Day: January 22, 2018

เดินมิตรภาพ: ปฏิบัติการสร้างวัฒนธรรมทางกฎหมายจากเบื้องล่าง

สงกรานต์ ป้องบุญจันทร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่   กฎหมายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม คือ เป็นเรื่องความคิดความเชื่อ และวัตรปฏิบัติของคนในสังคมในปฏิสัมพันธ์ที่มีต่อกัน ในแง่นี้กฎหมายไม่ได้เป็นเพียงเครื่องมือของเจ้าหน้าที่รัฐ ผู้พิพากษา หรือฝ่ายนิติบัญญัติในการกำหนดสิทธิและหน้าที่ให้กับประชาชนเท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงความคิดความเชื่อของคนในสังคมเกี่ยวกับกฎหมายและสถาบันทางกฎหมายด้วย วัฒนธรรมทางกฎหมายแบบอำนาจนิยม คือ ความคิดความเชื่อที่ว่ากฎหมายเป็นเครื่องมือของรัฐในการกำกับควบคุมประชาชน กฎหมายไม่ได้มีไว้เป็นเครื่องมือจำกัดอำนาจรัฐและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพประชาชนแต่อย่างใด กลไกรัฐส่วนใหญ่มองกฎหมายในแง่นี้และพยายามสร้างความคิดความเชื่อเช่นนี้ให้กับสาธารณะผ่านปฏิบัติการต่างๆ การใช้การตีความกฎหมายเช่นนี้มีประสิทธิภาพมากในรัฐอำนาจนิยมที่พื้นที่สำหรับการต่อสู้ โต้แย้งการเผยแพร่ความคิดดังกล่าวถูกจำกัด เช่น ประเทศจีน ประเทศลาว เป็นต้น วัฒนธรรมทางกฎหมายแบบเสรีประชาธิปไตย คือ ความคิดความเชื่อที่ว่ากฎหมายเป็นข้อตกลงร่วมกันระหว่างรัฐกับประชาชน ที่ให้อำนาจรัฐบางเรื่องและในขณะเดียวกันก็จำกัดอำนาจรัฐไว้ด้วยกฎหมายนั้นเอง นอกจากเป็นข้อจำกัดของอำนาจรัฐแล้วกฎหมายยังเป็นเครื่องมือปกป้องประชาชนจากการใช้อำนาจตามอำเภอใจของรัฐด้วย ในแง่นี้กฎหมายจึงเป็นเสมือนกลไกที่สังคมใช้ในการควบคุมรัฐไม่ให้กลายเป็นโจร วัฒนธรรมทางกฎหมายเช่นนี้มักงอกงามในรัฐเสรีประชาธิปไตย เช่น เยอรมนี สหรัฐอเมริกา เป็นต้น ฝ่ายที่กุมอำนาจรัฐมีแนวโน้มที่จะพยายามสลัดตัวเองจากการควบคุมของสังคม เพื่อให้สามารถใช้อำนาจได้ตามที่พวกเขาต้องการ ดังอมตะวาจาของ ลอร์ด แอคตันที่ว่า “อำนาจทำให้คนลุแก่อำนาจ อำนาจที่สมบูรณ์ทำให้คนลุแก่อำนาจอย่างสมบูรณ์” เมื่อกฎหมายถูกใช้ถูกตีความจากรัฐ จึงมีแนวโน้มที่มันจะถูกใช้เป็นเครื่องมือของรัฐในการควบคุมประชาชน ยิ่งกว่าส่งเสริมสิทธิเสรีภาพประชาชนและควบคุมการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐ ปรากฏการณ์ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจทหารพยายามสกัดกั้นกิจกรรม “เดินมิตรภาพ” ด้วยการใช้การตีความพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 ประกอบกับคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ในวันที่ […]