มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม

ความสำเร็จภายใต้กฎหมายความมั่นคง โดย มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม

นับเป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างยิ่ง ที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ภาค ๔ ส่วนหน้า ได้ประกาศผลความสำเร็จในการทำงานเพื่อยุติการใช้ความรุนแรงด้วยวิธีการอบรมแทนการดำเนินคดี ซึ่งเป็นการดำเนินการภายใต้พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.๒๕๕๑ โดยมีผู้จบหลักสูตรการอบรมมาแล้วสองคน คือ นายรอยาลี บือราเฮง และนายยาซะ เจะหมะ ทั้งสองคนเป็นผู้ต้องหาและได้รับสารภาพในความผิดที่ถูกกล่าวหา โดยยอมรับว่ากระทำไปเพราะหลงผิดหรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ และยินยอมเข้ารับการอบรมตามมาตรา ๒๑ แทนการถูกดำเนินคดี นับว่าเป็นสัญญาณที่ดีและเป็นการสร้างบรรยากาศที่จะเอื้อให้หลายคนที่เข้าไปอยู่ในกลุ่มของขบวนการก่อความไม่สงบอย่างหลงผิดและรู้เท่าไม่ถึงการณ์ได้มีช่องทางหรือหาทางออกให้กับตัวเอง กฎหมายความมั่นคงฉบับนี้ฉีกแนวกว่ากฎหมายพิเศษที่ใช้บังคับมาแล้ว ทั้งกฎอัยการศึกและพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินหรือพ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพราะเปิดพื้นที่ให้ผู้กระทำความผิดที่กระทบต่อความมั่นคงแต่กลับใจได้มีโอกาสเข้ามอบตัว หรือในกรณีที่พนักงานสอบสวนดำเนินการสอบสวนแล้วพบว่าผู้ต้องหานั้นๆกระทำไปเพราะหลงผิดและรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ทั้งเห็นว่าการกลับใจของผู้นั้นจะเป็นประโยชน์ต่อการรักษาความมั่นคง ในกรณีอย่างนี้ หากผู้อำนวยการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (ผอ.กอ.รมน.) เห็นชอบ ก็สามารถส่งเรื่องให้พนักงานอัยการยื่นคำร้องต่อศาล และหากศาลเห็นสมควร เมื่อสอบถามผู้ต้องหาแล้วสมัครใจเข้าร่วมอบรม ก็อาจสั่งให้ผู้ต้องหานั้นเข้ารับการอบรม ณ สถานที่ที่กำหนดไว้เป็นเวลาไม่เกินหกเดือนแทนการถูกดำเนินคดี ผลในทางกฎหมายในกรณีนี้ คือ สิทธิในการนำคดีมาฟ้องเกี่ยวกับความผิดตามข้อกล่าวหาดังกล่าวเป็นอันระงับไป ตามบทบัญญัติในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา ๓๙) ซึ่งจะเป็นผลดีต่อตัวผู้ต้องหาเอง เจตนารมณ์ของกฎหมายนั้นต้องการให้กลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงหรือผู้ที่มีหมายจับ ไม่ว่าจะเป็นหมายจับตามพรก.ฉุกเฉินหรือตามป.วิอาญาได้เข้าสู่กระบวนทางกฎหมาย ทั้งนี้เพื่อที่จะยุติการก่อเหตุรุนแรงหรือการก่อความไม่สงบ อันเป็นเรื่องที่สอดคล้องกับการสร้างบรรยากาศหรือเปิดพื้นที่ให้กับคนที่มีความเห็นต่างได้มีโอกาสเข้ามาให้ความร่วมมือกับภาครัฐในการแก้ไขปัญหา จึงเป็นความปรารถนาดีของรัฐที่มีต่อฝ่ายที่หลงผิดและเข้าสู่ขบวนการ ไม่ว่าที่ยังอยู่ในพื้นที่หรือที่กำลังหลบหนีก็ตาม ทั้งนี้เพื่อให้ยุติทั้งความคิดและการกระทำ เท่ากับว่ารัฐได้เปิดหนทางให้แล้ว และหากพวกเขาเข้าสู่กระบวนการนี้ก็มีโอกาสที่จะได้กลับมาใช้ชีวิตตามปกติ ในกรณีที่ไม่มีอาชีพ ทางการก็อาจหาอาชีพให้โดยมีข้อแลกเปลี่ยนคือขอให้ยุติการก่อเหตุรุนแรง หยุดสร้างความเสียหายแก่ชาติบ้านเมือง ร่วมกันพัฒนาชาติและสร้างสันติภาพในพื้นที่ต่อไป แต่ข้อสรุปนี้จะเป็นความคาดหวังที่ยังห่างไกลความจริงของรัฐหรือไม่ […]