำเนินการสอบสวนคดีที่ผู้ถูกวิสามัญตกเป็นผู้ต้องหาไปตามระบบ เมื่อทำสำนวนคดีนี้เสร็จสิ้นแล้ว พนักงานสอบวนก็จะมีความเห็นควรสั่งไม่ฟ้อง เนื่องจากผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดในคดีได้ถึงแก่ความตายแล้ว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องผู้กระทำผิดจึงระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (1)
  3. คดีที่เจ้าหน้าที่ตกเป็นผู้ต้องหา พนักงานสอบสวนก็จะดำเนินการสอบสวนไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาปกติ ซึ่งในกฎหมายกำหนดชัดว่า “ให้พนักงานสอบสวนรวบรวมหลักฐานทุกชนิด เท่าที่สามารถจะทำได้ เพื่อประสงค์จะทราบข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ต่าง ๆ อันเกี่ยวกับความผิดที่ถูกกล่าวหา เพื่อจะรู้ตัวผู้กระทำผิดและพิสูจน์ให้เห็นความผิดหรือความบริสุทธิ์ของผู้ต้องหา” และในคดีวิสามัญฆาตกรรมนั้น กฎหมายและระเบียบปฏิบัติกำหนดให้เจ้าหน้าที่เข้ามามีส่วนร่วมในการสอบสวนถึง 3 ฝ่าย ได้แก่ พนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ และผู้ว่าราชการจังหวัด

เมื่อทำการสอบสวนคดีนี้เสร็จ สำนวนคดีนี้จะเรียกว่าสำนวนการสอบสวนคดีวิสามัญฆาตกรรม ซึ่งพนักงานสอบสวนจะนำมารวมกับสำนวนการชันสูตรพลิกศพที่ศาลมีคำสั่ง เพื่อมีความเห็นสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้อง และส่งให้พนักงานอัยการอีกทีหนึ่ง โดยในคดีวิสามัญฆาตกรรมนั้น อัยการสูงสุดหรือผู้รักษาราชการแทนเท่านั้นมีอำนาจออกคำสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้อง ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 143 วรรคท้าย ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

ซึ่งกระบวนการภายหลังจากที่ศาลมีคำสั่งการชันสูตรพลิกศพ ไปจนถึงการดำเนินคดีอาญาในคดีที่เจ้าหน้าที่ตกเป็นผู้ต้องหาจะใช้เวลาเท่าไหร่ ก็ไม่มีผู้ใดทราบได้ เนื่องจากกฎหมายไม่ได้กำหนดกรอบระยะเวลาไว้ชัดเจน โดยในกรณีการวิสามัญฆาตกรรมนายชัยภูมิ ปัจจุบันศาลส่งเรื่องให้อัยการพิจารณาสั่งฟ้องเป็นคดีวิสามัญฆาตกรรมหรือคดีที่เจ้าหน้าที่ตกเป็นผู้ต้องหาซึ่งจะเป็นไปตามกระบวนการที่กล่าวไปแล้วข้างต้น และยังไม่มีระยะเวลากำหนดไว้อย่างแน่ชัดอีกด้วยว่า เมื่อไหร่ที่จะมีการฟ้องในคดีดังกล่าวเสียที และเมื่อไหร่ที่ความผิดหรือความบริสุทธิ์ของเจ้าหน้าที่จะกระจ่างขึ้นเสียที