เรื่อง ข้อเสนอแนะต่อร่างแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (ลงวันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2562)
เราเขียนจดหมายฉบับนี้ถึงสำนักงานของท่านเพื่อนำเสนอข้อเสนอแนะเกี่ยวกับร่างแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (‘ร่าง NAP’) ฉบับลงวันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562 ซึ่งเปิดรับฟังความคิดเห็นระหว่างวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562 ถึงวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2562
เรารับทราบว่าประเทศไทยเป็นประเทศแรก ๆ ในภูมิภาคอาเซียนที่ได้ให้ความสนใจกับการร่าง NAP และยินดีอย่างยิ่งที่รัฐบาลไทยและกระทรวงยุติธรรมมีความพยายามและแสดงเจตจำนงค์ในการทำให้หลักปฏิบัติของสหประชาชาติว่าการดำเนินธุรกิจและสิทธิมนุษยชน (United Nations Guiding Principles on Business and Human Rights หรือ UNGPs) เป็นผลผ่านการร่าง NAP
อย่างไรก็ตาม เราขอเสนอข้อเสนอแนะดังต่อไปนี้โดยมุ่งหมายว่าข้อเสนอแนะดังกล่าวจะทำให้ NAP สมบูรณ์ยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในประเด็นเกี่ยวกับนักปกป้องสิทธิมนุษยชน (Human Rights Defenders หรือ HRDs) ซึ่งถูกระบุให้เป็นหนึ่งในประเด็นหลัก (Key Priority Area) ในร่าง NAP ทั้งนี้ เราปรารถนาให้ท่านให้ความสำคัญกับปัญหาการคุกคามนักปกป้องสิทธิมนุษยชนผ่านกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะบุคคลที่ถูกกล่าวหาเนื่องจากการดำเนินงานของพวกเขาที่ชอบด้วยกฎหมายและสำคัญยิ่งเพื่อส่งเสริมการตระหนักรู้และแสดงออกถึงความกังวลต่อปัญหาสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย ด้วยเหตุนี้ เราจึงเขียนจดหมายฉบับนี้เพื่อแสดงถึงข้อห่วงกังวลและข้อเสนอแนะต่อมาตรการทางกฎหมายที่มีอยู่เพื่อป้องกัน “การดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อระงับการมีส่วนร่วมของสาธารณชน” (Strategic Lawsuit Against Public Participation หรือ SLAPP)
ความเป็นมา
1 SLAPP คือการฟ้องร้องคดีโดยบุคคลหรือองค์กรที่ริเริ่มการดำเนินการทางกฎหมายเพื่อวัตถุประสงค์หลักในการจำกัดหรือขัดขวางการวิพากษ์วิจารณ์ในทางสาธารณะหรือต่อต้านบางกิจกรรม ซึ่งรวมถึงในประเด็นเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน คดี SLAPP ซึ่งดำเนินการกับนักปกป้องสิทธิมนุษยชนนั้นก่อให้เกิด “ภาวะชะงักงัน” (chilling effect) ในการใช้เสรีภาพในการแสดงออกและสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานอื่นๆที่ประเทศไทยผูกพันตามพันธกรณีทางกฎหมายระหว่างประเทศ อันได้แก่ กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights หรือ ICCRR) ซึ่งเป็นสนธิสัญญาทางด้านสิทธิมนุษยชนซึ่งประเทศไทยได้ให้สัตยาบัน และกำหนดให้ประเทศภาคีจะต้องประกันสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองต่างๆ รวมถึง เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออก รวมถึงสิทธิที่จะแสวงหา ได้รับ และถ่ายทอดข้อมูลข่าวสาร (ข้อ 19) เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ (ข้อ 21) และสิทธิที่จะมีส่วนร่วมในกิจการสาธารณะ (ข้อ 25)
2 สิทธิเหล่านี้เมื่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชนนำไปใช้ย่อมได้รับความคุ้มครองเป็นพิเศษตามมาตรฐานระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการคุ้มครองผ่านปฏิญญาว่าด้วยสิทธิและความรับผิดชอบของปัจเจกบุคคล กลุ่มบุคคล และองค์กรของสังคม ในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานซึ่งเป็นที่ยอมรับอย่างสากล (Declaration on the Right and Responsibility of individuals, groups and organs of society to promote and protect universally recognized human rights and fundamental freedoms ) (หรือที่เรียกว่าปฏิญญาว่าด้วยนักปกป้องสิทธิมนุษยชน หรือ Declaration on Human Rights Defenders) ซึ่งได้รับการรับรองโดยเสียงข้างมากของที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติเมื่อปีพ.ศ. 2542
3 ยิ่งไปกว่านั้นประเทศไทยยังมีพันธะกรณีในการประกันว่าบุคคลเหล่านี้จะได้รับการปกป้องจากการกระทำใดๆโดยบุคคลหรือองค์กรเอกชนใดๆที่ส่งผลเป็นการบั่นทอนสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออกตามที่ได้กล่าวถึงในข้างต้น[1] ภาระหน้าที่นี้ได้รับการรับรองภายใต้เสาที่หนึ่ง (1st Pillar) ที่เกี่ยวกับหน้าที่ในการปกป้อง (Protect) ของ UNGPs ซึ่งกำหนดบทบาทของธุรกิจโดยตรง
4 สิทธิในการแสดงออกโดยเสรี การชุมนุม และเสรีภาพในข้อมูลข่าวสาร ได้รับการรับรองโดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 (2017) เช่นกัน มาตรา 34 กล่าวถึงสิทธิ “เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น” มาตรา 36 ประกัน “เสรีภาพในการติดต่อสื่อสารถึงกันไม่ว่าทางใดๆ” มาตรา 41 ประกันว่า “บุคคลและชุมชนย่อมมีสิทธิ..(ในเรื่องต่าง ๆ รวมถึงการ)…เสนอเรื่องราวร้องทุกข์ต่อหน่วยงานของรัฐและได้รับแจ้งผลการพิจารณาโดยรวดเร็ว” และมาตรา 44 ประกันว่า “บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ”
5 ในบางสถานการณ์เท่านั้นที่รัฐจะสามารถจำกัดสิทธิในเสรีภาพในการแสดงออกได้ การจำกัดเช่นว่านั้นจำต้องเป็นไปตามบทบัญญัติใน ICCPR และตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และจำต้องเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด และเพื่อความจำเป็นในการคุ้มครองสิทธิหรือชื่อเสียงของผู้อื่น หรือเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ หรือความสงบเรียบร้อยของประชาชน (ordre public) หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อป้องกันสุขภาพของประชาชน นอกจากนี้ การจำกัดสิทธิเหล่านี้จำต้องผ่านหลักเกณฑ์สามประการโดยเคร่งครัด[2] กล่าวคือ (ก) ชอบด้วยกฎหมาย เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ ซึ่งกฎหมายจะต้องชัดเจนและทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูลนั้นได้[3] โดยเฉพาะอย่างยิ่งกฎหมายนั้นต้องเขียนด้วยข้อความที่ชัดเจนมากพอที่จะให้แต่ละบุคคลสามารถกำกับการกระทำของตนตามนั้นได้[4] (ข) ต้องสามารถพิสูจน์ได้ว่ากระทำไปด้วยความจำเป็นเพื่อคุ้มครองสิทธิหรือชื่อเสียงของบุคคลอื่น ความมั่นคงของชาติหรือความสงบเรียบร้อยของสาธารณะ การสาธารณะสุขหรือหลักศีลธรรมของประชาชน[5] และ (ค) สามารถพิสูจน์ได้ว่าเป็นมาตรการซึ่งจำกัดสิทธิน้อยที่สุดและได้สัดส่วนเพื่อบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้[6]
การคุกคามนักปกป้องสิทธิมนุษยชนผ่านกระบวนยุติธรรม
6 ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2560 คณะกรรมสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UN Human Rights Committee) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีอำนาจในการควบคุมดูแลการปฏิบัติตามพันธกรณีของ ICCPR ของรัฐภาคี เมื่อครั้งที่ทำการทบทวนรายงานตามรอบเกี่ยวกับการปฏิบัติตามพันธกรณีของประเทศไทยได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับ “การใช้กระบวนการยุติธรรมทางอาญา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดำเนินการเกี่ยวกับการหมิ่นประมาทในทางอาญาต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชน นักกิจกรรม ผู้สื่อข่าว และบุคคลอื่น ๆ” เนื่องจากการที่เขาหรือเธอใช้สิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานและแนะนำว่าประเทศไทย “ควรจะใช้วิธีการต่างๆที่จำเป็นเพื่อประกันว่าเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออกในรูปแบบต่างๆจะได้รับการคุ้มครองตามข้อ 19 ของกติกา”[7]
7 เช่นกัน ในระหว่างที่มีการเดินทางมาเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในเดือนเมษายน พ.ศ. 2561 คณะทำงานของสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชน (U.N. Working Group on Business and Human Rights) ก็ได้เรียกร้องให้รัฐบาลไทย “ประกันว่าคดีหมิ่นประมาทจะไม่ถูกภาคธุรกิจนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการลดทอนสิทธิและเสรีภาพอันชอบด้วยกฎหมายของผู้ทรงสิทธิผู้ได้รับผลกระทบ องค์กรภาคประชาสังคม และนักปกป้องสิทธิมนุษยชน” คณะทำงานได้เสนอให้มีการ “ออกกฎหมายต่อต้าน SLAPP เพื่อประกันว่านักปกป้องสิทธิมนุษยชนจะไม่ต้องรับโทษเพราะการดำเนินกิจกรรมของตน”[8]
8 ภายใต้กรอบกฎหมายของประเทศไทยเองก็มีรายงานว่ากฎหมายหมิ่นประมาทในทางอาญา (มาตรา 326 – 328 แห่งประมวลกฎหมายอาญาของประเทศไทย) มาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2558 มาตรา 116 แห่งประมวลกฎหมายอาญาประเทศไทยซึ่งบัญญัติเกี่ยวกับการกระทำที่ก่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน และพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 ได้ถูกนำไปใช้เพื่อคุกคามนักปกป้องสิทธิมนุษยชนเนื่องจากการหยิบยกข้อห่วงกังวลและข้อมูลเกี่ยวกับประเด็นทางด้านสิทธิมนุษยชนมาสู่ความสนใจของสาธารณะ[9]
9 เรารับทราบว่าร่าง NAP ได้กำหนดแผนกิจกรรมจำนวนมากเพื่อปกป้องนักปกป้องสิทธิมนุษยชนรวมถึงการ “ผลักดันการทบทวน แก้ไข และยกเลิกกฎหมาย ตลอดจนมาตรการ กลไก ที่เกี่ยวข้อง เพื่อเอื้ออำนวยให้มีการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน อาทิ กฎหมายคุ้มครองพยาน” “กำหนด หรือทบทวนนโยบาย กลไก กระบวนการ มาตรการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ซึ่งรวมถึงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนซึ่งเป็นผู้หญิง เพื่อให้ทำงานได้อย่างปลอดภัย และอบรมส่งเสริมให้หน่วยงานบังคับใช้กฎหมายปฏิบัติได้จริง” “จัดอบรมเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจในการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับการปกป้องสิทธิมนุษยชน เช่น การจัดการชุมนุม การแสดงออกทางด้านสิทธิมนุษยชน เป็นต้น” “การขอให้ภาคธุรกิจ… รับรองว่า (นักปกป้องสิทธิมนุษยชน) จะไม่ถูกฟ้องคดีเพียงเพราะเหตุจากการเรียกร้องสิทธิให้ผู้อื่น”[10] “ส่งเสริมระบบการไกล่เกลี่ยในทุกระดับชั้นของกระบวนการยุติธรรม”[11] และ “ให้ความช่วยเหลือในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมแก่ผู้เสียหายที่เป็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชน”[12]
10 อย่างไรก็ตาม เรายังคงกังวลว่ามาตรการป้องกันปัญหาที่นักปกป้องสิทธิมนุษยชนถูกคุกคามผ่านกระบวนการยุติธรรมนั้นยังไม่ได้ถูกบรรจุไว้ในร่าง NAP อย่างเพียงพอ ถึงแม้ว่าร่าง NAP จะเรียกร้องให้ภาคธุรกิจรับรองว่านักปกป้องสิทธิมนุษยชนจะไม่ถูกฟ้องคดีเพียงเพราะการปฏิบัติงานทางด้านสิทธิมนุษยชนอันชอบด้วยกฎหมาย แต่ในร่าง NAP ปัจจุบันกลับไม่ปรากฏวิธีปฏิบัติที่ชัดเจนเกี่ยวกับการป้องกันมิให้กฎหมายและกระบวนการยุติธรรมถูกใช้เพื่อคุกคามและจำกัดการทำงานของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ในร่าง NAP ฉบับก่อนหน้านี้ รวมถึงร่างฉบับลงวันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2561 ได้ระบุไว้ในแผนกิจกรรมให้มีการ “ผลักดันกฎหมาย Anti-SLAPP Law”[13] กิจกรรมนี้ถูกถอดถอนไปจากร่าง NAP ฉบับปัจจุบัน เนื่องจากศาลยุติธรรมได้ดำเนินการแก้ไขกฎหมายเพื่อป้องกันคดี SLAPP โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การแก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 161/1 และ 165/2[14] ร่าง NAP ยังได้อ้างอิงถึงการปรับใช้มาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติองค์การอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ. 2553 เป็นอีกมาตรการหนึ่งเพื่อป้องกันคดี SLAPPS[15]
11 เรากังวลว่ากฎหมายเหล่านี้จะยังไม่เพียงพอที่จะป้องกันการคุกคามนักปกป้องสิทธิมนุษยชนผ่านกระบวนการยุติธรรม ด้วยเหตุผลที่จะระบุด้านล่างนี้
มาตรา 161/1 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
12 มาตรา 161/1 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาได้ผ่านการพิจารณาโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และมีมติเห็นสมควรให้ประกาศใช้เป็นกฏหมายเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2561 ในคราวประชุมครั้งที่ 83/2561 เป็นพิเศษ กฎหมายดังกล่าวยังมิได้ถูกประกาศในราชกิจจานุเบกษา[16] โดยมาตรา 161/1 บัญญัติว่า
“ในกรณีที่ราษฎรเป็นโจทก์ หากความปรากฎต่อศาลเองหรือมีพยานหลักฐานที่ศาลเรียกมาว่าโจกท์ฟ้องคดีโดยไม่สุจริตหรือโดยบิดเบือนข้อเท็จจริง เพื่อกลั่นแกล้งหรือเอาเปรียบจำเลยหรือโดยมุ่งหวังผลอย่างอื่นยิ่งกว่าประโยชน์ที่พึ่งได้โดยชอบ ให้ศาลยกฟ้อง และห้ามมิให้โจทก์ยื่นฟ้องในเรื่องเดียวกันนั้นอีก
การฟ้องคดีโดยไม่สุจริตตามวรรคหนึ่งให้หมายความรวมถึงการที่โจทก์จงใจฝ่าฝืนคำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลในคดีอาญาอื่นซึ่งถึงที่สุดแล้วโดยปราศจากเหตุผลอันสมควรด้วย”
13 เหตุผลในการแก้ไขมาตรา 161/1 ได้ถูกระบุไว้ในบันทึกหลักการและเหตุผลประกอบร่างพระราชบัญญัติแก้ไขและเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาซึ่งเสนอโดยนายมหรรณพ เดชวิทักษ์ สมาชิกสนช.กับคณะ ซึ่งได้ระบุว่า “ปรากฏว่ามีการใช้สิทธิฟ้องร้องดำเนินคดีอาญาโดยไม่สุจริตหรือบิดเบือนข้อเท็จจริงเพื่อกลั่นแกล้งหรือเอาเปรียบจำเลยในหลายกรณี หรือฟ้องคดีโดยมุ่งหวังผลอย่างอื่นยิ่งกว่าประโยชน์ที่พึ่งได้ตามปกติธรรมดา เช่น การยื่นฟ้องต่อศาลในพื้นที่ห่างไกลเพื่อให้จำเลยได้รับความลำบากในการเดินทางไปต่อสู้คดี หรือการฟ้องจำเลยในข้อหาที่หนักกว่าความเป็นจริงเพื่อให้จำเลยต้องยอมกระทำหรือไม่กระทำการอันเป็นการมิชอบโดยเฉพาะการฟ้องเพื่อคุกคามการใช้สิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของจำเลยในการป้องกันตนเองหรือปกป้องประโยชน์สาธารณะหรือการฟ้องโดยผู้เสียหายไม่ยอมมาปรากฏตัวอันเป็นการสร้างความเดือดร้อนแก่ผู้ที่ถูกฟ้องร้องและบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้อง”[17] นอกจากนี้ ในอารัมภบทของร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาซึ่งสนช.ให้ความเห็นชอบเองก็ได้ระบุเหตุผลของการแก้ไขเพิ่มเติมคือเพื่อ “ป้องกันมิให้มีการฟ้องคดีอาญาโดยไม่สุจริตอันเป็นการล่วงละเมิดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น”[18] ทั้งนี้ จากการสนทนากับผู้พิพากษาหลายท่านเราเข้าใจว่ามาตรา 161/1 น่าจะนำมาใช้บังคับในพฤติการณ์ที่เป็นข้อยกเว้น
14 ในขณะที่เรายินดีอย่างยิ่งที่สนช.พยายามออกมาตรการคุ้มครองทางกฎหมายต่อ SLAPP เราประสงค์จะส่งผ่านข้อห่วงกังวลดังต่อไปนี้เพื่อให้เกิดการพิจารณาแก้ไข และเพื่อประกันว่ากลไกการป้องกัน SLAPP จะถูกนำไปใช้ในขอบเขตที่กว้างขึ้น
15 ประการแรก มาตรา 161/1 มิได้ให้คำจำกัดความที่ชัดเจนต่อคำว่า “ไม่สุจริต” และมิได้สะท้อนถึงวัตถุประสงค์ในการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายที่มุ่งหมายจะปกป้องคุ้มครองการใช้เสรีภาพขั้นพื้นฐานซึ่งได้รับการคุ้มครองภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและพันธกรณีตามกฎหมายระหว่างประเทศของประเทศไทยโดยชัดแจ้ง ทั้งนี้ เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่จะกำหนดขอบเขตคำนิยามของคำว่า “ไม่สุจริต” โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อให้ครอบคลุมถึงการห้ามมิให้มีการดำเนินคดีเพื่อคุกคามหรือข่มขู่บุคคลหรือองค์กรซึ่งใช้สิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน
16 ประการที่สอง เมื่อพิจารณาถึงเนื้อความที่ว่า “หากความปรากฎต่อศาลเอง” มาตรา 161/1 อาจถูกตีความในเชิงที่ไม่อนุญาตให้คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งยื่นหลักฐานเพื่อพิสูจน์เจตนาของตน โดยให้เป็นดุลพินิจของศาลในการตีความในเรื่องนี้ ในประเด็นนี้ เรามองว่าคู่ความทั้งสองควรมีสิทธิโดยชัดแจ้งในการยื่นพยานหลักฐานเพื่อสนับสนุนข้อกล่าวอ้างของตนต่อศาล และเพื่อเป็นแนวทางให้ศาลในการวินิจฉัยเรื่องดังกล่าว ยิ่งไปกว่านั้น แม้ว่าเราจะเห็นว่าสิทธิในการอุทธรณ์หรือการทบทวนคำวินิจฉัยของศาลสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับขั้นตอนนี้ได้ เรามองว่าสิทธิในการอุทธรณ์คำวินิจฉัยของศาลดังกล่าวควรถูกประกันไว้โดยชัดแจ้งภายใต้มาตรา 161/1 ให้เป็นคำสั่งที่สามารถถูกทบทวนได้โดยการอุทธรณ์
17 ประการที่สาม คดี SLAPP นั้นมิได้จำกัดแต่เพียงคดีอาญาซึ่งราษฎรเป็นโจทก์เท่านั้น (คดีที่ผู้ร้องทุกข์เป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลเอกชน) แต่สามารถเกิดกับคดีแพ่งหรือคดีอาญาซึ่งพนักงานอัยการเป็นโจทก์ได้ แต่มาตรา 161/1 นั้นสามารถนำมาปรับใช้ได้กับแค่คดีที่บุคคลทั่วไปเป็นผู้ร้องทุกข์ในคดีอาญาเท่านั้น ไม่รวมถึงคดีที่ฟ้องร้องโดยพนักงานอัยการ กรณีดังกล่าวต่อไปนี้แสดงให้เห็นว่า มาตรา 161/1 นั้นไม่เพียงพอที่จะยุติคดี SLAPP ได้เนื่องจากคดีเหล่านี้เป็นคดีแพ่งหรือคดีอาญาซึ่งฟ้องร้องโดยพนักงานอัยการ
18 ในปีพ.ศ. 2559 ได้มีการรายงานว่าบริษัท ทุ่งคำ จำกัด ซึ่งดำเนินกิจการเหมืองแร่ทองคำ ได้ดำเนินการฟ้องดำเนินคดีแพ่งและคดีอาญาอย่างน้อย 19 คดี ตลอดระยะเวลา 7 ปี ต่อสมาชิก 33 ราย ของกลุ่มนักปกป้องสิ่งแวดล้อมในชุมชนที่ชื่อว่ากลุ่มรักบ้านเกิดและชาวบ้านอื่นๆในจังหวัดเลย รวมถึงเด็กหญิงอายุ 15 ปี และเรียกร้องให้มีการชดใช้ค่าเสียหายเกือบ 320 ล้านบาท เนื่องจากการประกอบกิจกรรมเพื่อปกป้องสิทธิในทรัพยากรธรรมชาติในภูมิภาคของพวกเขา[19] ในเดือนมกราคมพ.ศ. 2561 พนักงานอัยการจังหวัดสงขลาได้ดำเนินคดีอาญาต่อบุคคล 16 คนที่ละเมิดต่อพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ จากการชุมนุมคัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินในอำเภอเทพา จังหวัดสงขลา[20] ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2561 บริษัทธรรมเกษตร จำกัด ได้ฟ้องร้องดำเนินคดีหมิ่นประมาททางอาญาและทางแพ่งต่อนายนาน วิน แรงงานข้ามชาติชาวเมียนมา และนางสาวสุธารี วรรณศิริ นักป้องกันสิทธิมนุษยชนและอดีตผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนขององค์กรพัฒนาเอกชนฟอร์ตี้ฟายไรต์ (Fortify Rights) การดำเนินคดีดังกล่าวนั้นสืบเนื่องมาจากหนังสั้น 107 วินาที ขององค์กรฟอร์ตี้ฟายไรต์ที่เรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ไทยยุติการดำเนินคดีหมิ่นประมาททางอาญาต่อคนงานข้ามชาติ 14 คงของบริษัทธรรมเกษตร ซึ่งประกอบกิจการฟาร์มไก่ และเรียกร้องให้กฎหมายหมิ่นประมาทในประเทศไทยไม่เป็นความผิดอาญา นายนาน วิน ปรากฏตัวในภาพยนตร์ดังกล่าวและนางสาวสุธารี วรรณสิริ ได้แชร์ข้อมูลเกี่ยวหนังสั้นดังกล่าวในสื่อสังคมออนไลน์ในฐานะตัวแทนขององค์กรฟอร์ตี้ฟายไรต์[21]
19 กรณีเหล่านี้แสดงให้เห็นว่ามาตรา 161/1 ไม่เพียงพอต่อการลดและป้องกันคดี SLAPP เนื่องจากกฎหมายดังกล่าวจะไม่สามารถถูกปรับใช้ได้กับกรณีส่วนใหญ่ข้างต้น ด้วยเหตุที่เป็นคดีอาญาที่ถูกฟ้องร้องดำเนินคดีโดยพนักงานอัยการ หรือเป็นคดีแพ่ง นอกจากนี้ กฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ โดยเฉพาะกฎหมายเกี่ยวกับการหมิ่นประมาททางอาญา ที่ถูกนำไปใช้อย่างไม่ถูกต้องเพื่อข่มขู่และคุกคามบุคคล ควรจะต้องถูกยกเลิกไปโดยเร็ว คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติได้อธิบายว่ากฎหมายหมิ่นประมาทจะต้องไม่ถูกนำมาใช้ในทางที่ขัดต่อเสรีภาพในการแสดงออกและข้อมูลข่าวสารซึ่งถูกประกันไว้ภายใต้ ICCPR การลงโทษทางอาญาแทนการชดเชยความเสียหายในทางแพ่งยังเป็นมาตรการที่ไม่ได้สัดส่วนในการป้องกันชื่อเสียงของบุคคลอื่น และในขณะที่การลงโทษทางแพ่งอาจเป็นมาตรการที่เหมาะสมและชอบด้วยกฎหมายเพื่อปกป้องชื่อเสียงของผู้อื่น การกำหนดโทษสำหรับความผิดดังกล่าวจะต้องได้สัดส่วนและกระทำเท่าที่จำเป็นเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์อันชอบธรรมตามกฎหมาย[22] ในทางกลับกัน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติได้กำหนดว่าความรับผิดในทางอาญาโดยทั่วไปนั้นไม่เหมาะสำหรับความผิดฐานหมิ่นประมาทและรัฐควรพิจารณายกเลิกความผิดฐานหมิ่นประมาทในทางอาญา อีกทั้ง การจำคุกก็มิได้เป็นรูปแบบการลงโทษที่ได้สัดส่วนหรือจำเป็นสำหรับความผิดฐานหมิ่นประมาท[23]
20 ประการสุดท้าย ความตามมาตรา 161/1 วรรคสอง อาจส่งผลเป็นการจำกัดสิทธิของบุคคลในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมและการได้รับการพิจารณาอย่างเป็นธรรม เนื่องจากห้ามมิให้ผู้ร้องทุกข์ที่จงใจและไม่มีเหตุอันสมควรฝ่าฝืนคำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลในคดีอื่นซึ่งถึงที่สุดฟ้องคดี สิทธิของบุคคลในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมหรือในการฟ้องร้องดำเนินคดีนั้นมิควรได้รับผลกระทบจากคำพิพากษาหรือคำสั่งในคดีอื่นซึ่งมิได้มีผลในทางกฎหมายหรือผลใดๆต่อคดีที่เขาหรือเธอต้องการฟ้องร้อง นอกจากนี้ ความในวรรคนี้ยังคลุมเครือและไม่ชัดเจนว่าคำว่า “เหตุผลอันสมควร” ซึ่งทำให้ผู้ร้องทุกข์ไม่สามารถฟ้องร้องดำเนินคดีได้มีเหตุเช่นใดบ้าง
มาตรา 165/2 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
21 มาตรา 165/2 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาได้ถูกประกาศในราชกิจจานุเบกษาและมีผลบังคับใช้แล้วเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562[24] โดยบัญญัติว่า
“ในการไต่สวนมูลฟ้อง จำเลยอาจแถลงให้ศาลทราบถึงข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายอันสำคัญที่ศาลควรสั่งว่าคดีไม่มีมูล และจะระบุในคำแถลงถึงตัวบุคคล เอกสาร หรือวัตถุที่จะสนับสนุนข้อเท็จจริงตามคำแถลงของจำเลยด้วยก็ได้ กรณีเช่นว่านี้ ศาลอาจเรียกบุคคล เอกสาร หรือวัตถุดังกล่าวมาเป็นพยานศาลเพื่อประกอบการวินิจฉัยสั่งคดีได้ตามที่จำเป็นและสมควร โดยโจทก์และจำเลยอาจถามพยานศาลได้เมื่อได้รับอนุญาตจากศาล”
22 เรายินดีอย่างยิ่งที่มีการตรามาตรา 165/2 ซึ่งส่งผลเป็นการปกป้องสิทธิในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมรวมถึงสิทธิของจำเลยในการยื่นและพิสูจน์พยานหลักฐานซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสิทธิในการได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรมในขั้นการไต่สวนมูลฟ้องซึ่งได้รับการประกันไว้ในข้อ 14 ของ ICCPR มาตรานี้จะเป็นเครื่องมือที่จะช่วยเหลือศาลในการพิจารณาว่าคดีหนึ่งๆนั้นไม่มีมูล อย่างไรก็ตาม บทบัญญัติในมาตรานี้นั้นยังไม่เพียงพอที่จะป้องกันบุคคลใดๆและนักปกป้องสิทธิมนุษยชนจากการถูกดำเนินคดี SLAPP ตามที่ถูกอ้างอิงโดยนัยในร่าง NAP
23 มาตรา 165/2 ถูกนำไปใช้แต่เฉพาะในคดีอาญาซึ่งยื่นฟ้องโดยผู้เสียหายที่เป็นราษฎร และไม่ใช้กับคดีแพ่ง อีกทั้งจะถูกใช้ในคดีอาญาที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์แต่เฉพาะเมื่อศาลพิจารณาเห็นสมควร จะเห็นว่า มาตรา 165/2 นั้นจะถูกนำไปใช้โดยเคร่งครัดในการไต่สวนมูลฟ้องคดีที่ยื่นฟ้องโดยผู้เสียหายที่เป็นบุคคลธรรมดาหรือองค์กรเอกชนเท่านั้น หากเป็นกรณีที่ยื่นฟ้องโดยพนักงานอัยการก็ไม่จำต้องมีการไต่สวนมูลฟ้องแต่อย่างใด[25]
มาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติองค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ. 2553
24 มาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติองค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ. 2553 บัญญัติว่า
“ถ้าพนักงานอัยการเห็นว่าการฟ้องคดีอาญาจะไม่เป็นประโยชน์แก่สาธารณชน หรือจะมีผลกระทบต่อความปลอดภัยหรือความมั่นคงของชาติ หรือต่อผลประโยชน์อันสำคัญของประเทศ ให้เสนอต่ออัยการสูงสุด และอัยการสูงสุดมีอำนาจสั่งไม่ฟ้องได้”
25 การฟ้องคดี SLAPP ต่อบุคคลธรรมดาซึ่งเพียงแค่ใช้สิทธิขั้นพื้นฐานของตนเองนั้นควรถูกจัดว่าเป็นกรณีที่ “ไม่มีมูล” และพนักงานอัยการควรมีคำสั่งไม่ฟ้องคดีในระยะแรกของการดำเนินคดี พนักงานอัยการนั้นควรใช้อำนาจทั่วไปของตนในการสั่งไม่ฟ้องคดีต่อศาลตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายไทยและพันธกรณีตามกฎหมายระหว่างประเทศของประเทศไทย ดังนั้น การที่พนักงานอัยการจะไม่สั่งฟ้องคดี SLAPP นั้นจึงไม่จำกัดเฉพาะตามบทบัญญัติในมาตรา 21 เสมอเท่านั้น
26 ยิ่งไปกว่านั้น เนื่องจากคดี SLAPP นั้น สร้างภาระแก่จำเลยทั้งในแง่ของการถูกคุกคามและความตึงเครียด นับตั้งแต่เมื่อเริ่มยื่นฟ้อง การที่พนักงานอัยการสั่งไม่ฟ้องหรือการปฏิเสธว่าคดีไม่มีมูลตั้งแต่เนิ่นๆจึงเป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างยิ่ง พนักงานอัยการและพนักงานสอบสวนจึงควรได้รับการสนับสนุนให้ใช้อำนาจที่ตนมีอยู่ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 140 ถึง 143 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาในการสั่งไม่ฟ้องคดีตั้งแต่เนิ่นๆเพื่อที่จะลดผลกระทบในทางลบจากการถูกดำเนินคดีที่มีลักษณะเป็น SLAPP ด้วยเหตุนี้ ร่าง NAP จึงควรจะระบุบทบาทอันสำคัญของพนักงานอัยการและพนักงานสอบสวนในการปกป้องสิทธิขั้นพื้นฐานของบุคคล โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีการคุกคามบุคคลผ่านกระบวนการยุติธรรมโดยใช้ SLAPP
กฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
27 ยิ่งไปกว่านั้น ควรจะมีการยกเลิกหรือแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายบางฉบับเพื่อประกันว่าการใช้สิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานนั้นจะไม่เป็นความผิดทางอาญาในประเทศไทย ได้แก่ การหมิ่นประมาทในทางอาญา (มาตรา 326-329 แห่งประมวลกฎหมายอาญาของประเทศไทย) มาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ มาตรา 116 แห่งประมวลกฎหมายอาญาประเทศไทย และพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ ซึ่งถูกนำไปใช้ในทางที่ลิดรอนสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออก ในการเข้าถึงข้อมูล และการชุมนุม[26] ประเด็นเหล่านี้ควรจะเป็นส่วนหนึ่งในร่าง NAP โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นส่วนหนึ่งในภายใต้แผนการดำเนินงานเพื่อ “ผลักดันการทบทวน แก้ไข และยกเลิกกฎหมาย ตลอดจนมาตรการ กลไก ที่เกี่ยวข้อง เพื่อเอื้ออำนวยให้มีการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน อาทิ กฎหมายคุ้มครองพยาน”[27]
ข้อเสนอแนะ
28 จากข้อห่วงกังวลข้างต้นนั้น เราขอแนะนำว่าร่าง NAP ควรเพิ่มแผนการดำเนินการที่ระบุถึงเจตจำนงค์อันชัดแจ้งและกิจกรรมที่เป็นรูปธรรมตามกฎหมายเพื่อปกป้องบุคคล โดยเฉพาะนักปกป้องสิทธิมนุษยชน จากการถูกคุกคามผ่านกระบวนการยุติธรรม รวมถึงโดยการฟ้องคดี SLAPP
29 เราขอเสนอให้ร่าง NAP ระบุแผนกิจกรรม ดังนี้
29.1 การพัฒนากฎหมายฉบับใหม่ที่คุ้มครองแรงงาน นักปกป้องสิทธิมนุษยชน และบุคคลอื่นๆ จากการถูกคุกคามผ่านกระบวนการยุติธรรม โดยการดำเนินคดี SLAPP ทั้งในการดำเนินคดีแพ่งและคดีอาญาและทั้งการฟ้องร้องคดีที่ดำเนินการโดยพนักงานอัยการและราษฎร กฎหมายดังกล่าวควรประกันสิทธิในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม สิทธิในการรับการพิจารณาอย่างเป็นธรรม ซึ่งรวมถึงการประกันว่าทั้งผู้เสียหายและจำเลยจะได้รับการพิจารณาคดีตามวิถีทางที่ถูกต้องแห่งกฎหมาย (due process) นอกจากนี้ กฎหมายดังกล่าวยังควรจะมีบทบัญญัติห้ามมิให้มีการคุกคามผ่านกระบวนการยุติธรรมโดยการดำเนินคดี SLAPP อย่างชัดแจ้ง ซึ่งถือเป็นการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานที่ได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และให้การเยียวยาบุคคลที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินคดี SLAPP เป็นการจำเพาะ [หรือ]
29.2 แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งและประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเพื่อให้มีกลไกที่จะยุติการดำเนินคดีทั้งทางแพ่งและทางอาญา ทั้งการฟ้องร้องคดีที่ดำเนินการโดยพนักงานอัยการและราษฎร ด้วยเหตุที่คดีเหล่านี้เป็นคดี SLAPP พร้อมกับกำหนดห้ามมิให้มีการคุกคามผ่านกระบวนการยุติธรรมเนื่องจากเป็นการละเมิดเสรีภาพขั้นพื้นฐานซึ่งได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและพันธกรณีสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ อีกทั้งให้การเยียวยาบุคคลที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินคดี SLAPP เป็นการจำเพาะ
30 ร่าง NAP ควรจะกำหนดโดยชัดแจ้งถึงหน้าที่ของพนักงานอัยการและพนักงานสอบสวนในการดำเนินการเชิงรุกเพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของบุคคล ในการป้องกันคดี SLAPP รวมทั้งยืนยันอำนาจในการสั่งไม่ฟ้องคดีในกรณีที่เป็นคดี SLAPP
31 เราขอเสนอว่ามาตรา 161/1 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาควรถูกนำมาใช้ในกรณีที่เป็นข้อยกเว้นเท่านั้น ตามหลักความจำเป็นและได้สัดส่วน และมีการให้ความกระจ่างถึงขอบเขตของบทบัญญัติที่ว่า “โดยไม่สุจริตหรือบิดเบือนข้อเท็จจริง เพื่อกลั่นแกล้งหรือเอาเปรียบจำเลย หรือโดยมุ่งหวังผลอย่างอื่นยิ่งกว่าประโยชน์ที่พึ่งได้โดยชอบ” ซึ่งมีความจำเป็นอย่างยิ่งเพื่อให้บุคคลสามารถกำกับการกระทำของตนตามนั้นได้ ยิ่งไปกว่านั้นมาตรา 161/1 ควรจะบัญญัติโดยชัดเจนว่ารวมถึงกรณีการปกป้องคุ้มครองเสรีภาพขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและพันธะกรณีว่าด้วยสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ เรายังคงมีความเห็นว่ามาตรา 161/1 นั้นไม่จำเป็นที่จะต้องนำมาใช้ในคดี SLAPP หากว่าได้มีการดำเนินการตามข้อเสนอแนะทั้งหลายที่ระบุไว้ข้างต้น และในความเป็นจริง กฎหมายดังกล่าวควรจะถูกนำมาใช้เพียงเพื่อกำจัดคดีที่ไม่สำคัญหรือรกโรงรกศาลเท่านั้น
32 เราขอเสนอว่ามาตรา 161/1 วรรคสอง ควรถูกยกเลิกหรือแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อปกป้องคุ้มครองและรับรองสิทธิของบุคคลที่จะเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมและการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม
33 เราขอเสนอให้มีการยกเลิกหรือแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายเพื่อประกันว่าประเทศไทยได้ปฏิบัติตามพันธกรณีทางกฎหมายระหว่างประเทศของตน รวมถึงการทำให้ความผิดฐานหมิ่นประมาทไม่เป็นโทษทางอาญา (มาตรา 326-328 แห่งประมวลกฎหมายอาญาของประเทศไทย) และแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 116 แห่งประมวลกฎหมายอาญาของประเทศไทยและบทบัญญัติตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 ซึ่งถูกนำไปใช้เพื่อจำกัดสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานในการแสดงออก การเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร และการชุมนุม
อ่านข้อมูลเพิ่มเติม Thailand: ICJ and HRLA express concern about inadequate protections for human rights defenders in draft National Action Plan on Business and Human Rights
[pdfjs-viewer url=”http%3A%2F%2Fnaksit.net%2Fwp-content%2Fuploads%2F2019%2F03%2FFinal_EN_SLAPP-Analysis.140319.ICJ-and-HRLA.pdf” viewer_width=100% viewer_height=1360px fullscreen=true download=true print=true]
[pdf-embedder url=”https://naksit.net/wp-content/uploads/2019/03/Thailand-SLAPP-Analysis-Advocacy-Analysis-brief-2019-THA.pdf”]
___________________________________________________________
[1] คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ, ความเห็นทั่วไปที่ 34, ข้อ19, เสรีภาพในการมีและแสดงความเห็น, 12 กันยายน 2554, CCPR/C/GC/34, ย่อหน้า 7 ดูได้ที่: https://bangkok.ohchr.org/programme/documents/general_comment_34_th.pdf
[2] เพิ่งอ้าง โดยเฉพาะย่อหน้า 21-36; คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนสหประชาชาติ, รายงานของผู้รายงานพิเศษด้านการส่งเสริมและคุ้มครองเสรีภาพด้านความเห็นและการแสดงออก, Frank La Rue, 4 มิถุนายน 2555, A/HRC/20/17, ย่อหน้า 64 และ 81, ดูได้ที่: http://www.refworld.org/docid/5008134b2.html
[3] รายงานของผู้รายงานพิเศษ, 2555
[4] ข้อคิดเห็นทั่วไปที่ 34, ย่อหน้า 5
[5] รายงานของผู้รายงานพิเศษ, 2555
[6] เพิ่งอ้าง
[7] คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ, ข้อสังเกตโดยสรุป, CCPR/C/THA/CO/2, 25 เมษายน 2559 ดูได้ที่: http://tbinternet.ohchr.org/_layouts/treatybodyexternal/Download.aspx?symbolno=CCPR%2fC%2fTHA%2fCO%2f2&Lang=en
[8] คณะทำงานแห่งสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชน, แถลงการณ์เมื่อจบการเยี่ยมประเทศไทยโดยคณะทำงานแห่งสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชน, 4 เมษายน 2561, ดูได้ที่: https://www.ohchr.org/en/NewsEvents/Pages/DisplayNews.aspx?NewsID=22915&LangID=E
[9] ICJ และ TLHR, คำแถลงร่วมโดยคณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากลและศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนซึ่งยื่นล่วงหน้าก่อนการพิจารณารายงานตามวาระฉบับที่สองของราชอาณาจักรไทยภายใต้มาตรา 40
ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง, 6 กุมภาพันธ์ 2560, ดูได้ที่ https://tbinternet.ohchr.org/Treaties/CCPR/Shared%20Documents/THA/INT_CCPR_CSS_THA_26602_E.pdf
[10] กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม, ร่าง NAP, 14 กุมภาพันธ์ 2562, หน้า 76 และ 78
[11] เพิ่งอ้าง หน้า 80
[12] เพิ่งอ้าง หน้า 82
[13] กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม, ร่าง NAP, 23 สิงหาคม 2561, หน้า 32
[14] กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม, ร่าง NAP, 14 กุมภาพันธ์ 2562, หน้า 72-73
[15] เพิ่งอ้าง หน้า 73
[16] ดูได้ที่ http://web.senate.go.th/bill/bk_data/429-3.pdf
[17] กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม, ร่าง NAP, 14 กุมภาพันธ์ 2562, หน้า 73; นายมหรรณพ เดชวิทักษ์ และพวก, หลักการและเหตุผลประกอบร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา, เสนอต่อประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ, 22 มิถุนายน 2560, ดูได้ที่: http://web.senate.go.th/bill/bk_data/429-1.pdf
[18] สนช., ร่างแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา, 11 ธันวาคม 2561, ดูได้ที่: http://web.senate.go.th/bill/bk_data/429-3.pdf
[19] Fortify Rights, Thailand: Stop Judicial Harassment of Human Rights Defenders (ภาษาอังกฤษ), 9 พฤษภาคม 2559, ดูได้ที่ https://www.fortifyrights.org/publication-20160510.html; ดูได้เช่นกันที่ ICJ และ TLHR, ข้อเสนอร่วมกันต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติก่อนการตรวจสอบของคณะกรรมการเกี่ยวกับรายงานครั้งที่ 2 ในราชอาณาจักรไทย ภายใต้ข้อ 40 แห่งกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง, ย่อหน้า 59, มีนาคม 2560, ดูได้ที่ https://www.icj.org/wp-content/uploads/2017/02/Thailand-ICCPR-Submission-ICJ-TLHR-Advocacy-Non-legal-submissions-2017-ENG.pdf
[20] Thai PBS, 16 coal-fired power plant protesters prosecuted (ภาษาอังกฤษ), 13 มกราคม 2561, ดูได้ที่: http://englishnews.thaipbs.or.th/16-coal-fired-power-plant-protesters-prosecuted/
[21] ICJ, ประเทศไทย: ประเทศไทย: ยุติการฟ้องคดีหมิ่นประมาทต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชน นาน วินและสุธารี วรรณสิริ, 3 ธันวาคม 2561, ดูได้ที่ https://www.icj.org/thailand-drop-defamation-complaints-against-human-rights-defenders-nan-win-and-sutharee-wannasiri/
[22] ความเห็นทั่วไป ข้อ 34, ย่อหน้า 47
[23] เพิ่งอ้าง
[24] ดูได้ที่ http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2562/A/020/T_0001.PDF
[25] มาตรา 162 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
[26] สำหรับบทวิเคราะห์เพิ่มเติม กรุณาดู ICJ และ TLHR, ข้อเสนอร่วมกันต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติก่อนการตรวจสอบของคณะกรรมการเกี่ยวกับรายงานครั้งที่ 2 ในราชอาณาจักรไทย ภายใต้ข้อ 40 แห่งกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง, ย่อหน้า 16-23, มีนาคม 2560, ดูได้ที่ https://www.icj.org/wp-content/uploads/2017/02/Thailand-ICCPR-Submission-ICJ-TLHR-Advocacy-Non-legal-submissions-2017-ENG.pdf
[27] กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม, ร่าง NAP, 14 กุมภาพันธ์ 2562, หน้า 76