การฟ้องปิดปากทางอาญา สร้างทั้งภาระให้จำเลย และยังใช้ทรัพยากรของรัฐไปโดยสิ้นเปลือง

การฟ้องปิดปากทางอาญา สร้างทั้งภาระให้จำเลย และยังใช้ทรัพยากรของรัฐไปโดยสิ้นเปลือง

หากติดตามกรณีการใช้ กฎหมายหรือกระบวนการยุติธรรมมาเป็นเครื่องมือในการดำเนินคดีต่อผู้ที่ใช้สิทธิในการมีส่วนร่วมสาธารณะ โดยการเเสดงความคิดเห็น วิพากษ์วิจารณ์หรือร้องเรียน ฯลฯ จะพบว่าผู้ที่มักตกเป็นเป้าหมายของการถูกดำเนินคดีจะพบว่ามีทั้งกลุ่มที่สามารถเข้าถึงทรัพยากรเเละการช่วยเหลือทางคดีได้ เช่น กลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมือง นักพัฒนาเอกชน สื่อมวลชน นักวิชาการ กับ กลุ่มที่เข้าถึงทรัพยากรค่อนข้างลำบาก เช่น กลุ่มประชาชนที่เคลื่อนไหวคัดค้านโครงการพัฒนาต่างๆ กลุ่มผู้ถูกละเมิดหรือญาติที่เรียกร้องความเป็นธรรม เป็นต้น

ทั้งนี้ เรามักจะมีความเข้าใจว่าการดำเนินคดีดังกล่าวจะส่งผลอย่างมากต่อกลุ่มคนที่เข้าถึงทรัพยากรค่อนข้างลำบาก เนื่องจากเป็นชาวบ้านทั่วไปที่หาเช้ากินค่ำ ไม่มีทั้งเงินและเวลาในการต่อสู้คดี สามารถสร้างความหวาดกลัวและมีโอกาสที่จะรับข้อเสนอที่จะยุติการมีส่วนร่วมในประเด็นสาธารณะได้ง่ายกว่าประชาชนกลุ่มคนที่เป็นนักเคลื่อนไหว เอ็นจีโอ นักวิชาการ สื่อมวลชน ฯลฯ ซึ่งสามารถระดมทรัพยากรในการต่อสู้คดีและหาพื้นที่ในการรณรงค์ทางสังคมได้บ้าง

ด้วยวันนี้ (18 ก.ย. 62) ศาลอาญารัชดา มีคำสั่งไม่รับฟ้องกรณีบริษัทธรรมเกษตรฟ้องคดีต่อ งามศุกร์ รัตนเสถียร นักวิชาการ สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล จากการเผยแพร่แถลงการณ์ขององค์กรโฟร์ตี้ฟายไรท์ ซึ่งเป็นเพียงแถลงการณ์เรียกร้องให้มีการยุติการฟ้องร้องคดีหมิ่นประมาทต่อสุธารี วรรณศิริ และนาน วิน นักปกป้องสิทธิมนุษยชน เนื่องจากฝ่ายโจทก์ไม่สามารถนำสืบได้ว่าจำเลยเป็นผู้เเชร์ลิ้งค์บทความพร้อมลิ้งค์คลิปยกฟ้องผู้ถูกฟ้อง

สมาคมนักกฎหมายฯ จึงขอนำเสนอบทสัมภาษณ์สั้นๆ ของงามศุกร์ เกี่ยวกับผลกระทบที่ได้รับในมุมของนักวิชาการ หลังจากถูกฟ้องคดีปิดปากจากการเผยแพร่แถลงการณ์ขององค์กรโฟร์ตี้ฟายไรท์  (อ่านประวัติและที่มาของคดีได้ที่ Fortify Rights)

เธอเเบ่งผลกระทบจากการถูกดำเนินคดีฟ้องปิดปาก ออกเป็น 3  ด้าน คือ ด้านค่าใช้จ่ายในการต่อสู้คดี เช่น ค่าทนายความ ค่าการเดินทางไปศาล  ด้านต่อมา ผลกระทบต่อจิตใจทั้งต่อตนเองเเละครอบครัว เกิดความเป็นห่วงในงานที่ทำ และด้านสุดท้ายซึ่งเป็นผลกระทบที่สำคัญ คือ กรณีที่เธอถูกดำเนินคดีเเละหลายกรณีที่มีลักษณะคล้ายกันคือผู้ฟ้องคดีไม่ได้มุ่งเอาชนะ แต่มุ่งลดทอนทรัพยากร และข่มขู่ให้ผู้ถูกฟ้องยอมยุติบทบาท ถือเป็นการนำต้นทุนและทรัพยากรของรัฐโดยมาใช้โดยสิ้นเปลือง จากผลกระทบที่เกิดขึ้นนี้จึงเป็นเหตุผลว่าคดีปิดปากควรถูกทำให้ยุติโดยเร็วในแต่ชั้นแรก เพื่อไม่ให้เกิดผลเสียหายต่อผู้ที่ใช้สิทธิเสรีภาพในการเเสดงความคิดเห็นโดยสุจริตเเละนำทรัพยากร บุคคลากรในกระบวนการยุติธรรมไปช่วยเหลือผู้ที่ต้องการเเสวงหาความยุติธรรมจริงๆ

ศาลอาญารัชดา 18 กันยายน 2562

คดีฟ้องปิดปากในประเทศไทย ส่วนใหญ่เป็นคดีอาญา ทั้งนี้เนื่องจากการดำเนินคดีอาญามีต้นทุนน้อยกว่าการดำเนินคดีแพ่ง เพราะคดีอาญาใช้กลไกของรัฐในการทำงานเป็นหลัก ทั้งพนักงานสอบสวน พนักงานอัยการและศาล ต่างจากคดีแพ่งที่ผู้ฟ้องคดีต้องดำเนินการเองแทบทั้งสิ้น และคดีอาญาผู้ฟ้องคดีไม่มีค่าขึ้นศาลมากมายเหมือนในคดีแพ่ง 

ดังนั้น ในคดีอาญาต้นทุนจึงตกอยู่ที่ผู้ถูกฟ้องเป็นหลัก ผู้ถูกฟ้องต้องแบกรับภาระและความกดดันต่างๆ เช่น ภาระที่ต้องเดินทางมาติดต่อพนักงานสอบสวน พนักงานอัยการบ่อยครั้งทำให้ต้องหยุดงาน ทำให้ขาดรายได้ รวมถึงการต้องเตรียมหาเงินมาประกันตัว ฯลฯ อีกทั้งคดีอาญา เป็นคดีที่มีโทษที่กระทบต่อเสรีภาพของบุคคล ทำให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยมีความกลัวที่จะติดคุก กลัวที่จะมีประวัติอาชญากรรม จึงทำให้การดำเนินคดีอาญามีผลในการสร้างความกลัว หรือบีบบังคบผู้ถูกฟ้อง และช่วยทำให้ผู้ฟ้องมีอำนาจต่อรองเหนือผู้ถูกฟ้องในกรณีที่มีการเจรจาประนีประนอมยอมความ

การจัดการกับคดีฟ้องปิดปากในคดีอาญา ปัจจุบันประเทศไทยมีประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 161/1 และการไต่สวนมูลฟ้อง เป็นกลไกสำคัญในการใช้กลั่นกรองคดีปิดปากได้อยู่แล้ว แต่ด้วยกลไกเหล่านี้ยังมีข้อจำกัด โดยมาตรา 161/1 สามารถใช้ได้เฉพาะคดีที่ราษฏรเป็นโจทก์ ไม่รวมคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ ส่วนในชั้นไต่สวนมูลฟ้องนั้น โดยทั่วไปศาลจะไม่ไต่สวนคดดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ 

ดังนั้น หากจะทำให้การป้องกันการฟ้องคดีปิดปาก มีประสิทธิภาพขึ้น ศาลควรใช้กลไกไต่สวนมูลฟ้องทั้งในคดีที่ราษฏรเป็นโจทก์และคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ หากมีการร้องขอจากผู้ต้องหาว่าคดีนั้นเข้าข่ายเป็นคดีปิดปาก เพราะแม้คดีจะถูกกลั่นกรองมาจากพนักงานอัยการแล้ว แต่กระบวนการยุติธรรมย่อมมีความผิดพลาดเกิดขึ้นได้ จึงสมควรที่ได้รับการไต่สวนจากศาลอีกชั้นหนึ่ง เพื่อให้คดีปิดปากสามารถยุติไปได้โดยเร็ว

  • อ่านประวัติงามศุกร์ รัตนเสถียร และข่าวของนักปกป้องสิทธิมนุษย์ ได้ที่ fortifyrights.org 
  • ข้อมูลคดีจากมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน