ปัญหาการพิจารณาค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา โดยสมชาย หอมลออ
พระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ. ๒๕๔๔ (“พระราชบัญญัติ”) มี ผลบังคับใช้มาเกือบจะสิบปีแล้ว ในระหว่างเวลาดังกล่าวมีคดีอาญาที่ (๑) จำเลยถูกดำเนินคดีโดยพนักงานอัยการและ (๒) ถูกคุมขังในระหว่างการพิจารณาคดี ที่ศาลได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดยกฟ้องนับหมื่นคดี แต่มีจำเลยจำนวนน้อยนักที่ได้รับค่าทดแทนที่ต้องถูกคุมขังระหว่างการพิจารณา คดีและค่าใช้จ่ายในการต่อสู้คดีที่ตนต้องเสียไป จำเลยบางคนจะต้องข้อหาร้ายแรงและศาลไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างการ พิจารณาคดี หรือจำเลยบางคนแม้ถูกฟ้องร้องดำเนินคดีในข้อหาไม่ร้ายแรง แต่เนื่องจากเป็นคนยากจน ไร้ญาติขาดมิตร จึงไม่สามารถหาหลักประกันเพื่อขอให้ศาลปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างการพิจารณา คดีได้ บางคนศาลชั้นต้นแม้มีคำพิพากษายกฟ้อง แต่กลับต้องถูกคุมขังระหว่างการอุทธรณ์ เสมือนหนึ่งว่าศาลเองก็ไม่เชื่อมั่นว่าคำพิพากษาของศาลเองที่ให้ยกฟ้องถูก ต้องแล้ว จำเลยเหล่านี้จำนวนไม่น้อยต้องถูกจองจำอยู่ในคุกนานนับปีกว่าที่ศาลจะมีคำ พิพากษาถึงที่สุดยกฟ้อง ถูกรัฐลิดรอนสิทธิเสรีภาพโดยการคุมขัง บางคนกระทั่งเสียชีวิตในคุก ใช่แต่เพียงเท่านั้น การที่จำเลยคนหนึ่งถูกจองจำอยู่เป็นระยะยาวนานย่อมมีผลกระทบต่อครอบครัวและ บุคคลใกล้ชิด ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และผลกระทบทางด้านจิตใจ หลายครอบครัวต้องแตกสลายเนื่องจากหัวหน้าครอบครัว หรือสมาชิกที่เป็นหลักของครอบครัวต้องถูกจองจำระหว่างการพิจารณาคดีเป็นเวลา นาน กลายเป็นปัญหาและภาระของสังคมในที่สุด ปัญหา หลักของการที่อดีตจำเลยในคดีอาญานับพันๆคนไม่มีโอกาสได้รับค่าทดแทนและค่า ใช้จ่ายในการต่อสู้คดีคือการวินิจฉัยตีความกฎหมายของคณะกรรมการพิจารณาค่า ตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลย ในคดีอาญา ซึ่งเป็นคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ. ๒๕๔๔ และการวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้ยื่นคำขอของศาลอุทธรณ์ตามอำนาจที่กำหนดไว้ใน มาตรา ๒๕ แห่ง พระราชบัญญัติดังกล่าว […]