ก่อนที่กฎหมายจะถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือปิดปาก…

ก่อนที่กฎหมายจะถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือปิดปาก…

 

หากกล่าวถึงกฎหมายที่เป็นเครื่องมือฟ้องปิดปากประชาชนที่ออกมามีส่วนร่วมในประเด็นสาธารณะนั้น หลายคนอาจนึกถึงกฎหมายอาญาที่มีโทษร้ายแรง อย่างมาตรา 112 ฐานดูหมิ่นกษัตริย์ฯ มาตรา 116 ฐานยุยงปลุกปั่น มาตรา 328 329 ฐานหมิ่นประมาท หรือกฎหมายอื่น ๆ เช่น พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ[1] พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ เป็นต้น ซึ่งความจริงแล้วยังมีกฎหมายอีกหลายฉบับที่ไม่น่าเชื่อว่าจะกลายเป็นเครื่องมือฟ้องปิดปากถูกนำมาบังคับใช้อย่างไม่ถูกต้องตามเจตนารมณ์ บางข้อหารัฐได้อาศัยสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) เป็นข้ออ้างในการบังคับใช้กฎหมายด้วย ซึ่งในบทความนี้ สนส. จะนำเสนอฐานความผิดที่ถูกนำมาใช้บังคับขัดกับเจตนารมณ์และที่มาในการบัญญัติกฎหมาย ได้แก่

 

  • พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548

ข้อหาที่ถูกนำมาใช้ฟ้องปิดปาก คือ ข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดและประกาศที่ออกตามมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ร่วมกันจัดกิจกรรมในลักษณะมั่วสุมหรือมีโอกาสติดต่อสัมผัสกันง่าย เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค เช่นกรณีของกลุ่ม “ขอคืนไม่ได้ขอทาน” ที่นายบูรณ์ อารยพล พร้อมพวก รวม 4 คนถูกแจ้งข้อกล่าวหาฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากกรณีปักหลักหน้าทำเนียบรัฐบาล โดยก่อนหน้านี้กลุ่มของหมอบูรณ์ได้มีข้อเรียกร้องและเคลื่อนไหวมาอย่างต่อเนื่อง ขอให้สำนักงานประกันสังคมแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ผู้สมทบเงินประกันสังคมสามารถเบิกเงินสะสมชราภาพมาใช้ก่อนเกษียณ[2] ซึ่งจากการมาเคลื่อนไหวประเด็นดังกล่าวหมอบูรณ์ได้ถูกดำเนินคดีมาแล้วก่อนหน้านี้ 2 ครั้ง โดยครั้งแรกในข้อหากระทำการอันควรขายหน้าต่อธารกำนัลตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 388[3] และครั้งที่ 2 ในข้อหา กีดขวางทางสาธารณะตามประมวลกกฎหมายอาญา มาตรา 385[4] หรือกรณีของเบญจา อะปัญ และพริษฐ์ ชิวารักษณ์ จากกรณีเข้าร่วมชุมนุมและปราศรัยในกิจกรรม “กระชากหน้ากากไบโอไซน์” ที่บริเวณหน้าอาคารศรีจุลทรัพย์ เมื่อวันที่ 25 ม.ค. 64 ที่นอกจากทั้งสองจะถูกดำเนินคดีฐานฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯแล้ว ยังมีข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ข้อหาตามพ.ร.บ.โรคติดต่อฯ และพ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาฯอีกด้วย[5]

หากพิจารณานิยามของ “สถานการณ์ฉุกเฉิน” ภายใต้กฎหมายนี้ หมายความว่า“สถานการณ์อันกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนหรือเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐหรืออาจทำให้ประเทศหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของประเทศตกอยู่ในภาวะคับขันหรือมีการกระทำความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา การรบหรือสงคราม ซึ่งจำเป็นต้องมีมาตรการเร่งด่วนเพื่อรักษาไว้ซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เอกราชและบูรณภาพแห่งอาณาเขต ผลประโยชน์ของชาติ การปฏิบัติตามกฎหมาย ความปลอดภัยของประชาชน การดำรงชีวิตโดยปรกติสุขของประชาชน การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ความสงบเรียบร้อยหรือประโยชน์ส่วนรวม หรือการป้องปัดหรือแก้ไขเยียวยาความเสียหายเกิดจากภัยพิบัติสาธารณะอันมีมาอย่างฉุกเฉินและร้ายแรง”

ภายใต้นิยามอันยืดยาวนี้ จะสังเกตได้ว่าเจตนารมณ์ของการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ คือ ให้รัฐมีเครื่องมือพิเศษในการรักษาความมั่นคงของรัฐและป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะในกรณีที่ไม่อาจแก้ไขปัญหาด้วยการบริหารราชการในรูปแบบปรกติได้ ในระยะชั่วคราวเท่านั้น[6]

 

  • พระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558

ข้อหาที่ถูกนำมาใช้ฟ้องปิดปาก คือ มาตรา 34(6) กระทำการหรือดำเนินการใด ๆ ซึ่งอาจก่อให้เกิดสภาวะที่ไม่ถูกสุขลักษณะ ซึ่งอาจเป็นเหตุให้โรคติดต่ออันตรายหรือโรคระบาดแพร่ออกไป ซึ่งมีโทษตามมาตรา 51 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท เช่นกรณีการดำเนินคดีต่อจตุพร แซ่อึงและสายน้ำ เยาวชน จากกรณีจัดงานแฟชั่นโชว์ ‘รันเวย์ของประชาชน’ ที่หน้าวัดแขก สีลม เมื่อวันที่ 29 ต.ค. 2563 นอกจากทั้งสองถูกดำเนินคดีตามมาตรา 34(6) พ.ร.บ.โรคติดต่อฯแล้ว ยังมีข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ข้อหาฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ และพ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาฯด้วย คดีนี้ทำให้สายน้ำตกเป็นเยาวชนคนแรกที่ตั้งข้อหามาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา7

เจตนารมณ์ที่แท้จริงตามหมายเหตุท้ายกฎหมาย ระบุเหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของโรคติดต่อที่รุนแรงและก่อให้เกิดโรคระบาดมากผิดปกติ ทั้งโรคติดต่อที่อุบัติใหม่และโรคติดต่อที่อุบัติซ้ำ เพื่อพัฒนาและปรับปรุงมาตรการทางกฎหมายที่เกี่ยวกับการเฝ้าระวัง การป้องกันและการควบคุมโรคติดต่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันและข้อกำหนดของกฎอนามัยระหว่างประเทศ พ.ศ. 2548 อย่างไรก็ตาม การที่ถ้อยคำในตัวบทกฎหมายมาตราดังกล่าว ได้ถูกบัญญัติไว้อย่างกว้าง โดยไม่มีนิยามของคำว่า “ก่อให้เกิดสภาวะที่ไม่ถูกสุขลักษณะ” ทำให้เกิดช่องว่างในการตีความตัวบทกฎหมายว่า การกระทำอย่างไรจึงจะเข้าข่ายเป็นการกระทำความผิดดังกล่าว ทำให้แม้ว่าผู้ชุมนุมจะมีมาตรการการสวมใส่หน้ากากอนามัย มีการตรวจวัดอุณหภูมิ รวมทั้งมีการเว้นระยะห่างขณะชุมนุมแล้ว ในความเป็นจริงรัฐก็ยังคงนำข้อหาตามพ.ร.บ.โรคติดต่อฯ มาฟ้องดำเนินคดีต่อประชาชนอยู่

 

  • พระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535

พ.ร.บ.ความสะอาดฯ เป็นกฎหมายหนึ่งที่มีบทบัญญัติหลายมาตราถูกนำมาบังคับใช้อย่างไม่ถูกต้องตามเจตนารมณ์ต่อผู้ออกมาใช้เสรีภาพในการชุมนุมสาธารณะ อาทิ การใช้ข้อหาโฆษณาด้วยการปิด ทิ้ง หรือโปรยแผ่นประกาศหรือใบปลิวในที่สาธารณะมาดำเนินคดีกับนักศึกษาและประชาชนในจังหวัดลำปาง 5 ราย จากกรณีถูกกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องในการติดป้ายที่เขียนข้อความ“งบสถาบัน>งบเยียวยาประชาชน” ไว้บริเวณสะพานรัษฎาภิเษก จังหวัดลำปาง ร่วมกับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112[7] หรือการใช้ข้อหาติดตั้ง ตาก วาง หรือ แขวนสิ่งใด ๆ ในที่สาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต ดำเนินคดีกับสมาชิกการ์ดปลดแอกกรณีแขวนป้ายผ้าที่สถานที่พักตากอากาศบางปู ซึ่งถูกแจ้งข้อหา มาตรา 112 ร่วมด้วย[8] และการใช้ข้อหาทำให้ปรากฏด้วยประการใด ๆ ซึ่งข้อความ ภาพ หรือรูปรอยใด ๆ ที่กำแพงติดกับถนน บนถนน ที่ต้นไม้ หรือส่วนหนึ่งส่วนใดของอาคารที่อยู่ติดกับถนน หรืออยู่ในที่สาธารณะ ดำเนินคดี 4 นักศึกษา นำโดยพริษฐ์ ชิวารักษ์ จากการทำกิจกรรม “ผูกโบขาว” ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และตามสถานที่ต่าง ๆ เพื่อเรียกร้องความยุติธรรมให้ นายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ หรือ ต้าร์ ผู้ลี้ภัยชาวไทย ที่ถูกอุ้มหายในประเทศกัมพูชา[9]

หากพิจารณาเหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ในหมายเหตุท้ายพระราชบัญญัติ คือ เพื่อให้การบริหารจัดการสิ่งปฏิกูลและมูลฝอยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งสิทธิในการชุมนุมสาธารณะ ในมุมของความสะอาดของทางสาธารณะ หากเป็นไปเพื่อการชุมนุม เจ้าหน้าที่มีหน้าที่ต้องอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน ต้องช่วยรับรองว่าสารที่ผู้ชุมนุมต้องการจะสื่อ สามารถบรรลุผลในการส่งออกไปยังสธารณชน เช่น กรณีใบปลิวที่ผู้ชุมนุมโปรย เจ้าหน้าที่ต้องอ่านข้อความในนั้นไม่ใช่ตั้งข้อหาเพราะความสกปรก และแม้ว่าโทษของการฝ่าฝืนกฎหมายดังกล่าวจะมีเพียงโทษปรับ แต่ถือว่าเป็นการสร้างภาระและส่งผลต่อกิจกรรมหรือการออกมาเรียกร้องของผู้ชุมนุม การกำหนดให้ผู้ชุมนุมหรือผู้จัดการชุมนุมต้องจัดหาหรือมีส่วนในการออกค่าใช้จ่ายของตำรวจหรือฝ่ายรักษาความปลอดภัยในระหว่างการชุมนุม เช่น ค่าใช้จ่ายในการทำความสะอาดที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมโดยสงบในรูปแบบของค่าปรับ เป็นการขัดต่อมาตรา 21 แห่งกติกาสากลว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง

 

  • พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522

ส่วนมากความผิดตามพ.ร.บ.นี้ที่มักถูกนำมาใช้ฟ้องปิดปาก คือ ข้อหาวาง ตั้ง ยื่น หรือแขวนสิ่งใดสิ่งหนึ่งหรือกระทำด้วยประการใด ๆ ในลักษณะที่เป็นการกีดขวางการจราจร ตามมาตรา 114 ซึ่งมักถูกนำมาพ่วงดำเนินคดีต่อผู้ชุมนุมทางการเมืองร่วมกับข้อหาอื่น ๆ ด้วย ยกตัวอย่างเช่น ในคดีจากการชุมนุมและปราศรัย #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร เมื่อวันที่ 19-20 ก.ย.2563 บริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ และสนามหลวง ที่มีผู้ต้องหา 8 คนถูกแจ้งข้อหาตามมาตรา 114 พ.ร.บ.จราจรฯ ร่วมกับ ข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 385 ร่วมกันกีดขวางทางสาธารณะ และข้อหาใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามพ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาฯ[10]

 

เจตนารมณ์ของการบัญญัติพ.ร.บ.จราจรฯนั้นเป็นไปเพื่อความปลอดภัยแก่ชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินของประชาชน ในการเดินทางด้วยการจราจรทางบก จะเห็นได้ว่ากฎหมายนี้ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ควบคุมการชุมนุม แต่โดยตัวบทแล้วถูกตีความนำมาใช้กับการชุมนุมได้บ่อยครั้ง โดยมีหลายมาตราที่เกี่ยวข้อง โดยทุกฐานความผิดมีโทษปรับไม่เกิน 500 บาท[11] ซึ่งหากพิจารณาถึงสิทธิการชุมนุมโดยสงบของกติกาสากลว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิการเมืองแล้วนั้นเป็นหน้าที่ของรัฐที่ต้องอำนวยความสะดวกให้แก่การชุมนุมโดยสงบและส่งเสริมให้ผู้ชุมนุมสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ของการชุมนุมของพวกเขาได้ โดยที่เจ้าหน้าที่รัฐอาจจำต้องดำเนินมาตราการบางอย่าง ยกตัวอย่างเช่น อาจจะต้องมีการปิดถนน จัดการเบี่ยงการจราจร และรักษาความปลอดภัย ทั้งข้อยกเว้นในการที่การชุมนุมจะถูกสลายได้ก็ต่อเมื่อการชุมนุมนั้นมิได้เป็นไปโดยสงบอีกต่อไป หรือการชุมนุมที่ยังคงสงบแต่ก่อให้เกิดผลกระทบในระดับสูง เช่น การกีดขวางการจราจรเป็นวงกว้าง โดยหลักแล้วอาจถูกสลายการชุมนุมได้เมื่อผลกระทบนั้น “มีความร้ายแรงและยาวนาน”[12]

 

  • พระราชบัญญัติควบคุมการโฆษณาด้วยเครื่องขยายเสียง พ.ศ. 2493

มาตรา 4 ข้อหาใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งหากฝ่าฝืนต้องระวางโทษปรับ 200บาท เป็นข้อหาที่มักถูกนำมาใช้กับผู้ชุมนุมทางการเมืองที่มีการปราศรัยโดยใช้เครื่องขยายเสียงแทบจะทุกการชุมนุม เช่น การดำเนินคดีกับชินวัตร จันทร์กระจ่าง แกนนำกลุ่มเครือข่ายคนรุ่นใหม่นนทบุรี จากการชุมนุม #ลูกทุเรียนนนท์ต่อต้านเผด็จการ บริเวณท่าน้ำนนท์ จังหวัดนนทบุรี เมื่อวันที่ 14 ส.ค. 63[13] หรือกรณีของชลธิชา แจ้งเร็ว จากการชุมนุม #ไปสภาไล่ขี้ข้าศักดินา เรียกร้องให้รัฐสภาเปิดทางให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญในทุกหมวด เมื่อวันที่ 24 ก.ย.2563 โดยถูกแจ้งข้อหาฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ร่วมกับข้อหาตามพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ, พ.ร.บ.จราจรฯ พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ และประมวลกฎหมายอาญาฐานกีดขวางทางเข้าออกสถานที่ทำการหน่วยงานรัฐ กับข้อหาร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปด้วย[14]

เจตนารมณ์ของกฎหมายนี้ ตามที่ระบุไว้ในส่วนต้นของพ.ร.บ.ดังกล่าวระบุว่าเป็นไปเพื่อควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงให้เป็นระเบียบเรียบร้อยและเหมาะสม

 

จากข้อหาความผิดจากกฎหมายทั้ง 5 ฉบับที่ยกมาเป็นตัวอย่าง แม้ข้อหาอื่นนอกจากข้อหาฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯจะมีเพียงโทษปรับที่เป็นจำนวนเงินที่ดูไม่มากนัก แต่หากพิเคราะห์แล้วผู้ใช้สิทธิเสรีภาพของตนโดยชอบไม่ควรที่จะต้องสูญเสียทรัพย์สินแม้แต่บาทเดียว ทั้งกฎหมายเหล่านี้เป็นความผิดทางอาญา สนส.จึงเห็นว่าไม่ควรถูกตีความอย่างกว้างเพราะเป็นการจำกัดสิทธิของประชาชน รวมถึงเป็นการสร้างภาระและขัดขวางการดำเนินกิจกรรมทางสังคมและการเมือง ซึ่งการที่กฎหมายที่ถูกตราขึ้นเพื่อความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองไม่ได้ถูกใช้ตามเจตนารมณ์ที่ถูกบัญญัติ แต่กลับถูกรัฐใช้เป็นเครื่องมือควบคุม จำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกอย่างไม่หยุดยั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับผู้ชุมนุมที่ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตยนั้น เป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและกติกาสากลว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองที่วางหลักว่าการจำกัดสิทธิต้องมีความจำเป็นและได้สัดส่วนในบริบทของสังคมที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตย รวมถึงหลักสิทธิมนุษยชน มิใช่พิจารณาเพียงว่าเป็นมาตรการที่สมเหตุสมผลหรือสะดวกรวดเร็ว โดยรัฐต้องมีการประเมินเชิงคุณค่าระหว่างผลดีและผลเสียของการใช้สิทธิ[15] ทั้งยังเป็นการขัดขวางการมีส่วนร่วมของประชาชนในการการพัฒนาประชาธิปไตยของประเทศ ในอันที่จะก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีในอนาคต ซึ่งรัฐควรตระหนักถึงและมีกลไกในการแก้ปัญหาโดยเร็ว

 

อ้างอิง

[1] พูนสุข พูนสุขเจริญ จากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าวไว้ในเวทีเสวนา ‘SLAPP : เมื่อกระบวนการยุติธรรมถูกใช้ปิดปากประชาชน’ จัดโดย สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนจากบทความของ Voice online, “ปรากฏการณ์ฟ้องปิดปาก: คดี 112 พุ่งเกินร้อย – ‘ไผ่’ ชี้ 112 ทำพลัดพรากครอบครัว”, (ออนไลน์), เข้าถึงเมื่อวันที่ 7 มิ.ย. 2564,  https://voicetv.co.th/read/vRvus_U4B

[2] คม ชัด ลึก, “รวบ ‘หมอบูรณ์’ อีกรอบ ส่งศาลบ่ายวันนี้”, (ออนไลน์), เข้าถึงเมื่อวันที่ 8 มิ.ย. 2564, https://www.komchadluek.net/news/crime/454162

[3] ประชาไท, “ตร.ตั้งข้อหาแกนนำ ‘ขอคืนไม่ได้ขอทาน’ เปลือยในที่สาธารณะ เหตุชุมนุมร้องเบิกประกันสังคม”, (ออนไลน์),เข้าถึงเมื่อวันที่ 8 มิ.ย. 2564, https://prachatai.com/journal/2020/06/88278

[4] ศูนทย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน, “อัยการสั่งฟ้องคดี 2 สมาชิก “ขอคืนไม่ได้ขอทาน” ถือป้ายสวัสดีปีใหม่ “ประยุทธ์””, (ออนไลน์), เข้าถึงเมื่อวันที่ 8 มิ.ย. 2564, https://tlhr2014.com/archives/25727

[5] ศูนทย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน, “แจ้ง 4 ข้อหา ‘เบนจา’ รวม ‘ม.112-พ.ร.ก.ฉุกเฉิน’ เหตุปราศรัยกระชากหน้ากากไบโอไซน์” ””, (ออนไลน์), เข้าถึงเมื่อวันที่ 8 มิ.ย. 2564, https://tlhr2014.com/archives/26869

[6] อ.ดร.พัชร์ นิยมศิลป, “พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ยาแรงที่ไม่แก้โควิด-19”, (ออนไลน์), เข้าถึงเมื่อวันที่ 7 มิ.ย. 2564, https://ilaw.or.th/node/5694

7 The Standard, “สายน้ำ เยาวชนคนแรกที่ถูกตั้งข้อหา ม.112 มาฟังคำสั่งอัยการว่าจะฟ้องหรือไม่ ยืนยันสู้ต่อ”, (ออนไลน์), เข้าถึงเมื่อวันที่ 8 มิ.ย. 2564, https://thestandard.co/sainam-first-youth-to-received-m112

[7] ประชาไท, “ตร. จับนศ. แอดมินเพจเชียงรายปลดแอก อ้างเอี่ยวป้าย ‘งบสถาบัน>งบเยียวยาประชาชน’ ผิด ม.112”, (ออนไลน์), เข้าถึงเมื่อวันที่ 8  มิ.ย. 2564, https://prachatai.com/journal/2021/02/91861

[8] ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน, “สมาชิกการ์ดปลดแอกถูกแจ้งข้อหา ม.112 กรณีแขวนป้ายผ้าที่บางปู ศาลให้ประกันตัว” . (ออนไลน์), เข้าถึงเมื่อวันที่ 8 มิ.ย. 2564, https://tlhr2014.com/archives/27293

[9] ไทยรัฐออนไลน์, “ทำผิด พ.ร.บ.รักษาความสะอาด “เพนกวิน” กับพวกโดนล็อก หลังผูกโบขาว”, (ออนไลน์), เข้าถึงงเมื่อวันที่ 8 มิ.ย. 2564, https://www.thairath.co.th/news/crime/1864733

[10] ประชาไท, “นักกิจกรรมเวียน สน.รับทราบข้อหาคดีชุมนุมวันเดียว 4 คดี – 2 ดาวดินไม่มาม็อบก็โดนหมายเรียก”, (ออนไลน์), เข้าถึงเมื่อวันที่ 8 มิ.ย. 2564, https://prachatai.com/journal/2020/11/90284

[11] iLaw, “รู้ไว้ใช่ว่า รวมกฎหมายสำหรับ ‘แฟลชม็อบ’”, (ออนไลน์), เข้าถึงเมื่อวันที่ 7 มิ.ย. 2564, https://freedom.ilaw.or.th/blog/LawsforMob

[12] คำแปลอย่างไม่เป็นทางการของกติกาสากลว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองโดยคณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (ICJ) และ CCPR Center, (ออนไลน์), เข้าถึงเมื่อวันที่ 8 มิ.ย. 2564, https://www.icj.org/wp-content/uploads/2020/10/Thailand-GC37-NEW-2020-TH.pdf

[13] ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน, “ตร.นนทบุรีออกหมายเรียก “ชินวัตร” ข้อหาไม่แจ้งชุมนุม ทั้งที่แจ้งแล้ว ก่อนปรับข้อหาใช้เครื่องเสียงแทน”, (ออนไลน์), เข้าถึงเมื่อวันที่ 8 มิ.ย. 2564, https://tlhr2014.com/archives/22676

[14] ประชาไท, “ตำรวจบางโพแจ้งข้อหา ‘ลูกเกด ชลธิชา’ ชุมนุมมั่วสุม ฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ คดีชุมนุมหน้ารัฐสภา 2 ครั้ง”, (ออนไลน์), เข้าถึงเมื่อวันที่ 8 มิ.ย. 2564, https://prachatai.com/journal/2021/02/91716

[15] คำแปลอย่างไม่เป็นทางการของกติกาสากลว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองโดยคณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (ICJ) และ CCPR Center, (ออนไลน์), เข้าถึงเมื่อวันที่ 8 มิ.ย. 2564, https://www.icj.org/wp-content/uploads/2020/10/Thailand-GC37-NEW-2020-TH.pdf