สถานการณ์ฟ้องคดีปิดปากต่อนักปกป้องสิทธิชุมชนกับความคืบหน้าแผนปฏิบัติการระดับชาติด้านธุรกิจและสิทธิมนุษยชน

สถานการณ์ฟ้องคดีปิดปากต่อนักปกป้องสิทธิชุมชนกับความคืบหน้าแผนปฏิบัติการระดับชาติด้านธุรกิจและสิทธิมนุษยชน

จากวงเสวนาเรื่อง “สถานการณ์ธุรกิจและสิทธิมนุษยชน และแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (ร่าง NAP)” โดยมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชนร่วมองค์กรเครือข่าย ที่โรงแรมมิโด กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 62 ภายในงานได้มีการพูดถึงสถานการณ์ทางธุรกิจและสิทธิมนุษยชนของไทย โดยเฉพาะในประเด็นด้านที่ดินและฐานทรัพยากรธรรมชาติ นักปกป้องสิทธิมนุษยชน และบรรษัทข้ามชาติและการลงทุนข้ามพรมแดน ซึ่งมีตัวแทนจากชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาของภาคธุรกิจ ตัวแทนหน่วยงานรัฐและองค์กรระหว่างประเทศมาร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและติดตามความคืบหน้าของแผนฯ ดังกล่าวกว่า 50 คน

S__20242448

สถานการณ์การคุกคามสิทธิในการมีส่วนร่วมของประชาชนด้านสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรในปัจจุบัน

บำเพ็ญ ไชยรักษ์ ตัวแทนกรณีโรงงานน้ำตาล จ.สกลนคร ได้เล่าถึงผลกระทบที่เกิดจากการดำเนินโครงการโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล ใน อ.กุสุมาลย์ จ.สกลนคร ซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ภาคอีสานที่กำลังเผชิญ นั้นก็คือ แผนดำเนินการของสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายที่ได้ออกใบอนุญาตให้ผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลขยายกำลังการผลิตและตั้งโรงงานน้ำตาลแห่งใหม่ใน 13 จังหวัดภาคอีสาน รวม 29 โรงงาน ซึ่งโรงงานเหล่านี้มักจะมาพร้อมโรงไฟฟ้าชีวมวลทุกโรงงาน ส่งผลให้มีการปลูกอ้อยเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 7 ล้านไร่ จากปัจจุบันในภาคอีสานมีพื้นที่ปลูกอ้อย 5.54 ล้านไร่

ทั้งนี้ การอนุญาตให้มีการเพิ่มพื้นที่การปลูกอ้อยและมีโรงงานน้ำตาลโดยดำเนินการบุกเบิกพื้นที่และก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคเพื่อรองรับการพัฒนาโครงการโรงงานน้ำตาลทรายและโรงไฟฟ้าชีวมวล ส่งผลกระทบต่อเส้นทางและลำรางสาธารณะที่ชาวบ้านในชุมชนใช้อุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวัน

“ชาวบ้านพยายามใช้สิทธิในการมีส่วนร่วมรับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับโครงการฯ แต่กลับถูกดำเนินคดีหมิ่นประมาทด้วยเอกสาร”

นอกจากผลกระทบในด้านชีวิตความเป็นอยู่แล้ว ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ ชาวบ้านพยายามเข้าไปมีส่วนร่วมโดยลงชื่อยื่นหนังสือร้องเรียนต่อนายกองค์การบริหารส่วนตำบลอุ่มจาน เพื่อขอให้มีการระงับการดำเนินการบุกเบิกพื้นที่และก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคเพื่อรองรับการพัฒนาโครงการดังกล่าวก่อนเพื่อดำเนินการตรวจสอบโครงการฯ

การใช้สิทธิในการมีส่วนร่วมดังกล่าวทำให้ชาวบ้าน จำนวน 21 ราย ถูกบริษัทไทยรุ่งเรือง อุตสาหกรรม จำกัดเจ้าของโครงการฯ ยื่นฟ้องหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาด้วยเอกสาร

“ปัญหาไม่ได้มาจากเจ้าของโครงการพัฒนาเท่านั้น แต่ชาวบ้านยังเผชิญกับการกีดกั้นการมีส่วนร่วมของหน่วยงานรัฐด้วย”

อับดุลกอฟฟาร์ หลีเยาว์ ตัวแทนจากกรณีเหมือหินเขาโต๊ะกรัง จ.สตูล กล่าวถึงปัญหาที่พื้นที่ภาคใต้เผชิญคล้ายกันว่า ปัญหาสำคัญสุด คือการที่หน่วยงานรัฐพยายามกีดกั้นการมีส่วนร่วมของผู้ที่ได้รับผลกระทบ เมื่อไม่ฟังเสียงของผู้ที่จะได้รับผลกระทบโดยตรงตั้งเเต่ขั้นตอนการจัดทำโครงการแรกๆ ก็ยิ่งจะทำให้เกินปัญหาในการดำเนินโครงการในขั้นต่อๆ ไป อับดุลกอฟฟาร์ ได้ยกบางกรณีที่เกิดขึ้นกับพื้นที่ คือ ในวันที่มีการทำเวทีประชาพิจารณ์ มีเจ้าหน้าที่รัฐคอยตรวจสอบหมู่ที่อยู่ในบัตรประชาชน หากพบว่าไม่ระบุว่าอยู่ในหมู่นั้น ก็จะไม่ให้เข้าประชุมรับฟังโครงการ ทั้งที่ให้ความเป็นจริง ทั้งที่ผลกระทบเรื่องฝุ่นจากการทำเหมืองไม่ได้เกิดเฉพาะในพื้นที่นั้นเท่านั้น

นอกจากนี้ ในเวทีรับฟังความคิดผู้ที่เจ้าหน้าจะอนุญาตในเเสดงความคิดเห็นต้องเป็นผู้อาศัยในหมู่พื้นที่ที่กำหนดไว้เท่านั้น หากตรวจสอบบัตรประชาชนแล้วไม่ใช่ ชาวบ้านก็จะไม่ได้รับสิทธิให้เเสดงความคิดเห็นและความกังวลของตน

“คดีความที่บริษัทฟ้องไม่กระทบต่อการต่อสู้เคลื่อนไหวของกลุ่ม เเต่อุปสรรคในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมสามารถทำให้ล่าถอย”

พรทิพย์ หงส์ชัย กลุ่มคนรักษ์บ้านเกิด จ.เลย (เหมืองแร่เมืองเลย) มองว่าการดำเนินคดีต่อกลุ่มของตนในทุกรูปแบบ ทั้งการฟ้องค่าเสียหายและจำนวนคนที่เยอะ ฟ้องในพื้นที่ห่างไกล อีกทั้งเมื่อเข้าไปสู่การต่อสู้ในศาลแล้ว กลไกความช่วยเหลือในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมยังสร้างอุปสรรค อย่างเช่น การใช้กองทุนยุติธรรม ที่ไม่เพียงใช้ระยะเวลานานในการอนุมัติทำให้บางคดีชาวบ้านได้ถูกคุมขังในห้องขังแล้ว โดยกรณีของกลุ่มคนรักษ์บ้านเกิดได้รับการอนุมัติให้เข้าถึงกองทุนยุติธรรมเพียง 2 คดี จากการขอไป 25 คดี ปัญหาดังกล่าวสร้างภาระและผลกระทบต่อการเคลื่อนไหวเรียกร้อง

ข้อห่วงกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์การคุกคามนักปกป้องชุมชน และการพัฒนาโครงการต่างๆ โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบตั้งเเต่เริ่มต้นโครงการ

สัณหวรรณ ศรีสด คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (ICJ) ได้นำเสนอข้อมูลจากการศึกษาและติดตามของ ICJ ว่าสถานการณ์ที่ทุกชุมชนที่ถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่พัฒนากำลังเผชิญ คือ
– ขาดการมีส่วนร่วมต่อผู้ที่มีผลกระทบ
– ขาดกระบวนการถ่วงดุลในการตัดสินใจ
– ขาดการติดตาม
– ขาดการเยียวยาที่เหมาะสม
– ขาดการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมที่มีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ สัณหวรรณ ยังชวนผู้เข้าร่วม พิจารณาการดำเนินงานส่วนใหญ่ของรัฐมักไม่คำนึงถึง แผนการการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบตั้งเเต่ต้น กล่าวคือ ในการจัดทำโครงการใดๆ ก็ตาม มักมีผู้ที่ได้รับผลกระทบเสมอ เเต่แผนการเยียวยาเเก้ไขไม่ได้กำหนดขึ้นมาพร้อมกับการกำหนดนโยบายให้เหมาะสมและเตรียมพร้อมในการเยี่ยวยา

ทั้งนี้เมื่อไม่มีการเยียวยา ประชาชนจึงต้องสิทธิในการมีส่วนร่วมทางอื่น คือ เรียกเรียนหน่วยงานที่เกี่ยว ชุมนุมเรียกร้องต่อเจ้าของโครงการ นำเสนอข้อมูลปัญหาบทพื้นที่ออนไลน์ให้สังคมรับรู้เเละกดดันให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องแก้ไขปัญหา เป็นต้น ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวทำให้ประชาชนตกเป็นเป้าหมายของการถูกดำเนินคดีหรืออีกหนึ่งที่ประชาชนใช้คือ การใช้สิทธิทางกระบวนการยุติธรรมโดยฟ้องคดีเพื่อการใช้ชดเชยเยียวยา ซึ่งต้องใช้เวลาเเละพลังเพิ่มขึ้น

ร่าง NAP สามารถช่วยแก้ไขปัญหาได้หรือไม่ 

ในร่างแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (National Action Plan on Business and Human Rights: NAP) ได้กำหนดแผนกิจกรรมจำนวนมากเพื่อปกป้องประชาชนที่ปกป้องสิทธิด้านต่างๆ  เพื่อให้ทำงานได้อย่างปลอดภัย 

ตลอดจนกำหนดให้มีการจัดอบรมเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจในการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับการปกป้องสิทธิมนุษยชน เช่น การจัดการชุมนุม การแสดงออกทางด้านสิทธิมนุษยชน เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม มาตรการป้องกันปัญหาที่ประชาชนที่ลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิถูกคุกคามผ่านกระบวนการยุติธรรมยังไม่ได้ถูกบรรจุไว้ในร่าง NAP อย่างเพียงพอ กล่าวคือ แม้ว่าร่าง NAP จะเรียกร้องให้ภาคธุรกิจรับรองว่านักปกป้องสิทธิมนุษยชนจะไม่ถูกฟ้องคดีเพียงเพราะการปฏิบัติงานทางด้านสิทธิมนุษยชนอันชอบด้วยกฎหมาย แต่ในร่าง NAP ปัจจุบันกลับไม่ปรากฏวิธีปฏิบัติที่ชัดเจนเกี่ยวกับการป้องกันไม่ให้กฎหมายและกระบวนการยุติธรรมถูกนำมาใช้เพื่อคุกคามและจำกัดการทำงานของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ซึ่งในร่าง NAP ฉบับก่อนหน้านี้ รวมถึงร่างฉบับลงวันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2561 ได้ระบุไว้ในแผนกิจกรรมให้มีการผลักดันกฎหมายป้องกันการฟ้องคดีปิดปาก (Anti-SLAPP Law) กิจกรรมนี้ถูกถอดถอนไปจากร่าง NAP ฉบับปัจจุบัน เนื่องจากศาลยุติธรรมได้ดำเนินการแก้ไขกฎหมายเพื่อป้องกันคดีฟ้องปิดปาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การแก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 161/1 และ 165/2

ความคืบหน้าของแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (NAP) 

นรีลักษณ์ แพไชยภูมิ ผู้แทนจากกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการเกี่ยวกับ ร่างดังกล่าว อธิบายสาเหตุที่ทำให้ปัจจุบันแผนปฏิบัติการฯ (NAP) ยังไม่สามารถนำมาใช้ได้ว่า คณะทำงานของกระทรวงฯ มีการหารือกับสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และภาคประชาสังคมหลายหน่วยเห็นตรงกันว่าแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (NAP) ควรจะถูกรับรองโดยมติคณะรัฐมนตรี 

ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว แผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (NAP) สามารถรับรองและประกาศใช้ได้โดยผ่านรัฐมนตรีประจำกระทรวงยุติธรรม 

หลังจากที่คณะทำงานได้ยื่นเรื่องเพื่อให้คณะรัฐมนตรีรับรองแผนดังกล่าว ปรากฎว่า ความเห็นของมติคณะรัฐมนตรีให้ส่งแผนไปให้สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติพิจารณามีมติออกมาว่าให้กระทรวงยุติธรรมไปประกาศใช้เอง ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาอีกประมาณ 2-3 ปี 

FOLLOW US

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

  • รายงานศึกษาสถานการณ์การฟ้องคดีเพื่อระงับการมีส่วนร่วมของประชาชนในประเทศไทยและข้อเสนอเเนะในการแก้ไขปัญหา https://naksit.net/wp-content/uploads/2019/06/20190811-pdf.pdf
  • คู่มือประชาชน: เรื่องการคุกคามด้วยการฟ้องคดีปิดปาก (SLAPPs) https://naksit.net/2019/07/legal-guide-slapps-2/
  • ICJ และสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนเขียนจดหมายถึงกระทรวงยุติธรรมและกระทรวงการต่างประเทศ: เรื่องข้อเสนอแนะต่อร่างแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน https://naksit.net/2019/03/icj-hrla-nap150319/