เสนอยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ควบคุมโควิด19 – ใช้ concept รักษาคน ควบคุมโรค ไม่ใช่ควบคุมคน รักษาโรค และการผลักดันระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า : นิมิตร์ เทียนอุดม กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ

เสนอยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ควบคุมโควิด19 – ใช้ concept รักษาคน ควบคุมโรค ไม่ใช่ควบคุมคน รักษาโรค และการผลักดันระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า : นิมิตร์ เทียนอุดม กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ

ระบบหลักประกันสุขภาพ เป็นระบบที่มีความสำคัญเป็นอย่างมากในสถานการณ์ที่มีโรคไวรัสโควิด19 ระบาดอย่างเช่นปัจจุบัน ในภาวะที่ประชาชนต่างก็ขาดรายได้ และประสบปัญหาด้านเศรษฐกิจไม่ต่างกัน ซึ่งไม่ใช่ทุกคนที่จะพร้อมสำหรับการรับมือเมื่อต้องเจ็บป่วย ขาดงาน และขาดรายได้ การมีระบบหลักประกันสุขภาพที่ดีในประเทศ และพร้อมจะดูแล เยียวยาประชาชนจึงเป็นเรื่องที่ทุกคนควรให้ความสนใจ และร่วมผลักดันไปด้วยกัน

นิมิตร์ เทียนอุดม กลุ่มคนรักประกันสุขภาพ ผู้ซึ่งทำงานผลักดันในเรื่องของระบบหลักประกันสุขภาพ เล็งเห็นความสำคัญของการมีส่วนร่วมของประชาชน ให้ประชาชนรู้จักระบบหลักประกันสุขภาพ และสามารถเข้าถึงสิทธิในระบบนี้ได้ สิ่งที่กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพทำคือ ไปให้ความรู้ให้ความเข้าใจเรื่องระบบหลักประกัน เรื่องสิทธิประโยชน์ (สิทธิต่างๆ ที่ออกตามพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพฯ) กับเครือข่ายทั้ง 9 เครือข่าย

เดิมทีมีการประกาศตัดงบบัตรทอง 2.4 พันล้าน ซึ่งปัจจุบันได้มีการถอยแล้ว แต่ทางกลุ่มยังจับตาอยู่ เนื่องจากการตัดงบบัตรทองในภาวะการระบาดของไวรัสโควิด19 ซึ่งเป็นงบรักษาพยาบาลประชาชน ซึ่งในสถานการณ์นี้ควรจะเพิ่มให้ด้วยซ้ำ เรื่องผลกระทบคือจะทำให้โรงพยาบาลมีรายรับน้อยลง พอโรงพยาบาลมีงบน้อยลงก็จะไปกระทบต่อคุณภาพของการรักษา และอาจจะทำให้เกิดการล่าช้า หรือในแง่ของการรักษา เช่น โรคเรื้อรังที่อาจจะมีกำหนดรับยาครั้งหนึ่ง 3 หรือ 4 เดือนต่อครั้ง และหากงบประมาณมีปัญหา อาจจะให้เอายาไปครั้งละเดือนก่อน ดังนั้น ประชาชนก็ต้องเดือดร้อนที่ต้องมาโรงพยาบาลบ่อย แทนที่ 3 เดือนจะมาครั้งหนึ่ง ประเด็นหลักก็คือผู้ให้บริการจะได้รับผลกระทบก่อน เพราะว่าเงินได้รับน้อยลง พอรายรับน้อยลง มันก็จะทำให้สภาพคล่องของการบริหารจัดการ การให้บริการก็อาจได้รับการกระทบกระเทือน และผลกระทบก็จะไปถึงประชาชน ซึ่งโดยระบบของหลักประกันสุขภาพออกแบบว่าไม่ให้เรียกเงิน ไม่ว่ากรณีใดๆ ก็แล้วแต่ ดังนั้นประชาชนไม่ได้รับผลกระทบจากการถูกเรียกเก็บเงินโดยตรง แต่จะถูกกระทบโดยคุณภาพของบริการที่จะได้รับนิมิตร์ กล่าวถึงผลกระทบต่อประชาชน หากมีการตัดงบบัตรทองในสถานการณ์เช่นนี้

นิมิตร์ กล่าวถึงผลกระทบจากโควิด19 ต่อผู้กลุ่มผู้ป่วยต่างๆ ว่า กลุ่มของผู้ป่วยโรคเรื้อรังจะได้รับผลกระทบมาก เนื่องจากพวกเขาจำเป็นจะต้องได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง เพราะฉะนั้นคนกลุ่มนี้จะต้องมีนัดไปโรงพยาบาลอยู่เรื่อยๆ ตามวาระ ซึ่งในภาวะเช่นนี้ เขาอาจจะถูกเลื่อนนัด หรือว่าจะต้องมีคนไปเยี่ยมที่บ้าน หายาไปส่ง และอาจจะล่าช้าบ้าง ตรงนี้ก็เริ่มมีปัญหาให้เห็น คือตรงนี้รัฐควรต้องจัดระบบขึ้นมาดูแลกลุ่มผู้ป่วยเรื้อรังเหล่านี้ ว่าจะดูแลพวกเขาอย่างไร ซึ่งโดยปกติเขาจะไปหาหมอเองตามนัด ตอนนี้ก็อาจจะใช้วิธีไปรษณีย์ แต่ว่ามันก็มีปัญหาว่าผู้ป่วยที่ติดเชื้อ HIV และบางทีเขาไม่ได้บอกคนที่บ้านว่าเขาติดเชื้อ มันก็จะมีปัญหาเรื่องความลับ อันนี้ก็ต้องจัดการละเอียดขึ้นเป็นรายบุคคล ซึ่งปัญหาเหล่านี้คือเกิดจากการที่เขาไปหาหมอตามนัดไม่ได้

ในส่วนของมาตรการเยียวยาของรัฐในสถานการณ์ปัจจุบัน นิมิตร์สะท้อนว่า นโยบายของรัฐที่ออกมาอย่างแรกต้องพูดถึงเรื่องหลักการก่อน คือการเยียวยาเป็นเรื่องจำเป็น และการเยียวยาต้องใช้ระบบถ้วนหน้า ไม่ใช่ใช้วิธีคัดเลือก ซึ่งกลไก และวิธีการคัดเลือกมีปัญหา ไม่ว่าจะในเรื่องของความแม่นยำ ความน่าเชื่อถือของเกณฑ์การคัดเลือกคนที่ประสบปัญหาจริงๆ เพราะฉะนั้นโดยหลักการที่เราคิดคือ มันต้องเป็นระบบแบบถ้วนหน้า เพราะว่าเวลาคนเดือดร้อน คนไม่ได้ไปทำงาน ต้องหยุดงาน ขายของไม่ได้ ดำเนินชีวิตตามปกติไม่ได้ มันเดือดร้อนเป็นห่วงโซ่ต่อเนื่องถึงกันหมด เพราะฉะนั้นจะไปบอกว่าให้เฉพาะคนกลุ่มนั้นกลุ่มนี้ไม่ได้ เพราะเดือดร้อนกันถ้วนหน้าซึ่งตรงนี้เป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องหาวิธีบริหารจัดการงบประมาณ

อย่างที่กลุ่มทำงาน เราทำงานกับกลุ่มคนหลากหลาย เราคิดว่าเดือดร้อนทั้งหมด เช่น กลุ่มผู้พิการ ผู้พิการบางคนได้เงินเยียวยา ผู้พิการบางคนไม่ได้ ผู้ติดเชื้อบางคนกรอกข้อมูลเหมือนกัน ขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้างเหมือนกัน ติดเชื้อเหมือนกัน แต่ว่าบางคนได้ บางคนไม่ได้ เพราะอย่างนี้มันทำให้เราเห็นว่าระบบการคัดเลือกมันไม่เหมาะกับการแก้ปัญหาของความเดือดร้อนแบบนี้ มันถือเป็นเงินช่วยเหลือ เงินให้เปล่าของรัฐที่มันจะต้องมีความถ้วนหน้าถึงจะแก้ปัญหาได้

นิมิตร์ เสนอความเห็นต่อการใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เป็นมาตรการยับยั้งโรคระบาดว่า ไม่เห็นด้วยกับการใช้พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ แล้วก็ไม่เห็นด้วยที่จะให้มีการเลื่อนหรือต่ออายุพ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ คือส่วนตัวเชื่อว่า พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ เพียงพอที่จะใช้กำกับหรือควบคุม การดูแลเรื่องการระบาดของโรคแล้ว และมาตรการทางการแพทย์ควรจะรัดกุม ทีนี้เราใช้มาตรการทางการแพทย์อย่างเดียวไม่ได้ เราต้องใช้มาตรการทางสังคมด้วย เวลาที่คุณสั่งหยุด ธุรกิจทุกอย่างหยุด ชีวิตของประชาชนเดินต่อไปไม่ได้ก็ยิ่งแย่ เพราะฉะนั้นการคุมโรคติดต่อก็มี พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ ที่จะให้อำนาจผู้ว่าฯ แต่ละจังหวัดอยู่แล้วในการดูแล หรือสนับสนุนเครื่องไม้เครื่องมือในการป้องกันการติดเชื้อของประชาชนได้ ซึ่งเรื่องพวกนี้เป็นเรื่องที่สำคัญกว่าการกำหนดห้ามทุกอย่าง ปิดทุกอย่าง อีกเรื่องคือ ประชาชนทุกคนไม่อยากติดโรค และพร้อมจะให้ความร่วมมือ เราต้องใช้ Concept เริ่มที่ป้องกันจากตัวเองก่อน ให้เขาป้องกันตัวเอง เท่ากับป้องกันคนอื่น และเสนอว่า พอแล้ว หยุด เลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ต้องใช้ Concept ว่า รักษาคน ควบคุมโรค ไม่ใช่ควบคุมคน รักษาโรค

____________________

#HRLAmember บอกเล่าเรื่องราวนักกฎหมาย ทนายความ หรือผู้ที่ทำงานและสนใจผลักดันประเด็นสิทธิมนุษยชน ท่ามกลางสถานการณ์ที่เกิดโรคไว้รัสโควิด19 ระบาดไปทั่วโลก หลายภาคส่วนต้องประสบปัญหาทั้งด้านเศรษฐกิจ การเงิน สุขภาพ หรือแม้กระทั่งการเข้าถึงสิทธิในกระบวนการยุติธรรม ปัญหาที่เกิดขึ้นเหล่านี้ รัฐอาจตกหล่นในการดูแล ปรับปรุง และแก้ไข สนส.จึงขอเป็นพื้นที่หนึ่งในการสะท้อนปัญหา และข้อเสนอแนะผ่านมุมมองและเรื่องราวของคนที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนในประเด็นที่แตกต่าง และอยู่ในหลากหลายพื้นที่กัน