บ้านตระ เสียงสะท้อนถึงผู้บังคับใช้กฎหมาย ทัศนะที่ต้องเปลี่ยนแปลง (ตอน 1)  โดย กฤษดา ขุนณรงค์ 

บ้านตระ เสียงสะท้อนถึงผู้บังคับใช้กฎหมาย ทัศนะที่ต้องเปลี่ยนแปลง (ตอน 1)  โดย กฤษดา ขุนณรงค์ 

ด้วยวันที่ 27 มีนาคม 2561 ที่ผ่านมา ศาลจังหวัดตรังได้พิพากษาคดี หมายเลขดำที่ 1171, 1172, 1173/2559 ระหว่างพนักงานอัยการจังหวัดตรัง โจทก์ กับ นายเรวัตร หรือ วัตร อินทร์ช่วย จำเลยที่ 1 นายอัมมร หรือ ชาย บรรถะ จำเลยที่ 2 และนายสมพร หรือ มิตร อินทร์ช่วย จำเลยที่ 3 เกี่ยวกับการกระทำความผิดต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (บุกรุกป่าสงวน และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาบรรทัด) โดยศาลจังหวัดตรังมีคำพิพากษาโดยสรุปคือให้จำเลยที่ 1 จำคุก 7 ปี ปรับ 90,000 บาท จำเลยที่ 2 จำคุก 6 ปี ปรับ 60,000 บาท และจำเลยที่ 3 จำคุก 1 ปี ปรับ 15,000 บาท แต่ด้วยจำเลยให้ข้อเท็จจริงบางประการที่เป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาคดี ศษลจึงพิพากษาลดโทษให้ 1 ใน 3 เหลือโทษจำคุก จำเลยที่ 1 จำคุก 4 ปี 8 เดือน ปรับ 60,000 บาท จำเลยที่ 2 จำคุก 4 ปี ปรับ 40,000 บาท และจำเลยที่ 3 จำคุก 8 เดือน ปรับ 10,000 บาท  ทั้งนี้ โทษจำคุกศาลให้รอลงอาญา 3 ปี คุมประพฤติ 1 ปี รายงานตัว 4 ครั้ง ทำกิจกรรมบริการทางสังคม 36 ชั่วโมง และให้จำเลย บริวาร ออกจากเขตป่าสงวนแห่งชาติ

สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนจึงขออนุญาตนำบทความจากหนังสือ “รอยร้าวในกระบวนการยุติธรรม” ของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย กลุ่มปฏิบัติงานท้องถิ่นไร้พรมแดน ชื่อบทความ  “บ้านตระ เสียงสะท้อนถึงผู้บังคับใช้กฎหมาย ทัศนะที่ต้องเปลี่ยนแปลง ” ซึ่งเรียบเรียงโดยกฤษดา  ขุนณรงค์  มาเผยแพร่อีกครั้ง เพื่อประโยชน์ในการศึกษาและทำความเข้าใจสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างคนกับป่าที่เกิดขึ้นในพื้นที่ยิ่งขึ้น

***********************************************************************

  

บ้านตระชุมชนดั้งเดิม ที่ไม่เหมือนเดิม หลังการประกาศเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า

“ ตอนนั้นยังจำได้ว่า บ้านตระ เหมือนหมู่บ้านร้างไม่มีใครกล้าออกจากบ้าน บางครอบครัวกลัวจนอยู่บ้านไม่ได้ ต้องหอบลูก จูงเมีย เก็บเอาเฉพาะข้าวของที่จำเป็นออกจากบ้านไปทำเพิงพักหุงข้าวกินกันในป่าอยู่หลายวัน เกรงว่าเจ้าหน้าที่ป่าไม้จะเข้ามาจับคนในหมู่บ้านอีกรอบ ครอบครัวไหนที่มีคนถูกจับตัวไปก็ทำอะไรไม่ถูก มันวุ่นวายไปหมดไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น หัวหน้าครอบครัวที่ถูกจับก็ได้แต่ห่วงลูกเมียที่อยู่ที่บ้าน ส่วนทางนี้ก็ไม่รู้ว่าคนที่ถูกจับตัวไปจะเป็นอย่างไร สมัยก่อนการเดินทางลงไปข้างล่างลำบากมากต้องเดินเท้าอย่างเดียวใช้เวลาหลายชั่วโมง ไม่มีมอเตอร์ไซด์เหมือนปัจจุบัน ”

เรวัตร อินทร์ช่วย ชาวสวนยางวัยกลางคน บอกเล่าถึงเหตุการณ์ครั้งคนบ้านตระเผชิญหน้ากับเจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาบรรทัดครั้งแรก ในช่วงปี ๒๕๓๑ ครั้งนั้นชาวบ้านแปดรายถูกจับตัวไปในข้อหาบุกรุก แผ้วถาง ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฯ ต้องนอนอยู่ในคุกรอการการตัดสินคดีเป็นเวลาถึงกว่า ๓ เดือน โดยไม่ได้รับการประกันตัว ไม่มีใครทราบมาก่อนว่าตนเองทำผิดอะไร อะไรคือ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และชุมชนของพวกเขาไปบุกรุกตั้งแต่ตอนไหน ในเมื่อข้อเท็จจริง คือ แต่ละคนล้วนเป็นเกษตรกรผู้ประกอบอาชีพทำสวนยางพารา ทำสวนผลไม้ เลี้ยงครอบครัวในที่ดินของตนเองที่สืบทอดต่อเนื่องมาตั้งแต่บรรพบุรุษ

ช่วงเวลากว่าสองทศวรรษมาแล้วที่ประเด็นความขัดแย้งระหว่างเจ้าหน้าที่ป่าไม้กับชุมชนที่อยู่อาศัยและดำรงวิถีชีวิตทำกินอยู่ในพื้นที่ซ้อนทับกับเขตป่าอนุรักษ์ของรัฐปะทุรุนแรงขึ้นด้วย นโยบายและการบังคับใช้กฎหมายที่เหมารวมว่าคนหรือชุมชนที่อยู่ในป่า คือ ผู้ทำลายทรัพยากรธรรมชาติ โดยขาดการมองมิติประวัติศาสตร์และข้อเท็จจริง หลายปีมาแล้วเช่นกันที่ภาคประชาชน นักวิชาการและสื่อสารมวลชนพยายามเสนอ สะท้อน ต้นตอของปัญหาและเรียกร้องกับภาครัฐให้เกิดการแก้ไขอย่างจริงจัง แต่ดูเหมือนว่าเรื่องราวความขัดแย้งของชุมชนในป่ากับหน่วยงานป่าไม้ก็ยังคงจำกัดรับรู้กันอยู่เพียงในวงเสวนา สื่อสารมวลชน และเวทีเจรจาโดยที่คนในสังคมส่วนใหญ่กลับมองไม่เห็นถึงปัญหา “ ชุมชนจะอยู่ในป่าได้อย่างไร ? ” “ คนกับป่าอยู่ร่วมกันได้ไหม ? ” หรือ “ จะจัดการอย่างไรกับคนที่อยู่ในเขตป่า ? ” กี่ยุคกี่สมัยคำถามเดิมเหล่านี้ก็ยังวนเวียนและยังไม่มีท่าทีว่าจะพบทางออกที่จะแก้ไขกันได้ง่าย ๆ นอกจากการมองตรงกันว่าเรื่องนี้มันเป็นปัญหาในเชิงโครงสร้าง ต้องแก้ที่กฎหมายและนโยบาย ซึ่งอาจต้องใช้เวลานาน

อีกด้านหนึ่งในขณะหลายส่วนกำลังหาทางออกสำหรับปัญหาเหล่านี้ หน่วยงานภาครัฐ เช่น กรมป่าไม้หรือกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืชที่ผูกขาดอำนาจในการจัดการ ควบคุมพื้นที่ป่าอนุรักษ์กลับมุ่งดำเนินการบังคับใช้กฎหมายอย่างเด็ดขาดและไม่เป็นธรรม อาศัยกฎหมายและกลไกในกระบวนการยุติธรรมเป็นเครื่องมือจัดการกับปัญหา ผลักดันชุมชนและเกษตรกรให้ต้องออกจากที่ดินทำกินของตนเอง เกษตรกรคนเล็กคนน้อยจำนวนมากถูกเจ้าหน้าที่จับกุม ดำเนินคดี ถูกปรับและถูกจองจำในห้องขัง เพียงเพราะความผิดที่เขาเหล่านั้น เกิด ทำมาหากิน และตั้งชุมชนอยู่กับผืนดินอันอุดมสมบูรณ์ที่ถูกทางการกำหนดขีดเส้นบนแผนที่ให้เป็นเขตป่าอนุรักษ์

“ เราเพิ่งรู้ว่าพวกเราอยู่ใน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ก็ตอนที่เขาขึ้นมาจับเมื่อปี ๒๕๓๑ นี่แหละ เราอยู่กันมาตั้งแต่รุ่นปู่ ย่า ก่อนหน้านั้นก็ไม่เห็นมีเจ้าหน้าที่มาบอกหรือแจ้งให้รู้ว่าพวกเราอยู่ในเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่า ”

น้าสาววัยกลางคน พยายามให้ข้อเท็จจริงถึงการไม่ได้รับทราบข้อกฎหมายหรือการประกาศใด ๆ ของภาครัฐ ซึ่งอาจสวนทางกับข้ออ้างของหน่วยงานของรัฐที่พยายามชี้เสมอมาว่าการประกาศพื้นที่ใดเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าหรือป่าอนุรักษ์ประเภทใดก็ตามต้องมีการติดประกาศไว้ในสถานที่ราชการเช่น ที่ว่าการอำเภอ รวมทั้งบ้านกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และหากผู้ใดครอบครองที่ดินอย่างถูกต้องตามกฎหมายก็สามารถใช้สิทธิคัดค้านได้ นี่คือ กระบวนการที่ระบุในกฎหมายที่ยังไม่มีการตรวจสอบและพูดถึงความเป็นจริงในการปฏิบัติ

ปี พ.ศ. ๒๕๑๘ รัฐบาลประกาศเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาบรรทัดครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของจังหวัดตรัง พัทลุง สตูลและสงขลา กินเนื้อที่ถึงกว่า ๘๐๐, ๐๐๐ไร่ ในจำนวนพื้นที่มากมายนี้ได้ผนวกเอา บ้านตระ ชุมชนชาวสวนดั้งเดิมที่ตั้งอยู่ใจกลางเทือกเขาบรรทัดเข้าไว้ด้วย ไม่มีใครเคยเห็นแผนที่ท้ายพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ไม่มีการบอกกล่าวจากกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ตามที่ระบุไว้ในกฎหมาย ไม่มีใครทราบว่าบ้านของตนเอง สวนยางและชุมชนที่ตัวเองอยู่กลายเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ที่นับจากการประกาศแล้วไม่สามารถอนุญาตให้คนอยู่อาศัยหรือทำกินได้อีกต่อไป

“ ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ห้ามมิให้ผู้ใดยึดถือหรือครอบครองที่ดินหรือปลูกหรือก่อสร้างสิ่งหนึ่งสิ่งใด หรือตัดโค่นแผ้วถาง เผาหรือทำลายต้นไม้ …หรือเลี้ยงสัตว์ ผู้ใดฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน ๗ ปี ปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ กับทั้งต้องออกจากที่ดินที่ครอบครอง ทำประโยชน์นั้น ”

ข้อความข้างต้น คือ ประโยคอันศักดิ์สิทธิ์ที่เจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ต้องจดจำและยึดถือเป็นภาระสำคัญในการต้องปฏิบัติตามกฎหมายเพื่อป้องกันการบุกรุกพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า แต่ด้วยประโยคสั้น ๆ นี้กลับเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้คนในชุมชนบ้านตระตก ชุมชนชาวสวนดั้งเดิมต้องตกอยู่ในฐานะผู้บุกรุกที่ดินของตนเองไปโดยที่ไม่มีโอกาสโต้แย้ง

เป็นช่วงเวลากว่า ๓๐๐ ปีมาแล้วที่ ผืนดินราบลุ่มกลางหุบเขาบรรทัดถูกบุกเบิกเป็นที่ปลูกข้าว ปลูกผลไม้ ยางพารา ลงหลักปักเสา สร้างชุมชน สืบทอดมาหลายชั่วอายุคน มีหลักฐานแผนที่โบราณสมัยมณฑลภูเก็จ ที่แสดงว่าชุมชนบ้านตระเคยเป็นชุมชนที่บทบาททางเศรษฐกิจ เนื่องจากเป็นจุดเชื่อมเส้นทางการค้าของคาบสมุทรมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนกลาง ก่อน พ.ศ ๒๒๒๕ มี ทวดเล็ก ซึ่งเป็นหลานของสุลต่านสุไลมาน เจ้าเมืองผู้ปกครองพื้นที่คาบสมุทรแถบนี้ ได้เข้ามาอยู่ในชุมชนบ้านตระ และเคยเป็นผู้นำของคนที่นี่  ปัจจุบันมีหลุมฝังศพของทวดเล็กอยู่ในชุมชน ซึ่งยังเป็นสถานที่ที่เคารพ ศรัทธาของคนในหมู่บ้านเสมอมา

ความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ตั้งชุมชน ทำให้บ้านตระไม่เคยห่างร้างจากผู้คน แม้เป็นที่ราบกลางหุบเขา การเดินทางลำบาก ไม่มีถนน แต่ก็มีผู้คนทั้งที่เป็นคนดั้งเดิมและอพยพจากพื้นที่ใกล้เคียงเข้ามาตั้งบ้านเรือนทำมาหากินอย่างต่อเนื่อง และด้วยความอุดมสมบูรณ์นี้บ้านตระก็เป็นพื้นที่ที่ภาครัฐมุ่งที่จะเข้ามาจัดการเช่นกัน เคยมีการสำรวจเพื่อทำโครงการพัฒนาของรัฐ เช่น การทำแร่และการสร้างเขื่อน รวมทั้งเคยเป็นฐานที่มั่นของพรรคคอมมิวนิสต์ ในการต่อสู้ทางการเมืองช่วงที่สังคมไทยมีความแตกต่างทางด้านความคิดจนถึงขั้นต้องลุกขึ้นมาจับอาวุธต่อสู้กัน ประวัติศาสตร์ของคนบ้านตระจึงเต็มไปด้วยเรื่องราวของผู้คน การดิ้นรน การต่อสู้โดยเฉพาะเรื่องราวของการต่อสู้เพื่อความอยู่รอดกับทั้งความโหดร้ายจากธรรมชาติ และภัยที่มาจากภาครัฐที่มาในรูปแบบของกฎหมาย และโครงการพัฒนา

“ ในอดีตคนบ้านตระพออยู่กันได้ถึงจะลำบากบ้างในเรื่องการเดินทางหรือเวลาเจ็บไข้ไม่สบาย แต่อาศัยว่าเรามีทรัพยากรธรรมชาติมากมาย ดินที่นี่อุดมสมบูรณ์ปลูกอะไรก็ขึ้นดี ไม่มีคำว่าอด แต่ช่วงหลังหมู่บ้านเราไม่ค่อยสงบตั้งแต่มีพวกป่าไม้ ”

น้าสาวคนเดิมชี้ถึงปัญหาใหญ่ที่กำลังคุกคามคนบ้านตระอยู่ตอนนี้ คือ เจ้าหน้าที่และกฎหมายป่าไม้ ที่บอกว่าพวกเขาบุกรุกทำลายป่า และนับตั้งแต่ปี ๒๕๓๑ หลังจากการเผชิญหน้าครั้งแรกของเจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า วิถีชีวิตของคนบ้านตระเริ่มเปลี่ยนไป การทำไร่ ทำสวน ต้องหลบ ๆ ซ่อน ๆ เพราะกลัวว่าจะถูกเจ้าหน้าที่เข้ามาจับกุม

เรวัตร อินทร์ช่วย เกษตรกรชาวสวนยางพาราแห่งชุมชนบ้านตระ เป็นคนหนึ่งที่ต้องต่อสู้เพื่อปกป้องที่ดินทำกินผืนเดียวของครอบครัว ด้วยการเข้าทำกินในที่สวนที่ได้รับจากพ่อ แต่กลับถูกเจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า จับกุม ดำเนินคดี ในข้อหาบุกรุก แผ้วถางป่า ถึง ๔ ครั้ง

ในช่วงสามปีพี่วัตรต้องเข้าคุกถึง ๓ ครั้งเพราะทำกินในที่ดินเพียง ๒๐ ไร่ของตนเอง จำเป็นต้องพาครอบครัวย้ายไปรับจ้างกรีดยางอยู่ต่างจังหวัดถึงสิบปีเพราะการถูกจับกุมซ้ำซาก ทุกวันนี้กลับมาทำกินในที่ดินเดิมก็ยังถูกดำเนินคดีเป็นครั้งที่ ๔ เกิดอะไรขึ้นกับการที่คนๆ หนึ่งพยายามต่อสู้เพื่อรักษาที่ดินเพียง ๒๐ ไร่ไว้เป็นที่ทำกินเลี้ยงครอบครัวและหวังเป็นที่ทำกินสืบทอดให้ลูกหลาน เกิดอะไรขึ้นกับการบังคับใช้กฎหมายของภาครัฐและการทำหน้าที่ของผู้ทำหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมที่ควรเป็นกลไกคุ้มครองและให้ความเป็นธรรมกับประชาชน

ที่ดิน สมบัติ ที่มีไว้ “ สืบทอด ”ไม่ใช่ “ ซื้อขาย ”

“ ปี ๒๕๒๕ พ่อกับแม่พาพวกเราขึ้นมาหาที่ทำกินที่บ้านตระนี้ เพราะตำบลโพรงจระเข้ที่เราอยู่ไม่มีที่ทำกิน มีแค่ที่ปลูกบ้าน พอดีแม่รู้จักกับคนบนนี้ เขาก็บอกว่าขึ้นมาที่นี่พอมีที่ทำไร่ ทำสวนได้ พ่อจึงตัดสินใจพาพวกเราขึ้นมา ”

“ มันเป็นลักษณะการสืบทอดมากกว่าเขาเห็นว่าพวกเราไม่มีที่ทำกิน เราไม่ได้ซื้อ นายอีด คนที่ทำกินอยู่แต่เดิมก็บอกว่าอย่าคิดว่าแกขายเลย ตอนนั้นจำได้ว่าพ่อให้เป็นสินน้ำใจแกแค่ ๒,๘๐๐ บาท ใน เนื้อที่เกือบ ๖๐ ไร่ พ่อก็แบ่งให้ลูกทั้ง๔ คน เราได้ประมาณ ๒๐ ไร่ ก็คือที่ดินตรงที่ทำกินอยู่ทุกวันนี้และกำลังเป็นปัญหาอยู่ปัจจุบัน ”

พี่วัตรบอกเล่าเรื่องราวตอนที่พ่อกับแม่ตัดสินใจพาครอบครัวย้ายขึ้นมาอยู่บ้านตระ สาเหตุเนื่องจากบ้านเดิมที่ตำบลโพรงจระเข้ อำเภอย่านตาขาว จังหวัดตรัง มีที่ทำกินไม่เพียงพอสำหรับพี่น้อง ๔ คน ครอบครัวพี่วัตรได้เข้าทำกินต่อเนื่องในที่ดินเดิมของนายอีด การะณิล ซึ่งเป็นคนดั้งเดิมของบ้านตระ พ่อนายอีด เคยเป็นผู้ใหญ่บ้านของบ้านตระ

“ มันเป็นลักษณะการทำประโยชน์ต่อ ๆ กัน ซึ่งวิถีการสืบทอดใช้ประโยชน์จากที่ดินของคนใต้สมัยก่อนเป็นลักษณะการสืบทอดในญาติพี่น้อง หรือบางที พออก พอใจ ก็ยกให้กันโดยไม่ต้องเสียเงิน เสียทองก็มี เมื่อเห็นญาติ พี่น้องหรือเพื่อนฝูงไม่มีที่ทำกินก็จะยกให้หรืออาจมีสินน้ำใจเล็กน้อยแต่ไม่ได้ตีค่าเป็นตัวเงิน คิดกันเป็นไร่ เป็นตารางวาเหมือนปัจจุบัน”

“ สมัยก่อนเวลาจะมีครอบครัว ผู้ชายเราต้องหาที่ดิน หาสวนเพื่อ สร้างไร่ สร้างสวน มันแสดงถึงความมั่นคง สามารถเลี้ยงครอบครัวได้ ลูกเมีย ไม่อดตาย ”

นี่คือ ทัศนคติการแสวงหาที่ดินของคนสมัยก่อนที่ไม่ได้มองที่ดินเป็นสินค้าแต่เป็นพื้นที่สำหรับผลิตอาหาร เป็นหลักประกันว่าครอบครัวจะมีกิน พี่วัตรเล่าว่าตอนได้ที่ดินผืนนี้มาในพื้นที่ ๒๐ ไร่ ซึ่งพ่อได้แบ่งให้ ตอนนั้นมียางพาราพันธุ์ดั้งเดิมขนาดใหญ่กว่า ๕๐๐ ต้น นอกจากนี้ก็มีเนียงและสะตอ ทุเรียน เป็นลักษณะสวนสมรม ซึ่งก็คือการปลูกพืชหลาย ๆ ชนิดรวมกันส่วนใหญ่เป็นพืชกินได้ มียางพาราและไม้ยืนต้นอื่น ๆ คือมีทั้งพืชเศรษฐกิจที่ขายได้และพืชที่ใช้เป็นอาหารสำหรับครอบครัว

“ ปี ๒๕๒๕ บ้านตระมีคนอาศัยอยู่มากแล้ว ทำไร่ ทำสวนกันทุกบ้าน ด้วยความอุดมสมบูรณ์ปลูกอะไรก็ได้กิน ยางพาราก็ให้น้ำยางมาก คนที่นี่จึงอยู่กันไม่ลำบาก ช่วงแรกเราทำไร่ข้าวด้วย ทำครั้งเดียวกินได้สองปี ในไร่ก็จะมีทั้ง ถั่ว มัน อ้อย ผักต่าง ๆ เราไม่ต้องซื้อเลย กินได้ทั้งปียังมีเหลือด้วยซ้ำ ”

 

โปรดติดตามตอนต่อไป…………