เมื่อการมีส่วนร่วมสาธารณะผ่านช่องทางรัฐมีปัญหา ประชาชนจึงออกมาร้องเรียนผ่านโลกออนไลน์

เมื่อการมีส่วนร่วมสาธารณะผ่านช่องทางรัฐมีปัญหา ประชาชนจึงออกมาร้องเรียนผ่านโลกออนไลน์

ปัจจุบันจะพบว่าพื้นที่สนทนาหลักของสังคมกลายเป็นการสื่อสารกันผ่านโลกออนไลน์เป็นหลัก ซึ่งในพื้นที่ออนไลน์นี้ไม่ได้เต็มไปด้วยข้อมูลความคิดเห็นของประชาชนเท่านั้น แต่ยังเป็นพื้นที่ที่ถูกนำมาใช้ในการร้องเรียน กรณีการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ การดำเนินงานของหน่วยงานรัฐ หรือโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ของเอกชนที่ที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ร้องเรียน ทั้งนี้ ปัจจัยที่ทำให้ประชาชนออกมาเรียกร้องผ่านช่องทางออนไลน์เป็นเพราะการพัฒนาของเทคโนโลยีทางการสื่อสารเท่านั้นจริงหรือ?

สนส. ชวนอ่านข้อมูลปัญหาและอุปสรรคเกี่ยวกับการใช้สิทธิในการมีส่วนร่วมโดยตรงของประชาชนที่เกิดขึ้น ผ่านกรณีตัวอย่างที่เกิดขึ้นจริง พร้อมความเห็นและข้อเสนอต่อการดำเนินงานของรัฐเกี่ยวกับการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน

 

“การร้องเรียนให้หน่วยงานรัฐเข้ามาตรวจสอบ
กลับถูกดำแจ้งความในข้อหาหมิ่นประมาท หรือ แจ้งความเท็จแทน”

นับตั้งเเต่รัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2540  เป็นต้นมา  จะเห็นว่ารัฐได้ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนโดยกำหนดช่องทางที่ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมโดยการใช้สิทธิทางตรงไว้อย่างชัดเจน ตั้งแต่การรับรู้ข้อมูลข่าวสาร ร่วมให้ข้อมูล ปรึกษาหารือ ตัดสินใจ ติดตามตรวจสอบ และถอดถอนเจาหน้าที่รัฐที่ทุจริต ทั้งยังเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในกระบวนการทางนโยบาย มีการกระจายอำนาจไปสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ด้านประชาชนเองก็มีความตื่นตัว พยายามเรียนรู้ที่จะใช้การมีส่วนร่วมในรูปแบบต่างๆ  

ทั้งนี้ การพยายามเข้าไปมีส่วนร่วมผ่านช่องทางของรัฐโดยตรง กลับทำให้พวกเขาตกเป็นผู้ต้องหา ถูกแจ้งความดำเนินคดีแทนที่จะได้รับการเเก้ไขปัญหา ซึ่งกรณีที่ร้ายแรงที่พบคือหน่วยงานรัฐเป็นหน่วยงานที่ดำเนินการฟ้องคดีต่อประชาชนออกมาร้องเรียนเสียเอง 

ตัวอย่างกรณี บริษัทฟ้องแพ่งละเมิดชาวบ้านเขาคูหา อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา เนื่องจากชาวบ้านรวมตัวกันทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี เพื่อให้พิจารณาชะลอการต่ออายุประทานบัตรการทำเหมืองหินเขาคูหา เพื่อตรวจสอบความถูกต้องของกระบวนการต่างๆ ก่อน เพราะการดำเนินกิจการของบริษัทส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ชุมชน และกระทบต่อสุขภาพ ประชาชนในพื้นที่ ทำให้ประชาชนในชุมชนคูหาใต้และใกล้เคียงที่ได้รับความเดือดร้อน

ตัวอย่างต่อมา กรณีบริษัทฝนแดดเกษตรไทย จำกัด ดำเนินคดีกับ คดีประชาชนบ้านท่าแร่ อำเภออากาศอำนวย จังหวัดสกลนคร เนื่องจาก ได้อ้างกรรมสิทธิ์ที่ดินในที่ดินและได้นำเครื่องจักรเข้าไปทำลายป่าบุ่งป่าทาม ทำให้ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนไม่สามารถใช้ประโยชน์ที่ดินสาธารณประโยชน์แปลงดังกล่าวได้ 

กรณีบริษัทน้ำตาล ไทยรุ่งเรือง แจ้งความดำเนินคดีต่อกลุ่มชาวบ้าน  อำเภอกุสุมาลย์ จังหวัดสกลนคร 20 คน จากกรณีลงชื่อยื่นหนังสือร้องเรียนต่อนายกองค์การบริหารส่วนตำบลอุ่มจาน เพื่อขอให้ระงับการดำเนินการบุกเบิกพื้นที่และก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคเพื่อรองรับการพัฒนาโครงการโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อทางสาธารณะและลำรางสาธารณะ

กรณีกรณีแรงงานข้ามชาติ 14 คน ร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ว่ามีการละเมิดสิทธิแรงงานโดยบริษัทเอกผู้จ้าง เป็นเหตุให้บริษัทฟ้องแรงงานดังกล่าวด้วยข้อหาหมิ่นประมาทและแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงาน เป็นต้น

จากกรณีตัวอย่างข้างต้น จะเห็นว่าการใช้สิทธิทางตรงตามที่รัฐกำหนดไว้ไม่สามารถนำมาแก้ไขปัญหาความเดือนร้อนของประชาชนได้ อีกทั้งยังทำให้พวกเขาตกเป็นจำเลยจากการออกมาใช้สิทธิดังกล่าวด้วย ประชาชนจึงใช้พื้นที่สาธารณะ บอกเล่าเรื่องราวความเดือนร้อน เพื่อหวังให้พลังของคนในสังคมจะช่วยกดดัน หรือส่งผลสะเทือนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้มีการกระตือรือร้นในการแก้ไขปัญหาแทน

ตัวอย่างเช่น กรณีของนายวุฒิ บุญเลิศ ผู้นำชาวกะเหรี่ยงแก่งกระจาน ถูกนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร (หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานในขณะนั้น) แจ้งความดำเนินคดีหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาและความผิดว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ ในคดีอาญาจากการแชร์ข้อความให้มีการตรวจสอบไร่ชัยราชพฤกษ์ 

หรือกรณีนายสฤษดิ์ วิฑูรย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี แจ้งความดำเนินคดีกับนายกฤษกร ศิลารักษ์ ในข้อหาหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา จากการโพสต์ข้อความในเฟสบุ๊ค พร้อมกับลงรูปภาพ เกี่ยวกับกรณีเปิด-ปิดเขื่อนปากมูล (อ่าน นักปกป้องสิทธิมนุษยชนกับการถูกฟ้องคดีเมื่อปกป้องประโยชน์สาธารณะ: กรณี นายกฤษกร ศิลารักษ์ หรือ ป้าย ปากมูล) เป็นต้น

แม้ว่าการใช้พื้นที่ออนไลน์จะช่วยทำให้สังคมได้รับรู้ปัญหาที่เกิดขึ้น อย่างกว้างขวาง และพลังของสังคมจะช่วยส่งเเรงกดดัน ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการเเก้ไขปัญหา เเต่ประชาชนที่ออกมาใช้สิทธิในการมีส่วนร่วมในด้านต่างๆ ก็ยังเผชิญกับความเสี่ยงต่อการตกเป็นเป้าหมายของการถูกฟ้องคดีอยู่

ปัญหาที่เป็นเช่นนี้อาจเป็นเพราะเจ้าหน้าที่ภาครัฐขาดการเข้าใจเกี่ยวกับแนวคิด และความสำคัญของการมีส่วนร่วมของประชาชน ดังนั้น ความเห็นและข้อเสนอต่อการดำเนินงานของรัฐ เกี่ยวกับการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนเพื่อลดปัญหาในการฟ้องคดีต่อประชาชนที่ออกมาแสดงความคิดเห็น คือ เมื่อเกิดการวิพากษ์วิจารณ์จากประชาชน หน่วยงานรัฐควรใช้วิธีการโต้ตอบโดยการให้ข้อมูลข้อเท็จจริงในประเด็นที่ถูกวิจารณ์หรือกล่าวหาแทนการฟ้องร้องดำเนินคดีกับประชาชน หากเห็นว่าสิ่งที่ประชาชนวิพากษ์วิจารณ์ไปนั้นคาดเคลื่อนต่อความเป็นความจริง และเมื่อประชาชนร้องเรียนให้มีการตรวจสอบโครงการพัฒนาต่างๆ ที่ก่อผลกระทบต่อชุมชนหรือสังคม หน่วยงานรัฐจำเป็นต้องเข้ามาเป็นคนกลางในการตรวจสอบการดำเนินงาน ไกล่เกลี่ยปัญหาข้อพิพาทและเยียวยาผู้ที่ได้รับความเสียหาย