[หนังสือถึง ผบ.ตร.] การละเมิดกฎหมายและสิทธิมนุษยชนในการดำเนินคดีต่อเยาวชนและนักกิจกรรมประชาธิปไตย

[หนังสือถึง ผบ.ตร.] การละเมิดกฎหมายและสิทธิมนุษยชนในการดำเนินคดีต่อเยาวชนและนักกิจกรรมประชาธิปไตย

(English file click)

สนส. 34/2563

วันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

 

เรื่อง      การละเมิดกฎหมายและสิทธิมนุษยชนในการดำเนินคดีนักเรียนนิสิตนักศึกษาและนักกิจกรรมประชาธิปไตย

เรียน       ผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

 

สืบเนื่องจากการที่มีนักเรียน นิสิตนักศึกษา ประชาชน และนักกิจกรรมประชาธิปไตย (“นักกิจกรรม”)  ได้ดำเนินกิจกรรมทางการเมือง เผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร ชุมนุม วิพากษ์วิจารณ์ เรียกร้องให้รัฐบาลลาออกและเสนอให้มีการปฏิรูปสถาบันต่างๆ ทางการเมือง นับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2563 เป็นต้นมา และเจ้าหน้าที่ตำรวจ ได้กล่าวหาและจับกุมคุมขังดำเนินคดีบุคคลดังกล่าวนับร้อยคน ในข้อหาต่างๆ รวมทั้งข้อหาฝ่าฝืนประกาศตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 นั้น เครือข่ายองค์กรและทนายความด้านสิทธิมนุษยชน ดังมีรายนามข้างท้ายนี้ มีความห่วงใยต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างยิ่ง จึงใคร่ขอเสนอความคิดเห็นต่อบทบาทของสำนักงานตำรวจแห่งชาติในการปฏิบัติต่อนักกิจกรรมประชาธิปไตยดังกล่าวดังต่อไปนี้

  1. นักกิจกรรมมีและใช้สิทธิเสรีภาพ โดยเฉพาะสิทธิในความเชื่อและความคิดเห็นทางการเมือง การแสดงออก และการชุมนุมสาธารณะ บนพื้นฐานของหลักสิทธิมนุษยชนที่รับรองไว้ตามกฎหมายระหว่างประเทศ และสิทธิเสรีภาพที่ได้รับรองไว้ตามรัฐธรรมนูญ และได้พยายามป้องกันและหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดความรุนแรงตลอดมา ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจ ในฐานะกลไกของรัฐ ซึ่งมีหน้าที่ในการปกป้องคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน ควรปฏิบัติหน้าที่เพื่อการดังกล่าว แต่กลับปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ใช้มาตรการกล่าวหา ดำเนินคดีต่อนักกิจกรรมในข้อหาต่างๆ ในลักษณะที่มุ่งที่จะขัดขวางไม่ให้นักกิจกรรมใช้สิทธิเสรีภาพดังกล่าวจนถูกมองได้ว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ตกเป็นเครื่องมือของรัฐบาลเพื่อกลั่นแกล้งนักกิจกรรมที่รัฐบาลเห็นว่าเป็นฝ่ายตรงข้าม
  2. เจ้าหน้าที่ตำรวจบางคน บางท้องที่หรือบางหน่วยงาน ได้กล่าวหาและดำเนินคดีนักกิจกรรมโดยมุ่งที่จะขัดขวางมิให้นักกิจกรรมที่ตกเป็นผู้ต้องหาสามารถใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมสาธารณะมากกว่าที่จะดำเนินคดีตามปกติด้วยความเป็นธรรม เช่น
    • ตั้งข้อหาที่ร้ายแรง มีโทษสูงเกินกว่าพฤติกรรมที่อ้างว่ากระทำผิด เพื่อขอหมายจับจากศาล ทั้งๆ ที่เจ้าหน้าที่สามารถออกหมายเรียกให้ผู้ต้องหามารับทราบข้อกล่าวหาได้ คัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราว โดยอ้างว่าผู้ต้องหาจะไปร่วมชุมนุมอีกทั้งๆ ที่การชุมนุมเป็นสิทธิอันชอบที่กระทำได้และศาลยังไม่เคยมีคำพิพากษาว่าการชุมนุมที่กล่าวหานั้นละเมิดต่อกฎหมาย แม้ศาลจะไม่อนุญาตให้ฝากขังหรือมีคำสั่งให้ปล่อยตัวชั่วคราวเจ้าหน้าที่ตำรวจก็อายัดตัวไว้ดำเนินเนินคดีต่อๆ ไป ในลักษณะของการอายัดตัวซ้ำซาก รวมทั้งสร้างอุปสรรคและความยากลำบากให้แก่ผู้ต้องหา
    • จับกุมและควบคุมตัวผู้ต้องหาไว้ที่กองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 1 (บก.ตชด.ภาค 1) ปทุมธานี ซึ่งมิใช่ที่ทำการปกติของพนักงานสอบสวน ก่ออุปสรรคและความยกลำบากต่อญาติในการเยี่ยมผู้ต้องหาและการพบและปรึกษาทนายความ อาทิเช่น การให้ทนายความพบผู้ต้องหาหรือไม่เป็นอำนาจของเจ้าหน้าที่ ทั้งๆ ที่เป็นสิทธิโดยชอบธรรมของผู้ต้องหาและเป็นหน้าที่ที่เจ้าหน้าที่จะต้องอำนวยความสะดวกจำกัดให้ทนายความ 1 คน ต่อผู้ต้องหา 1 คนเท่านั้น ไม่อนุญาตให้ทนายความผู้ช่วยหรือผู้ช่วยทนายความร่วมในการพบและให้คำปรึกษาแก่ผู้ต้องหา ซึ่งถือเป็นการจำกัดการปฏิบัติหน้าที่ของทนายความ อีกทั้งทนายความไม่สามารถนำเครื่องมือหรืออุปกรณ์ที่ใช้ในการปฏิบัติหน้าที่ เช่น โทรศัพท์มือถือเข้าไปได้ ทำให้ทนายความไม่สามารถติดต่อบุคคลอื่นหรือรับหรือค้นข้อมูลข่าวสารเกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่ รวมทั้ง การจำกัดระยะเวลาในการพบทนายความและการเยี่ยมโดยญาติหรือบุคคลที่ผู้ต้องหาไว้วางใจโดยไม่สมควร
    • การปฏิบัติต่อนักกิจกรรมที่เป็นผู้ต้องหา เนื่องจากดำเนินกิจกรรมเสมือนเป็นอาชญากรในคดีร้ายแรง ทั้งๆที่นักกิจกรรมเหล่านั้นตกเป็นผู้ต้องหา เนื่องจากกระทำกิจกรรมในทางการเมือง ไม่ได้ต่อสู้ขัดขวางเจ้าหน้าที่และไม่มีพฤติกรรมที่จะหลบหนี แม้ว่าในบางกรณีเจ้าหน้าที่ได้ใช้กำลังกระทำให้ผู้ต้องหาบางคนจนได้รับบาดเจ็บ
    • บังคับใช้กฎหมายอย่างเลือกปฏิบัติ ในลักษณะสองมาตรฐาน โดยบังคับใช้กฎหมายต่างๆ ต่อนักกิจกรรมอย่างเข้มงวดและเกินเลย แต่สำหรับฝ่ายตรงข้ามที่ต่อต้านนักกิจกรรมโดยวิธีการที่ผิดกฎหมาย เช่น การชุมนุมและการทำร้ายร่างกาย เจ้าหน้าที่ตำรวจกลับละเลยไม่ดำเนินคดีต่อผู้กระทำผิดดังกล่าว
  3. เจ้าหน้าที่ตำรวจมีภารกิจในการรักษาความสงบสุขของสังคม แต่การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจบางคน บางท้องที่และบางหน่วยงาน ดังกล่าวในข้อ 2 ทำให้นักกิจกรรมและประชาชนเห็นว่า เจ้าหน้าที่มีสองมาตรฐาน เลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคล เจ้าหน้าที่ตำรวจถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองของรัฐบาลมากกว่าเป็นกลไกของกฎหมายและความยุติธรรม ซึ่งนอกจากจะทำให้สถานการณ์ความขัดแย้งขยายตัวมากยิ่งขึ้นแล้ว ยังทำให้ประชาชนขาดความเชื่อมั่นใน สตช. และกระบวนการยุติธรรม อันจะก่อให้เกิดอันตรายต่อหลักนิติรัฐอย่างยิ่ง

ด้วยเหตุที่เรียนมาข้างต้น จึงเรียนมาเพื่อเรียกร้องให้ท่าน ในฐานะผู้บังคับบัญชาสูงสุดของ สตช. ได้พิจารณา ทบทวน และดำเนินการเพื่อให้มีการปรับปรุงแก้ไขการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่กระทำต่อนักกิจกรรมทางการเมือง ให้ถูกต้องตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักไทย นิติรัฐและนิติธรรมและสิทธิมนุษยชน ซึ่งจะเป็นหนทางที่สำคัญประการหนึ่งในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นในขณะนี้ต่อไป

 

นางสาวคอรีเยาะ มานุแช
นายกสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส)

รายชื่อองค์กรและเครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน

สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.)
ศูนย์ทนายความสิทธิมนุษยชน
สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.)
สมาคมนักกฎหมายคุ้มครองสิทธิและสิ่งแวดล้อม
มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม
มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม
มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน
มูลนิธิผสานวัฒนธรรม

image: UK Express