18 – 19 ธันวาคม 2560 สมาคมนักกฏหมายสิทธิมนุษยชน ร่วมกับมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ได้ลงพื้นที่บ้านป่าเด็ง อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี เพื่อจัดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “การเสริมสร้างความเข็มแข็งและการพัฒนาทักษะทางกฎหมายแก่ชุมชนชาติพันธุ์กะเหรี่ยงในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน โดยมีแกนนำชุมชนและชาวบ้านที่ประสบปัญหาด้านกฏหมายและสิทธิมนุษยชน เข้าร่วมราว 60 คน จากหลายพื้นที่ อาทิ บ้านป่าหมาก บ้านป่าเด็ง บ้านป่าละอูน้อย บ้านป่าละอูบน สวนทุเรียน บ้านปาเกอะญอ บ้านแพรกตะคร้อ บ้านบางกลอย และมีส่วนหนึ่งมาจากอำเภอหนองหญ้าปล้อง และราชบุรี ทั้งนี้ มีวิทยากรจากทั้ง นักกฏหมาย/ทนายความด้านสิทธิมนุษยชน อัยการ สคช. เจ้าหน้าที่ยุติธรรมจังหวัดเพชรบุรี เข้าร่วมแลกเปลี่ยน ให้ความรู้และประสบการณ์
ทิพวิมล ศิรินุพงษ์ ผู้จัดการสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า การจัดอบรมดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ชาวบ้านชาติพันธุ์กะเหรี่ยงมีความรู้ความเข้าใจเรื่องสิทธิขั้นพื้นฐาน มีความรู้และทักษะทางกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมเพียงพอที่จะสามารถจัดการกับปัญหาทางกฎหมายที่ไม่ยุ่งยากซับซ้อนได้ด้วยตัวเอง รวมทั้งสามารถแนะนำหรือประสานงานให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่คนในชุมชนของตนได้
ทิพวิมล กล่าวเสริมว่า ที่มาของการจัดอบรมครั้งนี้ สืบเนื่องจากสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนได้ทำงานและติดตามสถานการณ์ของชาติพันธุ์ในพื้นที่ป่าแก่งกระจานมาอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ปี 2557 หลังเกิดเหตุการณ์การหายตัวไปของนายพอละจี รักจงเจริญ หรือบิลลี่ แกนนำชาติพันธุ์กะเหรี่ยงบ้านบางกลอย ตำบลห้วยแม่เพรียง จังหวัดเพชรบุรี ภายหลังการถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานในขณะนั้น สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ได้เข้าไปช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ครอบครัวของบิลลี่ เพื่อให้มีการค้นหาความจริงในกรณีดังกล่าว หลังจากนั้นสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนก็ได้ทำงานกับกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งก็พบว่าปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนและการเข้าไม่ถึงความยุติธรรมของชาติพันธุ์กะเหรี่ยงยังไม่ดีขึ้นมากนัก โดยเฉพาะปัญหาเรื่องที่ดินทำกินและการถูกดำเนินคดี เราพบว่าในช่วงต้นปี 2560 มีชาวบ้านในหลายชุมชนถูกดำเนินคดีในข้อหาเกี่ยวกับที่ดินและป่าไม้ อาทิ บ้านบางกลอย ตำบลห้วยแม่เพรียง อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี บ้านปาเกอะญอ ตำบลป่าเด็ง อำเภอป่าเด็ง จังหวัดเพชรบุรี บ้านป่าละอู ตำบลห้วยสัตว์ใหญ่ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นต้น ส่วใหญ่ถูกดำเนินคดีข้อหาบุกรุก ก่นสร้าง แผ้วถางป่าในพื้นที่อุทยานแห่งชาติโดยไม่ได้รับอนุญาต แม้ในเชิงข้อเท็จจริงมีพยานหลักฐานหลายอย่างสามารถยืนยันได้ว่าพวกเขาคือคนดั้งเดิมที่อยู่อาศัยในผืนป่าแก่งกระจานมาก่อนการประกาศเขตอุทยานแล้ว แต่พอมีการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติ ชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่ป่าแต่เดิมมาก็กลายเป็นผู้บุกรุกป่า บางพื้นที่มีการอพยพชาวบ้านลงมา บางพื้นที่อนุญาตให้ทำกินได้ในพื้นที่จำกัด ทำให้ไม่สามรารถทำไร่หมุนเวียนตามวิถีเดิมได้
ยกตัวอย่างกรณีที่เป็นข่าวดังที่สุดในช่วงหลายปีก่อน คือบ้านบางกลอยบนและบ้านใจแผ่นดิน หลังมีการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานเมื่อปี 2524 ต่อมาปี 2539 ก็มีการอพยพชาวบ้านลงมาอาศัยในพื้นที่ข้างล่างที่รัฐจัดสรรให้ ปัจจุบันนี้เรียกว่าบ้านบางกลอย ปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือ มีชาวบ้านจำนวนหนึ่งไม่ได้รับการจัดสรรที่ดินทำกิน และบางส่วนได้รับการจัดสรร แต่ก็ไม่สามารถทำไร่หมุนเวียนตามวิถีเดิมได้ เพราะผืนดินเป็นดินลูกรัง ปลูกข้าวไม่ขึ้น และยิ่งปลูกซ้ำๆ ดินก็ยิ่งเสีย จึงทำให้ชาวบ้านบางส่วนต้องกลับขึ้นไปทำกินในพื้นที่เดิม และนั้นจึงเป็นที่มาของเจ้าหน้าที่ได้ปฏิบัติการเผาทำลายบ้าน ยุ้งฉางและทรัพย์สินของชาวบ้านกะเหรี่ยงที่บ้านบางกลอยบนและใจแผ่นดิน เมื่อปี 2554
กลับมาที่การดำเนินคดี จะเห็นว่ามันไม่มีความเป็นธรรมตั้งแต่แรกอยู่แล้ว เพราะกฎหมายป่าอนุรักษ์ต่างๆ ซึ่งมาทีหลังกลับเป็นตัวที่มาจัดการชีวิตชาวบ้าน มาบอกว่าชาวบ้านบุกรุกป่า เป็นคนผิดกฎหมาย ชาวบ้านส่งเสียงอะไรไม่ได้ กฎหมายบอกว่าผิด พวกเขาก็ต้องผิด ซึ้งร้ายพอชาวบ้านถูกดำเนินคดี ก็พบกับอุปสรรคมากมายที่ยิ่งจะทำให้การเข้าความยุติธรรมของพวกเขามีความยากลำบากขึ้นไปอีก ไม่ว่าจะเป็นการไม่รู้กฎหมาย ไม่รู้สิทธิขั้นพื้นฐาน ไม่รู้ขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรม และไม่มีผู้ให้คำปรึกษาทางกฎหมายและทนายความมาช่วยเหลือ ทำให้บางครั้งต้องยอมรับสารภาพ โดยไม่รู้ชะตากรรม กลุ่มชาติพันธุ์จำนวนมากไม่สามารถสื่อสารภาษาไทยได้ หรือสื่อสารได้แต่ก็ไม่ดีนัก ทำให้เสี่ยงที่จะยอมรับในสิ่งที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง อีกทั้งชาวบ้านจำนวนหนึ่งหรือเป็นส่วนใหญ่เป็นคนยากจน และไม่มีทรัพย์สิน ทำให้มีอุปสรรคในการประกันตัว การจ้างทนายความและการต่อสู้คดี บางคนไม่มีแม้แต่เงินจะเดินทางมาพบเจ้าหน้าที่ตามนัดหมาย และยิ่งคดีมีความยืดเยื้อก็ยิ่งซ้ำเต็มความลำบากของชาวบ้านขึ้นไปอีก
ที่กล่าวมาข้างต้น คือที่มาของการจัดอบรบครั้งนี้ขึ้น ด้วยความคาดหวังว่าชาวบ้านจะได้รู้ว่าเมื่อถูกดำเนินคดี พวกเขาจะต้องทำอย่างไร จะไปติดต่อหรือสามารถขอความช่วยเหลือไปที่หน่วยงานใดได้บ้าง ซึ่งในกิจกรรมอบรมครั้งนี้ เราก็มีการเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานยุติธรรมจังหวัด ที่ดูแลเรื่องกองทุนยุติธรรม มาให้คำแนะนำเรื่องการเข้าถึงการสนับสนุนจากกองทุนยุติธรรม มีการเชิญสำนักงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน สำนักงานอัยการจังหวัดเพชรบุรี มาให้คำแนะนำเรื่องการร้องขอความเป็นธรรมกรณีตกเป็นผู้เสียหายและตกเป็นผู้ต้องหาและไม่ได้รับความยุติธรรม นอกจากนี้ก็มีพี่ๆทนายความอาวุโสที่มีประสบการณ์มาให้คำแนะนำเรื่องสิทธิและกฎหมายที่จำเป็น
ชาวบ้านที่ตกเป็นผู้ต้องหารายหนึ่ง เล่าว่า เขาไม่เคยรู้มาก่อนว่าเขามีสิทธิอะไรบ้างเมื่อตกเป็นผู้ต้องหา เมื่อเขาพบกับตำรวจ ตำรวจถามอะไรเขาก็ตอบๆไป เขาไม่รู้ด้วยซ้ำว่าถูกดำเนินคดีข้อหาอะไรบ้าง ตำรวจให้เซนต์อะไรเขาก็เซนต์ โดยที่ไม่มีทนายความให้การช่วยเหลือ เพราะไม่รู้จะไปหามาจากไหน เงินก็ไม่มี แต่พออบรมอันนี้แล้ว เขาก็ได้รู้สิทธิมากขึ้น และรู้ว่าจะไปติดต่อขอรับความช่วยเหลือได้ที่ไหน
อาจารย์แซมซั่น ตัวแทนชาวบ้านกะเหรี่ยงที่ได้เข้าร่วมอบรม กล่าวว่า การอบรมครั้งนี้เป็นประโยชน์กับชาวบ้านมาก อย่างเรื่องสิทธิชุมชนในรัฐธรรมนูญ ชาวบ้านไม่เคยรู้มาก่อนว่ามีอยู่ และยิ่งเรื่องกระบวนการยุติธรรม ชาวบ้านยิ่งไม่เข้าใจ เมื่อก่อนเวลาที่เจอเจ้าหน้าที่ก็กลัวไปหมด แต่พอมีการบอรม ชาวบ้านก็มีความเข้าใจมากขึ้น รู้ว่าเจ้าหน้าที่แต่ละหน่วยงานมีบทบาทหน้าที่อะไรบ้าง ทำให้ชาวบ้านกล้าที่จะพบกับเจ้าหน้าที่และก็ติดต่อกับเจ้าหน้าที่มากขึ้น
พิณภา พฤกษาพรรณ ภรรยานายพอละจี รักจงเจริญ หรือบิลลี่ นักปกป้องสิทธิมนุษยชนชาติพันธุ์กะเหรี่ยงที่สูญหาย ซึ่งได้เข้าร่วมอบรมในครั้งนี้ด้วย เล่าว่า เธอดีใจมากๆที่ได้มีโอกาสเรียนรู้เรื่องเกี่ยวกับกฎหมาย เธอบอกว่านี้เป็นครั้งแรกที่มีการอบรมให้ชาวบ้านกะเหรี่ยง ชาวบ้านสนใจมาก บางคนมาถามว่า ถ้าเขาเขียนหนังสือไม่ได้ แต่ฟังภาษาไทยได้ เขาจะขออบรมด้วยได้ไหม เธอเห็นว่าการอบรมครั้งนี้มีประโยชน์กับชาวบ้านมาก แต่เธอก็มีข้อเสนอทิ้งท้ายว่า ถ้ามีการลงมือปฏิบัติในตอนท้ายก็จะดีมากขึ้น เพราะจะช่วยให้ชาวบ้านจดจำได้
ด้านเกรียงไกร ชีช่วง ตัวแทนเครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม เขตงานตะนาวศรี กล่าวว่า การอบรมในครั้งนี้มีข้อดีคือ เป็นการอบรมในรูปแบบที่เข้าใจง่ายจากผู้มีประสบการณ์จริง มีการเชื่อมโยงเห็นภาพจริง สอดคล้องกับความจริงเมื่อชาวบ้านถูกดำเนินคดี และคิดว่าหลังจากจบการอบรม จะทำให้ชาวบ้านเกิดความมั่นใจยิ่งขึ้นในการหาทางออกในแต่ละขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรม
เกรียงไกร กล่าวเสริมว่า อุปสรรคในการเข้าถึงความยุติธรรมของชาวบ้าน นอกจากความไม่รู้กฎหมายแล้ว ยังมีข้อจำกัดอีกหลายอย่าง เช่น ระยะทางไกลจากชุมชนมาที่หน่วยงานรัฐ ไม่ว่าจะเป็นสถานีตำรวจ สำนักงานอัยการจังหวัด ศาล และอื่นๆ ทำให้ชาวบ้านในพื้นที่ห่างไกลต้องเสียค่าใช้จ่ายมากในการเดินทางมาแต่ละครั้ง นอกจากนี้ คดีส่วนใหญ่ของชาวบ้าน มักมีคู่กรณีเป็นรัฐ เช่น เจ้าหน้าที่อุทยานฯ เจ้าหน้าที่ป่าไม้ เพราะพื้นที่ชุมชนชาติพันธุ์กะเหรี่ยงส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ป่า ซึ่งจะมีกฎหมายเกี่ยวกับป่าอนุรักษ์ต่างๆมาครอบไว้อีกที ดังนั้น เมื่อมีการดำเนินคดีกับชาวบ้าน ชาวบ้านจึงมักถูกตัดสินว่าผิดเป็นส่วนใหญ่ นั่นแสดงให้เห็นว่า แม้ชาวบ้านจะเข้าถึงกระบวนการุติธรรม เข้าถึงการช่วยเหลือของกองทุนยุติธรรม แต่ท้ายสุดก็อาจจะเข้าไม่ถึงความยุติธรรม
เกรียงไกร กล่าวทิ้งท้ายว่า กระบวนการให้ความรู้ที่ต่อเนื่องจะเกิดผลดีกับพื้นที่ที่มีวัฒนธรรมเฉพาะ แต่กลไกของรัฐก็ต้องกระจายทรัพยากรให้เพียงพอกับพื้นที่ และเจ้าหน้าที่รัฐควรจะเปิดใจเรียนรู้และทำความเข้าใจในกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงมากขึ้น