จากกรณีพนักงานอัยการสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาทั้ง 4 คน จากเหตุการณ์ที่นายพอละจี รักจงเจริญ หรือบิลลี่ หายตัวไปเป็นเวลากว่า 6 ปี จนกระทั่งในปัจจุบันมีการค้นพบชิ้นส่วนกระดูกบริเวณกะโหลกของบิลลี่ ซึ่งสามารถสันนิษฐานได้ว่าบิลลี่เสียชีวิตแล้ว จากคดีคนหาย กลับกลายเป็นคดีฆาตกรรมซึ่งรอให้มีการสะสาง และนำผู้กระทำความผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม
เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2563 เวลา 14.00 น. นางสาวพิณนภา พฤกษาพรรณ หรือ มึนอ ภรรยาของบิลลี่ เดินทางเข้ายื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่ออัยการสูงสุด ขอให้อัยการสูงสุดมีคำสั่งฟ้องผู้ต้องหาทั้ง 4 คนในคดีฆาตกรรมบิลลี่ โดยนายวรวุฒิ วัฒนอุตถานนท์ อัยการผู้เชี่ยวชาญพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการอัยการ เป็นตัวแทนมารับหนังสือขอความเป็นธรรม
ผู้ร้องเห็นว่า การที่พนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องในข้อหาเกี่ยวกับชีวิต ร่างกาย และเสรีภาพ เป็นการใช้ดุลพินิจที่ไม่ถูกต้อง การใช้ดุลพินิจอ้างเหตุผลเช่นนี้ว่าไม่มีประจักษ์พยานยืนยันว่าผู้ใดกระทำให้ผู้ตายเสียชีวิตด้วยวิธีการอย่างใดมาใช้เป็นหลักในการพิจารณามีคำสั่งไม่ฟ้องคดีจะยิ่งเป็นการเปิดช่องทางให้เจ้าหน้าที่ของรัฐที่ใช้อำนาจอิทธิพลกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หากสามารถทำลายพยานหลักฐานที่จะบ่งชี้ถึงตัวบุคคลผู้กระทำความผิดก็จะกลายเป็นการรอดพ้นการถูกดำเนินคดีตามกระบวนการยุติธรรม
ภายในหนังสือขอความเป็นธรรมจึงมีประเด็นสำคัญที่พนักงานอัยการน่าจะได้ทบทวนและวินิจฉัยใหม่ ดังนี้
1.พยานหลักฐานของพนักงานสอบสวนรับฟังได้หรือไม่ว่ามีการควบคุมตัวบิลลี่และมีการปล่อยตัวไปตามที่ผู้ต้องหากล่าวอ้าง
พยานหลักฐานที่ปรากฎพบว่า ได้ว่ามีการจับกุมและควบคุมตัวบิลลี่ไปที่ทำการอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานจริง ปัญหามีว่าการควบคุมตัวดังกล่าวได้สิ้นสุดลงอย่างไร ผู้ต้องหาอ้างว่า ได้มีการปล่อยตัวบิลลี่ไปตั้งแต่วันที่ 17 เมษายน 2557 โดยมีประจักษ์พยานอ้างว่ารู้เห็นการปล่อยตัว ในข้อนี้พนักงานอัยการใช้ดุลพินิจรับฟังว่าข้อเท็จจริงเชื่อได้ว่าได้มีการปล่อยตัวนายพอละจีแล้ว โดยอ้างเหตุผล 2 ข้อ คือ คำพิพากษาของศาลฎีกาว่า ศาลมีคำสั่งถึงที่สุดว่า ได้ปล่อยตัวนายพอละจีไปแล้ว และความไม่น่าเชื่อถือของนักศึกษาซึ่งเป็นประจักษ์พยาน เนื่องจากมีการให้การกลับไปกลับมาในชั้นพนักงานสอบสวนและชั้นพิจารณาของศาล
โดยผู้ร้องเห็นว่า ข้อสรุปของพนักงานอัยการข้างต้นน่าจะคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริงและเหตุผล ตามคำพิพากษาฎีกาคดีตามมาตรา 90 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (7937/2558) ศาลฎีกาวินิจฉัยเพียงว่า การดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากไม่มีการไต่สวนก่อนว่าคดีมีมูลหรือไม่ก่อนจะดำเนินการพิจารณาคดี เมื่อกระบวนพิจารณาไม่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว จึงไม่อาจนำคำเบิกความของนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง และบุคคลภายนอกคือ นักศึกษาฝึกงานทั้ง 2 คน รวมทั้งพยานหลักฐานทั้งหมดในคดีดังกล่าวมารับฟังเป็นพยานหลักฐานในคดีนี้ได้ ย่อมหมายถึงว่าศาลฎีกามิได้รับฟังหรือถือเอาว่าคำเบิกความของพยานที่นายชัยวัฒน์นำเข้าให้การต่อศาลมีน้ำหนักน่าเชื่อถือรับฟังได้ และถือว่าไม่สามารถนำมาอ้างอิงได้
สำหรับคำให้การของพยานบุคคลที่พนักงานอัยการอ้างว่า ให้การกลับไปมาไม่น่าเชื่อถือนั้น ผู้ร้องเห็นว่า การให้การต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจภูธรแก่งกระจานและการขึ้นเบิกความต่อศาลในขณะที่ยังเป็นนักศึกษาฝึกงานอยู่กับผู้ต้องหาทั้ง 4 ว่าเห็นการปล่อยตัวของบิลลี่ ย่อมมีความยำเกรงต่อผู้ต้องหาทั้ง 4 แตกต่างจากการเข้าให้ต่อคณะพนักงานสืบสวนสอบสวนตำรวจภูธรภาค 7 และพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ซึ่งทั้งสองให้การว่า ไม่เห็นว่านายพอละจีได้รับการปล่อยตัวนั้น พยานทั้งสองมิได้อยู่ในฐานะนักศึกษาฝึกงานภายใต้การบังคับบัญชาของผู้ต้องหาทั้ง 4 แล้ว และพยานทั้งสองได้เข้ารับการคุ้มครองพยานตามกระบวนการแล้ว จึงมีความเชื่อมั่นว่าเมื่อได้ให้การตามความเป็นจริง
อีกทั้งผู้ร้องเห็นว่า เมื่อเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวบุคคลใดแล้ว เจ้าหน้าที่มีหน้าที่ต้องดูแลสวัสดิภาพความปลอดภัยในชีวิตและร่างกายของผู้ถูกควบคุมตัว โดยต้องมีการทำบันทึกการจับกุมและบันทึกการปล่อยตัวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เพื่อเป็นหลักฐานและหลักประกันไม่ให้มีการกระทำอันตรายต่อชีวิตและร่างกายหรือละเมิดสิทธิมนุษยชนอันเนื่องมาจากการควบคุมตัว แต่ผู้ต้องหาทั้ง 4 กลับมิได้ดำเนินการตามกฎหมายดังกล่าว ดังนั้น เมื่อครั้งสุดท้ายที่ยืนยันได้คือมีการควบคุมตัวบิลลี่โดยผู้ต้องหาทั้ง 4 และภายหลังจากนั้นไม่มีผู้ใดพบเห็นบิลลี่อีกเลย จึงถือได้ว่าบิลลี่ยังอยู่ในการควบคุมของผู้ต้องหาทั้ง 4 โดยมิชอบ อย่างน้อยในระยะหนึ่ง ซึ่งเป็นควบคุมตัวโดยมิชอบด้วยกฎหมาย จนกระทั่งคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษพบชิ้นส่วนกระดูกที่ยืนยันว่าบิลลี่เสียชีวิตแล้ว
2.ประเด็นที่ว่าหลังจากบิลลี่ถูกควบคุมตัวจนกระทั่งมีการค้นพบชิ้นส่วนกะโหลกของบิลลี่ภายในบริเวณอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ไม่มีข้อเท็จจริงใด ๆ ที่จะชี้ให้เห็นว่าบิลลี่น่าจะยังมีชีวิตอยู่
คดีนี้ผู้ต้องหาที่ 1 มีการพยายามให้ข่าวทางสื่อมวลชนว่าบิลลี่ปรากฏตัวในที่ต่าง ๆ แต่ไม่ปรากฏว่าผู้ต้องหามีการนำพยานบุคคลหรือพยานหลักฐานอื่นใดมานำเสนอต่อพนักงานสอบสวนถึงข้อเท็จจริงที่มีการอ้างว่าพบบิลลี่หลังเกิดเหตุ ทั้งในสำนวนการสอบสวนก็ปรากฏว่าพนักงานสอบสวนได้มีการสอบสวนและสอบทานพยานบุคคลหลายปากเกี่ยวกับประเด็นนี้ ซึ่งผลการสอบสวนก็ไม่ปรากฏว่ามีใครพบเห็นนายพอละจีหลังเกิดเหตุตามที่กล่าวอ้าง
ในประเด็นการลอยอังคาร (พิธีลอยกระดูก) ของชาวกะเหรี่ยง ที่ผู้ต้องหาที่ 1 ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่าชาวกะเหรี่ยงมีการลอยอังคารในแม่น้ำเพชรบุรีและบริเวณที่พบชิ้นส่วนกระดูกของบิลลี่เพื่อเบี่ยงเบนประเด็นความน่าเชื่อถือของการพิสูจน์ทางนิติวิทยาศาสตร์นั้น ตามข้อเท็จจริงก็ปรากฏว่าพิธีลอยอังคารไม่มีในกาปฏิบัติของชาวกะเหรี่ยงแก่งกระจาน ส่วนประเด็นที่ผู้ต้องหาอ้างว่ามีเด็กหญิงคนหนึ่งเห็นบิลลี่หน้าวัดแก่งกระจานช่วงหลังเกิดเหตุนั้น ปรากฏว่ามีการสอบสวนและสอบทานแล้วก็ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงดังที่ผู้ต้องหากล่าวอ้าง
สำหรับการปล่อยข่าวว่าบิลลี่ไปอาศัยอยู่ที่พม่า ทางสอบสวนก็ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงดังกล่าว และในข้อนี้ก็ไม่อาจเกิดขึ้นได้เพราะบิลลี่มีภรรยาและบุตรอีก 5 คน ที่จะต้องดูแล ไม่น่าจะทิ้งภรรยาและบุตรไปได้
3.การตรวจพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ด้วยวิธีการตรวจหาสารพันธุกรรมแบบไมโตคอนเดรียที่ผู้เชี่ยวชาญทางนิติวิทยาศาสตร์ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม ได้จัดทำขึ้นนั้นมีความน่าเชื่อถือเพียงพอที่จะสรุปว่าชิ้นส่วนกะโหลกมนุษย์ที่ตรวจพบเป็นของบิลลี่ และพิสูจน์ได้ว่าบิลลี่ได้เสียชีวิตแล้ว ส่วนข้อโต้แย้งของพนักงานอัยการเป็นเพียงความเห็นส่วนตัว โดยไม่มีรายงานการตรวจพิสูจน์พยานหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ให้ความเห็นเป็นอย่างอื่นนอกเหนือจากรายงานในสำนวนการสอบสวน
จากการสอบสวนปรากฏว่า บุตรคนอื่น ๆ ของนางโพเราะจีซึ่งเป็นบุตรร่วมบิดามารดาเดียวกันกับบิลลี่ยังมีชีวิตอยู่ทุกคน ซึ่งประเด็นนี้เป็นเรื่องใหม่ในวงการสืบสวนสอบสวนและงานด้านนิติวิทยาศาสตร์ที่จะต้องให้ความรู้ความเชี่ยวชาญด้านนิติวิทยาศาสตร์ ความเห็นที่พนักงานอัยการหยิบยกขึ้นมาวินิจฉัยหักล้างผลการตรวจของพยานผู้เชี่ยวชาญดังกล่าวนั้น จึงเป็นความเห็นที่ไม่สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ทางวิทยาศาสตร์ของกระบวนการตรวจสอบแบบไมโตคอนเดรีย ทั้งปรากฏว่าความเห็นดังกล่าวก็ไม่มีข้อเท็จจริงที่จะอ้างอิงได้ในสำนวนการสอบสวนแต่อย่างใด แต่กลับเป็นความเห็นที่สอดคล้องกับคำให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนของผู้ต้องหาที่ 1 ซึ่งได้ให้สัมภาษณ์ยืนยันข้อมูลโต้แย้งข้อสรุปของพนักงานสอบสวนคดีพิเศษในประเด็นดังกล่าว
4.พยานหลักฐานในสำนวนการสอบสวนเพียงพอที่จะรับฟังได้ว่าผู้ต้องหาทั้ง 4 มีเหตุผลและสาเหตุจูงใจน่าเชื่อได้ว่าได้กักขังหน่วงเหนี่ยวและร่วมกันทำให้บิลลี่เสียชีวิต เนื่องจากเคยมีสาเหตุโกรธเคืองกันมาก่อนและบิลลี่ยังเป็นผู้รวบบรวมพยานหลักฐานในส่วนของการกระทำความผิดอื่นที่อาจทำให้กลุ่มผู้ต้องหาได้รับโทษทางอาญา เป็นมูลเหตุให้ผู้ต้องหาทั้ง 4กระทำความผิดในคดีนี้
คดีนี้พนักงานอัยการควรพิจารณาถึงมูลเหตุจูงใจและพฤติการณ์แวดล้อมเกี่ยวกับการกระทำต่าง ๆ ของผู้ต้องหาทั้ง 4 ที่บิลลี่มีข้อขัดแย้ง เช่น ปัญหาสิทธิทำกินของชาติพันธุ์กะเหรี่ยงในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานในขณะที่ผู้ต้องหาที่ 1 เป็นหัวหน้าอุทยาน จนนำไปสู่การฟ้องร้องต่อศาล โดยมีชาวกะเหรี่ยงฟ้องร้องหน่วยงานของรัฐจากการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบของผู้ต้องหาที่ 1 กับพวก รวมทั้งหนังสือเตรียมถวายฎีกา ซึ่งบิลลี่เป็นผู้ประสานงานให้กับชาวกะเหรี่ยงและทนายความ บิลลี่มีบทบาทสำคัญในการรวบรวมพยานหลักฐานในการยื่นต่อศาลในคดีดังกล่าว ตลอดจนการรวบรวมหลักฐานยื่นต่อหน่วยงานต่าง ๆ
นอกจากนี้บิลลี่ยังรู้เห็นปัญหาการตัดไม้ทำลายป่าของเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน โดยได้มีการบันทึกภาพเคลื่อนไหวและภาพนิ่งเก็บไว้ในกล้องถ่ายรูปและคอมพิวเตอร์ส่วนตัว ซึ่งต่อมาเจ้าพนักงานตำรวจได้มีการลงพื้นที่ตรวจสอบภาพถ่ายการตัดโค่นต้นไม้ทำไม้แปรรูป เพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงตามพยานหลักฐานที่นายพอละจีเก็บรวบรวมไว้ พบว่ามีการลักลอบตัดไม้โค่นไม้ แปรรูปไม้เกิดขึ้นจริงตามที่บิลลี่เก็บรวบรวมหลักฐานไว้ โดยเฉพาะพบร่องรอยการตัดโค่นไม้สด หรือไม้ยืนต้นรอบ ๆ บริเวณหน่วยพิทักษ์ป่า กจ.10 บ้านโป่งลึก เป็นจำนวนมาก ซึ่งปัญหาทั้งหมดข้างต้นนี้ล้วนอยู่ในความรับผิดชอบของผู้ต้องหาที่ 1 และมีผลกระทบโดยตรงต่อตำแหน่งหน้าที่ของผู้ต้องหาที่ 1 กับพวกทั้งสิ้น
ขณะเกิดเหตุบิลลี่ยังเป็นพยานปากสำคัญในคดีการเสียชีวิตของนายทัศน์กมล โอบอ้อม ซึ่งเป็นบุคคลที่ให้ความช่วยเหลือชาวกะเหรี่ยงแก่งกระจานในการร้องเรียนกับหน่วยงานต่าง ๆ จากกรณีที่ผู้ต้องหาที่ 1 และเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานเผาทำลายบ้านและทรัพย์สินของชาวกะเหรี่ยงแก่งกระจาน โดยนายทัศน์กมลถูกยิงเสียชีวิตเมื่อวันที่ 10 กันยายน 2554 เหตุเกิดภายหลังจากคณะทำงานของสภาทนายความลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงจากชาวกะเหรี่ยงที่ถูกเผาทำลายบ้านและทรัพย์สินเพียง 1 สัปดาห์ ในคดีการเสียชีวิตของนายทัศน์กมลนั้น ผู้ต้องหาที่ 1 ตกเป็นจำเลยด้วย โดยบิลลี่ได้เข้าให้การต่อพนักงานสอบสวนเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2554 ในฐานะพยาน และขณะที่บิลลี่ถูกผู้ต้องที่ 1 กับพวกจับกุมควบคุมตัวนั้น คดีก็อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลจังหวัดเพชรบุรี
5.พฤติการณ์และพยานหลักฐานเบื้องต้นที่พนักงานสอบสวนได้รวบรวมไว้ พอที่จะสรุปยืนยันได้ว่า บิลลี่ถูกควบคุมตัวไว้โดยผู้ต้องหาทั้ง 4 อย่างต่อเนื่องเรื่อยมาจนกระทั่งพบว่าบิลลี่เสียชีวิต เมื่อรับฟังประกอบกับพฤติการณ์แวดล้อมและมูลเหตุจูงใจเกี่ยวกับกรณีพิพาทที่ผู้ต้องหาที่ 1 มีเหตุโกรธแค้นบิลลี่ เชื่อได้ว่าการเสียชีวิตของบิลลี่เกิดจากการกระทำโดยจงใจของผู้ต้องหาที่ 1 กับพวก ซึ่งเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของผู้ต้องหาที่ 1
ภายหลังจากที่ผู้ต้องหาที่ 1 กับพวก ควบคุมตัวบิลลี่ไว้ ตั้งแต่วันที่ 17 เมษายน 2557 ตามสำนวนการสอบสวนไม่มีพยานหลักฐานใดยืนยันได้ว่าผู้ต้องหาที่ 1 กับพวกได้ปล่อยตัวบิลลี่ไปแล้ว เนื่องจากผู้ต้องหาที่ 1 กับพวก ไม่ได้เข้าให้การใด ๆ ต่อพนักงานสอบสวน มีเพียงคำกล่าวอ้างลอย ๆ ที่ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนเท่านั้น
นอกจากนั้น พยานหลักฐานที่พนักงานสอบสวนคดีพิเศษได้เก็บหลักฐานชิ้นส่วนกระดูกของบิลลี่จากถังน้ำมันขนาด 200 ลิตร ที่มีร่องรอยการเผาด้วยอุณหภูมิสูง ถูกทิ้งอยู่ใต้อ่างเก็บน้ำในบริเวณใกล้เคียงกับที่ทำการอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ซึ่งบริเวณนั้นไม่ใช่พื้นที่ที่เปิดให้นักท่องเที่ยวหรือบุคคลทั่วไปเข้าไปในบริเวณใกล้เคียง พฤติการณ์ของการพบชิ้นส่วนกระดูกดังกล่าวน่าเชื่อถือได้ว่าเป็นการจงใจอำพรางซากศพของบิลลี่เพื่อซ่อนเร้นมิให้ผู้ใดหาพบ เมื่อรับฟังเชื่อมโยงกับการมีหลักฐานว่ายังไม่มีการปล่อยตัวบิลลี่ และสาเหตุโกรธแค้นจากการที่ตนอาจจะต้องถูกกล่าวหาดำเนินคดีอาญาในความผิดร้ายแรงอื่น ๆ ที่บิลลี่ได้รู้เห็นเป็นพยาน ย่อมน่าเชื่อว่าการเสียชีวิตของบิลลี่เกิดจากการร่วมกันกระทำของผู้ต้องหาที่ 1 กับพวก
หนังสือขอความเป็นธรรมฉบับเต็ม
[pdf-embedder url=”https://naksit.net/wp-content/uploads/2020/08/หนังสือขอความเป็นธรรม-อสส-บิลลี่.pdf”]