ทนายสมชาย นีลไพจิตร ทนายความด้านสิทธิผู้ทำงานตรวจสอบอำนาจรัฐในสถานการณ์พิเศษ

ทนายสมชาย นีลไพจิตร ทนายความด้านสิทธิผู้ทำงานตรวจสอบอำนาจรัฐในสถานการณ์พิเศษ

นายสมชาย นีละไพจิตร ทนายความและนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชน ถูกบังคับให้สูญหายเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2547 การบังคับสูญหายทนายสมชาย คาดว่ามีมูลเหตุมาจากการที่เขาทำงานช่วยเหลือทางคดีแก่ผู้ต้องหาคดีความมั่นคงในพื้นที่ชายแดนใต้ และเขายังมีบทบาทในการเคลื่อนไหวรณรงค์เพื่อยกเลิกกฎหมายพิเศษด้านความมั่นคงที่ประกาศใช้ในพื้นที่ด้วย

ในทางคดี พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญาพิเศษ 6 ได้เป็นโจทก์ฟ้องเจ้าพนักงานตำรวจรวม 5 นายได้แก่ พ.ต.ต.เงิน ทองสุก พ.ต.ท.สินชัย นิ่มปุญกำพงษ์ จ.ส.ต.ชัยเวง พาด้วง ส.ต.อ.รันดร สิทธิเขต และ พ.ต.ท.ชัดชัย เลี่ยมสงวน ต่อศาลอาญาเป็นคดีหมายเลขดำที่ 1952/2547 ในความผิดฐานร่วมกันปล้นทรัพย์โดยใช้ยานพาหนะและร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่นโดยทำให้กลัวว่าจะทำให้เกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพโดยใช้กำลังประทุษร้าย เพื่อให้กระทำการหรือไม่กระทำการใด ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 390 และ 391 เพราะเหตุประเทศไทยยังไม่มีความผิดฐานบังคับให้บุคคลสูญหายโดยตรง จึงต้องฟ้องในฐานความผิดอาญาอื่น

คดีนี้ ครอบครัวผู้เสียหายได้ขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการ ซึ่งศาลชั้นต้นได้อนุญาตให้ครอบครัวผู้เสียหายเข้าเป็นโจทก์กับอัยการได้  แต่ต่อมาศาลอุทธรณ์พิพากษากลับคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้อนุญาตให้ภรรยาของนายสมชายเข้าเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการและศาลฎีกาพิพากษายืน โดยทั้งสองศาลให้เหตุผลว่าคำร้องขอเข้าเป็นโจทก์ไม่ครบองค์ประกอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 5 (2) กล่าวคือภรรยาและบุตรไม่สามารถแสดงให้เห็นได้ว่านายสมชายได้ถูกทำร้ายจนถึงแก่ความตายตายหรือบาดเจ็บจนไม่สามารถเข้าเป็นโจทก์ร่วมเอง ประเด็นที่ญาติของนายสมชายไม่สามารถเข้าเป็นโจทก์ร่วมได้ แสดงให้เห็นถึงความล้มเหลวของกระบวนการยุติธรรมในการนำคนผิดมาลงโทษอย่างสิ้นเชิงโดยส่วนสำคัญของปัญหาคคือการขาดซึ่งกฎหมายอาญาที่กำหนดว่าการบังคับให้บุคคลหายสาบสูญหรืออุ้มหายเป็นความผิดทางอาญา และการตีความกฎหมายอย่างแคบไปในทางจำกัดสิทธิของญาติในการเข้าเข้าเป็นโจทก์ร่วมของศาลลทำให้สิทธิในการเข้าถึงความยุติธรรมของผู้เสียหายไม่ได้รับการยอมรับ

การต่อสู้คดีที่ยาวนานกว่า 12 ปี จบลงด้วยการที่ศาลฎีกามีคำพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ให้ยกฟ้องจำเลยซึ่งเป็นตำรวจทั้ง 5 คน ด้วยเห็นว่า มูลเหตุที่โจทก์อ้างว่าจำเลยไม่พอใจทนายสมชาย ไม่มีความน่าเชื่อถือ ส่วนพยานบุคคลให้การสับสน และพยานเอกสารขาดความสมบูรณ์ นอกจากนี้ยังมีการยกคำร้องขอเป็นโจทก์ร่วมของอังคณาและบุตรรวม 5 คน เนื่องจากไม่มีพยานหลักฐานว่าผู้สูญหายได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตจนมิอาจดำเนินการได้ด้วยตนเอง

การต่อสู้คดียาวนานจนถึงปัจจุบัน ก็ยังไม่สามารถนำตัวคนผิดมาลงโทษได้ และยิ่งเป็นการตอกย้ำเมื่อกรมสอบสวนคดีพิเศษมีหนังสือถึงครอบครัวของทนายความชายเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2559 แจ้งเรื่องกรมสอบสวนคดีพิเศษมีความเห็นควรงดการสอบสวน เนื่องจากไม่ปรากฏตัวผู้กระทำผิด

คดีของทนายสมชายที่ครอบครัวพยายามต่อสู้มาเป็นสิบปี ก็ยังไม่พบเจอกับความเป็นธรรม ซึ่งคดีอื่นๆก็คงมีชะตากรรมไม่ต่างกัน หากกระบวนการยุติธรรมไทยยังคงไร้ประสิทธิภาพ และหากรัฐไทยยังไม่จริงจังกับการแก้ปัญหานี้

 

ที่มา : เรียบเรียงข้อมูลจากเว็บไซต์ประชาไท