ตามพระราชบัญญัติกองทุนยุติธรรม พ.ศ. 2558 กำหนดให้มีคณะกรรมการกองทุนยุติธรรม โดยมีอำนาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการหรือคณะทำงานเพื่อปฏิบัติการตามที่คณะกรรมการมอบหมาย (มาตรา 18 (3)) และให้คณะกรรมการกองทุนยุติธรรมแต่งตั้งอนุกรรมการให้ความช่วยเหลือประจำจังหวัดขึ้นทุกจังหวัด ยกเว้นกรุงเทพมหานคร โดยให้มีอำนาจหน้าที่พิจารณาให้ความช่วยเหลือผู้ยื่นคำขอจากกองทุนเฉพาะกรณีการให้ค่าใช้จ่ายในการช่วยเหลือประชาชนในการดำเนินคดีและการขอปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลย (มาตรา 21) และในกรณีที่มีเหตุจำเป็นเร่งด่วนไม่สามารถเสนอคำขอให้คณะอนุกรรมการให้ความช่วยเหลือ หรือคณะอนุกรรมการให้ความช่วยเหลือประจำจังหวัด พิจารณาได้ ให้ประธานอนุกรรมการให้ความช่วยเหลือ หรือประธานอนุกรรมการให้ความช่วยเหลือประจำจังหวัด แล้วแต่กรณี เป็นผู้พิจารณาคำขอ (มาตรา 22)
โครงสร้างคณะอนุกรรมการให้ความช่วยเหลือประจำจังหวัด
ตามคำสั่งคณะกรรมการกองทุนยุติธรรม ที่ 2/2562 เรื่องแต่งตั้งคณะอนุกรรมการให้ความช่วยเหลือประจำจังหวัด คณะอนุกรรมการให้ความช่วยเหลือประจำจังหวัด มีองค์ประกอบ
(1) ผู้ว่าราชการจังหวัด หรือรองผู้ว่าราชการจังหวัด ที่ได้รับมอบหมาย ประธานอนุกรรมการ
(2) อัยการจังหวัดคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายและการบังคับคดีจังหวัด อนุกรรมการ
(3) ปลัดจังหวัด อนุกรรมการ
(4) ท้องถิ่นจังหวัด อนุกรรมการ
(5) ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด อนุกรรมการ
(6) ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัยจังหวัด อนุกรรมการ
(7) นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด อนุกรรมการ
(8) คลังจังหวัด อนุกรรมการ
(9) ประธานสภาทนายความจังหวัด
(10) ผู้แทนเครือข่ายยุติธรรมชุมชนที่ยุติธรรมจังหวัดคัดเลือกจำนวน 1 คน อนุกรรมการ
(11) ยุติธรรมจังหวัด อนุกรรมการและเลขนุการ
(12) เจ้าหน้าที่ประจำสำนักงานยุติธรรมจังหวัด ที่ยุติธรรมจังหวัดมอบหมาย จำนวน 2 คน อนุกรรกมารและผู้ช่วยเลขานุการ
อำนาจหน้าที่ของคณะอนุกรรมการให้ความช่วยเหลือประจำจังหวัด
อำนาจหน้าที่ของคณะอนุกรรมการให้ความช่วยเหลือประจำจังหวัด หลักๆ คือพิจารณาอนุมัติ ไม่อนุมัติ หรือยุติคำขอรับความช่วยเหลือเงินกองทุนยุติธรรม ภายในวงเงินไม่เงิน 500,000 บาท ต่อราย #เฉพาะกรณีการขอรับความช่วยเหลือในการดำเนินคดี #และการขอปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลย ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกองทุนยุคิธรรมกำหนด ตลอดจน ตรวจสอบ และแสวงหาข้อเท็จจริง เพื่อประกอบการพิจารณาตามพระราชบัญญัติกองทุนยุติธรรม พ.ศ. 2558
ความไม่ยึดโยงภาคประชาชน ทำให้มองปัญหาไม่ลึกซึ้ง
จากองค์ประกอบโครงสร้างคณะอนุกรรมการให้ความช่วยเหลือประจำจังหวัด จะเห็นได้ว่า ไม่ได้ยึดโยงภาคประชาชน จึงทำให้เกิดปัญหาเมื่อคณะอนุกรรมการฯ ต้องพิจารณาให้ความช่วยเหลือในกรณี ที่กลุ่มชาวบ้านมาขอความช่วยเหลือจากกองทุนยุติธรรม เนื่องจากการที่ชาวบ้านหรือคนในชุมชนได้รวมตัวรวมกลุ่มคัดค้านโครงการที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทำให้เกิดข้อพิพาทกับเจ้าของโครงการ นำมาสู่การฟ้องร้องดำเนินคดีอาญากับกลุ่มชาวบ้าน เมื่อพิจารณาถึงตรงนี้แล้วหากในคณะอนุกรรมการฯ ไม่มีจุดยึดโยงกับภาคประชาชน ทำให้มุมมองการพิจารณาถึงที่มาปัญหาการที่ชาวบ้านต้องถูกฟ้องคดี จนนำมาสู่การขอความช่วยเหลือจากกองทุนยุติธรรมนั้น ล้วนมีที่มาจากการกระทำเพื่อปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือเป็นไปเพื่อปกป้องประโยชน์ส่วนรวม หากเมื่อคณะอนุกรรมการฯ พิจารณาว่าเข้าเงื่อนไขตามหลักเกณฑ์แต่เพียงอย่างเดียวโดยไม่ได้พิจารณาบริบททั้งหมดของเรื่อง ก็อาจทำให้กลุ่มชาวบ้านไม่ได้รับความเป็นธรรมที่เพียงพอ นี่จึงเป็นอุปสรรคประการสำคัญที่ทำให้ประชาชน กลุ่มชาวบ้าน ผู้อยู่ในฐานะ “ผู้ขอรับความช่วยเหลือ” ไม่สามารถเข้าถึงกองทุนยุติธรรมได้
ข้อเสนอแนะ
อาจารย์ณัฐวรรณ อารัมภ์วิโรจน์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ให้ความเห็นต่อกรณีดังกล่าวว่า “การให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมเป็นเรื่องที่ดีเพราะโครงสร้างที่ถูกกำหนดมาส่วนใหญ่ เป็นการทำหน้าที่แทนรัฐ เมื่อดูองค์ประกอบจะไม่เห็นความหลากหลายทำให้ลักษณะของการที่จะมีคิดแตกต่างกันเป็นไปได้ยาก ในส่วนหลักเกณฑ์ตัวแทนของภาคประชาชนที่จะเข้ามาเป็นองค์คณะในคณะอนุกรรมการช่วยเหลือประจำจังหวัด คิดว่าต้องมีรายละเอียด เช่น ต้องมีประสบการณ์หรือความเชี่ยวชาญในเรื่องนั้นๆ เพราะ 1. คนที่มีประสบการณ์ สามารถมองเห็นภาพ เห็นข้อเท็จจริงนั้นๆ เห็นปัญหาที่เกิดขึ้น 2. ต้องเป็นคนในพื้นที่จังหวัดนั้นๆ 3. ต้องพิจารณาในเรื่องความหลากหลายของปัญหาหรือเรื่องที่มีความเชี่ยวชาญ” เป็นเรื่องที่ภาคประชาชนต้องมาตกลงร่วมกันอีกครั้งถึงตัวแทนที่จะเข้าไปทำหน้าที่ในคณะอนุกรรมการช่วยเหลือประจำจังหวัด
กองทุนยุติธรรม ที่อำนวยความยุติธรรมอย่างแท้จริง
เมื่อโครงสร้างของคณะอนุกรรมการให้ความช่วยเหลือประจำจังหวัด ไม่มีความหลากหลายหรือมีจุดยึดโยงกับภาคประชาชน อาจทำให้การพิจารณาของคณะอนุกรรมการให้ความช่วยเหลือประจำจังหวัด ในการพิจารณาอนุมัติ / ไม่อนุมัติ เงินช่วยเหลือให้กับประชาชนหรือกลุ่มชาวบ้าน ผู้ขอความช่วยเหลือ มีข้อมูลที่ไม่เพียงพอสำหรับการมองบริบทโดยรวมของปัญหา อันจะทำให้ทราบว่าที่มาของปัญหาที่ทำให้ชาวบบ้านถูกฟ้องดำเนินคดีนั้นมาจากข้อเท็จจริงใด จึงเห็นว่าโครงสร้างของคณะอนุกรรมการให้ความช่วยเหลือประจำจังหวัดต้องมีการปรับปรุง และส่งเสริมให้มีภาคประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วม เพื่อให้กองทุนยุติธรรม อำนวยความยุติธรรมอย่างแท้จริง