“ถ้าไม่ให้อยู่ป่า ให้ตายเสียยังจะดีกว่า”

“ถ้าไม่ให้อยู่ป่า ให้ตายเสียยังจะดีกว่า”

“ถ้าไม่ให้อยู่ป่า ให้ตายเสียยังจะดีกว่า”

ในสายของวันหนึ่งที่แดดแรงและแผดเผาไปทุกอณูบนร่างกาย เป็นสายของอีกวันที่ต้องออกเดินทางไปหมู่บ้านที่แสนไกลในอำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ ลึกเข้าไปกลางภูเขาและแมกไม้นานาพันธุ์ที่ขึ้นสลับซับซ้อน มี หมู่บ้านสบลาน ที่มีจำนวนประชากร 106 คน เป็นชุมชนขนาดเล็กของชาวปกาเกอะญอ ที่ใช้ชีวิตควบคู่ไปกับธรรมชาติ ซ่อนตัวอยู่ท่ามกลางไร่หมุนเวียนและป่าไม้รกทึบ เป็นดินแดนที่ลึกลับแต่มีความงดงามแอบแฝงอยู่

พะตีตาแยะ ยอดฉัตรมิ่งบุญ

 ปกาเกอะญอ มีความหมายว่า “คน” หรือ “ฉันคือคน” โดย พะตีตาแยะ ยอดฉัตรมิ่งบุญ คือลูกหลานของคนปกาเกอะญอกลุ่มแรกๆ ที่เข้ามาตั้งรกรากในหมู่บ้านสบลาน พะตีตาแยะเล่าถึงเรื่องราวการต่อสู้ของชุมชนปกาเกอะญอให้ฟังว่า ในปี 2537 พะตีออกมาเคลื่อนไหวร่วมกับเครือข่ายกลุ่มเกษตรกรภาคเหนือ (คกน.) และเดินประท้วงจากเชียงใหม่ไปลำพูน ในปี 2539 เริ่มเข้าร่วมกับสมัชชาคนจน จน ในปี 2540 ได้เดินทางเข้ากรุงเทพมหานคร ปักหลักชุมนุม เป็นเวลา 99 วัน เพื่อเรียกร้อง ให้รัฐรับรองสิทธิของคนที่อยู่กับป่า และยุตินโยบายอพยพคนออกจากป่า จนกระทั่งในปี 2553-2554 รัฐบาลของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้รับนโยบายภาคประชาชนที่ขอให้มีการจัดการที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติในรูปแบบโฉนดชุมชน ตลอดจนมีมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 3 สิงหาคม 2553 เรื่องแนวนโยบายฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง ซึ่งว่าด้วยแนวทางในการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ และเป็นมรดกทางภูมิปัญญาวัฒนธรรมที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง

อย่างไรก็ตาม หลังจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นำโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา รัฐประหารและขึ้นมาเป็นรัฐบาลในปี 2557 ได้มีนโยบายทวงคืนผืนป่า โดยออกคำสั่ง คสช. ที่ 64/2557 ก่อนประกาศใช้แผนแม่บทแก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้ การบุกรุกที่ดินของรัฐ และการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน (แผนแม่บทป่าไม้) มีเป้าหมายเพื่อเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ให้ได้ 40 เปอร์เซ็นต์ จากที่ปัจจุบันมีพื้นที่ป่า 31 เปอร์เซ็นต์ คือ หลังจากนั้น คำสั่งคสช. ที่ 64/2557 ได้ถูกยกเลิกไปโดยคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 9/2562 ในเดือนกรกฎาคม 2562 แต่ปฏิบัติการยังคงดำเนินต่อไปตามแผนแม่บทป่าไม้ ทำให้ชาวปกาเกอะญอบ้านสบลานต้องเข้าร่วมการขับเคลื่อนกับสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) และขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) อีกหลายครั้ง เพื่อหยุดการละเมิดสิทธิชุมชนโดยกฎหมายและนโยบายที่ไม่สอดคล้องกับวิถีชุมชน

หลักจากฟังเรื่องราวการต่อสู้จบ พะตีตาแยะได้พาเดินชมไร่หมุนเวียน ระบบการเกษตรที่มีการหมุนเวียนเปลี่ยนที่ให้เกิดการพักฟื้นผืนดิน โดยจะใช้พื้นที่ป่าส่วนหนึ่งเป็นเวลาหนึ่งปี ก่อนจะปล่อยให้พื้นที่นั้นฟื้นฟูอีกเจ็ดปีจึงกลับมาใช้ทำไร่ใหม่ ทำให้ดินยังคงสภาพดีและสามารถปลูกพืชโดยไม่ต้องใช้ปุ๋ยเคมีและยา ประกอบกับการปลูกพืชที่หลากหลาย เช่น ข้าว พริก มะเขือ ฟักทอง ทำให้ชุมชนมีอาหารรับประทานในครัวเรือนตลอดทั้งปี

นอกจากนั้นยังมีการจัดการพื้นที่ป่าของชุมชน ซึ่งชาวปกาเกอะญอ แบ่งป่าเป็น 4 ประเภท ได้แก่ป่าใช้สอย หรือพื้นที่ทำกิน เป็นพื้นที่ป่าซึ่งชาวบ้านสามารถตัดไม้และเก็บหาของป่าได้ ส่วนป่าความเชื่อ จะมีป่าตาวีโดะหรือป่าช้าเด็ก เป็นป่าที่ใช้ฝังศพเด็กทารกหรือศพเด็กที่แท้งจากครรภ์มารดา ซึ่งชาวปกาเกอะญอเชื่อว่า เป็นพื้นที่ป่าที่ผีดุที่สุด ต่อมาเป็นป่าอนุรักษ์ ซึ่งจะมีป่าเดปอหรือป่าสะดือ โดยชาวบ้านมีธรรมเนียมว่าเมื่อทารกเกิดมา ผู้เป็นพ่อจะนำสายสะดือของลูกใส่กระบอกไม้ไผ่แล้วนำไปผูกกับต้นไม้ใหญ่ ให้เติบโตเคียงข้างกันไปทั้งต้นไม้และเด็ก

ชาวปกาเกอะญอยังมีป่าช้าผู้ใหญ่ ซึ่งห้ามไปตัดไม้และหาของป่าเด็ดขาด เพราะถือว่าของในป่าช้าเป็นของไม่ดี นอกจากนั้นยังมีป่าอนุรักษ์ยั่งยืน เป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ที่เคยถูกสัมปทานป่าไม้ไปสองครั้ง ชาวบ้านจึงกำหนดเป็นเขตป่าอนุรักษ์ยั่งยืนซึ่งมีพื้นที่กว่า 6,000 ไร่ เป็นบริเวณที่เป็นต้นกำเนิดของสายน้ำที่ใช้หล่อเลี้ยงคนผู้คน ชาวบ้านและเครือข่ายจึงช่วยกันอนุรักษ์ไว้ให้ลูกหลานและคนปลายน้ำอย่างพวกเราและคนทั้งประเทศ

หน่อต้ม หรือ หน่อไม้ต้ม เสบียงอาหารตอนหน้าแล้ง

หลังจากดูไร่หมุนเวียนเรียนรู้เรื่องราวการจัดการป่าของชุมชนปกาเกอะญอ เราได้แยกย้ายไปยังบ้านที่ชุมชนจัดไว้ให้ ซึ่งฉันและเพื่อนได้พักบ้านของ พะชีเว โดยมีโม* เป็นคนที่คอยดูแลเราและจัดหาที่หลับที่นอนให้ โดยที่วิถีชีวิตของชาวปกาเกอะญอนั้นอยู่บนพื้นฐานของความเรียบง่าย อาหารส่วนใหญ่มาจากการเก็บของป่า และการเก็บเกี่ยวผลผลิตจากไร่หมุนเวียน ในเช้าตรู่ของวันนั้น หลังจากที่ได้พักผ่อนเต็มอิ่มแล้ว ฉันได้สำรวจบ้านของโม ในครัวและหน้าบ้าน มีถุงห้อยเรียงกันเป็นแถวหลายถุง โมบอกว่าในนั้นคือหน่อไม้ต้มที่บรรจุถุงไว้ เพื่อให้สามารถเก็บไว้กินในหน้าแล้งได้ ชาวปกาเกอะญอจึงมีเสบียงกักตุนไว้ตลอดปี

โม* ในภาษาปกาเกะญอ แปลว่า แม่

นอกจากนั้นชาวปกาเกอะญอยังมีความเชื่อเรื่องเครื่องแต่งกาย โมเล่าว่า สิ่งต้องห้ามของชุมชนที่นี่คือ ห้ามทอผ้าในตอนกลางคืน ห้ามทอผ้าในวันพระ และห้ามผู้ชายทอผ้า เพราะมีความเชื่อว่า ผู้ชายในบ้านจะล้มป่วย ส่วนเสื้อผ้า ผู้หญิงแต่ละบ้านจะทอเอง โดยใช้เครื่องทอผ้า และฝ้ายที่เก็บจากไร่หมุนเวียน โดยที่เสื้อของผู้ชายและเสื้อของผู้หญิงจะแตกต่างกัน สังเกตจากการเย็บตกแต่ง เสื้อผู้ชายจะทอแบบเรียบๆ ส่วนเสื้อของผู้หญิง จะเย็บตกแต่งด้วยลูกเดือย

อีกหนึ่งวัฒนธรรมปกาเกอะญอที่น่าสนใจจากคำบอกเล่าของโม คือ ประเพณีการแต่งงาน ที่ผู้หญิงจะเป็นฝ่ายไปสู่ขอผู้ชาย ถ้ามีลูกสาวหรือลูกชายจะเลี้ยงหมู เพื่อให้หมูเติบโตไปกับลูกของเขา เมื่อถึงวันแต่งงานก็จะนำหมูที่เติบโตมาพร้อมตัวเองไปสู่ขอและเลี้ยงแขกเหรื่อที่มาในงานแต่งด้วย คนปกาเกอะญอไม่ได้มีเงินมากนัก จึงใช้หมูแลกเป็นสินสอดในงานแต่งงาน เป็นชีวิตที่เรียบง่ายและผูกพันกับธรรมชาติอย่างกลมกลืน

พิธีเรียกขวัญ หรือ “พิธีกี้จึ๊”

 ก่อนกลับจากชุมชนบ้านสบลาน ชาวบ้านร่วมกันจัดพิธีเรียกขวัญ เรียกตามภาษาถิ่นว่า “กี้จึ๊” มีการผูกข้อมือบายศรีสู่ขวัญ ซึ่งเป็นประเพณีท้องถิ่นดั้งเดิม ที่ชาวปกาเกอะญอทำให้กับสมาชิกในครอบครัว ในพิธีจะมีของเซ่นไหว้ ประกอบด้วย  เหล้าต้มของชุมชน ไก่หนึ่งคู่ และอาหาร หลังจากนั้นผู้อาวุโสจะเวียนกันผูกข้อมือร้องขวัญให้ผู้มาเยือน นำไก่ในพิธีไปประกอบอาหาร และทานข้าวร่วมกัน เวียนดื่มเหล้าให้ครบทุกคนจนหมดเป็นอันเสร็จพิธี

ชาวปกาเกอะญอมีชีวิตที่ผูกพันกับตันไม้และธรรมชาติมาตั้งแต่เกิด หากพูดถึง “ป่า” ป่าในมุมมองของคุณเป็นแบบไหน สำหรับชาวปกาเกอะญอนั้น ป่าคือความรัก ป่าคือหัวใจ ป่าคือความหมายของชีวิต ป่าคือจิตวิญญาณ ป่าคือทุกอย่างที่นำไปสู่คำว่า “ปกาเกอะญอ” พวกเขาเกิดและดับลงที่นี่ ฉะนั้นไม่แปลกที่เขาจะรักและผูกพันกับป่ามากมายจนไม่อาจสูญเสียพื้นที่นี้ไปได้  “ถ้าไม่ให้อยู่ป่า ให้ตายเสียยังจะดีกว่า” พะตีตาแยะกล่าว