“แค่ไหนถึงฉีดน้ำ?” ความเห็นจากผู้ชุมนุม นักวิชาการ องค์กรระหว่างประเทศและตำรวจ

“แค่ไหนถึงฉีดน้ำ?” ความเห็นจากผู้ชุมนุม นักวิชาการ องค์กรระหว่างประเทศและตำรวจ

เมื่อวันที่ 5 พ.ย. ที่ผ่านมา สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) ได้จัดเสวนาวิชาการเรื่อง “แค่ไหนถึงฉีดน้ำ “หลักสากล” เรื่องการควบคุมดูแลและสลายการชุมนุม” ณ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เนื่องจากเมื่อวันที่ 16 ต.ค. 63 เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้อำนาจตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในท้องที่กรุงเทพมหานคร ทำการสลายการชุมนุมของกลุ่มคณะราษฎร ซึ่งประกอบด้วยนักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชนที่มาร่วมชุมนุมสลายการชุมนุมบริเวณแยกปทุมวัน
รวมถึงเมื่อช่วงค่ำของวันที่ 8 พ.ย. 63 เจ้าหน้าที่ได้ทำการฉีดน้ำความแรงสูงเพื่อสลายการชุมนุมของประชาชน หรือที่เรียกว่า #ม๊อบ8พฤศจิกา #ราษฎรสาส์น ที่บริเวณสนามหลวงอีกครั้ง ซึ่งการชุมนุมทั้ง 2 ครั้งนี้ ถือเป็นการชุมนุมที่จัดขึ้นโดยสงบและปราศจากอาวุธและยังไม่ปรากฏว่าผู้ชุมนุมมีการใช้ความรุนแรง
ในการนี้ สนส. ขอนำเสนอความเห็นเกี่ยวกับหน้าที่ในการควบคุมดูแลและสลายการชุมนุมของรัฐ จากมุมของนักศึกษาซึ่งเข้าร่วมการชุมนุมและอยู่ในเหตุการณ์สลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 16 ต.ค. 2563, อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์, ตัวแทนจากคณะกรรมการนิติศาสตร์สากล (ICJ), ตัวแทนตัวแทนจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และตัวแทนสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติที่มาร่วมเสวนาในงานดังกล่าว เพื่อให้คนในสังคมได้นำมาพูดคุยแลกเปลี่ยนและวิเคราะห์ถึงขอบเขตในการชุมนุมสาธารณะของประชาชน และบทบาทหน้าที่ของรัฐในการดูแลชุมนุมให้เป็นไปโดยสงบต่อไป
มุมมองและประสบการณ์จากผู้เข้าร่วมชุมนุม 16 ตุลาคม #ชุมนุมแยกปทุมวัน
หนึ่งฤทัย กิจการศุภฤกษ์ ผู้เข้าร่วมการชุมนุม เล่าย้อนถึงเหตุการณ์วันที่ 16 ต.ค. 63 ว่าตนกับเพื่อนอยู่ในพื้นที่ชุมนุมติดกับแกนนำและในพื้นที่ชุมนุมขณะนั้นสัญญาณอินเทอร์เน็ตไม่ดีเลยทำให้ไม่ได้เห็นสิ่งที่เกิดรอบนอก รู้ตัวอีกทีตอนที่เจ้าหน้าที่เริ่มฉีดน้ำครั้งแรกและมีคนที่อยู่แนวหน้าที่ได้รับผลกระทบเริ่มถอยร่นกลับมา
ในการฉีดครั้งแรกยังไม่รุนแรงเท่าครั้งที่สอง เพราะว่าครั้งที่สองมีการใช้น้ำที่ผสมสีฟ้า ฉีดให้โดนผู้เข้าร่วมชุมนุม เพื่อจะได้รู้ว่าใครมาเข้าร่วมชุมนุมจะได้จับได้ เนื่องจากฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ตอนนั้นทุกคนเริ่มตกใจกลัว เพราะว่ามันไม่เคยมีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นเลย คนที่อยู่ในที่ชุมนุมส่วนใหญ่เป็นเยาวชน เป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ต้องการจะเห็นประเทศเปลี่ยนแปลง แม้ว่าเราจะไม่ได้รับผลกระทบจากทางด้านร่างกาย แต่ว่าทางด้านจิตใจเรามันกระทบต่อจิตใจเรามาก เราไม่คิดว่ารัฐจะกล้าทำอะไรเช่นนี้กับเรา เรายืนยันว่าการชุมนุมของเป็นการชุมนุมโดยสงบ ไม่มีอาวุธใดๆ เลย
หนึ่งฤทัย กล่าวต่อว่า “ภาพที่ตำรวจไล่จับผู้ชุมนุม ทั้งๆ ที่เขาไม่มีท่าทีที่จะสู้อะไรเลยมันก็ยังคงเป็นฝันร้ายของเราอยู่ ประชาชนที่ออกมาชุมนุม คือ ผู้บริสุทธิ์ เราแค่ออกมาใช้สิทธิของเรา การที่เพื่อนเราถูกทำร้ายโดยเจ้าหน้าที่รัฐมันไม่ถูกต้อง เจ้าหน้าที่รัฐมีหน้าที่ต้องคุ้มครองประชาชน” อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะได้รับผลกระทบทางจิตใจ หนึ่งฤทัยก็ยังยืนยันว่าจะไปชุมนุมอยู่ เพราะคิดว่าถ้ารัฐยิ่งเด็ดดอกไม้ ดอกไม้ก็จะยิ่งบาน
มุมมองเจ้าหน้าที่รัฐ [แค่ไหนคือสถานการณ์ร้ายแรง แค่ไหนต้องสลายการชุมนุม]
พ.ต.อ.ดร.ฤทธิชัย ช่างคำ ผู้กำกับกลุ่มงานกฎหมาย กองบัญชาการตำรวจนครบาล ได้อธิบายถึงการปฏิบัติหน้าที่เมื่อมีการชุมนุมสาธารณะ ว่าโดยทั่วไปเจ้าหน้าที่จะมีบทบาท 2 บทบาท ได้แก่ (1) รักษาความสงบเรียบร้อย และ (2) บังคับใช้กฎหมาย กรณีเมื่อมีการฝ่าฝืนในพื้นที่ชุมนุมก่อนปี 2558 ซึ่งยังไม่มี พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ เจ้าหน้าที่ก็มีการใช้กฎหมายอื่นๆ เป็นระเบียบปฏิบัติ แต่ภายหลังจากที่มี พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะเจ้าหน้าที่ก็ยึดกฎหมายฉบับนี้ และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น พ.ร.บ.จราจร ประมวลกฎหมายอาญา เป็นต้น กรณีปกติหากมีการชุมนุมไม่ชอบ หรือไม่แจ้งการชุมนุม สำหรับเจ้าหน้าที่จะมีกรอบปฏิบัติ หนึ่งคือ ตำรวจมีหน้าที่ประกาศให้เลิกภายในกำหนดระยะเวลา หากไม่เลิก ทางผู้ดูแลการชุมนุม ตำรวจก็จะรวบรวมพยานหลักฐาน เพื่อออกประกาศหรือคำสั่งเพื่ออ่านผ่านเครื่องขยายเสียงว่า “สถานที่แห่งนี้มีการชุมนุมโดยไม่แจ้งต่อเจ้าหน้าที่” หากไม่เลิกอีกจะต้องส่งคำร้องไปยังศาลแพ่ง หากศาลเห็นด้วยกับตำรวจ ก็จะออกหมายบังคับเพื่อติดให้พื้นที่ดังกล่าว เพื่อบอกว่าเป็นพื้นที่ควบคุม ให้ยกเลิกการชุมนุมในพื้นที่และเวลาที่กำหนด หลังครบกำหนดระยะเวลาแล้ว หากยังชุมนุมอีก ก็จะเป็นการชุมนุมฝ่าฝืนกฎหมาย เจ้าหน้าที่ตำรวจก็จะประกาศให้เป็นพื้นที่ควบคุมห้ามเข้าออก และจะเริ่มการสลายการชุมนุม อันนี้เป็นขั้นตอนปกติ
ส่วนกรณี #การสลายการชุมนุม การใช้กำลังเข้าควบคุมการชุมนุม ปัจจุบันตำรวจใช้ พ.ร.ก. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ตามที่มีประกาศใช้เมื่อเช้าของวันที่ 15 ตุลาคม 2563 ซึ่งแตกต่างจาก พ.ร.บ. ชุมนุมสาธารณะ ตรงที่การชุมนุมที่จัดขึ้น อาจมีการปะทะเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือมีกลุ่มบุคคลที่สามเข้ามาผสมโรง มีการขว้างปาสิ่งของ มีการกีดขวางจราจร อันนี้คือเริ่มร้ายแรง กฎหมาเขียนว่า การชุมนุมร้ายแรงในลักษณะนี้ #ไม่ต้องยื่นคำร้องต่อศาล เจ้าหน้าที่สามารถประกาศให้เลิกการชุมนุม และประกาศเป็นพื้นที่ควบคุม และกำหนดระยะเวลาให้ออกจากพื้นที่ควบคุมภายในกำหนดได้ ซึ่งถ้าผู้ชุมนุมไม่ออกจากพื้นที่ เจ้าหน้าที่สามารถดำเนินการสลายการชุมนุมได้
สำหรับเหตุการณ์วันที่ 16 ตุลาคม 2563 เมื่อมีการประกาศใช้สถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงแล้ว ผู้ชุมนุมแม้จะมีการแจ้งหรือไม่แจ้งชุมนุม ก็ถือว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย ต่อให้มีหรือไม่มีความรุนแรง เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ต้องปฏิบัติการตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ซึ่ีผระกอบด้วย 4 ขั้นตอน ได้แก่ (1) ประกาศเตือนให้ออกจากพื้นที่ในเวลาที่กำหนด (2) ประกาศเส้นทางเข้าออก หัวหน้าผู้ดูแล หรือ ผบ.ตร. จะออกประกาศเป็นกฎหมายลูกตามมา เช่น ประกาศปิดพื้นที่ ประกาศถนน หรือประกาศห้ามใช้รถไฟ รถไฟฟ้า (3) ประกาศพื้นที่ควบคุม ห้ามเข้าออก และประกาศเตือนขั้นสุดท้าย และขั้นตอนที่ (4) การสลายการชุมนุม
พ.ต.อ.ดร.ฤทธิชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า “การประกาศใช้สถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง เราต้องแยกก่อนว่า ผู้ประกาศ กับผู้ปฏิบัติหน้าที่นั้นแยกส่วนกัน ถามว่าผู้ประกาศใช้ดุลยพินิจอะไร? เหตุผลที่เขาประกาศใช้วันนั้นคือ มันเริ่มตั้งแต่วันที่ 14 ตุลาคม 2563 แล้ว ที่มีขบวนเสด็จอาจจะทำให้ผู้มีอำนาจมองว่ามันร้ายแรงหรือเปล่า? อันนี้เป็นดุลยพินิจของเขา
สำหรับการกำหนดระยะเวลาให้ผู้ชุมนุมออกจากพื้นที่ ภายใน 5 นาที ขึ้นอยู่ว่า ผู้ปฏิบัติหน้าที่ในเวลานั้นว่า ประเมินสถานการณ์อย่างไร ซึ่งเป็นดุลยพินิจของผู้ปฏิบัติหน้าที่ว่าจะประกาศอย่างไร ตรงนี้ที่ต้องวิเคราะห์ ส่วนตัวฤทธิชัย เห็นว่า ควรจะปรับเป็นครึ่งชั่วโมงหรือหนึ่งชั่วโมง ถ้าผู้ปฏิบัติหน้าที่มีหลักคิดตรงนี้มันก็จะไม่เกิดปัญหา
มุมมองนักวิชาการกฎหมาย [หน้าที่ของรัฐคือต้องปกป้องคุ้มครองการชุมนุมโดยสงบ]
ดร.พัชร์ นิยมศิลป์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายว่า หน้าที่ของรัฐที่มีต่อประชาชนและประชาชนมีต่อรัฐ เกี่ยวกับการชุมนุมโดยสงบและการควบคุมดูแลการชุมนุมที่มีอยู่ในหลักสากล แต่ไม่ปรากฏในกฎหมายไทยว่าการชุมนุมโดยสงบต้องอาศัยปัจจัยอะไรบ้างเพื่อวางความสัมพันธ์ของผู้ดูแลการชุมนุมสาธารณะ และผู้ที่จะมาชุมนุม
เนื่องจากรัฐไทยยึดหลักการทุนนิยม เพราะฉะนั้นเมื่อรัฐไทยเข้าร่วมลงนามเป็นภาคีในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) จะนำมาสู่พันธะหน้าที่ของรัฐ 2 กรณีคือ พันธะเชิงลบ กับ พันธะเชิงบวก พันธะเชิงลบคือ “งดเว้น ไม่เข้าไปแทรกแซงเสรีภาพในการชุมนุม เว้นแต่มีเหตุจำเป็น” และพันธะเชิงบวกคือ “รัฐหรือเจ้าหน้าที่ตำรวจต้องอำนวยความสะดวก และป้องกันผู้มาใช้สิทธิเสรีภาพของตน” กล่าวคือตำรวจมีหน้าที่เข้ามาดูแลปกป้องผู้มาใช้เสรีภาพในการชุมนุมจากผู้ที่ไม่เห็นด้วย และต้องอำนวยความสะดวกให้ เช่น การจัดพื้นที่ให้ เพราะชุมนุมสาธารณะจะเกิดขึ้นได้ต้องเป็นการชุมนุมในพื้นที่สาธารณะ หรือพื้นที่เอกชนแต่มีทางเข้าออกที่เป็นสาธารณะ รวมถึงถนนก็เป็นพื้นที่สาธารณะ รัฐต้องเข้ามาจัดสรรพื้นที่ตรงนี้ให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิเสรีภาพได้ หากจะบอกว่าถนนเป็นพื้นที่สำหรับรถวิ่งอย่างเดียวก็อาจไม่ถูกต้อง เพราะเสรีภาพในการชุมนุมเกิดขึ้นก่อนที่เราจะผลิตรถกันได้เสียอีก
ปัจจุบันการชุมนุมสาธารณะมีหลายประเภท เช่น การเดินขบวน การวอล์คแรลลี่ การประท้วง และแฟลชม็อบ หรือ การนัดหมายผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ให้มารวมตัวกันสั้นๆ เพื่อแสดงออกอะไรบางอย่างสู่สังคม และสลายไปโดยเร็ว ซึ่งรูปแบบเหล่านี้ก็ถูกนำมาใช้เพื่อรับรองว่าเป็นการชุมนุมสาธารณะ ในความเห็นทั่วไป ฉบับที่ 37 เกี่ยวกับคำอธิบาย ICCPR มาตรา 21 สิทธิในการชุมนุมโดยสงบ นอกจากนี้ยังหมายรวมถึงการชุมนุมในโลกออนไลน์ด้วย กล่าวคือ แม้การชุมนุมโดยปกติจะเป็นการรวมตัวกันทางกายภาพ แต่ขณะเดียวกันก็มีการรวมตัวกันในโลกออนไลน์ด้วย เพราะผู้มาชุมนุมต่างก็ใช้สื่อออนไลน์ในการขยายข้อความในสถานที่ชุมนุม ใช้สื่อออนไลน์ในการนัดเจอ ดังนั้นการใช้สื่อออนไลน์เพื่อมาควบคุมการชุมนุมจึงรวมอยู่ด้วย เพราะเครื่องมือสื่อสารเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งการใช้สิทธิเสรีภาพในการชุมนุม
แต่รูปแบบการชุมนุมที่เกิดขึ้นใหม่ๆ เช่น การชุมนุมแบบฉับพลัน หรือการชุมนุมที่เกิดขึ้นหลายๆ แห่ง ยังไม่พบว่า่ปรากฏใน พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 ดังจะเห็นได้จาก พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ที่ยังระบุว่าต้องแจ้งเจ้าหน้าที่รัฐก่อน 24 ชม. หากไม่ได้ ให้ของดเว้น แล้วแจ้งตำรวจล่วงหน้าก่อนเริ่มชุมนุม การชุมนุมพร้อมๆ กัน คือมีสถานที่หนึ่ง แล้วเกิดการชุมนุมที่ไม่เกี่ยวข้องกันเกิดขึ้นพร้อมกัน เช่น การชุมนุมที่แต่ละกลุ่มไม่มีปฏิสัมพันธ์กัน แต่ใช้พื้นที่ร่วมกันในการสื่อสารไปสู่สาธารณะ กรณีนี้เป็นหน้าที่ของตำรวจในการจัดสรรการใช้พื้นที่ชุมนุมให้คนหลากหลายกลุ่ม ตำรวจต้องพิจารณาเพื่อจัดสรรพื้นที่ ตามที่ใครมาแจ้งก่อน แล้วจัดสรรตามดุลพินิจ หรือประเด็นที่ต้องการจะสื่อ หรือมีมาตรฐานเดียวกันไม่ว่ากลุ่มใด แต่กฎหมายไทยยังไม่ได้วางเงื่อนไขตรงนี้ และการชุมนุมโต้ตอบ คือเมื่อมีการชุมนุมเกิดขึ้น แล้วมีผู้ไม่เห็นด้วยมาขอชุมนุม โดยส่งข้อความมาบอกว่า เราไม่เห็นด้วยกันคุณนะ แต่เราขอมาชุมนุมด้วย อย่างนี้เป็นต้น
หัวใจสำคัญของการชุมนุมสาธารณะ คือต้องเป็นการชุมนุมที่สงบ ถ้าไม่สงบรัฐไม่คุ้มครอง เมื่อมีความไม่สงบในบางส่วน รัฐต้องเข้าไปจัดการคนที่ไม่สงบ ส่วนคนที่ยังสงบ รัฐต้องเข้าไปให้ความคุ้มครอง รัฐจึงต้องมีพันธะเชิงบวกและเชิงลบต่อประชาชน เพราะเสรีภาพในการชุมนุมเป็นสิทธิที่ติดตัวบุคคล ไม่ได้เหมารวมเป็นกลุ่มก้อนเดียวกัน ดังนั้นหากผู้ชุมนุมบางส่วนมีการใช้ความรุนแรง แล้วเจ้าหน้าที่รัฐเหมารวมว่าเป็นการชุมนุมที่ไม่สงบ เพื่อกล่าวอ้างในการเข้าสลายการชุมนุมไม่ได้
มุมมองขององค์กรระหว่างประเทศ [พ.ร.บ.ชุมนุมฯ และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ต้องแก้ไขโดยด่วน ให้เป็นไปตามหลักสากลปัจจุบัน]
สันหวรรณ ศรีสด คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (ICJ) กล่าวถึงหลักการระหว่างประเทศเกี่ยวกับเสรีภาพในการชุมนุมว่า ปัจจุบันมีหลักสากลอย่างเป็นทางการในความเห็นทั่วไป ฉบับที่ 37 เกี่ยวกับการตีความ มาตรา 21 ใน ICCPR ว่าด้วยเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบต้องได้รับการคุ้มครอง ซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 ก็คัดลอกข้อความมาจากกฎหมายสากลนี้ แต่ในทางปฏิบัติกลับตีความแตกต่างกัน ดังนั้นเมื่อคณะกรรมการกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง มีมติในการตีความเช่นไร ก็ควรนำมาปรับแก้ในกฎหมายอย่าง พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ และ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยด่วน เพื่อให้เป็นไปตามหลักกฎหมายสากล
โดยหลักสากลข้างต้น พูดถึงใจความสำคัญอย่างน้อย 2 อย่างคือ (1) ผู้ชุมนุมสามารถพูดหรือผลักดันประเด็นอะไรก็ได้ แต่ต้องไม่ก่อให้เกิดความรุนแรงหรือสร้างความเกลียดชัง และ (2) การชุมนุมสามารถจัดที่ไหนก็ได้ ที่เป็นพื้นที่ในระยะที่มองเห็น หรือได้ยิน เพื่อสื่อสารออกไปสู่สังคม โดยในหลักการระบุว่า สังคมจะต้องคาดหมายได้ว่าจะได้รับความไม่สะดวกจากการชุมนุม และเจ้าหน้าที่รัฐจะต้องควบคุมให้การชุมนุมดำเนินไปตามวัตถุประสงค์ และไม่ขัดขวางการชุมนุม
แต่เมื่อรัฐต้องการจำกัดสิทธิผู้ชุมนุม หลักการสากลบอกว่า สามารถจำกัดได้ แต่ต้องเป็นไปตามสัดส่วน มีความจำเป็น และเป็นไปตามเหตุผล เช่น ความมั่นคงของชาติ ความสงบเรียบร้อย เพื่อคุ้มครองสาธารณสุข และศีลธรรมอันดี ซึ่งในความคิดเห็นทั่วไป ฉบับที่ 37 จะตีความว่า “ความมั่นคงของชาติ หมายถึง ความอยู่รอดของชาติ และดุลยภาพดินแดน” “ความปลอดภัยของสาธารณะ หมายถึง จะต้องมีเหตุให้เกิดอันตรายต่อชีวิตบุคคล และทรัพย์สินอย่างร้ายแรง” และ “ความสงบเรียบร้อย หมายถึง ถ้าส่วนใหญ่ยังสงบอยู่ จะไปจำกัดไม่ได้” ทั้งหมดนี้คือการตีความหลักสากลที่รัฐอาจต้องนำมาปรับใช้
การจำกัดการชุมนุม แม้ต่อให้มีเหตุการณ์ตามที่ยกตัวอย่างที่เคยกล่าวมาก่อนหน้านี้ เช่น มีการทำร้ายร่างกาย การจำกัดการชุมนุมต้องเริ่มทำจากมาตรการที่ต่ำที่สุดคือ ควรยอมให้มีการชุมนุมก่อน หากพบปัญหาแล้วกำหนดเงื่อนไข และไม่ควรจำกัดการชุมนุมทั้งหมด แต่ระงับแค่ส่วนที่มีปัญหาเพื่อให้ส่วนที่สงบยังดำเนินการชุมนุมต่อไป และเจ้าหน้าที่ไม่ควรใช้ความรุนแรงในการระงับส่วนที่มีความรุนแรง สำหรับอุปกรณ์สำหรับการชุมนุม อาทิเช่น เครื่องเสียงเป็นสิทธิของผู้ชุมนุมที่จะใช้ รวมทั้งการใช้หน้ากากก็เป็นสิ่งที่สามารถใช้ได้ ขณะที่ พ.ร.ก.ฉุกเฉินมีการห้ามใช้เครื่องเสียง ซึ่งก็ไม่เป็นไปตามความคิดเห็นทั่วไปฉบับนี้ และหากต้องมีการสลายการชุมนุม การใช้แก๊สน้ำตาต้องใช้กับกลุ่มผู้ก่อความรุนแรงเท่านั้น เพราะอาจส่งผลต่อผู้ที่ไม่ได้ใช้ความรุนแรงที่อยู่รอบข้างด้วย รวมทั้งกระสุนยาง อาวุธปืน เป็นสิ่งที่ต้แงห้ามใช้ เว้นแต่ใช้ได้กับบุคคลที่จะก่อความรุนแรงถึงชีวิตกับผู้อื่น แต่ถ้าใช้เพื่อยุติการชุมนุมไม่สามารถกระทำได้
ขณะที่เรื่องเวลาก็มีความน่าสนใจ กล่าวคือ ไม่ควรจำกัดเวลาการชุมนุม และอย่างน้อยผู้ชุมนุมควรมีเวลาในการแสดงทัศนะตามวัตถุประสงค์ของเขา จนกว่าการชุมนุมจะสลายไปเอง หรือเว้นแต่มีการยืดเยื้อมากจนส่งผลกระทบร้ายแรงเป็นวงกว้าง อย่างเหตุการณ์ในวันที่ 16 ตุลาคม 2563 เข้าใจว่า ขณะที่มีการชุมนุมไปจนถึงการสลายชุมนุมเป็นเวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมง และไม่เพียงพอในการแสดงทัศนะใดถึงรัฐ เหตุการณ์วันนั้นจึงมองได้ว่ามีปัญหาในเรื่องของระยะเวลาในการเข้าไปสลายการชุมนุมด้วย และไม่ควรจำกัดสถานที่ในการชุมนุมสาธารณะ โดยหลักสากลระบุว่า การห้ามชุมนุมทั้งเมืองไม่สามารถทำได้ เพราะขัดต่อหลักการระหว่างประเทศ และไม่ควรห้ามชุมนุมในสถานที่ราชการ สถานที่ประวัติศาสตร์ หรือรัฐสภา แต่สามารถกำหนดสัดส่วนให้พื้นที่ชุมนุมได้
นอกจากนี้ ศาลควรต้องเป็นหน่วยงานที่ให้ความคุ้มครองเสรีภาพในการชุมนุม ถ้าจะมีการลงโทษทางอาญา ไม่ควรเป็นความผิดที่เขียนไว้อย่างกว้าง และมีผลจำกัดการออกมาใช้สิทธิชุมนุม ดังนั้นจึงควรจะมีการสังคยนา พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ไม่ให้มันถูกใช้ในลักษณะนี้ และหากแกนนำชุมนุม ถ้าไม่ได้มีเจตนาให้เกิดความร้ายแรง และถ้าเขาไม่ใช่ผู้กระทำการ เขาจะเป็นผู้มีความผิดต่อเมื่อเขายับยั้งได้ แต่เขามีเจตนาไม่ยับยั้งไม่ให้เกิดความรุนแรง และเมื่อการสลายการชุมนุมโดยมิชอบ หน้าที่ของศาลคือ สืบสวนสอบสวนการสลายกับชุมนุมโดยมิชอบ เพื่อลงโทษกับเจ้าหน้าที่รัฐที่กระทำการละเมิด รวมทั้งต้องให้การเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบด้วย
มุมมองของตัวแทนสหประชาชาติ [ฉีดน้ำได้ตอนไหน หลักสากลบอกว่าอย่างไร]
Badar Farrukh หัวหน้าฝ่ายประเทศไทย สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติกล่าวถึง #กระบวนทัศน์เรื่องการใช้กำลังตามหลักสากล มี 2 บริบท คือ บริบทของทหาร ซึ่งเกิดขึ้นในสถานการณ์ความขัดแย้งที่มีการใช้อาวุธ จำเป็นต้องใช้กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ และบริบทของพลเรือนคือ การใช้กำลังโดยไม่มีความขัดแย้ง ซึ่งทั้ง 2 บริบทมีทั้งกฎหมาย ข้อกำหนด และบทบัญญัติอื่นๆ ที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง กล่าวคือ หากเป็นบริบทพลเรือน กรอบของกฎหมายอย่างเดียวที่ใช้ได้คือ กฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ทั้งนี้แม้ว่าจะมีเจ้าหน้าทึ่ทหาร หรือกองทัพ ถ้าทำงานในบริบทของพลเรือน จะต้องยึดถือตามบริบทกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศเท่านั้น ไม่สามารถใช้กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศในบริบทของพลเรือนได้ นั่นหมายความว่า ในบริบทของพลเรือน จะไม่ให้ความคุ้มครองเจ้าหน้าที่ทหารในการทำงานเช่นเดียวกับบริบททหาร เพื่อไม่ให้ถูกลงโทษ หรือไม่มีการคุ้มกันใดๆ ทั้งสิ้น ซึ่งทั้งหมดนี้คือ กรอบกฎหมายระหว่างประเทศที่ออกโดยสมัชชาแห่งองค์การสหประชาชาติ
โดยกรอบกฎหมายดังกล่าว มีหลักการที่เป็นหลักเบื้องต้นประกอบการใช้อยู่ 2 หลักการคือ หลักการใหญ่ 4 ประการ ประกอบด้วย
(1) Legality ความถูกต้องตามกฎหมาย; เมื่อมีความจำเป็นต้องใช้กำลัง ตำรวจควรที่จะมั่นใจว่ากำลังที่ตนจะใช้เป็นไปตามข้อกำหนดของตำรวจ รวมทั้งต้องสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญที่บัญญัติไว้ด้วย ดังนั้นการกระทำสิ่งที่นอกเหนือไปจากกฎหมาย เป็นสิ่งที่ต้องพึงระวังไว้ด้วย เช่น การใช้กำลังเพื่อให้ถูกประณาม ถูกทำร้าย หรือจับกุมไม่ชอบจะทำไม่ได้
(2) Strict Necessity ความจำเป็นอย่างเข้มงวด; ตำรวจและทุกฝ่ายต้องประเมินว่า การใช้กำลังจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ แม้ว่าจะไม่ควรใช้ความรุนแรงเลยแม้แต่น้อย แต่เมื่อแนวทางในการปฏิบัติที่ไม่ใช่ความรุนแรงนั้นหมดสิ้นทุกหนทาง การใช้ความรุนแรงก็ควรเป็นหนทางสุดท้ายในการนำมาใช้
(3) Proportionality การได้สัดส่วน; ตำรวจจะต้องพิจารณาว่า การใช้กำลังต้องเป็นไปตามเป้าประสงค์เพื่อให้บรรลุผลถึงการใช้กฎหมาย ไม่เช่นนั้นจะปฏิบัติเกินกว่าเหตุและไม่ได้สัดส่วน
(4) Accountability ความรับผิดรับชอบ; เมื่อรัฐเป็นผู้กำหนดการใช้กำลังแต่เพียงผู้เดียว ตามหลักการของสังคมประชาธิปไตย การใช้กำลังจึงต้องเป็นไปตามหลักการของสิทธิมนุษยชน เมื่อมีการใช้กำลังก็ต้องมีการสรุปบทเรียนที่เกิดขึ้น และเมื่อการใช้กำลังนำไปสู่การเสียหายร้ายแรง เช่น ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต ก็ควรจะมีกลไกขึ้นมาเพื่อพิจารณาถึงสิ่งที่เกิดขึ้นด้วย ทั้งนี้กลไลที่สำคัญจะต้องไม่ใช่การตรวจสอบกันเองภายในองค์กร แต่ต้องมีองค์กรที่ตั้งขึ้นมาตรวจสอบอย่างเป็นอิสระ
ส่วนหลักการรองลงมาจาก 4 หลักการใหญ่นั้น ประกอบด้วย (1) เป็นไปตามลำดับขั้น เจ้าหน้าที่รัฐต้องยืนอยู่บนพื้นฐานของหลักการเรื่องการได้สัดส่วน และความจำเป็นอย่างเข้มงวด ดังนั้นถ้าไม่อยากทำอะไรที่เกินไปกว่าเป้าประสงค์กฎหมาย ก็ควรคำนึงลำดับและขั้นตอน (2) การระมัดระวัง กล่าวคือ เมื่อมีการแจ้งการชุมนุมแล้ว หน้าที่ตำรวจคือปฏิสัมพันธ์กับผู้จัดการชุมนุม เพื่อวางแผนร่วมกันเพื่อป้องกันไม่ให้ความรุนแรงเกิดขึ้น (3) การไม่เลือกปฏิบัติ รัฐต้องฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการเป็นผู้มีความรู้และมีมืออาชีพ รวมทั้งต้องจัดการโดยคำนึงถึงความมีมาตรฐาน ไม่เลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ และอุดมการณ์ เพื่อให้แน่ใจว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐจะมีการทำงาน การตัดสินใจ การคำนวณและการใช้อาวุธอยู่บนพื้นฐานของหลักสากล
เมื่อมีการละเมิดหลักการใหญ่และหลักการย่อยที่กล่าวมาข้างต้น ผู้สื่อข่าว ทนายความ หรือนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่ออกมาพูดถึงเรื่องนี้ จำเป็นต้องมีความรู้เพื่อพิจารณาว่า การละเมิดดังกล่าวเป็นการละเมิดหลักการใด เพื่อเลือกใช้คำให้ถูกบริบท อาทิเช่น เมื่อมีการละเมิดหลักการใหญ่เรื่องความถูกต้องตามกฎหมาย จะใช้คำว่า “มีการใช้กำลังผิดกฎหมาย” หากละเมิดหลักการเรื่องความจำเป็นเข้มงวด จะใช้คำว่า “มีการใช้กำลังตามอำเภอใจ” เมื่อหลักการเรื่องได้สัดส่วนถูกละเมิด จะใช้คำว่า “มีการใช้กำลังเกินกว่าเหตุ หรือมีการใช้กำลังไม่ได้สัดส่วน” และความรับผิดรับชอบเมื่อถูกละเมิด จะใช้คำว่า “การเข้าถึงความยุติธรรมถูกจำกัด” และเมื่อไม่มีการเอาผิด หรือทำให้เกิดการรับผิดชอบมากขึ้น สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาคือ การสร้างวัฒนธรรมลอยนวลและสามารถกระทำผิดซ้ำได้อีก ดังนั้นหากจะพูดว่าเป็นการละเมิดร้ายแรงแค่ไหน จะต้องพิจารณาบริบทจากสิ่งที่เกิดขึ้น และผลที่ตามมาเท่านั้น
สำหรับการใช้รถฉีดน้ำในการสลายการชุมนุม ตามหลักการกรอบกฎหมายของสมัชชาแห่งสหประชาชาติ มีหลักการว่า 1. ต้องประกาศด้วยภาษาที่ทุกคนเข้าใจ 2. ประกาศอย่างชัดเจนว่าจะให้เวลานานเท่าไหร่ เพื่อให้ผู้ชุมนุมเตรียมการและรับมือ ที่สำคัญจะต้องคำนึงความเสี่ยงที่จะเกิดการสูญเสียด้วย เนื่องจากการใช้รุนแรงฝ่ายพลเรือน เป็นการใช้กำลังเพื่อให้เกิดความเสียหายน้อยที่สุด แม้ว่าการใช้รถฉีดน้ำ จะไม่รุนแรงเท่ากับอาวุธปืน แต่ก็ต้องมีขั้นตอนต่างๆ ก่อนการใช้ และจะสามารถใช้ได้เมื่อเกิดภัยคุกคามที่จะเกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินอย่างรุนแรง นอกจากนี้กฎหมายและการรักษากฎหมาย มีวัตถุประสงค์เพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชน ดังนั้นจะต้องไม่มีการใช้กำลังเพื่อเป็นการลงโทษ ในกรณีนี้ต่อให้ไม่พอใจการแสดงออกของผู้ชุมนุม แต่ต้องพึงระลึกว่า กฎหมายมีไว้ใช้แค่การควบคุมสถานการณ์ และเพื่อรักษากรอบของสิทธิมนุษยชน
————
ความเห็นทั่วไปฉบับที่ 37, 2020 เรื่องสิทธิในการชุมนุมโดยสงบมาตรา 21 (คำแปลอย่างไม่เป็นทางการ จาก ICJ และ CCPR center ) ได้ที่นี่