สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2563 นายคณากร เพียรชนะ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะชั้นต้นในศาลจังหวัดยะลา ได้ใช้อาวุธปืนปลิดชีพตัวเอง โดยในจดหมายลาได้กล่าวถึงเหตุการณ์เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2562 ที่นายคณากรได้พยายามจบชีวิตของตนเป็นครั้งแรก โดยการใช้อาวุธปืนยิงตัวเองในห้องพิจารณาคดี บัลลังก์ 4 ศาลจังหวัดยะลา ภายหลังจากที่อ่านคำพิพากษายกฟ้องคดีหนึ่ง พร้อมกับมีการเผยแพร่คำแถลงการณ์ที่มีสาระสำคัญกล่าวถึงการแทรกแซงผลคำพิพากษาโดยอธิบดีผู้พิพากษาภาค พร้อมทั้งมีการเรียกร้องให้มีการแก้ไขเรื่องตรวจร่างคำพิพากษาโดยอธิบดีผู้พิพากษาภาค เพราะเป็นการแทรกแซงความเป็นอิสระขององค์คณะผู้พิพากษาในการพิจารณาพิพากษาคดี เหตุการณ์ครั้งนั้น เป็นเหตุให้ที่ประชุมคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมครั้งที่ 16/2562 วันที่ 18 พฤศจิกายน 2562 มีมติตั้งกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรมพ.ศ. 2543 มาตรา 68 และมีมติให้นายคณากร ไปช่วยทำงานชั่วคราว ในกองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 จังหวัดเชียงใหม่ หลังจากนั้นก็ไม่มีการแจ้งความเคลื่อนไหวของกรณีนี้อีก จนกระทั่งการตัดสินใจจบชีวิตตนเองของนายคณากรดังที่ปรากฎเป็นข่าว
จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) ขอแสดงความอาลัยต่อการจากไปของนายคณากร เพียรชนะ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะศาลชั้นต้นในจังหวัดยะลา และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า เหตุการณ์นี้จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาในกระบวนการยุติธรรมอย่างจริงจัง โดยเฉพาะประเด็นการแทรกแซงความเป็นอิสระขององค์คณะผู้พิพากษาโดยผู้บังคับบัญชา ซึ่งเป็นเหตุผลสำคัญที่นายคณากรตัดสินใจจบชีวิตตนเองลงถึงสองครั้ง โดย ประเด็นดังกล่าวถือเป็นหัวใจสำคัญในการอำนวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชน หากข้อเท็จจริงเป็นดังเช่นที่นายคณากรพยายามสื่อสารต่อสังคมด้วยชีวิตของเขาแล้ว ย่อมสร้างความเสียหายให้กับระบบกระบวนการยุติธรรมและก่อความเสียหายแก่ประชาชนอย่างร้ายแรง และอาจสั่นคลอนความเชื่อมั่นในระบบยุติธรรมของประเทศได้
สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) จึงขอเรียกร้องต่อผู้เกี่ยวข้องดังต่อไปนี้
1. ขอให้คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงที่ถูกแต่งตั้งโดยคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) แถลงรายงานการสอบสวนข้อเท็จจริงที่ค้นพบจากการตรวจสอบ โดยเฉพาะข้อเท็จจริงในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการแทรกแซงคำพิพากษา เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
2. ขอให้มีการทบทวนแก้ไขบทบัญญัติต่าง ๆ ทั้งระเบียบราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรมว่าด้วยการรายงานคดีสำคัญในศาลชั้นต้นและศาลชั้นอุทธรณ์ต่อประธานศาลฎีกาและรายงานคดีและการตรวจสำนวนคดีในสำนักงานอธิบดีผู้พิพากษาภาค พ.ศ.2562 และพระธรรมนูญศาลยุติธรรมฯ มาตรา 11 อันเป็นช่องทางให้เกิดการแทรกแซงความเป็นอิสระในการพิพากษาคดีได้ โดยควรปล่อยให้การตรวจสอบคำพิพากษาเป็นไปตามระบบการทบทวนคำพิพากษาโดยศาลชั้นที่สูงกว่า
3. ขอให้พิจารณานำประเด็นความเป็นอิสระขององค์คณะในการพิพากษาพิจารณาคดีมาเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่กำลังดำเนินไปในปัจจุบัน โดยอาจพิจารณานำหลักการที่เคยบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 249 ที่บัญญัติให้ “การพิจารณาพิพากษาอรรถคดีของผู้พิพากษาและตุลาการไม่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาตามลำดับชั้น” มาเป็นแนวทาง
ทั้งนี้ สมาคมฯ เชื่อมั่นอย่างยิ่งว่าเกียรติศักดิ์และความมั่นคงของสถาบันตุลาการ จะดำรงอยู่และเป็นที่เชื่อถือไว้วางใจของประชาชนได้นั้น จะต้องอาศัยกระบวนการยุติธรรมที่โปร่งใส ตรวจสอบได้ และต้องรับฟังความคิดเห็นและเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากประชาชน
ด้วยความเคารพต่อสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
แถลงมา ณ วันที่ 8 มีนาคม 2563
กรุงเทพมหานคร