หนังสือ แม่อมกิ : ชีวิตแห่งผืนป่ากับมายาคติในกระบวนการยุติธรรม

หนังสือ แม่อมกิ : ชีวิตแห่งผืนป่ากับมายาคติในกระบวนการยุติธรรม

[pdfjs-viewer url=”http%3A%2F%2Fnaksit.net%2Fwp-content%2Fuploads%2F2018%2F06%2FOmkiDraft3.pdf” viewer_width=100% viewer_height=1360px fullscreen=true download=true print=true]

ดาวโหลดหนังสือ (ภาษาไทย)

[pdfjs-viewer url=”http%3A%2F%2Fnaksit.net%2Fwp-content%2Fuploads%2F2018%2F06%2FOmkiEng.pdf” viewer_width=100% viewer_height=1360px fullscreen=true download=true print=true]

ดาวโหลดหนังสือ (English Version)

หนังสือแม่อมกิ บอกเล่าเรื่องราวของชาวชาติพันธุ์กะเหรี่ยงบ้านแม่อมกิ 2 คน  คือ นายดิ๊แปะโพ (ไม่มีนามสกุล) กับนางหน่อแฮหมุ่ย เวียงวิชชา  ซึ่งถูกเจ้าพนักงานป่าไม้ประจำหน่วยป้องกันรักษาป่าที่ ตก.14(แม่เงา) เข้าจับกุมขณะกำลังทำไร่ ต่อมาทั้งสองได้ถูกดำเนินคดีในข้อหาทำให้เสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติ โดยการยึดถือ ครอบครอง ที่ดิน ตัด โค่น ก่อสร้าง แผ้วถางต้นไม้ เผาป่า ป่าท่าสองยาง (ห้วยแม่คาซึ่งจำแนกเป็นป่าอนุรักษ์และป่าต้นน้ำลำธาร) ซึ่งอยู่ภายในแนวเขตป่าสงวนแห่งชาติ ด้วยการตัดฟันต้นไม้ เผาป่า ปรับพื้นที่ แล้วยึดถือครอบครองป่าเพื่อตนเอง

ชาวบ้านในลุ่มแม่น้ำเงาอย่างน้อยสองอำเภอในสองจังหวัด ล้วนเป็นชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงที่อาศัยอยู่กันมาเป็นชุมชนดั้งเดิม มีจารีตประเพณีวัฒนธรรมเฉพาะชนเผ่าที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ ชาวบ้านกว่า 95 เปอร์เซ็นในลุ่มแม่น้ำแห่งนี้  ดำรงชีวิตด้วยการทำไร่หมุนเวียน และพึ่งพาอาศัยป่าเป็นแหล่งอาหารมาเป็นเวลาช้านาน โดยเฉพาะการเก็บหาของป่ามาเป็นอาหาร นำไม้และใบไม้จากป่ามาสร้างบ้านเรือนที่อยู่อาศัย และใช้ที่ดินทำไร่หมุนเวียนเพื่อการดำรงชีพ ด้วยวิถีชีวิตเช่นนี้ชุมชนมีจารีตประเพณี วัฒนธรรมในการดูแลรักษาและจัดการทรัพยากรภายในชุมชน ซึ่งเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปในทางวิชาการ หากแต่กฎหมายเกี่ยวกับป่าไม้ของไทยยังคงบัญญัติว่าเป็นความผิด

คดีนี้มีความสำคัญในแง่ขององค์ประกอบหลายอย่างที่จะเป็นโอกาสในการต่อสู้เป็นคดียุทธศาสตร์ เพื่อสร้างบรรทัดฐานการใช้และการตีความกฎหมายของเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติงานและศาลให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะสิทธิและการมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการ ดูแล และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ในทางการต่อสู้คดี แบ่งเป็น 2 ช่วง ได้แก่

ช่วงแรก จำเลยทั้งสองรับสารภาพ และศาลได้ตันสินลงโทษทั้งสองคนในวันนั้น

วันที่ 1 กันยายน 2551 พนักงานอัยการจังหวัดแม่สอดให้ตำรวจมารับตัวนางหน่อเฮหมุ่ยกับนายดิ๊แปะโพ ไปที่ศาลจังหวัดแม่สอดและได้ส่งฟ้องทั้งสองคนในวันนั้น ทั้งสองคนรับสารภาพตามคำฟ้อง ศาลจึงตัดสินพิพากษาในวันเดียวกันนั้นโดยคดีของนายดิ๊แปะโพให้ลงโทษจำคุก 2 ปี 6 เดือนรับ สารภาพลดโทษกึ่งหนึ่งเหลือจำคุก 1 ปี 3 เดือน สำหรับคดีของนางหน่อเฮหมุ่ยลงโทษจำคุก 2 ปีรับสารภาพลดโทษกึ่งหนึ่งเหลือ 1 ปี ไม่มีการรอลงอาญา

ทั้งสองถูกขังอยู่ที่เรือนจำในวันนั้น และได้รับการประกันตัวในวันที่ 8 กันยายน 2551 โดยนางหน่อเฮหมุ่ยและนายดิ๊แปะโพเล่าว่า “วันดังกล่าวเจ้าหน้าที่ตำรวจพาทั้งสองเข้าไปในห้องพิจารณาคดี ให้ตนเองพิมพ์ลายนิ้วมือในเอกสาร แต่ตนเองไม่รู้ว่าเขาพูดและได้ทำอะไรบ้างเพราะไม่รู้ภาษาไทยและไม่รู้กระบวนการของศาล หลังจากนั้นก็มีคนมาบอกว่าตนเองต้องติดคุกและถูกพาเข้าไปในห้องขัง”

ช่วงสอง มีทนายมาให้ความช่วยเหลือ การต่อสู้คดีครั้งใหม่เริ่มต้นขึ้น

ภายหลังที่ทนายความได้ทราบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นจึงมีความเห็นว่าทั้งสองไม่ได้รับความเป็นธรรม และทนายเห็นว่าเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาและรัฐธรรมนูญ หลังจากนั้นทนายความจึงเขียนอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาของศาลจังหวัดแม่สอดและยื่นวันที่ 29 ตุลาคม 2551 โดยให้เหตุผลหลักๆว่า

  1. ศาลไม่ได้สอบถามจำเลยว่ามีทนายความหรือไม่และถ้าไม่มี ต้องการทนายความหรือไม่ ซึ่งขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 173 วรรค2 จำเลยไม่มีทนายความให้คำปรึกษาหรือคำแนะนำก่อนที่จะให้การต่อศาลจึงให้การไปโดยไม่เข้าใจคำฟ้องของโจทก์ทั้งหมด นอกจากนี้ยังขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 40(7)
  2. คำให้การจำเลยตามเอกสารในสำนวนคดีจำเลยไม่ได้ทำเอง และศาลไม่ได้เป็นผู้ทำบันทึกแล้วอ่านให้คู่ความฟังตามกฎหมาย แต่เป็นเอกสารที่เจ้าหน้าที่ของศาลได้จัดทำไว้ก่อนแล้วโดยได้เว้นช่องว่างไว้และได้นำมาให้จำเลยพิมพ์ลายนิ้วมือ โดยจำเลยไม่ได้รับการแปลข้อความในเอกสารดังกล่าวให้เข้าใจ ซึ่งขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 180 และ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 48 นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ศาลยังได้ทำคำให้การประกอบคำรับสารภาพ แล้วนำมาให้จำเลยพิมพ์ลายนิ้วมือโดยจำเลยไม่ทราบข้อความในเอกสาร และจำเลยก็ไม่ได้มอบอำนาจหรือแต่งตั้งให้เจ้าหน้าที่ศาลทำให้ ดังนั้นเอกสารคำแถลงการณ์ไม่อาจใช้ยันกับจำเลยได้
  3. จำเลยไม่มีล่ามแปลในศาล ผู้ซึ่งทำหน้าที่แปลในศาลวันที่จำเลยรับสารภาพไม่ได้ดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมาย กล่าวคือไม่สาบานหรือปฏิญาณตนก่อน จึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 13 วรรคสี่

ศาลอุทธรณ์ภาค 6 ได้อ่านในวันที่ 22 พฤษภาคม 2552 มีคำพิพากษาให้ยกคำพิพากษาของศาลจังหวัดแม่สอด โดยให้เหตุผลว่า  “เมื่อรับฟังได้ว่าจำเลยไม่สามารถพูดอ่านเขียนภาษาไทยได้ ฉะนั้นในคำให้การจำเลยของศาลต้องมีล่ามแปล และปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมาย แต่เมื่อตรวจสอบแล้วไม่ปรากฏว่าศาลชั้นต้นได้บันทึกไว้ว่าล่ามได้สาบานตนก่อน จึงเป็นการฝ่าฝืนต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 13 วรรคสอง จึงพิพากษาให้ยกคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาสอบถามคำให้การจำเลย โดยให้ล่ามปฎิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมายแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปแบบ”

ศาลแม่สอดพิจารณาใหม่และมีคำพิพากษาให้ยกฟ้องจำเลยทั้งสอง โดยให้เหตุผลสรุปว่า จำเลยไม่เจตนาบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติ  เนื่องจากจำเลยได้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทมาก่อนแล้ว บริเวณข้างเคียงล้วนมีราษฎรคนอื่นเข้าทำประโยชน์อยู่ทั่วไป และมีการเข้ายึดถือก่อนที่ทางราชการจะกำหนดให้เป็นป่าสงวนแห่งชาติ จำเลยเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทโดยได้รับตกทอดมาจากบิดามารดาเข้าใจได้ว่ารัฐอนุโลมผ่อนผันให้ราษฎรที่ทำประโยชน์อยู่ก่อนแล้วได้ทำประโยชน์ต่อไป เป็นการขาดเจตนา การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามฟ้อง (คำพิพากษาคดีนางหน่อเฮหมุ่ย) (คำพิพากษาคดีนายดิ๊แปะโพ)

หลังมีคำพิพากษาของศาลชั้นต้น พนักงานอัยการก็ได้อุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ใช้ระยะเวลาพิจารณารวม 2 ปีจึงแล้วเสร็จ แล้วมีคำพิพากษาทั้งสองคดี โดยมีคำพิพากษาคดีนางหน่อเฮหมุ่ย เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2554 และคดีนายดิ๊แปะโพ เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2555 ตามลำดับดังนี้

คดีนางหน่อเฮหมุ่ย ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยสรุปว่า เมื่อพิจารณาจากพยานหลักฐานทั้งหมดแล้วเห็นว่าที่เกิดเหตุเป็นพื้นที่ทำไร่หมุนเวียนจริง ดังนั้นเมื่อได้ข้อเท็จจริงว่าจำเลยเป็นชาวเขาเผ่ากระเหรี่ยง มีวิถีชีวิตการทำไร่หมุนเวียน ไม่สามารถพูดอ่านและเข้าใจภาษาไทยได้ และได้เข้าทำประโยชน์มาก่อนแล้ว ทำให้จำเลยเข้าใจว่าสามารถเข้าทำประโยชน์ได้เหมือนที่เคยทำมาก่อน จึงเป็นการขาดเจตนาย่อมไม่เป็นความผิดตามฟ้องและเพิ่มเติมในส่วนท้ายว่า “เมื่อได้ความว่าที่เกิดเหตุอยู่ในเขตป่าสงวนท่าสองยาง แม้การกระทำของจำเลยจะเป็นการขาดเจตนา จำเลยก็หามีสิทธิที่จะเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่เกิดเหตุได้ ดังนั้นจำเลยจึงต้องออกจากป่าสงวนแห่งชาติที่เกิดเหตุ” (คำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีนางหน่อเฮหมุ่ย)

ส่วนคดีนายดิ๊แปะโพนั้น ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับคำพิพากษาของศาลชั้นต้น โดยให้เหตุผลว่า แม้ว่าจำเลยจะทำกินในที่ดินดังกล่าวต่อจากบิดามารดาอันเป็นเวลาก่อนที่จะมีการประกาศให้เป็นเขตป่าสงวน และแม้ว่าจำเลยไม่ทราบว่าเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติ แต่เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าที่เกิดเหตุเป็นป่าสงวนแห่งชาติ เมื่อกฎกระทรวงกำหนดเขตป่าสงวนแห่งชาติได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว จึงมีผลใช้บังคับเป็นกฎหมายและจำเลยจะอ้างว่าไม่รู้กฎหมายไม่ได้ จำเลยไม่อาจอ้างได้ว่าจำเลยไม่มีเจตนากระทำความผิด พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ.ป่าไม้และพ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ ลงโทษจำคุก 2 ปี แต่เนื่องจากพื้นที่เกิดเหตุมีไม่มากและจำเลยอายุมากแล้ว โทษจำคุกจึงให้รอลงอาญามีกำหนด1ปีพร้อมทั้งให้จำเลยและบริวารออกจากพื้นที่เกิดเหตุ (คำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีนายดิ๊แปะโพ)

ทนายความได้ฎีกาคัดค้านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ทั้งสองคดี

วันที่ 21 มีนาคม 2560 ศาลจังหวัดแม่สอด ได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกา โดยคำพิพากษาสรุปได้ว่า จำเลยทั้งสองไม่มีความผิด เพราะขาดเจตนาบุกรุก เนื่องจากเป็นคนดั้งเดิมอยู่อาศัยทำกินมาก่อนประกาศเขตป่าสงวน แต่อย่างไรก็ดี ศาลฎีกายังคงยืนยันให้จำเลยทั้งสองและบริวารต้องออกจากพื้นที่

ส่วนคดีนางน่อเฮมุ้ยหรือหน่อเฮมุ้ย ศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ คือให้ยกฟ้อง เพราะเห็นว่าจำเลยขาดเจตนาในการกระทำความผิด และให้จำเลยและบริวารออกจากพื้นที่ (คำพิพากษาศาลฏีกาคดีนางหน่อเฮหมุ่ย)

ส่วนคดีนายดิแปะโปหรือดิ๊แพะโป ศาลฎีกามีคำพิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่ให้ลงโทษจำเลย โดยศาลฎีกาเห็นว่าจำเลยขาดเจตนาในการกระทำความผิด จึงพิพากษาให้ยกฟ้องเช่นเดียวกับคดีนางน่อเฮมุ้ยหรือหน่อเฮมุ้ย และให้จำเลยกับบริวารออกจากพื้นที่ พร้อมทั้งริบของกลางทั้งหมด (คำพิพากษาศาลฏีกาคดีนายดิ๊แปะโพ)