ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน คดีบริษัทธรรมเกษตรฟ้องหมิ่นประมาท งามศุกร์ รัตนเสถียรอาจารย์ประจำสถาบันสิทธิฯ

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน คดีบริษัทธรรมเกษตรฟ้องหมิ่นประมาท งามศุกร์ รัตนเสถียรอาจารย์ประจำสถาบันสิทธิฯ

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน คดีบริษัทธรรมเกษตรฟ้องหมิ่นประมาท งามศุกร์ รัตนเสถียร อาจารย์ประจำสถาบันสิทธิฯ โดยมีประเด็นวินิจฉัยว่าพยานโจทก์ไม่สามารถนำสืบได้ว่างามศุกร์เป็นผู้แชร์โพสต์แถลงการณ์ขององค์กร Fortify Rights

16 กรกฎาคม 2563 ศาลอุทธรณ์ได้มีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น คดีบริษัทธรรมเกษตร โดยนายชาญชัย เพิ่มพล เป็นผู้รับมอบอำนาจดำเนินคดีแทน ฟ้องดำเนินคดีต่องามศุกร์ รัตนเสถียร อาจารย์ประจำสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา ในข้อหาหมิ่นประมาท ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 326 และมาตรา 328 จากกรณีการเผยแพร่แถลงการณ์ขององค์กร Fortify Rights ซึ่งเป็นเพียงแถลงการณ์เรียกร้องให้มีการยุติการฟ้องร้องคดีหมิ่นประมาทต่อสุธารี วรรณศิริ และนาน วิน นักปกป้องสิทธิมนุษยชน ในหน้าเฟซบุ๊กเพจของสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา โดยศาลมีประเด็นวินิจฉัยว่าพยานโจทก์ไม่สามารถนำสืบได้ว่างามศุกร์เป็นผู้แชร์โพสต์แถลงการณ์ขององค์กร Fortify Rights จริง จึงพิพากษายกฟ้อง

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าศาลชั้นต้นเเละศาลอุทธรณ์จะยกฟ้อง เเต่การถูกฟ้องคดีได้สร้างภาระแก่จำเลยเป็นอย่างมาก เนื่องจากกลไกกลั่นกรองคดีไม่ได้ถูกนำมาใช้ตั้งเเต่เเรก โดยในกรณีนี้ก่อนมีการไต่ส่วนมูลฟ้อง ทนายความจากมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน ซึ่งเป็นทนายความของจำเลยได้ยื่นคำร้องให้ศาลพิจารณาไม่รับฟ้อง เนื่องจากเป็นคดีที่โจทก์ฟ้องโดยไม่สุจริต ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 161/1

ซึ่งบัญญัติให้อำนาจศาล สามารถนำพยานหลักฐานมาดูและพิพากษายกฟ้องได้โดยไม่ต้องนำคดีขึ้นพิจารณาไต่สวนมูลฟ้อง เพื่อหลีกเลี่ยงการที่ผู้ตกเป็นเป้าหมายของการถูกฟ้องคดีปิดปากจะต้องมีภาระในการต่อสู้คดี เพราะการไต่สวนมูลฟ้องเป็นการฟังความข้างเดียวและใช้ระยะเวลาในการไต่สวนค่อนข้างนาน ทำให้ผู้ถูกฟ้องมีภาระทั้งค่าใช้จ่ายในการต่อสู้คดี เช่น ค่าทนายความ ค่าเดินทางไปศาลและค่าใช้จ่ายในการประกันตัว และเพื่อปกป้องคุ้มครองผู้ถูกฟ้องจากการเสื่อมเสียชื่อเสีย หากศาลได้มีการประทับรับฟ้อง ซึ่งก่อผลกระทบต่อหน้าที่การงานได้ อีกทั้งกลไกนี้ยังช่วยลดปริมาณคดีที่เข้าสู่ศาลด้วย

ทั้งนี้ แม้ว่าศาลชั้นต้นจะรับคำร้องดังกล่าวไว้พิจารณา แต่ศาลกลับไม่มีคำสั่งใดๆ เกี่ยวกลับคำร้องนั้นและให้มีการดำเนินการไต่ส่วนมูลฟ้องและพิจารณาคดีต่อเนื่องถึงชั้นอุทธรณ์ โดยไม่ได้นำคำร้องดังกล่าวมาพิจารณาประกอบ สะท้อนให้เห็นว่ามาตรา 161/1 ซึ่งถือเป็นกลไกสำคัญในการใช้กลั่นกรองคดีปิดปากไม่ได้ถูกนำมาใช้ ทำให้เกิดภาระต่อผู้ถูกฟ้อง ทั้งค่าใช้จ่ายในการต่อสู้คดีตั้งแต่ชั้นสอบสวนและการแบกรับความกดดันต่างๆ ดังนั้น หากจะทำให้กลไกการป้องกันการฟ้องคดีปิดปากในประเทศไทยมีประสิทธิภาพขึ้น ศาลควรพิจารณาคำร้องขอ เมื่อผู้ถูกฟ้องได้มีการยื่นคำร้องว่าโจทก์ได้ฟ้องโดยไม่สุจริต ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 161/1 เพื่อให้คดีปิดปากสามารถยุติไปได้โดยเร็ว

——-
รายละเอียดเกี่ยวกับคดี

คดีนี้เกิดขึ้นเมื่อเดือนมีนาคม 2562 บริษัทธรรมเกษตร โดยนายชาญชัย เพิ่มพล เป็นผู้รับมอบอำนาจดำเนินคดีแทน ได้ฟ้องคดีงามศุกร์ รัตนเสถียร อาจารย์ประจำสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษาในข้อหาหมิ่นประมาท ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 326 และมาตรา 328 จากกรณีการเผยแพร่แถลงการณ์ขององค์กร Fortify Rights ซึ่งเป็นเพียงแถลงการณ์เรียกร้องให้มีการยุติการฟ้องร้องคดีหมิ่นประมาทต่อสุธารี วรรณศิริ และนาน วิน นักปกป้องสิทธิมนุษยชน ในหน้าเฟซบุ๊กเพจของสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา
.

18 ก.ย. 2562 ศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยว่า การโพสต์บทความขององค์กรโฟร์ตี้ฟาย ซึ่งมีไฮเปอร์ลิ้งค์เชื่อมโยงไปยังคลิปวิดีโอที่นำเสนอเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิแรงงาน ที่ผู้รับมอบอำนาจโจทก์อ้างว่าได้พบผู้อำนวยการสถาบันฯ แล้วทราบว่าจำเลยเป็นผู้แชร์โพสต์เผยแพร่ลิงก์บทความดังกล่าว โจทก์ไม่ได้นำผู้อำนวยการสถาบันซึ่งเป็นบุคคลซึ่งพยานอ้างว่าเป็นผู้ที่ทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำของจำเลยโดยตรงมาเป็นพยาน

อีกทั้ง ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ไม่ได้เห็นการกระทำของจำเลยในขณะเป็นผู้แชร์โพสต์เผยแพร่ลิงก์บทความ จึงเป็นเพียงพยานบุคคลที่รับฟังข้อเท็จจริงจากผู้อำนวยการสถาบันถือเป็นพยานบอกเล่า ต้องห้ามมิให้รับฟัง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 226/3

ส่วนที่ผู้รับมอบอำนาจโจทก์อ้างว่าจำเลยยอมรับว่าจำเลยเป็นผู้แชร์โพสต์ลิงก์บทความขององค์กร Fortify Rights นั้น พยานโจทก์ไม่มีคำรับของจำเลย เป็นหลักฐานแสดงต่อศาล ทั้งข้อสนับสนุนของพยานโจทก์ที่อ้างข้อมูลจากเว็บไซต์ นั้นพยานเอกสารดังกล่าวระบุว่าสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดลได้แชร์โพสต์

นอกจากนี้ในส่วน จำเลย ศาลเห็นว่าเป็นเพียงอาจารย์คนหนึ่งไม่มีข้อความใดแสดงว่าจำเลยเป็นเจ้าของหรือผู้ดูแลเว็บไซต์หรือผู้มีอำนาจในการจัดการข้อมูลเว็บไซต์ ศาลได้พิจารณาประกอบคำเบิกความของผู้รับมอบอำนาจโจทก์ ตอบคำถามค้านทนายจำเลยยอมรับว่าพยานไม่ทราบว่าจำเลยมีขอบเขตหน้าที่รับผิดชอบในสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษาและไม่ทราบว่าจำเลยมีหน้าที่ดูแลและรับผิดชอบเว็บไซต์ของสถาบันดังกล่าว พยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบจึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟังได้ว่าจำเลยเป็นผู้กระทำการเผยแพร่ลิงค์บทความขององค์กรโฟร์ตี้ฟายไร้ท์ลงเว็บไซต์เฟซบุ๊กชื่อสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดลอันเป็นองค์ประกอบความผิดตามฟ้องคดีของโจทก์จึงไม่มีมูลพิพากษายกฟ้อง
.

– อ่านประวัติงามศุกร์ รัตนเสถียร shorturl.at/mKTVX
– ดูฐานข้อมูลคดีฟ้องปิดปากในประเทศไทย https://naksit.net/slappdatabase-center/