ทนายความสิทธิ เข้ายื่นหนังสือและนำเสนอทางออกต่อผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

ทนายความสิทธิ เข้ายื่นหนังสือและนำเสนอทางออกต่อผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

Highlight

  • ทนายความสิทธิเห็นว่า การดำเนินคดีต่อผู้ชุมนุมทางการเมืองเเละผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการชุมนุม การตั้งข้อกล่าวหาที่ร้ายแรงการคัดค้านการปล่อยตัวและการอายัดตัวซ้ำๆ ฯลฯ ของตำรวจ เป็นการละเมิดต่อรัฐธรรมนูญ กติกาสากลระหว่างประเทศ และหลักนิติรัฐ นิติธรรม

  • เจ้าหน้าที่ตำรวจ ชี้แนวปฏิบัติของตำรวจปัจจุบันแตกต่างจากในอดีต เพราะปฏิบัติตามที่กฎหมายให้อำนาจและเลือกใช้วิธีที่เบาที่สุดเท่านั้น

เมื่อวันที่ 3 พ.ย. 2563 คอรีเยาะ มานุแช นายกสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน พร้อมตัวแทนองค์กรเครือข่าย ได้แก่ สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม ได้เข้ายื่นหนังสือ ต่อ พ.ต.อ.ดนุ กล่ำสุ่ม รองผู้บังคับการกองกฎหมาย และ พ.ต.อ.ศุภกร ผิวอ่อนรองผู้บังคับการกองอัตรากำลัง ซึ่งเป็นเวรอำนวยการเป็นผู้แทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติในการรับเรื่อง โดยมีตัวแทนจากคณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (ICJ) เข้าร่วมสังเกตการณ์ด้วย

โดยในการพูดคุยหารือเกี่ยวกับปัญหาและแนวทางในการแก้ไข ณ ห้องรับรอง กองรักษาการณ์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งมีตัวแทนจากคณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (ICJ) เข้าร่วมสังเกตการณ์ด้วย คอรีเยาะ มานุแช ได้นำเสนอสถานการณ์ปัญหาและข้อห่วงกังวลที่ทนายความพบหลังจากที่ทนายความได้เข้าไปช่วยเหลือผู้ต้องหาที่ถูกจับกุมจากการออกมาใช้สิทธิเสรีภาพในการชุมนุมสาธารณะ ดังนี้

1) การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ การควบคุมตัว จับกุม การแจ้งข้อกล่าวหา ตลอดจนการดำเนินการกับผู้ชุมนุม ซึ่งอาจเป็นการกระทำที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนในการแสดงความคิดเห็นและแสดงออกทางการเมือง เนื่องจากกฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และกติกาสากลว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ได้รับรองเรื่องสิทธิในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธไว้อย่างชัดเจน
ซึ่งตามหลักการเจ้าหน้าที่ตำรวจมีหน้าที่ต้องอำนวยความสะดวกตามสมควรและดูแลความปลอดภัยแก่ประชาชนเพื่อที่จะใช้สิทธิและเสรีภาพตามกฎหมาย

แต่สถานการณ์ที่เกิดขึ้นกลับพบว่า นอกจากแกนนำจะถูกจับกุมดำเนินคดีในหลายข้อหา หลายท้องที่สำนักงานตำรวจแล้ว เจ้าหน้าที่ยังได้ดำเนินคดีต่อผู้ที่เข้าร่วมชุมนุม รวมถึงบุคคลอื่นๆ ที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการชุมนุม เช่น คนรับจ้างเก็บเต็นท์ คนส่งข้าวส่งน้ำ ซึ่งล่าสุดมีการแจ้งให้ผู้ที่ทำหน้าที่เป็นพยาบาลให้ไปรับทราบข้อกล่าวหาด้วย ไม่เพียงเท่านั้น หลายกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจได้มีการตั้งข้อกล่าวหาที่ทนายความ มองว่าเป็นการตั้งข้อกล่าวหาที่ร้ายแรงเกินกว่าพฤติการณ์ เช่น ข้อหายุยงปลุกปั่น มาตรา 116 ข้อหาประทุษร้ายต่อพระองค์ หรือเสรีภาพของพระราชินี ตามมาตรา 110 ประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งเป็นข้อหาที่มีโทษหนัก

2) อุปสรรคในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมที่เป็นธรรมของผู้ต้องหา ได้แก่ (1) การคัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราวของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งการปล่อยตัวชั่วคราวเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้ต้องหา ตามหลักการสันนิฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาเป็นผู้บริสุทธิ์ (2) การอายัดตัวผู้ต้องหลายคน โดยเฉพาะที่เป็นแกนนำการชุมนุมที่ถูกอายัดตัวอย่างต่อเนื่อง ทนายความมองว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจในฐานะผู้ปฏิบัติหน้าที่ทราบดีว่า การที่ผู้ต้องหาคนหนึ่งที่ถูกจับกุมไปแล้ว หมายจับอื่นๆ ก็ควรจะสิ้นผลโดยทันที เพราะผู้ต้องหาอยู่ในการควบคุมของเจ้าหน้าที่แล้ว แต่ก็ยังปรากฏพฤติการณ์ว่ามีการอายัดตัวซ้ำซากหลายครั้งหลายคน (3) การสร้างอุปสรรคในการพบ/มีทนายความ กล่าวคือ ในการเข้าไปให้ความช่วยเหลือลูกความที่ถูกดำเนินคดีจากการใช้สิทธิชุมนุม ในแต่ละครั้งทนายความต้องได้รับการอนุญาตหรืออนุมัติจากเจ้าหน้าที่ตำรวจก่อน ถึงจะเข้าไปทำหน้าที่ทนายความให้กับผู้ต้องหาได้

ซึ่งทนายความเห็นตรงกันว่า กรณีเช่นนี้ ถือเป็นการสร้างเงื่อนไข ลิดรอนสิทธิของผู้ต้องหาในการที่จะมีทนายความ หรือมีผู้ไว้วางใจในการเข้ารับฟังการสอบสวนโดยสะดวกด้วย

3) ในขณะที่ทนายความเอง ขณะปฏิบัติหน้าที่ได้ถูกเจ้าหน้าตำรวจเรียกเก็บโทรศัพท์มือถือ ซึ่งตรงนี้ก็เป็นการลิดรอนสิทธิของผู้ต้องหาด้วยเพราะ ทนายความก็มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใช้โทรศัพท์ในการสื่อสารกับทีมทนายความที่ไม่สามารถเข้าไปที่ ตชด. ภาค1 ได้ และใช้โทรศัพท์ในการสืบค้นข้อมูลกฎหมายเพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพลูกความ

ในการนี้ คอรีเยาะ ได้เน้นย้ำว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจควรปฏิบัติหน้าที่โดยการเคารพในหลักการสิทธิมนุษยชนและอำนวยความสะดวกในการจัดชุมนุมสาธารณะตามสมควร เพื่อให้ประชาชนได้ใช้สิทธิเสรีภาพตามที่รัฐธรรมนูญและกติกาสากลว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองได้รับรองไว้ และเมื่อมีการจับกุมดำเนินคดีต่อผู้ชุมนุม เจ้าหน้าที่ตำรวจควรจะทำหน้าที่พิสูจน์ทั้งความบริสุทธิ์และความผิดของผู้ต้องหา สุดท้ายคอรีเยาะ เห็นว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจควรจะสร้างความเชื่อมั่นกับประชาชนว่าเขาจะได้รับความเป็นธรรม และไม่ถูกเลือกปฏิบัติในการบังคับใช้กฎหมาย

สมชาย หอมลออ กล่าวเสริมว่า เรื่องที่เกิดขึ้นคือความขัดแย้งทางการเมือง ซึ่งสามารถแก้ได้ด้วยความยุติธรรมที่มีประสิทธิภาพ ไม่ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง บรรยากาศก็จะดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่มีการรัฐประหารของ คสช. พบว่า กระบวนการยุติธรรมและกฎหมายถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการปิดกั้นการมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นจำนวนมาก หรือกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจขอหมายจับ โดยที่ไม่ออกหมายเรียกก่อนก็พบในช่วงยุค คสช. ทั้งนี้ สมชาย เสนอว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจควรยืนยันหลักนิติธรรม เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการบวนการยุติธรรมและกฎหมาย เพราะถ้าความเชื่อมั่นต่อกฎหมายน้อยลงแล้วจะเป็นอันตราย ประชาชนก็ไม่มีที่พึ่ง


ด้านพ.ต.อ. ดนุ กล่ำสุ่ม ชี้แจ้งแนวปฏิบัติของตำรวจในปัจจุบันว่า การปฏิบัติของตำรวจในปัจจุบันถือว่าแตกต่างจากในอดีต กล่าวคือ ปัจจุบันเจ้าหน้าที่ตำรวจปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการจัดการการชุมนุมตามที่กฎหมายให้อำนาจและเลือกใช้วิธีที่เบาที่สุดเท่านั้น โดย ผบ.ตร. คนปัจจุบัน ให้ความสำคัญในเรื่องข้อกฎหมายเป็นหลักเสมอว่ากฎหมายให้เจ้าหน้าที่ทำได้แค่ไหน จากนั้นจึงเลือกวิธีการ ซึ่งตำรวจมักเลือกวิธีการที่เบาสุดก่อนเสมอ


ในขณะที่ พ.ต.อ.ศุภกร ผิวอ่อน ชี้แจงกรณีการออกหมายจับ ว่าทางตำรวจไม่ได้เป็นคนออกหมายจับเอง ตำรวจเพียงแค่ปฏิบัติตามกระบวนการ โดยให้ศาลพิจารณา ซึ่งศาลเป็นผู้พิจารณาในการออกหมายจับเอง ส่วนแนวปฏิบัติในการจับกุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจ คือ ถ้าผู้ต้องหาถูกดำเนินคดีหลายคดี หลายพื้นที่ สมมติเจ้าหน้าที่จับกุมได้ที่กรุงเทพฯ สาระบบ ถ้าการจับกุมสมบูรณ์เมื่อพนักงานสอบสวนสอบปากคำ ก็คือจบในคดีที่หนึ่ง หมายจับอื่นเขายังไม่ได้จับกุมและส่งพนักงานสอบสวนที่เกิดเหตุ มันก็ยังคงคาอยู่ในสาระบบ จึงเห็นกรณีที่มีการอายัดผู้ต้องหาตัวต่อหลังศาลพิจารณายกเลิกการฝากขังเเล้วนั้นเอง

อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากรับหนังสือและหารือเกี่ยวกับสภาพปัญหาและข้อเสนอในการแก้ไข ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พ.ต.อ.ดนุ กล่ำสุ่ม รองผู้บังคับการกองกฎหมาย และ พ.ต.อ.ศุภกร ผิวอ่อนรองผู้บังคับการกองอัตรากำลัง ซึ่งเป็นเวรอำนวยการเป็นผู้แทน ชี้แจงว่าจะนำข้อมูลดังกล่าวรายงานต่อผู้บังคับบัญชาตำรวจแห่งชาติพิจารณา ซึ่งถ้ามีความคืบหน้าประการใด สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนจะแจ้งให้ทุกคนทราบต่อไป