สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ยื่นรายชื่อทนายความแก้ไขข้อบังคับสภาทนายความ

สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ยื่นรายชื่อทนายความแก้ไขข้อบังคับสภาทนายความ

วันที่ 10 มิถุนายน 2563 สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) เข้าพบ ดร.กิตติมา สิริศุภชัย กรรมการช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย/กรรมการปฏิคม และนายสมพร ดำพริก อุปนายกฝ่ายปฏิบัติการ ตัวแทนจากสภาทนายความ เพื่อยื่นรายชื่อทนายความในการแก้ข้อบังคับสภาทนายความ ว่าด้วยการแต่งกายของทนายความหญิง และเข้าหารือถึงปัญหาสิทธิในการเข้าถึงทนายความระหว่างตัวความและทนายความ โดยเนื้อหาหลักในการเข้าพบสภาทนายความ ดังนี้

กรณีทนายความหญิงถูกทนายความและศาลตำหนิจากกรณีที่สวมกางเกงและสูทสากลในการว่าความ
จากข้อบังคับสภาทนายความว่าด้วยมรรยาททนายความ พ.ศ. 2529 หมวด 5 มรรยาทในการแต่งกาย ข้อ 20 ระบุว่า “ในเวลาว่าความ ทนายความจะต้องแต่งกายสุภาพเรียบร้อยตามหลักเกณฑ์ต่อไปนี้ (2) ทนายความหญิง แต่งตามแบบสากลนิยม กระโปรงและสื้อสีสุภาพไม่ฉูดฉาด รองเท้าหุ้มส้น…” และหากพิจารณาตามพระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ. 2528 มาตรา 51 ระบุว่า “ทนายความต้องประพฤติตนตามข้อบังคับว่าด้วยมรรยาททนายความ การกำหนดมรรยาททนายความให้สภาทนายความตราเป็นข้อบังคับมรรยาททนายความ…” และมาตรา 52 ระบุไว้ว่า “โทษผิดมรรยาททนายความมี 3 สถานคือ (1) ภาคทัณฑ์ (2) ห้ามทำการเป็นทนายความมีกำหนดไม่เกินสามปี หรือ (3) ลบชื่อออกจากทะเบียนทนายความ…” ทำให้เห็นว่าหากทนายความหญิงสวมกางเกงเวลาว่าความ จะเป็นการแต่งกายที่ผิดข้อบังคับมารยาททนายความ และมีโทษตามมาตรา 52 ซึ่งถือว่าเป็นโทษที่ร้ายแรงเกินสมควรในกรณีการแต่งกายที่ผิดมารยาทตามข้อบังคับบังคับดังกล่าวข้างต้น ทั้งนี้การสวมใส่กางเกงตามแบบสากลนิยมนั้นก็เป็นการแต่งกายด้วยชุดสุภาพ และมิได้ส่งผลกระทบใดต่อการปฏิบัติหน้าที่ทนายความในเวลาว่าความในศาล

ปัจจุบันแนวคิดและค่านิยมเกี่ยวกับการแต่งกายของชายหญิงเปลี่ยนแปลงไป ตลอดจนถึงการดำเนินวิถีชีวิตในสังคมที่มีความเท่าเทียมกันระหว่างชายหญิงและเพศวิถีมากยิ่งขึ้น สิทธิสตรีได้รับความคุ้มครองให้มีความเสมอภาคเท่าเทียมกัน การแต่งกายของทนายความหญิงในเวลาว่าความจึงไม่ควรถูกกำหนดตายตัวและจำกัดเสรีภาพในการแสดงออก ทนายความหญิงพึงมีสิทธิอันชอบธรรมในการแต่งกายโดยสุภาพได้ โดยไม่ถูกจำกัดให้ต้องสวมกระโปรงเท่านั้น

ทั้งนี้ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 27 ได้ระบุว่า “ บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมาย มีสิทธิและเสรีภาพและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน ชายและหญิงเท่าเทียมกัน การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคล ไม่ว่าด้วยเหตุความแตกต่างในเรื่องถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ภาษา เพศ อายุ ความพิการ สถาพทางกายหรือสุขภาพ สถานะของบุคคล ฐานะทางเศรฐกิจหรือสังคม ความเชื่อทางศาสนา การศึกษาอบรม หรือความคิดเห็นทางการเมืองอันไม่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือเหตุอื่นใด จะกระทำมิได้”

บทบัญญัติดังกล่าวถูกกำหนดขึ้นเพื่อส่งเสริมให้บุคคลไม่ว่าจะเพศใด อยู่ในฐานะใด ย่อมมีสิทธิเสรีภาพ และได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายอย่างเสมอภาคเท่าเทียมกัน

หน่วยงานราชการในกระบวนการยุติธรรม ส่งเสริมให้ผู้หญิงสามารถสวมกางเกงปฏิบัติงานได้
นอกจากนั้นหน่วยงานราชการในกระบวนการยุติธรรม เช่น องค์กรอัยการ ก็ได้กำหนดระเบียบเกี่ยวกับการแต่งกายของข้าราชการอัยการหญิงไว้ในระเบียบคณะกรรมการอัยการว่าด้วยเครื่องแบบและการแต่งกายของข้าราชการฝ่ายอัยการ พ.ศ. 2556 ข้อ 26(1)(ง) ซึ่งกำหนดให้ข้าราชการอัยการหญิงสวมกางเกงปฏิบัติงานได้ โดยกำหนดว่า “…(ง) กางเกง กระโปรงข้าราชการอัยการชาย ให้ใช้กางเกงขายาวสีดําหรือสีกรมท่าเข้มหรือสีสุภาพ ไม่พับปลายขา ทรงสุภาพ คาดเข็มขัดแบบสุภาพ ข้าราชการอัยการหญิง ให้ใช้กระโปรงทรงสอบหรือทรงตรง ความยาวระดับเข่า หรือกางเกงขายาวสีดําหรือ สีกรมท่าเข้มหรือสีสุภาพ…”

แสดงให้เห็นว่าหน่วยงานราชการเองก็มีการปรับการแต่งกายของข้าราชการหญิงให้เข้ากับยุคสมัยและบริบทของการทำงานในปัจจุบัน ดังจะเห็นได้จากข้าราชการตำรวจ พนักงานอัยการ และหน่วยงานราชการอื่นๆ
ที่ข้าราชการหญิงสวมเครื่องแบบเป็นกางเกงชุดกากีตามแบบข้าราชการชายได้ เป็นต้น

ผลการสำรวจประชาชน 100 คน ชี้ปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจเลือกทนายความ คือความสามารถ ประสบการณ์ และผลการทำงาน
สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นประชาชนในช่วงอายุ 24-30 ปี ซึ่งประกอบอาชีพทั้งทนายความ, รับราชการ, นักธุรกิจ, พนักงานออฟฟิศ, พนักงานธนาคาร และผู้ที่ทำงานในสายงานกฎหมาย จำนวน 100 คน ในมุมมองการแต่งกายไปทำงานของผู้หญิงในสังคมปัจจุบัน โดยใช้คำถามจำนวน 7 คำถาม เช่น คิดว่าอาชีพใดต้องใส่กระโปรง ผลสรุปการสำรวจในปัจจุบันชี้ว่า ไม่มีอาชีพใดต้องใส่กระโปรง มีคะแนนด้วยถึง 52 คะแนน(52 คน) รองลงมาคือ อาชีพครู,อาจารย์ 14 คะแนน (14 คน) หรือคำถามที่ว่าคิดว่าปัจจัยใดมีผลต่อการตัดสินใจเลือกทนายความของลูกความ ผลสรุปการสำรวจระบุว่า ความรู้ความสามารถ ได้รับคะแนนมากถึง 41 คะแนน (41 คน) รองลงมาคือ ประสบการณ์/ผลงานที่ผ่านมา 36 คะแนน (36 คน) ดังนั้นผลสำรวจแสดงให้เห็นว่าปัจจุบันไม่ควรมีอาชีพใดที่ถูกกำหนดเฉพาะว่าต้องสวมใส่กระโปรง การสวมใส่กระโปรงควรเป็นทางเลือก ไม่ใช่การบังคับ อีกทั้งปัจจัยสำคัญที่ทำให้ประชาชนตัดสินใจเลือกทนายความ คือเรื่องความรู้ความสามารถ ประสบการณ์การทำงานรวมถึงผลงานที่ผ่านมา ฉะนั้นการที่ทนายความจะสวมใส่กระโปรงในเวลาว่าความ ย่อมไม่ได้ส่งผลกระทบต่อกระบวนการยุติธรรมแต่อย่างไร
(ดูรายการ WHAT 100 THINK ย้อนหลัง : https://www.facebook.com/watch/?v=2541406792790595)

พระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ. 2558 กำหนดให้ ทนายความไม่น้อยกว่า 100 คน มีสิทธิเสนอขอให้คณะกรรมการพิจารณาแก้ไขข้อบังคับสภาทนายความได้
สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนได้รวบรวมรายชื่อทนายความ จำนวน 126 รายชื่อ ใช้สิทธิตามพระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ. 2558 มาตรา 31 ซึ่งบัญญัติว่า “ทนายความไม่น้อยกว่าหนึ่งร้อยคน มีสิทธิเสนอขอให้คณะกรรมการพิจารณาแก้ไขข้อบังคับได้เพื่อเสนอให้เกิดการแก้ไขข้อบังคับสภาทนายความว่าด้วยมรรยาททนายความ พ.ศ. 2529 หมวด 5 มรรยาทในการแต่งกาย ข้อ 20 (2) นอกจากทนายความแล้ว สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนยังได้รับรายชื่อนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ ซึ่งในอนาคตนักศึกษาเหล่านี้อาจจะประกอบอาชีพทนายความ จึงได้สนับสนุนให้เกิดการแก้ไขข้อบังคับดังกล่าว เพื่อให้ข้อบังคับดังกล่าวเปลี่ยนแปลงไปตามบริบทของสังคม และเป็นไปตามหลักการในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ที่กำหนดให้ “บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมายมีสิทธิและเสรีภาพและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน”

สิทธิในการเข้าถึงทนายความ
ที่ผ่านมาสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนได้รับการร้องเรียนจากทนายความถึงแนวปฏิบัติในการเข้าพบตัวความหรือผู้ต้องกักในเรือนจำหรือสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ว่าไม่สามารถเป็นไปโดยสะดวก

การเข้าเยี่ยมผู้ต้องขังของทนายความในเรือนจำ พบว่ามีความยุ่งยากในการติดต่อเพื่อเข้าพบนั้นมีความล่าช้าทำให้การเข้าถึงตัวความเป็นไปด้วยความยุ่งยาก และเรือนจำบางแห่งทนายความไม่สามารถนำล่ามเข้าพบตัวความได้ โดยเจ้าหน้าที่แจ้งว่าต้องใช้ล่ามของเรือนจำในการแปล

การเข้าเยี่ยมผู้ต้องกักของทนายความในที่ต้องกักสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง สถานที่พบผู้ต้องกักไม่มีความเป็นสัดส่วน และการจัดหาล่ามไม่เป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความตามมาตราอาญา 13 กล่าวคือ ตำรวจไม่สามารถจัดหาล่ามให้เพียงพอ โดยเจ้าหน้าที่จะใช้ผู้ต้องกักด้วยกันเป็นล่ามให้ ซึ่งไม่สามารถสื่อสารได้อย่างถูกต้องเพียงพอ และการเข้าถึงทนายความของผู้ต้องกักนั้น พบว่าทนายความไม่สามารถเข้าพบผู้ต้องกักในฐานะทนายความได้ โดยเจ้าหน้าที่อ้างว่าไม่มีสถานที่ให้ทนายความ ทำให้ทนายความและผู้ต้องกักไม่สามารถหารือได้เป็นการส่วนตัว

ข้อเสนอของสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน
สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ซึ่งเกิดจากการรวมตัวของนักกฎหมายและทนายความที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชน มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างบรรทัดฐานทางกฎหมาย ทั้งการตรา การใช้ และการตีความกฎหมายบนพื้นฐานการเคารพหลักนิติธรรม การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน หลักสิทธิมนุษยชนและความเป็นธรรมทางสังคม สมาคมฯ มีความเห็นว่าควรมีการพิจารณาเพื่อแก้ไขข้อบังคับสภาทนายความว่าด้วยมรรยาททนายความ พ.ศ. 2529 หมวด 5 มรรยาทในการแต่งกาย ในข้อ 20 (2) โดยเสนอให้ใช้ถ้อยคำดังต่อไปนี้ “ทนายความ แต่งกายตามแบบสากลนิยมหรือแต่งเสื้อชุดไทยแบบแขนสั้นหรือยาว กระโปรงยาวคลุมเขาหรือกางเกงทรงสากลไม่พับปลายขา ร้องเท้าหุ้มส้น ทั้งนี้เครื่องแต่งกายต้องเป็นสีสุภาพไม่ฉูดฉาด” อันเป็นการเพียงพอต่อการแสดงความเคารพต่อศาลและสถานที่ อีกทั้งไม่เป็นการกระทบกระเทือนต่อกระบวนการพิจารณา หรือคู่ความ หรือการอำนวยความเป็นธรรมตามหลักความยุติธรรมอีกด้วย หากแต่เป็นการก้าวข้ามการแต่งกายที่แบ่งเพศสภาพความเป็นหญิง ชาย เคารพหลักเสรีภาพในการแต่งกายของบุคคลอันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่มนุษย์พึ่งมีในบริบทสังคมที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัย พร้อมกันนี้สมาคมฯ ได้เข้าหารือในประเด็นสิทธิในการเข้าถึงทนายความ ซึ่งสมาคมฯ เห็นว่าสภาทนายความควรมีข้อเสนอถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดแนวปฏิบัติที่ชัดเจนในการที่จะให้ทนายความสามารถเข้าถึงตัวความหรือผู้ต้องกัก และตัวความหรือผู้ต้องกักสามารถเข้าถึงทนายความได้โดยสะดวก มีความเป็นส่วนตัว และมีมาตรฐาน