การใช้ดุลพินิจของคณอนุกรรมการ ตัดสินความถูกผิดการกระทำของ “ผู้ขอรับความช่วยเหลือ”
อาจารย์ณัฐวรรณ อารัมภ์วิโรจน์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ให้ความเห็นต่อการใช้ดุลพินิจของคณะอนุกรรมการ ที่ตัดสินความถูกผิดการกระทำของ “ผู้ขอรับความช่วยเหลือ” ในการขอปล่อยชั่วคราว ตามระเบียบคณะกรรมการกองทุนยุติธรรม ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข
ในการขอปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลย พ.ศ. 2559
การที่เจ้าหน้าที่จะออกคำสั่งทางปกครองได้ ก็ต่อเมื่อมีกฎหมายบัญญัติให้อำนาจในเรื่องนั้นไว้ อีกทั้งต้องกระทำโดยเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจตามกฎหมายด้วยการที่จะพิจารณาว่าคณะอนุกรรมการใช้ดุลพินิจในการตัดสินความถูกผิดการกระทำของ “ผู้ขอรับความช่วยเหลือ” ได้หรือไม่ จึงต้องพิจารณาว่ามีกฎหมายบัญญัติ
ให้อำนาจคณะอนุกรรมการในเรื่องนั้นไว้หรือไม่ ซึ่งถ้าเราพิจารณาตามพระราชบัญญัติกองทุนยุติธรรม พ.ศ.2558 และระเบียบที่ออกตามที่พรบกองทุนยุติธรรมกำหนดไว้ ให้อำนาจคณะอนุกรรมการตัดสินความถูกผิดได้ เช่น ระเบียบคณะกรรมการกองทุนยุติธรรมว่าด้วยหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขในการขอปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลย พ. ศ. 2559 ได้กำหนดหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขในการช่วยเหลือผู้ต้องหาหรือจำเลย
ที่ยื่นคำขอปล่อยชั่วคราวซึ่งให้คณะกรรมการพิจารณาถึงพฤติการณ์และลักษณะการกระทำความผิดตามข้อ 10 และข้อ 11
โดยในเรื่องนี้มีความเห็นว่ากฎหมายบัญญัติให้อำนาจคณะอนุกรรมการพิจารณามีลักษณะซ้อนกับหลักเกณฑ์ที่ศาล พนักงานอัยการ หรือพนักงานสอบสวน จะต้องวินิจฉัยคำร้องขอปล่อยชั่วคราวตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา กำหนดไว้กล่าวคือ หลักเกณฑ์ในการวินิจฉัยคำร้องขอปล่อยชั่วคราวพนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ หรือศาล จะต้องพิจารณาหลักเกณฑ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาตามมาตรา 108 ประกอบด้วย (1) ความหนักเบาแห่งข้อหา (2) พยานหลักฐานที่ปรากฏแล้วมีเพียงใด (3) พฤติกรรมต่างๆ แห่งคดีเป็นอย่างไร (4) เชื่อถือผู้ร้องขอประกันหรือหลักประกันได้เพียงใด
(5) ผู้ต้องหาหรือจำเลยน่าจะหลบหนีหรือไม่ (6) ภัยอันตรายหรือความเสียหายที่จะเกิดจากการปล่อยชั่วคราวมีเพียงใดหรือไม่ (7) ในกรณีที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยต้องขังตามหมายศาล ถ้ามีคำคัดค้านของพนักงานสอบสวนพนักงานอัยการ โจทก์ หรือผู้เสียหาย แล้วแต่กรณี ศาลพึงรับฟังคำคัดค้านประกอบวินิจฉัยได้ (8) หากมีข้อเท็จจริง หรือรายงาน หรือความเห็นของเจ้าพนักงานซึ่งกฎหมายกำหนดให้มีอำนาจตามหน้าที่ที่เกี่ยวกับการนั้น เจ้าพนักงานซึ่งมีอำนาจสั่งให้ปล่อยชั่วคราว หรือศาลสามารถ รับฟังเพื่อประกอบการพิจารณาสั่งคำร้องด้วยได้
จากหลักเกณฑ์ในการวินิจฉัยคำร้องขอปล่อยชั่วคราวดังกล่าว จะเห็นได้ว่ามีหลักเกณฑ์ที่ต้องพิจารณาในเรื่องที่ว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยจะต้องไม่มีพฤติการณ์จะหลบหนี และไม่ไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานหรือไม่ก่อเหตุภยันอันตรายประการใด อีกทั้งสาเหตุหรือพฤติกรรมต่างๆแห่งคดี ประวัติการกระทำความผิดนิสัย ความประพฤติและข้อเท็จจริงอื่นที่เกี่ยวข้อง และความคิดเห็นของผู้เสียหาย หรือเจ้าพนักงานที่เกี่ยวข้องหากมีการปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลย ล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องที่ศาล พนักงานอัยการ หรือพนักงานสอบสวน จะต้องวินิจฉัยคำร้องขอปล่อยชั่วคราวตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาบัญญัติไว้ทั้งสิ้น
หากพิจารณาหลักเกณฑ์การพิจารณาให้ความช่วยเหลือผู้ต้องหาหรือจำเลยในการขอปล่อยชั่วคราวตามระเบียบคณะกรรมการกองทุนยุติธรรมว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ในการขอปล่อยชั่วคราว ผู้ต้องหาหรือจำเลย พ. ศ. 2559 ข้อ 10 และข้อ 11 เปรียบเทียบกับการวินิจฉัยคำร้องขอปล่อยชั่วคราวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 108 จะเห็นได้ว่า หลักเกณฑ์ในการพิจารณาให้ความช่วยเหลือหรือผู้ต้องหาหรือจำเลยในการขอปล่อยชั่วคราวตามระเบียบคณะกรรมการกองทุนยุติธรรม มีความซ้ำซ้อนกับหลักเกณฑ์ที่ศาล พนักงานอัยการ หรือพนักงานสอบสวน จะต้องวินิจฉัยคำร้องขอปล่อยชั่วคราวตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญากำหนดไว้ ซึ่งอาจเกิดปัญหาการใช้ดุลพินิจในการพิจารณาให้ความช่วยเหลือ กรณีการขอปล่อยชั่วคราวของคณะอนุกรรมการพิจารณาให้ความช่วยเหลือไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ที่มุ่งให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนตามวิสัยทัศน์และพันธกิจในการช่วยเหลือประชาชนที่ยากไร้และไม่ได้รับความเป็นธรรมให้เข้าถึงความยุติธรรมตามกฎหมาย เพื่อลดความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นในสังคมได้ หากเกิดกรณีที่พนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ หรือศาลวินิจฉัยแล้วอนุญาตปล่อยชั่วคราวโดยมีประกันและหลักประกัน แต่คณะอนุกรรมการพิจารณาแล้วไม่ให้ความช่วยเหลือหรือให้ความช่วยเหลือแต่ไม่เต็มจำนวน
ดังนั้นจะเห็นได้ว่า กฎหมายได้กำหนดให้คณะอนุกรรมการใช้ดุลพินิจในการพิจารณาการกระทำของผู้ต้องหาหรือจำเลยว่าสิ่งที่กระทำถูกหรือผิด เพื่อจะพิจารณาว่าจะช่วยเหลือหรือไม่ช่วย
เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาดังกล่าว และมีการดำเนินการเป็นไปตามวิสัยทัศน์และพันธกิจของกองทุนยุติธรรมควรที่จะกำหนดให้หน่วยงานต่างๆ ของกระบวนการยุติธรรมได้มีการปฏิบัติงานร่วมกันกับหน่วยงานของกองทุนยุติธรรมในการพิจารณากรณีการขอปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลย และให้ความช่วยเหลือผู้ต้องหาหรือจำเลยที่ยากไร้ในการประกันตัวเพื่อให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยได้มีโอกาสแสวงหาพยานหลักฐานมาต่อสู้คดี เพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนเองได้ โดยอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาวินิจฉัยคำร้องขอปล่อยชั่วคราวว่าสมควรที่จะอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวโดยมีประกันและหลักประกันหรือไม่ ควรเป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ หรือศาล แล้วแต่กรณี เป็นผู้มีอำนาจวินิจฉัย หากพนักงานสอบสวน พนักงานอัยการหรือศาล วินิจฉัยแล้วเห็นว่าสมควรอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว โดยมีประกันและหลักประกัน เช่นนี้คณะอนุกรรมการให้ความช่วยเหลือมีอำนาจหน้าที่เพียงพิจารณาในเรื่องฐานะของผู้ต้องหาหรือจำเลยที่ขอรับความช่วยเหลือว่าเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ระเบียบคณะกรรมการกองทุนยุติธรรมว่าด้วยหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขในการขอปล่อยชั่วคราว ผู้ต้องหาหรือจำเลย พ. ศ. 2559 กำหนดไว้ให้ความช่วยเหลือ โดยไม่ต้องไปพิจารณาเรื่องพฤติกรรมต่างๆ แห่งคดี ประวัติการกระทำความผิด นิสัย ความประพฤติ และข้อเท็จจริง ที่เกี่ยวข้องอีก เพราะจะไปซ้ำซ้อนกับการพิจารณาของพนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ หรือศาล