แรงงานข้ามชาติ แรงงานที่ตกหล่นจากการได้รับสิทธิเยียวยาจากรัฐในภาวะโควิด19 ระบาด : ปสุตา ชื้นขจร ผู้ประสานงานโครงการยุติธรรมเพื่อแรงงานข้ามชาติ

แรงงานข้ามชาติ แรงงานที่ตกหล่นจากการได้รับสิทธิเยียวยาจากรัฐในภาวะโควิด19 ระบาด : ปสุตา ชื้นขจร ผู้ประสานงานโครงการยุติธรรมเพื่อแรงงานข้ามชาติ

“ตอนนี้ภาครัฐมีมาตรการช่วยเหลือแรงงานอยู่ 2 ส่วนคือ ส่วนแรก ช่วยเนื่องจากเป็นผู้ประกันตน (ผู้ประกันตนหมายถึง ผู้ที่เข้าระบบประกันสังคม) ผู้ประกันตนจะเบิกได้มีอยู่ 3 กรณี ก็คือ 1.ลูกจ้างลาออก 2.นายจ้างเลิกจ้าง 3.มีเหตุสุดวิสัยที่นายจ้างจะต้องปิดกิจการชั่วคราว นายจ้างก็อ้างสถานการณ์โควิด19 มาใช้ เป็นเหตุสุดวิสัย แต่ช่วงแรกจะมีแค่บางกิจการที่โดนคำสั่งรัฐปิดถึงจะใช้สิทธิตรงนี้ได้ แต่ถ้ากิจการไหนที่ไม่โดนคำสั่งปิด ก็จะไม่ได้รับสิทธิดังกล่าว เช่น โรงแรม ซึ่งมีแรงงานข้ามชาติที่ทำงานเป็นแม่บ้านพ่อบ้านเยอะมาก บางสถานประกอบการดีหน่อย ลดวันทำงานของลูกจ้างลง และจ่ายค่าจ้าง 75 เปอร์เซ็นต์ ตามพ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน บางสถานประกอบการก็ไม่จ่าย ไม่รับผิดชอบอะไรเลย ส่วนที่สองก็คือ นโยบาย “เราไม่ทิ้งกัน” หรือนโยบายเงิน 5,000 บาท แรงงานนอกระบบไม่ใช่แรงงานที่เป็นผู้ประกันตน จึงไม่สู่สามารถเข้าสู่ระบบประกันสังคมได้ และเงินเยียวยา 5,000 บาทนั้น มันก็มีเงื่อนไขสำคัญ ก็คือต้องเป็นคนสัญชาติไทยเท่านั้น ซึ่งทำให้แรงงานข้ามขาติหมดสิทธิที่จะได้รับเงินคุ้มครองในส่วนนี้เพียงเพราะเขาไม่มีสัญชาติไทย”

“อยากให้ภาครัฐดูแลแรงงานข้ามชาติให้เสมอหน้ากับแรงงานไทย แรงงานไทยมีสิทธิอย่างไร เขาก็สมควรได้รับสิทธินั้นเท่าเทียมกัน และอยากให้ภาครัฐช่วยตรวจตรานายจ้าง ให้ปฏิบัติตามกฎหมายประกันสังคม เพราะลูกจ้างเสียสิทธิกันเยอะมาก เนื่องจากนายจ้างไม่ยอมนำเข้าระบบประกันสังคม”

ปสุตา ชื้นขจร ทนายความช่วยเหลือในประเด็นแรงงานข้ามชาติ เล่าว่า “ได้ไปเห็นประเด็นปัญหาของ บ้านดอนแก้ว ตอนไปออกค่ายที่ชัยภูมิกับสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ชาวบ้านโดนป่าไม้ขับไล่ที่ดิน ก็เห็นว่าเรื่องสิทธิเป็นเรื่องที่น่าสนใจ และประกอบกับที่เรามีเชื้อสายไทยใหญ่อยู่ จึงรู้สึกว่าเรื่องสัญชาติมันเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะขนาดเราเองที่เข้าถึงเทคโนโลยียังลำบากเวลาไปอยู่ที่อื่นเลย แล้วกลุ่มแรงงานข้ามชาติจะลำบากขนาดไหน จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการทำงานผลักดันสิทธิของแรงงานข้ามชาติ”

“ยิ่งตอนนี้ มีสถานการณ์เกี่ยวกับโรคระบาดโควิด19 เกิดขึ้น ทำให้แรงงานข้ามชาติได้รับผลกระทบอย่างมาก เนื่องจากงานก็ไม่มี กลับบ้านก็ไม่ได้ บางประเทศต้นทางปิดด่าน รายจ่ายก็ไม่ชดเชย สถานการณ์ในตอนนี้ก็ค่อนข้างน่าเป็นห่วง นายจ้างหลายๆ กิจการเขาก็เริ่มส่อแววว่าอาจจะต้องเลิกจ้าง และมันเริ่มมาหนักจริงๆ ช่วงที่จะมีการสั่งปิดจังหวัดเชียงใหม่ แต่ยังไม่ปิดด่าน คนงานก็เริ่มทยอยกลับบ้าน นายจ้างก็ไม่จ่ายค่าจ้าง ยกตัวอย่างสถานการณ์คนงานที่เชียงใหม่ นายจ้างส่วนใหญ่ไม่ค่อยเอาลูกจ้างเข้าสู่ระบบประกันสังคม เขาไม่อยากจ่ายเงินสมทบในส่วนของนายจ้าง 5 เปอร์เซ็นต์ เพราะมันเป็นการไปเพิ่มภาระให้นายจ้าง คนงานก็เข้าไม่ถึงสิทธิ”

“ในสถานการณ์โควิด19 ทำให้เห็นปัญหาในด้านสิทธิของแรงงานข้ามชาติชัดขึ้น คือรัฐไทยยังดูแลคนด้วยเงื่อนไขว่า ต้องเป็นคนสัญชาติไทยเท่านั้น เหมือนเป็นการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ แม้ภาครัฐจะมีนโยบายหรือมาตรการที่เกี่ยวกับแรงงานข้ามชาติเยอะ เช่น เรื่องค้ามนุษย์ แต่พอเกิดวิกฤตแบบนี้ ก็ทำให้เราเห็นความจริงที่ว่า จริงๆ แล้วรัฐยังไม่มีนโยบายในการช่วยเหลืออะไรแบบจริงจัง เช่น สังเกตจากประกาศของกระทรวงแรงงานช่วงนี้ บอกว่าห้ามขนย้ายแรงงานข้ามชาติออกจากจังหวัดนึงไปยังจังหวัดนึง ช่วงก่อนที่ด่านแม่สายจะปิด ส่วนหนึ่งก็เพราะว่าคนงานทยอยกันกลับบ้านโดยผ่านด่านแม่สาย พอเริ่มเข้ามากันเยอะ ก็เลยสั่งปิดจังหวัด คนงานกลับบ้านไม่ได้ ก็ต้องไปอาศัยที่วัด ตอนหลังก็มีส่วนราชการเข้ามาจัดการระบบใหม่ ทีนี้พอส่งแรงงานกลับไปหมด ก็เหมือนกับล็อคดาวน์เชียงรายเลย จังหวัดปิดห้ามคนงานเข้าอีก”

“เนื่องจากตอนนี้มีกลุ่มแรงงานข้ามชาติ หรือกลุ่มแรงงานต่างด้าวที่ไม่ได้กลับบ้าน เนื่องจากด่านตอนนี้ปิดลงแล้ว ทางมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา ก็พยายามสอบถามไปยัง โครงการ “คนไทยไม่ทิ้งกัน” เปิดบ้านพักสะอาด พร้อมบริการอาหารฟรี 3 มื้อ ที่เป็นนโยบายของ นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยสอบถามไปว่าแรงงานเราสามารถไปพักได้ไหม เจ้าหน้าที่เขาก็ตอบมาว่าให้เฉพาะคนไร้บ้านที่มีสัญชาติไทยเท่านั้น เราก็เลยถามไปทางกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เขาก็บอกว่าไม่ได้เลือกปฏิบัติ ใครจะเข้ามาพักก็ได้ แต่พอเอาเข้าจริง เจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการก็ยังยืนยันว่าต้องเป็นคนไทยเท่านั้น สุดท้ายก็คือยังมีเงื่อนไขสำหรับคนไร้สัญชาติและแรงงานข้ามชาติอยู่ดี ทำให้แรงงานข้ามชาติเข้าไม่ถึงสิทธิในส่วนนี้

ส่วนตอนนี้หน่วยงานที่เข้ามาช่วยเหลือ ในส่วนของพื้นที่เชียงใหม่ก็จะมีเครือข่ายแรงงานในเชียงใหม่ ที่เป็นภาคประชาสังคม ซึ่งตอนนี้ก็ได้งบบางส่วนมาจากการบริจาค และทางมูลนิธิฯ เองก็มีแหล่งทุนที่คอยให้การสนับสนุน ให้ความช่วยเหลือฉุกเฉินส่วนนี้อยู่ก็คือ International Labour Organization องค์การแรงงานสากล หรือ ILO และช่วงระยะหลังมานี้ก็เริ่มมีนักวิชาการที่ทำงานเกี่ยวกับด้านพหุวัฒนธรรม หรือว่าทำงานเรื่องแรงงานข้ามชาติทั้งหลาย ก็เริ่มขยับเข้ามาช่วยสนับสนุน หรือแม้แต่แรงงานด้วยกันเองก็ช่วยกันรับบริจาคและสนับสนุนกันเอง”

“ปัจจุบันที่มีการประกาศ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ คิดว่าถ้าออกมาเพื่อควบคุมสถานการณ์โรคระบาดโควิด19 มันก็ดี แต่ว่ามันต้องมีมาตรการในการดูแลคนทุกคนจริงๆ ไม่ใช่มีการเลือกปฏิบัติ กำหนดไม่ให้คนออกจากบ้านแล้วคนหาเช้ากินค่ำ หรือมีอาชีพค้าขาย เขาจะทำมาหากินได้อย่างไร

ส่วนวิธีการรับมือกับสถานการณ์โรคระบาดโควิด19 มาตรการแรกเราจะเริ่มทำการเก็บข้อมูล โดยการสำรวจคนงานว่าสถานประกอบการใดถูกปิดบ้าง เขาต้องการความช่วยเหลือยังไง ส่วนมาตรการที่สอง การเผยแพร่ข่าวสารว่าคนงานสามารถใช้สิทธิอะไรได้บ้าง ช่วงนี้ก็มีการแปลเอกสารนโยบาย เป็นภาษาของคนงาน เพราะว่าคนงานมีกลุ่มชาติพันธุ์เยอะมาก พยายามแปลให้เป็นภาษาของเขาให้ได้มากที่สุด เขาจะได้เข้าถึงข้อมูลต่างๆ และไม่ตกหล่นในสิทธิที่เขาควรได้รับ”

_____________________
#HRLAmember บอกเล่าเรื่องราวนักกฎหมาย ทนายความ หรือผู้ที่ทำงานและสนใจผลักดันประเด็นสิทธิมนุษยชน ท่ามกลางสถานการณ์ที่เกิดโรคไว้รัสโควิด19 ระบาดไปทั่วโลก หลายภาคส่วนต้องประสบปัญหาทั้งด้านเศรษฐกิจ การเงิน สุขภาพ หรือแม้กระทั่งการเข้าถึงสิทธิในกระบวนการยุติธรรม ปัญหาที่เกิดขึ้นเหล่านี้ รัฐอาจตกหล่นในการดูแล ปรับปรุง และแก้ไข สนส.จึงขอเป็นพื้นที่หนึ่งในการสะท้อนปัญหา และข้อเสนอแนะผ่านมุมมองและเรื่องราวของคนที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนในประเด็นที่แตกต่าง และอยู่ในหลากหลายพื้นที่กัน