โควิด-19 เพิ่มความท้าทายการเข้าถึงสิทธิของคนพิการ-รัฐควรคำนึงถึงสภาพเฉพาะของกลุ่มคนพิการแต่ละประเภท : นฤมล กาญวงษา กลุ่มผู้พิการ

โควิด-19 เพิ่มความท้าทายการเข้าถึงสิทธิของคนพิการ-รัฐควรคำนึงถึงสภาพเฉพาะของกลุ่มคนพิการแต่ละประเภท : นฤมล กาญวงษา กลุ่มผู้พิการ

นฤมล กาญวงษา เธอเป็นบุคคลที่พิการทางการมองเห็น ประเภทสายตาเลือนราง มองเห็น 2 ข้าง ตาซ้ายมองเห็นมากกว่าข้างขวา แต่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้เกือบเทียบเท่ากับคนร่างกายปกติ ที่ผ่านมาได้ทำงานผลักดันประเด็นสิทธิของคนพิการ ต้องต่อสู้กับผู้คนหรือองค์กรที่ปฏิบัติต่อคนพิการอย่างไม่เสมอภาค และไม่คำนึงถึงศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ เธอได้สะท้อนถึงปัญหาที่กลุ่มผู้พิการต้องประสบในภาวะที่มีโรคไวรัสโควิด-19 ระบาด “เดิมทีพ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการได้กำหนดสิทธิ์ที่คนพิการควรจะได้รับมากมาย แต่ในทางปฏิบัติคนพิการไม่สามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้จริง เช่น

  1. การเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ที่มีข้อจำกัด และเงื่อนไขมากมาย จนไม่สามารถเข้าถึงได้ เช่นหากจะได้รับต้องดูหลักเกณฑ์เรื่องรายได้ของคนพิการ และคดีต้องมีเปอร์เซ็นต์ที่จะชนะมากกว่าแพ้คดี และต้องเป็นคดีที่ต้องไม่มีมูลค่าทางทรัพย์สิน จึงจะได้รับการพิจารณาให้ความช่วยเหลือ และมีการตั้งคณะกรรมการพิจารณาที่มากเกินไป จนทำให้ไม่ทันต่อความช่วยเหลือทางคดี และยังมีคนพิการที่รู้น้อยมากว่าตนเองมีสิทธิ์ในข้อนี้น้อยมาก
  2. เว็บไซด์ที่ใช้เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ ของรัฐและเอกชน คนพิการทางการมองเห็นยังไม่สามารถเข้าถึงได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะบางเว็บไซด์ โปรแกรมที่ใช้อ่านหน้าจอสำหรับคนตาบอด ไม่สามารถอ่านได้เนื่องจากเป็นข้อความภาพ หรือติดเงื่อนไขทางเทคนิคบางประการ
  3. สิ่งอำนวยความสะดวกสาธารณะต่าง ๆ เช่นลิฟท์ที่ไม่มีเสียงพูด หรือปุ่มกดที่อยู่ในระดับที่สูงเกินกว่าระดับของคนนั่งรถเข็นจะกดได้ ป้ายบอกทางที่ไม่มีเสียงพูด หรือมีขนาดตัวอักษรที่เล็กจนคนสายตาเลือนรางหรือผู้สูงวัยมองไม่ชัดเจน ทางลาดที่อยู่ในระดับที่ไม่เหมาะสมยังทำให้คนพิการยังไม่สามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้จริงตามที่กฎหมายกำหนด
  4. กฎหมายด้านการจ้างงานคนพิการ ได้ถูกนำมาตีความเพื่อช่วยคนพิการใลักษณะของการสงค์เคราะห์ มากกว่าที่จะถูกใช้เพื่อช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตคนพิการในความเท่าเทียมด้านอาชีพ และการอยู่ในสังคมด้วยความภาคภูมิและมีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์

ซึ่งในสถานการณ์ที่มีโรคไวรัสโควิด-19 ระบาดนั้น ปัญหาที่กล่าวมาข้างต้นก็ไม่ได้เปลี่ยนไป และยังส่งผลกระทบบางประเด็นที่แย่กว่าในสภาวะปกติ เช่น คนตาบอดที่ไม่ชำนาญในการใช้เทคโนโลยี ไม่สามารถเข้าถึงเว็บไซด์ที่เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวกับสถานการณ์การเกิดโรคระบาดได้ หรือคนพิการที่ชำนาญในการใช้เทคโนโลยีอาจเข้าถึงได้ แต่โปรแกรมอ่านหน้าจอไม่สามารถอ่านข้อความบนเว็บไซด์ได้ครบถ้วนและถูกต้องทั้งหมด ซึ่งในภาวะเช่นนี้ก็มีหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนเข้ามาให้ความช่วยเหลือ เช่น สมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทยมีการตั้งศูนย์ช่วยเหลือ และมูลนิธิธรรมิกชนเพื่อคนตาบอดในประเทศไทย ในประบรมราชูปถัมภ์เป็นศูนย์กลางในการรับบริจาคสิ่งของที่จำเป็น และกระจายสิ่งของที่ได้รับบริจาค ไปให้คนตาบอดทั่วประเทศ, สมาคมบัณฑิตย์ตาบอดไทย และกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ มีการจัดสวัสดิการให้เงินช่วยเหลือแก่สมาชิกผู้ประสบภัย รายละ 1,000 บาท เป็นต้น

แต่ถึงแม้จะมีองค์กร มูลนิธิ หรือสมาคมต่าง ๆ ตั้งศูนย์ขึ้นมาช่วยเหลือคนพิการกันอย่างมากมาย แต่ในความเป็นจริงแล้ว มูลนิธิ หรือสมาคมต่าง ๆ ก็มักจะแจกจ่ายข้าวของที่ได้รับบริจาค โดยถูกกระจุกอยู่เฉพาะกลุ่มผู้นำองค์กร และสมาชิกที่เป็นกลุ่มคนที่รู้จักมักคุ้นหรือเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ของสมาคม/มูลนิธิฯเท่านั้น ส่วนคนที่ไม่ประสงค์จะเข้ามามีส่วนร่วมกับกิจกรรมต่าง ๆ ของ มูลนิธิหรือสมาคมต่าง ๆ ก็ไม่สามารถเข้าถึงสิ่งของที่ได้รับบริจาค และไม่ได้รับทราบข้อมูลข่าวสารการช่วยเหลือใด ๆ จากองค์กรดังกล่าวเลย”

ในส่วนของมาตรการเยียวยาของรัฐ เช่น มาตรการเยียวยาวด้วยเงิน 5,000 บาท หรือ การลดค่าไฟฟ้า นฤมลได้สะท้อนถึงมาตรการเหล่านี้กับผลกระทบที่ผู้พิการได้รับ ว่า “ยังมีความไม่เหมาะสมและเพียงพอ เนื่องจากคนพิการที่สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารการจ่ายเงินเยียวยา 5,000 บาท หรือมาตรการช่วยเหลือเยียวยาต่าง ๆ จากภาครัฐนั้น ส่วนมากเป็นกลุ่มคนพิการที่มีความรู้ และสามารถใช้เทคโนโลยีได้  ซึ่งเป็นคนพิการเพียงจำนวนน้อยมากเมื่อเทียบกับสัดส่วนของคนพิการทั้งหมดของประเทศ ซึ่งยังมีคนพิการอีกมากมาย ที่ประกอบอาชีพอิสระ เช่น เก็บของเก่า หาบเร่ ที่ไม่รู้หนังสือ และไม่ได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารว่ารัฐได้มีมาตรการเยียวยาดังกล่าว จึงทำให้ขาดโอกาสในการได้รับสิทธิ์ รวมถึงไม่เห็นด้วยกับกลุ่มคนพิการที่ไม่ได้อยู่ในระบบการทำงาน ที่เข้าไปยื่นหนังสือเพื่อเรียกร้องให้จ่ายเงินเยียวยา 5,000 บาท ให้แก่ผู้พิการทุกคนที่มีบัตรประจำตัวคนพิการ เนื่องจาก คนพิการที่ไม่ได้อยู่ในระบบการทำงาน แต่ได้รับผลกระทบ ก็ควรใช้มาตรการเยียวยาด้านสังคมสงค์เคราะห์ที่แยกต่างหาก และควรมีระบบคัดกรองที่ชัดเจน เพื่อไม่ให้คนพิการบางคนได้รับสิทธิซ้ำซ้อน เพราะคนพิการที่มีบัตรประจำตัวบางราย ก็เป็นข้าราชการ และอีกหลายราย ก็ยังประกอบกิจการงานได้ตามปกติ ไม่ได้มีผลกระทบจากการถูกเลิกจ้างหรือลดเงินเดือน หากจ่ายตามเงื่อนไขของกลุ่มผู้พิการเรียกร้อง คือจ่ายตามรายชื่อของทุกคนที่มีบัตรประจำตัวคนพิการ เห็นว่าไม่ได้ตอบโจทย์การแก้ปัญหาของผู้ที่เดือดร้อนและได้รับผลกระทบอย่างแท้จริง”

การประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และออกมาตรการเช่น การห้ามออกนอกเคหะสถาน(เคอร์ฟิว)ในเวลากลางคืน, การห้ามเดินทางข้ามจังหวัด, การห้ามรวมตัวรวมกลุ่ม, การประกาศปิดห้างสรรพสินค้าหรือร้านค้าที่ไม่ใช่สินค้าอุปโภคบริโภค เหล่านี้ นฤมลสะท้อนว่ามีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของกลุ่มผู้พิการเป็นอย่างมาก “การจะทำกิจกรรมทางสังคมใด ๆ  ของคนพิการ หากไปที่ห้างสรรพสินค้า จะได้รับการอำนวยความสะดวกที่มากกว่า การไปนอกห้างสรรพสินค้า กล่าวคือ การไปธนาคาร การไปจ่ายค่าโทรศัพท์ การไปซื้อข้าวของเครื่องใช้ที่อยู่ภายในห้างสรรพสินค้า จะมีพนักงานของห้างสรรพสินค้าที่คอยอำนวยความสะกวก นำพาคนพิการไปทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่ว่ามานี้ แต่เมื่อห้างสรรพสินค้าถูกปิด และคนพิการต้องไปติดต่อในสถานที่ ที่อยู่นอกห้างสรรพสินค้า คนพิการจะต้องจ้างวินมอร์เตอร์ไซค์ แท็กซี่ หรือบุคคลอื่น เพื่อเป็นคนนำพาให้เข้าถึงกิจกรรมต่าง ๆ เหล่านั้น ซึ่งทำให้เสียค่าใช้จ่ายที่มากขึ้นเป็นเท่าตัว

และการห้ามเดินทางข้ามจังหวัด หรือการห้ามรวมตัวกันนั้น ส่งผลกระทบเป็นอย่างมากต่อการใช้ชีวิตของคนพิการ เพราะคนพิการหลายคนมีอาชีพหลักเป็นวิทยากร ซึ่งมีรายได้หลักมาจากการจัดงานอบรมสัมมนาต่าง ๆ ซึ่งเมื่อรัฐสั่งห้ามไม่ให้มีการจัดงานสัมมนาต่าง ๆ คนพิการกลุ่มนี้จึงขาดรายได้ และคนพิการที่ควรจะได้รับอบรมให้ความรู้การฝึกทักษะต่างๆ จากงานสัมมนา ดังกล่าว ก็ขาดโอกาสในการพัฒนาทักษะต่าง ๆ เหล่านี้ไปด้วย

อีกทั้งการเว้นระยะห่างทางสังคม ส่งผลกระทบโดยตรงต่อคนพิการ เนื่องจาก การให้ความช่วยเหลือคนพิการจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใช้การสัมผัสใกล้ชิด เช่นคนตาบอด จะต้องใช้ผู้นำทาง ซึ่งต้องให้คนตาบอดจับข้อศอกเพื่อนำทาง คนพิการทางการเคลื่อนไหว ก็จะต้องช่วยเข็นรถวิลแชร์ ก็จำเป็นที่จะต้องอยู่ใกล้ชิด และคนพิการทางสติปัญญาบางราย ผู้ปกครองก็จะต้องจับข้อมือ หรือจับแขนคนพิการนั้นไว้ตลอดเวลาในระหว่างที่ออกมาทำกิจกรรมทางสังคม เพื่อความปลอดภัยของตัวคนพิการเอง แต่เมื่อมีแนวนโยบายการเว้นระยะห่างทางสังคมเกิดขึ้น คนพิการหลายๆ คนก็ไม่สามารถออกมาทำกิจกรรมทางสังคมได้ตามปกติ และต้องเสียค่าใช้จ่ายที่มากขึ้นในการจ้างให้บุคคลอื่นไปทำกิจกรรมทางสังคมต่างๆ แทน เช่น จ้างไปซื้อข้าวของเครื่องใช้ที่จำเป็น หรืออาหาร เป็นต้น

การออกมาตรการเยียวยาต่างๆ ของภาครัฐจึงควรคำนึงถึงสภาพความเฉพาะของความพิการแต่ละประเภทด้วย เช่นดังที่กล่าวไว้แล้วข้างต้น เช่น คนตาบอดต้องใช้คนนำทาง หรือการใช้มือสัมผัสสิ่งของในการเลือกซื้อสินค้า เป็นต้น

ความท้าทายอีกอย่างหนึ่งของการทำงานผลักดันในประเด็นสิทธิของคนพิการ นฤมลสะท้อนว่า “ความท้าทายที่มากที่สุดกลับเป็นการต่อสู้ในทางความคิดในการอยากพัฒนาคุณภาพชีวิตของตัวคนพิการเอง เช่น คนพิการต้องการเรียกร้องสิทธิทางกฎหมายให้มีสภาพบังคับต่อสังคมให้มีการช่วยเหลือและยอมรับ มากกว่าการพัฒนาคุณภาพและคุณค่าจากภายใน ให้สังคมเข้าใจและยอมรับ ซึ่งจะเป็นการพัฒนาที่มีความยั่งยืนและมั่นคงกว่าการพัฒนาจากปัจจัยภายนอก

และในระบบการศึกษา ที่ไม่อาจสร้างการตระหนักรู้คุณค่าต่อตัวเองที่แท้จริงให้แก่คนพิการ เช่น มีคนพิการเป็นจำนวนไม่น้อย ที่สำเร็จการศึกษาถึงระดับปริญญาตรี โท  หรือเอก แต่ไม่สามารถใช้ชีวิตโดยเลิกระบบการพึ่งพิงจากองค์กรเพื่อ หรือ ของคนพิการได้โดยสิ้นเชิง กล่าวคือ ไม่สามารถใช้ชีวิตอยู่ในสังคมร่วมกับคนปกติได้อย่างเต็มภาคภูมิและมีความสง่างามเหมือนสังคมคนพิการในประเทศที่พัฒนาแล้วในตะวันตก

ที่สำคัญที่สุดระบบสังคมสงค์เคราะห์ในประเทศไทย ไม่ได้มีกระบวนการ empower ที่ช่วยยกระดับจิตใจให้คนพิการผู้เข้ารับบริการกับระบบสังคมสงค์เคราะห์ เกิดการตระหนักรู้คุณค่าภายในตัวเอง แต่ระบบสังคมสงเคราะห์ในไทยกลับนิยมให้เด็กพิการ หรือผู้ด้อยโอกาสที่อยู่ภายใต้การดูแล แสดงภาพลักษณ์ที่น่าสงสาร น่าเวทนาต่อสังคม เพื่อให้ได้รับเงินบริจาคหรือเงินสนับสนุนจากผู้มีจิตศรัทธา จนเหมือนเป็นการตอกย้ำในจิตใต้สำนึกของคนพิการเอง ว่าเขาคือคนที่น่าสงสารจนยากต่อการพัฒนาศักยภาพของพวกเขาได้”

 

#HRLAmember บอกเล่าเรื่องราวนักกฎหมาย ทนายความ หรือผู้ที่ทำงานและสนใจผลักดันประเด็นสิทธิมนุษยชน ท่ามกลางสถานการณ์ที่เกิดโรคไว้รัสโควิด19 ระบาดไปทั่วโลก หลายภาคส่วนต้องประสบปัญหาทั้งด้านเศรษฐกิจ การเงิน สุขภาพ หรือแม้กระทั่งการเข้าถึงสิทธิในกระบวนการยุติธรรม ปัญหาที่เกิดขึ้นเหล่านี้ รัฐอาจตกหล่นในการดูแล ปรับปรุง และแก้ไข สนส.จึงขอเป็นพื้นที่หนึ่งในการสะท้อนปัญหา และข้อเสนอแนะผ่านมุมมองและเรื่องราวของคนที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนในประเด็นที่แตกต่าง และอยู่ในหลากหลายพื้นที่กัน