ในภาวะที่ทุกประเทศทั่วโลกเผชิญกับเกิดโรคระบาดไวรัสโควิด-19 ซึ่งสร้างผลกระทบต่อประชาชนในทุกๆ ด้าน โดยเฉพาะด้านความปลอดภัยเกี่ยวกับสุขภาพร่างกายและด้านเศรษฐกิจ ทำให้ประชาชนต่างออกมาแสดงความคิดเห็นและเรียกร้องหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขสถานการณ์
กรณีหนึ่งคือกรณีดนัย อุศมา โพสต์ข้อความแสดงความคิดเห็นบน Facebook ในเชิงการตรวจสอบการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยระบุว่า “ตนเดินทางจากบาเซโลน่า ที่สนามบินบาเซโลน่า ตนและคนอื่นๆถูกตรวจร่างกายอย่างเข้มงวดก่อนจะขึ้นเครื่อง มาต่อเครื่องที่อาบูดาบี ต้องเดินผ่าน 3 ขั้นตอนในการตรวจร่างกายก่อนขึ้นเครื่อง จนบินมาถึงสนามบินสุวรรณภูมิไม่ได้รับการตรวจสุขภาพใดๆ” และถูกเข้าจับกุมเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2563 ในข้อหา “นำเข้าข้อมูลคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน” ซึ่งเป็นการถูกจับกุมในระหว่างที่นายดนัยกำลังกักกันตัวเองตามนโยบายของภาครัฐที่ให้กักตัว 14 วันหลังจากกลับจากประเทศกลุ่มเสี่ยง และเป็นการจับโดยที่ไม่มีการออกหมายเรียกมาก่อน
(อ้างอิงข้อมูลจาก https://www.tlhr2014.com/?p=16625&fbclid=IwAR3HUAOeHgRLLARUxXWG38W1zDqwsI5_VUn_YSekncMYu2ugKpT3gvVKaDM)
กฎหมายได้เปิดโอกาสให้ศาลใช้ดุลพินิจในการออกหมายจับ
การจับถือเป็นมาตรการบังคับในกฎหมายอาญา เพื่อรวบรวมพยานหลักฐานในชั้นสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยหลักการจับ จะกระทำได้ก็ต่อเมื่อมีหมายจับ หากจะจับโดยไม่มีหมายต้องมีเหตุเฉพาะที่กฎหมายกำหนดเท่านั้น
เหตุแห่งการออกหมายจับ ตามมาตรา 66 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา บัญญัติว่า “เหตุที่จะออกหมายจับได้มีดังต่อไปนี้
(1) เมื่อมีหลักฐานตามสมควรว่าบุคคลใดน่าจะได้กระทำความผิดอาญาซึ่งมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินสามปี หรือ
(2) เมื่อมีหลักฐานตามสมควรว่าบุคคลใดน่าจะได้กระทำความผิดอาญาและมีเหตุอันควรเชื่อว่าจะหลบหนี หรือจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือก่อเหตุอันตรายประการอื่น
ถ้าบุคคลนั้นไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง หรือไม่มาตามหมายเรียกหรือตามนัดโดยไม่มีข้อแก้ตัวอันควร ให้สันนิษฐานว่าบุคคลนั้นจะหลบหนี”
กรณีที่จับได้โดยไม่ต้องมีหมายจับ ตามมาตรา 78 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาบัญญัติว่า “พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจจะจับผู้ใดโดยไม่มีหมายจับหรือคำสั่งของศาลนั้นไม่ได้ เว้นแต่
(1) เมื่อบุคคลนั้นได้กระทำความผิดซึ่งหน้าดังได้บัญญัติไว้ในมาตรา 80
(2) เมื่อพบบุคคลโดยมีพฤติการณ์อันควรสงสัยว่าผู้นั้นน่าจะก่อเหตุร้ายให้เกิดภยันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่นโดยมีเครื่องมือ อาวุธ หรือวัตถุอย่างอื่นอันสามารถอาจใช้ในการกระทำความผิด
(3) เมื่อมีเหตุที่จะออกหมายจับบุคคลนั้นตามมาตรา 66 (2) แต่มีความจำเป็นเร่งด่วนที่ไม่อาจขอให้ศาลออกหมายจับบุคคลนั้นได้
(4) เป็นการจับผู้ต้องหาหรือจำเลยที่หนีหรือจะหลบหนีในระหว่างถูกปล่อยชั่วคราวตามมาตรา 117”
การจับถือเป็นมาตรการบังคับในกฎหมายอาญา เพื่อรวบรวมพยานหลักฐานในชั้นสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยหลักการจับ จะกระทำได้ก็ต่อเมื่อมีหมายจับ หากจะจับโดยไม่มีหมายต้องมีเหตุเฉพาะที่กฎหมายกำหนดเท่านั้น
จากกรณีการจับกุมตัวดนัย อุศมา ทำให้เกิดการตั้งข้อสังเกตุต่อมาตรการควบคุมโรคระบาดของหน่วยงานรัฐ รวมไปถึงกระบวนการยุติธรรม ดังต่อไปนี้
ประการแรก การจับกุมตัวดนัยเป็นการจับกุมตัวในระหว่างที่บุคคลนั้นได้กักตัว ตามนโยบายที่ภาครัฐระบุไว้ จึงไม่มีลักษณะของการจะหลบหนี ไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือก่อเหตุอันตรายประการอื่น อีกทั้งบุคคลดังกล่าวยังมีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง และไม่ปรากฎว่ามีการออกหมายเรียกหรือหมายนัดให้เข้าพบเจ้าพนักงานตำรวจก่อนหน้า การออกหมายจับในทันทีโดยที่ไม่มีหมายเรียก หรือบุคคลดังกล่าวไม่มีพฤติการณ์ที่สุ่มเสี่ยงตามที่กฎหมายระบุ เป็นที่น่าสังเกตุว่าเป็นการที่จะเอาตัวบุคคลไว้ในอำนาจรัฐโดยปราศจากเหตุอันสมควร และเป็นการใช้ดุลพินิจขัดต่อหลักการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์ จนกว่าจะได้รับคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่ามีความผิด ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 29 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 จึงอาจจะเป็นการเข้าข่ายการใช้อำนาจรัฐที่กระทบต่อสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของบุคคล และขัดต่อสิทธิ เสรีภาพ ที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยได้รับรองไว้หรือไม่อย่างไร
ประการที่สอง การแสดงความคิดเห็นของดนัย อุศมาข้างต้นนั้น ถือเป็นการแสดงความคิดเห็นตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏ ซึ่งเป็นสิทธิอันชอบธรรมในสังคมประชาธิปไตยที่พึงกระทำได้ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 34 ที่กำหนดว่า “บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียนการพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น” และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights : ICCPR) ข้อ 19 ระบุว่า “บุคคลทุกคนมีสิทธิที่จะมีความคิดเห็นโดยปราศจากการแทรกแซง และบุคคลทุกคนมีสิทธิในเสรีภาพแห่งการแสดงออก สิทธินี้รวมถึงเสรีภาพที่จะแสวงหา รับและเผยแพร่ข้อมูล ข่าวสารและความคิดทุกประเภท โดยไม่คำนึงถึงพรมแดน ทั้งนี้ไม่ว่าด้วยวาจาเป็นลายลักษณ์อักษรหรือการตีพิมพ์ในรูปของศิลปะ หรือโดยอาศัยสื่อประการอื่นตามที่ตนเลือก”
ประการที่สาม การที่ผู้เกี่ยวข้องใช้การดำเนินคดีต่อนายดนัย อุศมา แทนที่จะเลือกใช้วิธีการชี้แจงข้อมูลให้สาธารณะชนได้รับทราบนั้น เข้าข่ายเป็นการดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อปิดกั้นการมีส่วนร่วมสาธารณะ (SLAPPs) หรือการฟ้องคดีปิดปากเพื่อคุกคามต่อเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการตรวจสอบการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะส่งผลเสียต่อการปรับปรุงมาตรการที่จะใช้ปกป้องคุ้มครองประชาชนไทยให้ปลอดภัยจากสภาวะการณ์ของโรคระบาดนี้
ทั้งนี้ รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในฐานะผู้มีอำนาจหน้าที่ในการดูแลการบังคับใช้กฎหมายและการรักษาความสงบเรียบร้อยของสังคมจะต้องพึงตระหนักว่าการแก้ไขสถานการณ์โดยกำหนดมาตรการที่ เปิดเผยข้อมูลเพื่อให้สาธารณชนได้รับทราบและประเมินได้ถูกต้องว่าแต่ละคนมีความเสี่ยงเข้าใกล้ผู้ติดเชื้อมากน้อยระดับใด จึงจะมีผลทำให้ผ่านวิกฤตการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ออกไปได้