สิทธิชุมชนเป็นประเด็นที่คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดยังไม่ได้รับรองอย่างเต็มที่ และศาลยังไม่เข้าใจอัตลักษณ์และวัฒนธรรมของชาติพันธุ์กะเหรี่ยงเท่าที่ควร แต่ความก้าวหน้าของคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดคดีนี้คือการวางมาตรฐานในเรื่องการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่อุทยานฯ และได้ช่วยเน้นย้ำสถานะของมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 3 สิงหาคม 2553 แม้จะประเด็นเล็กๆในคำพิพากษา แต่ก็น่าจะเป็นความหวังในการแก้ไขปัญหาคนกะเหรี่ยงกับป่าอนุรักษ์ได้พอสมควร
วันที่ 8 มกราคม 2562 มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ได้ร่วมกับสภาทนายความ สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน และเครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมเขตงานตะนาวศรี จัดงานเสวนาวิชาการหัวข้อ “สิทธิชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมของชาวกะเหรี่ยงบางกลอย-ใจแผ่นดินกับคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด” ณ ห้องประชุมจิตติ ติงศภัทิย์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
(ดูคลิปเต็มการถ่ายทอดสดการเสวนา)
เวทีเสวนาดังกล่าวจัดขึ้นสืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2561 ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาคดีที่กลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงบางกลอยบน/ใจแผ่นดินจำนวน 6 คนได้ยื่นฟ้องกรมอุทยานแห่งชาติฯ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จากเหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ได้ทำการรื้อถอนเผาทำลายสิ่งปลูกสร้างและทรัพย์สินของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง เมื่อปี 2554
คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดดังกล่าวมีหลายประเด็นที่น่าสนใจ อาทิ ประเด็นที่ศาลบอกว่าชุมชนของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงดังกล่าวเป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม แต่เหตุใดพวกเขาถึงไม่ได้รับการคุ้มครองในฐานะสิทธิชุมชนตามรัฐธรรมนูญ และจะทำอย่างไรให้มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2553 เรื่อง แนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง และอื่นๆ ประเด็นเหล่านี้ ล้วนเป็นประเด็นสำคัญที่จำเป็นต้องนำมาศึกษาวิเคราะห์เพื่อการขับเคลื่อนนโยบายรัฐที่ปกป้อง คุ้มครอง เคารพสิทธิชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมต่อไป
สิทธิชุมชน ประเด็นที่คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดยังไปไม่ถึง
คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดคดีนี้ แม้จะยอมรับว่าพื้นที่บานบางกลอยบน/ใจแผ่นดินเป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมของชาวกะเหรี่ยง แต่ศาลกลับไม่ให้ชาวบ้านมีสิทธิชุมชนและไม่ให้กลับไปอยู่ที่เดิมได้ จึงมีคำถามตามมาว่าคำพิพากษานี้ได้คำนึงถึงสิทธิชุมชนของประชาชนจริงหรือไม่
คุณวุฒิ บุญเลิศ ตัวแทนเครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม เขตวานตะนาวศรี ซึ่งทำงานกับกะเหรี่ยงในพื้นที่มายาวนาน เริ่มต้นให้ข้อมูลเกี่ยวกับชุมชนชาวกะเหรี่ยงบางกลอยบน/แผ่นดิน โดยยืนยันว่าเป็นชุมชนที่มีมานานและมีคนอยู่อาศัย ตั้งแต่ช่วงปลายรัชกาลที่ 4 ที่ให้เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์สำรวจทำแผนที่ ก็พบชาวกะเหรี่ยงอยู่ตรงนั้นแล้ว ถัดจากนั้นมาราชการได้มีการเดินสำรวจก็ไปเจอชุมชนกะเหรี่ยง ก็ได้มีการตั้งชื่อว่าบ้านใจแผ่นดินปรากฎตามแผ่นที่ทหาร แต่หลังการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานปี 2524 รัฐก็เริ่มผลักดันชาวกะเหรี่ยงออกจากพื้นที่เดิม และช่วงหลายปีที่ผ่านมารัฐจะมีการเสนอให้อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานเป็นมรดกโลก ปี 2554 ก็มีการไล่รื้อและเผาทำลายบ้านเรือนกะเหรี่ยงที่อยู่บางกลอยบน/ใจแผ่นดินจนนำมาสู่การฟ้องคดีนี้ ซึ่งไม่แน่ใจว่าจะเกี่ยวข้องกับการจะขอขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกหรือไม่
คุณสุรพงษ์ กองจันทึก ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ได้นำเสนอข้อมูลแผนที่สนบัสนุนการมีอยู่ของชุมชน และยืนยันว่าชุมชนมีมานานแล้วและมีคนอยู่ด้วย และเห็นว่าเหตุที่ศาลรับรองความเป็นชุมชุนท้องถิ่นดั้งเดิม แต่ไม่ได้ให้ชาวบ้านกลับไปอยู่ที่เดิม เพราะศาลอาจรอกลไกการแก้ไขปัญหาตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 3 สิงหาคม 2553 รอกระบวนการรัฐเพิกถอนพื้นที่ให้แก่ชาวบ้าน ออกเอกสารสิทธิ์ให้ชาวบ้าน เพื่อเป็นหลักฐานยืนยันตนเองกลับไปสู่พื้นที่เดิมได้ อย่างไรก็ดี โดยส่วนตัวมองว่าเมื่อศาลรับรองความเป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมแล้ว ชาวบ้านก็ถือว่ามีสิทธิแล้ว โดยไม่จำเป็นต้องรอเอกสาร เนื่องจากเอกสารเป็นเพียงการรับรองเท่านั้น
คุณสมนึก ตุ้มสุภาพ อดีตประธานคณะอนุกรรมการด้านชนชาติผู้ไร้สัญชาติฯ สภาทนายความ กล่าวว่า ประเด็นเรื่องการเป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม ศาลปกครองสูงสุดพิพากษารับรองให้ แต่น่าเสียดายที่ศาลบอกว่าชาวบ้านกับไปอยู่ที่เดิมไม่ได้ เพราะไม่มีหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินมาแสดง เห็นว่าประเด็นนี้ศาลปกครองไม่ได้ให้รายละเอียดมากนัก อีกทั้งยังเห็นว่าการที่ศาลนำเอาหลักเกณฑ์ตามประมวลกฎหมายที่ดินมาใช้กับกรณีของกะเหรี่ยง คงเป็นเรื่องยากสำหรับพวกเขาที่จะเข้าถึงตรงนั้นได้
ผศ.ดร.กิตติศักดิ์ ปรกติ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองว่าคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดนี้หลีกเลี่ยงโอกาสที่จะคุ้มครองสิทธิชุมชนและสิทธิของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ และเป็นการวินิจฉัยข้ามขั้นตอนการปรับใช้กฎหมายที่ต้องปรับใช้ให้ต้องกรณี ตามหลักการใช้และตีความกฎหมายที่ถูกต้อง ศาลต้องพิจารณาก่อนว่า 1) ผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นชาวกะเหรี่ยงมีสิทธิที่จะอยู่อาศัยหรือทำกินในที่ดินนั้นหรือไม่ เมื่อกรณีนี้ผู้ฟ้องคดีอ้างเรื่องสิทธิชุมชน ศาลก็ต้องวินิจฉัยว่าเขามีสิทธิชุมชนหรือไม่ หลังจากนั้นก็ต้องมาวินิจฉัยต่อว่า 2) สิทธินั้นถูกกระทบโดยการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายหรือไม่ กรณีนี้ชัดเจนว่าถูกกระทบด้วยการปฏิบัติการของเจ้าพนักงานซึ่งอ้างอำนาจตามกฎหมายอุทยานฯ และสุดท้ายต้องมาพิจารณาว่า 3) กฎหมายที่เจ้าหน้าที่อ้างนั้นสามารถใช้จำกัดสิทธินี้ได้หรือไม่ ซึ่งในกรณีนี้ต้องพิจารณาว่าพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติสามารถจำกัดสิทธิชุมชนได้หรือไม่ เมื่อพิจารณาแล้วว่าสิทธิชุมชนเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ และไม่มีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญกำหนดให้มีการจำกัดสิทธิชุมชนได้ ดังนั้น จึงไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายธรรมดาใดที่จะมุ่งไปจำกัดสิทธิชุมชนตามรัฐธรรมนูญได้ รวมถึงพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติด้วย เมื่อมีการใช้อำนาจตามมาตรา 22 ของพระราชบัญญัติอุทยานมาใช้บังคับกับกรณีนี้ จึงเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญ และเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะฝ่าฝืนหรือไม่มีอำนาจตามกฎหมาย ไม่ใช่การไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะเกินกว่าเหตุตามที่ปรากฏในคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด
อีกประเด็นหนึ่งที่ ผศ.ดร.กิตติศักดิ์ แสดงความคิดเห็นไว้อย่างน่าสนใจคือ มองว่าสิทธิชุมชนเป็นสิทธิที่ไม่ใช่กรรมสิทธิ์ อาจารย์ใช้คำว่าทรัพยสิทธิเหนือสาธารณสมบัติของแผ่นดิน หรืออาจจะเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ภาระจำยอมในทางรัฐธรรมนูญ เป็นกรณีที่รัฐธรรมนูญได้รับรองให้ผู้ทรงสิทธิชุมชนมีสิทธิที่จะใช้และได้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยไม่ขัดต่อหลักความสมดุลและยั่งยืน การที่รัฐธรรมนูญคุ้มครองสิทธิชุมชนนี้ ก็เพราะเห็นว่าชุมชนท้องถิ่นเขาเป็นผู้ทรงไว้ซึ่งภูมิปัญญาท้องถิ่นในการที่จะดูแลรักษาและคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้ดำรงอยู่ได้อย่างสมดุลและยั่งยืน
ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ศาลปกครองสูงสุดได้รับรองความเป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมของชาวกะเหรี่ยง แต่คำวินิจฉัยหลายเรื่องที่ตามมากลับไม่สอดคล้องกับการรับรองดังกล่าว เช่น ถ้าศาลบอกว่าเป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม แต่เมื่อวินิจฉัยในประเด็นเรื่องค่าเสียหาย ศาลกลับเหตุยกคำอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีเรื่องค่าเสียหายจากการถูกละเมิดเสรีภาพในการที่จะอยู่อาศัยและครอบครองเคหสถานโดยปกติสุข และค่าขาดประโยชน์จากการสูญเสียโอกาสทำการเกษตรในที่ดินทำกิน ด้วยเหตุผลว่าผู้ฟ้องคดีไม่มีสิทธิชอบธรรมที่จะอยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ และยกคำขอของผู้ฟ้องคดีที่ขอกลับไปอยู่ที่เดิม อย่างไรก็ดี เห็นว่าในส่วนของการกลับไปอยู่ชุมชนดั้งเดิม น่าจะมีการนำมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 3 สิงหาคม 2553 เรื่องการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยงมาใช้ดำเนินการในทางนโยบายต่อไปได้
ดร.นฤมล อรุโณทัย นักวิชาการด้านมานุษยวิทยา จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่า เหตุที่ประเด็นเรื่องสิทธิชุมชนของกลุ่มชาติพันธุ์ไม่มีความก้าวหน้านัก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความเข้าใจของเจ้าหน้าที่ด้วย แนวคิดเรื่องความเป็นไทยยังครอบอยู่ ชุมชนพื้นเมืองจึงยังไม่ได้เป็นประเด็นหลัก เรายังไม่เข้าใจเรื่องอัตลักษณ์ที่ผูกพันกับผืนดินและทรัพยากรซึ่งแยกกันไม่ออก เมื่อเจ้าหน้าที่บางคนเริ่มจะเข้าใจ ก็มีการโยกย้ายไปตำแหน่งใหม่ คนอื่นเข้ามาทำก็ต้องเริ่มทำความเข้าใจใหม่ นอกจากนี้ นโยบายเกี่ยวกับชาติพันธุ์ไม่นิ่ง เมื่อการเมืองเปลี่ยน นโยบายก็เปลี่ยนตาม อย่างกรณีที่เราได้มีการจัดทำแผนแม่บทเกี่ยวกับชาติพันธุ์ แต่เมื่อเปลี่ยนผู้บริหารก็ไม่ได้มีการดำเนินการต่อ
ถ้าเอาเรื่องสิทธิชุมชน ความมั่นคงของชีวิตมาคุยกัน น่าจะมีทางออกมาขึ้น อย่างเรื่องการจะดำเนินการขอขึ้นทะเบียนอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานเป็นมรดกโลกนั้น เราก็มองมิติเดียวคือมรดกโลกทางธรรมชาติ จึงไม่ควรมีมนุษย์อยู่ ทั้งที่ UNESCO เขาไปไกลกว่าถึงขั้นที่มีมรดกโลกทางวัฒนธรรม ที่คนกับธรรมชาติอยู่ด้วยกันได้
อีกประเด็นที่เกี่ยวข้อง หลายองค์กรที่ทำงานเรื่องการอนุรักษ์ เริ่มมีการพูดถึงเรื่องการจัดการร่วมกรณีคนอยู่กับป่า ซึ่งก็สอดคล้องกับมติ ครม. วันที่ 3 สิงหาคม 2553 ที่จะกำหนดให้มีเขตวัฒนธรรมพิเศษ ซึ่งจะทำอย่างไรให้เรื่องเหล่านี้ชัดเจนมากขึ้นและให้สิทธิชุมชนและสิทธิทางวัฒนธรรมได้ถูกรับรองมากขึ้น
ศาลปกครองสูงสุดวางมาตรฐานที่ก้าวหน้าในเรื่องการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่อุทยานฯ
ประเด็นที่ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่าการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานในการรื้อถอน เผาทำลายสิ่งปลูกสร้างและทรัพย์สินของผู้ฟ้องคดีทั้งหก เป็นการละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีทั้งหก น่าจะเป็นประเด็นที่ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยไว้ชัดเจนและก้าวหน้าที่สุดในคำพิพากษาคดีนี้ เพราะเดิมในคำวินิจฉัยของศาลปกครองกลางได้วินิจฉัยว่า การปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานในการรื้อถอน เผาทำลายเพิงพักหรือสิ่งปลูกสร้างและยุ้งฉางนั้น เป็นการดำเนินการที่ถูกต้องเหมาะสมตามหลักความได้สัดส่วนและตามควรแก่กรณีแล้ว เพราะหากรื้อถอนไปแล้วคงเหลือวัสดุก่อสร้างไว้ที่เดิม ย่อมจะทำให้ผู้กระทำความผิดนำไปใช้ในการก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างขึ้นใหม่ได้ การปฏิบัติการดังกล่าวจึงถือเป็นการใช้อำนาจโดยชอบตามมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 และไม่อาจถือได้ว่าเป็นการละเมิดแก่ผู้ฟ้องคดีทั้งหก
คุณสุรพงษ์ กองจันทึก กล่าวว่า ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยชัดเจนว่ามีการเผาบ้านจริง ไม่ใช่เพิงพักตามที่เจ้าหน้าที่กล่าวอ้าง และการกระทำของเจ้าหน้าที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นการกระทำโดยรู้สำนึกถึงความเสียหาย เป็นการกระทำเกินกว่าเหตุ ไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนอันเป็นสาระสำคัญตามมาตรา 22 ของพระราชบัญญัติอุทยานฯ และไม่ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 3 สิงหาคม 2553 เรื่องการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง แต่เห็นว่าเรื่องค่าเสียหาย ศาลยังไม่ได้รับรองสิทธิตามรัฐธรรมนูญอย่างเต็มที่และยังไม่เข้าใจวิถีชีวิตและคุณค่าที่ชาวกะเหรี่ยงยึดถือ หลายเรื่องมีคุณค่ามาก ย่าม เสื้อ ของชาวบ้าน ตีค่าไม่ได้ เช่น เสื้อผ้าของปู่คออี้ ซึ่งแม่ทำให้ ใช้เงิน 1 ล้าน หรือ 100 ล้าน ก็ทำไม่ได้ แต่กลับไม่ได้รับความสนใจ
ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล กล่าวเสริมว่า ศาลปกครองสูงสุดได้วินิจฉัยไว้ค่อนข้างก้าวหน้าในประเด็นวิธีการที่เจ้าหน้าที่รัฐใช้ไล่รื้อชาวบ้าน โดยศาลวางมาตรฐานไว้ชัดเจนว่าสิ่งที่เจ้าหน้าที่ทำเป็นวิธีการผิด ต่อไปเจ้าหน้าที่จะมาอ้างว่าชาวบ้านกระทำผิดกฎหมาย แล้วจะมาเผาบ้านแบบนี้เลยไม่ได้อีกแล้ว
มติคณะรัฐมนตรี วันที่ 3 สิงหาคม 2553 ประเด็นเล็กๆในคำพิพากษา แต่เป็นความหวังที่ยิ่งใหญ่ในการแก้ไขปัญหาคนกะเหรี่ยงกับป่าอนุรักษ์
แม้ประเด็นมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 3 สิงหาคม 2553 เรื่อง แนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง จะไม่ใช่ประเด็นแห่งคดีโดยตรง แต่ศาลปกครองก็ได้นำมติดังกล่าวมาใช้ประกอบการวินิจฉัยในหลายส่วน โดยเฉพาะเป็นประเด็นหนึ่งที่มาประกอบการวินิจฉัยการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่อุทยานฯด้วย ดังนั้น จึงถือกลายๆว่าศาลได้รับรองให้มตินี้มีผลบังคับและเป็นแนวทางให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติ(อ่านมติ ครม. 3 สิงหาคม 2553)
ผศ.ดร.กิตติศักดิ์ ให้ความเห็นในตอนหนึ่งของการเสวนาว่า แม้มติคณะรัฐมนตรี วันที่ 3 สิงหาคม 2553 จะไม่ใช่ประเด็นแห่งคดีที่ศาลวินิจฉัยโดยตรง แต่ศาลก็วินจฉัยไปถึงในหลายส่วน เช่น ในส่วนของคำพิพากษาในประเด็นเรื่องค่าเสียหายจากการสูญเสียอัตลักษณ์และศักยภาพในการสืบทอดทางวัฒนธรรม แม้ศาลจะไม่พิพากษาให้ในส่วนนี้ แต่เมื่อคำพิพากษาบอกว่าชาวกะเหรี่ยงได้รับการคุ้มครองตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 3 สิงหาคม 2553 เช่นนี้ ก็ย่อมเป็นคุณแก่ชาวบ้าน หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องก็ย่อมมีหน้าที่ที่จะดำเนินการตามมติดังกล่าว หากไม่ดำเนินการก็สามารถอ้างคำพิพากษาส่วนนี้ไปเรียกร้องหรือฟ้องให้มีการดำเนินการตามมติดังกล่าวได้
คุณแสงชัย รัตนเสรีวงศ์ ทนายความด้านสิทธิมนุษยชน เสนอให้ชาวกะเหรี่ยงใช้ มติ ครม. วันที่ 3 สิงหาคม 2553 ซึ่งศาลปกครองสูงสุดรับรองไว้มาเป็นหลักการนำในการแก้ปัญหาของตนเอง โดยต้องยืนยันว่ามติดังกล่าวไม่ใช่แค่เรื่องวัฒนธรรม เสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย แต่ต้องรวมถึงการดำรงวิถีชีวิตแบบไร่หมุนเวียนด้วย และควรโต้แย้งการใช้มติคณะรัฐมนตรี วันที่ 30 มิถุนายน 2541 ที่เจ้าหน้าที่นำมาใช้ เพราะแนวคิดต่างกันและจะทำให้วิถีแบบไร่หมุนเวียนไม่อาจเกิดขึ้นได้ และต้องหาทางเจรจากับหน่วยราชการที่มีอำนาจหน้าที่ให้ยอมรับวิถีไร่หมุนเวียนว่าไม่เป็นการไปบุกรุกป่าเพิ่มเติมและช่วยอนุรักษ์ป่าอย่างยั่งยืน แต่เฉพาหน้านี้จะต้องยืนยันว่าคนที่อยู่ในอุทยานที่เป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมนั้น รัฐไม่สามารถไล่ออกจากป่าได้
คุณสมนึก ตุ้มสุภาพ มองว่าปัญหาของการบังคับใช้มติครธรัฐมนตรีคือ มตึณะรัฐมนตรีอยู่ภายใต้กระทรวงใด ทำให้หน่วยงานอื่นไม่กล้าไปก้าวล่วง เมื่อมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 3 สิงหาคม 2553 อยู่ภายใต้กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯก็ไม่ไปยุ่ง กระทรวงทรัพย์ฯก็ใช้มติคณะรัฐมนตรี วันที่ 30 มิถุนายน 2541 มาบังคับใช้แทน ดังนั้น การแก้ปัญหานี้ จะต้องหาเจ้าภาพที่จะเอาทั้ง 2 กระทรวงเจ้าของมติมาคุยกัน
เจ้าหน้าที่ที่มาจากกรมอุทยาน ฯ ให้ความเห็นว่ามติคณะรัฐมนตรี วันที่ 30 มิถุนายน 2541 ไม่ได้ไปลิดรอนสิทธิอะไรเลย ส่วนมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 3 สิงหาคม 2553 ในการประชุมเมื่อเดือนมกราคม 2554 ได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานขึ้นมา 15 ชุด โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน กำหนดขอบเขตชัดเจนว่าให้มีการสำรวจขอบเขตที่อยู่อาศัย ที่ทำกินและไร่หมุนเวียน โดยทำเป็นแผนที่ภาพร่าง จะวาดเอาก็ได้ แสดงให้เห็นว่าอุทยานไม่ได้ปฏิเสธเรื่องไร่หมุนเวียน ปัจจุบันเรามีมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 6 พฤศจิกายน 2561 มตินี้มีเจตจำนงแบบเดิม มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 4 ฝ่าย ขึ้นมาตรวจสอบข้อเท็จจริง และเรามีคณะกรรมการขับเคลื่อนและปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน คณะที่ 5 (กขป.5) โดยมีอนุกรรมการชุดที่ 8 ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาชาวกะเหรี่ยงและชาวเล โดยมอบให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯเป็นเจ้าภาพ จะมีการประชุมในวันที่ 10 มกราคม 2562 เวลาบ่ายโมงครึ่งที่กระทรวง ซึ่งก็จะมีการพูดถึงประเด็นอัตลักษณ์ด้วย
นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ที่มาจากกรมอุทยาน ฯ ดังกล่าวยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมด้วยว่า ปัจจุบันได้มีการเสนอแก้ไขพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติฉบับใหม่ ซึ่งปัจจุบันรอการพิจารณาในวาระที่ 1 ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในบทเฉพาะกาล มาตรา 63 ของร่างพระราชบัญญัตินี้ กำหนดให้กรมอุทยานแห่งชาติฯ สำรวจการถือครองที่ดินของประชาชนที่อยู่อาศัยหรือทำกินในอุทยานแห่งชาติ ซึ่งเชื่อว่ากฎหมายและนโยบายเหล่านี้จะช่วยแก้ไขปัญหาคนอยู่กับป่าได้ (อ่านร่างพระราชบัญญัติอุทยานฉบับแก้ไข)
คุณสุรพงษ์ กองจันทร์ทึก เห็นว่า เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่รัฐกับชาวบ้านจะได้ทำงานร่วมกัน แต่เห็นว่ามติคณะรัฐมนตรี วันที่ 6 พฤศจิกายน 2561 นั้นอาจจะไม่ช่วยแก้ปัญหา เพราะยังเดินตามแนวมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 30 มิถุนายน 2541 ซึ่งวิธีคิดและการจัดการต่างจากมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 3 สิงหาคม 2553
ผู้เข้าร่วมอีกท่านหนึ่ง แสดงความกังวลทำนองเดียวกันว่า มติคณะรัฐมนตรี วันที่ 6 พฤศจิกายน 2561 ที่ออกมาล่าสุดนั้น ยังเป็นการตั้งอยู่บนฐานของการสั่งการจากบนลงล่าง กระทรวงจะเป็นคนกำหนดทุกอย่าง ชาวบ้านไม่ได้เป็นผู้กำหนด จึงไม่มั่นใจว่าเสียงของชาวบ้านจะได้รับฟังมากน้อยแค่ไหน และสุดท้ายอาจจะไม่มีการพูดถึงมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 3 สิงหาคม 2553 เลยก็ได้
ข้าวและผืนดิน อัตลักษณ์และวัฒนธรรมของชาติพันธุ์กะเหรี่ยงที่ศาลปกครองสูงสุดยังไม่เข้าใจ
ส่วนหนึ่งของคำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุดในส่วนค่าเสียหายจากการสูญเสียอัตลักษณ์และศักยภาพในการสืบทอดวัฒนธรรม ซึ่งศาลพิพากษายกอุทธรณ์ ตอนหนึ่งระบุว่า “การที่ผู้ฟ้องคดีทั้งหกไม่ได้อยู่อาศัยในพื้นที่บริเวณพิพาท ซึ่งเป็นอุทยานแห่งชาติก็มิได้หมายความว่าผู้ฟ้องคดีทั้งหก จะสูญเสียอัตลักษณ์ชาติพันธุ์และศักยภาพในการสืบทอดวัฒนธรรมของตน และไม่ว่าผู้ฟ้องคดีทั้งหกจะอาศัยอยู่ที่ใดก็ตาม เสรีภาพในการแสดงออกหรือรักษาไว้ซึ่งอัตลักษณ์และวัฒนธรรมประจำกลุ่มชาติพันธุ์ย่อมไม่อาจถูกจำกัดหรือปิดกั้น เพียงเท่าที่ไม่ขัดต่อกฎหมายและความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน กรณีจึงไม่อาจรับฟังได้ว่าผู้ฟ้องคดีทั้งหกสูญอัตลักษณ์ชาติพันธุ์และศักยภาพในการสืบทอดวัฒนธรรมแต่อย่างใด” คำพิพากษาส่วนนี้เป็นประเด็นหลักที่ถูกหยิบยกขึ้นมาถกเถียงในวงเสวนานี้ด้วย
คุณสมชาย หอมลออ ทนายความด้านสิทธิมนุษยชน มองว่า ศาลยังไม่เข้าใจอัตลักษณ์และวัฒนธรรมของชาติพันธุ์กะเหรี่ยงที่เกี่ยวพันกับที่ดิน
เช่นเดียวกับคุณวุติ บุญเลิศ ที่แสดงความเห็นว่า ศาลยังมองไม่เห็นวิถีวัฒนธรรมชองกะเหรี่ยง การมองว่ากะเหรี่ยงไปอยู่ที่ไหนแล้ววิถีวัฒนธรรมยังอยู่ เป็นความเข้าใจวัฒนธรรมที่ไม่ถูกต้อง คนกะเหรี่ยงไม่ใช่แค่เสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย หรือดนตรี คนกะเหรี่ยงผูกพันกับป่า มองป่าในฐานะสิ่งที่มีจิตวิญญาณ การทำไร่หมุนเวียน ต้องอ้อนวอนต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ ไร่หมุนเวียนไม่มีเจ้าของ ไม่มีกรรมสิทธิ์ วิถีวัฒนธรรมกะเหรี่ยงผูกพันกับข้าว ผืนดินและข้าวบอกถึงวัฒนธรรมของกะเหรี่ยง ถ้าไม่มีผืนดินปลูกข้าวและไม่มีข้าว เพลง พิธีกรรม และอัตลักษณ์อื่นๆก็สูญเสียไปด้วย
คุณสมชาย หอมลออ กล่าวทิ้งท้ายสรุปก่อนปิดการเสวนาว่า ประเด็นที่มีการพูดมา สะท้อนปัญหาระบบการตีความกฎหมายไทย คำพิพากษาที่นำมาศึกษาวันนี้ สะท้อนให้เห็นถึงความก้าวหน้าของคำพิพากษาในเรื่องวิธีการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ แต่คำพิพากษาก็ยังตอกย้ำหลักการที่ไม่ถูกต้องหลายประการ เช่น การมีสิทธิในที่ดินต้องมีเอกสารสิทธิ หรือต้องได้รับอนุญาต เป็นต้น เป็นการตอกย้ำแนวคิดทางกฎหมายจากบนลงล่าง เป็นการตีความต่างจากหลักการสิทธิชุมชนอยู่มาก แม้หลักกฎหมายรัฐธรรมนูญบางอย่างของไทยจะก้าวหน้าไปมาก เช่น เรื่องสิทธิชุมชน แต่กว่าสามสิบปีแล้ว การพัฒนาหลักกฎหมายสิทธิชุมชนยังไปช้ามาก สุดท้ายประเด็นปัญหาเฉพาะหน้าที่ต้องให้ความสำคัญคือ ทำอย่างไรให้ชาวกะเหรี่ยงบางกลอยบนได้รับการชดเชยเยียวยา และเขาควรมีสิทธิที่จะกลับไปอยู่ชุมชนเดิมและใช้ชีวิตตามวิถีกะเหรี่ยงดั้งเดิมได้