รู้จัก SLAPPs : แกล้งฟ้อง หรือ เรียกร้องความยุติธรรม?

รู้จัก SLAPPs : แกล้งฟ้อง หรือ เรียกร้องความยุติธรรม?

วันที่ 17 เมษายน 2562 สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ร่วมกับมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม ศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น และศูนย์วิจัยและพัฒนากฎหมาย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดโครงการเสวนาเผยแพร่องค์ความรู้ และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในหัวข้อ “เรียนรู้กระบวนการยุติธรรมผ่านคดีสิทธิมนุษยชน” โดยภายในงาน นักศึกษาของคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้เข้าร่วมรับฟัง และเรียนรู้กระบวนการยุติธรรม ผ่านกรณีศึกษา 3 กรณี คือ คดีโครงการบ้านพักตุลาการที่สร้างบนพื้นที่ใกล้อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ หรือคดีป่าแหว่ง, คดีทนายสุมิตรชัยถูกแจ้งความฐานนำสืบพยานหลักฐานเท็จ และคดีชูป้าย รวมพลคนอยากเลือกตั้งหน้ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และเรียนรู้ปรากฎการณ์การใช้กระบวนการยุติธรรมเป็นเครื่องมือในการปิดกั้นการแสดงออกในประเด็นสาธารณะ

รองศาสตราจารย์สมชาย ปรีชาศิลปะกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า เรื่องที่จัดในวันนี้เป็นประเด็นเกี่ยวกับการฟ้องคดีปิดปาก ซึ่งเป็นการใช้กฎหมายแบบหนึ่งในปัจจุบัน เป็นการดำเนินคดีกับผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวข้องกับหน่วยงานรัฐ มีผู้ที่ถูกดำเนินคดีได้อย่างถ้วนหน้า โดยเฉพาะผู้ที่ทำงานเกี่ยวกับสาธารณะประโยชน์ก็มักจะโดน

การฟ้องปิดปาก/การฟ้องกลั่นแกล้ง (SLAPPs) คืออะไร?

Strategic Lawsuit against Public Participation หรือที่นิยมเรียกว่า SLAPPs คือ การดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อต่อต้านขัดขวางการใช้สิทธิในการมีส่วนร่วมของประชาชนในประเด็นสาธารณะ โดยการใช้กระบวนการยุติธรรมเป็นเครื่องมือในการปิดปากประชาชน เพื่อให้ยุติการวิพากษ์วิจารณ์ประเด็นสาธารณะ หรือหยุดการแสดงออกของประชาชนในบางเรื่อง ซึ่งถือเป็นการปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนทำให้ประชาชนที่ออกมาเรียกร้องในประเด็นสาธารณะนั้นเกิดภาระค่าใช้จ่ายในการต่อสู้คดีหรือทำให้เกิดความกลัว จนในที่สุดประชาชนเหล่านั้นก็จะละทิ้งความตั้งใจที่จะออกมาใช้สิทธิในการมีส่วนร่วม

ข้อสังเกตของ การดำเนินคดีเพื่อกลั่นแกล้ง มักจะเกิดขึ้นจากรัฐ เจ้าหน้าที่รัฐ บริษัทขนาดใหญ่หรือเอกชนที่มีฐานะร่ำรวย เพื่อข่มขู่หรือเพื่อปิดปากประชาชน หรือกลุ่มคนดังกล่าว โดยการทำให้พวกเขาเกิดภาระในการต่อสู้คดี เป็นการดำเนินคดีโดยปราศจากความมุ่งหมายในการแสวงหาความยุติธรรม

กรณีศึกษาที่ยกมาเป็นตัวอย่างภายในงานทั้ง 3 กรณี ล้วนเป็นกรณีศึกษาที่มีลักษณะเป็นการใช้กระบวนการยุติธรรมเป็นเครื่องมือเพื่อปิดกั้นการแสดงออกในประเด็นสาธารณะ หรือการฟ้องปิดปากทั้งสิ้น วิทยากรที่เป็นตัวความในกรณีนั้นๆ ได้มาเล่าถึงรายละเอียดของคดี และแบ่งปันเรื่องราวความรู้สึกที่เกิดขึ้นจากการถูกฟ้องปิดปากที่ตนเองได้ประสบ

คดีทนายสุมิตรชัยถูกแจ้งความฐานนำสืบพยานหลักฐานเท็จ

ทนายสุมิตรชัย หัตถสาร กล่าวว่า “ผมถูกแจ้งความดำเนินคดี ข้อหานำสืบพยานหลักฐานเท็จในศาล คนที่ฟ้องเป็นอดีตนักการเมืองจังหวัดลำพูน เขามีประเด็นปัญหากับชุมชนที่ลำพูนเกี่ยวกับเรื่องที่ดิน เรื่องเกิดตั้งแต่ปี 2549 มีการแย่งยึดที่ดินจากชาวบ้านที่ทำกินมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ และต่อมานายทุนก็ปรากฏตัวแสดงตัวว่าเป็นเจ้าของที่ดิน ชาวบ้านจึงเรียกร้องให้มีการตรวจสอบเอกสารสิทธิของนายทุน ผมในฐานะทนายความได้เข้าไปเป็นที่ปรึกษาให้กับชาวบ้านว่าจะสามารถเรียกร้องให้ตรวจสอบอะไรได้บ้างในทางกฎหมาย และมีชื่อผมเข้าไปเป็นคณะกรรมการตรวจสอบด้วยในตอนนั้น

ต่อมาผลการตรวจสอบออกมาปรากฏว่า มีหลักฐานว่าการออกเอกสารสิทธิมีความไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างไรบ้าง เรื่องหนึ่งคือ ที่ตรงนั้นเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติ และที่ดินตรงนั้นพันกว่าไร่ตกเป็นของนายทุนคนนี้คนเดียว และครอบครัว ซึ่งได้มีการตรวจสอบว่าเป็นไปได้อย่างไรที่ที่ดินจำนวนมากขนาดนั้นจะตกเป็นของคนนี้คนเดียว ซึ่งชาวบ้านถูกฟ้องทั้งหมดน่าจะ 10 กว่าคดี และผู้ถูกฟ้องน่าจะประมาณ 15 คน

ผลจากการตรวจสอบนำมาซึ่งหลักฐานหลายชิ้นที่ถูกนำไปใช้เป็นหลักฐานในการสู้คดี และเราชนะคดีมาตลอด ซึ่งนายทุนมักใช้ข้อหาบุกรุกในการฟ้องเป็นคดีอาญาต่อชาวบ้าน และคดีล่าสุดก่อนที่ผมจะถูกดำเนินคดีคือ นายทุนฟ้องชาวบ้าน 2 คน ซึ่งไม่แน่ชัดว่าที่ดินของเขาอยู่ตรงไหนบ้าง ชาวบ้านก็รวมตัวกันคัดค้าน จึงมีการฟ้องชาวบ้าน 2 คน และได้นำหลักฐานจากการตรวจสอบไปพิสูจน์ในศาลซึ่งมีชื่อของผมอยู่ในคณะกรรมการตรวจสอบด้วย และศาลวินิจฉัยว่าคดีขาดอายุความ ถ้าเป็นคดีบุกรุกต้องแจ้งความภายในสามเดือนนับตั้งแต่ทราบ แต่นายทุนรู้มานานแล้ว ซึ่งเป็นคดีที่ผมถูกแจ้งความดำเนินคดีว่านำสืบพยานหลักฐานเท็จ นี่เป็นที่มาที่เป็นเบื้องหลังการฟ้องคดีนี้”

ทนายสุมิตรชัย กล่าวอีกว่า “มีอีกคดีหนึ่งที่ศาลยกฟ้อง และเพิกถอนเอกสารสิทธิของนายทุน และฟังคณะกรรมการตรวจสอบว่าชาวบ้านอยู่มาก่อน ที่ดินดังกล่าวเป็นที่ดินที่ไม่มีเอกสารสิทธิเดิม หรือเรียกว่าที่ดินมือเปล่า ผู้ที่จะออกเอกสารสิทธิได้คือผู้ที่ครอบครองทำประโยชน์จริง และเมื่อเขาถูกเพิกถอนโฉนดแปลว่าหลักฐานของคณะกรรมการตรวจสอบนั้นเป็นความจริง และการนำคดีมาฟ้องชาวบ้านที่เป็นแกนนำ และผมเพราะจะให้มีการหยุดการตรวจสอบด้วย เนื่องจากอาจจะขยายผลไปถึงแปลงอื่นๆ ด้วย และก็มีอีกหลายแปลงที่กรมที่ดินเพิกถอนไปแล้ว เนื่องจากมีพื้นที่เหลื่อมล้ำไปทับพื้นที่ป่า

สำหรับความคืบหน้าของคดี ผมได้ไปคุยกับพนักงานสอบสวนว่ามีหลักฐานอะไรที่ว่านำสืบพยานหลักฐานเท็จ เลยรู้ว่าเกี่ยวกับการตรวจสอบโดยคณะกรรมการ และมีรูปถ่ายพื้นที่เกิดเหตุ ที่เขาอ้างว่าไม่ตรงกับความเป็นจริง ผมแจ้งว่าการที่จะนำสืบพยานหลักฐานเท็จนั้นต้องเป็นพยานหลักฐานที่มีผลต่อการแพ้ชนะคดี ผมจึงโต้แย้งไปว่าคดีดังกล่าวศาลยกฟ้องไปแล้วเนื่องจะคดีขาดอายุความ ไม่ใช่เนื่องจากเนื้อหาของคดี ถามพนักงานสอบสวน ตอนนี้คดียังคาอยู่ที่พนักงานสอบสวนชุดสอบสวนของจังหวัด”

คดีโครงการบ้านพักตุลาการที่สร้างบนพื้นที่ใกล้อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ หรือคดีป่าแหว่ง

นายธีรศักดิ์ รูปสุวรรณ แกนนำเครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ เล่าถึงรายละเอียดที่มาของคดี “วันนี้เป็นวันที่ครบรอบช่วงหนึ่งปีที่เราเคลื่อนไหว ไปร่วมกันชุมนุมที่ท่าแพ และมีผู้ร่วมชุมนุมร่วมพันคน

เชียงใหม่เรามีดอยสุเทพดอยเดียวเป็นหลัก วันดีคืนดีตรงผืนป่าตรงนี้มีที่แหว่งขึ้นมา ผมเลยไปแจ้งอุทยานว่ามีการบุกรุก อุทยานก็แจ้งมาว่านี่อยู่นอกพื้นที่เขตอุทยาน ตั้งแต่ปี 2559 ผมก็เริ่มใช้โซเชียลแจ้งว่า นี่บ้านใคร เข้ามาอยู่ในป่าดอยสุเทพด้วย ต่อมาก็มีคนออกมาบอกว่า เขาขออนุญาตถูกต้อง หากยังมีการโพสต่อไปจะแจ้งความทันที ทำให้สื่อทุกคนต้องหยุดเสนอข่าว

ต่อมาปี 2561 ก็มีภาพป่าแหว่งขึ้นมาอีกเป็นภาพที่จุดประกายให้เกิดการเคลื่อนไหวขึ้นมาอีก ปรากฎว่าบ้านพักเหล่านั้นเป็นบ้านของผู้พิพากษา และบ้านแต่ละหลังค่อนข้างจะหรูมาก ดังนั้นกลุ่มประชาชนชาวเชียงใหม่จึงเริ่มเคลื่อนไหว และมีการรณรงค์เพื่อให้คืนพื้นที่ป่าให้กับเรา จนกระทั่งเกิดการชุมนุมใหญ่ที่มีผู้เข้าร่วมประมาณ 5,000 คน เป็นการรวมตัวของประชาชนครั้งแรกในรัฐบาลทหาร ในที่สุดได้มีการเจรจาและได้ข้อสรุปว่า ให้รื้อบ้านพัก 45 หลัง และอาคารชุด 5 หลัง และให้ย้ายผู้พักอาศัยออก และให้คืนพื้นที่ แต่ต่อมาผู้ว่าก็มีการแก้ไขข้อเจรจาเป็นให้มีการใช้ประโยชน์ในบ้านพักอาศัยนั้นได้ด้วย ในตอนนั้นศาลก็ไม่พูดอะไร เอาแต่เงียบอย่างเดียว

จนกระทั่งมีป้ายปริศนาปรากฎขึ้นกลางเมืองเชียงใหม่ว่า ย้ำยีหัวใจคนเชียงใหม่ พร้อมรายชื่อผู้พิพากษาที่เป็นผู้พักอาศัยในบ้านพักเหล่านั้น ซึ่งผมไม่รู้ว่าใครเป็นคนทำ ทำให้ผู้พิพากษา 5 ท่านแจ้งความทันที และมีการตรวจค้นบ้านผม และยึดคอมพิวเตอร์ของผมไปทันที ตอนแรกไม่ได้แจ้งความดำเนินคดีผม แต่แจ้งความคนทำป้าย แต่ท้ายที่สุดผมก็โดนข้อหา เนื่องจากผมไปให้สัมภาษณ์สื่อว่าการกระทำเช่นนี้เป็นการคุกคามประชาชน ผมเลยโดนแจ้งความ แต่แจ้งความผมที่กรุงเทพฯ”

นายธีรศักดิ์ กล่าวอีกว่า “คดีนี้ คู่ความคือผู้พิพากษา และมาแจ้งความประชาชน แต่คุณคือผู้รุกป่า ทำไมมาแจ้งความประชาชนผู้เรียกร้อง การแจ้งความนี้ก็เพื่อให้พวกเราหยุดการต่อสู้ ตอนนี้ผมขอย้ายคดีมาดำเนินการที่เชียงใหม่ เลยมา 5 เดือนแล้ว ก็ยังอยู่ที่เดิม”

คดีชูป้าย รวมพลคนอยากเลือกตั้งหน้ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่

นายประสิทธิ์ ครุธาโรจ นักศึกษากลุ่มสมัชชาเสรีแห่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เพื่อประชาธิปไตย เล่าถึงรายละเอียดของคดี “ผมจัดกิจกรรมที่หน้ามหาลัยเชียงใหม่ หลังจากนั้นสัปดาห์ต่อมา ทหารก็ไปแจ้งความ และหมายก็มาถึงบ้านก็เลยไปรายงานตัว คดีนี้กินเวลาเป็นปีกับอีกหนึ่งเดือนที่ผมต้องไปรายงานตัวกับอัยการเป็นจำนวน 10 รอบ คดีนี้ที่โดนคือละเมิดคำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 3/2558 ข้อ 12 และความผิดเกี่ยวกับพ.ร.บ.เครื่องขยายเสียง มาวันหนึ่งข้อ 12 ของคำสั่งของหัวหน้าคสช. ก็ถูกยกเลิก ตอนแรกคิดว่าจะไม่ฟ้อง แต่อัยการก็ฟ้อง พอไปขึ้นศาล เขาพยายามให้เรายอมรับข้อหาเรื่องพ.ร.บ.เครื่องขยายเสียง เพราะ การยกเลิกข้อ 12 รอการวินิจฉัยเรื่องข้อกฎหมายก่อน และเนื่องจากความเหนื่อยล้าที่ต้องเดินทางไปรายงานตัวหลายครั้ง ก็ยอมรับเรื่องเครื่องขยายเสียงไป ต่อมาศาลก็ยกฟ้องเรื่องชุมนุม แต่ลงโทษให้ปรับในความผิดเกี่ยวกับพ.ร.บ.เครื่องขยายเสียง แต่มากไปกว่านั้นคือการเสียเวลา และเสียค่าใช้จ่ายอื่นๆ อีก สร้างความวุ่นวายเนื่องจากต้องไปรายงานตัวทุกเดือน คือไปเซ็นต์ไม่ถึงสองนาทีแล้วก็กลับ”

การใช้สิทธิทางศาลเป็นการใช้กระบวนการยุติธรรมทั่วไป ทำไมมองว่าเป็นการแกล้งฟ้อง?

ทนายสุมิตรชัย กล่าวว่า “ถ้ามองในแง่นี้ก็ถูก คนทุกคนมีสิทธิจะปกป้องสิทธิ และประโยชน์ของตัวเอง แต่อย่างกรณีของผม มันไม่ใช่แค่ปัญหาระหว่างนายทุนกับชาวบ้าน แต่เกี่ยวกับโครงสร้างกระบวนการออกเอกสารสิทธิที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งเป็นความขัดแย้งเชิงโครงสร้างนโยบาย คดีนี้เจ้าหน้าที่ออกเอกสารสิทธิถูกตั้งกรรมการสอบว่าทุจริต และถูกไล่ออกซึ่งเป็นกระบวนการที่ถูกแฉ และเจ้าหน้าที่รัฐมีส่วนเกี่ยวข้อง เป็นการขยายออกมาจากปัญหาของปัจเจกธรรมดา แต่ SLAPPs เกี่ยวข้องกับปัญหาของโครงสร้างบางอย่างด้วย อย่างคดีป่าแหว่ง ปัญหาที่เป็นเบื้องหลังของปัญหาเหล่านี้มันใหญ่กว่าแค่ผู้พิพากษา 5 คน

SLAPPs ปัจจุบันเป็นเรื่องที่ทั่วโลกให้ความสนใจ เนื่องจากเป็นเรื่องของอำนาจที่ไม่เท่ากันของ 2 ฝ่าย เช่นระหว่างนายทุนกับชาวบ้าน หรือรัฐกับชาวบ้าน ซึ่งกรณีเหล่านี้สามารถทำให้เห็นว่าการถือครองที่ดินที่ไม่เป็นธรรมมีอยู่จริง ซึ่ง SLAPPs เป็นการใช้กฎหมายเพื่อทำลายกระบวนการตรวจสอบต่างๆ กฎหมาย Anti-SLAPP ยังไม่มีในประเทศไทย กฎหมายที่มีปัจจุบันเลยถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือทำลายคนเล็กคนน้อย

คดี SLAPPs หรือ Judicial Harassment เป็นปัญหาที่เขาไม่ได้อยากได้อะไรจากผลของคดี แต่อยากได้ประโยชน์จากอะไรที่ใหญ่กว่านั้นคือการหยุดการตรวจสอบ”

รายละเอียดเพิ่มเติม:

คดีทนายสุมิตรชัยถูกแจ้งความฐานนำสืบพยานหลักฐานเท็จ : https://naksit.net/2019/03/sumitchai140319/

เก็บประเด็นวงเสวนาป่าแหว่ง นักกฎหมายสิทธิชี้ช่องรื้อถอนบ้านพักตุลาการตีนดอยสุเทพ : https://naksit.net/2018/11/news-5/

ข้อเสนอแนะต่อร่างแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน : https://naksit.net/2019/03/icj-hrla-nap150319/

Download เอกสารประกอบการเสวนา:

https://drive.google.com/file/d/1rgV77loHu-qDXbk0-su2DwnJLReariBE/view?fbclid=IwAR1k_5uyMnnl-41fSRnkh8JVXYjnbs42-x4Z-4ubx3PVzwTioioYYm86KNU