ศาลแขวงปทุมวันพิพากษาคดี “อภิชาต” ชูป้ายต้านรัฐประหารหน้าหอศิลป์กรุงเทพฯ

ศาลแขวงปทุมวันพิพากษาคดี “อภิชาต” ชูป้ายต้านรัฐประหารหน้าหอศิลป์กรุงเทพฯ

วันนี้ (19 ธันวาคม 2559) เวลา 13.30 น. ศาลแขวงปทุมวันได้มีคำพิพากษา ในคดีหมายเลขดำที่ อ.363/2558 และคดีหมายเลขแดงที่ 134/2559 ระหว่างพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุดฯ กับ จ่าสิบเอกอภิชาต พงษ์สวัสดิ์ ในคดีความผิดฝ่าฝืนประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 7/2557 ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90, 215, 216 และ 368 และพ.ร.บ.กฎอัยการศึก มาตรา 8 และ 11

โดยศาลมีคำพิพากษาโดยสรุปว่า จ่าสิบเอกอภิชาติมีความผิดตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 7/2557 ให้พิจารณาโทษตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 และประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215 วรรคแรก แต่เนื่องจากเป็นความผิดกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท จึงให้ลงโทษตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 ให้จำคุก 2 เดือน ปรับ 6,000 บาท โดยโทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 1 ปี (โปรดรอคำพิพากษาฉบับเต็มเร็วๆนี้)

คดีนี้สืบเนื่องสืบจากเหตุการณ์การรัฐประหาร โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ซึ่งหลังจากนั้นวันที่ 23 พฤษภาคม 2557 ได้มีประชาชนจำนวนหนึ่งที่ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารได้ไปแสดงออกเชิงสัญลักษณ์บริเวณหน้าหอศิลป์กรุงเทพมหานคร เพื่อต่อต้านการรัฐประหารดังกล่าว ซึ่งจ่าสิบเอกอภิชาตก็ได้ร่วมทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ในวันนั้นด้วยโดยการชูป้ายที่มีข้อความว่า “ไม่ยอมรับอำนาจเถื่อน” จากการกระทำดังกล่าวทำให้เขาถูกเจ้าหน้าที่ทหารควบคุมตัวไปในช่วงค่ำของวันเดียวกันนั้น

ต่อมาวันที่ 28 เมษายน 2558 เขาถูกพนักงานอัยการยื่นฟ้องในความผิดความผิดฝ่าฝืนประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 7/2557 เรื่อง การห้ามชุมนุมทางการเมือง และฝ่าฝืน ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงาน ซึ่งเข้าข่ายเป็นการกระทำผิดตามกฎหมายอาญามาตรา 90, 215, 216 และ 368 และพ.ร.บ.กฎอัยการศึก มาตรา 8 และ 11

วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2559 ศาลแขวงปทุมวันก็ได้มีคำพิพากษาให้ยกฟ้อง โดยให้เหตุผลว่ากระบวนการสอบสวนไม่ถูกต้อง เนื่องจากคดีนี้เหตุเกิดและจำเลยถูกจับกุมในท้องที่ สน.ปทุมวัน แต่พนักงานสอบสวนสังกัดกองปราบปราบเป็นผู้สอบสวน ซึ่งโจทก์ไม่ได้นำสืบให้ศาลเห็นถึงการมีอำนาจสอบสวนของพนักงานสอบสวนกองปราบปรามดังกล่าว จึงถือว่าเป็นการสอบสวนที่ไม่ชอบ ศาลจึงพิพากษายกฟ้อง

อย่างไรก็ดี วันที่ 17 มีนาคม 2559 พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุดได้อุทธรณ์คำพิพากษาต่อศาลแขวงปทุมวัน โดยยกประเด็นที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า โจทก์ไม่มีพยานหลักฐานและพยานบุคคลมานำสืบถึงอำนาจการสอบสวนโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้นั้น เป็นการวินิจฉัยที่คลาดเคลื่อนต่อข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย

ต่อมาวันที่ 11 ตุลาคม 2559 ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษากลับคำพิพากษาศาลศาลแขวงปทุมวันและให้ย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่ เนื่องจากศาลอุทธรณ์เห็นว่า ตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นลงวันที่ 10 มิถุนายน 2557 ซึ่งเป็นวันนัดตรวจพยานหลักฐานปรากฎว่า โจทก์ได้อ้างส่งพยานเอกสารรวมถึงพยานวัตถุสำหรับที่จะใช้เป็นพยานหลักฐาน ศาลชั้นต้นรับไว้และทนายจำเลยตรวจดูพยานเอกสารและพยานวัตถุดังกล่าวแล้ว ทนายจำเลยไม่คัดค้าน ย่อมแสดงว่า จำเลยยอมรับพยานเอกสารดังกล่าว และในจำนวนเอกสารดังกล่าวมีพยานเอกสารที่แสดงถึงอำนาจในการสอบสวนของพนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปราม ตามกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการฯสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2552 เมื่อการสอบสวนของพนักงานสอบสวนเป็นการปฏิบัติงานตาม ป.วิ.อาญา พนักงานสอบสวน กองบังคับการปราบปราม จึงมีอำนาจสอบสวนเกี่ยวกับความผิดที่มีโทษทางอาญาทั่วราชอาณาจักร และตามคำสั่งที่ 145/2557 กองบังคับการปราบปรามสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เรื่องแต่งตั้งพนักงานสอบสวนกรณีผู้กระทำความผิดตามพ.ร.บ.กฎอัยการศึก พ.ศ.2457 ก็ได้กำหนดให้ร.ต.ท.ชลิต มณีพราว เป็นพนักงานสอบสวนไว้ ฉะนั้นการสอบสวนคดีนี้จึงชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้อง ที่ศาลแขวงปทุมวันพิพากษายกฟ้องในประเด็นเรื่องอำนาจฟ้องนั้น ศาลอุทธรณ์พิพากษายก ส่วนปัญหาที่ว่าจำเลยกระทำผิดตามฟ้องหรือไม่ ศาลอุทธรณ์ให้ย้อนสำนวนไปให้ศาลแขวงปทุมวันพิจารณาและพิพากษาใหม่ ซึ่งศาลชั้นต้นก็ได้พิจารณาและพิพากษาลงโทษตามที่กล่าวไปแล้วข้างต้น

เส้นทางการต่อสู้โดยสันติวิธีจบลงด้วยการถูกดำเนินคดีและการถูกลงโทษ ซึ่งยังมีอีกผู้คนอีกจำนวนไม่น้อยกำลังเผชิญชะตากรรมเช่นนี้ พวกเขายังคงถูกผู้มีอำนาจรัฐใช้กฎหมายและกระบวนการยุติธรรมเล่นงาน ทั้งที่การต่อสู้ของพวกเขาเหล่านั้นแทบทุกกรณีเป็นไปโดยสันติ ตามความคิดความเชื่อของพวกเขาที่ไม่ยอมรับอำนาจที่ไม่ชอบธรรมและตรวจสอบไม่ได้