พระราชบัญญัติกองทุนยุติธรรม พ.ศ. 2558 บังคับใช้เมื่อ 25 เมษายน พ.ศ.2559 เป็นระยะเวลากว่า 4 ปี ที่กฎหมายฉบับนี้ได้บังคับใช้โดยมีเจตนารมณ์เพื่อเป็นแหล่งเงินทุนสำหรับใช้จ่ายให้กับประชาชนในภารกิจ 4 ด้าน ได้แก่ การช่วยเหลือประชาชนในการดำเนินคดี การขอปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลย การถูกละเมิดสิทะิมนุษยชน และการให้ความรู้ทางกฎหมายแก่ประชาชน ในทางปฏิบัติสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน พบว่ามีประเด็นและอุปสรรคในการเข้าถึงกองทุนยุติธรรม จากกลุ่มทนายความและกลุ่มชาวบ้านซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นผู้เกี่ยวข้องหรืออยู่ในฐานะ “ผู้ขอรับความช่วยเหลือ”
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักไทย กำหนดแนวทางในการทบทวนกฎหมายหรือการบังคับใช้กฎหมายเพื่อนำไปสู่การแก้ไขกฎหมาย
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ได้กำหนดไว้ว่า “มาตรา 77 รัฐพึงจัดให้มีกฎหมายเพียงเท่าที่จำเป็น และยกเลิกหรือปรับปรุงกฎหมายที่หมดความจำเป็นหรือไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ หรือที่เป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิตหรือการประกอบอาชีพโดยไม่ชักช้าเพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่ประชาชน และดำเนินการให้ประชาชนเข้าถึงตัวบทกฎหมายต่าง ๆ ได้โดยสะดวกและสามารถเข้าใจกฎหมายได้ง่ายเพื่อปฏิบัติตามกฎหมายได้อย่างถูกต้อง ก่อนการตรากฎหมายทุกฉบับ รัฐพึงจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง วิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายอย่างรอบด้านและเป็นระบบ รวมทั้งเปิดเผยผลการรับฟังความคิดเห็นและการวิเคราะห์นั้นต่อประชาชน และนำมาประกอบการพิจารณาในกระบวนการตรากฎหมายทุกขั้นตอนเมื่อกฎหมายมีผลใช้บังคับแล้ว รัฐพึงจัดให้มีการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมายทุกรอบระยะเวลาที่กำหนดโดยรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องประกอบด้วย เพื่อพัฒนากฎหมายทุกฉบับให้สอดคล้องและเหมาะสมกับบริบทต่าง ๆ ที่เปลี่ยนแปลงไป รัฐพึงใช้ระบบอนุญาตและระบบคณะกรรมการในกฎหมายเฉพาะกรณีที่จำเป็น พึงกำหนดหลักเกณฑ์การใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ของรัฐและระยะเวลาในการดำเนินการตามขั้นตอนต่าง ๆ ที่บัญญัติไว้ในกฎหมายให้ชัดเจน และพึงกำหนดโทษอาญาเฉพาะความผิดร้ายแรง
และการปฏิรูปกฎหมายที่บัญญัติไว้ในหมวด 16 การปฏิรูปประเทศ มาตรา 258 ค. ด้านกฎหมาย
(1) มีกลไกให้ดำเนินการปรับปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบ หรือข้อบังคับต่าง ๆ ที่ใช้บังคับอยู่ก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ให้สอดคล้องกับหลักการตามมาตรา 77 และพัฒนาให้สอดคล้องกับหลักสากล โดยให้มีการใช้ระบบอนุญาตและระบบการดำเนินการโดยคณะกรรมการเพียงเท่าที่จำเป็นเพื่อให้การทำงานเกิดความคล่องตัว โดยมีผู้รับผิดชอบที่ชัดเจน และไม่สร้างภาระแก่ประชาชนเกินความจำเป็น เพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และป้องกันการทุจริตและประพฤติมิชอบ
(2) ปฏิรูประบบการเรียนการสอนและการศึกษาอบรมวิชากฎหมายเพื่อพัฒนาผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมายให้เป็นผู้มีความรอบรู้ มีนิติทัศนะ และยึดมั่นในคุณธรรมและจริยธรรมของนักกฎหมาย
(3) พัฒนาระบบฐานข้อมูลกฎหมายของรัฐโดยใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลกฎหมายได้สะดวก และสามารถเข้าใจเนื้อหาสาระของกฎหมายได้ง่าย
(4) จัดให้มีกลไกช่วยเหลือประชาชนในการจัดทำและเสนอร่างกฎหมาย
บทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญดังกล่าวเมื่อกฎหมายมีผลใช้บังคับแล้วรัฐพึงจัดให้มีการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย โดยรับฟังความคิดเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้องมาประกอบด้วย เพื่อพัฒนากฎหมายทุกฉบับให้สอดคล้องและเหมาะสมกับบริบทต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงไป ตลอดจนการดำเนินการปรับปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบ หรือข้อบังคับต่าง ๆ ให้พัฒนาสอดคล้องกับหลักสากล โดยให้มีการใช้ระบบอนุญาตและระบบการดำเนินการโดยคณะกรรมการเพียงเท่าที่จำเป็นเพื่อให้การทำงานเกิดความคล่องตัว โดยมีผู้รับผิดชอบที่ชัดเจน และไม่สร้างภาระแก่ประชาชนเกินความจำเป็น
อาศัยบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญ สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนได้จัดทำข้อมูลปัญหาในการเข้าถึงกองทุนยุติธรรม และข้เอเสนอแนะ เพื่อนำไปสุ่การแก้ไขปัญหา รายละเอียดดังนี้
สรุปปัญหาและข้อเสนอแนะกองทุนยุติธรรม
ปัญหา | ข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง | ข้อเสนอแนะ | อ่านต่อได้ที่ |
---|---|---|---|
การใช้ดุลพินิจของคณะอนุกรรมการกองทุนยุติธรรมประจำจังหวัด | ระเบียบคณะกรรมการกองทุนยุติธรรม ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ในการขอปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลย พ.ศ. 2559 ข้อ 11(1) | ยกเลิกข้อ 11 (1) | การใช้ดุลพินิจของคณะอนุกรรมการฯ |
การตีความ “ฐานะของผู้ขอรับความช่วยเหลือจากกองทุนยุติธรรม | พ.ร.บ. กองทุนยุติธรรม 2558 มาตรา 28(2) | กำหนดคำนิยาม ฐานะของผู้ที่จะได้รับความช่วยเหลือจากกองทุน ให้ชัดเจน อย่างเช่นว่า ฐานะของผู้ที่จะขอรับความช่วยเหลือควรที่จะมีฐานะอย่างไร โดยในปัจจุบันกฎหมายที่มีลักษณะคล้ายกับการให้ความช่วยเหลือของกองทุนยุติธรรมได้มีการกำหนดคำนิยามไว้อย่างชัดเจน คือ ระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุด ว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน พ.ศ.2562 ได้กำหนดคำนิยามของบุคคลที่จะให้ความช่วยเหลือไว้ว่า ผู้ยากจน หมายถึง ผู้ที่ไม่มีทรัพย์สินหรือรายได้หรือมีทรัพย์สินหรือรายได้ไม่เพียงพอที่จะว่าจ้างทนายความ หรืออยู่ในภาวะที่ไม่สามารถจะว่าจ้างทนายความโดยลำพังตนเองได้ | การความฐานะผู้ขอรับความช่วยเหลือจากกองทุนยุติธรรม |
โครงสร้างคณะอนุกรรมการให้ความช่วยเหลือประจำจังหวัด | คำสั่งคณะกรรมการกองทุนยุติธรรม ที่ 2/2562 เรื่องแต่งตั้งคณะอนุกรรมการให้ความช่วยเหลือประจำจังหวัด คณะอนุกรรมการให้ความช่วยเหลือประจำจังหวัด | โครงสร้างของคณะอนุกรรมการให้ความช่วยเหลือประจำจังหวัดต้องมีการปรับปรุง และส่งเสริมให้มีภาคประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วม | โครงสร้างคณะอนุกรรมการให้ความช่วยเหลือประจำจังหวัดของกองทุนยุติธรรม |
การทบทวนไม่เท่ากับการอุทธรณ์ | ระเบียบคณะกรรมการกองทุนยุติธรรม ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ในการช่วยเหลือประชาชนในการดำเนินคดี พ.ศ. 2559 ข้อ 19 | เปลี่ยนจากการทบทวน เป็นการใช้ระบบอุทธรณ์สองชั้น โดยเจ้าหน้าที่ผู้ทำคำสั่งทางปกครองเป็นเจ้าหน้าที่ผู้พิจารณาอุทธรณ์ ในชั้นต้น และเจ้าหน้าที่ชั้นเหนือขึ้นไปซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชา ผู้กำกับดูแล หรือผู้ควบคุมการปฏิบัติงาน เป็นเจ้าหน้าที่ผู้พิจารณาอุทธรณ์ในชั้นที่สอง เพื่อให้ผู้มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์ได้พิจารณาแก้ไขหรือทบทวนคำสั่งทางปกครองให้ถูกต้อง และเปิดโอกาสให้ประชาชนได้รับความเป็นธรรมก่อนที่จะนำคดีหรือข้อพิพาทขึ้นสู่ศาลปกครอง อันจะเป็นขั้นตอนที่ใช้ระยะเวลานานกว่าจะมีคำพิพากษา ซึ่งทำให้สิทธิของประชาชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งในการขอปล่อยชั่วคราว หากผู้ขอรับความช่วยเหลือต้องถูกควบคุมตัวอยู่ในระหว่างการพิจารณาคดี ก็จะถูกลดทอนลงไปอย่างมาก และจะช่วยกลั่นกรองข้อพิพาทและลดจำนวนคดีพิพาทที่จะขึ้นสู่ศาล ก่อให้เกิดความเชื่อมั่นต่อกระบวนการพิจารณาของคณะอนุกรรมการให้ความช่วยเหลือประจำจังหวัด ว่าเป็นไปอย่างถูกต้องตามกระบวนการทางกฎหมาย เป็นธรรม และได้สัดส่วน เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ได้อย่างเสมอภาคเท่าเทียมกัน | การทบทวนไม่เท่ากับการอุทธรณ์ |
สิทธิที่จะเลือกทนายความของผู้ขอรับความช่วยเหลือจากกองทุนยุติธรรม | ระเบียบคณะกรรมการกองทุนยุติธรรม ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ในการช่วยเหลือประชาชนในการดำเนินคดี พ.ศ. 2559 ข้อ 23, ข้อ 27, ข้อ 31, ข้อ 34 | 1. การใช้บริการทนายความที่ขึ้นบัญชีไว้กับกองทุนยุติธรรมควรใช้ในกรณีที่ผู้ขอรับความช่วยเหลือไม่มีทนายความหรือไม่สามารถหาทนายความได้เอง 2. หากผู้ขอรับความช่วยเหลือมีทนายความอยู่แล้ว ก็ให้สามารถใช้บริการทนายความที่ตนเองมี โดยสามารถเบิกค่าใช้จ่ายจากกองทุนได้อีกด้วย | สิทธิที่จะเลือกทนายความของผู้ขอรับความช่วยเหลือ |