นงเยาว์ กลับนุ้ย : บทสะท้อนสิทธิในการปล่อยตัวชั่วคราวของคนจน

นงเยาว์ กลับนุ้ย : บทสะท้อนสิทธิในการปล่อยตัวชั่วคราวของคนจน

“ช่วยไม่ได้ ก็ต้องอยู่ให้ได้”
คำพูดทั้งน้ำตา ของป้านงเยาว์

นงเยาว์ กลับนุ้ย อายุ 64 ปี หนึ่งในชาวชุมชนน้ำแดงพัฒนา สมาชิกสหพันธ์เกษตกรภาคใต้ 12 คน (ถูกออกหมายจับ 15 คน) ที่ถูกดำเนินคดีอาญาความผิดฐาน ซ่องโจร ร่วมกันบุกรุกเข้าไปในอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่นเพื่อถือการครอบครองอสังหาริมทรัพย์นั้น ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนหรือเข้าไปกระทำการใดๆ อันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่นโดยปกติสุข และร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ซึ่งพืชหรือพืชผลของกสิกร (อ่านข้อมูลเพิ่มเติม )

นงเยาว์ ถูกออกหมายจับพร้อมชาวบ้านชุมชนน้ำแดง 15 คน และถูกตำรวจ สภ. ชัยบุรีเข้าไปจับกุมที่ชุมชนเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2560พร้อมชาวบ้านอีก 4 คน

หลังจากนั้น วันที่ 21 เมษายน ก็มีชาวบ้านถูกจับเพิ่มอีก 2 ราย

หลังจากการจับกุม ญาติของผู้ถูกจับแต่ละรายและทนายความจากเครือข่ายทนายความสิทธิมนุษยชนภาคใต้ ก็พยายามยื่นขอประกันตัวผู้ถูกจับกุม

แต่การขอประกันตัวไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะมีการกำหนดอัตราหลักประกันตามจำนวนข้อหาและคดีที่ค่อนข้างสูง ซึ่งในกรณีนี้มีการแยกดำเนินคดีเป็น 3 คดีตามจำนวนผู้ที่มาร้องทุกข์

และแต่ละคดีจะมีทั้ง 3 ข้อหา ซึ่งแต่เดิมมีการตั้งข้อหา 2 ข้อหา คือ บุกรุก และทำให้เสียทรัพย์ และมีการมาเพิ่มข้อหาซ่องโจรเข้าไปในภายหลัง

ดังนั้น ชาวบ้านแต่ละรายจึงต้องถูกดำเนินคดีถึง 3 คดี

ที่น่าสังเกตคือ ในการกำหนดอัตราหลักประกัน แต่เดิมนั้น มีการกำหนดหลักประกันในราคา 90,000 บาท รวม 3 คดีจะเท่ากับ 270,000 บาท แต่ตอนหลัง ศาลได้มีการเพิ่มอัตราหลักประกันเป็นคดีละ 200,000 บาท รวม 3 คดีจึงเท่ากับ 600,000 บาท

การกำหนดหลักราคาหลักประกันสูงถึง 600,000 บาท ทำให้ชาวบ้านต้องพยายามหาหลักประกันมาให้ได้

บางรายก็ใช้วิธีเช่าหลักประกันจากบริษัทประกัน โดยราคาหลักประกัน 600,000 บาท จะมีค่าเช่าอยู่ที่ 60,000 บาท (ราคาค่าเช่าคิดเป็น 10 % ของราคาหลักประกัน)

บางรายก็หายืมจากญาติ และมีการยื่นขอจากกองทุนยุติธรรม กระทรวงยุติธรรมมาประกันตัวด้วย

ชาวบ้านได้รับการประกันตัวออกมาเรื่อยๆ และเหลือผู้หญิง 2 คนสุดท้าย คือ วิไลวรรณ และ นงเยาว์

วันที่ 30 พฤษภาคม หลังจากต้องถูกขังไปแล้วกว่า 38 วัน วิไลวรรณ ก็ได้รับการประกันตัว จากหลักทรัพย์ของญาติ

“เรายื่นขอกองทุนยุติธรรมไปเมื่อปลายเดือนเมษายน หลังจากทุกคนออกมาแล้วก็มีการทยอยอนุมัติให้ทีละคน ในส่วนของนางวิไลวรรณ ได้รับอนุมัติมาเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม หลังนางวิไลวรรณ ได้ถูกประกันตัวออกมาแล้ว แต่ในส่วนของนางนงเยาว์นั้น กองทุนยุติธรรม ไม่อนุมัติ
อ้างว่านงเยาว์เคยถูกดำเนินคดีข้อหาบุกรุกป่าสงวนมาแล้วครั้งหนึ่ง”. สมาชิกสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ท่านหนึ่งให้ข้อมูล

ป้านงเยาว์ กลับนุ้ย จึงยังคงถูกคุมขังต่อไป เพราะไม่สามารถหาหลักทรัพย์มาประกันตัวได้

แต่ในที่สุด ทางทีมทนายความก็หาหลักทรัพย์ประกันมาได้ โดยได้ไปหยิบยืมสลากออมสินขององค์กรพัฒนาเอกชนแห่งหนึ่งมาใช้เป็นหลักประกันตัว

ป้านงเยาว์จึงได้รับการปล่อยตัวออกมาเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ.2560 รวมระยะเวลาที่อยู่ในเรือนจำ 48 วัน

ทีมงานของ HRLA ได้มีโอกาศคุยกับป้านงเยาว์กลับนุ้ย ชาวบ้านน้ำแดงผู้ถูกปล่อยตัวคนสุดท้าย ถึงความรู้สึกเมื่อต้องถูกจับกุมคุมขัง เพียงเพราะการต่อสู้เพื่อให้เกิดการปฏิรูปการกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรมให้แก่เกษตร

ถาม : รู้สึกอย่างไรเมื่อได้ยินว่าเค้าเรียกหลักประกัน 600,000 บาท ?

ตอบ : ตอนนั้นเข้าไปอยู่ในคุกแล้ว คนที่ตามมาทีหลังเค้าบอกว่ามีคดีเพิ่มมาอีกแล้ว อีกหลายคดี อั้งยี่ ซ่องโจร แล้วก็จะเพิ่มหลักประกัน ทำให้ประกันไม่ได้ ไม่ได้ประกันให้เพราะหลักทรัพย์ไม่พอ
ครั้งแรก ก็คิดว่า 10,000 หรือ 20,000 แต่เค้าบอกว่า 600,000 มันก็ยาก มันคงจะช่วยไม่ได้แล้ว
ป้าก็คิดว่าอย่างนั้น มันเยอะ

ป้าออกมาคนสุดท้าย อยู่ในคุก 48 วัน แล้วตอนนั้นเกือบประกันไม่ทัน เกือบจะได้กลับเข้าไปอีกแล้ว จนวินาทีสุดท้ายเลย

ถาม : แล้วตอนที่ได้ยินว่าเขาเพิ่มข้อหาอั้งยี่ซ่องโจรรู้สึกอย่างไร ?

ตอบ : ก็รู้สึกว่าถ้าช่วยได้ก็ดี ถ้าช่วยไม่ได้ก็ไม่เป็นไร ช่วยไม่ได้ก็จะต้องอยู่ให้ได้ (หมายถึงอยู่ในเรือนจำ – เพิ่มโดยผู้สัมภาษณ์) แต่ขอให้คนที่ทำงานอยู่ข้างหลัง ให้เดินหน้าไปเรื่อยๆ อย่าให้ท้อ
ส่วนป้าเอง ก็ทนได้ ก็อยากให้ทำงานไปเรื่อยๆ แม้ว่าไม่ได้ประกันก็จะอยู่ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะตัดสิน

ถาม : แล้วตอนนั้นครอบครัวเป็นอย่างไรบ้าง ?

ตอบ : ลูกๆ ก็ให้รอ เขาพอที่จะช่วยได้ แต่ว่าถ้าช่วยไม่ได้ก็จะต้องอยู่ไปเรื่อยๆ ป้าจะรอลูกจากตรงนั้น

แต่พอดีว่ามีคนที่พอจะช่วยได้ ที่เข้าไปอยู่ก็ภาวนาอยู่ในใจว่าให้ทางบ้านและ สกต. ของเราทำงานให้เต็มที่ พวกเขากำลังทำงานไม่ท้อ ป้าก็ไม่ท้อ ป้าก็จะอยู่ให้ได้ แต่ว่ามีน้อยคนที่จะเข้าไปบอกได้
เพราะว่าญาติก็ไม่ได้เข้าไปเยี่ยมทุกวันต้องรอเป็นหลายอาทิตย์ แต่ก็รออยู่

ถาม : ข้างในเป็นอย่างไรบ้าง ?

ตอบ : ที่เข้าไปอยู่บางทีก็มีคนถามว่าอยู่ได้ไหม ? ป้าบอกว่าไม่มีใครจะอยู่ได้ แต่จำเป็นต้องอยู่
ข้างในมีคนประมาณ 600 คน แค่ห้องเล็กๆ วันที่เป็นวันเสาร์-อาทิตย์หรือวันที่มีเทศกาลอะไรก็ต้องยืน ที่นั่งไม่พอต้องยืนบ้าง ถ้ามีคนไปทำงานก็พอได้นั่งบ้าง ได้พักผ่อนบ้าง แต่พอถึงเวลาประมาณ ตีสี่ (16.00น) ขึ้นห้องนอนแล้ว แดดยังร้อนอยู่ ตีสามขึ้นตีสี่ (15.00 น. -16.00 น.) ได้กินข้าว กินข้าว วันละ 2 ครั้ง ข้าวเที่ยงตี 12 (12.00 น.) พอตอนบ่ายครั้งที่สองก็กินอีก แล้วก็ได้เวลานอน จะไปกินอะไรได้ ไม่ว่าคนป่วยหรือไม่ป่วย ก็ไม่กินอะไรได้