ต่ออายุพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ คุ้มไหม? ความสมดุลของการใช้อำนาจในสถานการณ์โควิด19

ต่ออายุพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ คุ้มไหม? ความสมดุลของการใช้อำนาจในสถานการณ์โควิด19

ประชาชนทั่วโลก รวมถึงประชาชนชาวไทยต้องใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางสถานการณ์ไวรัสโควิด19 ระบาดมาระยะเวลาหนึ่งแล้ว โดยในประเทศไทย ได้ประกาศให้สถานการณ์ดังกล่าวเป็นสถานการณ์ฉุกเฉิน และประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาเป็นระยะเวลากว่า 2 เดือนแล้ว จากเดิมทีการประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จะต้องสิ้นสุดลงในวันที่ 31 พฤษภาคม 2563 แต่ได้มีการพิจารณาต่ออายุการบังคับใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไปอีก 2 ครั้ง กระทั่งในปัจจุบัน การบังคับใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จะไปสิ้นสุดในวันที่ 30 มิถุนายน 2563 การต่ออายุพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในภาวะที่ประเทศไทยมีจำนวนผู้ติดเชื้อน้อยลง หรือในบางวันไม่มียอดผู้ติดเชื้อเลย และประชาชนต่างเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจ และการใช้ชีวิตในแง่มุมที่แตกต่างกันไป จึงเกิดการตั้งคำถามว่า “ต่ออายุพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ คุ้มไหม?” ในภาวะที่สิทธิเสรีภาพของประชาชนต้องถูกจำกัดลง มันคุ้มค่า หรือมากเกินความจำเป็น?

 

การใช้กฎหมายในสถานการณ์พิเศษจำกัดสิทธิเสรีภาพประชาชนต้องเป็นการใช้อำนาจเพียงชั่วคราว

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ภูมิ มูลศิลป์ อาจารย์คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ กล่าวถึงภาวะที่ประชาชนมีความจำเป็นที่จะต้องถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพไว้ว่า “สิทธิเสรีภาพของประชาชนจะถูกแบ่งออกเป็น 2 สถานการณ์คือ ในภาวะปกติกับในภาวะที่มีสถานการณ์พิเศษเกิดขึ้น ถ้าเราอยู่ในภาวะปกติ ประชาชนสามารถใช้สิทธิเสรีภาได้อย่างเต็มที่ตามขอบเขตที่กฎหมายกำหนดไว้ แต่หากอยู่ในสถานการณ์พิเศษหรือฉุกเฉิน เช่น มีจลาจล ภัยสงคราม หรือมีการแพร่ระบาดของโรคเกิดขึ้น สิทธิเสรีภาพของประชาชนก็จะถูกจำกัดมากยิ่งขึ้น เนื่องจากเป็นภาวะที่รัฐมองเห็นว่ามีปัญหาเกิดขึ้น การใช้กฎหมายปกติอาจจะไม่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างทันท่วงที ดังนั้น จึงมีการใช้กฎหมายแบบ Overrule เพื่อที่จะได้แก้ไขปัญหาเหล่านั้นได้อย่างทันท่วงที อย่างไรก็ตามหลักสำคัญประการหนึ่งคือ การใช้กฎหมายในสถานการณ์พิเศษเป็นการใช้อำนาจเพียงชั่วคราว และในปกติการจะใช้กฎหมายในสถานการณ์พิเศษเองต้องมองว่า 1. มีภาวะพิเศษเกิดขึ้นจริงหรือไม่ เช่น ภัยอันตรายไม่สามารถใช้กฎหมายปกติในการควบคุมได้ 2. การใช้อำนาจตามกฎหมายปกติ เช่น พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ สามารถนำมาใช้ร่วมกันได้หรือเปล่า หรือมีปัญหาจริงๆ เช่น การทับซ้อนของอำนาจ การทำงานที่ไม่เป็นเอกภาพก็อาจจะใช้อำนาจตามกฎหมายพิเศษได้ แต่สุดท้ายต้องพิจารณาว่าการใช้อำนาจพิเศษนั้นสมควรแก่เหตุและคุ้มค่ากับการที่จะแก้ปัญหาเหล่านั้นโดยที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสาธารณะเกินสมควรหรือไม่”

สำหรับในช่วงสถานการณ์ปัจจุบัน (วันที่ 28 พฤษภาคม 2563) ที่ผู้ติดเชื้อมีเพียงแต่บุคคลที่เดินทางมาจากต่างประเทศและอยู่ในสถานกักกันตัวทั้งสิ้น สถานการณ์เช่นนี้ยังถือว่าเป็นสถานการณ์ฉุกเฉินหรือไม่? ผศ.ดร.ภูมิ กล่าวว่า “คิดว่ารัฐบาลมองโมเดลประเทศอื่น และถ้าคลายล็อคเร็วเกินไปอาจจะเกิดภาวะระบาดรอบสอง เช่น ประเทศสิงคโปร์ ญี่ปุ่น เกาหลี คราวนี้รัฐบาลก็เลยประกาศต่ออายุ อย่างไรก็ตามมาตรการนี้ถ้าเราดูที่ผ่านมา เราสามารถป้องกันได้ในระดับหนึ่งแล้ว และจากสถิติส่วนใหญ่คนที่ติดเชื้อเดินทางกลับมาจากต่างประเทศ เพราะฉะนั้นส่วนตัวถ้ามาตรการที่ป้องกันการติดเชื้อจากภายนอกเข้ามาอาจจะยังต้องมีความจำเป็นอยู่ แต่ถ้าดูจากสถิติกิจกรรมที่อยู่ภายในประเทศ สถิติลดลง ก็น่าจะมีการคลายล็อคของกิจกรรมมากกว่านี้ โดยต้องคำนึงว่าการใช้สถานการณ์ฉุกเฉินอำนาจตามกฎหมายนี้สมควรแก่เหตุและมีความจำเป็นหรือไม่ และในภาวะที่พบว่ามีคนฆ่าตัวตายมากขึ้น ธุรกิจเริ่มมีปัญหามาก คนตกงานมากยิ่งขึ้น และมีแนวโน้มที่จะมีปัญหาทางสังคมตามมาอีก คิดว่าต้องมีมาตรการที่ผ่อนปรนสำหรับคนที่อยู่ภายในประเทศให้มากกว่านี้โดยเร็ว อีกทั้งกฎหมายในสถานการณ์พิเศษจะถูกนำมาใช้ก็ต่อเมื่อกฎหมายในสถานการณ์ปกติไม่สามารถใช้ได้ ย้อนกลับไปที่พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ ซึ่งดูมาตรการข้างในก็มีมาตรการที่คล้ายกับมาตรการที่ประกาศใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉิน เช่นให้ผู้ติดเชื้อมีหน้าที่ต้องรายงาน และทางรัฐมีหน้าที่ที่จะต้องกักตัวหรือมอนิเตอร์บุคคลที่อาจจะมีเชื้อ มีอำนาจที่จะสั่งปิดสถานที่บางประเภท หรือสั่งห้ามไม่ให้บุคคลหรือว่าหน่วยงานของรัฐนำบุคคลที่ติดเชื้อเดินทางเข้ามาในรัฐ”

ในสถานการณ์ที่มีการประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เป็นสถานการณ์ที่รวบอำนาจมาไว้ที่ส่วนกลาง คืออำนาจจะอยู่ที่ฝ่ายบริหาร อำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติ และอำนาจของฝ่ายตุลาการ คือศาลปกครองจะถูกตัดออกไป จึงเกิดข้อห่วงกังวลว่า สิทธิเสรีภาพของประชาชนจะไม่ได้รับการคุ้มครอง ผศ.ดร.ภูมิ กล่าวว่า “ในสถานการณ์พิเศษไม่ได้หมายความว่าสิทธิเสรีภาพของประชาชนจะไม่ได้รับการคุ้มครอง แต่ที่ผ่านมาเราจะพบว่าในเรื่องการใช้อำนาจของรัฐในสถานการณ์พิเศษ โดยเฉพาะพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ  มีการจำกัดกระบวนการยุติธรรมบางประการอยู่ เช่น ตัดเขตอำนาจศาลปกครอง หรือการให้ศาลเดียวตัดสินและถือเป็นที่สุด เป็นต้น ซึ่งถ้าหากเป็นการใช้กระบวนการยุติธรรมตามปกติก็จะสามารถตรวจสอบได้ ศาลจะดูว่าเจ้าหน้าที่รัฐใช้อำนาจมากเกินไปหรือไม่ แต่ในสถานการณ์พิเศษ อำนาจของศาลปกครองจะถูกปฏิเสธ ซึ่งส่งผลต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนแน่นอน”

 

หลายโครงการรัฐเร่งผ่านในยุคโควิด19 ที่มีพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ห้ามชุมนุม ห้ามแสดงออก

การบังคับใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ นอกจากทำให้เกิดการตั้งคำถามถึงความโปร่งใสของการใช้อำนาจของรัฐบาล เนื่องจากการรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ฝ่ายบริหาร โดยปราศจากการตรวจสอบถ่วงดลอำนาจอย่างในภาวะปกติแล้วนั้น ยังเกิดกรณีมากมายจากการอ้างอำนาจตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่เอื้อต่อผลประโยชน์ของภาครัฐ แต่ปิดกั้นการแสดงออกของประชาชน ส.รัตนมณี พลกล้า ทนายความและผู้ประสานงานมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน กล่าวว่า “การดำเนินคดีตามกฎหมายบางกรณีตอนนี้ไม่ยอมรับบริบทบางเรื่อของสังคมซึ่งเป็นปัญหาอยู่ เช่น ในช่วงแรกที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินและประกาศเคอร์ฟิว มีชาวบ้านซึ่งเป็นชาวสวนยางและชาวประมงถูกจับข้อหาฝ่าฝืนเคอร์ฟิวในช่วงเวลา 22.00 น. โทษคือ 10,000 บาท รอลงอาญา 1 ปี ลดโทษประมาณกึ่งหนึ่ง จึงให้เสียค่าปรับคนละ 4,000 บาท แต่ชาวสวนยางไม่มีเงินจ่ายค่าปรับ จึงต้องอยู่ในคุก 8 วัน โดยรวม 2 วันที่อยู่สถานีตำรวจเป็นทั้งหมด 10 วัน และยังมีกรณีของคนไร้บ้านที่เชียงใหม่จะเดินข้ามถนนเพื่อไปเข้าห้องน้ำสาธารณะเลยถูกจับ อันนี้โทษน่าจะเป็นไม่ต้องเสียค่าปรับ แต่ศาลสั่งให้กลับไปอยู่ที่บ้าน

ตอนนี้ยังมีกรณีที่รัฐเดินหน้าผลักดันให้โครงการต่างๆ เดินต่อไปได้ เช่น เขตอุตสาหกรรมจะนะ จังหวัดสงขลา คืออบต.มาประกาศเมื่อต้นเดือนพฤษภาคม ว่าจะมีการจัดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในทุกตำบล จำนวน 3 ตำบล ช่วงนั้น รัฐบาลสั่งห้ามไม่ให้คนมาประชุมหรือชุมนุมร่วมกัน แต่อบต.มาสั่งให้มีการจัดรับฟังความคิดเห็น อีกทั้งมีการจำกัดบุคคลที่จะเข้าร่วมรับฟังความคิดเห็น และชาวบ้านไม่เคยได้รับรู้การประกาศเขตอุตสาหกรรม ไม่เคยมีส่วนร่วม ชาวบ้านจึงคิดว่ากรณีเหล่านี้ไม่ถูกต้อง ซึ่งถ้าเป็นเมื่อก่อนชาวบ้านจะสามารถชุมนุมแสดงออกได้ว่าเขาไม่เห็นด้วยกับโครงการ แต่ตอนนี้เขาทำได้แค่เดินทางจากอำเภอจะนะไปอำเภอเมืองสงขลาเพื่อยื่นหนังสือ และก็ไปกันเพียงไม่กี่คน เพราะพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ทำให้เขาไม่สามารถรวมกลุ่มกันได้ และพวกเขาไม่ได้รับคำตอบจากภาครัฐ ทำให้น้องคอรียะซึ่งเป็นลูกชาวประมงนอนรออยู่ที่หน้าศาลากลาง เพราะเขาบอกว่า แม้เขาจะกลับไปเขาก็ไม่รู้ว่าอนาคตเขาจะเป็นอย่างไร และวันรุ่งขึ้นจึงได้มีการพิจารณา ซึ่งอบต.ก็มีการประกาศเลื่อนโดยอ้างว่าอยู่ในสถานการณ์ฉุกเฉิน

กรณีตัวอย่างสุดท้ายคือ เรื่องพี่น้องที่คัดค้านโครงการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งหาดม่วงงาม โครงการนี้เป็นโครงการของรัฐบาล โครงการของกรมโยธาธิการและการผังเมืองที่จะไปสร้างเขื่อนกันคลื่น แต่ชาวบ้านบอกว่า จริงๆ แล้วหาดตรงนั้นไม่มีการกัดเซาะและตัวโครงการดังกล่าวจะยิ่งส่งผลกระทบต่อชาวบ้าน และได้แสดงออกคัดค้านมาโดยตลอด แต่ทางหน่วยงานก็ไม่รับฟังความคิดเห็นและได้เริ่มมีการก่อสร้างโครงการ ชาวบ้านจึงทำหนังสือถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อแจ้งว่าจะทำกิจกรรม แต่ตำรวจตอบกลับมาว่าไม่อนุญาตให้มีการจัด เนื่องจากอยู่ในระหว่างพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อยู่ในสถานการณ์โควิด พอวันรุ่งขึ้นก็มีเจ้าหน้าที่ตำรวจไปอยู่ที่หาดอ่าวม่วงและเจ้าหน้าที่ทหารไปอยู่ในพื้นที่ประมาณ 100 นาย

พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แทนที่จะนำมาป้องกันโรคแต่มันถูกนำมาใช้ในการควบคุมประชาชน มีกรณีที่ชาวบ้านยืนห่างกันตามระยะและอ่านแถลงการณ์เพื่อจะบอกว่าโครงการควรชะลอไว้ก่อน เพราะสถานการณ์โควิดทำให้ชาวบ้านไม่สามารถแสดงออกถึงความเดือดร้อน ปรากฏว่าชาวบ้านที่บำเหน็จณรงค์ถูกควบคุมตัวไปสอบสวน และปัจจุบันกลุ่มบ้านแหงอ่านแถลงการณ์ไม่เห็นด้วยกับการต่อพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แต่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าไปเรียกบุคคลที่อ่านแถลงการณ์ในหมู่บ้าน และบอกว่าไม่ควรไปอ่านแถลงการณ์เรื่องพวกนี้ ซึ่งกรณีแบบนี้ถ้าเป็นสถานการณ์ปกติก็สามารถทำได้ แต่พอเป็นสถานการณ์ที่ใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ กลับถูกนำไปใช้ในการควบคุมการแสดงออก การแสดงความคิดเห็นของประชาชน ยังไม่รวมกรณีการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองซึ่งที่ผ่านมาเราก็เห็นอยู่

นอกจากนี้ ยังมีกรณีเขื่อนวังหีบที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ปัจจุบันโครงการเจ้าหน้าที่มีความพยายามผลักดันให้มีการดำเนินการต่อ หรือกรณีการขุดคลองผันน้ำไชยมนตรี อำเภอเมืองจังหวัดนครศรีธรรมราชเช่นกัน ชาวบ้านมีความเห็นคัดค้านอยู่ แต่เขาก็ไม่สามารถที่จะรวมตัวเพื่อแสดงออกได้ แต่ในขณะเดียวกันรัฐบาลกลับดำเนินโครงการต่อไปได้ หลายๆพื้นที่บอกมาว่าไม่สามารถที่จะจัดประชุมชาวบ้านได้เลย เพราะเกรงว่าจะมีปัญหา ชาวบ้านอยู่ในภาวะที่มีความเครียด ในขณะที่ตัวเองทำอะไรไม่ได้ แต่โครงการต่างๆ ของรัฐ กลับเดินต่อไปได้ อันนี้เป็นปัญหามาก”

 

ชวนตั้งคำถาม การบูรณาการความเป็นเอกภาพในการบริหารประเทศเหตุผลแท้จริงของการใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพื่อป้องกันโรค หรือ เพื่อกระชับอำนาจ

เมื่อเกิดการรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ฝ่ายรัฐบาล โดยอ้างการบูรณาการความเป็นเอกภาพในการบริหารประเทศ ในช่วงสถานการณ์ฉุกเฉิน ภาวิณี ชุมศรี ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน จึงชวนตั้งคำถามว่า“การบูรณาการความเป็นเอกภาพในการบริหารประเทศ” เหตุผลแท้จริงของการใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพื่อป้องกันโรค หรือ เพื่อกระชับอำนาจ “เป็นครั้งแรกที่มีการใช้พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ ในการแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัส ที่ผ่านมาจะเห็นว่ารัฐใช้แก้ปัญหาเรื่องความสงบ เรื่องการชุมนุม การแสดงออกทางการเมือง หรือความรุนแรงในพื้นที่ภาคใต้ เราจะคุ้นเคยว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องของความมั่นคง การประกาศพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ครั้งแรกตอนนั้นอัตราผู้เสียชีวิตสูงมากประมาณ 50 คน มีการระบาดในคนที่ไม่จำกัดเฉพาะกลุ่มด้วย ซึ่งตอนนั้นเห็นว่าอาจจะต้องมีมาตรการบางอย่างออกมาแก้ปัญหา และมันก็เป็นเรื่องใหม่ เราไม่รู้ว่าโรคนี้จะนำไปสู่ผลร้ายแรงมากแค่ไหน ตอนนั้นก็ดูว่าการใช้เพื่อประโยชน์ทางสุขภาพเป็นเรื่องที่ดี เพราะก่อนหน้านี้ไม่เห็นด้วยกับการเอามาใช้กับการแสดงออกทางการเมือง

ถามว่าก่อนหน้านี้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ใช้แก้ปัญหาภาคใต้ได้ไหม ก็คือไม่ได้ เพราะว่าประกาศใช้มา 15 ปีแล้ว ไม่ใช่เรื่องฉุกเฉินอีกต่อไป แล้วเป็นการต่อแบบอัตโนมัติอย่างเดียว คือถ้าไปดูประกาศขยายของพื้นที่ชายแดนภาคใต้จะเห็นการก๊อปเหตุผลมาวางแล้วก็เปลี่ยนวันที่ ซึ่งไม่มีการทบทวน จนประชาชนในพื้นที่เคยชินไปแล้ว พอมาใช้ในเรื่องของการชุมนุม หรือบริบทความขัดแย้งทางการเมือง มองว่าคนที่ออกมาแสดงความคิดเห็นไม่สมควรถูกบังคับใช้ด้วยพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ หรือกฎหมายความมั่นคง แต่พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ควรถูกใช้ในกรณีที่มีวิกฤติ เช่น ภัยธรรมชาติ ภัยพิบัติ หรือกรณีที่มีโรคครั้งแรก และได้จับตาดูข้อกำหนดต่างๆ เป็นการออกมาตามมาตรา 9 พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยอ้างอิงไปถึง พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ พ.ร.บ.กักตุนฯ ซึ่งทำให้เรามองว่าการประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไม่ได้ต่างกับกฎหมายที่มีอยู่แล้ว เช่น เรื่องการกักตัว การห้ามเข้าสถานที่เสี่ยง พื้นที่เสี่ยงต่างๆ ตัวพ.ร.บ.โรคติดต่อฯ ก็ให้อำนาจไว้ และอาจให้อำนาจมากกว่าด้วยเพราะพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯจะมีอำนาจแค่ตามมาตรา 9    เห็นด้วยว่าต้องมีการบูรณาการความเป็นเอกภาพในการบริหารประเทศหรือว่าการบริหารของนายก ซึ่งเป็นคำที่มาตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ คือ อำนาจทุกอย่างนายกรัฐมนตรีมีอำนาจสั่งการทั้งหมด แต่เราต้องทบทวนการบูรณาการความเป็นเอกภาพเป็นเหตุให้ประกาศพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไหม? ไม่ใช่วันหนึ่งรัฐบาลบริหารไม่ได้ สั่งรัฐมนตรีไม่ได้ สั่งข้าราชการไม่ได้ ต้องประกาศพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพื่อความเป็นเอกภาพ ซึ่งไม่ใช่เหตุที่จะมาประกาศ เพราะฉะนั้นล่าสุดที่หมอทวีศิลป์ พูดว่าเพื่อความเป็นเอกภาพ เพราะมีกฎหมายเยอะมากจึงต้องมีเอกภาพในการแก้ไขปัญหา คิดว่ากรณีนี้ไม่ใช่เหตุที่จะมาประกาศพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ได้ เพราะว่าความเป็นเอกภาพของรัฐบาลเป็นเรื่องปกติของทุกรัฐบาลที่ต้องบริหารให้ได้ คุณต้องบังคับใช้กฎหมายให้ได้ คุณต้องบริหารบ้านเมือง ดำเนินนโยบายอยู่แล้ว ต้องดำเนินการโดยมีประสิทธิภาพอยู่แล้ว อันนี้ทำให้เห็นว่า เหตุผลแท้จริงในการใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพื่อกระชับอำนาจ เพื่อสั่งการได้ง่ายมากขึ้น มุมหนึ่งก็อาจเพราะรัฐบาลนี้ไม่มีความเข้มแข็งในการบริหารงานหรือไม่ ถึงต้องใช้กฎหมายพิเศษพวกนี้มาหนุนเสริมอยู่ตลอดเวลา ก่อนหน้านี้รัฐบาลคสช. ใช้กฎอัยการศึก ใช้คำสั่งคสช. ใช้มาตรา 44 ในการสั่งเพื่อเอากฎหมายมา Backup ตัวเองในการทำงานตลอดเวลา เพราะมีเหตุการณ์อะไรที่เป็นปัญหาขึ้นมาก็ใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพื่อ Backup การใช้อำนาจของตัวเอง คิดว่าตรงนี้เป็นสิ่งที่นักกฎหมายต้องศึกษามาแลกเปลี่ยนกันว่ากฎหมายออกมาในการบริหารอำนาจตามปกติแบบนี้ได้หรือไม่ มุมหนึ่งเป็นเรื่องความเคยชินหรือไม่ เพราะว่าเราอยู่กับเขามาตั้งแต่ปี 57 จะเห็นว่าเขามีเครื่องมือพิเศษอยู่ตลอดเวลา

ในบริบทปี 53 ที่เป็นเรื่องของการชุมนุมการสลายการชุมนุม ในช่วงนั้นจะมีคำสั่งตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่ห้ามชุมนุม มีเรื่องเคอร์ฟิวเหมือนกัน คดีเกี่ยวกับสถานการณ์ตอนนั้นที่อยู่ในศาล ช่วงที่มีการสลายการชุมนุม มีคนถูกยิง ศาลอาจมีทัศนคติที่เห็นว่าการชุมนุมคือการก่อความวุ่นวาย แต่เมื่อการชุมนุมจบไปแล้วเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 มีการทำความสะอาดไปแล้ว บ้านเมืองอยู่ในภาวะปกติ มีคดีที่ศาลพิพากษายกฟ้อง เช่น คุณสมบัติ บุญงามอนงค์ (บก. ลายจุด) ถูกดำเนินคดีเรื่องฝ่าฝืนห้ามชุมนุม 2 คดี คดีแรกศาลตัดสินว่ามีความผิด อีกคดีหนึ่งศาลพิพากษาว่าไม่มีความผิด เพราะเขาสามารถแสดงออกได้ แต่คำพิพากษามีหลังจากสถานการณ์นั้นผ่านไปแล้ว

ภาคใต้เป็นเรื่องที่กฎหมายพิเศษคงอยู่ตลอดเวลา แต่พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ของภาคใต้จะใช้เฉพาะควบคุมตัว เพื่อทำการซักถาม เพื่อจะใช้ดำเนินคดี แต่ไม่มีเรื่องเคอร์ฟิวร์ ไม่มีผลกระทบกับประชาชนทั่วไป จะกระทบเฉพาะกับคนที่ถูกควบคุมตัว ซึ่งเป็นกรณีที่แตกต่าง แต่ตอนนี้ มีเรื่องที่ประหลาดใจคือคนที่ฝ่าฝืนเคอร์ฟิว มีกรณีที่จำเลยไปเซเว่นตอนเที่ยงคืน เขามีภาวะที่ป่วยทางจิต ไม่รู้ว่าเซเว่นไม่เปิด จำเลยรับสารภาพ ศาลพิพากษาจำคุก 2 ถึง 3 เดือนไม่รอลงอาญา เพราะที่ผ่านมาจะเจอจำคุกแต่รอลงอาญาหรือปรับ 2,000 กับ10,000 บาท ลดเหลือ 5,000 เจอประมาณนี้ แต่พอเจอโทษจำคุกไม่รอลงอาญาเพราะฝ่าฝืนเคอร์ฟิวคิดว่าอันนี้โหด ซึ่งบริบทการลงโทษของศาลแต่ละจังหวัดจะไม่เหมือนกัน พอไปถามเจ้าหน้าที่ ทราบว่ามีกรณีที่ศาลลง 3 เดือนด้วยตอนที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินใหม่ๆ โดยไม่รอลงอาญาในกรณีที่ไม่มีการประกันตัว ไม่มีทนาย เข้าเรือนจำไปเลย ตอนนี้อยู่ในระหว่างการอุทธรณ์  ซึ่งตรงนี้การใช้อำนาจของฝ่ายปกครอง ผู้ว่า หรือว่าหน่วยงานตำรวจ หรือศาลค่อนข้างเข้มงวด”

 

พ.ร.กฉุกเฉินฯ เครื่องมือจัดการภาวะฉุกเฉิน กลับกลายเป็นเครื่องมือแก้ปัญหาการบริหารงานของรัฐบาล

ในมุมมองและกรอบความคิดขององค์กรสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ การแสดงความคิดเห็นที่ยึดโยงกับกติการะหว่างประเทศโดยเฉพาะกติกาที่ไทยเป็นภาคีอยู่ คือ สิทธิทางการเมืองและสิทธิพลเมือง สุณัย ผาสุข ที่ปรึกษา Human Rights Watch ประเทศไทย กล่าวว่า “การใช้สถานการณ์ฉุกเฉินไม่ได้มีอยู่ที่ประเทศไทยเพียงประเทศเดียว ในหลายประเทศก็ทำกัน ต้องบอกว่ากติการะหว่างประเทศ มาตรการฉุกเฉิน ถือว่าเป็นสิ่งที่กระทำได้ การลิดรอนสิทธิที่เกิดจากมาตรการฉุกเฉิน กติการะหว่างประเทศยอมรับให้เกิดได้กับสิทธิบางประการ แต่ต้องมีความจำเป็นอย่างยิ่งยวดถึงขั้นว่าเป็นเรื่องของความอยู่รอดของประชาชาติ คำว่ามาตรการพิเศษไม่ใช่มาตรการถาวร เพราะฉะนั้นต้องมีลักษณะชั่วคราว เฉพาะกิจ เมื่อหมดความจำเป็นแล้ว ต้องยุติลง และต้องจำกัดพื้นที่ด้วยว่าจะใช้พื้นที่แค่ไหน อันนี้ต้องมาดูสถานการณ์ฉุกเฉินในไทยตอนที่มีการประกาศใช้ครั้งแรก ในครั้งแรกยังพอที่จะเข้าใจได้ว่าอยู่ในสภาวะฉุกเฉิน ดูจากจำนวนผู้ติดเชื้อ ผู้เสียชีวิต เรื่องของสถานการณ์ที่ไม่เกิดที่ไทยเพียงที่เดียว แต่เกิดในบริบทของสังคมโลก ความรู้เกี่ยวกับโรคยังไม่มี ตอนนั้นเรื่องของการจำกัดการเดินทางยังไม่ชัดเจน แล้วก็มีหมอออกมาให้ข้อมูลว่าอาจจะขึ้นเป็นหลักแสน ซึ่งเป็นตัวเลขที่มีลักษณะคุกคามความอยู่รอดของประชาชาติ และก็เห็นว่าการติดเชื้อของทั่วโลกมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ปัจจุบันของอเมริกาขึ้นไปเป็นล้าน ตอนนั้นพอเข้าใจว่าทำไมจึงประกาศ แต่พอประกาศมาตรการที่บอกว่ายึดโยงกับมาตรา 9 ของพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ กลายเป็นเรื่องของการบูรณาการ การสั่งการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบริหารสถานการณ์นั้นๆ ไม่ใช่เรื่องของการใช้อำนาจในพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไปจัดการกับสถานการณ์โดยตรง แต่เป็นปัญหาความไม่มีประสิทธิภาพของรัฐบาลในการจัดการของหน่วยราชการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง กลายเป็นว่ามีสถานการณ์ฉุกเฉิน แต่เอาเครื่องมือของสถานการณ์ฉุกเฉินฯ ไปใช้ในการแก้ปัญหาในเรื่องของการบริหารรัฐกิจ การบริหารนโยบาย ในเรื่องการขาดเอกภาพ และการไม่เท่ากันระหว่างตัวนายกรัฐมนตรี กับรองนายกรัฐมนตรี กับรัฐมนตรีที่เป็นพรรคร่วมรัฐบาล อันนี้เห็นได้ชัดว่ามีการพูดไม่ตรงกันก่อนประกาศพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และสิ่งที่ชัดที่สุดคือ หมอทวีศิลป์ใช้คำพูดในการการต่ออายุครั้งล่าสุด คือ การรวบอำนาจ การรวบอำนาจมันสะท้อนสิ่งที่คุณประยุทธ์อาจจะไม่คุ้นในสภาพของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง มีองค์ประกอบจากการจัดตั้งหลายฝ่ายต้องประสาน ต้องเผชิญหน้ากับแรงกดดันจากกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ กติกาประชาธิปไตย เขาจึงต้องย้อนกลับไปในสถานการณ์ที่ตนเองคุ้นเคย ตั้งแต่สมัยเป็น ผบ.ทบ.แล้วมาทำรัฐประหารกลายเป็นหัวหน้าคสช. และกลายเป็นนายกรัฐมนตรี นั่นคือการปกครองแบบ Strong Man One Man หรือการปกครองแบบ Overrule ที่ตัวเองเป็นศูนย์กลางของการปกครอง ไม่มีพรรคร่วม

ตั้งแต่ประกาศพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 30 วันแรกสิ่งที่เห็นได้ชัดคือ การตัดบทบาทของพรรคร่วมรัฐบาลออกไป เหลือแต่ประยุทธ์ แพทย์ที่อยู่ในทีม และทีมแพทย์ที่พูดถึงผลตัวเลขว่ามันจะถึงแสน และทีมของปลัดกระทรวงที่ถูกยกขึ้นมา นี่คือโครงสร้างของรัฐบาลที่อยู่ภายใต้การปกครองแบบคนคนเดียว และพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่ตามมาทำลายหลักนิติรัฐ หลักธรรมาภิบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบริหารประเทศที่มีการตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจภายใต้ประชาธิปไตย เพราะ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เป็นการใช้อำนาจโดยที่ไม่มีการตรวจสอบถ่วงดุลของฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายตุลาการ เป็นเครื่องมือของฝ่ายบริหาร เป็นตัวอย่างการบริหารประเทศในยุคนายกทักษิณ สิ่งที่เราเห็นตั้งแต่การประกาศภาวะฉุกเฉินรอบแรก จนถึงปัจจุบัน คือการใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯเป็นเครื่องมือของฝ่ายบริหารและที่สำคัญเป็นอำนาจที่ใช้ไปแล้วไม่สามารถเอาผิดใดได้ โต้แย้งไม่ได้เพราะตัดกลไกของศาลปกครองออกไป ซึ่งเป็นอำนาจที่เกินไปในทางกติการะหว่างประเทศ ไม่ใช่แค่เรื่องของการลิดรอนสิทธิอีกต่อไปแล้ว แต่ไปถึงการเปลี่ยนรูปแบบการปกครอง การบริหารประเทศไปเลย เพราะฉะนั้นข้อโต้แย้งเรื่องความฉุกเฉิน ตอนแรกยังพอฟังขึ้นแต่ใช้ในทางที่ออกนอกลู่นอกทาง คือ วิธีการใช้มีปัญหาอย่างมาก”

 

พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ยุคโควิด19 ใช้อำนาจผูกขาดข้อมูลฝ่ายเดียว ดำเนินคดีกับบุคคลที่วิพากษ์เรื่องโควิด19

นอกจากเรื่องการรวบอำนาจและการบูรณาการหน่วยงานต่างๆ มีส่วนที่รัฐบาลให้ความสำคัญอย่างมากในการแถลงข่าวในวันที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน เป็นเรื่องของการควบคุมการรับรู้และการไหลของข้อมูลข่าวสาร สุณัย ผาสุข กล่าวว่า “ในสังคมจะเห็นว่าตั้งแต่ก่อนการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินจนถึงการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน รัฐบาลให้ความสำคัญกับพวกที่ใช้โซเชียลมีเดีย เตือนพวกที่มีข้อมูลข่าวสารที่มีการบิดเบือนให้ระวังตัว คือพูดย้ำในประเด็นนี้ ซึ่งกรณีนี้เป็นการขัดต่อสิ่งที่สหประชาชาติ องค์กรอนามัยโลก และองค์กรต่างๆ ให้ความเห็นไว้ว่ายิ่งเป็นสถานการณ์ฉุกเฉินยิ่งจำเป็นต้องมีการเปิดช่องให้ข้อมูลไหลได้ทั้ง 2 ทางไม่ใช่เป็นการผูกขาดข้อมูลอยู่ฝ่ายเดียว เพราะนั่นจะทำให้ไม่มีการรับรู้ข้อมูลอย่างโปร่งใสตรงไปตรงมา ไม่มีการตรวจสอบประเมินประสิทธิภาพในการใช้มาตรการฉุกเฉินในการแก้ปัญหา เป็นการเกิดระบอบของการเซ็นเซอร์ขนาดใหญ่เป็นระบอบของการปิดกั้นข้อมูลข่าวสาร เป็นระบอบของการสร้างความหวาดกลัวคนตั้งคำถามกับการทำงานของรัฐบาล

ตั้งแต่กรณีประชาชนตั้งคำถามว่าสนามบินมีการเช็คอุณหภูมิจริงไหม มีการคัดกรองจริงไหม ปรากฏว่าคนที่ตั้งคำถามถูกดำเนินคดีด้วยข้อหาให้ข้อมูลอันเป็นเท็จภายใต้พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ และบุคลากรทางการแพทย์ที่พูดถึงเรื่องหน้ากากขาดแคลน ชุด PPA ขาดแคลน หรือการคัดกรองของบางโรงพยาบาลไม่เข้มข้น ปรากฏว่าคนเหล่านี้ถูกบอกให้หยุดพูด ไม่ฉะนั้นจะมีผลกระทบ ซึ่งอย่างน้อยมี 1 กรณีที่เขาถูกย้ายจากหน่วยงานหนึ่งไปอีกหน่วยงานหนึ่งหลังจากที่เขาออกมาเปิดโปงเรื่องราวเหล่านี้ นี่เป็นปัญหาว่าแม้แต่บุคลากรทางการแพทย์ก็ไม่เว้น สื่อมวลชนก็ไม่รอด ผู้ที่เป็นประชาชนทั่วไปไม่สามารถเปิดโปงความไม่ชอบมาพากล นั่นเป็นการทำให้เกิดปัญหาเรื่องความโปร่งใสไม่สามารถตรวจสอบได้ ไม่สามารถรับรู้ความไม่ชอบมาพากลที่เกิดขึ้นในสถานการณ์ฉุกเฉินได้”

 

มาตรการช่วงโควิด19 ถูกบิดเบือน เป็นเครื่องมือมุ่งเป้าโจมตีฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล

สุณัย ผาสุข กล่าวว่า “พอมาในสถานการณ์ฉุกเฉินรอบที่ 2 ที่ขยายไปจนถึงสิ้นเดือนมิถุนายน เห็นชัดว่าความฉุกเฉินมันหมดไป เพราะสถิติผู้ติดเชื้อในประเทศลดลงจนบางวันเป็นศูนย์ เรื่องคนที่รักษาแล้วหาย จนรัฐบาลเอามาพูดว่าไทยเป็นหนึ่งในห้าในโลกที่จัดการกับเรื่องโควิดได้ดี เป็นคำโฆษณาของรัฐบาล ซึ่งจริงๆ ถ้ารัฐบาลโฆษณาตัวเองขนาดนี้ ก็ควรจะตอบได้ว่าสถานการณ์ฉุกเฉินที่ไทยเผชิญอยู่ไม่มีแล้ว เพราะฉะนั้นตามกติการะหว่างประเทศที่ต้องเป็นภัยฉุกเฉินอย่างร้ายแรงซึ่งเป็นการคุกคามประชาชาติไม่มีอยู่แล้ว และภาวะที่ควรจะเป็นชั่วคราวก็ควรจะหยุดได้แล้ว และมาดูมาตรการที่นำมาใช้ในรอบ 2 กลายเป็นเครื่องมือที่เป็นการเล่นงานฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองอย่างชัดแจ้งมากขึ้นโดยใช้มาตรการเรื่อง Social Distance การรักษาระยะห่างระยะห่างทางสังคมการห้ามไม่ให้คนมาชุมนุมกันภายใต้พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ ไม่ได้กำหนดว่ากี่คนถึงเป็นการชุมนุม ดังนั้นแค่สองคนก็กลายเป็นการชุมนุมได้ เป็นการเปิดช่องให้มีการตีความตามอำเภอใจได้ และสิ่งที่เราเห็นคือการชุมนุมในวันที่ระลึกเสธ.แดง คุณขัตติยะถูกลอบสังหารตรง MRT ศาลาแดง และผู้ชุมนุมถูกดำเนินคดี เพราะมีการถ่ายรูปหมู่กัน ทั้งที่ก่อนหน้านี้มีการรับรู้ว่ามีพยาบาลมาตรวจวัด มีเจ้าหน้าที่ มีการแจ้งเจ้าหน้าที่ล่วงหน้าว่าจะมีการจัดกิจกรรม มีการรักษาระยะห่าง แต่พอถ่ายรูปหมู่ เจ้าหน้าที่ตีความว่าสุ่มเสี่ยงต่อการระบาดของโรค และเป็นการละเมิดความจำเป็นเรื่องการรักษาระยะห่างทางสังคม

หลังจากนั้นครบรอบ 6 ปี รัฐประหาร มีการจัดกิจกรรมที่หน้าหอศิลป์ กทม. ตรงหน้าห้างมาบุญครอง มีการเล่นดนตรีและคนที่เป็นแกนนำถูกเอาตัวไปด้วยข้อหาเดียวกันคือ ผิดข้อห้ามของมาตรการฉุกเฉินโควิด19 และก็มากรณีที่หาดม่วงงามเจ้าหน้าที่นำป้ายขนาดใหญ่มาติดว่าห้ามจัดกิจกรรมเพราะว่ามีการประกาศใช้พรก.ฉุกเฉินฯ เห็นได้ชัดว่ามาตรการที่เกิดขึ้นในช่วงโควิดถูกบิดเบือนอย่างมาก ในเรื่องการต่ออายุครั้งนี้เป็นการบิดเบือนไปในทิศทางใช้เป็นเครื่องมือมุ่งเป้าไปที่ฝ่ายที่รัฐบาลถือว่าเป็นคู่ตรงข้าม จึงเป็นการทำให้ไม่เหลือความชอบธรรมใดๆ ในการที่จะคงสถานการณ์โควิดไว้ ถ้าสถานการณ์ด้านสาธารณสุขไปในทิศทางที่ดี ในตอนนี้ไม่เหลือข้ออ้างอีกแล้ว มันจะเหลือแต่สิ่งที่หมอทวีศิลป์พูดว่าเพื่อให้เกิดการรวบอำนาจ ในทางการเมืองถ้ามีปัญหาไม่สามารถจัดการกับรัฐมนตรีต่างๆ ได้ก็ควรที่จะมีการปรับครม. ไม่ใช่การใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ นี่มันสะท้อนว่าประเทศไทยไม่ใช่ประเทศที่ปกติ ถึงขั้นเกิดสภาวะที่เสพติดอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดของตัวเอง เราไม่รู้ว่าสภาวะการเสพติดอำนาจจะลากยาวไปถึงเมื่อไหร่ หรือว่าจะเอากฎหมายอื่นมาเสริมเข้ามาอีก อาจจะมีพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ย้ำด้วยกฎหมายความมั่นคงมาซ้ำอีกฉบับหนึ่ง ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ากังวลสำหรับประเทศไทย”

 

ความห่วงกังวลต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน เมื่อต่ออายุพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

ส.รัตนมณี พลกล้า แสดงความห่วงกังวลถึงการใช้อำนาจในการปิดกั้นการแสดงออกของประชาชนที่อยากแสดงความเห็นเกี่ยวกับโครงการของรัฐ และการใช้อำนาจทางอาญาของเจ้าหน้าที่รัฐในสถานการณ์โควิด19 โดยกล่าวว่า “ในสถานการณ์นี้ พื้นที่ต่างจังหวัดมีความเปราะบาง มีความน่ากังวลตรงที่ว่าหน่วยงานหรือเจ้าหน้าที่ที่ใช้อำนาจจากพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ คิดว่าตัวเองมีอำนาจพอสมควรในการจัดการเรื่องต่างๆ ทำให้การเคลื่อนไหวของภาคประชาชนที่ลุกขึ้นมาคัดค้านต่อต้านโครงการเป็นไปได้ยาก อย่างกรณี หากม่วงงามตอนนี้ถูกขู่ตลอดเวลา จริงๆ ชาวบ้านบอกว่าอยากจะออกมารวมตัวทุกวัน หรือไม่ก็ทุกอาทิตย์ เขาอยากจะออกมาแสดงพลังเพื่อให้เห็นว่าเขาไม่ได้ต้องการโครงการนี้ ซึ่งสิ่งนี้เป็นเรื่องสันติวิธีมากๆ แต่ว่าพอมีสถานการณ์แบบนี้ทำให้ก็ต้องระมัดระวังมากขึ้น หรือกรณีของบ้านแหงที่เป็นแค่การอ่านแถลงการณ์มีเจ้าหน้าที่ไปถึงบ้าน บอกว่าอย่าทำ ซึ่งเราไม่รู้ว่าจะมีการดำเนินคดีหรือไม่ และที่สำคั คือพอเกิดเหตุในพื้นที่ห่างไกลทนายความ กรณีที่จะนะที่ถูกจับกุมฝ่าฝืนเคอร์ฟิว ถ้ามีทนายความอยู่ประจำในพื้นที่ที่สามารถเดินทางเข้าไปได้ในทันที เรื่องของการลงโทษน่าจะไม่มี แต่พอมีพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ก็เป็นเรื่องยาก และเรายังไม่รู้เลยว่าการปลดล็อคจะขนาดไหน เพราะว่าตอนนี้อย่างบขส. ขนส่งสายใต้ ยังประกาศว่าจะยุติการเดินรถไปจนถึงสิ้นเดือนมิถุนายน รถไฟตอนนี้เดินทางไปถึงแค่หาดใหญ่ มีไม่ทุกขบวน สายการบินก็ไม่ได้มีทุกสายการบิน เวลาก็ลดน้อยลง

อย่างตัวเองที่ต้องไปว่าที่ศาลสตูลความเดือนหน้า เดือนหน้าคือศาลเริ่มเปิดแล้ว ยังเช็คกันอยู่เลยว่าจะต้องเดินทางยังไง ต้องกักตัวไหม ต้องทำกระบวนการอะไรบ้าง นี่เป็นเรื่องที่เป็นปัญหามาก ไม่ว่าการดำรงชีพหรือการประกอบการงานที่มันควรจะเป็นปกติ คือเราระมัดระวังกันอยู่แล้ว คือทุกคนกลัวตายทั้งนั้น เพียงแต่ว่ามีความจำเป็นที่จะต้องทำงานตอนนี้ ถ้ากลับไปดูว่าคนทำงานกลางคืน ตอนนี้พวกร้านอาหาร พวกนักดนตรีจะตายอยู่แล้ว เพราะว่าเขาไม่สามารถที่จะทำงานได้เลยในเวลากลางคืน และการยกเว้นบางอาชีพไม่ได้ช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้น ตรงนี้เป็นเรื่องสำคัญ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการที่เอาเจ้าหน้าที่รัฐที่เป็นฝ่ายทหารหรือฝ่ายปกครองมาใช้อำนาจในทางอาญาด้วยการตั้งด่านจับกุมคุมขัง ซึ่งต้องใช้ด้วยความระมัดระวังอย่างมาก โดยเฉพาะในต่างจังหวัดในพื้นที่ที่ห่างไกล ที่ตั้งด่านและไม่ได้เข้าใจเรื่องพวกนี้ทั้งหมด จะเป็นปัญหากับประชาชนได้”

ภาวิณี ชุมศรี กล่าวในเรื่องของการไม่สามารถตรวจสอบถ่วงดุลในการใช้อำนาจตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ว่า “ถ้ามาดูตัวประกาศตามกฎหมายตามพ.ร.ก. แค่คณะรัฐมนตรีได้รับความเห็นชอบก็สามารถประกาศได้ สามารถขยายได้ คือไม่ได้ถูกถ่วงดุลจากนิติบัญญัติ รัฐสภา หรือสมาชิกผู้แทนราษฎร หรือไม่มีการถูกตรวจสอบโดยศาล ตัดอำนาจศาลปกครอง ทีนี้มาดูว่าเวลาที่เขาประกาศ เขาก็จะมีเหตุผล ครั้งที่สองที่ประกาศวันที่ 26 พฤษภาคม เหตุผลหลักที่ประกาศคือ กังวลว่าเนื่องจากมีข้อมูลว่าต่างประเทศมีการระบาดติดเชื้ออยู่สูง ถ้าผ่อนคลายไปแล้วหรือยกเลิกไปแล้ว จะพบความรุนแรงขึ้นมาใหม่ นั่นคือเหตุผล จึงเห็นว่าความฉุกเฉินหมดไปแล้ว เหตุผลตอนนี้ถ้ายกเลิกพ.ร.ก.เดี๋ยวจะเกิดความรุนแรง แสดงว่าตอนนี้ไม่มีความรุนแรง ไม่มีการระบาด ซึ่งเหตุผลเหล่านี้เป็นเรื่องอันตรายมาก แต่มันไม่ถูกตรวจสอบ โดยรวมถึงการประกาศข้อกำหนดต่างๆในเมื่อมีกฎหมายเหมือนกัน ทำไมต้องเอาพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาครอบ โดยเฉพาะในเรื่องการสั่งการ ที่ไม่ถูกตรวจสอบว่าประกาศตัวนี้ออกมาได้สัดส่วนไหม จำเป็นต้องประกาศหรือไม่ แต่พอมันถูกครอบโดยพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ก็จะถูกตรวจสอบไม่ได้ ทำให้ข้อกำหนดที่ออกมาไม่ว่าจะเป็นเรื่องเคอร์ฟิวเหมาะสมแล้วหรือไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตหรือไม่ ที่ได้รับยกเว้นเพียงพอหรือไม่ การขออนุญาตข้อกำหนดต่างๆ เหล่านี้ได้สัดส่วนกับสถานการณ์ปัจจุบันหรือไม่ สิ่งเหล่านี้ไม่ถูกตรวจสอบ คิดว่าอันนี้เป็นปัญหาใหญ่ในเชิงนักกฎหมายเองก็ต้องมีการ challenge ตัวกฎหมายหรือข้อกำหนดพวกนี้ ลึกๆ แล้วคิดว่าจะมีคนออกมาคัดค้านพ.ร.ก. มากกว่านี้ซึ่งตอนนี้คิดว่าคนที่ออกมาคัดค้านน้อยไป คิดว่าจากนี้ไปสังคมต้องออกมาวิพากษ์วิจารณ์ตรงนี้ให้มากขึ้น

1 เดือนนี้ยาวมากกว่าคนที่จะใช้ชีวิตปกติได้ เมื่อดูตัวเลขตอนที่ผ่อนคลายเรื่องเปิดห้างเท่าที่ดูสถิติ ไม่มีตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น จะมีผู้ติดเชื้อก็แต่คนที่เดินทางกลับมาจากต่างประเทศ หมายความว่าภาคส่วนต่างๆ ให้ความร่วมมือ ประชาชนให้ความร่วมมือ การ์ดไม่ได้ตก ตัวเลขที่เจอก็ไม่ใช่ตัวเลขที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ มาตรการควรที่จะสอดคล้องกับการบังคับใช้กฎหมายด้วย ควรที่จะผ่อนคลาย เพราะฉะนั้นไม่จำเป็นที่จะต้องคงพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไว้จนถึงสิ้นเดือน ก่อนสิ้นเดือนถ้าสถานการณ์ดีขึ้น ก็สามารถประกาศยกเลิกได้ และถ้าสถานการณ์ไม่ดีขึ้นก็ประกาศใช้อีกครั้งได้ ประชาชนจึงต้องแสดงออกด้านความคิดเห็นให้มาก และหวังว่าคนที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการนี้จะลดจำนวนน้อยลง”

ผศ.ดร.ภูมิ มูลศิลป์ กล่าวในเรื่องพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ตัดเขตอำนาจศาลปกครองว่า “คดีปกครองเป็นเรื่องที่รัฐใช้อำนาจกับประชาชน ความสำคัญอยู่ที่ว่าถ้าเราไปศาลปกครองโดยปกติจะใช้ระบบไต่สวน ซึ่งหมายความว่าตุลาการศาลปกครองจะมีบทบาทในการให้ความช่วยเหลือประชาชนได้เยอะ แต่ว่าในขณะที่ตัดอำนาจของศาลปกครอง คดีทุกอย่างจะวิ่งไปที่ศาลยุติธรรม ซึ่งใช้ระบบกล่าวหา ก็กลายเป็นว่าภาระในการพิสูจน์ทุกอย่างจะอยู่ที่ประชาชน เพราะฉะนั้นนี่เป็นหนึ่งในหลักที่สำคัญว่าหากรัฐใช้อำนาจไปแล้ว ก่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนเอง กลไกในการตรวจสอบของประชาชนถูกตัดแขนตัดขา ซึ่งเรามองว่า ในประเทศที่มีศาลปกครองจะพบว่า ถึงแม้ว่าอยู่ในสถานการณ์พิเศษเอง ศาลปกครองก็ยังมีอำนาจอยู่เพียงแต่ว่าอาจจะให้จบในศาลเดียวไม่มีสิทธิในการอุทธรณ์ ในขณะที่ประเทศไทยพบว่าในสถานการณ์พิเศษ กลับถูกดึงไปที่ศาลยุติธรรมซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างชัดเจน

ส่วนอื่นที่อยากจะมองปกติประเทศที่ ที่เป็นอำนาจนิยมมักจะใช้ความกลัวมาเป็นเครื่องมือในการกดสังคม ในขณะที่ฝั่งประชาธิปไตยมักจะมองกฎหมายพิเศษว่าเป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน และความกลัวที่สามารถกดสังคมได้ก็คือตัวเลขจากการที่ไม่มีตัวเลขผู้ติดเชื้อหรือมีน้อย เราชื่นชมบุคลากรทางการแพทย์ แต่ว่าถ้ามองในมุมกลับแปลว่าสถานการณ์พิเศษคลี่คลายไปแล้ว เพราะฉะนั้นแทนที่จะใช้ตัวเลขนี้เป็นตัวเลขที่กดความกลัวของสังคม มันน่าจะเป็นตัวเลขที่น่าจะเอามาอธิบายว่า เหตุฉุกเฉินน่าจะผ่อนคลายหรือยกเลิกไปเลยดีกว่า และหลายๆคนที่มองไปในอนาคตว่าหลังโควิด เศรษฐกิจพังระเนระนาดสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นสิ่งที่เกิดขึ้น ถ้าเรายังกดไม่ให้คนอื่นหรือประชาชนสามารถใช้สิทธิเสรีภาพที่จะทำให้ตัวเองมีชีวิตอยู่ได้ต่อไปในอนาคตแล้ว รัฐก็อาจจะไม่มีมาตรการที่ทำให้เรามั่นใจได้ว่าเราจะอยู่รอดหลังโควิดได้อย่างไร และถ้าเราไม่สามารถพึ่งรัฐได้ คือโดยหลักประชาชนก็มีสิทธิที่จะทำให้ตัวเองมีชีวิตรอด ล่าสุดศาลสูงของวิสคอนซินมีการบรรยายไว้น่าสนใจว่า ฝ่ายบริหารเองไม่ควรมีอำนาจในการกำหนดกะเกณฑ์ชีวิตคนที่ปฏิบัติตามกฎหมาย และมาตรการต่างๆ ที่รัฐกำหนดมาไม่ได้มีอะไรเป็นหลักประกันว่าจะสำเร็จจริงๆ เพราะฉะนั้นเจตจำนงในการที่จะกำหนดชีวิตตัวเองโดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะที่มันเกิดวิกฤตก็ควรเป็นของประชาชน และถ้ามองคำว่ายุติธรรมเองจะเห็นว่าสังคมไทยตีความคำว่ายุติธรรมต่างกันมากบางคนอาจจะสนับสนุนเลยว่าปิดประเทศปิดไปเลย คนกลุ่มนี้คือคนที่สามารถอยู่รอดได้ อันนี้คือความยุติธรรมชุดหนึ่ง แต่ความยุติธรรมของคนอีกชุดหนึ่งที่เขาบอกว่าเขาหาเช้ากินค่ำ และเราจะละเลยคนกลุ่มนี้ หรือบางคนออกมาบอกว่าอ่อนแอก็แพ้ไปอันนี้ก็คงไม่ใช่สังคมที่น่าอยู่เท่าใดนัก

สุณัย ผาสุข กล่าวว่า “สุดท้ายแม้แต่โอกาสที่จะตั้งคำถามว่ามาตรการของรัฐนั้นเป็นมาตรการที่สมเหตุสมผลหรือไม่มีประสิทธิภาพหรือไม่ เป็นไปอย่างถ้วนหน้าหรือไม่ ก็เป็นไปอย่างยากลำบาก เพราะเป้าหมายสำคัญของการใช้มาตรการฉุกเฉินอยู่คือการควบคุมข้อมูลข่าวสารเพื่อไม่ให้มีการตั้งคำถามกับรัฐบาล พอไปในทิศทางนั้นจึงกลายเป็นสภาวะที่ประชาชนถูกกระทำแต่เพียงด้านเดียว โดยที่ตั้งคำถามไม่ได้ จะให้ไประงับการกระทำที่เขาได้รับผลกระทบในทางลบก็ไม่ได้ เพราะว่าศาลปกครองถูกตัดออกไป ถามว่าเอาผิดกับเจ้าหน้าที่ เอาผิดกับการกระทำได้หรือไม่ก็ไม่ได้ แม้แต่บางเรื่อง เช่นเรื่องการให้อำนาจเจ้าหน้าที่ในการบังคับใช้กฎหมายโดยที่เขาไม่ใช่เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้กฎหมายโดยตรง ไม่มีการฝึก ไม่มีความชำนาญ ไม่มีการให้ความรู้อย่างทั่วถึง จะมีกรณีที่เจ้าหน้าที่ อส.ไปตั้งด่านแล้วก็จับคนไปให้ถูกดำเนินคดี”

 

เห็นควรยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เยียววิถีชีวิตประชาชนให้กลับมาเป็นปกติ

สุณัย ผาสุข กล่าวว่า “พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ต้องถูกยกเลิกถึงแม้ว่าจะมีการประกาศว่าพอถึงวันที่ 1 มิถุนายนจะบังคับใช้ไปถึง 30 มิถุนายน แต่ถ้าวิญญูชนเห็นแล้วว่าไม่มีความจำเป็น เห็นว่าหากประเทศไทยประสบความสำเร็จในการต่อสู้กับโควิด ก็ประกาศยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ หากวันใดที่มีเรื่องฉุกเฉินก็ค่อยประกาศใหม่ อย่าเอามาตรการฉุกเฉินไปใช้ในทางที่ไม่ชอบ ควรเอาไปใช้ในการแก้ปัญหาอย่างแท้จริง”

ภาวิณี ชุมศรี กล่าวว่า “ควรจะผ่อนคลายมาตรการให้คนกลับมาใช้ชีวิตได้มากขึ้น ให้กระทบกับเรื่องรายได้การทำมาหากินน้อยลง การบังคับใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ควรจะจำกัดใช้เฉพาะเรื่องเจตนารมณ์ที่แท้จริงในเรื่องของการแพร่ระบาด ซึ่งตรงไหนที่เป็นพื้นที่ปลอดภัยเพียงพอที่จะสามารถผ่อนคลายได้ เห็นว่ารัฐเองควรอ่อนตัวลง อย่างกรณีมีข่าวว่าจะให้โรงเรียนเอกชนเปิดเทอมเรียนหนังสือได้ เพราะโรงเรียนหลายพื้นที่ก็เริ่มเรียกร้องแล้ว คิดว่าก็ต้องค่อยๆผ่อนคลาย ในขณะที่ผ่อนคลายก็ดูว่าเกิดการแพร่ระบาดกลับมาหรือไม่ เช่นนี้เราสามารถทดลองผ่อนคลายได้ หรือแม้กระทั่งเคอร์ฟิวก็อาจสามารถยกเลิกได้เพราะว่าตอนนี้ประกาศให้เปิดร้านอาหารแล้ว ซึ่งสำหรับสถานบันเทิงก็อาจจะต้องมีความจำเป็นอยู่เนื่องจากมีความใกล้ชิดกัน มีความเสี่ยงอยู่”

ผศ.ดร.ภูมิ มูลศิลป์ กล่าวว่า “ในมิติของสังคม จะมองในเรื่องการแพร่ระบาดของโรค หรือการสาธารณสุขอย่างเดียวคงจะไม่ได้ มันยังมีมิติอื่นที่ยังต้องเอามาพิจารณา เช่น เรื่องเศรษฐกิจที่ผ่านมาชาวบ้านก็พูดว่าร้านใหญ่ นายทุนใหญ่สามารถเปิดร้านได้แต่ชาวบ้านเปิดร้านไม่ได้ ตกลงพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ใครได้ประโยชน์ หรือแม้ในมิติทางสังคมเองกลุ่มเปราะบางทั้งหลายอยากเข้าถึงการรับการช่วยเหลือ แต่ไม่สามารถรับความช่วยเหลือหรือเข้าถึงความช่วยเหลือได้ เพราะว่าการจัดการเรื่องข้อมูลไม่ดี หรืออย่างภาพที่เราเห็น มีคนไปแจกโจ๊กตอนเช้าแต่ถูกดำเนินคดีกลายเป็นอย่างนั้นไป หรือภาพที่คนไปแจกเงินแล้วคนก็เข้าคิวเป็นกิโลแถวดอนเมือง ตรงนี้เป็นภาวะที่ต้องมาคำนึงอย่างมาก หรือแม้กระทั่งเรื่องเด็กเองที่ต้องถูกกักในบ้านนานๆ ผมไม่ได้บอกว่าต้องไปโรงเรียนแล้วไปติดกันเหมือนในเกาหลีหรือฝรั่งเศส แต่ว่าต้องดูตามความจำเป็น เช่นจะเว้นระยะอย่างไร จะแบ่งห้องอย่างไรบ้าง อันนี้ยังไม่นับปัญหาทางสังคมในมิติเรื่องอาชญากรรมที่อาจจะเกิดขึ้นอีกในเร็วๆ นี้ ในภาวะที่คนไม่มีปัจจัย ซึ่งปัจจัยเหล่านี้แทนที่จะถูกนำมาคำนึง รัฐบาลกลับไปเอาปัจจัยเรื่องการเมืองมาเป็นตัวแปรในการที่จะยังคงใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อยู่ กล่าวโดยสรุป คือตอนนี้องค์ความรู้เรื่องนี้เรามีมากขึ้น เราต้องผ่อนคลายให้กับหน่วยงานที่เขามีหน้าที่จริงๆ ได้ดำเนินการ แล้วก็คิดถึงหลังโควิดว่าต้องดำเนินการอย่างไรบ้าง และปัจจัยเพื่อส่วนรวมควรจะมีมากกว่าความจำเป็นในมิติทางการเมืองที่จะทำให้ตัวเองอยู่ในอำนาจต่อไป”

ส.รัตนมณี พลกล้า กล่าวว่า “ยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เป็นทางที่ดีที่สุด เพราะว่าจะเอามาใช้แค่เรื่องการรวบอำนาจหรือว่าการบริหารจัดการ คิดว่าพ.ร.บ.โรคติดต่อฯ ให้อำนาจพวกนี้อยู่แล้ว พอมาใช้อำนาจตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เจ้าหน้าที่ผู้ใช้อำนาจไม่มีความเข้าใจ ก็จะถูกใช้ในประเด็นเรื่องของการคุกคาม สิ่งสำคัญคือทำให้ประชาชนไม่สามารถที่จะดำเนินชีวิตตามปกติที่เป็น New Normal ได้ถึงแม้ว่าจะมี New Normal ไปแล้ว คนอาจจะต้องสวมหน้ากาก มีระยะห่างระหว่างกัน การใช้เจลล้างมือแบบนี้แต่ถ้ายังมีตัวพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อยู่ไม่ได้ช่วยในเรื่องพวกนี้อีกต่อไปแล้ว สิ่งนี้เป็นเรื่องสำคัญ ที่อยากฝากอีกประเด็นหนึ่งคือเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจในการปฏิบัติงานโดยเฉพาะฝ่ายตำรวจ ทหาร ฝ่ายปกครอง ผู้ที่เข้าไปควบคุมตัวประชาชนที่ไม่เกี่ยวกับการควบคุมโรค ยิ่งจะเป็นการกดทับความเหลื่อมล้ำ กดทับความทุกข์ยากของเขาที่มีอยู่แล้วให้ยิ่งมีมากขึ้น ซึ่งอันนี้ไม่เป็นผลดีแน่นอนในระยะยาว เราเห็นสภาพประชาชนแล้วในช่วงโควิด เราไม่อยากเห็นมากขึ้นไปอีก ต้องมีการผ่อนปรน มีความเข้าใจสถานการณ์ของสังคม อย่างคนไร้บ้านที่ให้เขากลับไปอยู่บ้านตรงนี้เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ สิ่งที่ต้องทำคือต้องเข้าใจการใช้กฎหมายต้องไม่นำกฎหมายนี้มามากดทับคนอีกรอบหนึ่ง”