สถานการณ์โควิด-19 แว่นขยายฉายภาพปัญหา “คนจนมักติดคุก” ที่เรื้อรังมานาน

สถานการณ์โควิด-19 แว่นขยายฉายภาพปัญหา “คนจนมักติดคุก” ที่เรื้อรังมานาน


สถานการณ์โควิด-19 แว่นขยายฉายภาพปัญหา “คนจนมักติดคุก” ที่เรื้อรังมานาน

ท่ามกลางสภาวะการระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ทั่วทั้งโลกต่างต้องออกมาตรการเพื่อยับยั้งการระบาดของโลก และปกป้องชีวิตและความปลอดภัยของประชาชนอย่างดีที่สุด ทางด้านประเทศไทย ได้มีการรณรงค์ให้ทุกคนร่วมมือกันเว้นระยะห่างทางสังคม หรือ Social Distancing อีกทั้งรัฐบาลได้ประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2563 ถึง 30 เมษายน 2563 โดยรายละเอียดของมาตรการยับยั้งโรคระบาดนั้นจะเป็นไปตามข้อกำหนดออกตามมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2 ซึ่งมีข้อกำหนดในการจำกัดพื้นที่ ปิดสถานที่เสี่ยง การห้ามกักตุนสินค้า ห้ามชุมนุมหรือการนำเสนอข่าวต่างๆ และล่าสุดมีคำสั่งห้ามออกจากเคหสถานตั้งแต่เวลา 22.00- 04.00 น. ยกเว้นผู้ที่มีความจำเป็นหรือผู้ที่ปฏิบัติงานในหน้าที่ที่ได้ระบุไว้ หรือถ้าหากในพื้นที่ใดมีมาตรการที่มากกว่านี้ ให้ปฏิบัติตามมาตรการในพื้นที่ดังกล่าว โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 3 เมษายน 2563 เป็นต้นไป

จากมาตรการทั้งหมดที่ได้นำมาใช้ ไม่ว่าจะเป็นการรณรงค์ให้เว้นระยะห่างทางสังคม หรือแม้กระทั่งมาตรการทางกฎหมายล้วนแล้วแต่มีจุดประสงค์ให้เกิดการตัดตอนการระบาดของโรคจากการที่ประชาชนพบปะกันน้อยลง ซึ่งมาตรการเหล่านี้ย่อมส่งผลต่อวิถีชีวิตของประชาชนทั่วไป ทั้งในด้านการใช้ชีวิตประจำวัน และในด้านการทำงาน ไม่ว่าจะทำงานอาชีพอะไร ในภาวะเช่นนั้นย่อมได้รับผลกระทบด้วยกันทั้งนั้น สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) ได้รับเสียงสะท้อนจากสมาชิกซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักกฎหมายหรือทนายความ ในเรื่องผลกระทบในการปฏิบัติหน้าที่ท่ามกลางสถานการณ์เช่นนี้ที่ทุกอย่างแทบจะหยุดนิ่ง ไม่เว้นแม้แต่กระบวนการยุติธรรม ซึ่งยังมีผู้ที่รอคอยความยุติธรรมหรือจุดสิ้นสุดของคดีมากมายที่การพิจารณาคดีต้องถูกเลื่อนไป เนื่องจากความจำเป็นในสถานการณ์นี้ มากไปกว่านั้นยังมีเสียงสะท้อนเรื่องปัญหาคนล้นคุก เป็นความเสี่ยงต่อการระบาดของไวรัสโควิด-19 เนื่องจากในเรือนจำมีความแออัดสูงมาก

นายไสลเกษ วัฒนพันธุ์ ประธานศาลฎีกาได้เสนอคำแนะนำของประธานศาลฎีกาเกี่ยวกับแนวปฏิบัติในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Coronavirus Disease : COVID-19) โดยปัจจุบันมีทั้งหมด 3 ฉบับ เป็นการออกคำแนะนำเกี่ยวกับการจัดการระบบกระบวนการยุติธรรมในแง่ต่างๆ และเพื่อรักษาความปลอดภัยของประชาชนและการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมท่ามกลางสถานการณ์โรคระบาดนี้ ทั้งในแง่การส่งเสริมระบบการยื่นเอกสารทางระบบรับส่งอิเล็กทรอนิกส์ (e-filling) เพื่อลดความแออัดในกรณีที่ต้องเดินทางมาศาล รวมไปถึงการลดการแออัดในเรือนจำ ลดความเสี่ยงต่อการระบาดของโรค ในประเด็นเรื่องการปล่อยตัวชั่วคราวอีกด้วย

คำแนะนำประธานศาลฎีกา “ปล่อยตัวชั่วคราว” ลดความแออัดของเรือนจำ

เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2563 ประธานศาลฎีกาได้เสนอคำแนะนำของประธานศาลฎีกาเกี่ยวกับแนวปฏิบัติในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Coronavirus Disease : COVID-19) ฉบับที่ 3 ความว่า การปล่อยตัวชั่วคราว ให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของประธานศาลฎีกา ว่าด้วยการขยายโอกาสในการเข้าถึงสิทธิที่จะได้รับการปล่อยชั่วคราว พ.ศ. 2562 (https://jla.coj.go.th/th/content/category/detail/id/10/cid/21/iid/175384) โดยให้เน้น “การปล่อยตัวชั่วคราวโดยไม่มีหลักประกัน หรือมีประกัน โดยไม่ต้องมีหลักประกัน” ให้มากขึ้น และในแง่ของการลดความแออัดในเรือนจำ กรณีที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่เคยถูกคุมขังมาก่อน หรือจำเลยที่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวมาก่อน หรือจำเลยซึ่งได้รับคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี แม้ยังไม่มีการยื่นอุทธรณ์หรือฎีกา ศาลอาจอนุญาตพิจารณาให้ปล่อยตัวชั่วคราวโดยกำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับที่อยู่ของจำเลยหรือเงื่อนไขอื่นใด เช่น การใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในการติดตามตัว หรืออาจแต่งตั้งผู้กำกับดูแลจำเลย (http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2563/E/078/T_0037.PDF)

ปัญหาการปล่อยตัวชั่วคราวที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข สู่ปัญหาคนล้นคุกที่เรื้อรัง

สิทธิที่จะได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวนั้นถือได้ว่าเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานสำคัญประการหนึ่งในบรรดาสิทธิในกระบวนการยุติธรรม ภายใต้หลักการสันนิษฐานว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด จนกว่าจะมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าเป็นผู้กระทำความผิด ซึ่งเป็นหลักการที่บัญญัติไว้โดยชัดแจ้งในมาตรา 29 วรรคสองของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 และบัญญัติไว้ในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights) ข้อ 11 ซึ่งกำหนดว่า บุคคลทุกคนที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดทางอาญา มีสิทธิที่จะได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์จนกว่าจะพิสูจน์ได้ว่ามีความผิดตามกฎหมายในการพิจารณาคดีที่เปิดเผย ซึ่งตนได้รับหลักประกันที่จำเป็นทั้งปวงสำหรับการต่อสู้คดี อีกทั้งในมาตรา 29 วรรคสาม และวรรคท้าย ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 บัญญัติว่า “การควบคุมหรือคุมขังผู้ต้องหาหรือจําเลยให้กระทําได้เพียงเท่าที่จําเป็น เพื่อป้องกันมิให้มีการหลบหนี” และ “คําขอประกันผู้ต้องหาหรือจําเลยในคดีอาญาต้องได้รับการพิจารณาและจะเรียกหลักประกันจนเกินควรแก่กรณีมิได้ การไม่ให้ประกันต้องเป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ” ตามลำดับ

นอกจากนี้ ข้อบังคับประธานศาลฎีกา รวมถึงระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรมว่าด้วยการปล่อยชั่วคราว โดยเฉพาะข้อบังคับของประธานศาลฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขเกี่ยวกับการเรียกประกันหรือหลักประกันในการปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญา พ.ศ.2548 ข้อ 4 วรรคสอง กำหนดว่า “ในการพิจารณาว่าการปล่อยชั่วคราวควรจะมีประกันหรือไม่ต้องมีประกัน ให้ศาลพิจารณาถึงความร้ายแรงแห่งข้อหา สาเหตุและพฤติการณ์การกระทำความผิด รวมทั้งบุคลิกลักษณะ นิสัย สภาพทางร่างกายและจิตใจ การศึกษา การประกอบอาชีพการงาน ประวัติการกระทำความผิดอาญา สภาพและฐานะของครอบครัว และความสัมพันธ์กับบุคคลอื่นในสังคมของผู้ต้องหาหรือจำเลย”

แม้จะมีกฎหมายบัญญัติรับรองสิทธิและสนับสนุนให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยเข้าถึงสิทธิที่จะได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวเป็นหลัก และไม่ให้มีการกำหนดหลักประกันที่สูงเกินกว่าเหตุ เพื่อที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะสามารถต่อสู้คดีพิสูจน์ความยุติธรรมได้อย่างเต็มที่นั้น แต่อุปสรรคหนึ่งในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมคือ ฐานะทางการเงินหรือความสามารถในการหาหลักประกันมาวางต่อศาลของผู้ต้องหาหรือจำเลย ในทางปฏิบัติพบว่าส่วนใหญ่ศาลมักใช้ดุลยพินิจสั่งให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยวางหลักประกันต่อศาล และพบว่าศาลมักนำอัตราโทษมาพิจารณาประกอบการปล่อยชั่วคราว โดยไม่ได้พิจารณาถึงสภาพและฐานะของครอบครัว และเมื่ออัตราโทษสูง การกำหนดหลักประกันก็จะสูงตามไปด้วย เนื่องจากศาลมีความเกรงกลัวว่าจำเลยจะหลบหนี ทั้งที่มาตร 108/1 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มิได้บัญญัติให้นำอัตราโทษมาพิจารณาในการสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวได้

เมื่อมีเงื่อนไขเรื่องจำนวนหลักประกันเข้ามามีส่วนในการแลกเปลี่ยนกับการเข้าถึงสิทธิในการปล่อยตัวชั่วคราว ทำให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นจำนวนมากที่ไม่มีความสามารถที่จะหาหลักประกันมาวางต่อศาลได้ ทำให้ต้องนำอิสรภาพไปประกันแทน โดยการต้องถูกจำคุก ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เรือนจำมีความแออัด และคนล้นคุกมาจนถึงปัจจุบัน และยิ่งเป็นการตอกย้ำถึงวาทกรรม “คนจนมักติดคุก” ด้วย

กองทุนยุติธรรม เครื่องมือสำคัญในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมอย่างเสมอภาค เท่าเทียมกัน

กองทุนยุติธรรม จัดตั้งขึ้นโดยมีเจตนารมณ์เพื่อลดช่องว่าง ลดความเหลื่อมล้ำ ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้อย่างเท่าเทียมเสมอภาคกัน โดยให้การช่วยเหลือประชาชนในการดำเนินคดี, การขอปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลย, ช่วยเหลือผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือผู้ได้รับผลกระทบจากการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน และการให้ความรู้ทางกฎหมายแก่ประชาชน สิ่งเหล่านี้ถูกระบุไว้ในพระราชบัญญัติกองทุนยุติธรรม พ.ศ. 2558

เพื่อการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้อย่างเท่าเทียมเสมอภาคกัน สิทธิที่จะได้รับการปล่อยชั่วคราวจึงเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานในกระบวนการยุติธรรม และสัมพันธ์กับสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรมประการอื่น โดยเฉพาะสิทธิที่จะสามารถต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่ เพราะเมื่อผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่ได้รับสิทธิที่จะได้รับการปล่อยชั่วคราว ก็ย่อมทำให้การแสวงหาพยานหลักฐานเพื่อมาต่อสู้คดีของตนเป็นไปได้ยาก ตลอดจนถึงเกี่ยวพันกับสิทธิที่จะได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์อีกด้วย ซึ่งในพระราชบัญญัติกองทุนยุติธรรม พ.ศ. 2558 มาตรา 29 ได้บัญญัติว่า “การพิจารณาให้ความช่วยเหลือในการขอปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลย ให้คำนึงถึงว่าหากได้รับการปล่อยชั่วคราวแล้ว ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะหลบหนี จะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือจะไปก่อเหตุภยันตรายประการใดหรือไม่” ประกอบกับสิทธิในการได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวที่รัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุดได้ให้รับรองสิทธิไว้ การปล่อยตัวชั่วคราวควรเป็นตัวเลือกหลักของศาล หากไม่สุ่มเสี่ยงต่อการหลบหนีหรือยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน และกองทุนยุติธรรมก็ย่อมเป็นความหวังในการสนับสนุนการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้อย่างเท่าเทียม โดยไม่มีฐานะทางการเงินเข้ามาเป็นอุปสรรคได้ทางหนึ่ง

ระเบียบคณะกรรมการกองทุนยุติธรรมฯ โจทย์ท้าทายในการเข้าถึงสิทธิที่จะได้รับการปล่อยชั่วคราว

จากการบังคับใช้พระราชบัญญัติกองทุนยุติธรรม พ.ศ. 2558 การเข้าถึงกองทุนยุติธรรม
ในการขอปล่อยชั่วคราว ยังมีประชาชนที่ไม่สามารถขอรับเงินจากกองทุนยุติธรรมอันเนื่องมาจากระเบียบคณะกรรมการกองทุนยุติธรรม ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขอปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลย พ.ศ. 2559 ซึ่งออกตามพระราชบัญญัติกองทุนยุติธรรม พ.ศ.2558
ข้อ 10 บัญญัติไว้ว่า การพิจารณาให้ความช่วยเหลือคณะอนุกรรมการต้องคำนึงถึงหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้
(1) ผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีพฤติการณ์จะหลบหนี
(2) ไม่ไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือไม่ไปก่อเหตุภยันตรายประการใด
ข้อ 11 บัญญัติว่า “การพิจารณาตามข้อ 10 ควรคำนึงถึงหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
(1) ลักษณะการกระทำความผิดที่ไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือความมั่นคงของประเทศ หรือการกระทำที่มีผลกระทบต่อประชาชนที่ทำให้ประชาชนได้รับความเสียหายหรือความเชื่อมั่นของกระบวนการยุติธรรม

ที่ผ่านมาปรากฎว่ามีคำสั่งไม่อนุมัติการให้เงินช่วยเหลือ โดยให้เหตุผลว่า “เป็นการกระทำที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อย ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์และหลักเกณฑ์ของ พ.ร.บ.กองทุนยุติธรรม พ ศ 2558 มาตรา 26 และ 29 และระเบียบคณะกรรมการกองทุนยุติธรรม ว่าด้วยหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขในการขอปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลย พ ศ 2559 ข้อ 11 จึงมีมติไม่อนุมัติเงินกองทุนยุติธรรม” การใช้ดุลพินิจของคณะอนุกรรมการที่ตัดสินว่า การกระทำของผู้ขอรับความช่วยเหลือ ขัดต่อความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือความมั่นคงของประเทศ หรือการกระทำที่มีผลกระทบต่อประชาชนที่ทำให้ประชาชนได้รับความเสียหายหรือความเชื่อมั่นของกระบวนการยุติธรรม เป็นการใช้ดุลพินิจของคณะอนุกรรมการที่ตัดสินไปก่อนว่าผู้ต้องหากระทำความผิดจริงก่อนที่เขาจะมีโอกาสเข้าพิสูจน์ความบริสุทธิ์ในการพิจารณาคดีของศาล

ทั้งนี้สิทธิในกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะสิทธิที่จะได้รับการปล่อยชั่วคราวระหว่างการดำเนินคดี และสิทธิที่จะได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่ากระทำความผิดเป็นสิทธิที่ถูกรับรองภายใต้กรอบของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 และปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights) ข้อ 11 อีกด้วย ดังนั้นการใช้ดุลพินิจของคณะอนุกรรมการที่ไม่อนุมัติให้เงินช่วยเหลือโดยอาศัยเหตุตามระเบียบคณะกรรมการกองทุนยุติธรรม ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขอปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลย พ.ศ. 2559 ข้อ 11 ดังกล่าวข้างต้น จึงเข้าข่ายขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 และปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ที่ประเทศไทยพึงปฏิบัติตามอีกด้วย

ในสถานการณ์การระบาดไวรัสโควิด-19 ที่เกิดขึ้นนี้นอกจากเป็นตัวเร่งหนึ่งที่ทำให้หน่วยงานหลายภาคส่วนต้องยอมเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงทั้งทางระบบและวิธีการทำงาน มากไปกว่านั้นยังทำให้เห็นประเด็นปัญหามากมายที่เกิดขึ้นภายในประเทศ และมากไปกว่านั้น ปัญหาที่เกิดขึ้นกับกระบวนการยุติธรรมที่ยึดโยงกับสภาพปัญหาทางสังคมหลายส่วนภายในประเทศก็ยิ่งเผยชัดขึ้นในวันนี้ อย่างเช่น ปัญหาเรื่องเรือนจำแออัด คนล้นคุกเสี่ยงต่อการระบาดของโลก ทำให้เห็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับระบบการปล่อยตัวชั่วคราว และการเข้าถึงกองทุนยุติธรรมที่เรื้อรังมานาน สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าเราจะผ่านวิกฤติโรคระบาดนี้ ไปพร้อมกับการปรับตัวเพื่อเปลี่ยนแปลง แก้ไขปัญหาที่เรื้อรังมานานอย่างปัญหาในเรื่องการปล่อยชั่วคราว และกองทุนยุติธรรม อีกทั้งคณะอนุกรรมการกองทุนยุติธรรม หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะใช้ดุลพินิจในการพิจารณาให้เงินช่วยเหลือโดยยึดหลักเคารพสิทธิตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เคารพต่อหลักสิทธิมนุษยชน และเป็นองค์กรหลักในการช่วยเหลือประชาชนให้สามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้อย่างเสมอภาคเท่าเทียมกันต่อไป