จากกรณีที่นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อและรองโฆษกพรรคก้าวไกล ได้รับหมายเรียกจาก สน.บางขุนนนท์ ลงวันที่ 12 มี.ค. 2563 ให้ไปรับทราบข้อกล่าวหาเนื่องจากมูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอย 5 จังหวัด โดยพ.อ.ภิญโญ บุญทรงสันติกุล ผู้รับมอบอำนาจได้แจ้งความข้อหาหมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณา จากการนายรังสิมันต์ อภิปรายไม่ไว้วางใจนอกสภาเมื่อวันที่ 27 ก.พ. 2563 เกี่ยวกับมูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด ที่ตั้งขึ้นในช่วงก่อนที่จะมีการรัฐประหารปี พ.ศ. 2549 โดยมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานมูลนิธิฯ 

โดยในการอภิปรายดังกล่าว มีการกล่าวถึงกิจกรรมของมูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด ที่มีหลายงานไม่เกี่ยวข้องกับวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ และการมีข้าราชการชั้นผู้ใหญ่หลายคนที่มีความเกี่ยวโยงกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เข้าไปเกี่ยวข้องกับมูลนิธิฯ รวมถึงการมีกลุ่มบริษัทเอกชนบางแห่งที่ได้ประโยชน์จากการทำสัญญากับรัฐเป็นผู้บริจาคให้มูลนิธิต่อเนื่องทุกปี ให้เกิดคำถามถึงเส้นแบ่งของเอกชนกับรัฐที่อาจทำให้เกิดความทับซ้อนของผลประโยชน์ จนไม่สามารถแยกออกจากกันได้ระหว่างอำนาจรัฐกับอำนาจทุน (https://futureforwardparty.org/10808)

จากการแจ้งความดำเนินคดีกับนายรังสิมันต์ ในข้อหาหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจนอกสภาเกี่ยวกับมูลนิป่ารอยต่อ 5 จังหวัดดังกล่าว  ทำให้เกิดข้อสังเกตในประการดังต่อไปนี้

ประการแรก แม้การกล่าวถ้อยคำในทางแถลงข้อเท็จจริงและแสดงความคิดเห็นของนายรังสิมันต์ โรม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล ต่อพฤติกรรมหรือการดำเนินการของมูลนิป่ารอยต่อ 5 จังหวัดที่เชื่องโยงกับพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ซึ่งเป็นบุคคลในคณะรัฐบาล จะไม่ใช่การกระทำในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรที่จะได้รับเอกสิทธิ์คุ้มกันและห้ามนำไปเป็นเหตุฟ้องร้องในทางใด ๆ ตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 124 รับรองไว้ก็ตาม แต่การกล่าวถ้อยแถลงข้อเท็จจริงและแสดงความคิดเห็นดังกล่าวของนายรังสิมันต์ เป็นผลต่อเนื่องจากการประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวาระการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ซึ่งเป็นวิธีการการควบคุมและตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 โดยประเด็นที่นายรังสิมันต์ นำออกมาอภิปรายนอกที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรนั้น เป็นญัตติที่ถูกกำหนดไว้ในการอภิปรายไม่วางวางใจในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรด้วย เพียงแต่ปัญหาเรื่องเวลาในการอภิปรายทำให้มีการปิดประชุมสภาก่อน จึงทำให้ประเด็นดังกล่าวไม่ได้นำไปกล่าวในสภาผู้แทนราษฎรตามที่กำหนดไว้

ประเด็นมูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด ซึ่งเป็นประเด็นที่ถูกกำหนดเป็นญัติในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีนั้น ถือเป็นเรื่องสำคัญที่เกี่ยวข้องกับประเด็นสาธารณะและบุคคลสาธารณะที่เกี่ยวข้องกับการใช้อำนาจ การตัดสินใจทางนโยบายและการใช้งบประมาณแผ่นดิน ซึ่งล้วนมีผลกระทบต่อสาธารณะทั้งสิ้น ดังนั้น สาธารณชนควรได้รับรู้ข้อมูลพฤติกรรมและการดำเนินงานของบุคคลในคณะรัฐบาลเหล่านั้น เพื่อให้เกิดการตรวจสอบได้โดยสาธารณะ ดังนั้น การกล่าวถ้อยแถลงข้อเท็จจริงและแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการดำเนินงานของมูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด ที่มีพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีเข้าไปเกี่ยวข้อง และการมีกลุ่มบริษัทเอกชนบางแห่งที่ได้ประโยชน์จากการทำสัญญากับรัฐเป็นผู้บริจาครายใหญ่และต่อเนื่องนั้น จึงเป็นการให้ข้อมูลและตั้งคำถามถึงความไม่ชอบมาพากลและการอาจมีผลประโยชน์ทับซ้อน แม้การอภิปรายดังกล่าวจะไม่ได้รับเอกสิทธิ์คุ้มกันตามรัฐธรรมนูญ แต่การกระทำดังกล่าวก็ถือเป็นการใช้เสรีภาพในการแสดงออกและการแสดงความคิดเห็นในประเด็นที่เป็นประโยชน์สาธารณะ ซึ่งถูกรับรองไว้ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 มาตรา 34 ที่กำหนดว่า “บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น  การพูด การเขียน  การพิมพ์  การโฆษณา  และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น”  และตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ข้อ 19 และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ข้อ19 ที่รัฐไทยมีพันธกรณีที่ต้องปฏิบัติตาม ซึ่งกำหนดว่า “บุคคลทุกคนมีสิทธิที่จะมีความคิดเห็นโดยปราศจากการแทรกแซง และบุคคลทุกคนมีสิทธิในเสรีภาพแห่งการแสดงออก สิทธินี้รวมถึงเสรีภาพที่จะแสวงหา รับและเผยแพร่ข้อมูล ข่าวสารและความคิดทุกประเภท โดยไม่คำนึงถึงพรมแดน ทั้งนี้ไม่ว่าด้วยวาจาเป็นลายลกัษณ์อักษรหรือการตีพิมพ์ในรูปของศิลปะ หรือโดยอาศัยสื่อประการอื่นตามที่ตนเลือก”

ประการที่สอง การที่ผู้เกี่ยวข้องเลือกใช้ข้อหาหมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณาดำเนินคดีต่อนายรังสิมันต์ โรม แทนที่จะเลือกใช้วิธีการชี้แจงข้อมูลให้สาธารณะชนได้รับทราบนั้น  เข้าข่ายเป็นการดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อต่อต้านการมีส่วนร่วมสาธารณะ (Strategic Lawsuit Against Public Participation) หรือ SLAPPs หรือการฟ้องคดีปิดปาก ซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งของการคุกคามโดยการใช้กระบวนการยุติธรรมเป็นเครื่องมือ (Judicial Harassment) โดยมุ่งคุกคามเฉพาะเจาะจงไปที่การมีส่วนร่วมสาธารณะหรือการใช้สิทธิทางการเมือง มุ่งก่อให้เกิดความเสียหายหรือคุกคามต่อเสรีภาพในการพูด การแสดงความคิดเห็น หรือการถกเถียงอย่างสร้างสรรค์ โดยมีเป้าหมายเป็นผู้ที่สื่อสารความคิดเห็นในประเด็นสำคัญเกี่ยวกับประโยชน์สาธารณะหรือประเด็นที่มีนัยสำคัญทางสังคม ทั้งนี้ การฟ้องคดีดังกล่าวเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างความกดดันและความกลัว และไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อตัวผู้ถูกฟ้องคดีเท่านั้น แต่ยังขยายความหวาดกลัวและส่งข้อความแห่งการข่มขู่ต่อสังคมโดยรวมด้วย  ซึ่งในระยะยาวย่อมส่งผลเสียต่อระบอบประชาธิปไตยของประเทศไทย และยิ่งกรณีนี้เป็นการดำเนินคดีต่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นตัวแทนของประชาชนในการนำปัญหาความเดือดร้อนและความต้องการของประชาชนเสนอรัฐบาล และถือเป็นบุคคลที่มีสถานะทางสังคมระดับหนึ่งด้วยแล้ว การดำเนินคดีก็ยิ่งสร้างผลกระทบกว้างขวางและขยายความหวาดกลัวออกไปได้มากกว่าปกติ โดยเฉพาะอาจส่งผลให้ประชาชนที่สนใจและติดตามปัญหาดังกล่าวถอยห่างออกไปและเลือกที่จะหยุดพูดถึงประเด็นนี้ไป ซึ่งทำให้ประเด็นปัญหาที่มีการถกเถียงกันอยู่ไม่ถูกกล่าวถึงและไม่ถูกตรวจสอบให้เกิดความโปร่งใส

ด้วยเหตุนี้ การฟ้องคดีต่อบุคคลที่นำเสนอประเด็นปัญหาสาธารณะโดยเฉพาะที่เกี่ยวพันกับผู้มีอำนาจในรัฐบาล นอกจากจะเป็นการขัดขวางเสรีภาพภาพของบุคคลที่จะแสดงความคิดเห็นโดยปราศจากการแทรกแซง และเสรีภาพแห่งการแสดงออก รวมถึงเสรีภาพของประชาชนที่จะแสวงหา รับและเผยแพร่ข้อมูล ข่าวสารและความคิดทุกประเภท ซึ่งถูกรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองดังที่กล่าวไปแล้ว การฟ้องคดีลักษณะดังกล่าว ยังไม่เป็นผลดีต่อการสร้างสังคมประชาธิปไตยและการมีรัฐบาลที่โปร่งใสตรวจสอบได้