เมื่อราษฎรลุกขึ้นโต้กลับ : 10 คดีที่ราษฎรฟ้องกลับ ตั้งแต่ตุลาคม 2563 – สิงหาคม 2564

เมื่อราษฎรลุกขึ้นโต้กลับ : 10 คดีที่ราษฎรฟ้องกลับ ตั้งแต่ตุลาคม 2563 – สิงหาคม 2564

นับตั้งแต่ช่วงเดือนสิงหาคม 2563 ที่มีประชาชนออกมาใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกเป็นจำนวนมาก กระจายไปทั่วประเทศ ทุกคนต่างส่งเสียงถึงความเดือดร้อน ความเหลื่อมล้ำ ไม่เป็นธรรม และความอยากมีชีวิตที่ดีกว่านี้ โดยหวังให้เสียงที่ส่งออกมาไปถึงรัฐบาลหรือผู้มีอำนาจ แต่ยิ่งประชาชนส่งเสียง หรือยิ่งออกมาชุมนุม ใช้สิทธิเสรีภาพของตนเอง ภาครัฐกลับยิ่งใช้ทุกมาตรการเพื่อจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นมาตรการทางกฎหมาย การใช้อำนาจที่ไม่จำเป็นและเกินสัดส่วน จนกระทั่งเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2564 เจ้าหน้าที่รัฐได้ใช้ความรุนแรงเข้าสลายการชุมนุมเป็นครั้งแรก โดยการยิงน้ำแรงดันสูงผสมสารเคมีเข้าใส่ผู้ชุมนุม ที่ชุมนุมอยู่บริเวณแยกปทุมวัน ทำให้ประชาชนได้รับบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก ซึ่งนับตั้งแต่วันนั้นจนถึงปัจจุบัน เจ้าหน้าที่รัฐยังคงใช้ความรุนแรงสลายการชุมนุมอย่างต่อเนื่อง นับครั้งไม่ถ้วน และยกระดับความรุนแรงมากขึ้น โดยการใช้กระสุนยางยิงเข้าใส่ผู้ชุมนุม ขยายผลไปถึงสื่อมวลชนที่เข้าทำหน้าที่ในพื้นที่ชุมนุม ก็ได้รับบาดเจ็บจากการยิงกระสุนยางอย่างไม่เลือกหน้า

 

ภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน จึงก่อตั้งขึ้นช่วยเหลือประชาชนให้เข้าถึงความยุติธรรมตามนิติรัฐ นิติธรรมอย่างที่ควรจะเป็น ตามที่รัฐธรรมนูญ ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และกติการะหว่างประเทศอื่นๆที่เกี่ยวข้องบัญญัติไว้ เพื่อเรียกร้องให้รัฐหยุดการคุกคามประชาชนในนามของกฎหมาย เพื่อยุติ ยับยั้งหรือห้ามมิให้ประชาชนใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออก และเรียกร้องให้รัฐรับผิดชอบต่อการละเมิดสิทธิของประชาชน

 

ที่ผ่านมา ภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ได้เข้าให้ความช่วยเหลือทางกฎหมาย และใช้มาตรการทางกฎหมายทุกช่องทางโต้กลับการใช้อำนาจมิชอบของรัฐ ภายใต้ชื่อ #ราษฎรฟ้องกลับ โดยในช่วงตั้งแต่เดือนตุลาคม 2563 จนถึงเดือนสิงหาคม 2564 ภาคีฯ มีคดีที่อยู่ในความรับผิดชอบทั้งหมด 26 คดี และได้ดำเนินการฟ้องคดีโต้กลับต่อศาลไปแล้วเป็นจำนวน 10 คดี โดยมีรายละเอียดดังนี้

  1. คดีเพิกถอนสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง (คดีแพ่ง)
  2. คดีสลายการชุมนุม #ม็อบ17พฤศจิกา แยกเกียกกาย (คดีปกครอง)
  3. คดีอดีตดาวดินถูกออกหมายเรียกผิดคน (คดีอาญาทุจริต)
  4. คดีอดีตดาวดินถูกออกหมายเรียกผิดคน (คดีแพ่ง)
  5. คดีคัดค้านการควบคุมตัวมิชอบที่ตชด.ภาค 1
  6. คดีนักข่าวประชาไทถูกยิงกระสุนยาง #ม็อบ20มีนา
  7. คดีวีโว่ขายกุ้ง ที่สนามหลวง
  8. คดีตัดเน็ต เพิกถอนข้อกำหนดฉบับที่ 29
  9. คดีนักข่าว The Matter และ Plus Seven ได้รับบาดเจ็บจากการสลายการชุมนุม #ม็อบ18กรกฎา
  10. คดีวีโว่ถูกจับกุมและตั้งข้อหาไม่ชอบ กรณีเก็บลวดหนามแยกอุรุพงษ์

——————–

รายละเอียดของแต่ละคดีมีดังนี้

 

1.คดีเพิกถอนสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง (คดีแพ่ง)

สถานะคดี: ยื่นฟ้องไปเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2563 ณ ศาลแพ่ง ถนนรัชดาภิเษก เป็นคดีดำเลขที่ พ.6023/2563

ศาลนัดชี้สองสถานในวันที่ 19 ตุลาคม 2564

——————–

รายละเอียดคดี

เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2563 นายกรัฐมนตรีได้มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงขึ้นในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล และได้มีการเข้าสลายการชุมนุมบริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาลในเช้ามืดของวันที่ 15 ตุลาคม 2563 ซึ่งการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศ จึงเป็นการใช้อำนาจที่เกินจำเป็นและไม่ได้สัดส่วนกับสถานการณ์

 

นางสาวภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล ที่ 1 กับพวกรวม 7 คน (นิสิตนักศึกษาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร) จึงเป็นโจทก์ฟ้อง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ 1, พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่ 2, พลตำรวจเอกสุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ที่ 3, สำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 4, สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ 5, กระทรวงการคลัง ที่ 6 เป็นจำเลยในคดีนี้ โดยฟ้องฟ้องเพื่อเพิกถอนประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและเรียกร้องค่าเสียหายจากการถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพ รวม 3,500,000 บาท

 

รายละเอียดคำฟ้องเพิ่มเติม : https://www.facebook.com/Enlawthai2001/photos/4682827501790344

 

——————–

 

2. คดีสลายการชุมนุม #ม็อบ17พฤศจิกา แยกเกียกกาย (คดีปกครอง)

สถานะคดี: คดีนี้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลางไปเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2564 เป็นคดีเลขที่ 515/2564 โดยเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2564 ศาลปกครองกลางมีคำสั่งไม่รับฟ้องคดี โจทก์จึงได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งไปเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2564 อยู่ระหว่างการพิจารณาอุทธรณ์

——————–

รายละเอียดคดี

วันที่ 17 พฤศจิกายน 2563 บริเวณ รัฐสภา เกียกกาย ซึ่งในกรณีนี้เป็นการใช้กำลังของเจ้าหน้าที่รัฐโดยไม่จำเป็น และไม่ได้สัดส่วน ทำให้ประชาชนทั้งที่มาเข้าร่วมชุมนุม และไม่ได้เข้าร่วมชุมนุม ได้รับบาดเจ็บ โดยเฉพาะจากการสัมผัสน้ำผสมสารเคมีที่มีการฉีดโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งการปฏิบัติการนี้ไม่เป็นไปตามหลักสากลว่าด้วยการดูแลการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ รวมถึงหลักการสลายการชุมนุม ที่ต้องดำเนินการจากเบาไปหาหนัก และต้องกระทำเมื่อจำเป็นเท่านั้น

 

เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2564 โจทก์เป็นจำนวน 11 คน นำโดยอังคณา นีละไพจิตร และ ชลธิชา แจ้งเร็ว หรือ ลูกเกด ยื่นฟ้อง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ, ผู้บัญชาการนครบาล และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นจำเลย ให้ยุติการใช้กำลังจัดการการชุมนุมที่รุนแรงเกินสมควรแก่เหตุกับผู้ชุมนุมกลุ่มราษฎรและประชาชนทุกกลุ่ม พร้อมทั้งให้ชดใช้ค่าเสียหายจากการละเมิดเสรีภาพการชุมนุมผู้ฟ้องคดี

 

ซึ่งต่อมาเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2564 ศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งไม่รับฟ้องและให้จำหน่ายคดี โดยวินิจฉัยว่า แม้มูลฟ้องคดีนี้จะเป็นคดีพิพาทที่เกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่รัฐละเลยหน้าที่ตามกฎหมายและเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่รัฐอันเกิดจากการละเลยหน้าที่ ตามมาตรา 9 วรรคแรก (2) และ (3) พ.ร.บ. จัดตั้งศาลปกครองฯ ก็ตาม แต่เนื่องจากมูลเหตุคดีนี้ฟ้องเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ ซึ่งตามกฎหมายมีเจตนารมณ์ให้ศาลแพ่งหรือศาลจังหวัดในพื้นที่ชุมนุมเป็นศาลที่มีเขตอำนาจพิจารณาคดี คดีนี้จึงไม่อยู่ในอำนาจศาลปกครองที่จะรับไว้พิจารณา โจทก์ไม่เห็นด้วยกับคำสั่ง จึงยื่นอุทธรณ์คำสั่งต่อศาล ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณา

 

อ่านรายละเอียดคำฟ้องเพิ่มเติม: https://www.facebook.com/Enlawthai2001/photos/5194682777271478

 

อ่านรายละเอียดเนื้อหาอุทธรณ์คำสั่ง: https://www.facebook.com/HRLawyersAlliance/photos/184749223631335

——————–

 

3. คดีอดีตดาวดินถูกออกหมายเรียกผิดคน (คดีอาญาทุจริต)

สถานะคดี: ยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2564 ต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง เป็นคดีเลขที่ อท.188/2563

——————–

รายละเอียดคดี

กรณีนี้นายวสันต์ เสตสิทธิ์ และนายสุวิชชา พิทังกร อดีตนักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น และสมาชิกกลุ่มดาวดิน ได้รับหมายเรียกให้ไปรับทราบข้อกล่าวหาในกรณีมีความเกี่ยวข้องกับการพังรั้วสนามหลวงในวันที่ 19 กันยายน 2563 และได้แจ้งข้อกล่าวหา 1 คนคือ นายวสันต์ ในฐานความผิดตามมาตรา 215 และ มาตรา 358 ประมวลกฎหมายอาญา ทั้งที่ทั้งสองไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้อง และไม่ได้เดินทางมากรุงเทพฯ ในช่วงเวลาดังกล่าวแต่อย่างใด นายวสันต์ จึงเป็นโจทก์ยื่นฟ้องคดีต่อ พ.ต.ท.โชคอำนวย วงษ์บุญฤทธิ์ (รองผู้กำกับสอบสวน สน.ชนะสงคราม) ในข้อหาปฏิบัติหน้าที่มิชอบตามมาตรา 157 และข้อหากลั่นแกล้งให้เป็นคดี ตามมาตรา 200 ต่อศาลอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง

 

ต่อมาเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2564 ศาลอาญาคดีทุจริตฯ ได้มีรายงานกระบวนพิจารณาความว่า “เนื่องจากโจทก์ได้มีการยื่นคำร้องขอถอนฟ้องฉบับลงวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2564 และขอให้ศาลดำเนินคดีต่อไป ส่วนที่ศาลมีคำสั่งให้โจทก์แก้ฟ้องนั้น เนื่องจากโจทก์มิได้แก้ฟ้องภายในกำหนดระยะเวลา จึงขอให้ศาลสั่งตามที่เห็นควร ศาลอนุญาตให้โจทก์ถอนคำร้องขอถอนฟ้อง และเมื่อโจทก์ไม่ได้แก้ฟ้องเข้ามาภายในกำหนดระยะเวลาที่ศาลกำหนด จึงไม่รับฟ้อง มีคำสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบ”

——————–

 

4. คดีอดีตดาวดินถูกออกหมายเรียกผิดคน (คดีแพ่ง)

สถานะคดี: ยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2564 ต่อศาลแพ่ง ถนนรัชดาภิเษก เป็นคดีหมายเลขดำที่ พ.938/2564

ศาลนัดสืบพยานโจทก์ในวันที่ 2 พฤศจิกายน 2564 เวลา 09.00 น.

——————–

รายละเอียดคดี

กรณีต่อเนื่องจากการที่ นายวสันต์ เสดสิทธิ์ และนายสุวิชชา พิทังกร อดีตนักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น และสมาชิกกลุ่มดาวดิน ได้รับหมายเรียกให้ไปรับทราบข้อกล่าวหาในกรณีมีความเกี่ยวข้องกับการพังรั้วสนามหลวงในวันที่ 19 กันยายน 2563 โดยที่ทั้งสองไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้อง และไม่ได้เดินทางมากรุงเทพฯ ในช่วงเวลาดังกล่าวแต่อย่างใด

 

นายวสันต์ และนายสุวิชชา จึงเป็นโจทก์ฟ้อง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ , กรมศิลปากร และกรุงเทพมหานคร ต่อศาลแพ่ง ถนนรัชดาภิเษก ในข้อหาละเมิด เรียกค่าเสียหายตามพ.ร.บ.รับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 และตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (UDHR) ที่ทำให้ทั้งสองได้รับความเสียหายทั้งต่อชื่อเสียง เกียรติยศ กระทบต่อสิทธิเสรีภาพ ทั้งร่างกายและจิดใจ ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทาง และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่อง

 

อ่านสรุปคำฟ้อง: https://www.facebook.com/HRLawyersAlliance/photos/114088627364062

——————–

 

5. คดีคัดค้านการควบคุมตัวมิชอบที่ตชด.ภาค 1

สถานะคดี: ยื่นคำร้องคัดค้านการควบคุมตัวมิชอบ ตามมาตรา 90 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2564 และศาลมีคำสั่งยกคำร้องในวันที่ 2 มีนาคม 2564 โดยศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า “เนื่องจากผู้ถูกควบคุมตัวได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวแล้ว จึงไม่มีเหตุจำเป็นต้องไต่สวน มีคำสั่งให้จำหน่ายคดี”

——————–

รายละเอียดคดี

สืบเนื่องจากประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 83 กําหนดให้เจ้าพนักงานตำรวจนําตัวผู้ถูกจับไปยังที่ทําการของพนักงานสอบสวนแห่งท้องที่ที่ถูกจับ เว้นแต่สามารถนําตัวไปยังที่ทําการพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบได้ในขณะนั้น ให้นําไปที่ทําการพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ อีกทั้งมาตรา 84 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ก็ได้กําหนดให้เจ้าพนักงานตำรวจผู้จับนําตัวผู้ถูกจับไปที่ทําการพนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 83 โดยทันที และตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 90 ประกอบกับข้อบังคับของประธานศาลฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการออกคำสั่งหรือหมายอาญา พ.ศ. 2558 ข้อ 50 (6) ได้กำหนดให้ทนายความเป็นผู้มีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อประโยชน์ของผู้ถูกคุมขังนั้นเอง  โดยไม่จำต้องเป็นผู้มีส่วนได้เสียหรือมีประโยชน์เกี่ยวข้องกับผู้ถูกคุมขัง

 

และจากเหตุการณ์การชุมนุมเมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2564 บริเวณหน้าโรงพยาบาลทหารผ่านศึก ถนนวิภาวดี แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร ซึ่งอยู่ในพื้นที่สถานีตำรวจนครบาลดินแดง แต่ผู้ต้องหาที่ถูกจับกุมจากเหตุการณ์ดังกล่าว ได้ถูกพาตัวไปที่ กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน ภาค 1 คลอง 5 จังหวัดประทุมธานี ซึ่งไม่ใช้สถานที่ที่ควบคุมตัวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

 

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม https://www.facebook.com/HRLawyersAlliance/photos/115446883894903

——————–

 

6. คดีนักข่าวประชาไทถูกยิงกระสุนยาง #ม็อบ20มีนา

สถานะคดี: ยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2564 ณ ศาลแพ่ง ถนนรัชดาภิเษก เป็นคดีหมายเลขดำที่ พ.1472/2564 และศาลมีคำสั่งยกฟ้องในวันเดียวกัน เป็นคดีหมายเลขแดงที่ พ.628/2564

——————–

รายละเอียดคดี

จากเหตุการณ์การชุมนุมเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2564 บริเวณสนามหลวง ของกลุ่มรีเดม (REDEM) เกิดเหตุเจ้าพนักงานตำรวจควบคุมฝูงชนภายใต้สังกัดของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ใช้อาวุธปืนยิงกระสุนยางใส่สื่อมวลชนที่สวมปลอกแขนที่เป็นสัญลักษณ์ของสื่อมวลชน สามารถเห็นได้ชัดเจน มีบัตรประจำตัวผู้สื่อข่าวเป็นป้ายคล้องคอจนได้รับบาดเจ็บ และสวมหมวกนิรภัยสีดำที่มีตัวอักษรภาษาอังกฤษสีขาวว่า “PRESS”  ซึ่งแปลว่าสื่อมวลชน โดยไม่ปรากฏเหตุหรือพฤติการณ์ใดอันจะอ้างได้ตามกฎหมาย นอกจากนี้ เจ้าพนักงานตำรวจได้ปิดกั้นเส้นทางไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลวชิระซึ่งเป็นโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้พื้นที่เกิดเหตุที่สุด ทำให้นายศรายุทธ ตั้งประเสริฐ และประชาชนที่ได้รับบาดเจ็บ ไม่สามารถเดินทางไปยังโรงพยาบาลซึ่งเป็นสถานที่สำคัญในการช่วยปฐมพยาบาลและช่วยชีวิตคนได้อย่างรวดเร็วที่สุดอย่างที่ควรจะเป็น

 

นายศรายุทธ นักข่าวประชาไท จึงเป็นโจทก์ยื่นฟ้องสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และพลตำรวจเอกสุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ฐานละเมิด ตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 พร้อมยื่นขอคุ้มครองชั่วคราวการชุมนุมสาธารณะ และบริเวณพื้นที่ใกล้เคียงทุกครั้งที่มีการชุมนุม อีกทั้ง ยังได้ยื่นคำร้องขอไต่สวนฉุกเฉินคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราว กรณีการชุมนมของกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์ ที่มีการนัดหมายชุมนุมภายในวันนี้ ตามแนวรถไฟฟ้า ต่อมาศาลได้พิพากษายกฟ้องคดี โดยมิได้พิจารณาเรื่องไต่สวนคำร้องขอฉุกเฉินแต่อย่างใด

 

อ่านรายละเอียดคำพิพากษาเพิ่มเติม https://www.facebook.com/HRLawyersAlliance/photos/120687126704212

——————–

 

7. คดีวีโว่ขายกุ้ง ที่สนามหลวง

สถานะคดี: ยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2564 ณ ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ เป็นคดีหมายเลขดำที่ พ.1282/2564 และศาลมีคำสั่งนัดชี้สองสถาน/นัดสืบพยานในวันที่ 4 ตุลาคม 2564 เวลา 13.30 น.

——————–

รายละเอียดคดี

สืบเนื่องจากกลุ่มวีโว่หรือ We volunteer ต้องการช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง จังหวัดนครปฐม จึงได้ซื้อกุ้งจากเกษตรกรมาจำนวน 3,172 กิโลกรัม เพื่อนำมาขายให้กับประชาชนในวันที่ 31 ธันวาคม 2563 ที่สนามหลวง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อขายกุ้งที่รับซื้อมาจากเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งเท่านั้น  ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อการชุมนุมและปราศรัยโจมตีรัฐบาลแต่อย่างใด

 

แต่เจ้าพนักงานตำรวจกลับห้ามไม่ให้ขาย และได้ใช้กำลังเข้าจับกุมตัวกลุ่มวีโว่โดยปราศจากเหตุอันสมควรและโดยใช้กำลังเกินกว่าเหตุ  อีกทั้งยังดำเนินคดีกับกลุ่มวีโว่ในข้อหาร่วมกันจัดให้มีกิจกรรมซึ่งมีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมากในลักษณะมั่วสุมกันหรือมีโอกาสติดต่อสัมผัสกันง่าย, ชุมนุมทำกิจกรรมหรือมั่วสุมกัน ณ ที่ใด ๆ ในสถานที่แออัดหรือกระทำการดังกล่าวอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยหรือในลักษณะที่เสี่ยงต่อการเชื้อโรคฝ่าฝืน พ.ร.ก. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548, ร่วมกันกระทำการหรือดำเนินการใด ๆ ซึ่งอาจก่อสภาวะที่ไม่ถูกสุขลักษณะ ซึ่งอาจเป็นเหตุให้โรคติดต่ออันตรายหรือโรคแพร่ระบาดออกไป ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ, ร่วมกันใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกำลังไฟฟ้าโดยไม่ได้รับอนุญาต โดยการเข้าจับกุมของเจ้าหน้าที่นั้น เป็นการใช้อำนาจโดยมิชอบด้วยกฎหมาย เกินสัดส่วน เกินความจำเป็น และเป็นการเลือกปฏิบัติ อันก่อให้เกิดความเสียหายต่อร่างกาย อนามัย จิตใจ เสรีภาพ ชื่อเสียง และทรัพย์สินของโจทก์ผู้ฟ้องคดี

 

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม https://www.facebook.com/HRLawyersAlliance/photos/166053178834273

 

https://www.facebook.com/HRLawyersAlliance/posts/171430621629862

——————–

 

8. คดีตัดเน็ต เพิกถอนข้อกำหนดฉบับที่ 29

สถานะคดี: ยื่นฟ้องวันที่ 2 สิงหาคม 2564 ณ ศาลแพ่ง ถนนรัชดาภิเษก เป็นคดีหมายเลขดำที่ พ.3618/2564 ซึ่งวันที่ 6 สิงหาคม 2564 ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ระงับการบังคับใช้ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 29) โดยต่อมาเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2564 ราชกิจจาได้มีการประกาศยกเลิกการบังคับใช้ข้อกำหนดฉบับดังกล่าว

——————–

รายละเอียดคดี

สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2564 ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 29) ให้อำนาจ กสทช. “ตัดเน็ต” ผู้โพสต์ข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว ซึ่งเป็นการออกคำสั่งโดยไม่มีอำนาจ ไม่มีความจำเป็น ไม่ได้สัดส่วน และขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560

 

สื่อมวลชนและประชาชน นำโดย The Reporters, Voice, The Standard, The Momentum, THE MATTER, ประชาไท, Dem All, The People, way magazine, echo, PLUS SEVEN และประชาชนเบียร์ พร้อมทีมทนายความจากภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน รวมตัวยื่นฟ้อง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และเป็นผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 กรณีออกข้อกำหนดฉบับที่ 29 โดยขอให้ศาลเพิกถอนข้อกำหนดฉบับที่ 29 เนื่องจากการห้ามเผยแพร่ “ข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว” เป็นการบัญญัติที่คลุมเครือ ไม่ชัดเจน อาจตีความได้ว่า แม้ข้อความนั้นเป็น“เรื่องจริง” ก็อาจจะเป็นการฝ่าฝืนข้อกำหนดนี้ และถูกระงับสัญญาณอินเทอร์เน็ตได้ และในวันเดียวกันนี้ จะยื่นคำร้องขอให้ศาลไต่สวนฉุกเฉินเพื่อคุ้มครองเสรีภาพของประชาชนด้วย

 

อ่านสรุปคำฟ้อง: https://www.facebook.com/HRLawyersAlliance/photos/194916162614641

 

อ่านสรุปคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว: https://www.facebook.com/HRLawyersAlliance/photos/197400952366162

——————–

 

9. คดีนักข่าว The Matter และ Plus Seven ได้รับบาดเจ็บจากการสลายการชุมนุม #ม็อบ18กรกฎา

สถานะคดี: ยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2564 เป็นคดีหมายเลขดำที่ พ.3683/2564 ณ ศาลแพ่ง ถนนรัชดาภิเษก พร้อมยื่นคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราว และขอให้ศาลไต่สวนฉุกเฉิน โดยอาศัยเหตุที่จะมีการชุมนุมในวันที่ 7 สิงหาคม 2564 โดยภาคีฯ มีการยื่นคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวเป็นจำนวนหลายครั้ง ภายหลังจากที่ศาลมีคำสั่งยกคำร้อง เนื่องจากยังคงมีเหตุการณ์ที่สื่อมวลชนได้รับบาดเจ็บจากการสลายการชุมนุม และได้มีการยื่นขอให้ศาลเรียกสตช.มาชี้แจงกรณีใช้ความรุนแรงสลายการชุมนุม ซึ่งล่าสุดวันที่ 17 สิงหาคม 2564 ศาลมีคำสั่งให้สตช. ส่งรายงานมาตรการ วิธีการ และขั้นตอนการปฏิบัติตามคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวของศาล ภายใน 15 วัน ซึ่งจะครบกำหนดวันที่ 9 กันยายน 2564

——————–

รายละเอียดคดี

เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2564 ประชาชนได้มีการนัดชุมนุมที่อนุเสาวรีย์ประชาธิปไตย และจะเคลื่อนขบวนไปยังทำเนียบรัฐบาล เมื่อผู้ชุมนุมได้เริ่มเคลื่อนขบวนออกจากอนุเสาวรีย์ประชาธิปไตย เพื่อมุ่งหน้าไปทำเนียบรัฐบาล เจ้าหน้าที่ตำรวจกลับใช้กำลังสลายการชุมนุม โดยการฉีดน้ำแรงดันสูง ยิงแก๊สน้ำตา และใช้กระสุนยางกับผู้ชุมนุม โดยการสลายการชุมนุมในวันดังกล่าว มีจุดที่มีการสลายการชุมนุมหลักๆ อยู่ที่บริเวณสี่แยกสะพานผ่านฟ้าลีลาศ, บริเวณเชิงสะพานชมัยมรุเชฐ ถึงโรงเรียนราชวินิต มัธยม, บริเวณสี่แยกนางเลี้ง, บริเวณสี่แยกเทวกรรม และบริเวณสี่แยกอุรุพงษ์

 

การใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจดังกล่าว ทำให้ผู้สื่อข่าวจากสำนักข่าว Plus Seven และช่างภาพจากสำนักข่าว The Matter ได้รับบาดเจ็บจากกระสุนยางของเจ้าหน้าที่ตำรวจ แม้ว่าทั้งสองจะอยู่ในระหว่างปฏิบัติหน้าที่สื่อมวลชนและมีการสวมปลอกแขนแสดงสัญลักษณ์ว่าเป็นสื่อมวลชนไว้แล้วก็ตาม ทั้งนี้ ก่อนที่เจ้าหน้าที่จะใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุม จนเป็นเหตุให้สื่อมวลชนจากสำนักข่าว Plus Seven และ The Matter ได้รับบาดเจ็บนั้น พบว่า สื่อมวลชนทั้งสอง ไม่ได้มีพฤติกรรมใดๆ ที่แสดงให้เห็นว่าจะมีการใช้ความรุนแรง ก่อจราจล หรือก่ออันตรายให้กับบุคคลอื่นเลยแม้แต่น้อย นอกจากนี้ ก่อนที่เจ้าหน้าที่จะใช้กระสุนยางเข้าสลายการชุมนุม จนเป็นเหตุทำให้สื่อมวลชนทั้งสองได้รับบาดเจ็บ เจ้าหน้าที่ยังไม่ได้มีการประกาศเตือนผู้ชุมนุมว่าจะมีการใช้กระสุนยางแต่อย่างใด

 

เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2564 ผู้สื่อข่าวทั้งสองจึงยื่นฟ้องสำนักงานตำรวจแห่งชาติ, พล.ต.อ. สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ, พล.ต.ท. ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล และพล.ต.ต. มานพ สุคนธ์ธนพัฒน์ ผู้บังคับการกองบังคับการอารักขาและควบคุมฝูงชนเป็นจำเลย ต่อศาลแพ่ง บนฐานละเมิดของเจ้าหน้าที่และเรียกค่าเสียหายรวม 1,412,000 บาท นอกจากนี้ ในวันเดียวกัน โจทก์ยังได้ยื่นคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวและไต่สวนฉุกเฉินไปด้วย ซึ่งศาลมีคำสั่งรับฟ้องเฉพาะสำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นจำเลย แต่ยกฟ้องส่วนของพล.ต.อ. สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข, พล.ต.ท. ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา และพล.ต.ต. มานพ สุคนธ์ธนพัฒน์ เนื่องจากได้รับการยกเว้นความผิดตามพ.ร.บ. ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ และมีคำสั่งยกคำร้องขอไต่สวนฉุกเฉิน เนื่องจาก เหตุการณ์ตามคำร้องเป็นเหตุการณ์ในอนาคต ไม่สามารถคาดเดาได้ จึงยกคำร้องและทำให้คำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวตกไปด้วย

 

อ่านสรุปคำฟ้อง: https://www.facebook.com/…/a.105488841…/197340242372233/

 

อ่านสรุปคำสั่งยกคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวครั้งที่ 1: https://www.facebook.com/…/a.105488841…/197475289025395/

 

เนื่องจากยังคงมีสื่อมวลชนได้รับบาดเจ็บจากการสลายการชุมนุมเพิ่มขึ้นอีก โจทก์จึง #ยื่นคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวและขอไต่สวนฉุกเฉินเป็นครั้งที่2 ในวันที่ 9 สิงหาคม 2564 ซึ่งศาลมีคำสั่งคุ้มครองเฉพาะให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติปฏิบัติหน้าที่โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของโจทก์ทั้งสองและสื่อมวลชน ภายใต้เงื่อนไขว่าโจทก์และสื่อมวลชนจะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และแนวทางการปฏิบัติงานของสื่อมวลชน

 

อ่านสรุปคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวครั้งที่ 2: https://www.facebook.com/…/a.106537421…/199245465515044/

 

อ่านสรุปคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวครั้งที่ 2: https://www.facebook.com/…/a.105488841…/199972428775681/

 

ภายหลังศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติปฏิบัติหน้าที่โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของสื่อมวลชนแล้วก็ตาม ยังพบว่าเจ้าพนักงานตำรวจยังคงใช้กำลังในการสลายการชุมนุม จนเป็นเหตุให้มีสื่อมวลชนได้รับบาดเจ็บจากกระสุนยางอย่างน้อย 2 คน รวมถึงมีการคุกคามและจำกัดพื้นที่การทำงานของสื่อมวลชนอีกด้วย ในวันที่ 11 สิงหาคม 2564 จึงยื่นคำร้องขอให้ศาลเรียกสำนักงานตำรวจแห่งชาติมาไต่สวนว่าได้ปฏิบัติตามคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวของศาลหรือไม่ อย่างไร และขอให้ศาลมีคำสั่งเรียกเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมและสลายการชุมนุมมาประกอบการไต่สวนด้วย แต่ศาลมีคำสั่งยกคำร้อง โดยระบุเหตุว่า จากคำร้อง ไม่ปรากฎว่าสื่อมวลชนได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และแนวทางการปฏิบัติงานของสื่อแล้วหรือไม่ จึงไม่มีเหตุที่จะเรียกสำนักงานตำรวจแห่งชาติมาไต่สวน

 

อ่านสรุปคำสั่งยกคำร้องเรียกสำนักงานตำรวจแห่งชาติมาไต่สวนครั้งที่ 1: https://www.facebook.com/…/a.105488841…/200629375376653/

 

วันที่ 17 สิงหาคม 2564 ภาคีฯ จึงได้ #ยื่นคำร้องขอให้ศาลเรียกสำนักงานตำรวจแห่งชาติมาไต่สวนอีกครั้งเป็นครั้งที่2 เนื่องจากเจ้าพนักงานตำรวจยังคงใช้กำลังในการสลายการชุมนุมโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยของสื่อมวลชน รวมถึงมีการคุกคามและจำกัดเสรีภาพสื่อมวลชนอีกด้วย ต่อมา ศาลแพ่งจึงมีคำสั่งให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติรายงานมาตรการ วิธีการ และขั้นตอนในการปฏิบัติตามคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวต่อศาลภายใน 15 วันนับแต่วันทราบคำสั่ง โดยไม่จำเป็นต้องเรียกสำนักงานตำรวจแห่งชาติเข้ามาไต่สวนแต่อย่างใด

 

อ่านสรุปคำสั่งศาลให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติรายงานมาตรการ วิธีการ และขั้นตอนในการปฏิบัติตามคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว: https://www.facebook.com/…/a.105488841…/204334681672789/

 

ทั้งนี้ แม้ศาลจะมีคำสั่งตั้งแต่วันที่ 17 สิงหาคม 2564 เจ้าหน้าที่กลับล่าช้า นำส่งหมายผ่านไปรษณีย์ในวันที่ 24 สิงหาคม 2564 ทำให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้รับหมายคำสั่งศาลในวันที่ 25 สิงหาคม. 2564 กำหนดระยะเวลา 15 วันจึงเริ่มนับตั้งแต่วันดังกล่าว และจะครบกำหนดส่งรายงานมาตรการ วิธีการ และขั้นตอนในการปฏิบัติตามคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวในวันที่ 9 กันยายน 2564 นี้

 

อ่านเพิ่มเติม https://www.facebook.com/HRLawyersAlliance/photos/214723800633877

——————–

 

10. คดีวีโว่ถูกจับกุมและตั้งข้อหาไม่ชอบ กรณีเก็บลวดหนามแยกอุรุพงษ์

สถานะคดี: ยื่นฟ้องวันที่ 26 สิงหาคม 2564 ณ ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ เป็นคดีหมายเลขดำที่ พ.1663/2564 และศาลมีคำสั่งนัดชี้สองสถาน/นัดสืบพยานในวันที่ 4 ตุลาคม 2564 เวลา 13.30 น.

——————–

เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2563 สมาชิกกลุ่ม WeVo ได้เข้ารื้อลวดหนามหีบเพลงและรั้วเหล็กที่บริเวณสี่แยกอุรุพงษ์ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจวางทิ้งไว้ เพื่อนำไปคืนที่สน.พญาไท ภายหลังจากได้รับแจ้งจากประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากลวดหนามหีบเพลงดังกล่าว โดยในระหว่างการเก็บลวดหนามหีบเพลงและรั้วเหล็กนั้น กลุ่ม WeVo ได้มีการไลฟ์สดผ่านเฟซบุ๊ก และมีการติดไฟให้แสงสว่าง เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจ ประกอบกับได้มีการชี้แจงขั้นตอนการทำงานผ่านสื่อมวลชนอย่างเปิดเผย ทั้งยังได้รับความช่วยเหลือจากประชาชนและตำรวจจราจรในระหว่างดำเนินการดังกล่าว

 

อย่างไรก็ดี เจ้าหน้าที่และเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชนหลายกองร้อย กลับเข้ามาปิดล้อมและจับกุมสมาชิกกลุ่ม WeVo และพวก ซึ่งรวมถึงโจทก์ทั้งสามในคดีนี้ด้วย โดยไม่มีหมายจับและไม่ใช่กรณีความผิดซึ่งหน้า รวมถึงมีการทำร้ายและข่มขู่สมาชิก WeVo ที่ถูกจับกุม ทั้ง ๆ ที่สมาชิกกลุ่ม WeVo กระทำการด้วยความบริสุทธิ์ใจ มีเพียงเจตนาที่จะช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนเท่านั้น อีกทั้ง พนักงานสอบสวนในการจับกุมครั้งนี้ ยังเร่งตั้งข้อหาและทำความเห็นสั่งฟ้องถึงพนักงานอัยการ โดยไม่ได้ตรวจสอบและรวบรวมพยานหลักฐานอย่างเพียงพออีกด้วย

 

การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2563 ดังกล่าว จึงถือได้ว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ขัดต่อกฎหมาย และก่อให้เกิดความเสียหายต่อร่างกาย จิตใจ และชื่อเสียงของโจทก์ทั้งสาม โจทก์จึงยื่นฟ้องสำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นจำเลย เพื่อเรียกให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในฐานะหน่วยงานต้นสังกัด ชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสาม ตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539

 

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม https://www.facebook.com/HRLawyersAlliance/photos/209665247806399