ใบแจ้งข่าว : ขอเชิญเข้าร่วมรับฟังการพิพากษา คดี 4 แรงงานชาวเมียนมาร์ถูกกล่าวหาร่วมกันฆ่านางสาวอรวี สำเภาทอง (น้องแอปเปิ้ล)

ใบแจ้งข่าว : ขอเชิญเข้าร่วมรับฟังการพิพากษา คดี 4 แรงงานชาวเมียนมาร์ถูกกล่าวหาร่วมกันฆ่านางสาวอรวี สำเภาทอง (น้องแอปเปิ้ล)

เผยแพร่วันที่ 28 มีนาคม 2561

วันที่ 29 มีนาคม 2561 เวลา 09.30 น. ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดระนอง และศาลจังหวัดระนองนัดฟังคำพิพากษาในคดีที่ชาวเมียนม่า 4 คน ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้กระทำความผิดฐานฆ่านางสาวอรวี สำเภาทอง หรือน้องแอปเปิ้ล เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2558 เหตุเกิดในซอยสำนักสงฆ์สะพานปลา ข้างโรงเจ หมู่ที่ 5 ตำบลบางริ้น อำเภอเมือง จังหวัดระนอง โดยแรงงานชาวเมียนม่าทั้ง 4 คน ถูกแยกฟ้องคดีอาญาเป็น 2 ศาล เนื่องจาก 2 ใน 4 คน ยังมีฐานะเป็นเยาวชน ดังต่อไปนี้

1. ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดระนอง คดีหมายเลขดำที่ 7/2559 ระหว่างพนักงานอัยการคดีเยาวชนและครอบครัวจังหวัดระนอง โจทก์ นางมาริษา สำเภาทอง (มารดาผู้ตาย) โจทก์ร่วม นายโมซินอ่าว ที่ 1 นายจอโซวิน ที่ 2 จำเลย โดยขณะถูกจับกุม จำเลยที่ 1 อายุ 15 ปี และจำเลยที่ 2 อายุ 14 ปี

2. ศาลจังหวัดระนอง คดีหมายเลขดำที่ 115/2559 ระหว่างพนักงานอัยการจังหวัดระนอง โจทก์ นางมาริษา สำเภาทอง (มารดาผู้ตาย) โจทก์ร่วม และนายเมาเซ้น หรือเซกะดอ ที่ 1 นายซอเล ที่ 2 จำเลย

คดีนี้จำเลยให้ข้อมูลแก่ทนายความและองค์กรที่ให้ความช่วยเหลือว่าถูกซ้อมทรมาน ทำร้ายร่างกายเพื่อให้รับสารภาพ ปรากฎร่องรอยการถูกทำร้ายให้เห็นตามร่างกาย ซึ่งถูกบันทึกไว้ในเอกสารของแพทย์ที่ทำหน้าที่ตรวจร่างกายโดยละเอียด คดีนี้จึงเป็นตัวอย่างที่ดีของแพทย์ที่ทำหน้าที่ตรวจร่างกายผู้ต้องหา ที่ได้มีการบันทึกประวัติของคนไข้ (ผู้ต้องหา/จำเลย) รวมทั้งบันทึกการตรวจร่างกายโดยละเอียดทั่วร่างกายของผู้ต้องหาหรือจำเลยไว้ แพทย์และ/หรือบุคลากรด้านสาธารณสุข รวมถึงเรือนจำ ที่ได้พบหรือตรวจร่างกายผู้ต้องหาหรือจำเลยในโอกาสแรก จึงมีบทบาทที่สำคัญอย่างยิ่งในการช่วยพิสูจน์ความจริง โดยจะต้องสังเกตพฤติกรรม กิริยาท่าทางของผู้ต้องหาหรือจำเลย รวมทั้งตรวจร่างกายจำเลยโดยอิสระ ปราศจากการแทรกแซงหรือจับจ้องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือบุคคลอื่นที่ไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้อง

นอกจากร่องรอยการถูกทรมานหรือทำร้ายร่างกายที่ปรากฏแล้ว พยานหลักฐานอื่นของฝ่ายโจทก์ก็ถือว่ายังขาดน้ำหนักอยู่ กล่าวคือ ผลการตรวจสารพันธุกรรมที่ติดอยู่ในเล็บมือของผู้ตายอันเป็นพยานหลักฐานสำคัญที่จะนำไปสู่การพิสูจน์ความผิดของจำเลย ผลออกมากลับพบว่าไม่ใช่ของจำเลยทั้งสี่ และข้อมูลจากกล้องวงจรปิดในวันเกิดเหตุ ซึ่งเจ้าพนักงานตำรวจชุดสืบสวนได้มาทั้งหมดได้ถูกจัดส่งให้พนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการเพียงบางส่วนเท่านั้น โดยฝ่ายจำเลยได้ขอให้เจ้าพนักงานตำรวจส่งข้อมูลกล้องวงจรปิดเพิ่มเติมต่อศาลเพื่อให้โอกาสจำเลยได้ใช้เป็นพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนเอง ทำให้เจ้าพนักงานตำรวจก็ต้องส่งข้อมูลกล้องวงจรปิดเพิ่มเติมต่อศาล ซึ่งพยานหลักฐานดังกล่าวก็ได้แสดงให้เห็นถึงความขัดแย้งระหว่างคำให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมของนายโมซินอ่าวกับความจริงที่ปรากฏในข้อมูลจากกล้องวงจรปิดด้วย

ประเด็นดังกล่าว  นำไปสู่คำถามที่สำคัญต่อไปว่า  กรณีที่คดีไม่ปรากฏพยานหลักฐานที่ยืนยันการกระทำความผิดของผู้ต้องหาหรือจำเลย  มีเพียงคำรับสารภาพของจำเลยเท่านั้น  บุคลากรในกระบวนการยุติธรรม ได้แก่ พนักงานสอบสวน และพนักงานอัยการ  จะใช้ดุลพินิจสั่งคดีอย่างไร  เพื่อให้เป็นไปตามหลักการแห่งกฎหมายที่ว่า “ปล่อยคนผิด 10 คน ยังดีกว่าเอาผู้บริสุทธิ์เพียงคนเดียวมาลงโทษ”  แม้ในท้ายที่สุด  ในหลายคดี  ศาลได้พิพากษาและคดีถึงที่สุดให้ยกฟ้องจำเลย  ไม่ได้ลงโทษผู้บริสุทธิ์ตามหลักการที่กล่าวข้างต้น   แต่การนำบุคคลที่ไม่มีพยานหลักฐานยืนยันว่าได้กระทำความผิดเข้าสู่ระบบกระบวนการยุติธรรม  โดยเฉพาะบุคคลนั้นเป็นผู้ที่ไม่มีสัญชาติไทย  ย่อมก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิทธิ เสรีภาพ  สุขภาพอนามัย ทรัพย์สิน  และครอบครัวของบุคคลนั้นอย่างมากในระหว่างที่ต้องต่อสู้คดีเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนเองในเรือนจำและสถานพินิจเด็กและเยาวชน   อาจกล่าวได้ว่าจำเลยได้ถูกลงโทษไปแล้วในระหว่างที่ต้องต่อสู้คดีโดยไม่ได้รับการประกันตัว   ดังนั้น  การใช้ดุลพินิจอย่างมีประสิทธิภาพของบุคลากรในกระบวนการยุติธรรม  โดยเฉพาะที่ต้องทำหน้าที่กลั่นกรองคดีจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งที่จะอำนวยความยุติธรรมในสังคม

คดีนี้  หากว่าศาลมีคำพิพากษายกฟ้องจำเลยทั้งสี่  มารดาผู้ตาย  คนในพื้นที่จังหวัดระนอง  รวมถึงสังคมโดยทั่วไปย่อมเกิดคำถามต่อกระบวนการยุติธรรมว่าจะมีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะติดตามนำตัวคนร้ายที่ (มีสารพันธุกรรมปรากฏ) อยู่ในเล็บมือของผู้ตายมาลงโทษได้หรือไม่  และใครบ้างที่ต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นกับจำเลยทั้งสี่และครอบครัว  รวมถึงใครบ้างที่จะต้องรับผิดชอบต่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนหากคนร้ายตัวจริงยังคงลอยนวลเป็นภัยต่อสังคมต่อไป

 

ข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อ

นายรัษฎา มนูรัษฎา (ทนายความ) 081- 439-4938

นางสาวจันทร์จิรา  จันทร์แผ้ว  (ทนายความ) 065-7415395