หมายเรียก หมายจับ กฎหมายไม่อนุญาตให้ออกพลาดบ่อย

หมายเรียก หมายจับ กฎหมายไม่อนุญาตให้ออกพลาดบ่อย

ปรากฏการณ์ที่พนักงานตำรวจออกหมายเรียกเพื่อเชิญผู้รับหมายมาให้ถ้อยคำหรือเอกสารแก่เจ้าหน้าที่ และออกหมายจับเมื่อมีหลักฐานเพียงพอหรือมีเหตุตามเงื่อนไขของกฎหมายเพื่อควบคุมตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยมาดำเนินคดีในขั้นตอนต่อๆ ไป ถือเป็นเรื่องปกติเพราะกฎหมายได้ให้อำนาจพนักงานสอบสวนไว้ อย่างไรก็ตาม ยังมีกฎหมายและระเบียบต่างๆ เพื่อควบคุมการดำเนินการออกหมายเรียกและหมายจับของเจ้าหน้าที่ ให้การปฏิบัติตามหน้าที่เป็นไปตามหลักการและความยุติธรรม ไม่ “พลาด”หรือเผลอไปละเมิดสิทธิเสรีภาพประชาชน

 

“หมายเรียก” ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิ.อาญา) มาตรา 52 กำหนดว่า การที่จะให้บุคคลใดมาที่พนักงานสอบสวน หรือมาที่พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่ หรือมาศาล เนื่องจากการสอบสวน การไต่สวนมูลฟ้อง การพิจารณาคดี หรือการอื่นตามประมวลกฎหมายนี้ ต้องมีหมายเรียกของพนักงานสอบสวนหรือพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่หรือของศาล แล้วแต่กรณี

 

วรรคสอง กำหนดว่า แต่ในกรณีที่พนักงานสอบสวนหรือพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่ไปทำการสอบสวนด้วยตัวเอง ย่อมมีอำนาจที่จะเรียกผู้ต้องหาหรือพยานมาได้โดยไม่ต้องออกหมายเรียก

 

จากบทบัญญัติข้างต้น หมายเรียก จึงเป็นเหมือนหนังสือเชิญจากพนักงานสอบสวน1 ที่ตามตำแหน่งแล้วมีอำนาจออกหมายถึงพยาน ผู้ต้องหา หรือจำเลย เพื่อให้ไปพบ ให้ถ้อยคำหรือเอกสาร โดยหากไม่ไปตามหมายเรียกครั้งที่ 2 โดยไม่แจ้งเหตุผลอันสมควร อาจถูกออกหมายจับได้

 

นอกจากนั้น ตามบันทึกข้อความสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กองคดีที่ 0004.6/3175 วันที่ 22 เมษายน พ.ศ.2547 เรื่อง การเรียกผู้ต้องหาไปพบเพื่อรับทราบข้อกล่าวหา วางแนวปฏิบัติของพนักงานสอบสวนว่าจะมีอำนาจเรียกผู้ต้องหาไปพบได้ก็ต่อเมื่อมีข้อเท็จจริง โดยมีพยานหลักฐานตามสมควรที่จะเชื่อได้ว่าบุคคลนั้นเป็นผู้กระทำความผิดตามที่กล่าวหาเสียก่อน การมีคำร้องทุกข์เพียงอย่างเดียวโดยไม่มีพยานหลักฐานอื่นสนับสนุนพนักงานสอบสวนยังไม่มีอำนาจที่จะเรียกผู้ต้องหาไปพบได้

 

แต่ดูเหมือนว่าบรรทัดฐานแนวปฏิบัตินี้ จะไม่ได้ถูกนำมาปฏิบัติอย่างเคร่งครัดในหลายกรณีปรากฏการณ์ตัวอย่างต่อไปนี้

 

  •  กรณีตำรวจ สน.ชนะสงคราม ออกหมายเรียกอดีตสมาชิกกลุ่มดาวดิน2 ได้แก่ วสันต์-และสุวิชชา ให้ไปรับทราบข้อกล่าวหาร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ และร่วมกันมั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้ายขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย หรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง จากกรณีชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร ทั้งๆ ที่ในวันที่มีการชุมนุมดังกล่าวทั้ง 2 คน ไม่ได้เข้าร่วมการชุมนุม โดยในหมายเรียกนั้นปรากฎภาพของผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 2 ไม่ชัดเจน ทั้งนี้ ในวันรายงานตัว ทั้งสองแสดงเจตนาบริสุทธิ์โดยมีเอกสารแสดงตนว่าวันดังกล่าว วสันต์ได้ทำงานอยู่ที่ห้องอาหารสุนีย์ จังหวัดอุบลราชธานี และสุวิชชาได้ปฏิบัติหน้าที่ ณ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ประจำจังหวัดอุดรธานี ในกรณีของสุวิชชาพบว่าพนักงานสอบสวนกลับไม่แจ้งพฤติการณ์การกระทำความผิด ไม่แจ้งข้อกล่าวหาให้ทราบ รวมถึงไม่ยอมดำเนินการเพิกถอนหมายเรียกผู้ต้องหา ซึ่งตามหลักแล้วหากพบว่าการใช้อำนาจออกหมายเรียกของตนผิดพลาด พนักงานสอบสวนต้องดำเนินการเพิกถอนหมายเรียกนั้น ปัจจุบันทั้งสองได้ดำเนินการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายโดย @ภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (อ้างอิงคำฟ้อง :

https://www.facebook.com/HRLawyersAlliance/photos/a.106537421452516/114088627364062/)

 

  • เช่นเดียวกันกับกรณี พนักงานสอบสวน สน.ยานนาวา ออกหมายเรียกวันเฉลิม ประชาชนวัย 20 ปี ให้มารับทราบข้อกล่าวหามั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญ ว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายหรือทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง, ร่วมกันต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน, ร่วมกันทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงาน ทั้งที่ไม่ได้เข้าร่วมการชุมนุม #ม็อบ1กุมภา หรือ #StandWithMyanmar และมีพยานหลักฐาน ในส่วนภาพในเอกสารของเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ไม่ชัดเจน ตำรวจจึงยังไม่แจ้งข้อหาต่อวันเฉลิม (อ้างอิง : https://tlhr2014.com/archives/26237)

 

  •  กรณีตำรวจ สภ.เมืองนนทบุรี ออกหมายเรียกชินวัตร ในข้อหาฝ่าฝืนพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 จากการชุมนุม #ลูกทุเรียนนนท์ต่อต้านเผด็จการ โดยรองผู้กำกับสืบสวน สภ.เมืองนนทบุรี เป็นผู้กล่าวหา แต่เมื่อรองผู้กำกับสอบสวน สภ.เมืองนนทบุรี ได้ตรวจสอบแล้วว่าผู้จัดการชุมนุมได้แจ้งการชุมนุมสาธารณะครั้งนี้แล้วจึงไม่ได้แจ้งข้อกล่าวหาตามหมายเรียก สุดท้ายพนักงานสอบสวนจึงแจ้งข้อหาการใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามมาตรา 9 แห่ง พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง พ.ศ. 2493 แทน เนื่องจากผู้จัดการชุมนุมไม่ได้ยื่นหนังสือขอใช้เครื่องขยายเสียง (อ้างอิง : https://tlhr2014.com/archives/22676)

 

  •  กรณีตำรวจ สภ.ภูเขียว ออกหมายเรียกผู้ต้องหาผู้ไม่ได้เข้าร่วมชุมนุมรวม 3 ราย รายล่าสุดคือ ศรายุทธ นักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยพนักงานสอบสวน สภ.ภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ ออกหมายเรียกให้ไปรับทราบข้อกล่าวหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.ความสะอาดฯ จากกรณีชุมนุม #ราษฎรออนทัวร์ เขาจึงต้องเดินทางจากจังหวัดขอนแก่นมาตามหมายเรียกที่จังหวัดชัยภูมิ พนักงานสอบสวนจึงตรวจสอบข้อมูลบุคคลในเอกสารและภาพถ่ายที่บันทึกเกี่ยวกับการชุมนุมเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 และพบว่าไม่ปรากฎศรายุทธอยู่ในเหตุการณ์จริง ต่อมาตำรวจจึงได้ขอสอบปากคำศรายุทธเป็นพยาน เพื่อจะถอนหมายเรียกผู้ต้องหาในภายหลัง (อ้างอิง : https://tlhr2014.com/archives/27828)

 

ในส่วนของ “หมายจับ” ตามป.วิ.อาญา มาตรา 66  เหตุที่จะออกหมายจับได้มีดังต่อไปนี้ (1) เมื่อมีหลักฐานตามสมควรว่าบุคคลใดน่าจะได้กระทำความผิดอาญาซึ่งมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินสามปี หรือ (2) เมื่อมีหลักฐานตามสมควรว่าบุคคลใดน่าจะได้กระทำความผิดอาญาและมีเหตุอันควรเชื่อว่าจะหลบหนี หรือจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือก่อเหตุอันตรายประการอื่น

 

วรรคสอง ถ้าบุคคลนั้นไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง หรือไม่มาตามหมายเรียกหรือตามนัดโดยไม่มีข้อแก้ตัวอันควร ให้สันนิษฐานว่าบุคคลนั้นจะหลบหนี

 

เนื่องจากการจับกุม เป็นการกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน ดังนั้นก่อนที่จะยื่นคำร้องขอให้ศาลออกหมายจับได้ เจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจเกี่ยวข้องกับการสืบสวนสอบสวน ต้องปฏิบัติตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 131 คือให้พนักงานสอบสวนรวบรวมหลักฐานทุกชนิด เท่าที่สามารถจะทำได้ เพื่อประสงค์จะทราบข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ต่าง ๆ อันเกี่ยวกับความผิดที่ถูกกล่าวหา เพื่อจะรู้ตัวผู้กระทำผิดและพิสูจน์ให้เห็นความผิดหรือความบริสุทธิ์ของผู้ต้องหา

 

อย่างไรก็ตาม การออกหมายจับของพนักงานสอบสวนที่ผ่านมากลับไม่เป็นไปตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 66 ประกอบมาตรา 131 เห็นได้จากตัวอย่างต่อไปนี้

 

  •  กรณีตำรวจ สภ.คลองหลวงออกหมายจับทั้งที่ไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะดำเนินคดี ในกรณีปรากฏชื่อของชยพลว่าเป็นบุคคลที่ถูกออกหมายจับ เลขที่หมายจับ 15/2564 ข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 (มีโทษจำคุกตั้งแต่ 3-15 ปี) เมื่อเดินทางไปที่ สภ.คลองหลวงเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจ ผู้กำกับการสภ.คลองหลวงยืนยันว่าไม่เคยมีการออกหมายจับ จึงไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหาเกิดขึ้น ปรากฏต่อมาในวันเดียวกันนั้น คณะพนักงานสืบสวนสอบสวน ตามคำสั่งตำรวจภูธรจังหวัดปทุมธานี ที่ 16/2564 ยื่นคำร้องขอยกเลิกหมายจับ เนื่องจากตรวจสอบพยานหลักฐานเพิ่มเติมพบว่า ในขณะนี้ยังไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะดำเนินคดีกับนายชยพล โดยศาลมีคำสั่งรับคำร้อง และยกเลิกหมายจับ (อ้างอิง : https://tlhr2014.com/archives/25128)

 

  •  กรณีตำรวจ สน.ลุมพินีออกหมายจับก่อนวันนัดตามหมายเรียก เมื่อวันที่ 21 ม.ค. 64 พรพจน์ เดินทางตามหมายเรียกผู้ต้องหาครั้งที่ 3 เข้ารับทราบข้อกล่าวหา ฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และพ.ร.บ.ชุมนุมฯ กรณีการปราศรัยในการชุมนุม #18พฤศจิกาไปราษฎร​ประสงค์ แต่ก่อนการรับทราบข้อกล่าวหาที่บริเวณสน.ลุมพินี ได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าแสดงหมายจับที่ 6/2564 ลงวันที่ 20 ม.ค. 64 ออกโดยศาลแขวงปทุมวัน ระบุว่ามีหลักฐานสมควรว่าจะหลบหนี ทั้งนี้พรพจน์ไม่เคยได้หมายเรียกผู้ต้องหาครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 มาก่อน ทนายความของพรพจน์จึงเจรจากับเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อให้เพิกถอนหมายจับ เนื่องจากผู้ต้องหามาตามหมายเรียก ยังไม่มีพฤติการณ์จะหลบหนี (อ้างอิง : https://tlhr2014.com/archives/25394)

 

จากปรากฏการณ์การออกหมายเรียกและหมายจับพลาดของเจ้าหน้าที่ แสดงให้เห็นว่ายิ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่สามารถปฏิบัติตามระเบียบและกฎหมายมากเท่าไร ประชาชนก็จะต้องเป็นผู้รับเคราะห์จากความ “พลาด” และถูกกระทบสิทธิเสรีภาพมากเท่านั้น ในทางกลับกัน หากประชาชนไม่ทักท้วงโดยปรับตัวคุ้นชินกับการปฏิบัติหน้าที่ที่ไม่เป็นไปตามที่กฎหมายให้อำนาจไว้ของเจ้าหน้าที่ เจตนารมณ์เบื้องหลังของกฎหมายที่มุ่งให้สังคมมีความยุติธรรมก็จะหายไป เหลือเพียงลายลักษณ์อักษรที่จะปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติตามก็ได้

 

อ้างอิง

1 พนักงานสอบสวน หมายถึง ตำรวจที่มียศตั้งแต่ร้อยตำรวจตรีขึ้นไป, พนักงานฝ่ายปกครอง จะต้องดำรงตำแหน่งปลัดอำเภอขึ้นไป และตำรวจชั้นผู้ใหญ่ หมายถึง เจ้าหน้าที่ตำรวจที่มียศตั้งแต่ร้อยตำรวจตรีขึ้นไปจนถึงผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

2 กลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น ดำเนินกิจกรรมกับชุมชนต่างๆ ในพื้นที่ภาคอีสานที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายและโครงการพัฒนาของรัฐและเอกชน