ความจริงคนละชุด โดย ไพโรจน์ พลเพชร

ความจริงคนละชุด โดย ไพโรจน์ พลเพชร

ไม่ว่าฝ่ายรัฐบาลหรือฝ่ายผู้ชุมนุมก็ตาม คุณค่าชีวิตจะต้องมาก่อนเป็นอันดับหนึ่ง ไม่มีสิทธิ์อ้างประชาธิปไตยเพื่อเอาชีวิตเข้าไปทำลายชีวิต ขณะเดียวกันไม่ใช่เอาอำนาจหน้าที่เพื่อรักษาสังคมแล้วทำลายชีวิต เพราะว่านี่คือคุณค่าที่สำคัญที่สุด ไม่มีอะไรยิ่งใหญ่กว่าชีวิตคน ประชาธิปไตยก็ไม่ยิ่งใหญ่กว่าชีวิตคน หน้าที่ในการปกป้องสังคมก็ไม่ยิ่งใหญ่กว่าชีวิตคน ที่รัฐอ้างว่าเป็นหน้าที่ต้องปกป้องความสงบสุขเรียบร้อย ก็ไม่ยิ่งใหญ่กว่าชีวิตคน

กฎหมายจัดการไม่ได้ ตำรวจจัดการไม่ได้ รัฐบาลก็ทำอะไรไม่ได้ แล้วสังคมนี้จะอยู่กันอย่างไร มีคนวิตกแบบนี้ และนี่เป็นแรงขับดันทำให้พลังอำนาจทหารที่เข้ามาแทรกแซงทางการเมืองเป็นไปได้สูง ดังนั้นต้องถามว่าแล้ว นปช.ต้องการอย่างนั้นหรือเปล่า ทำไมต้องการอย่างนั้น หรือกลุ่มที่เคลื่อนไหวต้องการอย่างนั้นหรือ ถ้าเราไม่ต้องการ เราต้องการรักษาประชาธิปไตยใช่ไหม เราจะต้องไม่ทำให้ไปสู่ทางนั้น แน่นอนว่าเขาจ้องอยู่ เราก็ไม่ต้องสร้างเงื่อนไข

หลังเหตุการณ์นองเลือดวันที่ 10 เมษา ดูหมือนสังคมไทยยังไม่ได้เรียนรู้จากความสูญเสีย
เช่นเดียวกับที่ไม่เคยถอดบทเรียนในอดีตของการใช้ความรุนแรงแก้ปัญหาการเมือง เพราะจนถึง
วันนี้ทั้งสองฝ่ายยังส่งสัญญาณว่ากำลังจะเดินไปสู่จุดนั้นอีกครั้ง และครั้งนี้สังคมก็กำลังจะอนุญาตให้ใช้ความรุนแรงอย่างชอบธรรม

ภาวะเงื่อนไขเช่นนี้ ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ตั้งคำถามกับนักประชาธิปไตยฝ่าย นปช.และรัฐบาลว่ายังจะเลือกเดินทางนี้อีกหรือ

สองฝ่ายขาดความชอบธรรม

“ที่จริงมันเตือนกันมาตลอด แต่มันก็ไปจนได้ ก่อนหน้านี้ข้อเรียกร้องทางสังคมก็พูดอยู่สองเรื่องใหญ่ๆ เรียกร้องอันแรกก็คือว่าจะต้องใช้แนวทางสันติทั้งสองฝ่าย หมายความว่ารัฐบาลก็ต้องใช้มาตรการแบบสันติวิธี การกำกับการควบคุมผู้ชุมนุมก็ใช้แบบสันติ ขณะเดียวกันผู้ชุมนุมก็ต้องใช้แนวทางสันติ และดูเหมือนจากวันที่ 12 มี.ค.เป็นต้นมา ในช่วงแรกที่จริงมันก็เกิดสิ่งใหม่ๆ เช่น รัฐบาลก็มีตัวแทนอย่างคุณกอร์ปศักดิ์ นปช.ก็มีหมอเหวงเพื่อประสานงานในการจัดการชุมนุม ประสานงานบริหารการชุมนุม ซึ่งถามว่าในอดีตที่ผ่านมามันมีไหม มันมีระดับไม่เป็นทางการ เช่น เจ้าหน้าที่ตำรวจประสานงานกับผู้ชุมนุม ก็มีการประสานกัน ที่จริง นปช.ก็พูดตั้งแต่ต้นว่าจะไม่ยึดสถานที่ราชการ จะใช้แนวทางสันติ รัฐบาลก็ยืนยันว่าจะบริหารโดยสันติวิธี ถ้าดูในช่วงแรกๆ จะเห็นว่าไปไหนก็จะแจ้งว่าจะใช้เส้นทางไหนในการเคลื่นขบวน มีการตกลงกันเพื่อว่าจะบริหารได้ คือมีเจ้าหน้าที่ดูแล เจ้าหน้าที่ก็ต้องมีสองด้าน คุ้มครองผู้ชุมนุม หมายความว่าป้องกันไม่ให้ผู้อื่นมาทำลายการชุมนุมหรือมาทำร้ายคุกคาม ขณะเดียวกันก็ให้การชุมนุมนี้ไม่ไปกระทบกระเทือนสิทธิของผู้อื่นมากนัก ซึ่งช่วงแรกๆ ก็มีการบริหารจัดการกันอยู่ จนถึงขั้นมีการเจรจา เจรจารอบหนึ่ง เจรจารอบสอง คือพอมีสันติคนก็เรียกร้องให้เจรจา แต่ว่าการเจรจาสองครั้งก็อย่างที่ทราบ ที่จริงมันเหมือนจะตกลงกันได้ เพราะว่ารับหลักการร่วมกันว่าข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมคือยุบสภา รัฐบาลก็ยืนยันว่ายุบสภา แต่ว่าข้อแตกต่างที่สำคัญก็คือว่าจะยุบเมื่อไหร่ และหลังจากนั้นก็ไม่มีการเจรจา ผู้ชุมนุมก็ใช้วิธียกระดับ เริ่มใช้มาตรการเข้าไปกดดันในพื้นที่ เข้าไปยึดราชประสงค์ การยึดราชประสงค์ผมว่ามันก็เป็นภาวะอันหนึ่งที่เป็นปัญหาของสังคม เพราะมันมีผลกระทบโดยรวม รัฐบาลถูกกดดันว่าให้จัดการ และพอหลังจากเขายกระดับไปบุกรัฐสภา รัฐบาลก็ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทันที ซึ่งก็เป็นข้อถกเถียงอยู่เหมือนกันว่าการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินด้วยเหตุผล การบุกยึดรัฐสภาเพียงพอไหม อันนี้ก็ยังเป็นข้อถกเถียง แต่ว่าเมื่อประกาศไปแล้วประการสำคัญของการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินก็คือ การสามารถใช้กำลังทุกกำลัง หน่วยงานของรัฐทุกหน่วย โดยเฉพาะหน่วยงานทหารสามารถเข้ามาบริหารในสถานการณ์พิเศษ ใช้กฎหมายพิเศษ พอสถานการณ์พิเศษแบบนี้มันก็สามารถระดมกำลังทุกฝ่ายเข้ามา พอหลังจากนั้นเหตุการณ์ก็พัฒนาไป รัฐบาลก็ใช้มาตรการตัดสัญญาณ PTV เพราะเห็นว่าการตัดสัญญาณน่าจะเป็นการลดผู้คนลงได้ ที่จริงปรากฏการณ์ปิดกั้นมันเป็นปัญหามาตั้งแต่พฤษภาแล้ว ปิดกั้นเมื่อไหร่คนก็จะโหมมาในพื้นที่ เขาก็ไปลาดหลุมแก้วไปยึดคืน ซึ่งหลังจากนั้นกระแสสังคมมันเปลี่ยน มันเหมือนทหารยอม คล้ายๆ กับไม่สามารถจัดการกับปัญหาได้ วันที่ยึดไทยคม ผู้คน สังคมมีกระแสตีกลับ ซึ่งเดิมเป็นกระแสสันติกระแสยืนยันเจรจามาตลอด แต่พอการเคลื่อนไหวที่กดดันกันมันก็ทำให้เกิดการเปลี่ยนว่าทหารไม่สามารถ จัดการบ้านเมืองได้ พอมาถึงวันที่ 10 เม.ย. พอเข้าไปจัดการก็เกิดเหตุการณ์”

“คือตอนนี้ข้อเท็จจริงวันที่ 10 เม.ย. มันอาจจะไม่ปรากฏชัด แต่ว่าสิ่งที่เราเห็นได้ ปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือว่ามันเหมือนโมเดลหลายๆ ครั้งของสังคมไทย 14 ตุลาก็โมเดลทำนองนี้ หมายความว่ามันมีการใช้ความรุนแรง ก่อความรุนแรงเพื่อให้สองฝ่ายเผชิญหน้า และก็เกิดผลอย่างที่เห็น เกิดการปะทะ พฤษภาก็เป็นแบบนี้ ที่จริงพฤษภานี่เป็นปรากฏการณ์ที่ชัดเจน เพราะตอนหลังคนที่ก่อเหตุการณ์ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจริงๆ เขาก็ยอมรับ เป็นที่ประจักษ์หลักฐานชัดเจนว่าเขาทำอะไรให้เกิดการปะทะกันระหว่างประชาชนกับทหาร ผมคิดว่านี่คือสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นวิธีคิดของการเปลี่ยนแปลง ที่คิดว่าจุดเปลี่ยนที่จะเปลี่ยนได้ก็ต่อเมื่อใช้การปะทะ ใช้ความรุนแรง เพราะเชื่อว่าความรุนแรงจะสามารถทำลายความชอบธรรมของฝ่ายคู่ต่อสู้ลงได้ ในที่นี้ก็หมายความว่า ถ้าเกิดความรุนแรงขึ้นมาเมื่อไหร่ ไม่ว่าจะเป็นความรุนแรงของฝ่ายไหน ฝ่ายนั้นก็จะสูญเสียความชอบธรรม แต่ว่าข้อสังเกตของผมก็คือว่า ในวันที่ 10 เม.ย. ไม่ว่าจะมีการเสียชีวิตของคนสองฝ่าย ฝ่ายทหาร-ฝ่ายผู้ชุมนุมเสียชีวิต แต่ว่าสองฝ่ายก็ไม่สามารถมีความชอบธรรมสูงสุด รัฐบาลก็ไม่มีความชอบธรรมที่ใช้กำลังเข้าไป ขณะเดียวกันก็เกิดคำถามกับผู้ชุมนุม แกนนำ นปช.ว่ามีความชอบธรรมเพียงพอไหมที่เกิดความรุนแรงในคราวนี้ แม้ว่าจะมี เพราะว่าภายหลังจากเหตุการณ์วันที่ 10 เม.ย. สิ่งที่เป็นปัญหาตลอดมาในความรุนแรงทุกครั้งของสังคมไทยก็คือ เราจัดการกับข้อเท็จจริง จัดการกับความจริง วิธีการจัดการกับความจริงที่เกิดขึ้นเสมอๆ หลังจากเกิดความรุนแรงก็คือว่า แต่ละฝ่ายก็มีชุดความจริงคนละชุด และอธิบายกันคนละชุด ถามว่าทำไมมีชุดความจริงคนละชุดในเหตุการณ์เดียวกัน เราจะเห็นว่าการใช้ความจริงคนละชุดก็เพื่อจะสร้างความชอบธรรมให้ตัวเอง เพื่อทำลายคู่ต่อสู้ ทั้งสองฝ่ายตอนนี้ก็คือมีความจริงมากมายที่ไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร ฝ่ายรัฐก็พยายามจะใช้สื่อเพื่อควบคุมความจริง เพื่ออธิบายความจริงของเขา ขณะเดียวกัน นปช.ก็ใช้ความจริงอีกชุดหนึ่ง”

คลิปเดียวกัน แต่อธิบายต่างกัน

“อธิบายคนละแบบ ทั้งที่จริงมันเป็นเหตุเดียวกัน เป็นข้อเท็จจริงเดียวกัน เป็นเหตุการณ์เดียวกัน แต่อธิบายความจริงคนละชุด ถามว่าทำไมต้องอธิบายความจริงคนละชุด ก็เพราะว่าต้องการทำลายความชอบธรรมอีกฝ่าย สร้างความชอบธรรมให้ตัวเองว่าตัวเองไม่ได้ผิดในเหตุการณ์นั้น และอันนี้เป็นปัญหาทุกครั้งของความรุนแรงที่เกิดขึ้น ไม่ว่าความรุนแรงขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่ ยกตัวอย่างความรุนแรงที่ตากใบหรือที่กรือเซะ ก็มีการอธิบายคนละชุดระหว่างภาครัฐกับภาคประชาชน มันเป็นทำนองเดียวกัน ถามว่าแล้วประเด็นสำคัญของเรื่องนี้คือ เราจะจัดการกับความจริงนี้อย่างไร เพราะว่าในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ไม่ว่าประวัติศาสตร์ 14 ตุลา 6 ตุลา พฤษภา หรือแม้แต่ประวัติศาสตร์ 7 ตุลา หรือเดือนเมษาปีที่แล้ว เราจัดการเอาความจริงไม่ได้เลย สังคมไทยไม่มีกระบวนการจัดการความจริงนี้ ว่าถึงที่สุดแล้วเราจะยอมรับกันได้ไหมว่าความจริงคืออะไรกันแน่ ความจริงนี้มันหมายถึงว่าเรากำลังจะยอมรับความผิดพลาดหรือข้อบกพร่องของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และนำพาไปสู่การรับผิดชอบของฝ่ายที่กระทำ อันนี้เป็นปัญหาของสังคมไทยอย่างร้ายแรงมาก”

เราไม่เคยชำระประวัติศาสตร์ได้

“นี่คือปัญหาใหญ่ ครั้งนี้เลยมีข้อเรียกร้องของหลายฝ่ายที่บอกว่าเราจำเป็นต้องมี จะเรียกว่าคนที่เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายก็ไม่ได้ แต่หมายความว่ามีคนที่สามารถเอาความจริง ตั้งกรรมการความจริงขึ้นมา อาจจะตั้งจากทุกฝ่าย สองฝ่ายก็ได้ สามฝ่ายก็ได้ แต่มีทุกฝ่ายเข้ามา และก็ค้นหาความจริง ซึ่งว่ากระบวนการนี้ต้องทำ อย่างไรก็ต้องทำ เพราะว่าเรากำลังจัดการกับความจริงในความขัดแย้ง ที่แน่นอนว่ามีอคติอยู่ในการมองความจริงหรืออธิบายชุดความจริงของความรุนแรง ที่เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นเราจำเป็นต้องมีอันนี้เพื่อเราจะได้ความจริง แม้ว่าความจริงที่ได้มาจากการค้นหา แต่ว่าเป็นที่ยอมรับได้อย่างน้อย คือให้ทุกฝ่ายยอมรับได้ เพราะว่าการที่ทำให้ทุกฝ่ายยอมรับความจริงได้มันนำไปสู่การสร้างความจริงอีก ชุดหนึ่งที่ทำให้เราสามารถที่จะคืนดีกันได้ เพราะถ้าไม่มีความจริงร่วมกัน มีความจริงกันคนละชุดมันก็ยังเป็นปฏิปักษ์กันอยู่เสมอๆ และมันจะไม่สามารถยุติความเป็นปฏิปักษ์ได้ แต่ถ้าเราแสวงหาความจริงขึ้นมาร่วมกันสักชุดหนึ่ง ซึ่งเป็นที่ยอมรับได้อย่างน้อย และก็สามารถนำพาไปสู่การรับผิดชอบของฝ่ายต่างๆ ที่ก่อให้เกิดความรุนแรง ผมว่าอันนี้เป็นภารกิจที่สำคัญมากของสังคมไทยในตอนนี้”

แต่ในช่วงฝุ่นตลบเวลานี้คงเกิดขึ้นได้ยาก

“รัฐต้องเป็นผู้ริเริ่ม ต้องตั้งคนขึ้นมา ที่จริงไม่ว่าจะกรณีกรือเซะ กรณีตากใบ เราก็มีคณะกรรมการความจริง มีการค้นหาความจริง มีกรรมการอิสระที่รัฐบาลตั้งขึ้นมา มีวุฒิสภาสืบหาความจริง คือสถาบันรัฐสภาก็ทำหน้าที่ มีกรรมการสิทธิฯ ตอนนั้นก็มีการจัดการความจริงด้วยวิธีนี้ และครั้งนี้ผมก็คิดว่ามันมีความหมายมากที่เราจะพิสูจน์ความจริง และที่สำคัญมากกว่านั้นผมคิดว่าสถานการณ์ปัจจุบันมันมีข้อดีอยู่อย่างหนึ่ง ในเรื่องความจริง คือว่ามันปกปิดไม่ได้อย่างแต่ก่อน มันเปิดเผย สื่อสาร ผู้คนทุกคนสามารถบันทึกความจริงได้หมดเลย แต่ว่าความจริงที่บันทึกมันอาจจะบันทึกเหตุการณ์ไม่ได้ทั้งหมด มันบันทึกได้เป็นจุดๆ แต่ว่าเราจะมาเชื่อมโยงข้อมูลความจริงนี้ได้อย่างไร ถ้าตั้งกรรมการอิสระชุดนี้ขึ้นมาผมว่ามันต้องเดินหน้า คือแน่นอนตอนนี้สองฝ่ายพยายามจะอธิบายความจริงชุดของตัวเอง ซึ่งอันนี้เป็นประเด็นที่เราต้องฝ่าให้ได้ เพราะไม่อย่างนั้น จนถึงวันนี้เราก็ไม่สามารถเอาความจริงใน 14 ตุลา 6 ตุลา กระทั่งพฤษภา แม้ว่าจะมีความจริงออกมาบ้าง แต่ว่ามันก็ไม่ได้เป็นความจริงร่วมกัน”

ฝ่ายรัฐเองก็ยังพยายามอธิบายความจริงในชุดของตัวเองอยู่

“การอธิบายความจริงแบบนี้มันจะนำพาไปสู่การเผชิญหน้ามากขึ้นๆ ซึ่งไม่ได้เป็นผลดี คือถ้าพูดถึงสังคมไทยก็แล้วกันนะครับ ไม่ใช่ผลดีต่อทั้งสองฝ่าย แต่มันไม่ใช่ผลดีกับสังคมไทย หมายความว่าเราจัดการกับความขัดแย้งที่นำไปสู่การแยกขั้วออกไปเรื่อยๆ นำไปสู่การไม่ไว้วางใจ นำไปสู่การทะเลาะเบาะแว้งหรือฆ่าฟันกันได้ง่ายมากขึ้น”

แต่ละฝ่ายก็มีความคิดในชุดของเขาอยู่แล้ว ต่อให้อีกฝ่ายพยายามอธิบายแค่ไหน ก็ไม่ได้ทำให้เปลี่ยนใจได้
“นี่คือปัญหา เพราะว่าความขัดแย้งมันไม่ใช่เพิ่งเริ่มต้น ความขัดแย้งมัน 5 ปีมาแล้ว เพราะฉะนั้นการอธิบายชุดความจริงของสองฝ่ายมันมีมาตลอด ในการอธิบาย อันนี้ที่เป็นเรื่องใหญ่ เพราะฉะนั้นเรื่องนี้เป็นเรื่องแรกที่เราจะต้องมาดูว่าจะต้องจัดการความจริงอย่างไร เพราะว่าความจริงมันจะหายไปทุกครั้ง ถ้าเกิดว่าใครชนะ ความจริงก็เป็นของผู้ชนะ แต่ผมคิดว่าครั้งนี้เราจะต้องไม่ให้เป็นแบบนั้น สังคมไทยจะต้องมีวุฒิภาวะพอที่จะต้องทำเรื่องนี้ เพราะว่ามันจะนำพาไปสู่หลายๆ เรื่อง อย่างน้อยก็คือว่าทุกคนจะรู้ว่าใครต้องรับผิดชอบกับสิ่งที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะรับผิดชอบทางกฎหมายในอนาคต หรือรับผิดชอบทางการเมือง หรือรับผิดชอบทางศีลธรรมของผู้คนที่จะต้องมีสำนึก ที่จริงเหตุการณ์วันที่ 10 เม.ย.มันเหมือนเป็นคลิกที่น่าจะผ่านได้ ไม่น่าจะเป็นความรุนแรงขึ้นมา แต่ผมคิดว่ายังมีคนหลายฝ่ายเชื่ออยู่นะครับว่าการใช้แนวทางรุนแรงนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้ แนวทางสันติมันไม่สามารถนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้ เลยไม่เลือกทางนี้”

ส่วนหนึ่งมันมีกองเชียร์ให้รัฐจัดการ ส่วนฝ่ายเสื้อแดงก็ต้องการแตกหัก

“กองเชียร์สองฝ่าย กองเชียร์รัฐบาลก็บอกให้จัดการด้วยกฎหมายเด็ดขาด ซึ่งในความหมายด้วยกฎหมายเด็ดขาดก็แฝงด้วยความรุนแรงอยู่ ขณะเดียวกันแนวร่วม นปช.ก็เห็นว่ารัฐบาลคุกคามปิดกั้น เป็นตัวสร้างเงื่อนไข มันก็เลยเกิดสภาวะแบบนี้ ที่สำคัญของการเกิดเหตุการณ์ครั้งนี้ เนื่องจากมันสั่งสมมาเป็น 5 ปี ประเด็นอีกประเด็นหนึ่งที่ผมคิดว่าน่าจำเป็นที่เราจะเรียนรู้กันก็คือ ในความรุนแรง ทุกครั้งของความรุนแรง สิ่งที่ทำให้กำจัดคู่ต่อสู้ได้ เขาเรียกว่าการสร้างกระบวนการทางความคิดความเชื่อหรือทัศนคติให้คนเชื่อว่า อีกฝ่ายหนึ่งเป็นศัตรู หรือไม่ก็อีกฝ่ายหนึ่งไม่ได้เป็นมนุษย์ เป็นทรราช เป็นโจร เป็นผู้ก่อการร้าย เขาเรียกว่ากระทำการลดทอนความเป็นมนุษย์ การลดทอนคู่ต่อสู้ในความเป็นมนุษย์มันทำให้รู้สึกว่าที่เราทำลายไปนั่นไม่ ใช่คน ไม่ใช่มนุษย์ เรามองว่าคู่ต่อสู้ไม่มีคุณค่า ลดทอนคุณค่าความเป็นคนของเขา มันจึงทำให้เราสามารถจัดการกับคนกลุ่มนั้นได้ หรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งก็จัดการกันได้ เพราะฉะนั้นการปลูกฝัง การโน้มน้าวให้เห็นเป็นอย่างนี้เรื่อยๆ มันนำพาไปสู่สิ่งเหล่านี้ นำพาไปสู่การกำจัด เป็นการแบ่งแยกคนที่เราเห็นว่าเขาเป็นศัตรู ไม่ใช่เป็นคน เช่น เป็นอาชญากร เป็นผู้ก่อการร้ายที่ต้องกำจัดทิ้ง”

เวลานี้ความเกลียดชังมันเดินมาถึงจุดที่ฆ่ากันโดยไม่รู้สึกผิดอีกแล้ว

“มันพัฒนามาไกล เหมือนกับการกำจัดนักศึกษาเมื่อปี 2519 ก็คือลดทอนว่านักศึกษากลุ่มนั้นไม่ได้เป็นคนไทย เป็นคอมมิวนิสต์ เป็นผู้กระทำการทำร้ายสถาบัน เมื่อทำร้ายสถาบันเขาก็ไม่ได้เป็นคนไทย เขาไม่ได้เป็นมนุษนย์เหมือนกับเราอีกต่อไปแล้ว เขาควรถูกกำจัดทิ้ง ครั้งนี้มันอาจไม่ได้ชัดแจ้งขนาดนั้น แต่ว่าถึงที่สุดก็จะไปสู่จุดนั้น เนื่องจากว่าการสั่งสม ที่สำคัญครั้งนี้มันใช้สื่อ มีการใช้สื่อมาตลอด ถ้าเราดูสื่อปัจจุบันก็มีสื่อที่เลือกข้างเลย มีจุดยืนทางการเมืองที่ชัดเจนในการอธิบายความชอบธรรมของตัวเองและก็อธิบาย ความไม่ชอบธรรมของอีกฝ่ายหนึ่ง ก็อธิบายเป็นชุดๆ ในการให้ข้อมูลกับประชาชน และสื่อเหล่านี้มีอิทธิพลอย่างมหาศาลในแง่การโน้มน้าวให้คนเชื่อ ให้คนคิด สร้างทัศนคติ สร้างชุดความจริงขึ้นมาชุดหนึ่งในการอธิบายเรื่องราวกับคนอื่นอยู่ตลอดเวลา ผมว่าตอนหลังสื่อไม่สามารถกำกับตัวเองได้เลย คือมันเลยเถิดข้ามไปถึงขั้นที่ว่าเมื่อมันเป็นสื่อสาธารณะ มันเลยไปถึงขั้นที่ว่ามันสามารถไปสร้าง บ่มเพาะความเกลียดชังสั่งสมมาเรื่อยๆ จนกลายเป็นความเกลียดชังรวมหมู่ การเกลียดชังรวมหมู่นำไปสู่การที่จะพร้อมจะใช้ความรุนแรง ถ้าเราดูที่เขาสัมภาษณ์ทั้งสองฝ่ายเขาไม่รู้จักกันเลย ทหารก็บอกว่าเป็นหน้าที่ ฝ่ายผู้ชุมนุมก็บอกว่าเป็นหน้าที่ที่จะพิทักษ์สิทธิประชาธิปไตย ไม่ได้รู้จักกัน แต่ว่าพร้อมที่จะห้ำหั่นเข้าหากัน ทำลายล้างกันได้ อันนี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้น การบ่มเพาะด้วยสื่อแบบนี้มันกำกับไม่ได้ และมันเป็นช่องว่างอยู่ด้วยในสถานการณ์ที่ผ่านมา หนึ่งรัฐเข้าไปกำกับไม่ได้เลย ขณะเดียวกันโดยหลักการรัฐก็ไม่ควรเข้าไปกำกับ แต่ว่าที่สำคัญมันต้องกำกับโดยอย่างอื่น เช่น คนที่ทำสื่อก็ต้องกำกับตัวเองที่จะไม่เลยเถิดไปถึงขนาดนั้น เลยเถิดในที่นี้หมายความว่าเป็นการสร้างความเกลียดชัง สร้างความแตกต่าง ไม่เป็นพวกเดียวกัน ซึ่งผมเห็นว่ามันควรจะต้องกำกับตัวเอง หรือไม่ก็ให้สังคมกำกับ แต่ว่าตอนนี้ทั้งสามอย่าง มันไม่มีเลยในสังคมไทยที่ผ่านมา การใช้สื่อในระยะ 5 ปีที่ผ่านมาไม่สามารถทำอย่างนี้ได้เลย รัฐก็กำกับไม่ได้ ตัวสื่อเองก็กำกับกันไม่ได้ สังคมที่ควรจะมีวุฒิภาวะที่จะกำกับก็กำกับไม่ได้ มันเลยอยู่ในภาวะอย่างนี้ ซึ่งเป็นสถานการณ์ใหม่ในสังคมไทยที่ทำให้แนวโน้มที่ทำให้ความขัดแย้งมันขยาย ตัว”

ทั้ง 3 ส่วนไม่เหลือเครดิตที่จะมากำกับตรวจสอบกันแล้ว

“สมมติว่าคุณเป็นสื่อเลือกข้าง มีอุดมการณ์ชัดเจน แต่อย่างไรก็ตามมันมีเส้นบางที่ต้องรับผิดชอบว่าจะต้องไปเลยเถิดถึงขั้นที่ จะไปทำร้าย ทำลาย ลดทอนคุณค่าของอีกฝ่ายหนึ่ง สร้างความเกลียดชังบ่มเพาะความเกลียดชัง สร้างความแตกต่างให้เป็นกลุ่ม อันนี้ต้องมี มันเป็นคุณค่าของคน เป็นจริยธรรมส่วนตัวที่ต้องมีให้ได้ อันที่สองผมคิดว่าสื่อทั่วไปตอนนี้แน่นอนว่ามีสื่อที่อาจจะมีจุดยืนเลือก ข้าง แต่ว่าอย่างไรก็ตามสื่อทั่วไปก็ยังมีหลายฝ่ายอยู่ในนั้น บางทีก็มีสมดุลอยู่ภายในองค์กรเขาเอง หนังสือพิมพ์บางฉบับก็มีหลายจุดยืนอยู่ในที่เดียว มันก็อาจจะมีถ่วงดุลกันอยู่ แต่ว่าสื่อเลือกข้างนี่ไม่มีการถ่วงดุลเลย มันไปข้างใดข้างหนึ่งได้ทันที สื่อที่ยังไม่เลือกข้างโดยตัวของเขาเอง หมายความว่าบางคนบางคอลัมน์ก็อาจจะมีทัศนคติทางการเมืองโอนเอียงไปข้างนี้ ก็ยังมีดุลอยู่บ้าง และก็อย่างน้อยในสื่อหนังสือพิมพ์หรือสื่อวิทยุโทรทัศน์ก็ยังมีองค์กร วิชาชีพอยู่บางระดับ ซึ่งที่จริงมันควรจะมีบทบาทอย่างเข้มแข็งในสถานการณ์อย่างนี้ ที่จะกำกับสังคมไม่ให้เดินเข้าสู่สงคราม เพราะแน่นอนว่าการต่อสู้กันทางการเมืองตั้งแต่ 5 ปีมาแล้ว สื่อกลายเป็นเครื่องมืออย่างสำคัญในการต่อสู้กันทางการเมืองในสงครามการ เมืองทั้งสองฝ่าย และนี่คือสิ่งที่เกิดขึ้น จะรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวแต่สื่อก็กระโจนเข้าสู่สงครามการเมืองของทั้งสองฝ่าย เพราะว่าสื่อเป็นตัวสื่อสารอธิบายเรื่องราวให้คนได้รู้ ถ้าเขาอธิบายชุดความคิดไปทางใดทางหนึ่ง มันก็คือเข้าสู่สงครามเลือกข้างโดยชัดเจน แม้ว่าผมเข้าใจว่าเขาก็พยายามจะทำแต่ว่าสถานการณ์มันลากพาไป แต่ที่มันเป็นอย่างนั้นก็เพราะว่าผู้คนในสังคมก็เลือกข้าง หมายความว่าสังคมก็ไม่สามารถเตือนสติสื่อ มันไปด้วยกันในสังคม”

ความรุนแรงรวมหมู่

“ตอนนี้ทำไมรัฐถึงใช้ความรุนแรงได้ เพราะว่าสังคมบางส่วนเรียกร้องให้รัฐใช้ มันไม่ใช่เพราะว่ารัฐมีความชอบธรรมล้วนๆ ที่จะใช้ แน่นอนว่ารัฐมีอำนาจการใช้ความรุนแรงนั้นสูงอยู่แล้ว เช่นการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน การใช้เครื่องมือเหล่านี้ มันคือเครื่องมือแห่งความรุนแรง แต่ว่าถ้าเขาจะใช้ความรุนแรงคืบหน้าไป หมายความว่าสังคมเรียกร้องให้เขาใช้”

หรือว่ารัฐก็รอให้มาถึงจุดนี้ด้วย

“เพราะว่าความรุนแรงมันมีอยู่ในสังคมอยู่แล้ว มันไม่ใช่มีอยู่ในทหาร มันไม่ได้มีอยู่ในรัฐอย่างเดียว เราต้องมองให้ไกลถึงสังคม รัฐบาลจะใช้ความรุนแรงได้หรือไม่มันยังอยู่ที่ภาคสังคมด้วยนะ สังคมอนุญาตให้ทำหรือไม่ แต่ปัจจุบันผมคิดว่าสังคมอนุญาต ที่สังคมอนุญาตให้ใช้เพราะว่านอกจากการสั่งสมความขัดแย้งกันมา ที่ใช้สื่ออธิบายชุดความคิดแล้ว การเคลื่อนไหวที่คนรู้สึกว่าถูกคุกคาม ไม่มีความสงบ คือเขารู้สึกไม่ปลอดภัย นี่เป็นปัญหาใหญ่นะครับ ความรู้สึกไม่ปลอดภัยขึ้นมาเมื่อไหร่คือต้องการการปกป้อง การเคลื่อนไหวของ นปช.หลายอย่างทำให้คนรู้สึกไม่ปลอดภัยนี่มีอยู่จริงนะครับ”

เพราะรูปแบบการเคลื่อนไหวที่ยกระดับกดดันอยู่ตลอดเวลา จนเลยเส้นการชุมนุมอย่างสันติ

“มันเลยนะ บางเรื่องนี่เลย มันไปคุกคาม เส้นแบ่งที่สำคัญคือการเคลื่อนไหวแบบสันติหรือโดยสงบจะต้องไม่ไปคุกคามถึงชีวิตคนอื่น อันนี้เป็นกติกา เพราะว่าสันติวิธีที่สำคัญก็คือว่าไม่ว่าฝ่ายรัฐบาลหรือฝ่ายผู้ชุมนุมก็ตามคุณค่าชีวิตจะต้องมาก่อนเป็นอันดับหนึ่ง ไม่มีสิทธิ์อ้างประชาธิปไตยเพื่อเอาชีวิตเข้าไปทำลายชีวิต ขณะเดียวกันไม่ใช่เอาอำนาจหน้าที่เพื่อรักษาสังคมแล้วทำลายชีวิต อันนี้มันต้องมาก่อน แต่ปัจจุบันนี้ไม่ใช่”

เหตุนี้ไพโรจน์ถึงเรียกร้องความรับผิดชอบจากฝ่ายแกนนำ นปช.ด้วย

“ถูกต้อง ใครที่เป็นแกนนำการชุมนุม ผู้รับผิดชอบการชุมนุมต้องรับผิดชอบชีวิตคน เป็นภาระที่ยิ่งใหญ่มากในการต่อสู้ ว่าเราจะรักษาชีวิตผู้คนที่มาชุมนุมกับเราได้อย่างไร เพราะฉะนั้นการคิดวิธีการต่อสู้ทุกวิธีการต้องมีหลักนี้อยู่ในใจเสมอๆ ต้องยึดหลักการนี้ให้ได้ แม้ว่าประชาชนผู้มาชุมนุมจะพร้อมที่จะเสียสละชีวิต ซึ่งผมคิดว่ามีอยู่จริง ไม่ว่าการชุมนุมของพันธมิตรฯ หรือการชุมนุมของ นปช. มีคนพร้อมที่จะสละชีวิตเพื่อบรรลุเป้าหมายทางการเมืองที่ตัวเองเชื่อว่าเป็นอย่างนั้น มีอยู่จริงแน่ๆ เขาพร้อมที่จะตาย แต่ว่าผู้นำก็ไม่ใช่เอาสิ่งเหล่านี้ เอาความพร้อมของผู้คนที่จะสละชีวิตนำพาเขาไปสู่การเสียชีวิต ผมคิดว่าทั้งสองฝ่ายมันต้องคิดเรื่องนี้ เพราะว่านี่คือคุณค่าที่สำคัญที่สุด ผมคิดว่าไม่มีอะไรยิ่งใหญ่กว่าชีวิตคน ประชาธิปไตยก็ไม่ยิ่งใหญ่กว่าชีวิตคน หน้าที่ในการปกป้องสังคมก็ไม่ยิ่งใหญ่กว่าชีวิตคน ที่รัฐอ้างว่าเป็นหน้าที่ต้องปกป้องความสงบสุขเรียบร้อย ก็ไม่ยิ่งใหญ่กว่าชีวิตคน เพราะมันยังมีทางเลือกอื่น ผมว่าสังคมมันยังมีทางเลือก ผมยังตัวอย่างครั้งนี้มันมีทางเลือกก่อนเกิดวันที่ 10 เม.ย.ที่จริงมันเจรจากันได้ มันมีทางเลือกอยู่นะแต่ว่ามันไม่เลือกทางนั้น”

ต่างฝ่ายก็รู้ว่ามันจะเดินไปสู่จุดไหน

“ก็ยังเดินไป อันนี้แหละที่น่าเศร้าใจมาก ที่น่าเศร้าใจเพราะอะไร เพราะเรามีประสบการณ์บทเรียนการสูญเสีย เรามีวีรชนมามากแล้ว แต่ปรากฏว่าเราก็ยังเดินไปจนได้ ทั้งๆ ที่เบรกกันมาตลอด คือสังคมก็พยายามจะติดเบรก พยายามจะเตือนพยายามจะพูด ซึ่งพลังอย่างนี้ไม่เพียงพอที่จะทำให้ฝ่ายรัฐบาลและแกนนำได้สำนึก ไม่มีพลังพอให้พวกเขาได้สำนึก”

“เป็นหน้าที่ที่รัฐบาลจะ safe ชีวิตคน ยินยอมให้มีการชุมนุมโดยสงบได้และก็ป้องกันคนอื่นมาทำร้ายการชุมนุมที่สงบ คุณจะชุมนุมกันตรงไหนก็ได้ อันนี้เป็นการแสดงออกที่สำคัญในระบอบประชาธิปไตยที่จะทำให้คนสามารถแสดงออกได้ แต่ว่าที่สำคัญมันไม่เป็นอย่างนั้น เมื่อมีความรับผิดชอบมาก การตัดสินใจหลายอย่างจึงถูกตรวจสอบมากกว่าปกติ ครั้งนี้ก็ถูกตรวจสอบเยอะ รัฐบาลถูกตรวจสอบอย่างหนักเหมือนกัน อันนี้ที่ทำให้การใช้ความรุนแรงมันถูกจำกัด แต่ว่าถึงที่สุดที่บอกว่ามันน่าเศร้าก็คือมันเดินไปสู่จุดนั้นจนได้ ทั้งๆ ที่คนเขาก็คาดหมายกันอยู่เยอะว่าไม่ควรจะไปถึง มันควรจะสันติมันควรจะเจรจา แต่มันไม่เกิด”

จุดพีกคือการบุกรัฐสภา และประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

“มันเริ่มมาตลอด การไปราชประสงค์การบุกรัฐสภาเป็นจุดเปลี่ยน การที่รัฐบาลปิด PTV นปช.ไปที่ลาดหลุมแก้ว มันนำไปพาไปสู่การเผชิญหน้าทั้งนั้น ด้วยวิธีแบบนั้น และประกอบกับมันเป็นความรุนแรงรวมหมู่ในสังคมอยู่ด้วย มันไม่ใช่ความรุนแรงของภาครัฐหรือภาคแกนนำ นปช.แต่มันมีความรุนแรงรวมหมู่ที่ทุกคนต้องการให้จัดการให้เบ็ดเสร็จเด็ดขาด ให้มันจบภายในระยะเวลา อันนี้ก็เป็นอยู่ทุกวันนี้ และมันก็จะสั่งสมความรุนแรงรวมหมู่อยู่ตอนนี้”

“ผมมาคิดอย่างนี้ว่าครั้งนี้มันมีความแปลก คือตั้งแต่ 5 ปีที่ผ่านมาเราจะเห็นได้ว่าเนื่องจากมันร้าวลึกมันทำให้เรามีวีรชนของกลุ่ม ไม่มีวีรชนของประเทศไทยอีกแล้วในการเสียสละ อันนี้ก็เป็นความเจ็บปวดมากๆ เพราะอะไร ตอนเกิดเหตุการณ์ 7 ต.ค. ผู้ชุมนุมของพันธมิตรฯ เสียชีวิต ซึ่งพันธมิตรฯ ก็ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยก็บอกว่านั่นคือวีรชน แต่ไม่ใช่วีรชนของสังคมไทย ขณะเดียวกันวีรชนของ นปช.ก็ไม่มี การเสียชีวิตครั้งนี้ก็บอกไม่ได้ว่าเป็นวีรชนของใคร ทหารเสียชีวิตในการปะทะกันเป็นวีรชนของชาติหรือวีรชนของใคร ไม่มีอีกแล้ว มันกลายเป็นวีรชนของกลุ่ม ลองไปคิดกันดู เสียสละเพื่อกลุ่ม ไม่ใช่เสียสละเพื่อสังคมไทยอีกแล้ว เรามีวีรชน 14 ตุลา 6 ตุลายังอธิบายกันไม่ได้ ยังคลุมเครือ พฤษภาเป็นวีรชนสังคมไทยแน่เพราะเห็นพ้องต้องกัน แต่ตอนนี้เราไม่เห็นพ้องต้องกันอีกแล้วในเรื่องของการเสียสละของผู้คน”

วีรชนของศัตรูไม่ใช่ของพวกเรา

“ซึ่งอันนี้เรียกว่าเป็นสิ่งที่อันตรายมาก เราไม่สามารถเห็นพ้องต้องกันว่าการเสียสละของคน 24 คนในวันที่ 10 เม.ย.ที่ผ่านมา เราจะเห็นพ้องต้องกันได้บ้างไหมว่าเขาเสียสละไปทำไม และเราจะเดินหน้าไปสู่การฆ่ากันอีกใช่ไหม ซึ่งผมว่าไม่ใช่เจตนารมณ์ของคนที่เสียสละ ถ้าเรายิ่งไปฆ่ากันมันไม่สามารถทำให้การเสียชีวิตนี้มีคุณค่าจริง”

แต่กลับมีส่วนหนึ่งในสังคมรู้สึกว่าสมควรแล้ว

“มีคนคิดอย่างนี้จริง ทั้งสองฝ่ายนะ ทหารเสียชีวิตก็มีการพูดว่าสมควร ผู้ชุมนุมเสียชีวิตก็มีคนคิดว่าสมควร อันนี้เป็นอันตราย เป็นทัศนะที่อันตรายต่อการสร้างสรรค์สันติภาพ สร้างสรรค์ประชาธิปไตยในสังคมไทย เพราะมันไม่มีการเห็นพ้องต้องกันอีกแล้ว นี่ขนาดการเสียชีวิตคนเรายังเห็นพ้องต้องกันไม่ได้ เราไม่เห็นพ้องต้องกันว่าพวกเขาเสียสละเพื่ออะไรของสังคม ที่เราอยากสร้างสรรค์”

แกนนำ นปช.บางคนเขาก็รู้สึกว่าตอนนี้บรรลุผล

“ที่เขาคิดว่าชนะผิด คิดว่าเขาไม่ได้ชนะนะ และไม่คิดว่าเขาได้เปรียบนะครับ ภาพใหญ่ที่ทุกคนให้เจรจาตอนนั้นเขามีอำนาจต่อรองสูง แต่พอเกิดความรุนแรงขึ้นเมื่อวันที่ 10 เม.ย. พูดกันอย่างตรงไปตรงมาที่สุดทั้งสองฝ่ายก็สูญเสียความชอบธรรมทั้งคู่ รัฐบาลก็ไม่มีความชอบธรรม นปช.ก็ไม่มีความชอบธรรม จะเห็นว่าทำไมจึงไม่เหมือนเดิม ถ้าเป็นเมื่อก่อนเขาเรียกร้องให้รัฐบาลลาออกหมดแล้ว แต่คราวนี้ทำไมกระแสไม่ไป เพราะว่ามันไม่มีความชอบธรรม มันมีอะไรบางอย่างอยู่ทั้งสองฝ่าย มีความไม่ชอบธรรมอยู่ทั้งคู่ในเรื่องความรุนแรงที่เกิดขึ้น สองฝ่ายต้องรับผิดชอบทั้งคู่ คือสังคมคิดอย่างนั้น ทีนี้ก็ขึ้นอยู่กับกระแสสังคมในตอนนี้ ฉะนั้นความรับผิดชอบตรงนี้สำคัญ สังคมอื่นอย่าเอาความรุนแรงรวมหมู่ไปกดดันให้เกิดความรุนแรง ไม่ว่าจะอนุญาตให้รัฐใช้ความรุนแรงก็ตาม หรือ นปช.เองก็ต้องรับผิดชอบต่อชีวิตผู้คน เพราะฉะนั้นการเดินเข้าสู่การเจรจาเป็นทางออกที่ดีที่สุด ถ้าบอกว่าเป้าหมายทางเมืองคือการยุบสภา มันก็กำลังจะบรรลุแล้ว รัฐบาลก็ยืนยันว่าจะยุบสภาแน่นอน เพียงแต่ช่วงเวลาที่ต่างกันเท่านั้น ถามว่าเป้าหมายนี้พี่น้อง นปช.บรรลุเป้าหมายทางการเมืองไหมในการเรียกร้อง ก็บรรลุ ทางเลือกไม่ใช่ไม่มีเลยนะครับ สมมติว่าข้อเรียกร้องมีทางเลือกแล้ว บรรลุหรือยัง บรรลุแล้ว ก็ตกลงว่ายุบ ซึ่งก็ต่อรองกันได้ แต่คำถามคือทำไมเราไม่เลือกหนทางนั้น ตอนเจรจาครั้งที่สองสังคมก็เรียกร้องให้เจรจาอีกครั้ง แต่ก็ไม่เลือก ครั้งนี้ผมว่าก็ยังมีทางเลือกอยู่นะแต่จะเลือกไหมล่ะ ยังมีทางเลือกอีก เพื่อรับผิดชอบต่อ 24 ชีวิตที่ตายไป คุณจะเลือกอีกไหม เลือกให้ตายมากกว่านี้ไหม ทั้งสองฝ่าย หรือเลือกที่จะหยุดการตาย เราหยุดการฆ่าได้นะครับ สองฝ่ายมีสิทธิ์หยุดการฆ่าได้เมื่อกลับเข้าสู่โต๊ะเจรจา

เว้นแต่ว่าต้องการให้เกิด chaos

“ถ้าเป้าหมายคือยุบสภาหยุดได้แล้ว เลือกได้แล้ว เลือกได้ที่จะไม่เกิดการฆ่ากันมากขึ้น ยังสามารถรับผิดชอบต่อชีวิตผู้คน รัฐบาลก็เหมือนกัน ทั้ง นปช.ทั้งรัฐบาลเห็นอยู่ว่าถ้าเดินไปอย่างนี้มันเห็นการสูญเสีย”

สุกงอมกว่า 19 กันยา หลังปรับโครงสร้าง ศอฉ.ให้ พล.อ.อนุพงษ์เข้ามาสั่งการคุมกำลัง มีนัยยะว่าจะจัดการอย่างเด็ดขาด

“ก็ยังห่วงอยู่นะ ยังห่วงอยู่สองเรื่อง คือหนึ่งถ้าเขาใช้มาตรการทางกฎหมาย เช่นการจับกุม ใช้อำนาจอยู่ในขอบเขตนี้ ก็น่าจะรับได้ว่าควรจะทำได้ขนาดไหน ขณะเดียวกันผมคิดว่ากระแสสังคมตอนนี้มันพลิกกลับไปให้รัฐใช้ความเบ็ดเสร็จ เด็ดขาด ความว่าเด็ดขาดมันแฝงด้วยความรุนแรงอยู่ในตัว แม้จะบอกว่าใช้กฎหมายแบบเด็ดขาด ดำเนินการทางกฎหมายอย่างเข้มงวดเข้มข้นที่พูดกัน แต่ก็คือการให้ใช้ความรุนแรง กำลังจะอนุญาตให้ใช้ความรุนแรง อันนี้เป็นปัญหา ว่าถ้าไม่ช่วยกันกำกับการใช้ความรุนแรง นี่คือภาครัฐนะ แต่ว่าในขณะเดียวกันผมคิดว่าผู้ชุมนุม แกนนำ นปช.เอง ถ้าจะรักษาชีวิตผู้คนนี่ถือเป็นภารกิจอันศักดิ์สิทธิ์ที่สุดในฐานะแกนนำ ว่าชีวิตคนในผู้ชุมนุมเป็นสิ่งที่มีคุณค่าสูงสุด ต้องปรับตัวเอง การหันหน้าเข้าสู่การเจรจาเป็นการปรับตัวเพื่อทดแทนการเสียชีวิตของคน 24 คน เป็นการให้คุณค่าคนเหล่านั้น ที่สำคัญที่สุดก็คือการกลับมาเจรจาหาทางออก แล้วมันจะยุติความรุนแรง คือถ้าตัดความรุนแรงไปได้หลังจากนี้นั่นคือความรับผิดชอบที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ไม่ใช่จะนำไปสู่ความรุนแรงที่ยิ่งใหญ่ขึ้น”

เริ่มมีการส่งสัญญาณจากกลุ่มอื่นในสังคม

“มันมีสัญญาณแบบนั้น ก็เลยขอพูดในเชิงสติกันในทางสังคมว่าจริงๆ ถ้าเรายังเรียกร้องให้ใช้แนวทางสันติ เรียกร้องให้เจรจา ก็จะหยุดความรุนแรงได้ ขอให้เจรจา คือมีเป้าหมายชัดเจนอยู่แล้ว ก็มากำหนดเวลากันเสีย นั่นแหละเป็นทางออกที่ยังเลือกได้ท่ามกลางความขัดแย้งที่จะนำพาสังคมไปสู่ การเข่นฆ่าอีกรอบหนึ่ง แนวทางสันติจริงๆ มันยังทำได้ ยังมีทางออก เพราะฉะนั้นสังคมส่วนใหญ่ต้องเรียกร้องทางออกนี้ อย่าอนุญาตให้มีการใช้ความรุนแรง อย่าเป็นส่วนหนึ่งให้สองฝ่ายใช้ความรุนแรง เพราะแน่นอนว่าการสูญเสียของสองฝ่ายย่อมสร้างความรู้สึกเคียดแค้นเกิดขึ้น แน่ๆ และยิ่งการใช้สื่อไปตอกย้ำความเกลียด ไม่ว่าจะอ้างว่าตอกย้ำความจริง แต่อีกทางหนึ่งมันคือการตอกย้ำความเกลียดชัง ของทั้งสองฝ่ายนะ คือสองฝ่ายอธิบายชุดความจริง แต่ว่าชุดความจริงที่อธิบายไปตอกย้ำความเกลียดชังอีกฝ่ายหนึ่ง สื่อก็ต้องเอาตัวเองออกมาจากจุดนี้ด้วย จุดที่สร้างความเกลียดชังรวมหมู่”

“ตอนนี้เราสามารถเริ่มทำความจริงวันที่ 10 เม.ย.ให้ปรากฏได้แล้ว ถามว่าทำไมเราจะต้องสะสาง เราจะพัฒนาประชาธิปไตยใช่ไหม ถ้าเราคิดว่านี่คือความขัดแย้งทางความคิดเห็นที่แตกต่าง เราจะพัฒนากันไป มันกำลังจะทดสอบเรา ให้เราทบทวนตัวเองว่าเราจะเลือกทางที่มันไปสู่ความรุนแรงที่เพิ่มขึ้นหรือ ไม่ และถ้าเกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยอีกอย่าง 10 เม.ย. มันไม่ได้จบในวันที่ 10 เม.ย.นะ มันอาจจะหลายปีมาก มันจะยังฝังแน่นในจิตใจคน เหมือนกัน 7 ต.ค. หรือ เม.ย.ปีที่แล้วมันก็ยังฝังอยู่ในใจคน ยังไม่ได้สะสางอะไรเลย เพราะฉะนั้นที่บอกว่าจบมันไม่ได้จบ ความรุนแรงมันไม่จบ การใช้ความรุนแรงไปกระทำต่อความรุนแรงมันไม่ได้จบในวันนั้นนะ มันยังขวางอยู่ตลอด ความรุนแรงมันยังอยู่ในใจคน ซึ่งเราไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จะขุดหรือจะแก้มันอย่างไร การใช้ความรุนแรงทางกายภาพมันนำไปสู่ความรุนแรงที่ลึกลงไปในความเชื่อความ คิดของคน”

เราพัฒนาประชาธิปไตยด้วยการกำจัดกลุ่มคนที่คิดต่าง

“วิธีแก้เราคือว่าถ้ามีความเห็นต่างกันเราก็จัดการความเห็นที่แตกต่างออกไปเสีย และเราคิดว่าเราจะสร้างสรรค์ประชาธิปไตยได้ แต่เราสร้างไม่เคยได้ ที่จริงบทเรียนเรามีหลายชุดนะ การต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์ก็จัดการอีกแบบหนึ่ง การแก้ปัญหาภาคใต้ก็ยังเป็นบททดสอบใหญ่กับเราอยู่ การจัดการแบบรุนแรงกับสงครามยาเสพติดก็เหมือนกัน คือจัดการด้วยวิธีแบบนี้ ก็ยังเป็นบทเรียนอยู่หลายชุดมาก”

พอจัดการไม่ได้ ก็ถูกแทรกแซงจากอำนาจนอกระบบ

“ตอนนี้ก็มีสถานการณ์นี้อยู่ คือมันคล้ายๆ มีความสุกงอมพอที่จะทำให้การใช้อำนาจทางทหารเข้ามาแทรกแซงได้ ที่จริงผมว่ามันดูเหมือนสุกงอมอาจจะมากกว่า 19 กันยาด้วยซ้ำไป มันมีเงื่อนไขสูงมาก สมมติว่ารัฐจัดการกับผู้ชุมนุมไม่ได้ ไม่มีอะไรจัดการได้ และถ้ายังเป็นอยู่อย่างนี้ ยังคุกคามอยู่อย่างนี้ตลอด รัฐก็ไม่มีความหมาย มันก็ต้องมีอำนาจที่ต้องจัดการได้ เขาเห็นว่าจัดการอะไรไม่ได้เลย กฎหมายจัดการไม่ได้ ตำรวจก็จัดการไม่ได้ รัฐบาลก็ทำอะไรไม่ได้ แล้วสังคมนี้จะอยู่กันอย่างไร ผมคิดว่ามีคนวิตก และนี่เป็นแรงขับดันทำให้พลังอำนาจทหารที่เข้ามาแทรกแซงทางการเมืองเป็นไปได้สูง ผมถึงบอกว่าสูงกว่า 19 กันยา ดังนั้นต้องถามว่าแล้ว นปช.ต้องการอย่างนั้นหรือเปล่า ทำไมต้องการอย่างนั้น หรือกลุ่มที่เคลื่อนไหวต้องการอย่างนั้นหรือ ถ้าเราไม่ต้องการ เราต้องการรักษาประชาธิปไตยใช่ไหม เราจะต้องไม่ทำให้ไปสู่ทางนั้น แน่นอนว่าเขาจ้องอยู่ เราก็ไม่ต้องสร้างเงื่อนไข มันเหมือนจะไปทางนั้น แต่เราจะมุ่งประสงค์ไปทางนั้นทำไม”

ไพโรจน์เตือนว่าการเลือกใช้คำว่าก่อการร้ายรัฐบาลต้องทำตามกระบวนการยุติธรรม ไม่ใช่วิธีพิเศษ

“ที่รัฐบาลใช้คำว่าก่อการผมเข้าใจว่าเขาต้องการจะอธิบายกับสังคมนานาชาติ เพราะคำนี้มันถูกสร้างขึ้นจากสหรัฐอเมริกาที่ถูกคุกคาม UN ก็พิจารณาเรื่องนี้ ตอนนี้ทุกประเทศมีกฎหมายเรื่องความผิดการก่อการร้าย อเมริกากำลังสร้าง เดิมต่อสู้กับคอมมิวนิสต์แต่ตอนนี้ภัยคุกคามของโลกคือลัทธิก่อการร้าย ไม่คุกคามเฉพาะอเมริกาแต่คุกคามโลก ทำไมรัฐบาลถึงใช้คำนี้เพราะมันมีกฎหมายนี้อยู่ด้วย กฎหมายว่าด้วยความผิดเรื่องการก่อการร้าย การจำกัดความว่าเป็นผู้ก่อการร้ายเขาก็พยายามแยกแยะที่จะใช้อำนาจที่แตกต่าง กัน ระหว่างคนที่รัฐอธิบายว่าเป็นภัยคุกคาม ไม่ใช่คุกคามรัฐบาลอย่างเดียว แต่เป็นภัยคุกคามของประเทศ ภัยคุกคามของสังคม หรือเป็นภัยคุกคามต่อสถาบันของชาติ หลายฝ่ายก็ตอบรับแบบนี้ ที่จริงมันก็อันตรายที่จะนำพาไปสู่การใช้มาตรการที่รุนแรงเกินขอบเขตได้ ถ้าเกิดตั้งข้อหาแบบนี้ก็ต้องต่อสู้กันในกระบวนการปกติ กระบวนการทางการศาล ไม่ใช่ใช้วิธีกำจัดนอกระบบ ถ้าเราเดินด้วยทิศทางที่ยังมีรัฐเป็นนิติอยู่ ถ้าคนเหล่านี้ถูกตั้งข้อหาว่าก่อการร้ายก็ว่ากันในทางศาล ต้องเดินตามกระบวนการยุติธรรมไม่ใช่นอกระบบ ผมก็คิดว่ามันเป็นความยากลำบากสูงในแง่สถานการณ์ การยุติปัญหาไม่ได้ง่าย เราอาจจะพูดกันง่าย แต่มันยาก ความขัดแย้งครั้งนี้เป็นการจัดการที่ยากที่สุด เท่าที่ผ่านมา หมายความว่าสังคมไม่อยู่เฉยแล้ว ความตื่นตัวของคนมันตื่นตัวสูงมาก แม้ว่าการตื่นตัวนั้นจะเลือกข้างไม่เลือกข้างก็ตามแต่ การแสดงออกของผู้คนต้องอนุญาตให้เขาแสดงออกได้นะ กลุ่มต่างๆ สามารถแสดงออกได้เพียงแต่ว่าทำอย่างไรให้การแสดงออกนั้นเกิดข้อถกเถียงที่หา ทางออกที่ไม่อันตรายกับสังคมเกินไป หรือถ้าพูดอย่างผมก็คือไม่ควรจะเป็นทางออกที่นำพาไปสู่การอนุญาตให้ใช้ความ รุนแรง ถ้าเรามีสติกันเพียงพอนะมันก็จะทำให้เราก้าวไปได้ คือไม่ให้การสูญเสียวันที่ 10 เม.ย.เป็นการสูญเปล่า ต้องคำนึงเรื่องนี้ให้มาก ไม่ให้เป็นความสูญเสียที่เปล่าประโยชน์ จะต้องนำพาสังคมไทยไปสู่ประชาธิปไตยที่ดีกว่า”.

***เผยแพร่ครั้งแรกใน ไทยโพสต์