พรุ่งนี้แล้วต้องขึ้นศาล : ศาลจังหวัดเวียงสระนัดพร้อม/สอบคำให้การคดีชาวบ้านชุมชนน้ำแดงพัฒนา 13 ถูกกล่าวหาในความผิดฐานบุกรุก ทำให้เสียทรัพย์ และซ่องโจร

พรุ่งนี้แล้วต้องขึ้นศาล : ศาลจังหวัดเวียงสระนัดพร้อม/สอบคำให้การคดีชาวบ้านชุมชนน้ำแดงพัฒนา 13 ถูกกล่าวหาในความผิดฐานบุกรุก ทำให้เสียทรัพย์ และซ่องโจร

ศาลจังหวัดเวียงสระนัดพร้อม/สอบคำให้การคดีชาวบ้านชุมชนน้ำแดงพัฒนา 13 ถูกกล่าวหาในความผิดฐานบุกรุก ทำให้เสียทรัพย์ และซ่องโจร

วันจันทร์ที่ 24 กรกฎาคม 2560 เวลา 09.00 น. ศาลจังหวัดเวียงสระ นัดพร้อม/สอบคำให้การคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1460/2560 ซึ่งเป็นคดีที่ชาวบ้านชุมชนน้ำแดงพัฒนา 13 คนถูกแจ้งความดำเนินคดีในความผิดฐานซ่องโจร ร่วมกันบุกรุกเข้าไปในอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่นเพื่อถือการครอบครองอสังหาริมทรัพย์นั้นทั้งหมดหรือแต่บางส่วนหรือเข้าไปกระทำการใดๆอันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่นโดยปกติสุข และร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ซึ่งพืชหรือพืชผลของกสิกร

ที่มาของคดีนี้ สืบเนื่องจากเอกชนจำนวน 3 ราย ได้แก่ 1. นายภาสกร เจริญมีชัยกุล 2. บริษัทสากลทรัพยากรพัฒนา จำกัด 3. บริษัท อิควอโทเรียล คอมมิวนิเคชั่น (ประเทศไทย) จำกัด มหาชน ได้เข้าแจ้งความและตำรวจ สภ. ชัยบุรีได้ขอให้ศาลจังหวัดเวียงสระออกหมายจับชาวบ้านชุมชนน้ำแดงพัฒนาจำนวน 15 คน เป็นเหตุให้ในวันที่ 20 และ 21 เมษายน 2560 ตำรวจ สภ. ชัยบุรี ได้ทำการจับกุมตัวชาวบ้านจำนวน 8 คน ตามหมายจับดังกล่าว ผู้ถูกจับทั้งหมดถูกแจ้งข้อกล่าวหาทำให้เสียทรัพย์ บุกรุก และซ้องโจร แต่ละคนถูกแยกดำเนินคดีตามจำนวนผู้เสียหาย ชาวบ้านหนึ่งคนจึงมี 3 คดี โดยทั้ง 3 คดีจะถูกดำเนินคดีทั้ง 3 ข้อหา เฉลี่ยแล้วคดีหนึ่งจะมีชาวบ้านถูกดำเนินคดีรวม 11 คน

ในการยื่นขอประกันตัวในคดีนี้ ศาลได้เรียกหลักประกันสูงถึงคดีละ 200,000 บาท รวม 3 คดีเป็นเงินกว่า 600,000 บาท ชาวบ้านต้องหาหยิบยืมหลักทรัพย์จากญาติพี่น้องและองค์กรต่างๆเพื่อมายื่นประกันตัว ชาวบ้านรายสุกท้ายที่ได้รับการประกันตัวต้องอยู่ในเรือนจำกว่า 47 วัน ต่อมาพนักงานอัยการได้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2560

ชุมชนน้ำแดงพัฒนา เป็นสมาชิกสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ ตั้งอยู่หมู่ที่ 5, 6, 9 ตำบลคลองน้อย อำเภอชัยบุรี จังหวัดสุราษฏรธานี เป็นชุมชนที่เกิดจากชาวบ้านไร้ที่ดินทำกินได้ร่วมกันตรวจสอบที่ดินทิ้งร้างหรือได้มาโดยมิชอบในพื้นที่คลองน้อย อำเภอชัยบุรี โดยใช้มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2546 จากการตรวจสอบพบว่า ที่ดินในพื้นที่ดังกล่าว เดิมเป็นพื้นที่ใช้สำหรับเลี้ยงของชาวบ้านสมัยก่อน แต่ต่อมาได้เปลี่ยนมาเป็นสวนปาล์มขนาดใหญ่ เนื้อที่ 2,545 ไร่ ในชื่อของบริษัท สากลทรัพยากร จำกัด ต่อมาบริษัทดังกล่าวถูกฟ้องล้มละลาย พื้นที่สวนปาล์มจึงถูกทิ้งร้างมาตั้งแต่ปี 2530 ดังนั้น เมื่อปี 2551 มาชาวบ้านไร้ที่ดินทำกินในบริเวณใกล้เคียง จึงได้รวมตัวกันเข้าไปตั้งชุมชนและใช้ประโยชน์ในที่ดินเพื่อทำการเกษตร โดยใช้มติ ครม. เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2546 และอ้างอิงสิทธิตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ในเรื่องการมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หลังจากนั้นชาวบ้านชุมชนน้ำแดงพัฒนา ก็ร่วมกับสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ ต่อสู้เรียกร้องให้มีการปฏิรูปที่ดินและจัดสรรที่ดินให้แก่เกษตรกรไร้ที่ดินทำกินมาโดยตลอด

อย่างไรก็ดี ได้เกิดข้อพิพาทระหว่างชาวบ้านและนายทุนเดิมอยู่เสมอๆ มีการคุกคามชาวบ้านในหลายรูปแบบ ทั้งการเข้าไปไถพืชผลการเกษตรที่ชาวบ้านปลูก การตัดฟันผลผลิตของชาวบ้านในชุมชน ชาวบ้านได้มีการไปแจ้งความดำเนินคดีอยู่บ่อยครั้ง แต่การดำเนินการด้านคดีความก็ไม่คืบหน้า ในฝ่ายนายทุนเองก็มีการฟ้องร้องดำเนินคดีชาวบ้านเช่นเดียวกัน โดยก่อนหน้านี้ชุมชนน้ำแดงพัฒนา ถูกฟ้องร้องดำเนินคดีอยู่ที่ศาลแล้วทั้งคดีอาญา และคดีแพ่ง และกรณีล่าสุดคือคดีอาญา 3 คดีดังที่กล่าวมา

คดีนี้เกี่ยวพันกับประเด็นสิทธิในที่ดินทำกิน ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นพื้นฐานในการดำรงชีวิตของมนุษย์ โดยเฉพาะเกษตรกรผู้ต้องใช้ที่ดินทำการผลิตเพื่อเลี้ยงชีวิตตนเอง ครอบครัว ตลอดจนสังคมโดยรวม การมีที่ดินทำกินที่เพียงพอจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง แม้ประเทศไทยจะมีการพูดเรื่องความเหลื่อมล้ำเรื่องที่ดินมาเป็นระยะเวลายาวนาน โดยเฉพาะการอ้างอิงว่าพื้นที่ที่มีเอกสารสิทธิ 127 ล้านไร่ในประเทศ ร้อยละ 90 กระจุกตัวอยู่ในมือของคนเพียงร้อยละ 10 หรือประมาณ 6 ล้านคน ส่วนประชาชนอีก 90 % ของประเทศถือครองที่ดินเฉลี่ยไม่ถึง 1 ไร่ต่อคน[1] โดยที่ดินที่มีการถือครองในประเทศไทยถูกปล่อยทิ้งไว้ให้รกร้างว่างเปล่า ไม่ได้ใช้ประโยชน์หรือใช้ประโยชน์ไม่เต็มที่ หรือใช้ประโยชน์ไม่ถึงครึ่งหนึ่งของพื้นที่มีจำนวนมากถึง 70 % ประเมินเป็นมูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจ 127,000 ล้านบาทต่อปี [2] ประเด็นเรื่องการปฏิรูปการกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรมจึงถูกชูขึ้นในฐานะวาระหนึ่งของการปฏิรูปมาตลอด แต่การปฏิรูปที่ดินก็ยังไม่เห็นผลเป็นรูปธรรมมากนัก การที่มีชาวบ้านถูกดำเนินคดีในกรณีนี้ รวมทั้งในอีกหลายกรณี จึงถือเป็นปรากฏการณ์หนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงความล้มเหลวในการปฏิรูปที่ดินในประเทศไทย หากไม่มีการใส่ใจแก้ปัญหานี้อย่างจริงจัง น่าจะมีชาวบ้านอีกหลายคนในประเทศนี้ต้องถูกดำเนินคดีเช่นกรณีนี้ และจะทำให้ชาวบ้านนอกจากจะต้องเผชิญกับปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านที่ดินแล้ว เมื่อพวกเขาถูกดำเนินคดี ก็ยังจะต้องเผชิญกับความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงความยุติธรรมอีก จากการไม่มีเงินประกันตัว เพราะศาลเรียกหลักประกันตัวที่สูงเกินกว่าคนยากจนจะมีเงินมาประกันตัวได้ ถึงมีก็ต้องหยิบยืมเป็นหนี้เป็นสิน การการไม่มีทนายความช่วยเหลือ เพราะไม่มีเงินจ้างทนายความ และสุดท้ายอาจจะต้องนอนในคุก

ข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ:

สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน 02-275-3954

[1] ปรีชา วทัญญู, 2544 อ้างใน ศูนย์บริการวิชาการเศรษฐศาสตร์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, นโยบายและมาตรการการคลังเพื่อความเป็นธรรมในการกระจายรายได้, หน้า 158

[2] มูลนิธิสถาบันที่ดิน.”การศึกษาการถือครองและใช้ประโยชน์จากที่ดินและมาตรการทาง เศรษฐศาสตร์และกฎหมายเพื่อให้การใช้ประโยชน์ที่ดินเกิดประโยชน์สูงสุด”, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย, กรุงเทพฯ 2544